วัดเขาขุนพนม
วัดเขาขุนพนม อยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
อยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักเมืองนคร ที่เคยเล่าไปแล้ว และที่วัดนี้ยังเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเขาขุนพนม
เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แก่ประชาชน
ชุมชนเขาขุนพนมเป็นชุมชนวัฒนธรรม มีกิจกรรมการเข้าค่ายพัก อบรมการรวมกลุ่มเป็นชมรมการท่องเที่ยว
เพื่อการศึกษา การเที่ยวชมผลไม้ด้วยจักรยาน ตืดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
๐๗๕ ๓๔๕ ๑๕๔
ผมรีบเอารายละเอียดของศูนย์วิทยาศาตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในวัดเขาขุนพนม
มาบอกเล่าเสียก่อน เดี๋ยวลืมบอก เพราะความตั้งใจ ที่จะเขียนเล่าเรื่องของเขาขุนพนมในวันนี้
เกิดจากความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มิได้ถูกประหารชีวิต
ตามที่เขียนไว้ในประวัติศาตร์ ที่เขียนให้เรียนกัน เพราะทหารนั้นมีความจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาสูงนัก
ย่อมไม่สั่งประหารชีวิตอดีตผู้บังคับบัญชากันง่าย ๆ น่าจะมีหนทางออกให้ และผมก็เขียนได้แค่นี้ไม่ขอวิเคราะห์วิจารณ์ใด
ๆ ทั้งสิ้น เดี๋ยวจะโดนว่าเป็นนักแก้ประวัติศาสตร์ เหมือนเมื่อคราวที่ผมไม่เชื่อว่าป้ายที่ปักไว้ที่ข้างกำแพงเมือง
"ฝาง" เชียงใหม่ บอกว่าอะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตีได้ฝาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ ผมไม่เชื่อเพราะวันที่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า
ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ที่เมืองพิษณุโลก
เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ นั้น อีตาอะแซหวุ่นกี้แกอายุ ๗๒ ปี ไปอ่านพงศาวดารเล่มไหนก็จะตรงกันว่าอายุ
๗๒ ปี ดังนั้น พ.ศ.๒๓๓๐ แกต้องอายุ ๘๔ ปี คนอายุ ๘๔ ปี อย่าแต่เมื่อ
๒๑๙ ปีที่แล้วเลย คนอายุ ๘๔ ปี วันนี้ที่มีแพทย์แผนปัจจุบันให้ขี่ม้า ถือทวนเดินทางจากอังวะ
มาฝางระยะทางประมาณ ๓๐๐ กม. ผมว่ามาไม่ไหวต่อให้ตาอะแซหวุ่นกี้ ไม่ต้องขี่ม้า
นอนแปล กอดทวนให้ทหารหามมา ก็เชื่อว่าคงตายเสียตั้งแต่กลางทาง และประวัติศาสตร์พม่าเองก็บอกเอาไว้อีกว่า
เมื่ออะแซหวุ่นกี้ ตีได้พิษณุโลกแล้ว ทางพม่าก็ผลัดแผ่นดินใหม่ กษัตริย์พม่าองค์ใหม่จึงเรียกกองทัพกลับ
และปลดอะแซหวุ่นกี้จากตำแหน่งแม่ทัพ บางฉบับก็บอกว่าถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำไป
จึงเป็นไปไม่ได้ที่อีก ๑๒ ปี ต่อมาอะแซหวุ่นกี้จะนำทัพมาตีเมืองฝาง ซึ่งเป็นเพียงเมืองเล็ก
ๆ และหากหาอ่านให้ละเอียดจะพบว่า แม่ทัพพม่าทัพเล็ก ๆ มีกำลังพลเพียงห้าพันคน
ยกมาตีฝางปี พ.ศ.๒๓๓๐ แล้วให้ยั้งทัพทำไร่ ไถนา เตรียมเสบียงเพื่อทัพใหญ่
จะยกตามมาในภายหลัง ผมไปวิเคราะห์อย่างนี้โดนท่านผู้อ่านท่านเดียว โกรธผมถึงขนาดเขียนจดหมายขึ้นต้นด่าผมว่า
"อ้ายนักแก้ประวัติศาสตร์" ดังนั้นเรื่องที่จะเล่าวันนี้ ผมไม่ขอวิเคราะห์อย่างใดทั้งสิ้น
จะขอเล่าตามที่ได้อ่านพบมา ขอเริ่มต้นดังนี้
มีท่านผู้อ่านที่ท่านบอกว่า ท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผม ถ่ายเอกสารจากหนังสือฉบับหนึ่ง
ตั้งแต่หน้า ๘๖ - ๙๔ ไม่มีชื่อหนังสือเป็นบทความ ที่ได้กล่าวถึงการเดินทางไปเมืองนครศรีธรมราช
และได้ไปติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยการรวมจิตเข้าเป็นสมาธิ ติดต่อผ่านร่างทรง
แต่เป็นการติดต่อในเหตุการณ์ปัจจุบัน มิได้กล่าวถึงเรื่องในอดีตเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕
และในบทความได้กล่าวไว้ว่า "ขอยกแนวความคิดของ ฯ พณ ฯ นายพลตรี หลวงวิตรวาทการ
อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งยังมีปมปริศนาค้างคาอยู่ในใจของผู้คนส่วนใหญ่ว่า
พระองค์ท่านสวรรคตจริง ๆ หรือ ที่ไหน เมื่อไร" และได้เล่าต่อไปว่า
หลวงวิจิตรวาทการ แต่งเป็นนิยายระทึกใจเรื่อง "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี"
โดยนิมิตว่า มีชายไทยโบราณร่างมหึมา มาจับมือข้าพเจ้า (หลวงวิตร) เขียนเรื่องราวขึ้น
เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชล้วน ๆ ยาวเหยียดหลายสิบหน้า เป็นลายมือของข้าพเจ้าเอง
แต่ความรู้สึกที่เขียนลงไปไม่ใช่ของข้าพเจ้าเลย โดยเล่าว่า
"สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้สิ้นพระชนม์ตามคำสั่งของรัฐบาลชุดใหม่
เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ตามที่เราเคยเชื่อถือกันในประวัติศาสตร์
แต่ได้มีคนกลุ่มหนึ่งได้ช่วยท่านไว้แล้วพาไปซ่อนไว้ที่อื่น ช่วยไว้เกือบ ๓
ปี จึงได้สิ้นพระชนม์ลง ณ จ.เพชรบุรี ส่วนคนที่ถูกประหารที่ป้อมวิชียประสิทธิ์นั้น
เป็นคนอื่นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "
วรรณกรรมของคุณหลวงวิจิตรวาทการนั้น เท่าที่มีการพิมพ์ออกจำหน่ายผมว่าผมได้ซื้อเอาไว้ทุกเล่ม
พอลงไปค้นในห้องสมุดก็พบว่า อยู่ในชุดรวมเรื่องสั้นซึ่งมีหลายชุด แต่ละชุดจะมี
๕ - ๖ เรื่อง เล่มนี้ผมซื้อเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ผมอ่านแล้วไม่ต่ำกว่า
๒ ครั้ง หยิบเอามาอ่านอีกชนิดรวดเดียวจบ ผมจะขอยกข้อความตอนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้
ซึ้งได้เฉลยปริศนาทั้งหมดให้ท่านทราบ เพราะหากท่านทราบแล้ว จึงจะไปเที่ยววัดเขาขุนพนมได้สนุกและมีความหมาย
ส่วนเรื่องจะจริงหรือไม่ ท่านต้องวิเคราะห์ดูเอง ผมจะไม่วิเคราะห์วิจารณ์ให้ท่าน
ต้องไปเที่ยววัดเขาขุนพนม และจะได้ไปเที่ยวพระตำหนักเมืองนครด้วย อยู่ไม่ไกลกัน
เบื้องหลังเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่คุณหลวงวิจิตรวาทการท่านเขียนฝากไว้ในโลกวรรณกรรมเมืองไทย
ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๔ ซึ่งเป็นวันที่ระลึก "ตากสินมหาราชานุสรณ์"
จะขอเพิ่มเติมว่าหลังจากที่ผมตั้งใจจะเขียนเล่าถึงการที่ผมไปวัดเขาขุนพนม
ซึ่งเป็นการไปเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ครั้งแรกไปตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ที่เมืองนคร
ฯ ครั้งหลังตอนเขียนหนังสืออร่อยทั่วไทยไปกับ ปตท. เมื่อสัก ๓ - ๔ ปี
มานี้เอง พอไปครั้งที่ ๓ ซึ่งไปตัดสินการประกวดการทำอาหาร มือทอง จูเนียร์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษา
จบการตัดสินแล้ว ผมก็ไปเที่ยวพระตำหนักเมืองนคร และไปวัดเขาขุนพนม กลับมาไปเดินร้านหนังสือพบหนังสือเข้าเล่มหนึ่ง
ชื่อหนังสือ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน ? โดยภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ หนังสือเล่มนี้เล่มโตขนาด
๓๒๗ หน้า และมีภาคผนวก พระพุทธศาสนาสมัยกรุงธนบุรี เขียนละเอียดมาก
พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ และพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ ราคาเล่มละ
๑๗๐ บาท แตกต่างกับเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ผู้อาสาไปตายแทนไม่ใช่หลวงอาสาศึก
แต่เป็นนายมั่ง หรือคุณมั่น เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แต่เป็นพระญาติห่าง ๆ คุณมั่นไม่ได้เป็นทหาร ช่วยบิดาค้าขายแต่อาสาไปตายแทน
ส่วนการเข้าไปสับเปลี่ยนตัวนั้นไม่ได้เล่าละเอียดเหมือนที่ คุณหลวงวิจิตรท่านเขียนเป็นนิยาย
"คุณมั่น ยอมตายถวายชีวิต มิใช่เพื่อความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระเจ้าตากเท่านั้น
แต่เป็นความกตัญญูกตเวทีต่อเมืองแม่ ของลูกจีนหลานจีนทั้งหลายที่เกิดในเมืองไทย
และมีความรักเมืองไทยอันเป็นเมืองแม่ ของตนด้วย....... เพราะฉะนั้นคนจีนในเมืองไทย
หรือลูกหลานจีนทุกคนจึงควรรักเมืองไทย ให้เสมอเหมือนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
คุณมั่น และทหารจีนทั้งหลายที่ได้เคยช่วยเหลือเมืองไทยมาแล้ว ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
แต่ตอนสิ้นพระชนม์นั้น ภิกษุณี วรมัย ได้ยกข้อเขียนของนายมาร์แวล นักเขียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
ได้เขียนสันนิษฐานไว้ว่า "พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มาสิ้นพระชนม์
ที่นครศรีธรรมราช และบรรจุพระอัฐิรวมกับอัฐิพระยานคร (น้อย)"
เส้นทางไปวัดเขาขุนพนม ไปทางเดียวกับจะไปพระตำหนักเมืองนคร หากออกจากตัวเมืองผ่านตลาดหัวอิฐ
ตรงไปตามถนนสาย ๔๐๑๖ จนถึง กม.๒๒ เลี้ยวขวาเข้าถนนตากสินอนุสรณ์
ตรงมาประมาณ ๓ กม. ก็จะถึงทางแยกซ้ายเข้าพระตำหนัก ไปวัดเขาขุนพนม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า
เขาขุนนม ก็ตรงต่อไปอีกนิดเดียว โบราณสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ ถ้ำบนเขาทางทิศตะวันออก
หน้าถ้ำมีกำแพงปูน ด้านบนเป็นใยบเสมา มีลักษณะคล้ายกำแพงเมือง สูงประมาณ ๒
เมตร ที่ประตูมียักษ์เป็นทวารบาล ๒ ตน ด้านหน้ากำแพงมีลายปูนปั้น ประดับด้วยชามสวยงาม
ส่วนด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ แต่เดิมเคยมีรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่อยู่ด้วย
แต่เนื่องจากผู้ที่มานมัสการมักถือโอกาสขุดลอกเอาเนื้อไม้ จากพระพุทธบาทไปบูชา
ทางวัดจึงอัญเชิญพระพุทธบาทลงมาประดิษฐานชั้นล่าง และถ้ำนี้คือ ถ้ำที่เชื่อกันว่า
พระเจ้ากรุงธนบุรีมาประทับอยู่จนเสด็จสวรรคต เมื่อผ่านเข้าประตูวัดจะพบศาลาการเปรียญ
มีรูปปั้นพระนางเสือขาว มีพระพุทธบาทจำลอง
พระพุทธรูปประจำวันเกิด ส่วนอุโบสถอยู่ทางเชิงเขาทางขึ้นไปยังถ้ำ เป็นโบสถ์เล็ก
ๆ ที่เรียกว่า โบสถ์มหาอุตต์ คือ ไม่มีหน้าต่าง เมื่อขึ้นไปบนเขาจะถึงศาลพระเจ้าตากก่อน
ส่วนจะขึ้นไปยังถ้ำนั้น ให้เดินขึ้นไปตามบันไดหลังศาล ไปคราวนี้ไม่ได้ปีนไปยังถ้ำเพราะมีหลานไปด้วย
คงขึ้นไปสักการะองค์มหาราชที่ศาลเท่านั้น และภายในวัดนอกจากมีศูนย์วิทยาศาสตร์ที่เข้าไปชมได้
ยังมีตำหนักสมเด็จพระสังฆราชไว้รับเสด็จอีกด้วย ไปวัดเขาขุนพนมไปสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ยิ่งใครเกิดปีมะแม พ.ศ.๒๕๔๙ เขาบอกให้ตระเวนสักการะพระเจ้าตากสินมหาราชไว้จะโชคดี
ผมเลยตระเวนไปทั่วพบศาล พบอนุสาวรีย์ของท่านที่ไหน จะไปสักการะทันที
กลับเข้าเมืองนครศรีธรรมราช หาอาหารอร่อย ๆ ชิม
มื้อเช้า สัปดาห์ที่แล้วผมชวนชิม ร้านอาหารเช้าแบบชาวใต้ คือ แบบมีติ๋มซำ
ปาท่องโก๋ หมี่ซัว ที่สำตัญร้านนี้มีปาท่องโก๋ ทอดกันร้อน ๆ อยู่หน้าร้าน
และเขาเปลี่ยนน้ำมันที่ทอดทุกวัน น้ำมันจึงไม่ดำ ไม่ต้องกลัวเป็นมะเร็ง บอกไว้อีกที
เมืองนคร ฯ สมัยผมอยู่ร้านแบบนี้ไม่เห็นมี
มื้อกลางวัน ชวนชิมขนมจีบเมืองคอนนั้น มีหลายเจ้าที่นิยมกัน แต่มีอยู่เจ้าหนึ่งเก่าแก่
และเป็นรสที่ชาวเมืองจะชอบกันมาก บอกว่ารสเข้มยิ่งกว่าเจ้าอื่น และร้านก็ค่อนข้างจะหายาก ร้านขนมจีน
หน้าอนุสรณ์สถานสะพานยาว อนุสรณ์สถานสะพานยาว ได้ชื่อนี้เพราะเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙
- ๒๔๔๑ พระครูกาชาติ (ผ่อง) เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก นำชาวบ้านสร้างสะพานไม้ทอดข้ามทุ่งปรัง
บริเวณบ้านบอกไร่ เป็นทางสัญจรของชาวบ้านนอกเมือง ในฤดูน้ำหลากเข้ามายังตัวเมืองนคร
ฯ สะพานกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร นับว่าเป็นสะพานยาวที่สุดในตัวเมืองนคร
ฯ จึงเรียกว่า สะพานยาว ปัจจุบันนรื้อไปหมดแล้ว เพราะมีถนนให้สัญจรไปมาได้
เลยสร้างอนุสรณ์เอาไว้ให้ทราบว่า ตรงนี้คือ สะพานยาวเก่า ร้านขนมจีนอยู่หน้าอนุสรณ์สถานสะพานยาว
ร้านขนาด ๒ ห้อง มีหลายน้ำ ผมไปชิมบ่ายแล้ว ผักเลยเหลือน้อยหน่อย ของอร่อย
นอกจากขนมจีนหลายน้ำแล้ว ยังมีขนอร่อยคือ ข้าวฟ่างเปียก รวมมิตร และผลไม้ดอง
หากยังไม่สมใจให้ซื้อขนมพื้นเมือง ที่ทำใส่ถุงวางขายไว้หน้าร้านกลับมาได้อีก
มื้อเย็น พาไปกินข้าวต้มเจ้าอร่อยสุด ๆ รวมทั้งราคาก็แสนถูกด้วย ร้านนี้คงจะเกิดไม่เกินสิบปี
เพราะเมื่อก่อนไม่มี พอเกิดครั้งแรกอยู่ถนนสายคูขวาง เดี๋ยวนี้ร้านดั้งเดิมก็ยังอยู่แต่ดังสู้ร้านใหม่ไม่ได้
เส้นทางจากสถานีรถไฟ ตรงมาสัก ๕๐ เมตร ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้าย จะพบร้านอยู่ทางซ้ายมือ
เยื้องห้างสหทัย ก่อนถึงร้านอาหารไทยปักษ์ใต้ (ขายกลางวันถึงเย็น อาหารใต้อร่อยนัก)
กระเพาะหมูผัดเกี่ยวฉ่าย ผัดแล้วยังกรอบทั้งเกี่ยมฉ่าย และกระเพาะหมู
กินข้าวต้มร้านไหน จะชวนชิมได้หรือไม่ ให้สั่ง ใส้หมูพะโล้ มาชิม หากใส้หมู่นุ่ม
ไม่เปื่อยยุ่ย ได้เคี้ยว รสน้ำพะโล้ซึมเข้าเนื้อ เรียกว่า ร้านนี้อาหารอร่อยแท้แน่นอน
เป็ดพะโล้ เป็นอาหารพิสูจน์ความอร่อยอีกจานหนึ่ง ของร้านข้าวต้มคนกลางคืน
สั่งมาอีก ผักกะเพรา เผื่ออยากกินข้าวสวย "จับฉ่าย" อาหารตามสั่ง
ลองสั่งมาเพิ่มคือ ผัดคะน้าหมูกรอบ กรอบทั้งผักและหมู และยำไข่เค็ม ยังขาดประเภทน้ำ
ดูประเภทตุ๋น ที่ใส่โถนึ่งไว้ในรังถึง ซี่โครงหมูตุ๋นมะระรสขมนิด ๆ ขมอร่อย
ซดร้อน ๆ แล้วพุ้ยข้าวสวยตาม ข้าว ๒ ชาม ยังไม่พอเลย
..........................................
|