วัดกู้
วัดกู้นั้นอยู่ในย่านปากเกร็ด ซึ่งผมได้เขียนเล่าถึงวัดในปากเกร็ดไปแล้ว จึงยังอยากเล่าต่อ
เพราะแถวนี้มักจะมีคนไทยเชื้อสายมอญอยู่มาก และคนมอญนั้นเขายังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของเขาเอาไว้ได้
เว้นภาษาเท่านั้นที่แทบจะไม่มีเหลือในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญยุคใหม่แล้ว เพราะถามดูแล้วเขาบอกว่าพูด
อ่าน เขียน อะไรไม่ได้แล้ว ต้องชั้น ปู่ ย่า ตา ยาย จึงจะพอพูด อ่าน เขียนได้
รุ่นพ่อแม่ของเขาก็พูดไม่ได้แล้ว แสดงถึงความมีเลือดไทยเข้มข้นมากกว่า
วัดกู้นั้นอยู่ในเขตอำเภอปากเกร็ด การไปวัดกู้จะต้องวิ่งไปจนถึงปากเกร็ด แล้วตรงไปถึงท่าน้ำ
แล้วจึงค่อยกลับรถมา อย่ารีบกลับรถในช่องว่างของถนนจะเข้าช่องผิด วิ่งไปจนสุดทางแล้วกลับรถมาวิ่งเลียบฟุตปาธที่ขายของ
สารพัดอาหารขายกันเต็มไปหมด จนพบช่องว่างคือถนนให้เลี้ยวซ้ายได้ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามนี้
ต้องวิ่งไปอีก ๒.๒ กม. โดยประมาณจึงจะเห็นรูปปั้นวัว ๒ ตัว ยืนอยู่หน้าวัด
วัดที่มีวัวยืนอยู่นี่แหละคือวัดกู้ ที่วัดนี้มีรูปปั้นวัวมายืนอยู่หน้าวัด
เพราะที่วัดกู้นี้ เป็นสื่อกลางในการที่ใครคิดจะทำบุญ ด้วยการปล่อยสัตว์ใหญ่ที่เขาจะเอาไปฆ่า
จะถ่ายชีวิตของเขามาติดต่อได้ที่วัดกู้ ที่กุฏิเจ้าอาวาสซึ่งด้านหลังมีคอกที่เลี้ยงวัว
หรือควายที่คนใจบุญเขาซื้อมาถวายไว้ เราไปติดต่อแล้วทางวัดก็จะแจ้งให้ว่าจะเอาไปปล่อยที่ไหนจึงจะไม่ถูกเขาฆ่า
ซึ่งผมไม่ได้ถามรายละเอียด ว่าทางวัดมีมาตรการอย่างใดในการป้องกัน หรือมีสัญญาอย่างใด
ไม่ให้ผู้ที่รับทานคือ สัตว์เลี้ยงไปแล้วต้องเอาไปเลี้ยงดูเพื่อใช้งานเท่านั้น
ไม่ใช่รับแล้วก็จัดการเชือดจำหน่ายแก้จนเสียเลย เชื่อว่าทางวัดมีมาตรการ ผู้จะปล่อยสัตว์ใหญ่
ก็ถวายเงินแก่ทางวัดไป ทางวัดจะจัดการให้เสร็จ สงสัยลองโทรถามไปที่กุฏิเจ้าอาวาส
๕๘๓ ๙๒๐๔ จะได้รายละเอียดในการทำบุญปล่อยสัตว์ใหญ่
วัดกู้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระยาเจ่ง
ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวมอญ นำพวกมอญอพยพเข้ามา ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี
ซึ่งถือว่าเป็นมอญที่เป็นบรรพชนของมอญ เกาะเกร็ด ซึ่งผมได้เล่ารายละเอียดของมอญอพยพไปแล้ว
วัดกู้จึงถูกสร้างโดยศิลปะแบบมอญ
ภายในโบสถ์หลังเก่ามีภาพเขียนฝาผนังที่เป็นศิลปะแบบมอญ
มีพระตำหนักที่สร้างอยู่ในวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ซึ่งสิ้นพระชนม์เพราะเรือล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดนี้แล้วเชิญพระศพมาไว้ที่วัดนี้ก่อนเป็นการชั่วคราว
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบรามัญ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันอยู่ด้านในของอุโบสถหลังเก่า
ซึ่งก็อยู่ข้าง ๆ หลังใหม่นั้นเอง
เมื่อผ่านเข้าประตูวัดกู้ที่มีรูปปั้นวัว ๒ ตัว ยืนเฝ้าหน้าประตูไปแล้ว ทางซ้ายมือจะมีกลุ่มเรือนไทยจำลอง
สร้างไว้สวยงามแต่ขาดการทำนุบำรุง ทั้งตัวเรือนไทยที่เป็นกลุ่มอยู่นั้น และพื้นที่บริเวณที่ก่อสร้างทำให้ขาดความงดงามไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง
แม้จะเป็นของใหม่ที่คงจะสร้างขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็ตาม แต่เป็นการอนุรักษ์กลุ่มเรือนไทย
ที่คนโบราณระดับผู้ใหญ่หรือเศรษฐีโบราณจึงจะมีเรือนไทยเป็นกลุ่มแบบนี้ได้
พ้นกลุ่มเรือนไทยมาแล้ว ก็จะมาถึงศาลาพระพุทธไสยาสน์ที่ประทับนอนตะแคงขวา
หันหน้าออกมาทางถนน องค์พระพุทธรูปยาว ๒๑ วา ๒ ศอก
ด้านหลังศาลาพระนอนมีศาลาซึ่งเป็นศาลด้วยที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บเรือลำที่ล่ม
ชาวบ้านได้กู้เรือขึ้นไว้และนำมาไว้ที่วัดนี้ บนเรือลำนี้สร้างเรือจำลองที่ตกแต่งเหมือนเรือทรง
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเช่นเดียวกับกลุ่มเรือนไทย เพราะไม่มีการตกแต่งรักษาให้เรือจำลองนี้ให้อยู่ในสภาพที่งดงามเท่าที่ควร
ทางด้านหัวเรือ ก็มีการเอาพวงมาลัยมากราบไหว้บูชากัน สภาพของเรือยังอยู่ดี
หากได้ตกแต่งเสียหน่อย จะงดงามพร้อมทั้งให้มีพระราชประวัติเขียนติดไว้ให้เด่นชัดด้วยก็จะยิ่งดียิ่ง
ทางขวาของถนนเข้าวัด เมื่อผ่านประตูมาแล้วจะเป็นลานกว้าง จอดรถได้สบายแต่ผมไม่แน่ใจว่าวันไหนที่เขามีตลาดนัด
เคยไปตรงวันที่เขามีตลาดนัดครั้งหนึ่ง มีของมาขายพอสมควรไม่ถึงกับแน่นเต็มลานวัด
แต่ที่แน่ ๆ คือมีปลาซิวตากแห้งหรือปลาซิวแดดเดียวมาวางขายใส่กระจาดไว้ ปลาซิวจะมาเกี่ยวกับเรื่องของผมอย่างไร
ตอนท้ายจะทราบเอง
ผ่านต่อไปคืออุโบสถหลังใหม่ อยู่ติดกับอุโบสถหลังดั้งเดิม แต่ปกติไม่ได้เปิดหลังเก่าให้ชมกัน
ทางวัดน่าจะมีวันเปิดให้ชม เช่นทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นต้น ตั้งตู้ให้คนทำบุญได้ด้วย
เลยต่อไปมุ่งหน้าไปยังชายน้ำ ทางซ้ายคือ กุฏิเจ้าอาวาส และมีวัว ๖ ขา เลี้ยงไว้
๑ ตัว มี ๖ ขาจริง ๆ คืออีก ๒ ขานั้นงอกมาจากข้าง ๆ ลำตัว น่าสมเพชมากกว่าน่าชม
ทางขวาเป็นศาลาการเปรียญ
วิ่งเลยต่อไปมุ่งสู่แม่น้ำ ทางขวาจะมีพระตำหนักซึ่งมีรูปปั้นของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับยืนอยู่ในพระตำหนักหลังน้อยนี้ น่าเสียดายที่มีพวกแอบอ้างหากิน
เพราะมีพวกร่างทรงของเจ้าต่าง ๆ มาประทับทรงกันในพระตำหนักนี้ เป็นการประทับทรงที่แอบอ้างเบื้องสูงทั้งสิ้น
วันที่ผมไปครั้งแรกกำลังประทับทรงสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อคุยกับชาวบ้านดูแล้วบอกว่าบางวันถึงกับ
อาจเอื้อมอ้างว่ากำลังประทับทรงดวงวิญญาณของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระปิยมหาราช
แต่ที่เข้าทรงประจำคือ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ คนทรงจะแต่งตัวสะสวยทีเดียว นั่งบนแท่นหน้าพระรูปปั้น
คนที่สติไม่ค่อยจะดีนัก (ผมตั้งให้เอง) ก็จะหมอบกราบกันอยู่หน้าตั่งถามไถ่เรื่องราวต่าง
ๆ ที่อยากรู้โดยเฉพาะขอเลขเด็ด ซึ่งเป็นการหลอกลวงชัด ๆ เช่นนี้จะถือว่าเป็นคดีอาญาได้ไหม
อย่างน้อยก็เป็นการหลู่พระเกียรติ รัฐบาลหรือภาครัฐในยุคคิดใหม่ทำใหม่ ควรปราบให้สิ้นทรากเสียที
หากเขาจะนั่งทรงในบ้านของเขา หรือสร้างศาลส่วนตัวขึ้นในพื้นที่บ้านของเขา
แล้วนั่งทรงไปอย่างนี้คงไปว่าเขาไม่ได้เพราะเป็นบ้านของเขา ใครหลงนับถือก็ไปหาเขาเอง
แต่มาใช้สถานที่ที่เป็นสาธารณะ ที่ผู้คนจะเข้าไปกราบไหว้เคารพบูชากันแบบนี้เห็นจะทำไม่ถูกแน่
และผมพบเห็นมาหลายสิบแห่งแล้ว
ทีนี้ยังอยากจะเล่าถึงศิลปะวัฒนธรรมของรามัญต่อจากที่เคยเล่าเรื่องวัดในเกาะเกร็ดไปแล้วเพื่อประดับความรู้
และผมเชื่อว่าแถว ๆ วัดกู้นี่ก็คงมีคนไทยเชื้อสายมอญพักอาศัยอยู่อย่างแน่นอน
แต่ก็คงเป็นคนไทยแท้ไปหมดแล้ว
ศิลปะที่สำคัญของชาวมอญเกาะเกร็ดคือ
เครื่องปั้นดินเผา
ปีพาทย์มอญเกาะเกร็ด รำมอญ และเพลงเจ้าขาว
เครื่องปั้นดินเผา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกได้แก่ของใช้ เช่นปั้น โอ่งใหญ่
โอ่งกลาง โอ่งสลักที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จนถึงที่ ๖ เป็นโอ่งชุด เป็นชื่อเรียกโอ่งที่มีตั้งแต่ขนาดใหญ่ไล่ลงไปถึงขนาดเล็ก
"
อ่าง" มีหลายแบบ
ได้แก่
อ่างกะเทิน
เป็นอ่างเอนกประสงค์มีขนาดใหญ่ที่สุด อ่างฮร็อกใหญ่รองลงมา อ่างฮแร็ก ต่อไปไล่ชื่อตามขนาดอ่าง
ได้แก่ อ่างใน ๑ อ่างใน ๒ อ่างใน ๓ อ่างใน ๔ "อ่างหมา" ไว้ให้หมากินอาหารหรือจะใช้อย่างอื่นก็ได้ตามอัธยาศัย
"อ่างแมว" หรืออ่างตีนตู้ อ่างต่าง ๆ เหล่านี้รูปทรงคล้ายกัน ผิดกันที่ขนาดและการนำไปใช้ประโยชน์เท่านั้น
"กระปุก " กระปุกจาโต
หรือกระปุกตีนอิฐ หรือกระปุกเป็ด ความจริงเหมือนกันแล้วแต่ผู้ซื้อจะเอาไปใช้งาน
ถ้าลูกค้าทางสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จะซื้อเอาใส่อาหารเลี้ยงเป็ด ลูกค้าทางเมืองปทุมและสามโคก
ปั้นอิฐขายซื้อเอาไปทำอ่างล้างมือ หรือละเลงดินปั้นอิฐ เด็กเกาะเกร็ดในยุคก่อนจะมีของเล่นแยะ
ๆ จะนำมาทำกลอง
"ครก" ครกของมอญแยกออกเป็น
ครกธรรมดากับครกตีนช้าง ครกทรงธรรมดาจะมีลักษณะทรงเอวคอด ส่วนครกตีนช้างส่วนฐานจะกว้าง
ครกธรรมดายังแยกชื่อออกไปได้อีกตามขนาดว่า ครกที่ ๑ ครกที่ ๒ ครกกลาง ครกยั่ว
ครกเรือจ้าง ครกน้องเรือจ้าง ครกโลด หรือ ครกเจ็ก ซึ่งเป็นครกขนาดเล็ก แต่ชาวประมงซื้อครกไปแล้วไม่ยักกะเอาไปใช้ตำ
กลับเอาไปถ่วงอวนจับปลาทะเล เพราะมีส่วนคอดตรงเอวใช้เชือกผู้ได้แน่นดี อีกครกคือ
ครกจ๋อย คนแก่ใช้ตำหมาก สงสัยว่าตอนนี้คงจะหาซื้อยากแล้ว ส่วนครกตีนช้างนั้นรูปร่างคล้ายกัน
ผิดกันที่ตีนโต มีครกตีนช้างใหญ่ ครกตีนช้างลวด ครกตีนช้างน้องลวด ครกตีนช้างบาตร
และครกขัด จบเรื่องครกมอญ
"โอ่ง หรือ
หม้อน้ำลายวิจิตร"
เป็นเครื่องปั้นประเภทสวยงามมีหลายรูปทรง แต่ก็มีรูปทรงที่เป็นแบบหลัก ๆ คือ
โอ่งทรงสูง โอ่งทรงโกศ โอ่งทรงโหล
ปี่พาทย์มอญ เกาะเกร็ด ในงานฉลองสมโภชพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ในแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช
ได้มีหมายรับสั่งความว่า "ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์รามัญ
และมโหรีไทย มโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช" เป็นการยืนยันว่าคนไทยแต่เก่าก่อนนั้น
ใช้ปี่พาทย์มอญในงานมงคลเฉลิมฉลองด้วย ซึ่งผิดกับสมัยนี้จะมีพิณพาทย์มอญก็แต่ในงานศพเป็นสำคัญ
เพราะฟังแล้วเสียโหยหวนดีนัก และเชื่อว่าปีพาทย์มอญคงไม่ได้เข้ามาสู่เมืองไทยสมัยมอญเกาะเกร็ดแน่
เพราะมอญนั้นมีที่พึ่งคือไทย ได้อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยหลายครั้งหลายครา นับตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเรื่อยมา
จึงมีในงานมงคลต่าง ๆ มาช้านาน แต่มาบรรเลงในงานศพครั้งแรกเมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี
ซึ่งมีเชื้อสายมอญ และนับแต่นั้นมางานศพพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ จึงมีปีพาทย์มอญบรรเลงเพิ่มขึ้น
และแพร่หลายออกสู่สามัญชนต่อไปในภายหลัง จนเดี๋ยวนี้คงไม่มีใครอุตริหาปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานมงคลสมรสแล้วอย่างแน่นอน
ศิษย์ครูจำปา สืบทอดเพลงเก่าแก่ของมอญไว้ได้แยะ เช่น เพลงเชิญ ที่ถือว่าเป็นเพลงครู
เพลงรำดาบ เพลงรำใบไม้ เพลงดาวกระจ่าง เพลงพญาลิงขาว เพลงรำมอญ เพลงพุ่งหอก
พม่าใหญ่ ฯลฯ
รำมอญ หรือ ปัวฮะเปิ้น เป็นนาฏศิลป์ที่ใช้ทั้งในงานมงคล งานสมโภช และงานศพ
โดยเฉพาะศพพระจะต้องมี ชาวบ้านถือว่าการรำถวายหน้าศพพระได้กุศลแรง ท่ารำดั้งเดิมนั้นมี
ท่ารำอยู่ ๑๐ ท่า หรือ ๑๐ เพลง และประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มจนเรียกว่า
ท่ารำ ๑๒ ท่า
โดยการแทรกเพลงไทยเข้าไป ๒ เพลงคือ เพลงที่ ๘ กับเพลงที่ ๑๒ คือเพลงนกขมิ้น
เพลงเจ้าขาว
เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวมอญเกาะเกร็ด การเล่นเพลงเจ้าขาวถือเป็นประเพณี มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกบุญทอดผ้าป่า
ชักชวนให้ผู้คนมาทำบุญร่วมกัน เพลงเจ้าขาวเป็นการบอกบุญทางเรือ ชักชวนผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองให้มาร่วมทำบุญ
การเล่นเพลงจะเล่นในตอนพลบเป็นต้นไป หลังอาหารเย็นนักเพลงจะมาพบกันที่วัด
ถือพายมาคนละเล่มลงเรือมาดลำใหญ่ หัวเรือวางตะเกียงเจ้าพายุ และมีบาตรพระไว้รับเงินบริจาค
พ่อเพลงหรือแม่เพลงนั่งประคองบาตร ช่วงต่อไปจะมีปี๊บ หรือกระบุง เอาไว้รับการบริจาคข้าวสาร
ระนาดจะอยู่กลางเรือ ลูกวงจะประกอบด้วย คนตะโพนมอญ ฉิ่งกรับ และลูกกรับ จะนั่งกันตามสะดวกและทุกคนต้องพายเรือ
ชาวบ้านรู้ในเทศกาลจะมีเพลงเจ้าขาวจะออกมานั่งคอยที่ท่าน้ำ พอเรือเพลงผ่านมาเรือเพลงจะจอดแล้วร้องเพลง
เชิญชวนให้เจ้าบ้านมาร่วมทำบุญ "เจ้าขาว ราวละลอก หอมดอก ดอกเอ๋ย ดอกพลับพลึง
ทำบุญซะร่วมกัน ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์" ลูกคู่จะรับต่อ เห่ เฮ เฮ้ .....เสียดายผมเองก็ไม่เคยได้ฟัง
ได้เห็น ที่เอามาเขียนถึงได้ก็ลอกจากหนังสือเขามาทั้งดุ้น คือหนังสือเกาะเกร็ด
ทีนี้ไปร้านอาหาร ร้านอาหารร้านนี้ชื่อร้าน "ครัวบ้านริมน้ำ" อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ต้องเข้าไปในวัดกู้ที่เล่ามาแล้ว เข้าไปจนสุดทางโดยวิ่งผ่านตำหนักสมเด็จ ไปจนสุดทาง
ทางขวาคือร้านอาหารบ้านริมน้ำ ส่วนทางซ้ายหากเดินไปสัก ๒๐ เมตร จะเป็นท่าน้ำยื่นออกไป
มีศาลพระนางเรือล่มอยู่ตรงนี้อีก เป็นของเอกชนแน่ มีแต่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่
๕ และของพระนางเรือล่ม มีคนไปเคารพบูชากัน ดอกไม้ ธูปเทียน มีวางไว้ให้บริจาคตามแต่จะศรัทธา
เขาบอกว่าตรงจุดนี้คือ จุดที่ชาวบ้านเชิญพระศพมาไว้ครั้งแรกที่นำขึ้นมาจากแม่น้ำ
ทางเดินเข้าร้านอาหารทางซ้ายมือมีเตาตั้งย่างกุ้งแม่น้ำ แต่เป็นกุ้งแม่น้ำขนาดเล็กไม่น่ากิน
จึงไม่แนะนำ เขายืนยันว่าเป็นกุ้งแม่น้ำไม่ใช่กุ้งเลี้ยง กุ้งแม่น้ำต้องกินตัวโต
ๆ ย่างแล้ว เผาแล้วมันต้องเยิ้มนั่นแหละ
ร้านยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา วิวดี มองดูสายน้ำไหล มองดูความเขียวชอุ่มของฝั่งเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้าม
และฝั่งตรงข้ามนี้เป็นสวนไม้ดอก ไม้ประดับ ชื่อสวนตาลน้อย ยังไม่ได้ศึกษาว่าจะไปได้โดยทางรถยนต์หรือไม่
ร้านเขากว้างขวาง ลมแม่น้ำพัดเย็นสบายไม่ต้องมีห้องแอร์ สาวเสริฟ หนุ่มเสริฟ
แต่งตัวชุดยังกะออกรบเลยทีเดียว คือทุกคนใส่เสื้อยืดคอกลม แต่กางเกงนั้นนุ่งกางเกงผ้าพรางของทหาร
ชุดที่ทหารเขาเรียกว่าชุดพราง ซึ่งทหารจะใช้เวลาออกศึก หรือออกฝึกภาคสนามกัน
ผมเลยยกให้เป็นชุดรบของสาวเสริฟเสียเลย
ปลาซิวแดดเดียว ผมได้กล่าวถึงในตอนต้นมาแล้ว ปลาซิวแดดเดียวที่ร้านนี้มาแล้วต้องสั่งอร่อยนัก
ยำตะไคร้สด ร้านนี้เขาปลูกตะไคร้ไว้ในกระถางแทนไม้ประดับ และเขาบอกว่าเขาเป็นต้นตำรับของยำตะไคร้สด
และน้ำตะไคร้ อร่อยเคี้ยวได้สนุกสนานดี
ปลาเนื้ออ่อนราดพริกแกง พอดีเขาบอกว่าปลาตัวโตหรือที่เรียกว่าปลาแดงนั้นหมด
มีแต่ปลาตัวเล็ก ผมกับชอบเพราะหากปลาเนื้ออ่อนตัวเล็กแล้วจะทอดได้กรอบ กินได้หมดทั้งตัว
เขาก็ทอดมากรอบจริง ๆ พริกแกงที่ผัดราดมารสดี หอม เอามาคลุกข้าวกินได้สบาย
กินข้าวคลุกพริกแกงราดปลาเนื้ออ่อน กับเนื้อปลาแล้วซด......
ปลาเก๋าต้มเต้าเจี้ยว แปลกที่เสริฟมาในกะทะทอง ไม่ใช่หม้อดิน ความร้อนจึงแผ่ไปเต็มที่ซดแล้วชื่นใจ
รสแกงของเขาเข้าเนื้อปลา ไม่ต้องปรุง ไม่ต้องเอาเนื้อปลาไปจิ้มเต้าเจี้ยวที่ไหนอีก
เพราะต้มเต้าเจี้ยวอยู่แล้ว
ขนมหวานไม่มี มีแต่ไอศกรีม กับข้าวต้มผัดใส่ถาดวางไว้ เลยสั่งไอศกรีมกับข้าวต้มผัดมากินด้วยกัน
แทนกินไอศกรีม ขนมเค้ก ข้าวต้มผัดของเขาอร่อยทีเดียว อิ่มแล้วซื้อใส่ถุงกลับมา
เขาเปิดขายทุกวัน เว้นวันที่ ๑๖,๑๗ ของเดือนหยุดนับเงินและเอาเงินไปฝากธนาคาร
----------------------------------
|