อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ก่อนที่จะเล่าเรื่องอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ผมอยากจะขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า
"แฟนต่วยตูน" ที่ได้อ่านพบข้อเขียนของผมที่บอกว่า ผมจำเพลงปลุกใจสมัยที่ผมเองก็ยังเด็ก
ๆ ไม่ได้เป็นเพลงปลุกใจที่ พล.ต.หลวง วิจิตร วาทการ ท่านแต่งให้กับรัฐบาลน่าจะเป็นอย่างนี้
เพราะเพลงเหล่านี้แต่งขึ้นในสมัยที่ "ไทย" ต้องการเรียกร้องดินแดนที่เสียไปนานแล้วกลับคืนมาเป็นของเรา
ในสมัยที่ท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔
ปลุกใจคนไทยทั้งชาติให้รักในความเป็นไทยและพร้อมใจกันสู้เพื่อชาติบ้านเมือง
ซึ่งสมัยนั้นถ้าใครเกิดทันคงจำกันได้ว่า เวลา ๐๘.๐๐ กับเวลา ๑๘.๐๐ ลมหายใจของคนไทย
แทบจะหยุดนิ่งไปชั่วขณะหนึ่ง หยุดเพื่อให้ร่างกายแสดงท่า "ตรง" เคารพการขึ้นหรือลงของธงชาติไทย
ที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นเอกราชของไทยที่ ๘๐๐ปีเศษ แล้วยังดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้
ไทยไม่เคยเสียแผ่นดินไปทั้งประเทศจึงเรียกว่าไม่ได้เสียความเป็นเอกราชไป และที่น่าดีใจคือสังเกตว่าเวลานี้หลาย
ๆ จังหวัดในประเทศไทย ยิ่งชนบทห่างไกลยิ่งดี พอเวลาแปดโมงเช้า วิทยุบรรเลงเพลงชาติดังลั่นท้องถนน
"คนไทย เลือดไทย" จะหยุดนิ่งทำความเคารพ การชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา บางแห่งรถหยุดวิ่งด้วย
เพราะไม่หยุดไม่ได้ในเมื่อคนหยุดเดินกันกลางถนนเลย เห็นกับตาก็ที่อำเภอบ้านหมี่
จังหวัดลพบุรี ว่าทั้งรถทั้งคนหยุดนิ่งกันหมด แม้แต่ในเมืองลพบุรี ก็ยังทำไม่ได้ทั้ง
ๆ ที่เมืองลพบุรีสมัยที่ผมอยู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้นจะหยุดนิ่งตัวแข็งกันทั้งเมืองเลยทีเดียว
ใครที่รักชาติไม่เป็น ก็ไม่ต้องเขียนเล่นงานผมกลับมานะครับ อายุผมมากแล้ว
ความรักชาติบ้านเมือง มันยังไหลวนเวียนอยู่ในตัวของผม ไม่งั้นคงไม่ไปทำงานให้ฟรี
ๆ หรอกครับ
ขอขอบพระคุณ แฟนต่วยตูนที่ส่งเนื้อเพลงปลุกใจสมัยก่อนมาให้ คือ เพลงมณฑลบูรพา
กับเพลงนครจำปาสัก ซึ่งระยะนี้ผมเดินทางตระเวนเข้าไปทั้งในเขมร ลาว และพม่า
การตระเวนพม่าแล้วเอามาเล่าให้ฟัง โดนทหารเรืออ้างว่าเป็นรุ่นพี่ของผม จบจาก
รร.จปร. แต่ไปเป็นทหารเรือ เล่นงานหาว่าผมเป็นนักแก้ประวัติศาสตร์ และท่านผู้นี้ไม่แน่จริง
หากแน่จริงต้องบอกที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์มาให้ผมด้วยจะได้คุยกัน ผมไม่ได้แก้ประวัติศาสตร์
อาศัยเดินทางมาก อ่านมาก ฟังมาก เลยชักจะรู้มากและก็ออกมาเป็นบทวิเคราะห์เท่านั้นไม่ใช่ไปแก้
เช่นเรื่องกองทัพพม่าเผากรุงศรีอยุธยา และเผาพระพุทธรูปทองคำ ลอกเอาทองคำไป
ผมก็วิเคราะห์ว่าพม่านั้นมีหลายเผ่าและไปเห็นมากับตาว่าเผ่าพม่าแท้ ๆ นับถือพุทธศาสนาเคร่งครัดมาก
คนนับถือเคร่งครัดขนาดนี้ ไม่น่าจะมีจิตใจถึงขั้นเผาพระพุทธรูปลอกเอาทองคำไปได้
ผมวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นพวกยะไข่ ในกองทัพพม่ามีทั้งพม่า กะเหรี่ยง ยะไข่มีแน่
มอญ ว้า มีหมด ฯ และแถมยังเป็นทัพที่แม่ทัพคุมมา ไม่ใช่ทัพกษัตริย์ ความเด็ดขาดยิ่งมีน้อย
ห้ามกันไม่ฟัง พวกยะไข่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาน่าจะลงมือเผาพระพุทธรูปเอาทองคำไปพม่า
แต่คงไม่ได้เอาไปหุ้มพระเจดีย์ชเวดากอง เพราะเจดีย์ชเวดากองหุ้มทองมาก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเรียบร้อยไปแล้ว
ตั้งแต่ ๒๐๐ ปีก่อนกรุงแตก ผมวิเคราะห์ว่าอย่างนี้ ผมจะช่วยขายสินค้าไทยให้พม่า
ช่วยให้ชาวประมง เข้าไปจับปลาในน่านน้ำพม่าได้โดยไม่ถูกจับ ผมวิเคราะห์เพื่อเหตุนี้
หรือที่กำแพงดินเมืองฝาง เขียนไว้ว่าอะแซหวุ่นกี้ตีฝางแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐
ผมก็ขอค้าน บอกว่าอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เมื่อท่านอะแซ
ฯ อายุ ๗๒ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ ที่ชานเมืองพิษณุโลก เมื่อดูตัวแล้วก็บอกว่าให้รักษาตัวไว้ให้ดีนานไปจะได้เป็นกษัตริย์
ก็คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดูตัวแล้วให้ทัพไทยถอยไปเสีย ท่านบอกว่าท่านจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้ได้
และก็ตีได้จริง ๆ เมื่อทัพไทยถอยออกไปแล้ว อยู่ก็ไม่ได้ทหารอดข้าวตาย ๒๓๑๘
ท่านอะแซ ฯ อายุ ๗๒ ปี ๒๓๓๐ ท่านอะแซ ฯ อายุ ๘๔ ปี ผมก็คนแข็งแรงคนหนึ่งกล้าพูดเช่นนี้เพราะยังขับรถและเดินทางไปได้ทั่วประเทศ
บางทีก็หลุดออกนอกประเทศไปก็มี ผมอายุยังไม่เท่าท่านอะแซหวุ่นกี้ตอนตีพิษณุโลกด้วยซ้ำ
ผมยังต้องกินยาต่าง ๆ ตลอดเวลา เช่นคุมความดัน คุมน้ำตาลไว้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ถึงขั้นเบาหวาน
เพราะหากน้ำตาลสูงผมไม่ต้องชิมอาหารกัน ยาขยายหลอดเลือดที่เข้าหัวใจ วิตามินต่าง
ๆ ที่ร่างกายคนปูนนี้ต้องขาด กินกันเป็นปิ่นโตยาเลยทีเดียว หมอฟันก็ทันสมัย
หมอตาก็มีแว่นให้ "ผมยังร้อง" แล้วท่านอะแซหวุ่นกี้อายุ ๘๔ อยู่ในสมัยที่ยังไม่มีหมอตา
หมอฟัน วิตามินบำรุง ตับ ไต หัวใจอะไรก็ไม่มี แล้วอายุ ๘๔ ท่านจะยังควงง้าว
รำทวน ขี่ม้ามารบไหวหรือ ผมให้ท่านนอนเปลให้คนหามมา แล้วนอนวางแผนเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ไหว
เลยไม่ต้องเล่าเรื่องอุทยานแจ้ซ้อนกัน ต้องย้อนขึ้นไปก่อนมี ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ผมไปเวียงป่าเป้า มีธุรกิจส่วนตัวที่ต้องทำมาหากิน เพราะบำนาญนั้นน้อยเหลือทนและไม่มีการปรับ
ปล่อยให้อดตายไป วันที่ผมปลดเกษียณนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละไม่เกิน ๑๐ บาท (หมายถึงศูนย์การค้า)
แต่วันนี้ก๋วยเตี๋ยวตามศูนย์อาหารทั้งหลายไม่ต่ำกว่า ๒๐ บาท บำนาญข้าราชการเท่าเดิม
ไปเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายแล้ว ก็เลยไปที่โรงงานเชียงราย ไวน์เนอรี่
ที่ผมบอกว่าเขาทำไวน์กระชายดำ จากหัวกระชายดำ เป็นไวน์แดง ที่ผลิตจากสมุนไพร
ไวน์กระชายดำ ไวน์กระท้อน ไวน์ลูกยอ ไวน์มะเม่า และไวน์ขาวจากต้นโด่ไม่รู้ล้ม
บอกชื่อก็ตัวแข็งแล้ว ผมก็เป็นโอสถแต่บางวันก็ซดเกินขนาดของโอสถคือซดเข้าไปทั้งขวด
เขาให้กินเป็นโอสถสักวันละ ๒ แก้ว แก้วไวน์เล็ก ๆ ไม่ใช่เอาเหยือกมารินแล้วบอกว่า
๒ แก้วเหมือนกัน ได้ผลดีก็เอามาเขียนเล่าให้ฟัง สาบานได้ว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเขาทั้งสิ้น
นอกจากตอนที่ไปชิมที่โรงงานของเขา ชิมแบบไม่เคยหวังผลตอบแทนเช่นนี้มาตลอดเวลาจึงยืนยงอยู่ในวงการนี้มาครบ
๓๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ และเฉพาะต่วยตูนนั้นครบ ๒๕ ปี ตั้งแต่กรกฎาคม ๒๕๔๔ ทีนี้ทางโรงงานเขาหวังดี
จะให้ไปชิมกันสะดวกเขาก็ย้ายที่ชิมไปหน่อย ท่านที่ไปไม่เจอก็โวยวายกลับมาเพราะโทรศัพท์มือถือสมัยนี้ช่วยในการเล่นงานผมได้มาก
ไปยืนรอกินราดหน้าเสฉวนแถวเมืองทองธานี รอนานโต๊ะไม่ว่างสักที คิดไม่ออกโทรมาเล่นงานผมดีกว่า
ผมไม่รู้จะช่วยอย่างไร เลยบอกให้ยืนรอต่อไปแล้วผมก็ปิดโทรศัพท์เสีย เชิญยืนรอตามสบาย
แถวนั้นเขียนไว้ตั้งหลายร้าน โจ๊กร่วมใจก็มี สุโขสโมสรก็ได้ เก็จแก้วก็อร่อย
จะตื้อกินราดหน้าให้ได้ในวันนี้ก็ยืนรอไปก่อนก็แล้วกัน ท่านที่จะไปชิมไวน์ที่โรงงานเชียงรายไวน์เนอรี่หรือสวนเจ้าคุณ
(สวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อทำไวน์)ต้องไปจากเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปเชียงรายไปทางดอยเสก็ด
ไปผ่านน้ำพุร้อนแม่ขจาน ผ่านอำเภอเวียงป่าเป้า ก่อนถึงอำเภอแม่สรวยให้เลี้ยวซ้ายที่เชิงสะพานตรง
กิโลเมตรประมาณ ๑๒๑ เลี้ยวซ้าย (ปากทางมีป้ายบอก) ไปตามถนนไปตำบลศรีถ้อย เลยไปหน่อยจะพบป้ายแรก
ให้ผ่านเลยไปก่อนอีก ๕๐๐ เมตร พบอีกป้ายจึงเลี้ยวซ้ายเข้าโรงงานไวน์ วิ่งข้ามแม่น้ำไปหน่อยก็จะพบป้ายชี้ทางเข้าโรงงาน
ถ้าหากไม่เลี้ยวตามป้ายเพื่อเข้าโรงงาน วิ่งรถต่อไปอีกประมาณ ๘๐๐ เมตร จะพบป้ายทางซ้ายมือบอกว่าไปวัด
"พระเจ้าทองทิพย์" ซึ่งนับว่าอัศจรรย์มาก ที่พระพุทธรูปทองทิพย์เก่าแก่มาก
แล้วอยู่ในเมืองไทยมานานกว่า ๔๐๐ ปี แต่เหมือนอยู่ในป่า ผมซึ่งเดินทางไปทั่วประเทศไม่รู้จักพระพุทธรูปสำคัญ
จึงถือว่าแปลก แต่พอจะรู้จักก็แปลกอีก ยืนชิมไวน์ตาไปพบแผ่นโบชัวร์ ที่มีผู้มีศรัทธาสร้างให้วัดพระเจ้าทองทิพย์วางอยู่บนเคาน์เตอร์
อ่านแล้วก็ไปทันที เลยทางเข้าโรงงานไวน์ไป ๘๐๐ เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งข้ามแม่น้ำลาวรวมแล้วประมาณ
๑ กิโลเมตร จะถึงวัดพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้อยู่ในโบสถ์ของวัดที่มีชื่อวัดตามนามพระพุทธรูปคือ
พระพุทธรูปทองทิพย์ ประวัติโดยย่อคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าเชียงใหม่นาม
พระเจ้าเกษมเกล้า ยกราชธิดาพระนางยอดคำให้ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าโพธิสาร ผู้ครองราชสมบัติของกรุงศรีสัตตนาคนหุต
ทั้งสองพระองค์ครองเมืองร่วมกันหลายปีไม่มีโอรสและธิดา ดังนั้นในวันวิสาขบูชา
พากันไปไหว้พระตามประเพณี พระเจ้าโพธิสารจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระพุทธรูปทองทิพย์ขอบุตรสืบราชบัลลังก์
ต่อจากนั้นพระนางยอดคำก็ทรงพระครรภ์ และประสูติกาลเป็นโอรส ทรงพระนามว่า ไชยเชษฐา
เมื่อโตขึ้นอายุได้ ๑๕ ปี พระเจ้าตาหรือกษัตริย์เชียงใหม่สวรรคต ทางเชียงใหม่ไม่มีใครครองเมืองจึงมาขอพระไชยเชษฐาไปครองเมืองเชียงใหม่
ก่อนไปพระราชบิดาคือ พระเจ้าโพธิสารบอกให้นำพระพุทธรูปที่เสมือนให้ชีวิตท่านมาไปด้วย
คือพระพุทธรูปทองทิพย์ เมื่อพระไชยเชษฐาออกเดินทางไปก็ไปทางเรือ ไปตามลำน้ำแม่โขง
เข้าแม่น้ำกกแล้วมาเข้าแม่น้ำลาว เพื่อไปต่อทางบก เดินทางไปเชียงใหม่ แต่พอเรือพระที่นั่งผ่านมายังที่ตั้งของวัดพระเจ้าทองทิพย์ทุกวันนี้
เรือไม่ยอมไป ทำอย่างไรก็ไม่ไปจึงต้องนิมนต์พระพุทธรูปทองทิพย์ขึ้นจากเรือ
เรือจึงยอมไป ไปครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๒ ปี พระเจ้าโพธิสารสวรรคต ทางล้านช้างก็ขอให้กลับไปครองเมือง
(หลวงพระบางคือเมืองหลวง) ท่านก็กลับไปและตอนไปไม่แน่ใจว่าจะเป็นกษัตริย์
๒ แผ่นดินได้หรือไม่ จึงนำพระแก้วมรกตจากวัดเจดีย์หลวง พระเสตังมณี หรือพระแก้วขาวจากวัดเชียงมั่น
พระพุทธสิหิงค์ นำไปลาวด้วย (แต่ทุกองค์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงนำกลับมาได้ทั้งหมด
แถมด้วยพระบาง ซึ่งคืนกลับไปเมื่อ ร.๒ ครองราชย์) ตอนพระไชยเชษฐากลับไปนี้ก็ไม่กล้านำพระพุทธรูปทองทิพย์กลับไปด้วย
คงให้อยู่ที่ตรงนั้นแต่สร้างมณฑปไว้ให้ จากนั้นมาอีกนับร้อยปีจน พ.ศ. ๒๓๖๘
ครูบายาโณ จึงเริ่มสร้างวัด และต่อมามีการบูรณะอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๐๖ ไปไม่ถูกลองโทรติดต่อดูที่ ๐๕๓ ๗๐๘๒๒๗ ส่วนโรงงานไวน์นั้นหากยังไปไม่ไหวแต่อยากจะชิมไวน์ก็ซื้อเอาที่จัสโก้
หรือฟู๊ดแลนด์
ใครไม่มีบุตร ลองไปบนบานหลวงพ่อทองทิพย์ดูบ้างก็ได้ มีเหรียญให้เช่าด้วย ราคา
๓๙ บาท หรือตามศรัทธา ไม่ทราบหมดแล้วหรือยัง เพราะวันที่ผมไปเหลืออีกเพียง
๖๐๐ เหรียญ ผมเช่าบูชาเอามาแจกกันก็หลายเหรียญอย่าเผลอขอมาที่ผมก็แล้วกัน
หมดแล้วครับ
จากวัดพระเจ้าทองทิพย์ ผมจึงมาอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เพื่อมาชมดอกเสี้ยวบาน
และก่อนที่จะพ้นอำเภอแม่สรวยมาได้ผมก็ย้อนขึ้นไปอีกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ไปที่สวนจริณ
ซึ่งอยู่เลยอำเภอไปสัก ๕ กิโลเมตร ไปชมดอกโกลด์เด้นท์ทรัมเปต ที่ผมเรียกว่า
โคมคำ ซึ่งจะบานในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม ดอกจะเป็นสีทองบานเต็มต้น
ใกล้ ๆ กันมีบานเป็นสีชมพูทั้งต้น ที่นี่ต้นโตมาก จะไม่มีใบเลย งามสุดพรรณนา
จากอำเภอแม่สรวย หากมาทางเวียงป่าเป้าแล้วเลี้ยวซ้ายไปอำเภอวังเหนือ แล้วเลี้ยวขวาลงมายังอำเภอแจ้ห่ม
ก่อนถึงอำเภอแจ้ห่มเลี้ยวขวา ไปทางอำเภอเมืองปาน ก็จะเข้าไปยังแจ้ซ้อนได้
แต่ผมไปจากเชียงใหม่จึงมาเข้าที่อำเภอห้างฉัตร แล้วไปอำเภอเมืองปาน ไปแจ้ซ้อน
แต่หากมาจากลำปาง ไปจากตัวเมืองลำปาง ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำวัง สะพานรัษฎา ไปสัก
๑๐ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไป ๕๘ กิโลเมตร จะถึงสามแยก ตรงนี้ให้เลี้ยวซ้ายไป
๓ กิโลเมตร เข้าเมืองปาน "กินข้าว" หากไม่กินข้าวจะไปเลยก็เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ
๙ กิโลเมตร อ่านตามป้ายไปก็จะถึงอุทยานแจ้ซ้อน ที่นับว่าประหลาดอีกแห่งหนึ่งคือ
น้ำพุร้อน จะบรรจบกับน้ำตกลงมาเย็นเจี๊ยบกลายเป็นแอ่งน้ำอุ่น
อาหารกลางวัน จากตรงสามแยกเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอเมืองปานไป ๓ กิโลเมตร ทางขวามือร้านก๋วยเตี๋ยวสูตรนายอำเภอ
เขายกป้ายไว้อย่างนี้ ถามไถ่ได้ความว่านายอำเภอท่านที่เป็นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕
มากินก๋วยเตี๋ยวแทบทุกวันแล้วสั่งสูตรเดิมทุกวันไป เลยใช้เอกลักษณ์ของร้านว่าก๋วยเตี๋ยวสูตรนายอำเภอ
ทั้ง ๆ ที่นายอำเภอย้ายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ร้านนี้มี ๒ ห้อง มีด้านหลังอีกเป็นร้านชาวบ้านธรรมดา
ๆ แบบโชห่วยเต็มตัว จะไปทำบุญเข้าร้านเดียวได้หมดตั้งแต่เครื่องสังฆทานยันอาหารถวายพระ
ลองสั่งมาชิมก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำใสเส้นใหญ่ น้ำซุปเด็ดนัก มีลูกชิ้นด้วย ลาบเมืองเป็นลาบหมูคั่วสุก
อร่อยอีก ยำไส้ตันจานนี้เด็ด คิดถึงยามเย็นขึ้นมาทันทีจะได้ซดตามไปด้วย เห็นโต๊ะข้าง
ๆ เขาสั่งแกงอ่อม แล้วสั่งข้าวนึ่งเอามาจิ้มแกงอ่อมเลยเอาอย่างบ้าง อร่อยทุกอย่าง
ปิดท้ายด้วยไอสกรีมช๊อคชิพ กินกันกลางป่าเลยทีเดียว
จบแล้วย้อนกลับมาถึงสามแยก ตรงต่อไปหน่อยก็มีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปอีก ๙
กิโลเมตร ก็จะเข้าอุทยานแจ้ซ้อน เสียค่าบำรุงอุทยานค่ารถคันละ ๓๐ บาท รวมทั้งคนขับ
คนนั่งคนละ ๒๐ บาท วิ่งตรงเรื่อยไปตามป้ายไปจนถึงสำนักงาน โดยผ่านศูนย์บริการการท่องเที่ยวไปก่อน
พอขอเอกสารได้ที่สำนักงานจองที่พักมีหลายราคา หากไปกันหลายคนจะถูกมากเช่นหลังที่ผมพัก
พักได้ ๕ คน ที่นอนปูกับพื้น ๕ ที่ ห้องน้ำห้องเดียว ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใด
ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่แก้วน้ำสักใบก็ไม่มี ราคาคืนละ ๖๐๐ บาท ไป ๒ คนแพงไป ไป
๕ คนจะถูกมากและทุกหลังก็จะเป็นแบบนี้คือบ้านมองดูจากภายนอกสวย หลังโตนอนได้หลายคน
ถือว่าพักในป่าจะมาหาความสะดวกอะไรกันนักกันหนา แต่อยากให้มีแก้วน้ำ มีน้ำดื่มให้ด้วย
เพราะหากมาถึงค่ำแล้วไม่มีน้ำดื่ม ไม่ได้นำน้ำดื่มมาจะอดไปทั้งคืน ส่วนผมนักเดินทางผมมีน้ำติดรถเป็นประจำ
แก้วน้ำของผมมีพร้อมจึงไม่สู้จะเดือดร้อนนัก และชำรุดเสียหายน่าจะตรวจซ่อมกันเป็นประจำ
แต่ที่นี่ไม่มี รับเงินแล้วก็ไปเปิดห้องไว้ให้เรา กลับมามืดแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเลย
แต่ยังดีที่เปิดบ้านพักไว้ให้ สายฉีดน้ำไม่มี สายฝักบัวรั่วเปิดน้ำไม่ลงตัวไปลงที่อื่นแทน
และข้อสำคัญในป่าอุทยานยังมีสัตว์จำนวนมาก ประตูปิดให้สนิทไม่ได้ นอนตื่นขึ้นมาดึก
ๆ ต้องค่อย ๆ แง้มตาดูว่าคนข้าง ๆ ยังอยู่หรืองูกินเรียบร้อยไปแล้ว รีสอร์ทที่อยู่หน้าทางเข้าอุทยานราคา
๓๐๐ บาท ไม่รู้ว่าต่อคนหรือต่อห้อง พักที่รีสอร์ทริมธารน้ำน่าจะสะดวกกว่า
ได้ธรรมชาติของป่าเช่นกัน
ผมตั้งใจจะไปดูดอกเสี้ยวบาน เพราะในปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะมีเทศกาลดอกเสี้ยวบานของลำปาง
ซึ่งจะต้องผ่านอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนแห่งนี้ไปอีก ๙ กิโลเมตร โดยประมาณ จะถึงลานที่ชมดอกเสี้ยวบาน
และหากต่อไปอีก ๓ กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านป่าเหมี้ยง ซึ่งเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง
ไม่น่าเชื่อจะมีหมู่บ้านกลางป่าที่ทันสมัยถึงขั้นนี้ "โฮมสเตย์" ให้เช่าพักนอนคืนละ
๑๐๐ บาท ต่อคน หากให้ทำอาหารให้ด้วยก็ได้คิดสตางค์เพิ่มอีกไม่มากนัก ตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปพักที่หมู่บ้านแห่งนี้
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมืองปาน และอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง
มีพื้นที่ ๔๘๐,๐๐๐ ไร่ กำหนดว่าพื้นที่ในป่าบริเวณป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย
ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวาในอำเภอแจ้ห่ม ในเขตอำเภอเมืองปาน และอำเภอเมืองลำปาง เป็นอุทยานแห่งชาติ
ประกาศมาตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๕๘ ของประเทศ
เป็นวนอุทยานน้ำอุ่น และวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน มีลานน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น ข้าง
ๆ ศูนย์ท่องเที่ยวมีบ่อน้ำร้อน ๙ บ่อ อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ๗๓ - ๘๒ องศาเซ็นเซียส
บ่อที่ร้อนที่สุด(ปักป้ายไว้) จะต้มไข่ไก่ให้ไข่แดงแข็งไข่ขาวข้นได้ภายในเวลา
๑๗ นาที ครบกำหนดแล้วให้เอาขึ้นมาเป็นอาหารมื้อเย็นด้วยการเตรียม เกลือ มะนาว
น้ำตาล พริกขี้หนู หอมแดงไปด้วย ยำแล้วจะเหมือนยำไข่จาระเม็ดทีเดียว
ส่วนวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนนั้นมีน้ำตกตลอดปี และอยู่เหนือธารน้ำร้อนขึ้นไป
ฤดูฝนจะสวยมาก น้ำจะไหลลงมาแรง และธารน้ำเย็นแห่งนี้จะไหลลงมารวมกับธารน้ำร้อน
ซึ่งตรงใกล้ ๆ กันนี้มีห้องอาบน้ำแร่เยี่ยมมาก ภายในอุทยานมีน้ำตกแจ้ซ้อนที่เกิดจากแม่น้ำมอน
น้ำตกแม่มอน น้ำตกแม่ชุน น้ำตกแม่เปียก บ่อน้ำพุร้อน แอ่งน้ำอุ่น ห้องอาบน้ำแร่
และมีถ้ำผางามอยู่ใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ ๗ และมีห้องพักซึ่งจะติดต่อได้ที่
โทร ๐๕๔ ๒๒๙๐๐๐ (ในเวลาราชการคงจะติดต่อได้) และ ๐ ๒๒๕๗๙๕๗๓๔
ที่ศูนย์การท่องเที่ยว ไปขอเอกสารได้และผมถามถึงทิศทางไปชมดอกเสี้ยว เขาบอกว่าต้องไปที่บ้านป่าเหมี้ยง
ที่อยู่ไกลออกไปอีก ๙ กิโลเมตร และต้องไปตามถนนที่คดเคี้ยวไปบนเขาหักเป็นศอกเลยทีเดียว
เขาไปกันโดยรถโฟร์วีล รถกระป๋องของคุณลุงไปไม่ได้แน่นอน ผมก็ยิ้มเสียแล้วก็ขับรถกระป๋องไปกัน
๒ คน ก็พระพุทธบาทสี่รอยที่ อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ยังขึ้นมาแล้ว ทำไมจะขึ้นที่นี่ไม่ได้
เปลี่ยนเกียร์เสียก่อนรถจะหมดกำลัง แม้จะเป็นรถเกียร์อัตโนมัตก็เปลี่ยนได้
จึงขึ้นไปถึงลานชมดอกเสี้ยวด้วยความสบาย ไปถึงพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านที่เกิดมาไม่เคยพบกันวิ่งมาต้อนรับเลยทีเดียว
คงนึกว่าตาลุงนี่แกหลุดขึ้นมาได้อย่างไร และบอกเรื่องโฮมสเตย์ เรื่องการจัดงาน
ยืนชมดอกเสี้ยวที่ดอกบานเต็มทั้งต้น ไม่มีใบเลย ดอกสีขาวแต่เกสรสีม่วงงดงามสมกับที่บากบั่นขึ้นมาบนนี้
พ่อหลวงแนะนำว่ามีร้านสวัสดิการของหมู่บ้าน แม่บ้านขึ้นมาช่วยกันทำอาหารขาย
(ไม่รู้ว่าผมเป็นใคร) ผมก็ไปดูอาหารที่เขาทำกัน พอมองเห็นไส้อั่วเข้าเท่านั้นก็ลงมติด้วยคะแนน
๒ใน ๒ ทันทีว่าอร่อยแน่ ถามดูบอกว่าเป็นไส้อั่วเห็ดหอม แปลกอร่อยจึงเหมาหมดได้มาครึ่งกิโล
มีข้าวอบน่องไก่ซื้อมา ๑ ห่อ เขาเสนอยำใบเมี่ยง เอาใบเมี่ยงค่อนข้างเปรี้ยวมายำกับปลากระป๋องรสชาติแจ่มแจ๋ว
ถามว่าไม่ใช่เทศกาลอยากกินทำอย่างไร แม่บ้านทั้งหลายบอกว่าให้ลงไปที่หมู่บ้าน
มีร้านสหกรณ์ของหมู่บ้านทำขายตลอดปี หรือไปพักที่หมู่บ้านได้ยิ่งดีได้กินอาหารพื้นบ้านอร่อย
ๆ ชักรูปเอาไว้เป็นหลักฐานว่าร้านสวัสดิการบนยอดเขาแห่งนี้ได้มาชิมแล้ว ต่อจากนั้นก็ลงไปยังหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านสะอาดน่ามาพักร่วมกับเขาในรูปของ
"โฮมสเตย์ " พ่อหลวงทันสมัยมากจึงใช้ศัพท์นี้มาบอกผม จบแล้วตอนจะกลับยังบอกอีกว่าก่อนถึงลานชมดอกเสี้ยวมีทางเดินเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ขึ้นไปยังดอยพระพุทธบาทได้ ใช้เวลาเดินประมาณครึ่งชั่วโมง ผมหมดแรงเสียก่อนและใกล้ค่ำแล้วด้วยเลยผลัดเอาไว้ก่อน
ได้แต่แนะนำว่าให้ทำทางให้ดีให้ปลอดภัยผมจะไปแนะให้เขาเดินเที่ยวกัน เดินในอุทยาน
แค่ชมนกนานาชนิดก็สุดจะคุ้มค่าแล้ว
อาหารเย็น ในบ้านพัก เอาใบตองมารองอาหารที่ซื้อจากแม่บ้าน คือไส้อั่ว ข้าวอบน่องไก่
ยำใบเมี่ยง ผมมีหมูทอด และน้ำพริกหนุ่มที่ซื้อมาจากเชียงใหม่มาด้วย ข้าวนึ่งก็มี
ใช้มือเป็นพาหะแม้อาหารจะเย็นไม่ได้อุ่นด้วย เครื่องมือชนิดใดก็ไม่มีแต่ยังอร่อยมาก
ปิดท้ายด้วยลำใยที่ซื้อมาจากข้างทางแถวลำพูน ลำใยนอกฤดูใช้โปรแตสเซียมในเตรดนี่ออกลูกหวานฉ่ำตลอดปี
อย่าให้ระเบิดขึ้นมาก็แล้วกัน
ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทั้งในกรุงเทพ ฯ และภูเก็ตที่ส่งเพลงมณฑลบูรพา และเพลงนครจำปาสักมาให้
เพื่อให้ได้อ่านกันทั่วประเทศไปเลย ผมจะนำลงเผยแพร่ใน ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์
ในหน้า ๖ ครับ
----------------------------------
|