๔๐๐
ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ความจริงผมอยากตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เมื่อยกทัพผ่านกาญจนบุรีครบรอบ ๔๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ ตั้งชื่ออย่างนี้ไม่ต้องอ่านเรื่องก็รู้เรื่องย่อเลยทีเดียว
แต่ท่านผู้อ่านจะยิ่งเกิดความกระหายใคร่จะทราบว่า เป็นพระราชานุสาวรีย์ที่แห่งใด
เพราะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นท่านมีหลายแห่ง และหากได้อ่านหนังสือ เรื่อง
"พ่อ" ของท่านรองนายกรัฐมนตรี ปองพล อดิเรกสาร ซึ่งเขียนเกี่ยวกับพระองค์ท่านไว้อย่างน่าอ่านยิ่ง
ก็จะเห็นว่าที่มีพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านอยู่ในประเทศไทย เวลานี้นั้นยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ
เมื่อเทียบกับการที่พระองค์ได้กระทำต่อศัตรูเพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยา และแผ่พระบารมีไปทั่วทุกสารทิศ
พระราชานุสาวรีย์ ๔๐๐ ปี ของพระองค์อยู่ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผมได้เดินทางไปดังนี้
ทางตรงนั้นไม่ไกลเลย คือไปจากกรุงเทพ ฯ ไปนครปฐมแล้วอย่าเข้าเมืองนครปฐม ตามป้ายสุพรรณบุรีไปจนข้ามสะพานที่ข้ามทางรถไฟ
เข้าถนนมาลัยแมนหรือถนนสาย ๓๒๓ มุ่งหน้าไปจนถึงอำเภอกำแพงแสน จะมีทางแยกซ้ายไปยังอำเภอพนมทวน
เมื่อถึงอำเภอแล้วก็เลี้ยวซ้ายไปอีกหน่อยจะพบป้อมตำรวจใจดีแวะถามได้ว่าไปทางไหน
หากมั่นใจก็วิ่งต่อไปอีกนิดเดียวก็จะพบป้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่พระราชานุสาวรีย์
ครึ่งกิโลเมตรก็จะพบป้ายใหญ่ จากนั้นก็วิ่งผ่านทุ่งนา ไปจนกระทั่งถึงพระราชานุสาวรีย์สร้างไว้สง่างาม
ทางอ้อม ผมชอบเสาะแสวงหาวัตถุดิบเอามาเขียนหนังสือเล่าให้ท่านฟัง แทนที่จะเลี้ยวซ้ายที่อำเภอกำแพงแสน
ผมก็คงตรงต่อไปจนถึงสามแยกจรเข้สามพัน (เลี้ยวซ้ายมาพนมทวน) ก็เลี้ยวขวาไปยังอู่ทอง
ไปเที่ยวอู่ทองเสียก่อนจึงกลับมายังพระราชานุสาวรีย์ที่พนมทวนและไม่ได้ไปครั้งเดียว
ไปติดต่อกันถึง ๒ ครั้ง จึงได้เรื่องมาเล่าดังนี้.-
เรื่องแรก หิวข้าวเมื่อถึงสามแยกจรเข้สามพัน (เป็นตำบลในอำเภออู่ทอง) มองเขม้นเห็นร้านตรงกับสามแยกพอดี
ยกป้ายไว้ว่าต้นตำรับไก่ฉีก หมายถึงไก่ต้มแล้วฉีกเอามาจิ้มน้ำปลาคงหมายถึงอย่างนี้
ดูแล้วเข้าตากรรมการ เข้าไปในร้านไม่มีลูกค้าเลยทั้ง ๆ ที่เที่ยวแล้ว มีสาวขำดำขลับนั่งรับรองอยู่
๑ สาว ถามอะไรเธอตอบไม่ค่อยจะตรงคำถาม เช่นถามว่าร้านนี้มีอาหารอะไรอร่อยที่เขาชอบสั่งกัน
เธอตอบว่าแล้วแต่คนสั่งจะชอบอะไร ถามกันไปตอบกันมาเสียเวลาไปสิบนาทียังไม่ได้สั่งอาหาร
จะสั่งไก่ฉีกต้นตำรับเธอบอกว่าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ผมจะรีบไปเลยไม่สั่งไก่ฉีก
สั่งแกงป่าลูกชิ้นปลากราย ทอดมันปลากราย และปลาเนื้ออ่อนสามรส นั่งรออยู่
๔๐ นาที อาหารจานแรกจึงยกมาถือแกงป่าลูกชิ้นปลากราย ตั้งมาบนหม้อไฟควันโฉ่น่าซดยิ่งนัก
พอซดช้อนแรกแทบชักดิ้นชักงอด้วยความเผ็ดสุด ๆ ข้าวก็ยังไม่ยกมา แต่รสนั้นอร่อย
ซดใหม่อีก ๑ ช้อน ใกล้ชักด้วยความเผ็ด แต่อร่อย รีบซดน้ำแข็งตามเข้าไปเอาอีกไม่เข็ดเพราะรสดีมาก
อีก ๑๐ นาทีต่อมา อาหารจานที่สองคือปลาเนื้ออ่อนสามรส รสดีมากเผ็ดนิดเดียว
ออกรสหวานให้ด้วยช่วยแก้เผ็ด คราวนี้เสริฟข้าวสวยมาให้แล้วแต่ไม่ร้อนสมใจ
กินข้าวกับปลาเนื้ออ่อนจนเกือบจะอิ่มแล้ว เวลาผ่านไป ๑ ชั่งโมงพอดี อาหารจานที่
๓ คือ ทอดมันปลากรายจึงยกมา ก็กินเปล่า ๆ เพราะกินข้าวอิ่มแล้ว ทอดมันปลาเหนียวหนับอร่อยมากแต่ท้องตึงเสียแล้ว
จึงไม่อร่อยเท่าที่ควร จบแล้วจ่างสตางค์ไป ๒๕๐ บาท ลูกค้าคงมี ๒ คนเท่าเดิม
เล่ามาให้พิจารณาว่าควรจะแวะชิมหรือไม่ เพราะเข้าไปตระเวนในอู่ทองมาครั้งหนึ่งแล้วหาร้านถูกใจไม่ได้
นอกจากร้านข้าวหมูแดงเกาเหลาเครื่องในหมู ร้านนี้ชื่อ "โกฮิ้น" หากไปถึงวงเวียนหอนาฬิกาของอู่ทองเลี้ยวขวาไปทางสุพรรณบุรี
พอเลี้ยวขวามานิดเดียวจะเห็นปั๊มเชลล์ หันหน้าเข้าปั๊ม ทางขวามือมีตึกแถวมีร้านอาหารหลายร้าน
มีร้านข้าวหน้าเป็ดชื่อ "โกฮิ้น" อาหารดี เป็นร้านห้องเดียว ผมกินข้าวหมูแดงรสดีทีเดียว
และเกาเหลาเครื่องในหมู เครื่องในแยะจริง ๆ คนเป็นโรคเกาท์กินเข้าไปตกเย็นมีหวังร้องครวญไปทั้งคืน
ดังนั้นการไปชิมอาหารของผมวันนี้จึงกลับมาชิมที่นครชัยศรี
ที่อู่ทองมีอะไร เริ่มต้นให้ไปยังพิพิธภัณฑ์อู่ทองก่อนเป็นลำดับแรก และต้องขอชมเชยเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ว่ารับรองดีจริง
ๆ พยายามให้ความรู้ ตอบคำถามกันน่ารักทั้งชายและหญิง ยิ่งแผนกที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก
ที่อาคารด้านหลังยิ่งพูดจาเอาใจลูกค้าดีมากเล่นเอาซื้อหนังสือไปหลายสตางค์
ผมไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไม่ว่าที่ใด ตอนจบจากการชมภายในพิพิธภัณฑ์แล้วผมจะต้องเร่เข้าไปยังตู้จำหน่ายหนังสือ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือของกรมศิลปากร ของเมืองโบราณ และของสารคดีแต่ละแห่งจะมีหนังสือไม่ค่อยซ้ำกัน
อยากได้ครบคงจะต้องไปซื้อที่ศูนย์หนังสือของกรมศิลปากร แต่ราคาหนังสือนั้นเดี๋ยวนี้ไม่ถูกนัก
ราคาพอสมควรแต่คุ้มค่าราคาหนังสือ หนังสือดี ๆ ลักษณะนี้ของถูกน่าจะเหลือแต่ของ
ม.สุโขทัย กับที่ศึกษาภัณฑ์จะที่ราชดำเนินหรือลาดพร้าวก็ราคาย่อมเยาว์ด้วยกัน
ประวัติของเมืองอู่ทอง มีดังนี้.-
เมืองอู่ทองเป็นเมืองโบราณ
ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำจรเข้สามพัน
ทางฝั่งทิศตะวันตก ลักษณะเป็นรูปวงรี ขนาด ๑,๘๕๐ X ๘๒๐ เมตร มีคันดินคูน้ำล้อมรอบ
(คูน้ำยังปรากฏให้เห็น) ทิศตะวันตกเป็นเทือกเขารางกะปิด เขาคำเทียม และเขาพระ
ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนน โบราณเรียกว่า
ถนนท้าวอู่ทอง
และแนวคันดินรูปเกือกม้า "เรียกว่า คอกช้างดิน"
ซึ่งน่าจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณ หรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์ เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายคือประมาณ
๒,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผาแวปั่นด้ายดินเผา
เป็นต้น
ต่อมาเมืองโบราณอู่ทองได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยใหม่ คือสมัยประวัติศาสตร์
มีการทำมาค้าขายติดต่อกับชาวต่างประเทศในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ - ๙ เช่นเวียดนาม
จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งยุโรปด้วย ซึ่งได้พบหลักฐานคือเหรียญกษาปณ์
เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส เป็นต้น ซึ่งในพิพิธภัณฑ์อู่ทองมีเหรียญโรมันตั้งแสดงไว้
อาจจะสงสัยว่าทำไมอู่ทองจึงกลายเป็นเมืองท่าค้าขายทางเรือกับต่างประเทศได้
ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้วนั้น ทำทะเลท่วมขึ้นไปเลยปทุมธานีแน่นอน
เพราะวัดเจดีย์หอยที่อยู่ที่ลาดหลุมแก้ว ได้พบเปลือกหอยที่ตายทับถมกันอยู่นับล้านจนเอามาสร้างเป็นเจดีย์หอยขนาดใหญ่ได้
อู่ทองตอนนั้นต้องเป็นชายทะเลจึงมีเรือสินค้าเข้ามาค้าขาย กรุงศรีอยุธยายังไม่เกิด
อู่ทองได้รับแบบทางศาสนาศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์
๓ องค์ อุ้มบาตร (อยู่ในพิพิธภัณฑ์) และพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี
ศาสตราจารย์ ซอง บาสเซอริเยอร์ เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีของสุวรรณภูมิ
ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณฑูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ.๒๗๐
- พ.ศ.๓๑๑ นายพอลวิลลีย์ เชื่อว่าเมืองจินหลินตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ในพุทธศตวรรษที่
๙ เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากนั้นรัฐทวาราวดีได้เจริญขึ้นมาแทนในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
และรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ บันทึกของพระภิกษุ "เหี้ยนจัง"
ได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้ ซึ่งหมายถึงอาณาจักรทวาราวดี ได้พบเหรียญเงินจารึกว่า
"ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ" ยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรนี้ โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง
และเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งวัฒนธรรมทวาราวดี ประชาชนจะนับถือศาสนาพุทธลัทธิ
" เถรวาท" เป็นหลัก ใช้ภาษามอญเป็นภาษาท้องถิ่น ยึดถือคติทางพุทธศาสนารูปแบบศิลปะ
"คุปตะ" จากอินเดียโบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทองล้วนเป็นศิลปกรรมสมัยทวาราวดี
เช่น เจดีย์ เศียรพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัย
ซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เริ่มเผยแพร่เข้ามา ได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
และพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ เป็นต้น
เมืองอู่ทอง ได้หมดความสำคัญและทิ้งร้างไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยากว่า
๒๐๐ ปี ) จึงรอดพ้นจากอิทธิพลขอมในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ ) โดยปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีขึ้นมาแทนที่
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง
ตั้งอยู่ริมคูเมืองอู่ทอง ถนนมาลัยแมน คือถนนที่มาจากนครปฐม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองโบราณอู่ทอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ พบว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับนครปฐม
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองโบราณอู่ทองในปี
พ.ศ.๒๔๕๖ และโอนงานให้กรมศิลปากรดูแล (โอนจากราชบัณฑิตสภาที่มาสำรวจและทำแผนผังเมือง)
ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ (เป็นปีที่สำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั่วประเทศมากที่สุด)
และเริ่มตั้งอาคารพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ สำรวจขุดแต่ง เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งได้พบสถูปเจดีย์และโบราณสถานวัตถุสมัยทวาราวดีเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง
อย่างถาวรในปี พ.ศ.๒๕๐๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง
เมื่อ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
การเดินทางไปอู่ทอง หากจะไปทางอ้อมก็ไปสุพรรณบุรี แล้วเลี้ยวมาทางวัดป่าเลไลยก์
ตรงเรื่อยมาประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จะถึงอู่ทอง พอชนหอนาฬิกาบรรหารแจ่มใส ก็เลี้ยวซ้าย
อยู่ขวามือ
มาทางตรงแบบวันที่ผมไป ซึ่งผมไป ๒ ครั้ง ในเวลาที่ห่างกันสัปดาห์เดียว เพราะดูไม่อิ่ม
ผมไปทางนครปฐม เมื่อถึงทางแยกเข้าเมือง ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายสุพรรรบุรีเรื่อยไป
ไม่งั้นจะหลุดเข้าเมืองหาทางออกกันนานทีเดียว
มาตามถนนมาลัยแมน ไปตามถนนสายนี้จะผ่านกำแพงแสนที่กิโลเมตร ๘๔.๘ (มีทางแยกไป
พระแท่นดงรัง และแยกไปอำเภอพนมทวน ไปอนุสาวรีย์ ๔๐๐ ปี ฯ จังหวัดกาญจนบุรีได้)
ถึงตำบลจรเข้สามพันเป็นสามแยกเลี้ยวซ้ายไปกาญจนบุรี เลี้ยวขวาไปอู่ทอง
ตรงกิโลเมตร ๑๒๕ หากเลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๒๔ จะไปกาญจนบุรีได้อีกทางหนึ่ง และหากไปสัก
๕ กิโลเมตร มีทางเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังวนอุทยานพุม่วง ก่อนถึงวนอุทยานจะมีทางแยกขวาเข้าไปยัง
"คอกช้างดิน" วันที่ผมไปฝนตก เส้นทางเข้าคอกช้างดิน เป็นดินท่าทางจะเป็นหล่ม
ผมไปรถกระป๋องเลยไม่กล้าขับเข้าไป กลัวติดหล่มกันอยู่ ๒ คน มีหวังต้องกินมูลช้างแทนแน่
เสียดายที่ไม่มีโอกาสเข้าไป ขอให้รีบทำทางเข้าให้ราดยางโดยเร็วเพราะคอกช้างดินคือโบราณสถานดังได้กล่าวมาแล้ว
จากทางแยกเข้าคอกช้างดิน ตรงต่อมากิโลเมตร ๑๓๓ ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
เลยไปนิดเดียวคือหอนาฬิกา หากเลี้ยวขวาจะมายังสุพรรรบุรี
จากพิพิธภัณฑ์ ถ้าตรงไปจนผ่านสามแยกแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังเขาซึ่งมีวัดสำคัญคือ
วัดเขาพระศรีสรรเพชร
ซึ่งวัดนี้มีโบราณสถานและกำลังสร้างมณฑปรอยพระพุทธบาทใกล้จะเสร็จแล้ว ด้านหลังเป็นสุสานชาวจีน
มองจากเขาเห็นทั่วอู่ทอง หากกลับจากวัดเขาแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะไปผ่านร้านก๋วยจั๊บ
ทางซ้าย ก๋วยจั๊บหม้อดิน ปิดราคาชามละ ๑๐ บาท ไม่ได้ลองชิมแต่น่าจะดี เลยร้านก๋วยจั๊บไปสัก
กม.เศษ ๆ จะพบโรงงานน้ำตาล หากเลี้ยวซ้ายก่อนถึงรั้วโรงงานน้ำตาลแล้วไปอีก
๙ กิโลเมตร จะถึงวัดดีสลัก ซึ่งที่วัดนี้ตรงลานวัดมีเรือเจ้าแม่ตะเคียน ให้เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าอุโบสถวิ่งไปอีก
๙ กิโลเมตร จะวิ่งขึ้นเขา ผ่านสองข้างทางที่มีต้นไม้ร่มรื่นไปจนถึงยอดเขา
อากาศเย็นสบายมาก มีมณฑปครอบพระพุทธบาทจำลองซึ่งค้นพบเมื่อสัก ๑๐ กว่าปีมานี้เอง
สร้างศาลาครอบไว้สวยงามทีเดียว เป็นพระพุทธบาทหินทราย มีธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์
หากจะตระเวนชมโบราณสถานให้เห็นกันใกล้ ๆ ขอให้ถามเจ้าหน้าทีที่พิพิธภัณฑ์ดูว่าชมได้จากที่ใด
หาร้านอาหารได้ไม่ถูกใจ ร้านที่จรเข้สามพันก็เผ็ดไปและช้ามาก ร้านโกฮิ้นอร่อยดีแก้หิวได้แต่ไม่มีอาหารตามสั่ง
และไปคราวหลังมีเวลามากเพราะไปจากกรุงเทพ ฯ เลยคิดจะกลับมากินอาหารที่ร้านแพเรือนน้ำ
ริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเคยชวนชิมกันมาแล้ว ของอร่อยของเขาคือกุ้งผัดมะขาม
ต้มยำกุ้งใหญ่ในมะพร้าวอ่อน ปลาบึกผัดฉ่า ห่อหมกมะพร้าวอ่อน แต่ปรากฏว่าพอวิ่งผ่านหน้าร้านครัวลายไม้
ก็จำเป็นต้องชงักเพราะเข้าตากรรมการ ไปร้านครัวลายไม้ ไปดังนี้.-
จากกรุงเทพ ฯ มาตามถนนเพชรเกษม วิ่งไปจนผ่านบางแค มุ่งไปสวนสามพรานก่อนถึงฟาร์มจรเข้สามพราน
ประมาณกิโลเมตร ๒๙.๓ (ดูหลักกิโลเมตรที่เกาะกลาง) จะผ่านปั๊มเชลล์ ผ่านวิทยาลัยแสงธรรม
พอพ้นรั้ววิทยาลัยก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอย "เทศบาล ๑๕ หรือ ถนนวัดเทียนดัด" ปากซอยมีป้ายบอกว่าไปวัดเทียนดัด
ไปร้านแพริมน้ำ วิ่งเข้าซอยนี้ไป ๒.๒ กิโลเมตร โดยผ่านปั๊มคาลเท็กซ์ ร้านจะอยู่ปากซอย
เข้าหมู่บ้านเทียนดัดวิลเลจ ติดป้ายใหญ่บนชายคา สุขาแบบผสมสะอาด หน้าร้านตั้งรถเข็นขายน้ำผลไม้ปั่นทั้งหลาย
และขายกาแฟเขียนบอกไว้ว่า "แม้แต่แพะ ยังรู้ว่ากาแฟอร่อย" เพราะเขาขายกาแฟตราแพะแต่อร่อยจริง
พอดีผมปีแพะเลยต้องรีบบอกว่าอร่อย ส่วนน้ำปั่นมีแตงโม ฝรั่ง มะนาว ถ้วยละ
๑๐ บาท ร้านนี้เลี้ยงลูกดี ลูกอยากได้อะไรต้องช่วยกันทำงาน ลูกสาวตัวน้อยจะออกมานั่งขายบัวลอยไข่หวาน
เมื่อกลับจากโรงเรียน แต่หากเราไปกินกลางวันก็สั่งบัวลอยไข่หวานมาชิมได้เลย
ของเขาแป้งนุ่ม เหนียวรสบัวลอย หวานมันดีนัก
ร้านครัวลายไม้ จัดร้านสะอาด น่ารักดี กระจุ๋มกระจิ๋มว่างั้นเถอะ อาหารง่าย
ๆ แบบจานเดียวที่ชอบใจคือ "สเต็ก" ผมตั้งชื่อให้ว่า "สเต็กลูกครึ่ง" เพราะชื่อเป็นฝรั่งแต่รสไทย
อร่อยดีและราคาถูก ตั้งแต่ร้านรวยรสเด็ดที่ตลาดพลูขายสเต็กอยู่ดี ๆ เลิกกิจการไปบวชพระก็พึ่งมาพบที่ร้านนี้ขายสเต็ก
หมู ปลา ไก่ เนื้อ อร่อยและราคาถูกคือจานละ ๕๐ บาท
สั่งสเต็กไก่ และสเต็กหมูมาชิม ราดน้ำซ๊อสมะเขือเทศสีแดงน่ากิน รสดีมากผมถึงบอกว่าเป็นสเต็กลูกครึ่ง
ราดด้วยน้ำซ๊อสมะเขือเทศนี่แหละ จัดลงจานสวย น่ากินและอร่อย
สั่งสปาเก็ตตี้ ของเขาก็ผัดได้ดี รวมทั้งผัดมักกะโรนี
ลองสั่งอาหารไทย จานเดียว คือข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ ผัดคลุกเคล้ามาเสร็จ แนมมาด้วยไข่เค็ม
และปลาดุกฟูเคียงข้างจาน จัดผักสวยมีทั้งแตงกวา มะเขือ ถั่วฝักยาว และผักสลัด
หมดจานไม่รู้ตัว
จานสุดท้ายคือสลัดกุ้งแช่บ๊วย น้ำสลัดสีปูน สีสวย รสอร่อยถูกใจ
จบแล้ว ปิดท้ายด้วยบัวลอยไข่หวาน และกาแฟเย็น ดื่มแล้วรำพึงว่า จริงของแพะ
กาแฟเขาอร่อยจริง โทร ๐๒ ๘๑๓ ๙๗๒๕
----------------------------------
|