เมืองเชียงแสน
ผมเคยเล่าเรื่องของพระธาตุจอมกิติ
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แต่ยังไม่ได้เล่าถึงเมืองเชียงแสนโดยตรง
จะเล่าโดยละเอียดผมก็ไม่มีความรู้เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่พยายามค้นคว้าหาอ่าน จากหนังสือหลายเล่มก็จับใจความที่แน่นอนไม่ได้
ยิ่ง พ.ศ.ยิ่งไปกันใหญ่มักจะสับสนจึงขอสรุปพอให้รู้จักกันว่าเมืองเชียงแสนนั้นมีความเป็นมาอย่างไร
จะต้องกล่าวถึงชื่อเมือง ๔ เมืองด้วยกันคือ
๑. เมืองโยนกนคร
อยู่ทางแถบดินแดนแม่น้ำโขง ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มาจรดแม่น้ำกก ในเขตจังหวัดเชียงราย
โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าสิงหนวัติ ทรงสร้างเมืองโยนกนครขึ้น
ร่วมกาลเวลาเดียวกันกับสมัยราชวงศ์ถังในจีน และโยนกนครถึงกาลอวสานในราวพุทธศตวรรษที่
๑๒ ถล่มลงไปทั้งเมือง ตำนานเล่าว่าเพราะชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกมากิน ทำให้เกิดอาเภทแผ่นดินถล่ม
แผ่นดินไหวทำนองนั้น
๒. เมืองหริภุญไชย
เริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี
เสด็จจากละโว้ ขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย หรือลำพูนในปัจจุบัน ต่อมาได้เสียเมืองให้แก่
พระยามังราย
หรือเม็งราย ในรอบพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สถานที่ตั้งของหริภุญไชย คือ แถบบริเวณแม่น้ำปิง
แม่น้ำวังตอนบนในเขตจังหวัดลำพูน และลำปาง
๓. เมืองหิรัญนคร
เมืองหนึ่ง เมืองเงินยาง เมืองหนึ่ง
ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน คือแถบแม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย ังหวัดเชียงราย
ส่วนเมืองเชียงแสนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันคืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
โดยแยกละเอียดออกมาได้ว่า
เมืองหิรัญนคร
เริ่มต้นในสมัยลาวจก
สิ้นสุดในสมัยพระเจ้าลาวเคียง
กษัตริย์ในตอนนี้ของหิรัญนครขึ้นต้นพระนามว่า "ลาว" ทั้งหมด
เมืองเงินยาง
เริ่มต้นจากพระเจ้าลาวเคียงลงมาจนถึงพระเจ้าลาวเมง
ซึ่งพระเจ้าลาวเมงคือ พระบิดาของพระยามังราย
หรือ เม็งรายมหาราช แล้วพระยาเม็งรายย้ายจากเมืองเงินยาง ไปสร้างเมืองใหม่คือ
เงินเชียงรายในปี พ.ศ.๑๘๐๕ ต่อจากนั้นไปตีได้หริภุญไชย ไปสร้างเวียงกุมกามและสร้างเชียงใหม่
เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙
เมืองเชียงแสน
จึงสร้างขึ้นในนามของเมืองเชียงแสน ในสมัยพระยามังราย ซึ่งในตอนนี้พระยามังรายไปครองราชย์อยู่ที่เชียงรายแล้ว
แต่ให้พระราชนัดดาคือ พระเจ้าแสนภู
ครองเงินยาง และพระเจ้าแสนภูจึงได้สร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในราว พ.ศ.๑๘๓๑
ดังนั้น ในประวัติของเมืองเชียงแสนจึงจะกล่าวว่าผู้สร้างนครเชียงแสนคือ พระเจ้าแสนภู
ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้ามังราย และเมื่อพระเจ้ามังรายสิ้นพระชนม์แล้วพระเจ้าแสนภูก็ไปครองเชียงใหม่
แต่ครองอยู่ไม่นานกลับมาครองเชียงแสนอีก และสิ้นพระชนม์ที่เชียงแสน
เมืองพะเยา
เริ่มต้นในสมัยขุนจอมธรรม
แยกตัวออกมาจากเมืองเงินยาง ทรงสร้างเมืองพะเยาขึ้น มีกษัตริย์ปกครองต่อมา
ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ขุนเจื๋อง
และพระยางำเมือง
ที่ตั้งบริเวณนี้ได้แก่บริเวณจังหวัดพะเยา ในเขตอำเภอเมืองพะเยานั่นเอง
ขอให้ท่านจำชื่อขุนเจื๋องไว้ให้ดี ๆ เพราะขุนเจื่องขึ้นมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองพะเยานั้นกรุงสุโขทัยยังไม่ได้เป็นราชธานี
แต่คำว่า "สยาม"
เกิดขึ้นแล้ว ขอมก็รู้จักคนพะเยาในนามของคนสยาม เอาไว้ตอนที่ผมจะเล่าให้ฟังถึงเรื่องเมืองนครวัด
นครธม และภาพแกะสลักภาพหนึ่งบนระเบียงนครวัดนั้นคือ ภาพของทัพไทยที่ร่าเริง
เดินเหินตามสบาย และขอมเรียกว่าทัพ "เสียมกุก"
ซึ่งไกด์พยายามบอกว่าเป็นทัพสยามที่ขอมจ้างมาเพื่อไปรบกับจาม (ประเทศจามปา
เมื่อก่อนอยู่ในเวียดนาม แถวดานัง ตอนนี้ไม่มีกลายเป็นญวนไปหมดแล้ว) ความจริงขอมไม่ได้จ้างไปรบ
แต่ไปช่วยขอมรบจาม
ไปอย่างทัพเอกราชไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ รบกับจาม สุริยวรมันที่ ๒ คือ
กษัตริย์ขอมผู้สร้างปราสาทนครวัด ต้องดูจากภาพหินแกะสลัก จะเห็นว่าจอมทัพไทยที่ยืนอยู่บนหลังช้างนั้น
ยืนอย่างผงาดทีเดียว
และขอเล่าเพื่อแก้ข้อสงสัยของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ถามผมว่า พระเจ้าพรหมมหาราชนั้นมีจริงหรือ
เป็นมหาราชองค์แรกของไทยจริงหรือ พระเจ้าพรหม ราชโอรสของพระเจ้าพังคราช
เป็นเชื้อสายของพระเจ้าสิงหนวัติ ผู้ทรงสร้างเมืองโยนกนคร และเมื่อโยนกนครถล่มลงไปแล้วจึงเกิดเมืองเงินยาง
เมืองเชียงแสนขึ้นในภายหลัง ล้วนแต่มีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ต่อเนื่องกันแยกออกจากกันยาก
เมื่อพระเจ้าพังคราชอ่อนแอจนตกอยู่ในอำนาจขอม และขอมได้ให้ไปอยู่ที่ "เวียงสี่ตวง"
ปัจจุบันคือเวียงแก้ว ตำบลป่าสักน้อย อำเภอเชียงแสน และต้องส่งส่วยแก่ขอมเป็นทองคำปั้นเป็นลูกกลมเท่าผลมะตูม
ปีละ ๔ ลูกทุกปี ตราบจนพระเจ้าพรหมเติบใหญ่ขึ้น ฝึกปรือไพร่พลจนเข้มแข็งจึงงดส่งส่วยให้ขอม
ทำให้พญาขอมโกรธยกทัพมาตีเวียงสี่ตวง พระเจ้าพรหมซึ่งฝึกปรือไพร่พลไว้เป็นอย่างดีแล้ว
จึงตีทัพขอมแตกไปและไม่ใช่แค่ตีแตกเท่านั้น ยังตามตีจนไปยึดเมืองโยนกนคร หรือเงินยาง
หรือเชียงแสนกลับคืนมา แล้วขับไล่ตีขอมจนขอมต้องหนีซมซานไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร
เรียกว่าไล่ตีกันเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรเลยทีเดียว ชนรุ่นหลังจึงถวายสมัญญานามพระเจ้าพรหมว่า
"พรหมมหาราช" และที่วัดพระธาตุจอมกิติบนดอยน้อย อำเภอเชียงแสน ได้สร้างราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าพรหมมหาราชเอาไว้
อีกชื่อหนึ่งขอแก้ข้อสงสัย เพราะจะได้ยินว่าเรียกพระนาามของมหาราชอีกพระองค์หนึ่งไม่ค่อยจะตรงกันคือ
มังรายมหาราชบ้าง เม็งรายบ้าง ความจริงพระนามของท่านคือ "มังราย" ที่มาเรียกกันว่าเม็งราย
นามนี้พึ่งปรากฏในหนังสือพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม
บุนนาค) เรียบเรียงไว้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง
กล่าวกันว่า คำ "มังราย" คล้ายเป็นชื่อพม่า อังกฤษพึ่งได้ครอบครองพม่ากำลังขยายอาณาเขตต่อไป
อาจจะถือสาเหตุชื่อมังรายกษัตริย์ผู้สร้างนครเชียงใหม่ ว่าเป็นพม่ามายึดเอาเชียงใหม่ไปก็ได้
เหมือนวัดพุทธศาสนาที่ตากใบนราธิวาส ช่วยไม่ให้ไทยเสียดินแดนตรงจุดนั้นให้อังกฤษ
เพราะข้ออ้างคือมีวัดพุทธศาสนาตั้งอยู่ จะเป็นมาลายูไม่ได้ไทยจึงไม่เสียตากใบไป
มังราย เม็งราย ก็มีเหตุผลคล้ายคลึงกัน เพราะเอกสารโบราณล้วนเรียกว่ามังราย
เป็นต้นว่า ศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน กล่าวถึงพระองค์ว่า พญามังราย
ดังนั้นเมื่อมีหลักฐานเช่นนี้เวลาผมเล่าถึงกษัตริย์องค์นี้ ผมจะกล่าวถึงพระนามของพระองค์ว่า
"มังราย"
ทีนี้ต้องขอบคุณ ท่านผู้อ่านที่หากอ่านมาถึงตอนนี้โดยไม่ตั้งตาลปัตรสวดผม
ว่าเขียนเรื่องอะไรอ่านไม่รู้เรื่อง ผมเขียนเองอ่านเองก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเหมือนกัน
ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเรียกเชียงแสนเมืองเดียวให้วุ่นวายกันไปหมด ขอต่ออีกนิด
เชียงแสนเกิดในราชอาณาจักรล้านนาเป็นเมืองลูกหลวง
เป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาตอนบนของอาณาจักรล้านนา จึงมีการสร้างวัดวาอารามมากมายในเมืองนี้
และสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๑ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีได้เชียงใหม่ ยึดครองล้านนาทั้งสิ้นไว้ในอำนาจ
เชียงแสนในอำนาจการปกครองพม่า มีเจ้านายพม่ามาปกครอง หรือขุนนางผู้ใหญ่พม่ามาปกครอง
พม่าใช้เชียงแสนเป็นที่มั่นในการรับศึกจากกรุงศรีอยุธยา หรือเมื่อเชียงใหม่แข็งเมืองกับพม่า
แต่ล้านนานั้นกลับมาอยู่ใต้การปกครองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตีเชียงใหม่จากพม่าได้
และอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายปี จนภายหลังก็กลับไปอยู่ใต้อำนาจของล้านช้างบ้าง
พม่าบ้าง
เชียงแสนภายใต้ราชอาณาจักรสยาม ในตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงธนบุรี
เมืองเชียงแสนกลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่พม่ายึดเป็นปราการสู้รบกับพระเจ้าตากสิน
พระยาจ่าบ้านร่วมกับพระยากาวิละ ได้รับการสนับสนุนจากกรุงธนบุรี
ได้เข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๑๗ แต่พม่าก็ถอยหนีมายึดเมืองเชียงแสนเป็นที่มั่น
เพื่อพยายามตีเมืองเชียงใหม่กลับคืน
พ.ศ.๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กองทัพกรุง กับกองทัพเจ้าอุปราชเชียงใหม่
กองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองนครลำปาง และเจ้าเมืองนครน่าน
ขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน ล้อมไว้ ๕ เดือนก็ตีได้ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่จึงสั่งให้รื้อกำแพงเมืองบางส่วน
และเผาทำลายบ้านเรือนเพื่อมิให้เป็นที่ตั้งของทัพพม่าต่อไป แต่เชียงแสนเป็นเมืองสำคัญทางชายแดนด้านเหนือสุดไม่มีกำลังป้องกันไม่ได้
จึงให้กวาดต้อนผู้คนประมาณ ๒๓,๐๐๐ ครัวเรือน โดยจัดแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน แยกไปไว้ตามเมืองต่าง
ๆ ได้แก่ เวียงจันทน์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ส่วนที่เหลือจัดส่งไปกรุงเทพ ฯ
ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเสาไห้
จังหวัดสระบุรี และที่ตำบลคูบัว
จังหวัดราชบุรี ซึ่งชาวคูบัวนี้ยังภูมิใจในท้องถิ่นเดิมของเขา เมื่อผมทอดผ้าป่า
โดยลงแจ้งไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชาวคูบัวก็ส่งปัจจัยมาร่วมทำบุญในการทอดผ้าป่า
เพื่อบูรณะวัดพระธาตุจอมกิติ
จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ชาวพม่า ชาวไทยลื้อ และชาวไทยเขิน จากเมืองเชียงตุง
อพยพครอบครัวมาประมาณ ๓๘,๐๐๐ คน มาอยู่ที่เชียงแสนตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย
รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้เจ้าอินทวิไชยานนท์
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จัดทัพจากเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ขึ้นไปขับไล่ออกจากเมืองเชียงแสน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ แล้วต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้นำราษฎรจาก ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่
ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงแสน
พ.ศ.๒๔๓๗ จัดระบบการปกครองระบบเทศาภิบาล เมืองเชียงแสนจึงถูกรวมอยู่กับ เชียงราย
ฝาง เวียงป่าเป้า พะเยา แม่ใจ ดอกคำใต้ แม่สรวย เชียงคำ เชียงของ จัดรวมเข้าเป็นมณฑลพายัพขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม
ต่อมาย้ายที่ทำการเมืองมาตั้งที่ตำบลกาลา อำเภอแม่จัน ขึ้นกับเมืองเชียงราย
ส่วนเมืองเชียงแสนให้ยุบลงมาเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นกับอำเภอแม่จัน
ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ รัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด
จึงมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เมืองเชียงแสนจึงได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง
เป็นอำเภอเชียงแสน ขึ้นกับจังหวัดเชียงรายนับตั้งแต่ ๙ เมษายน ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
ขอจบประวัติเมืองเชียงแสนที่เล่าด้วยความทุลักทุเลเต็มทีเอาไว้เพียงเท่านี้
ไม่เล่าก็ไม่ได้เพราะมีผู้สงสัย (รวมทั้งตัวผมเอง) ว่าความเป็นมาอย่างไร จึงพยายามค้นคว้ามาได้เท่านี้
การเดินทางไปเชียงแสน ท่านจะขึ้นเครื่องบินไปลงเชียงรายแล้วหารถเช่าไปเที่ยวก็ได้
ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๕๘ กิโลเมตร เชียงราย แม่จัน เชียงแสน
หรือจะขับรถอย่างที่ผมไปทุกครั้ง ก็จะได้ความรู้ดีไปตามเส้นทางนี้ขับแข็ง
ๆ อย่าเร็วนักจะได้ไม่เสียเวลาพักนาน ผมออกจากบ้านสัก ๐๖.๐๐ ไม่กินข้าวเช้า
เอากระติกใส่กาแฟไป ขนมปังหรือแซนวิสติดรถไป พักครั้งแรกก็กำแพงเพชรพักเติมน้ำมันและเข้าห้องน้ำ
มื้อกลางวันเอาแน่ไม่ได้บางทีก็ตาก หรือเถิน หรือลำปาง จากนั้นก็เลือกเส้นทางเอา
ไปทางเชียงใหม่ออกดอยสะเก็ด ไปเชียงราย ไปเชียงแสน หรือจากลำปางผ่านงาว พะเยา
ไปเชียงราย เชียงแสนก็ได้ ระยะทางใกล้เคียงกัน หรือจะอุตริสักนิดออกจากลำปางไปผ่านแจ้ห่ม
วังเหนือ ออกแม่ขจาน ไปเชียงราย ก็สนุก เดินทางถึงได้ในวันเดียว กำลังขับผู้เฒ่าอย่างผมก็วันเดียวไม่ต้องค้างกลางทาง
เมื่อไปแล้วเที่ยวอะไร
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน
ไปเสียก่อนแห่งอื่น ๆ ไปหาความรู้พื้นฐานเสียก่อน
ไปพระธาตุจอมกิติ
, พระธาตุผาเงา
ไปวัด วัดป่าสัก วัดเจดีย์หลวง วัดพระเจ้าล้านทอง
วัดพระธาตุภูเข้า วัดพระธาตุสองพี่น้อง
ชมทัศนียภาพริมฝั่งโขง ไปสบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ
ทะเลสาปเชียงแสน
น้ำตกบ้านไร่
วิ่งรถเลาะชมกำแพงเมือง ชมประตูเมือง มีเหลือ ๕ ประตู คือ ประตูยางเทิง หนองมูต
ประตูเชียงแสน ประตูทัพม่าน ประตูดินขอ และยังมีประตูเมืองที่เหลือแต่ชื่ออีก
๖ ประตู
ป้อมมี ๖ ป้อม ป้อมประตูยางเทิง ประตูเชียงแสน หนองมูต ทัพม่าน ดินขอ ป้อมมุมกำแพง
และมีร่องรอยของเมืองโบราณอีก ๓ แห่ง คือ กลุ่มโบราณสถานบริเวณดอยเชียงเมี่ยง
สบรวก คือ พระธาตุภูเข้า
และเวียงปรึกษาหรือเชียงแสนน้อย
ซึ่งเคยเป็นที่พักชั่วคราวของพระเจ้าแสนภู
เมื่อมาสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นใหม่ บริเวณวัดพระธาตุสองพี่น้อง และแห่งที่
๓ อยู่ทางฝั่งลาวในปัจจุบัน
แม่น้ำมี แม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำจัน แม่น้ำคำ
แม่น้ำรวก
ชาวเขาในเชียงแสนมีชาวเขาเผ่า อีก้อ (อาข่า) เย้า (เมี้ยน) แม้ว
(ม้ง) จีนฮ่อ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าได้แก่ พวกไทยใหญ่
ถนนที่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่หน้าอำเภอเชียงแสนเรื่อยไปสักค่อนกิโลเมตร
เดี๋ยวนี้กลายเป็นท่าที่ขนผลไม้จากจีนมาขึ้น เช่นแอปเปิล สาลี่ แอปเปิลฟูจิ
กก.ละ ๒๐๐ บาท แอปเปิลฉินกว๊าน ลูกสีเหลือง สาลี่น้ำผึ้ง สาลี่หอม สาลี่หวาน
แอปเปิลหวาน ราคาถูกมาก ส่วนตลาดชายแดนอยู่ใต้ลงมาหน่อยแต่มีของขายไม่มากนัก
เทียบไม่ได้กับแม่สาย หรือหนองคาย มุกดาหาร
ทีนี้มาถึงร้านอาหารที่ผมจะพาไปชิมวันนี้ ร้านอยู่ริมโขง เลยอำเภอมานิด ร้านนี้ผมเคยมาชิมเขาหลายครั้งแล้ว
และเคยเอาไปเขียนเชียร์ให้ชิมไว้ ตอนนี้เขาย้ายจากร้านเดิมที่เป็นเพิง มาเปิดร้านหน้าบ้านคงจะซื้อบ้านใหม่ด้วย
กลายเป็นร้านอาหารตามสั่ง เดิมเขาชื่อร้าน เกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ ตอนนี้ไหงเขียนป้ายชื่อร้านเป็น
"เกี้ยวเซี่ยงไฮ้" มีอาหารตามสั่ง
เริ่มต้นยังไม่ต้องสั่งอะไร เดินไปดูที่ซึ่งนึ่งอาหาร ชอบใจอย่างไหนก็ชี้อย่างนั้น
มีขาหมูยูนนาน ร้านนี้เข้าใจว่าจะเป็นจีนฮ่อ ตอนชิมกันครั้งแรกยังพูดไทยแทบไม่ได้
ตอนนี้เก่งแล้ว ไข่พะโล้ ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา หมูพะโล้ เต้าหู้หมิง ราชาติแปลกอร่อยดี
ซี่โครงหมูตุ๋น ไก่ตุ๋นยาจีน ขนมจีบเซี่ยงไฮ้ ตัวนี้สำคัญ เพราะเขาจะไม่ทำไว้
สั่งว่าขนมจีบเมื่อไรเขาก็จะจีบกันเดี๋ยวนั้น เอาเข้าซึ้งนึ่ง จึงเร่งเร็วไม่ได้ต้องรอสุกก่อน
จึงต้องสั่งคำแรกเลยทีเดียวขนมจีบ
ยอดถั่วลันเตาสด ๆ ผัดกันร้อน ๆ อร่อยหวาน
ไก่ผัดพริก ไก่สับทั้งกระดูก คงจะหมักหรือคลุกเคล้าเครื่องปรุงก่อนผัด ผัดกับพริกแห้ง
ต้นหอม ซีอิ้ว เขาบอกว่าเป็นอาหารเสฉวน จานนี้อย่าเผลอโดดข้ามไป อร่อยนัก
เกาเหลาปลาบึก คงจะไม่มีทุกวัน ปลาบู่นึ่งซีอิ้ว จานนี้อร่อยมาก
ที่ต้องสั่งมาชิมก่อนอาหารอื่นอีกอย่างนอกจากขนมจีบแล้วก็คือ บะหมี่ เกี้ยว
ไม่งั้นไม่ถูกโฉลกของเขาที่ชื่อร้านเกี้ยวเซี่ยงไฮ้
จานเด็ดแปลกคือ ก้อนหิน หรือสั่งว่าผัดหินมะแอว หรือหินผัดก็คงจะรู้เรื่อง
เขาเอาหินร้อน ๆ ใส่ไว้ในชามกะละมังที่ใส่น้ำมันร้อน ๆ เอาไว้ ยกมาตั้งตรงหน้าเรา
เอาเซ่งจี๋หมูคลุกเคล้ามาแล้วมีต้นหอมด้วย ใส่ลงไปในกะละมังที่กำลังร้อนจัดทั้งหินและน้ำมัน
เซ่งจี๋ร้องฉ่าในกะละมัง ไม่ถึงนาทีก็จะสุก เอาตะเกียบคีบส่งเข้าปากได้ทันที
อย่ารอจนเย็นจะเลี่ยนและอมน้ำมัน ช่วยกันจัดการประเดี๋ยวเดียวก็หมดกะละมัง
เรียกว่าผัดหิน จะกินกับข้าวสวยก็สั่งมารอไว้ อร่อย แปลกดี เคยเห็นแต่เขาเอาแผ่นหินร้อนมาให้ปิ้ง
ย่าง อาหารทะเลยเคยเห็น เคยกินที่สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เมืองไทยก็มีแต่ชนิดเอาหินใส่น้ำมัน
พึ่งเจอนี่แหละ จบแล้วงัดเอาสาลี่มาชิม
................................................
|