พระประแดง (๑)
ในสมัยอยุธยา ชาวตะวันตกได้มาตั้งชุมชนบริเวณเหนือคลองปลากด
(ปัจจุบันอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์) ชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายกับไทย
และช่วยราชการแผ่นดินในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ จนได้รับพระราชทานที่ดินให้สร้าง
คลังสินค้าและตึกอาศัย เรียกว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม"
ชุมชนนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก แต่เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวเอกาทศรถ
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับฮอลันดา ก็เสื่อมลง จนนิวอัมสเตอร์ดัมสูญหายไป
เมืองสมุทรปราการ
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บริเวณคลองปลากด เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านแทนเมืองพระประแดง
เพราะแผ่นดินงอกออกมามากจนเมืองพระประแดง อยู่ห่างจากปากน้ำออกไปมาก แต่ภายหลังเมืองสมุทรปราการก็ถูกทิ้งร้างไป
จนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ จึงโปรดให้สร้างเมืองหน้าด่าน ที่บริเวณปากลัดคือ
เมือง "นครเขื่อนขันธ์" และสร้างเมือง "สมุทรปราการ" ขึ้นใหม่ บริเวณบางเจ้าพระยา
หรือตำบลบางเมือง อ.เมืองสมุทรปราการ เดี๋ยวนี้ และเพื่อป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทางทะเล
ได้โปรด ฯ ให้สร้างป้อมปืนถึง ๒๔ ป้อม รวมถึงในตัวเมืองนครเขื่อนขันธ์ด้วย
(เช่น ป้อมแผลงไฟฟ้า)
พ.ศ.๒๔๓๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จัดระเบียบการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล
เมืองสมุทรปราการ และนครเขื่อนขันธ์ อยู่ในความปกครองของมณฑลกรุงเทพ ฯ
สมุทรปราการ ได้รับการยกขึ้นเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๖
มีสี่อำเภอ คือ อำเภอสมุทรปราการ บางเหี้ย (บางบ่อ) บางพลี และ "อ.เกาะสีชัง"
ต่อมาลดฐานะ อ.เกาะสีชัง เป็นกิ่งอำเภอรวมกับ อ.สมุทรปราการ เหตุผลเพราะมีพื้นที่และพลเมืองน้อย
ต่อมาทรงโปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นจังหวัดพระประแดง
ตามที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ
พ.ศ.๒๔๗๕ ทางราชการยุบจังหวัดพระประแดง ลงมาเป็นอำเภอหนึ่งของสมุทรปราการ
พ.ศ.๒๔๘๖ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมุทรปราการถูกยุบไปรวมกับจังหวัดพระนคร
แต่อีกสามปีต่อมา ก็กลับตั้งเป็นจังหวัดขึ้นใหม่ แต่แยกกิ่ง อ.เกาะสีชัง ไปขึ้นกับจังหวัดชลบุรี
และมาจัดตั้ง กิ่ง อ.พระสมุทรเจดีย์ เอาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ แล้วยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ
พ.ศ.๒๕๓๔
มอญอพยพ
ชาวรามัญอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระมหากษัตริย์ไทยหลายครั้ง
นับตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้นมา และในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า
ฯ ก็เป็นการอพยพเข้ามาครั้งใหญ่ มีจำนวนมากถึงสี่หมื่นคนเศษ จึงโปรด ฯ ให้ชาวมอญเหล่านี้
ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)
ประชากรส่วนใหญ่ในเวลานั้นคือ ชาวรามัญ และโปรดเกล้า ฯ ให้ สมิงทอมา
บุตรพระยาเจ่ง เป็น "พระยานครเขื่อนขันธ์
รามัญราช ชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม" เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์
เป็นคนแรก ต่อมามอญพระประแดงจึงเป็นชุมชนมอญที่ใหญ่ที่สุด ในสมุทรปราการ และได้ขยายออกไปสู่บางพลี
บางบ่อ โดยยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัดทรงธรรม
วัดคันลัด
ร้านอาหารที่ผมจะพาไปชิมในวันนี้ ชื่อแปลกดี ตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรประมาณ
๒๐๐ เมตร ในเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งเขตนี้อยู่ใน กทม. แต่ติดกับอำเภอพระประแดง
ผมเลยไปเที่ยวพระประแดงก่อนจะกลับมากินอาหาร หรือท่านจะแวะกินอาหารเสียก่อน
(ร้านเขาเปิดตั้งแต่ ๐๙.๐๐ ไปจนถึง ๑๖.๓๐ ) เป็นมื้อเช้า แล้วไปต่อมื้อกลางวัน
หรือมื้อบ่าย ในพระประแดง หรือตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ก็ดูจะเก๋ไปอีกแบบ
เส้นทางไปร้านชื่อ ก๋วยเตี๋ยว แต่ขายอาหารหลายอย่าง และจากร้านก๋วยเตี๋ยวก็จะต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยว
ในพระประแดงได้เลย แต่ผมจะแนะเส้นทางที่ตรงไปจุดท่องเที่ยวของผมก่อนคือ ไปวัด
ซึ่งวัดสำคัญในพระประแดง ที่เป็นวัดไทยและเป็นพระอารามหลวงมี ๒ วัดคือ
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
พระอารามหลวง หากจะไปเที่ยววัดก่อน ก็ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ส่วนผมไปจากบ้านลาดพร้าว
ขึ้นทางด่วน ๒ เด้ง ไปข้ามสะพานพระรามเก้า พอข้ามมาแล้วให้คอยดูป้ายบอกถนนสุขสวัสดิ์ไว้ให้ดี
แล้วแยกซ้ายลงตามป้ายไปลงถนนสุขสวัสดิ์ ลงแล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนลอดใต้สะพาน
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่พึ่งเปิดใหม่คือ สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม (ผมอยากข้าม
ตอนกลับจึงกลับทางนี้ มาลงถนนพระราม ๓ ขึ้นทางด่วนกลับบ้าน ) ลอดใต้สะพานไปหน่อยก็จะถึงสามแยกพระประแดง
ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครเขื่อนขันธ์ วิ่งตรงสู่ตลาดพระประแดง แต่พอผ่านธนาคารกรุงเทพ
ฯ (เยื้องธนาคารมีร้านอาหารอิสลาม ) ไปหน่อยก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราชวิริยาภรณ์
วิ่งไปตามถนนนี้สัก ๒๐๐ เมตร จะพบสามแยกพยนต์ ที่สามแยกนี้ตรงเข้าไป ก็จะไปเลี้ยวขวาเข้าวัดไพชยนต์
ฯ หากเลี้ยวขวาข้ามสะพานคลองลัดหลวง แล้วเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าไปใน วัดโปรดเกศ
ฯ แต่หากเลี้ยวซ้ายก็จะไปเชื่อมต่อกับถนนที่ผ่าน
ธ.กสิกร และผ่านหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ผมกำลังจะพาไปชิมหลังจากไปเที่ยววัดแล้ว
วิ่งตรงผ่านสามแยกพยนต์ ผ่านกำแพงวัดที่เหมือนกำแพงเมืองไปสัก ๑๐๐ เมตร ก็เลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณวัด
ที่ตั้งอยู่ริมคลองลัดหลวง
ตรงข้ามกับวัดโปรดเกศ ฯ วัดไพชยนต์ สร้างขึ้นในตอนปลายของสมัยรัชกาลที่ ๒
พ.ศ.๒๓๖๕ โดยสมเด็จ ฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เมื่อครั้งเป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
เมื่อขุดคลองลัดหลวงเสร็จแล้ว ได้สร้างวัดนี้บริเวณปากคลอง จึงเรียกว่า วัดปากลัด
หรือวัดกรมศักดิ์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์
จากสร้อยพระนามขององค์ผู้สร้าง กับคำว่าไพชยนต์ ที่หมายถึง บุษบก เพราะสมเด็จ
ฯ โปรดให้นำบุษบกยอดปรางค์ ซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ มาถวายเป็นที่ประดิษฐาน
พระประธานในพระอุโบสถแห่งนี้
ลักษณะของพระอุโบสถและพระวิหาร ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นศิลปะพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่
๓ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น เครื่องถ้วยชามลายครามแบบจีนที่หน้าบัน
น่าจะเป็นเพราะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.๓ จึงมีศิลปะแบบจีน
บุษบกยอดปรางค์
อยู่ในพระอุโบสถ หากพระอุโบสถไม่เปิดต้องไปขอเข้าชมจากเจ้าอาวาส บอกว่าเปิดโบสถ์ทิ้งไว้ของหาย
ทำจากไม้แกะสลักลวดลาย ประดับกระจก อย่างพิสดาร
พระอุโบสถ
ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ใบเสมาสลักจากหินทรายสีเขียว มีบันไดอยู่ทางทิศตะวันตกสองแห่ง
หัวบันไดประดับด้วยสิงโตหินแบบจีน บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ทำเป็นรูปป่าหิมพานต์และสัตว์ต่าง
ๆ
พระวิหาร
ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีน ด้านหน้ามีพระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร
ประทับนั่ง มีกำแพงแก้วล้อมรอบที่มุมกำแพง มีวิหารน้อยทั้งสี่ทิศ ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน
กรอบบานประตู หน้าต่าง งดงามยิ่งนัก
วัดโปรดเกศเชษฐาราม
ขุนนางในราชสำนักสร้างถวายรัชกาลที่ ๓ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓
อยู่ตรงข้ามกับวัดไพชยนต์ แต่เวลาจะมาวัด พอออกจากวัดไพชยนต์ ฯ ถึงสามแยกพยนต์
แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองลัดหลวง แล้วเลี้ยวซ้ายไปจอดรถที่ลาน หรืออ้อมไปจอดที่ลานด้านตรงข้ามวัดไพชยนต์ก็ได้
เดิมเรียกว่า วัดปากคลอง
เมื่อมีการสร้างวัดไพชยนต์ มีวัสดุเหลืออยู่ พระยาเพชรพิไชย จึงนำมาสร้างวัดนี้ขึ้นอีกแห่ง
โดยเริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๓๖๕ เช่นกัน
พระอุโบสถ
ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา รูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ
พระวิหาร
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน เช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในพระวิหารมีพระพุทธไสยาสน์
ยาว ๖ วา ๒ ศอก พระวิหารเปิดตลอดเวลา เพื่อให้เข้าไปนมัสการ ไปเช่าวัตถุมงคล
เข้าไปสะเดาะเคราะห์ ถวายสังฆทาน (มีแผงขายข้างหน้า)
พระมณฑป
อยู่ตรงข้ามพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยธารน้ำที่เลี้ยงเต่าเอาไว้ด้วย ยอดเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธบาทจำลอง ที่ทำด้วยศิลาแลงประดับมุก
รอบ ๆ มีเก๋งจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ได้แก่ ปางนาคปรก ปางปาลิไลยก์
ปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร ด้านนอกมณฑปตรงทางเข้าด้านตะวันตก มีซุ้มพระฤาษีนาคสิทธิ์โคดก
องค์ฤาษีสลักด้วยหินสีเขียว ปิดทอง รู้สึกว่าพ่อฤาษีจะได้รับความนับถือ กราบไหว้
บนบาน ขอหวยกันมากกว่า การเข้าไปไหว้รอยพระพุทธบาท
จบการชมวัด ๒ วัด แล้วก็กลับไปกินอาหาร เส้นทางหากจะตรงมาร้านก๋วยเตี๋ยวก่อน
พอข้ามสะพานพระรามเก้า ก็ชิดซ้ายทันที ลงตามป้ายถนนสุขสวัสดิ์ แล้วชิดขวาเลี้ยวลงไปจนบรรจบกับถนนราษฎร์บูรณะ
แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าสำนักงานใหญ่ ธ.กสิกร เพื่อไปกลับรถ กลับรถมาวิ่งผ่านหน้าธนาคารอีกที
ลอดใต้สะพานพระรามเก้า ผ่านปากซอย ๓๑ มาสัก ๒๐๐ เมตร (ก่อนถึงซอย ๓๓)
ป้ายร้านอยู่ริมถนนเลี้ยวซ้ายเข้าไปจอดรถในร้าน พื้นที่จอดรถกว้างขวางมาก
จอดได้เป็นร้อยคันสะดวกมาก แถมสุขาสะอาดเป็นสากล ห้องแอร์เย็นสบาย ร้านนี้คิดจะขายก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวไม่พอ
แฟนเรียกร้องเลยต้องมีอาหารด้วย
อาหารเป็นประเภทจานเดียว เป็นส่วนใหญ่ เช่น ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ส้มตำไทย ส้มตำปู
หมูคั่วกลิ้ง หมูผัดพริกแห้ง ข้าวหมูทอดกระเทียม "ข้าวกระเพราทะเล" ขนมจีนน้ำยา
ทอดมัน ปอเปี๊ยะทอด "ถุงทอง" เกี๊ยวปลาทอด แหนมปลาทอด ทอดมันห่อสาหร่าย ลวกจิ้ม
ปีกไก่ทอด ปีกไก่คลุกงา
อาหารหมุนเวียนประจำวัน วันจันทร์ ข้าวมัน ส้มตำ วันอังคาร ข้าวหมูคั่วกลิ้ง
วันพุธ ข้าวกุ้งผัดพริกลุยสวน วันพฤหัส ข้าวหมูผัดพริกแห้ง วันศุกร์
โรตี แกงเขียวหวาน วันเสาร์ ไม่มีอาหารประจำวัน วันอาทิตย์ ร้านปิดนับเงินอย่าเผลอไปกิน
ผมไปวันจันทร์ ใส่เสื้อเหลืองกันทั้งร้าน บริการเร็ว เป็นกันเอง ราคาย่อมเยา
เช่น ข้าวมันส้มตำ ชุดละ ๔๐ บาท ชุดเดียวพุงขนาดผมยังอิ่ม อร่อย ส้มตำรสเยี่ยม
สั่งประเภทกินเล่นมาก่อน เคี้ยวสนุกจริง ๆ คือ ถุงทอง กรอบนอก นุ่มใน ทำเป็นถุงเล็ก
ๆ จิ้มน้ำบ๊วยเจี่ย มีผักแนม อีกอร่อยกินเรียกน้ำย่อยคือ ปอเปี๊ยะทอด เกี๊ยวซ่า
ก็ดี สั่งมาได้แค่นี้ ยกนิ้วให้สมชื่อร้านคือ "ก๋วยเตี๋ยว หมูตุ๋น เอ็นแก้ว"
น้ำซุปนั้น ยอดเยี่ยมซดร้อน ๆ ชื่นใจ ผมสั่งเป็นเกาเหลาหมูตุ๋น เอ็นแก้ว เพราะจะเอามากินกับข้าวกระเพราทะเล
หรือจะกินเป็นก๋วยเตี๋ยวก็สั่งใส่เส้นใหญ่ ข้าวกระเพราทะเลนั้น ผัดกระเพราใส่ทะเล
เช่น กุ้ง ผัดรสจัดแล้วราดข้าวมา ตักข้าวใส่ปากซดเกาเหลาเคี้ยวเอ็นหมูแก้ว
กรุบ ๆ อร่อยจริง ๆ ปิดท้ายเสียด้วยเฉาก๊วย โรยขนุน หรือจะเปลี่ยนเป็น กระท้อนลอยแก้ว
สตรอเบอร์รี่ลอยแก้ว เต้าถึงเย็น เขาก็มี
|