ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๐ ผมอยากเป็นนักเขียนในหนังสือต่วยตูน ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมอ่านประจำ
จึงส่งเรื่องที่เขียนไปให้ บก. ฯ ท่านพิจารณา บก. ฯ ท่านนั้นคือท่าน
บก.สส.ในปัจจุบัน เรื่องที่ส่งไปชื่อเรื่อง "หอย"
พอส่งไปปุปก็ได้รับการตอบรับมาทันที ว่ามีแรงเขียนก็ให้เขียนมาอีก
ตอนั้นผมยังมียศพันเอก แต่ครองอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษแล้ว
หลังจากนั้นจนกระทั่งบัดนี้ผมก็ผูกติดอยู่กับหนังสือต่วยตูนมาตลอดและครบ ๒๗
ปีบริบูรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ กำลังจะไต่ขึ้นสู่ปีที่ ๒๘
และตั้งใจว่าหากท่านผู้อ่านไม่ไล่ บก. ฯ
ยังให้เขียนก็จะเขียนไปจนกว่าจะขับรถด้วยตนเองไม่ได้ก็ตั้งใจว่า จะเลิกเขียนแนว
เที่ยวไป กินไป เพราะหากให้คนอื่นขับรถให้จะไม่ถูกใจในการค้นคว้าหาร้านอาหาร
และจุดที่จะลงไปท่องเที่ยวหารายละเอียดเพิ่มเติม ใครขับให้ก็ไม่ถูกใจไปดุเขาหมด
สุดท้ายก็ไม่มีใครเขาอยากขับให้เหมือนกัน
ส่วนจะให้คนอื่นเขานั่งไปด้วยเพื่อไปชิมอาหารโดยที่ให้เขาชิมฟรี
แต่ผมจ่ายเงินทุกร้านที่ไปชิม และมีร้านอาหารน้อยนักที่จะรู้จักตัวผม
ผมขับคนอื่นหมายถึงคนที่หนุ่มกว่าเขาก็ไม่อยากนั่งรถที่คนระดับปู่ขับ
ลงท้ายหนีไม่พ้นต้องทนไปให้ได้คือเลขา ฯ ตลอดกาลที่หอบหิ้วกันมา ๓๘ ปี ต้องไปด้วย
ขับไป เที่ยวไป กินไป เถียงกันไป จนกว่าจะหมดแรงไปด้วยกันก็คงต้องนั่งรอ นอนรอ
ว่าใครเขาจะซื้ออะไรมาฝากอยู่กับบ้าน แต่ตอนนั้นอาจจะอายุ ๙๙ แล้วก็ได้ เพราะคิดว่า
๖๐ ปี คงขับบรถไม่ไหวก็ยังขับปร๊อไป ๖๕ ปีเอ้า
ก็ยังขับตระเวนที่นิวซีแลนด์กลับมาเขียนเรื่องให้ บก.สส. พิมพ์รวมเล่มให้เสียอีก
เลยเลิกคิดถึงอายุได้แล้ว ขับรถไว้เป็นประจำ ทำงานตลอดกินอาหารให้ครบตามหมวดอาหาร
หรือกินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา
ร่างกายก็ได้ธาตุอาหารครบถ้วนแข็งแรงเอง ไม่ต้องไปเสียสตางค์ซื้อยาบำรุงมากิน
และหมั่นไปตรวจโรค ตรวจเลือด ตามระยะเวลาผิดปกติหมอเขาบอกว่าไงต้องเชื่อเขา
และกินยาประจำตามที่หมอสั่ง ปูนเลข ๖ นำหน้าอายุ
โรคที่มักจะหนไม่พ้นเช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคยูริคสูงหรือที่เรียกว่าโรคเก๊าท์
โรคน้ำตาลสูง (ผมไม่เป็นแต่คุมไว้ด้วยยาไทย) และอีกโรคไม่คุมไม่ดู
ไม่กินยาตายเอาง่าย ๆ คือโรคหัวใจ
บอกเคล็ดลับของการทำให้ร่างกายแข็งแรงให้แล้ว อีกข้อคือหมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเข้าไว้
ผมเลิกตีกอลฟ์มานานกว่าสามสิบปีแล้ว เลยใช้วิธีเดินเร็ว ๆ เดินให้มาก
กับชอบปลูกต้นไม้ถือว่าเป็นการออกกำลังที่เหมาะกับวัย
โดยไม่เสียเงินและเสียเวลา ไปพระประแดง
ความจริงต้องชื่อว่าเรื่อง บก. ฯ ชาวนเที่ยว คือ ท่าน บก. ฯ ปัจจุบันไม่ใช่ บก.สส.
โทรศัพท์มาถามว่าพี่ไปเที่ยวตลาดน้ำบางน้ำผึ้งแล้วหรือยัง หากยังผมจะพาไป
ใจดีเสียด้วย ก็เลยบอกว่าไม่เคยไป และไม่รู้จักด้วย บก. ฯ
ก็จะพาไปแต่ต้องขอเป็นวันอาทิตย์ ผมบอกว่าผมไม่ว่างมีคนชวนไปตั้งวงซดสุราอาหารกัน
ผมจะไปวันเสาร์ บก. ฯ ยังใจดีต่อให้แฟนผมพาไปก็ได้ครับ ก็เลยขอบคุณ
บอกทางไปมาให้ทราบก็แล้วกัน
ผมไปถูกเพราะย่านพระประแดงรู้จักและเคยไปลุยตอนเขียนหนังสือให้น้ำมัน ปตท. เขา
(วางขายตามปั๊ม ปตท. มี ๕ ภาค และกรุงเทพ ฯ อีก ๑ เล่ม เขาขายเล่มละ ๑๑๐-
บาท)
บ้านผมอยู่ลาดพร้าวเมื่อจะไปเที่ยว
ไปกินแถวพระประแดงผมจึงไปดังนี้ เส้นทางที่ ๑
(เว้นเส้นข้ามแพขนานยนต์ที่ท่าปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่บอกรายละเอียด) ผมไปจากลาดพร้าว
ผมขึ้นทางด่วนสองเด้ง พอข้ามสะพานพระราม ๙ ไปแล้ว ให้ชิดซ้ายเข้าไว้ จะเห็นป้าย
"สุขสวัสดิ์" ให้ลงสู่ถนนสุขสวัสดิ์ทางเส้นนี้ อย่าเผลอขับไปลงที่ถนนพระราม ๒
เมื่อลงจากทางด่วนแล้วถนนจะบังคับให้เลี้ยวเข้าถนนสุขสวัสดิ์
วิ่งไปจนผ่านแยกไฟสัญญาณ (ตรงสะพานลอย) ต่อไปจะเห็นป้ายท่องเที่ยวทางซ้ายบอกว่า ไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง พอเลยมานิดเดียวจะถึงสามแยกมีไฟสัญญาณ
(หากตรงไปจะไปพระสมุทรเจดีย์,ป้อมพระจุล ฯ) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครเขื่อนขันธ์
วิ่งมาผ่านธนาคารกรุงเทพ ฯ (ฝั่งตรงข้ามคือร้านอาหารอิสลาม
อาหารอร่อยวันหลังจะเล่าให้ฟัง) ถึงสามแยก (ตรงไป ไปตลาดพระประแดง)
ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนซึ่งจะตรงไปยังวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
เลี้ยวขวาที่หน้าวัด ข้ามสะพานข้ามคลองลัดหลวง ไปจะถึงสามแยก (หากเลี้ยวซ้ายจะเข้าวัดโปรดเกษเชษฐาราม)
ให้เลี้ยวขวาไปตามถนน จนถนนจะไปบรรจบกับถนนเพชรหึง ให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นขับไปตามถนนสายนี้ ดูป้ายไปเรื่อย ๆ ประมาณ
๔.๕ กม. จะถึง เส้นทางที่ ๒
เริ่มต้นจากสามแยก เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครเขื่อนขันธ์
ตรงมาผ่านธนาคารกรุงเทพ ฯ ผ่านสามแยกที่เลี้ยวซ้ายไปวัดโปรดเกษเชษฐาราม ตรงต่อไปจะข้ามสะพานคลองลัดหลวง
เข้าถนนที่มุ่งไปท่าน้ำพระประแดง ผ่านศาลหลักเมืองทางขวา ผ่านตลาดพระประแดง สุดท้ายทางจะห้ามรถเข้าจะบังคับให้เลี้ยวซ้ายไป
(หากเข้าได้จะไปที่ท่าเรือข้ามฟาก) เลี้ยวซ้ายมีป้ายบอกไว้ที่ปากทางว่า ๕ กม.
จะถึงวัดบางน้ำผึ้ง ที่มีตลาดน้ำ
ไปตามถนนสายนี้ (ถึงสามแยกมีทางเลี้ยวขวาไปท่าเรือ)
จะพบกับถนนที่มาจากวัดโปรดเกษเชษฐารามาบรรจบ วิ่งตรงเรื่อยไปถนนคดโค้งไปเรื่อย
และจะไปผ่านหัวงานที่กำลังสร้างทางวงแหวน
ไปผ่านหัวงานที่กำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งน่าจะสร้างนานแล้วให้เอารถลงเรืออยู่ได้
แต่ก็เก๋ดีต่อไปสะพานเสร็จไม่มีการเอารถลงเรืออีกแล้ว รับไปข้ามเสีย
จากนั้นรถจะวิ่งไปตามถนนแคบ ๆ ผ่านวัดที่เป็นจุดท่องเที่ยวและมีป้ายบอกไปตลอดทาง
วัดสำคัญเช่น วัดทรงธรรมวรวิหาร
พระประแดงจึงมีพระอารามหลวงมากถึง ๓ แห่ง
อย่าวิ่งแยกไปจากถนนเส้นหลักโค้งไปทางไหนโค้งไปด้วย ถนนเส้นทางสาย ๒
นี้จึงจะผ่านวัดสำคัญตั้งแต่ปากทางเลยทีเดียวคือ วัดทรงธรรม ฯ วัดกองแก้ว วัดคันลัด วัดบางขมิ้น วัดป่าเกด
วัดบางกระเจ้านอก จนผ่านสามแยกไปวัดบางกระเจ้านอก
เลยต่อไปอีก ๑๐๐ เมตร จะมีสามแยกให้เลี้ยวขวาไปอีก ๑ กม. มีป้ายบอกปากทาง
(หากไม่เลี้ยวตรงไปจะไปสวนศรีนครเขื่อนขันธ์) เมื่อวิ่งรถเข้ามาประมาณ ๑ กม.
จะถึงประตูวัดบางน้ำผึ้งในให้เลี้ยวซ้ายเข้าวัดวิ่งไปจนข้ามคลองแล้ว
เลี้ยวขวามาจะเห็นสนามกว้าง หน้าอนามัยเป็นที่จอดรถได้นับร้อยคัน ถึงตลาดน้ำแล้ว
และตลาดน้ำบางน้ำผึ้งนี้จะมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น
อย่าเผลอไปวันหยุดราชการอื่น ๆ เข้าจะมีแต่ทางเดินลงแม่น้ำ
คลองที่ข้ามมาจะเข้าบริเวณวัดนั้น น้ำสะอาดมาก ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
จากหน้าวัดไม่ไกลนักมีทางเดินเท้าคอนกรีตกว้างสัก ๒ เมตร สำหรับเดินเลีบยริมคลอง
ไปยังแม่น้ำได้ ทางขวาของทางเดินมีเรือสามปั้นให้เช่าพาย เขาบอกว่า ๒๐ บาท
ผมไม่ได้ถามว่าคนละหรือลำละ พายเล่นในคลองที่น้ำสะอาดและไหลเอื่อย ๆ
ในคลองมีปลาตะเพียนหางแดง มีอาหารปลาจำหน่ายตรงสะพานที่ข้ามมา
หากเดินไปตามทางเดินเท้าคอนกรีตซึ่งอยู่เลียบริมคลองนี้
พอเดินเลยด้านข้างของสถานีอนามัยซึ่งมีสุขาเปิดบริการฟรี
ชั้นล่างของอนามัยเปิดบริการนวดแผนโบราณ (ไม่ฟรี) มีที่นอนปู มีหมดนวด
และลูกค้านอนให้นวดกันใต้สถานีอนามัย วันที่ไปก็เห็นมีหลายคนแสดงว่านวดดี
พอเดินเลยสถานีไปแล้วจะมีทางแยกซ้ายเส้นทางที่ ๑ ผมจะเรียกว่า ซอย ๑ ก็แล้วกัน
ตลอดซอยนี้วนไปจะถึงสถานพักผ่อนเป็นสวน มีเก้าอี้ให้นั่งกินอาหารได้
เพราะส่วนมากทุกร้านไม่มีที่ให้นั่งกินอาหาร เป็นซุ้มอาหาร
ซุ้มขายของสร้างกระทัดรัดน่ารัก สุดซอย ๑
ทางซ้ายคือร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำตกของผู้ใหญ่ ลือมชื่อ
มีเก้าอี้ตั้งเต็มเป็นร้านเดียวที่มีโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่งในร้านของตัวเอง
ไม่ได้ชิมเพราะเขายังไม่ได้ที่ ผมไปเช้าคือ ประมาณ ๐๗.๓๐ อาหารอร่อย ๆ
ยังไม่ออกมาขายหลายอย่าง แต่มองดูแล้วก๋วยเตี๋ยวผู้ใหญ่เข้าตากรรมการ (๒ คน)
หากเดินต่อไปตรงโค้งของซอย ๑ นี้ก็จะมีร้านไส้อั่ว เข้าตากรรมการอีกนั่นแหละ
เดินต่อไปเป็นซอยด้านหลังในสวนเช่นกัน
จะมีซุ้มขายเรื่อยไปจนไปโผล่ที่ปากซอยริมคลองใหม่ ผมเรียกว่าซอยสาย ๒
ก็แล้วกัน
เริ่มต้นใหม่ ก่อนถึงซอยสาย ๑ จะร้านขายต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ
หลายเจ้าน่าซื้อแต่วันนี้ไม่ได้ซื้อมาเพราะ บก. ฯ กระซิบมาทางโทรศัพท์ว่า
มีสวนผลิตต้นไม้ให้ผมไปชมด้วย เลยย่านขายต้นไม้ไปแล้วคือซอย ๑ เลยซอย ๑
ไปทางซ้ายคือซุ้มอาหาร ริมทางเดินคอนกรีต ทางขวาคือเรืออาหารลอยอยู่ในคลอง
เดินไปอีกก็จะมาถึงปากซอย ๒ ซึ่งหากเลี้ยวเข้าไปก็จะผ่านซุ้มอาหารเรื่อยไปจนทะลุซอย
๑ ใหม่ หากไม่เลี้ยวเดินไปอีกจะมาสิ้นสุดที่ร้านไก่สะเต๊ะเป็นเจ้าสุดท้าย
ซุ้มต่อไปอีก ๒ - ๓ ซุ้ม ยังไม่มีคนมาขายของ
ทีนี้ชวนชิม
ชวนซื้อ หาที่ตั้งอาหารเหมาะ ๆ เพื่อถ่ายภาพอาหารไม่ได้เลย
ต้องขนซื้ออาหารที่เล็งว่าน่าจะอร่อยกลับมาถ่ายรูปกันที่บ้าน
หากได้เห็นภาพจะเห็นว่าจาน ชามที่ใส่นั้นคือจานในบ้านผม ที่ร้านเขาใส่กล่องบ้าง
ใส่จานกระดาษบ้าง แต่หากกินก๋วยเตี๋ยวเขาใส่ชาม เริ่มชิม
เรือลำแรก ไม่ได้ชิมเพราะเป็นเรือขายขนมจีน น้ำพริก ความจริงเข้าตาเหมือนกัน
แต่ไปเจอเอาร้านในซอย ๑ ซุ้ม ๓ เสียก่อน เลยไม่ได้ชิม เรือลำต่อไปคือ
เรือก๋วยเตี๋ยวประเภทราดหน้า ไม่ได้ชิม
เรือลำต่อไปเป็นเรือก๋วยเตี๋ยวและสถานที่จอดเรือลำนี้เหมาะมาก
คือบนตลิ่งฝั่งซุ้มอาหารมีที่นั่งพักเป็นโต๊ะ เก้าอี้ถาวร จึงไม่มีซุ้มตรงโต๊ะ -
เก้าอี้นี้ ติดโต๊ะ - เก้าอี้มีน้ำ เช่น น้ำลำไย น้ำส้ม น้ำปั่น แก้วละ ๑๐ บาท
อร่อยดี จึงใช้วิชาตัวเบาแย่งโดดนั่งทันทีที่มีที่ว่าง
แล้วยังแถมวางของที่เริ่มซื้อมาเอากันท่าไว้อีก และต้องยอมเสียความเป็นสุภาพบุรุษ
(ออกสตางค์อย่างเดียว) ให้เลขา ฯ เดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวเรือตรงหน้า
ซึ่งเขาไม่เสริฟให้เพราะเขานั่งทำก๋วยเตี๋ยวอยู่ในเรือ เขาไม่ปีนขึ้นมา
เราก็รับชามก๋วยเตี๋ยวมากินแล้ววางไว้ตรงนั้น
ก๋วยเตี๋ยวเขามีเส้นเล็ก เส้นใหญ่ ผมสั่งแห้งยำ ทุกชามราคา ๑๐ บาทหมด ปริมาณพอควร
พุงขนาดผมหากกินถึง ๓ ชาม จะกำลังพอเหมาะ ผู้หญิงได้ชามเดียวก็เก่งแล้ว
สั่งมาแล้วไม่ผิดหวัง ไม่ต้องเติมอะไรเลยนอกจากคนชอบเปรี้ยวก็เติมน้ำส้มเอา
แต่อย่าเติมก่อนชิมก็แล้วกัน แห้งหมดในพริบตา เขามีสั่งแห้ง แห้งยำ สั่งใหญ่น้ำ
ใหญ่ยำ เล็กยำ รู้สึกว่าจะต้องมีคำว่ายำต่อท้าย ชามเดียวพอรู้รสแล้ว
ชวนชิมได้ เรือลำต่อไป
ก๋วยจั๊บ น่ากินมาก หม้อโตทีเดียว ไปสั่งเอามาชามหนึ่ง ๑๐ บาท
ไม่ผิดหวัง
ตรงกับเรือก๋วยจั๊บ แต่อยู่ในซุ้มบนบก มีสะเต๊ะไก่ปิ้ง สีเหลืองน่ากินมาก
สวยแต่เนื้อไก่เปื่อยไป
ซุ้มเดียวกัน ตามข้อมูลที่แจ้งมา หอยทอดขนมครก ผมก็นึกว่าเขามีขนมครกขาย
และมีผัดหอยทอดขายห้วย ปรากฎว่าไม่ใช่ที่สงวนท้อง เอาไว้กินเพียงก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม
ก๋วยจั๊บอีก ๑ ชาม เพราะจะเก็บพุงเอาไว้ใส่หอยทอด และขนมครก ตอน ๘
โมงเช้าเขายังไม่ตั้งเตา มีแต่เตาแก๊สมาตั้งให้ดูเฉย ๆ เขาบอกว่าต้องประมาณ ๑๐
โมงเช้า จึงจะเริ่มบรรเลง ผมจึงไปเที่ยวไปซื้อไปชิมเสียก่อน กลับมา ๙ โมงกว่า
เขาพึ่งยก (ลาก) รถเข็นมาถึงซุ้ม กำลังลำเลียงขึ้นซุ้ม
ถามเขาบอกว่าต้องอีกสักชั่วโมงจึงจะบรรเลง เลยอดเพราะจะต้องไปต่ออีก
ถามไถ่ได้ความว่าที่เรียกว่า "หอยทอดขนมครก" นั้นเขาก็เอาแป้งผัดหอย
ใส่ลงในฝาเตาขนมครกแล้วใส่หอยลงไป แล้วจึงตักใส่กล่องขายเป็นกล่อง กลก่องละ ๒๕ บาท
คือเปิอดกล่องแทนที่จะเป็นขนมครก จะเป็นหอยทอดขนาดรูปร่างเหมือนขนมครก นับว่าแปลก
รสชาติไม่ทราบอาฆมาตไว้ก่อน อีก ๒ - ๓ เดือน ผมจะไปใหม่
ดูซิว่าหลังจากที่ผมเขียนไปแล้วตลาดจะติดดังระเบิดเหมือนตลาดดอนหวายที่พุทธมณฑลสาย
๕ หรือไม่ หรือเหมือนตลาดน้ำลำพญา ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ผมเลิกไปนานแล้ว
เพราะแม่ค้าเขารู้จักผม พอไปครั้งหลังก็ป่าวประกาศกันว่า "นายพลมาแล้ว"
เขาก็เฮโลกันมาไม่เป็นอันต้องไปชิม ไปดูอะไรแล้ว
ต่างร้านโดยเฉพาะที่รู้จักตัวก็ขนอาหารมาให้รวมทั้งผลไม้
จนไม่มีที่จะวางนั่นแหละเลยเลิกไป หากคิดจะไปต้องเอารถหกล้อไปจึงจะนั่งได้สบาย
เอาไว้ผมไปใหม่จะไปชิมหอยทอดขนมครก แล้วเอามาเล่าให้ฟังใหม่
แต่หากท่านเป็นวัยรุ่นใจร้อนก็ไปเสียกอ่นผมเล่าอีกที ไปให้สายเข้าไว้
วิธีเที่ยวดีที่สุดผมว่าไปตั้งแต่เช้า ไปกินก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจี๊บเสียก่อน
แล้วไปเที่ยวเดี๋ยวผมจะบอกสถานที่ให้ไม่ไกลกัน พอเที่ยงกลับมาตลาดน้ำใหม่
ชิมเสียอีกมื้อหนึ่งจึงจะคุ้มค่าจะไปทั้งที เอาให้ได้สองมื้อ
จบรายการชิมคือ ก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว น้ำปั่น เดินกลับ พบร้านขายขนม
ขายอะไรเข้าตาก็ซื้อหอบกลับมา รถจอดไม่ไกลเต็มไม้เต็มมือก็ไปเก็บเสียเที่ยวหนึ่ง
กลับมาซื้อใหม่ ทีนี้ไม่ไกลจากก๋วยเตี๋ยวนัก ยกผ้าป้ายขึงไว้ว่าร้าน ...บ้านสาขลา
บ้านสาขลา นี้ต้องไปทางถนนหน้าอำเภอสมุทรเจดีย์
ไปจนสุดทางจะเป็นย่านหรือหมู่บ้านชาวประมง มีอาหารทะเล ทั้งสดและแห้งขาย เช่น
ปลาเค็มแดดเดียว กุ้งแห้ง กะปิ อาหารทะเลแห้งอื่น ๆ
(ผมจะพาไปชิมอาหารบ้านสาขลาภายหลัง) และที่ไม่เหมือนใครคือบ้านสาขลามีกุ้งเหยียด
เป็นกุ้งต้มเค็มหวาน ไปตอนน้ำเกิดกุ้งจะถูก ตอนน้ำตายกุ้งจะแพง
วันนี้พบที่ตลาดน้ำเลยโดดใส่ ไม่ต้องไปซื้อที่บ้านสาขลาซึ่งเดิมตั้งใจจะไปต่อ
เพราะเคยไปมาแล้วติดใจ ชอบไปกุ้งเหยียดนั้นอร่อยจะกินเล่น กินกับข้าวต้ม
กินแนมแกงเผ็ด อร่อยหมด ที่บ้านสาขลา กก.ละประมาณ ๓๕๐ บาท
ที่ตลาดน้ำแห่งนี้แม่ค้าบอกตามตรงขอค่ารถสัก กก.ละ ๒๐ บาท เป็น กก. ละ ๓๗๐ บาท
รีบควักให้ไปเลย และยังมีปลาแดดเดียวซึ่งเป็นของอร่อยขายด้วย กก. ละ ๗๐ บาท
เท่านั้น มีอีก มีหอยนางรมสด ปูทะเลสด อาหารไม่ได้ซื้อมาคงซื้อแต่กุ้งเหยียด
และปลาแดดเดียวมาเท่านั้น ขนมน่าซื้อ
เช่นเข้าไปในซอย ๒ ที่ผมาตั้งชื่อให้ เดินเข้าไปนิดเดียว จะมีขนมเทียนตั้งโต๊ะขาย
ไม่ได้อยู่ในซุ้ม รสดี ใช้ได้ ซื้อกลับมา ติดกันเป็นข้าวหมกไก่น่ากินมาก
ซื้อกลับมาอีก รวมทั้งสลัดแขก เพราะเป็นอิสลาม ติดกันน่าจะเป็นสามีภรรยากัน
พูดจาน่ารักทั้งสองคน ขายขนมอิสลาม "บาดิน" คล้ายขนมฝรั่งแต่เนื่อแน่น
ขนมหม้อแกงถั่ว ซื้อมาทั้งสองอย่าง มากินที่บ้าน
เสียดายซื้อขนมหม้อแกงถั่วมาน้อยไป เดินผ่านซอย ๒
นี้ไปเรื่อยจนกลับไปผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวน้ำตกของผู้ใหญ่ ร้านไส้อั่ว
ร้านอาหารแถวนี้คนขายน่ารักเชิญชวนให้ซื้อด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม
ผมเดินไปจวนจะออกมาซอย ๑ เหลืออีก ๓ ซุ้ม "ซุ้ม ๓" คุณยายเข้ามายกมือไหว้
แล้วเรียกผมว่า "อาจารย์" เลยชักจะงงว่าคุณยายรู้จักผมหรือ
เพราะเวลานี้ก็เหลือสอนอยู่โรงเรียนเดียวคือ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก (ปี ๔๗.
สอนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗) คุณยาย ความจริงระดับคุณพี่ของผมเท่านั้น
มีขนมจีนน้ำพริก ไส้กรอกปลาแนม ขนมน้ำดอกไม้ ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมมันสำปะหลัง
น้ำพริกอ่อง สะอาดมาก น่ากินมากแต่ยังไม่เรีบยร้อย
ผมจึงไปชิมก๋วยเตี๋ยวเสียก่อนแล้วกลับมาอุดหนุนคุณยาย ซึ่งตอนนี้มีคุณหลาน
คุณน้ามาช่วยกันขายแล้ว ขนมจีนน้ำพริกชุดละ ๒๐ บาท ไส้กรอกปลาแนม ชุดละ ๓๐ บาท
ผักหรือที่เรียกว่าเหมือดขนมจีนให้มาครบถ้วย ทุกอย่างน่ากินหมด มองดูก็รู้และสะอาด
กลับมาใส่จานที่บ้านเป็นมื้อเที่ยง ไม่ผิดหวังเลย ขนมจีนนำพริก ไส้กรอกปลาแนม
และข้าวตังหน้าตั้ง รวมทั้งขนามโบราณน้ำดอกไม้ด้วย
ขอจบรายการชมตลาดน้ำบางน้ำผึ้งไว้แค่นี้ เชิญชวนไปเที่ยวกันโดยด่วน ซึ่งจะพบชาวบ้าน
พื้นเพคนแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญ
ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๒ เข้ามามากถึงสี่หมื่นกว่าคน และแยกย้ายกันอยู่แต่มาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือพระประแดงนี้นับว่ามาก
เป็นไทยไปหมดแล้วก็จริงแต่เขายังรักษาจารีตประเพณีของเขาไว้ได้ พูดจา น่ารักจริง ๆ
ผมเดินสบายไม่มีใครรู้จักผม ต้องรีบไปเสียก่อนที่จะมีคนรู้จัก
จะนั่งซดก๋วยเตี๋ยวไม่สนุกเพราะมือต้องถือชาม อีกมือต้องถือตะเกียบ
และสาวน้อยทั้งหลายที่นั่งเก้าอี้เตี้ย ๆ ริมน้ำนั้น สมัยนี้เขานุ่งกางเกง
แต่เสื้อเขาสั้นเอวลอย เสื้อเปิดไปครึ่งหลัง สมัยผมหนุ่ม ๆ
ไปกินต้นตระกูลก๋วยเตี๋ยวเรือที่ใต้สะพานรังสิต นั่งกับม้าเตี้ย ๆ
แบบนี้แต่สาวสมัยนั้นเขานุ่งกระโปรง โชว์ริมตลิ่ง ม้านั่งสูงคืบเดียว
ตัวนิดเดียวนั่งชันเข่า วาดภาพดูเอาเอง
ออกจากวัดบางน้ำผึ้ง ผมเลี้ยวซ้ายมาก่อน มาสัก ๒๐๐ เมตร ทางขวามีซอยแคบ ๆ ชื่อถนนยิ่งอำนวย
เลี้ยวขวาเข้าไปในซอยนี้ก็จะเป็นสวนเก่าแก่
ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมซื้อเอาไว้ทำสวนกลาง
มีมากมายขับรถดูสภาพสวนเก่าและแหล่งผลิตต้นไม้ในสวนกลาง มีมากมายขับรถดูภาพสวนเก่า
และแหล่งผลิตต้นไม้ในสวนเหล่านี้ร่มรื่นจริง ๆ
กลับมาทางหน้าวัดบางน้ำผึ้ง วิ่งกลับไปออกถนนที่มาเลี้ยวขวาไปหน่อย
จะมีทางแยกไปยังสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ระยะทางประมาณ ๑.๓ กม. เป็นสวนของกระทรวงทรัยากรธรรมชาติ ฯ
ซึ่งสวนนี้ทำมานานแล้ว มีเนื้อที่ ๑๔๘ ไร่ ตั้งแต่สมัยท่านพลเอกเปรม ฯ
เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานนามสวนว่า สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕
ภายในสวนที่ห้ามรถเข้านี้
แบ่งเป็นด้านหน้าเป็นสวนสาธารณะที่ปรับปรุงจากพื้นสวนโบราณ มีสระน้ำขนาดใหญ่
ศาลาริมน้ำ มีเกษตรสาธิต มีหอดูนกชมวิว และอีกส่วนคงอนุรักษ์สวนเดิมเอาไว้
มีสะพานให้เดินไปได้ ร่มรื่นมาก แต่การเดินทางไปตลาดน้ำต้องสังเกตดี ๆ
เที่ยวกลับแวะเที่ยววัดไปด้วย วัดที่แวะวันนี้คือ วัดป่าเกด อยู่ใกล้กับ อบต.บางยอ
เลี้ยวซ้ายเข้าไปในวัด มีศาลาหลวงพ่อโต หลวงพ่อสังข์กระจายน์
และด้านหลังคืออุโบสถสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้ใช้แล้ว
วัดมีอุโบสถใหม่แล้ว อุโบสถโบราณนี้หน้าบันเป็นไม้ หลังคาไม้ หน้าบัน
นารายณ์ทรงครุฑ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว หากไม่รีบซ่อมแซมโดยเร็ว ต้นไม้
ต้นโพธิ์จะทำพังลงมา งดงามมาก วัดคันลัด เลยวัดป้าเกษไป
เป็นวัดมอญเช่นกัน ส่วนวัดทรงธรรมวัดมอญวัดแรก
มีเจดีย์สูงใหญ่แบบมอญ และมีอีกหลายวัด ส่วนวัดโปรดเกษเชษฐาราม
วันนี้ไม่ได้แวะเข้าไป และเคยไปมาแล้วงามมาก เป็นวัดในพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓
พระอุโบสถไม่มีช่อฟ้า ใบระกา วัดไพชยนต์ก็เช่นกัน ผมถึงบอกว่ากินเช้าไปเที่ยวไม่ไกลนัก
แล้วกลับมากินเที่ยงที่ตลาดน้ำกันอีกมื้อหนึ่ง ข้อควรระวัง
เวลาไปตลาดน้ำจำทางให้ดี ๆ เพราะมีป้ายบอกนำไปตลอดทาง
แต่ตอนกลับมาไม่มีป้ายบอกว่าทางไหน จะไปออกพระประแดง ถนนแคบ คดโค้ง ทางแยก
ทางเลี้ยวมาก รถท้องถิ่นทะเบียนสมุทรปราการเขารู้ทางเขาจะวิ่งกันเร็ว
สามล้อก็มีเพราะไม่ใช่กรุงเทพ ฯ กว่าจะหลุดกลับออกมาได้ซึ่งก็ไม่ใช่เส้นทางเดิมด้วย
คือหลุดมาออกทางที่ผ่านทางเข้าวัดโปรดเกษเชษฐาราม ก็เล่นหลงเอาหลายแยก
หวิดต้องจอดรถหาร้านกาแฟงัดเอาข้าวหมกไก่
ขนมจีนน้ำพริกออกมากินกันแล้ว
............................................................
|