พระธาตุม่อนจอมผ่อ
นามพระธาตุองค์นี้คงแปลกหูแปลกตาไม่ค่อยจะได้ยินกัน ผมเองก็ตระเวนมารอบประเทศไทยมาหลายรอบแล้ว
และข้อสำคัญผมไปพัก ไปนอน ไปทำสวน อยู่ที่ อ.เวียงป่าเป้า มานานกว่า ๑๐ ปี
แต่ไม่ทราบว่าที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอเวียงป่าเป้า
ที่เงียบอยู่ไม่มีใครรู้จักกัน น่าจะเป็นเพราะไม่มีใครไปบูรณะจนกระทั่งมีผู้มีใจเป็นกุศล
ทราบว่าคือคุณกนก และคุณวลี เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้มาพบและรับเป็นเจ้าภาพบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์องค์นี้
และยังสร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นหนึ่งหลังในโอกาสที่มาบูรณะองค์พระธาตุจอมผ่อ
เมื่อประชาชนทราบข่าวว่าจะมีการบูรณะพระธาตุ ต่างก็ช่วยกันมาบริจาคสมทบ เลยทำให้ผู้คนตามมาสักการะกราบไหว้กันจนเป็นที่รู้จักทั่วไป
หลังจากนั้นก็มีโครงการ "นมัสการอิ่มบุญพระธาตุ ๙ จอม" ซึ่งพระธาตุทั้ง ๙
จอมนี้ รวมอยู่ในจังหวัดเชียงราย การไปนมัสการพระธาตุ ๙ จอม ไม่ได้บอกว่าจะต้องไปนมัสการให้ครบทั้ง
๙ องค์ภายในวันเดียวหรือไม่ แต่หากจะไปนมัสการให้ครบภายในวันเดียวทั้ง ๙ จอม
ก็ทำได้หากขับรถแข็ง ๆ สักหน่อยและวางแผนการเดินทางให้ดี ๆ ก็จะไปไหว้ให้จบได้ทั้ง
๙ องค์ภายในวันเดียว ผมเองไม่เคยไปไหว้พระธาตุครบทั้ง ๙ องค์ แต่พอจะรู้จัก
และเคยไปกราบไหว้มาแล้วแทบจะทุกองค์ โดยเฉพาะพระธาตุจอมกิตติที่ อ.เชียงแสน
นั้น เรียกว่าเป็นพิเศษเพราะ เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว ผมขึ้นไปนมัสการพระธาตุจอมกิตติ
ที่อยู่บนดอยน้อย
ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก่อนขึ้นบันไดก็เห็นตัวอักษรเก่าแก่เขียนไว้ว่า
พ.ศ.๑๔๘๓ คือ พันปีมาแล้ว เมื่อนมัสการองค์พระธาตุจอมกิตติแล้วก็ลงมาขอพบท่านเจ้าอาวาส
ท่านพระครูวิกรมสมาธิคุณ ซึ่งท่านมักจะปิดกุฏิไม่ค่อยพบใคร ท่านเป็นทั้งพระนักวิชาการเปรียญ
๖ และนักธรรมเอก และปัจจุบัน ญาณท่านแก่กล้า
จนนับถือว่าเป็นเกจิอาจารย์องค์หนึ่ง
เมื่อไปพบท่านเจ้าอาวาส ก็ได้ความรู้จากท่าน และบอกท่านว่าองค์พระธาตุออกจะทรุดโทรม
ท่านก็บอกว่า ขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่มานานแล้ว และที่สำคัญคือพระ เณร ที่อยู่ในวัดนี้
อยู่บนยอดดอยได้รับความลำบากเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เพราะน้ำฝนไม่พอใช้ตลอดปี ต้องนำน้ำมาจากข้างล่าง
และที่เชิงดอยแห่งนี้ไปทางขวาของทางขึ้นสู่วัดก็มี "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ของวัดอยู่ด้วย
ผมเลยบอกท่านเจ้าอาวาสว่า ผมจะมาทอดผ้าป่า หาปัจจัยช่วยท่านปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุจอมกิตติ
สร้างถังเก็บน้ำ ถังส่งน้ำเพื่อสูบน้ำจากเชิงดอยขึ้นมายังถังส่งน้ำ
ส่วนน้ำดื่มก็จัดหาถังเก็บเพิ่มมากขึ้น เพื่อเก็บน้ำฝนให้พอดื่มตลอดปี และพัฒนาองค์พระธาตุ
เช่น ปิดทองใหม่ แต่งไฟองค์พระธาตุ เป็นต้น และเมื่อคุ้นเคยกับท่านเพราะไปหลายครั้งแล้ว
ก็เลยบอกท่านว่าเงินของวัดมีหลายบัญชี ท่านเอามารวมเป็นบัญชีเดียวกัน แล้วผมจะหาเงินเพิ่มเติมให้ เอาเงินของวัดเป็นหลัก
สร้างกุฏิของท่านเสียใหม่ เพราะกุฏิของท่านตั้งอยู่ริมไหล่เขาเก่าแก่น่ากลัวจะหล่นลงมา
ท่านก็เชื่อดังนั้น เพียงปีเดียวก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุ สร้างกุฏิเจ้าอาวาสใหม่
สร้างสุขาใหม่เป็นสากลอย่างดี และข้อสำคัญคือ สร้างถังส่งน้ำสำเร็จทำให้มีน้ำแจกจ่ายให้พระ
เณร ได้ใช้กันทั่วถึงจากเงินของวัด เงินทอดผ้าป่า ซึ่งเงินของวัดนั้นมีไม่ใช่น้อย
แต่ฝ่ายกรรมการไปแยกบัญชีกันหลายบัญชีจึงกระจายกันออกไป ไม่เป็นก้อนให้ทำอะไรที่เป็นการพัฒนาวัดได้
เมื่อนำมารวมกัน จึงได้เงินก้อนใหญ่ และเงินทอดผ้าป่าก็ได้มากพัฒนาวัดก้าวหน้าไปชั่วในเวลาเพียงปีเศษ
ๆ พอต่อมาอีกปีหนึ่ง ฝ่ายกรรมการวัดก็บอกว่า หลวงพ่ออยากตั้งมูลนิธิมานานแล้ว
แต่ทำไม่สำเร็จ เพื่อนำดอกผมไว้พัฒนาวัด และส่งเสริมการศึกษาของพระ เณร เพราะหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะตำบลด้วย
ผมก็รับดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิให้ด้วย การทอดผ้าป่าในปีต่อมา ผลจากการทอดผ้าป่าก็ได้เงินมากพอที่จะตั้งมูลนิธิได้สำเร็จ
ชื่อว่า มูลนิธิพระธาตุจอมกิตติ
ฝากเงินไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาเชียงแสน ใครจะทำบุญเข้ามูลนนิธิก็่ส่งเงินไปบริจาคด้วยการฝากธนาคารออมสินที่ไหนก็ได้
แต่ต้องถามชื่อบัญชีจากธนาคารออกสินเชียงแสนเสียก่อน เวลานี้มีเงินร่วมสองล้านแล้ว
ผมไม่ทำบุญจำเจอยู่วัดเดียว ยิ่งวัดรวย ๆ อาจารย์ดัง ๆ ยิ่งไม่ทำ ทำบุญตามวัดจน
ๆ ที่ขาดแคลน ตั้งแต่นั้นมาวัดพระธาตุจอมกิตติก็มีคนรู้จักกันมาขึ้น
ไปทำบุญกันมากขึ้น ผมเขียน แนะนำให้คนรู้จักทุกสื่อที่ผมเกี่ยวข้อง
เริ่มต้นให้แล้วก็ให้คนอื่นสานกันต่อไป เรื่องราวขององค์พระธาตุจอมกิตติเดี๋ยวผมจะกลับมาเล่าให้ฟัง
ผมเล่าเรื่องไปงานมหัศจรรย์ชา - ซากุระบาน บนดอยแม่สลอง ให้ทราบแล้ว
จบไปงานแล้วก็กลับลงมาจากดอยแม่สลอง ในตอนบ่ายและแวะพักค้างคืน ที่อำเภอเวียงป่าเป้า
ที่บ้านของอดีตพ่อหลวง ตำบลป่างิ้ว หรือที่เรียกกันในภาคอื่นว่า ผู้ใหญ่บ้าน
แต่ตำแหน่งนี้หากเป็นภาคเหนือจะเรียกว่า พ่อหลวง ส่วนเมียพ่อหลวงก็จะเรียกว่า
แม่หลวง เมื่อก่อนเป็น พ่อหลวงกันจนอายุ ๖๐ ปี หรือมากกว่านั้น เดี๋ยวนี้ครบวาระ
(จำไม่ได้ว่ากี่ปี) ก็ออกไป และงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านคงจะน้อยลงเพราะมี
"อบต." เข้ามาบริหารงาน ที่เวียงป่าเป้าผมซื้อที่ดินเอาไว้ เพื่อจะสร้างหมู่บ้านตามแนวความคิดยุทธศาสตร์พัฒนา
หรือยุทธศาสตร์พระราชทาน โดยสมาชิกในหมู่บ้านตัวอย่างที่จะสร้างเป็นหมู่บ้านแรกนี้
เป็นนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยี่การเกษตรแม่โจ้ทั้งหมด (ยังไม่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้
เช่นในปัจจุบัน) มีจำนวน ๓๒ คน ที่จบแล้วจะออกมาสร้างตัว ไม่เป็นลูกจ้างใคร
หรือรับราชการ เช่นเดียวกับบัณฑิตเกษตรที่ก่อตั้งโดย ฯพณฯ องคมนตรี พลเอก
พิจิตร กุลละวณิชย์ (ผมยกให้ท่านเป็นนายตลอดกาล มาจนทุกวันนี้) และผมเป็นผู้ช่วยของท่าน
ซึ่งบัณฑิตเกษตรนั้นมีหลายรุ่น อยู่บนเขาค้อมากที่สุดทุกวันนี้เติบโตมีฐานะดี
เป็นปึกแผ่นกันเกือบทุกคนแล้ว ผมพา สส.เชียงใหม่ ที่เคยเป็นทหารเก่ามาดูสถานที่
มาทราบความคิด ซึ่งก็เห็นด้วย สส.ผู้นั้นบอกว่า สร้างสำเร็จเมื่อไร ก็จะเสนอเรื่องเข้าสภา
ฯ เพื่อให้ทางภาครัฐพิจารณาสร้างหมู่บ้าน ตามแนวคิดยุทธศาสตร์พัฒนานี้ไปทั่วตามชายแดน
ชายแดนจะเกิดความมั่นคง จะคล้าย ๆ กับหมู่บ้าน "กิบบุช" ของอิสราเอล ผิดกันที่กิบบุช
นั้นแต่ละหมู่บ้านมีอาวุธด้วย ยุทธศาสตร์พัฒนาไม่มีอาวุธประจำหมู่บ้าน แต่พร้อมที่จะฝึกให้เป็นกำลังรบตามระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จได้
ปรากฎว่าฝันสลายทั้งผมและบัณฑิตแม่โจ้ เพราะธนาคารที่เคยบังคับให้พวกผมที่จบจาก
รร.นายร้อย จปร. ยศร้อยตรี จะต้องซื้อหุ้นธนาคารคนละ ๕ หุ้น ในราคาหุ้นละ
๑๐๐ บาท ไม่ซื้อไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ท่านสั่งหักเงินเดือนลงมาเลยเงิน
๑๐๐ บาท ในสมัยนั้นเมื่อ ๔๙ ปี ที่แล้วราคาทองคำบาทละ "๒๕๐ บาท" เรียกว่า
รีดเลือดจากปูเลยทีเดียว ธนาคารให้กู้เงินมาซื้อที่ดิน แต่ไม่ให้กู้เงินมาสร้างหมู่บ้านตามแนวคิดยุทธศาสตร์พัฒนา
บอกว่าดูโครงการแล้วไม่มีกำไรเดี๋ยวไม่มีเงินส่ง ผลก็คือ ผมเลยกลายเป็นชาวสวนจำเป็นไป
ต้องให้พ่อหลวง และชาวบ้านช่วยกันทำที่ดินให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปลูกสวนมะม่วง
และไม่มีกำไร เพราะไม่มีเวลาไปควบคุมอย่างใกล้ชิด คือ เหตุผลที่ผมต้องไปเวียงป่าเป้า
ปีละหลายครั้ง เอามาเขียนเล่าให้ฟังเผื่อใครจะสร้างฝันให้เป็นจริงบ้าง อยากเห็นหมู่บ้านตามแนวความคิดยุทธศาสตร์พัฒนาก่อนที่ผมจะตายครับ
ไปเวียงป่าเป้าทุกครั้งในตอนเช้าผมจะออกไปใส่บาตรที่ตลาดหัวเวียง
ซึ่งอยู่เลยที่ว่าการอำเภอไปทางเหนือสัก ๕๐๐ เมตร เช้า ๆ ตลาดที่อยู่ใกล้บ้านพ่อหลวง
คือ ตลาดป่างิ้ว
เหมือนตลาดค้าส่งแม่ค้ามาขายของกันตั้งแต่เช้ามืด ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ
พ่อค้า แม่ค้าที่จะมาซื้อสินค้า เพื่อเอาไปขายตามหมู่บ้าน มีทั้งอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป
อีกตลาดหนึ่งไม่ไกลกันอยู่ทางฝั่งซ้ายติดเช้าเช่นกัน แต่ขายของกินเป็นส่วนใหญ่พอสายก็หยุด
ประเภทตลาดสายหยุด ส่วนตลาดหัวเวียงที่อยู่ทางฝั่งขวาเลยตัวอำเภอออกไป ติดกันคึกคักในตอนเช้าไปจนสาย
ก็จะเหลือแต่เจ้าประจำ ประเภทชาวบ้านแบกกระบุง ตระกร้าจากบ้านเอาผัก เอาสินค้ามาขายก็จะกลับหมด
สินค้าถูกจริง ๆ แครอท กำโต ๆ ขาย ๒๐ บาท เป็นในเมือง ๕๐ บาท กำโตขนาดนี้ซื้อไม่ได้
ผมชอบไปใส่บาตรที่ตลาดนี้ เพราะอาหารมีขายแยะ เช่นซื้อข้าวนึ่ง พริกหนุ่ม
ผักต้ม และไก่ทอด กับขนมก็ขายใกล้ ๆ กันแม่ค้าพอรู้ว่า จะเอาไปใส่บาตรก็บอกเลยว่า
ไปใส่บาตรเสียก่อนแล้วค่อยมาจ่ายเงิน จัดอาหารลงถาดให้เรียบร้อย เราก็ยกถาดไปยืนรอพระที่หน้าตลาด
ริมถนนพอใกล้เวลาที่พระจะมาก็จะมีคนตีระฆัง หรือกังสดาล ดังกังวานแสดงว่าพระกำลังจะมาถึงแล้ว
พระที่มารับบาตรตรงตลาดนี้มีประจำดูเหมือนจะ ๓ วัด ท่านจะเข้าแถวเดินมาอย่างสำรวม
มีย่ามคล้องไหล่มาอีกใบ ไม่มีถัง ไม่มีรถกระบะตามมาขนของ สำรวมน่ารักจริง
ๆ ใส่บาตรคราวนี้เลยได้รู้จักพระธาตุจอมผ่อ เพราะมีพระอยู่ ๒ องค์ ท่าทางเดินมาเหนื่อยทีเดียว
ใส่บาตรแล้วผมก็ถามท่านว่า อยู่วัดไหน ท่านบอกว่าอยู่วัดพระธาตุจอมผ่อ ถามว่าไกลไหมท่านก็บอกให้ว่าคงประมาณ
๓ กม.เศษ และมีป้ายบอกทางเข้าอยู่ตามเสาไฟฟ้า ท่านเดินมาไม่มีรถมาส่ง
เดินมาทุกวัน ผมใส่บาตร ข้าวนึ่ง กับข้าวมี พริกหนุ่ม ผักต้ม ไก่ทอด ใส้อั่ว
และขนม เสร็จแล้วก็ใส่พระวัดอื่นต่อไปที่เข้าแถวมายืนเรียบร้อยจริง ๆ แถวนี้มี
๕ องค์ มีอีกแถว ๓ - ๔ องค์ ไม่ได้ใส่อีก และพอไปหลังตลาดก็พบ ๒ องค์ วัดจอมผ่อยังไปยืนรับบาตรที่หลังตลาดอีก
บาตรคงยังไม่เต็มเลยซื้อส้มสายน้ำผึ้งใส่บาตรไปอีกองค์ละ ๑ กก. ส้มสายน้ำผึ้งหวานเจี๊ยบ
ที่ตลาดเวียงป่าเป้าขา "กิโลกรัมละ ๑๕ บาท" เป็นส้มสวนเวียงป่าเป้า ชาวสวนส้มกำลังจะตาย
ปุ๋ยแพงขึ้น ค่าแรงแพงต้องจ้างพวกกะเหรี่ยง พม่า พอจ้างได้ ค่าครองชีพสูง
แต่ส้มราคาถูกลงและการทำสวนส้มนั้น ทำได้ไม่กี่ปีดินจะหมดอายุต้องย้ายที่ปลูก
เช่นสวนส้มที่ลพบุรี นับหมื่นไร่กำลังแปรสภาพเป็นบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งไปแล้ว
เริ่มต้นแถว ๆ อำเภอบ้านหมี่ เห็นมีหลายบ่อ พอใส่บาตรเสร็จ ซื้ออาหารเช้าของโปรดทั้งหลายที่เป็นอาหารพื้นเมือง
เช่น ลาบเมือง ใส้อั่ว ข้าวนึ่งไม่ต้องซื้อแม่หลวงนึ่งคอยไว้ให้แล้ว ไก่ทอด
ฯ ขนมนมเนยจ่ายมาพร้อม เสร็จแล้วก็ตัดสินใจไปพระธาตุจอมผ่อกันเช้าวันนี้ เพราะยังเช้าอยู่ยังไม่หิวข้าว
พระธาตุม่อนจอมผ่อ อยู่วัดอรัญญวิเวกคีรี
หากมาจากทางใต้ก่อนถึงเทศบาลเวียงป่าเป้า ประมาณ กม. ๙๔.๕ จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้าย
และจะมีป้ายติดไว้ตามเสาไฟฟ้าบอกเป็นระยะ ๆ เรียกว่าหาทางเข้าไม่ผิดแน่นอน
แต่เข้าไปแล้วจะงง เพราะตามป้ายไปแล้วป้ายหาย ทางแยกมีหลายจุด แต่ได้บอกท่านเจ้าอาวาสแล้วว่า
ท่านต้องติดป้ายเพิ่มเพราะเข้ามาลึกร่วม ๓ กม. มีทางแยกมากทางแคบ คนขับรถจะงง
บริเวณวัดร่มรื่นอยู่บนยอดดอยเตี้ย ๆ เห็นดอยแล้วก็เห็นใจพระที่เดินลงไปบิณฑบาตร
เดินเท้าเปล่า อุ้มบาตร ตอนที่ผมไปกำลังฤดูหนาวด้วย เรียกว่าพระอยู่ได้เพราะศรัทธาทีเดียว
ควรแก่การไปทำบุญที่วัดแบบนี้ ถามท่านบอกว่ามีพระอยู่ ๕ องค์ มียาสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยวางไว้ขาย
"ห่อละ ๑๐ บาท" ผมเหมามาหมด ยังไม่ได้ทดลองต้ม แต่ท่านให้ทดลองดื่มเดี๋ยวนั้นเลย
ขนาดยังเช้าแต่ท่านต้มยาแล้ว ใส่แก้วส่งให้ทดลองดื่ม มีวัตถุมงคลคือ พระธาตุ
ให้เช่าบูชา เหรียญละ ๒๙ บาท ขนเช่าบูชาเอามาแจก วัดมีโบสถ์เล็กขนาด ๓ บานหน้าต่าง
กระทัดรัดไม่สร้างให้เกินความต้องการสมกับเป็นวัดในป่า ผมไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไป
ได้แต่ขอโบชัวร์ของทางวัดมาไม่ทราบว่า จะลงภาพให้ท่านเห็นได้หรือไม่อีก ๒
- ๓ เดือน ผมจะไปใหม่ ไปไหว้รวดเดียวทั้ง ๙ พระะาตุเลยทีเดียว
ประวัติวัดสร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๒๖๓ ต่อมาถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง ได้มีการค้นพบและบูรณะเป็นครั้งแรก
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ โดยสร้างเจดีย์ทับลงที่เดิม วัดพระธาตุจอมผ่อบางยุคก็มีการบูรณะเพิ่มเติมเสริมสร้าง
บางยุคก็ไม่มีพระภิกษุ สามเณรจำพรรษา ไฟป่าเข้ามาเผาผลาญจนเหลือแต่องค์เจดีย์
จน พ.ศ.๒๕๐๘ แรงศรัทธาของชาวพุทธได้เริ่มมาบูรณะกันใหม่
พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ขอยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ประจำ พร้อมกับตั้งชื่อวัดใหม่ว่า
วัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อ)
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รื้อเจดีย์องค์เดิม และสร้างขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์ปิดทอง
เปลี่ยนรูปลักษณ์จากทรงสี่เหลี่ยมเป็นย่อมุม ๑๒
พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วยปาฎิหารย์ของพระธาตุ จึงทำให้มีผู้มารับเป็นเจ้าภาพบูรณะองค์เจดีย์
และศาลาเอนกประสงค์พร้อมกัน และเกิดโครงการ "นมัสการอิ่มบุญพระธาตุ ๙ จอม"
การได้บูชาพระธาตุ หรือพระบรมธาตุ จะได้รับอานิสงส์มาก อาจจะสำเร็จสมบูรณ์ได้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
จะเกิดอานิสงส์ต่อผู้ที่ได้สักการะบูชาโดยสุจริตใจ ผมจะบอกคาถาเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย
จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่จิต ให้ทำดังนี้ ให้หาขันใบหนึ่งตั้งไว้ที่ที่บูชาพระ
ผู้ที่จะเชิญเสด็จพระธาตุนั้น ต้องชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ให้นั่งตรงหน้าที่บูชาบนผ้าขาวผืนหนึ่ง
ทำเป็นผ้ารองนั่งแล้วให้บริกรรมคาถานี้
อิติปิโส วิเสสอิ อิเสเส พุทธนาเมอิ อิเมนา พุทธตัง โสอิ อิโสตัง พุทธปิติอิ
ที่ตำบลป่างิ้วนี้ ด้านติดกับคลองชลประทานเมื่อผมซื้อที่ดิน ได้พบฐานพระธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง
คนเก่า คนแก่บอกว่าชื่อ ม่วงคำ คือชื่อเมืองโบราณอยู่ตรงนี้ ผมเลยยกที่ดินประมาณ
๓ ไร่ ให้เป็นที่สาธารณะแล้วสร้างพระเจดีย์ บรรจุพระธาตุที่ผมมีอยู่ไว้บนยอดพระเจดีย์
ชื่อพระเจดีย์ม่วงคำ ดังปาฎิหารย์ ผมสร้างพระธาตุเจดีย์องค์นี้แล้วเสร็จ ภายในเวลาเพียง
๔๒ วัน สิ้นเงินค่าก่อสร้างไปประมาณ ๑.๓ แสนบาท ทั้งชาวบ้าน ทั้งพระวัดป่างิ้วยกมาช่วยกันสร้าง
ชาวบ้านไม่ได้มาแต่แรงงาน ยังเอาอาหารมาถวายพระที่มาช่วยสร้าง มากินกัน เรียกว่า
สนุกสนานแถมมีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งแกเป็นคนทรงมานั่งดู พอสร้างผิดแบบ
(ซึ่งผมไม่มีโอกาสรู้) จากเจดีย์โบราณมีวิญญาณพ่อปู่มาเข้าทรงทันทีบอกให้ว่า
ไม่ใช่แบบนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น จบงานสร้างเจดีย์แล้ว ทำพิธีแล้ว เลยต้องสร้างศาลพ่อปู่อีกหลัง
มีสตางค์เมื่อไรจะกลับไปพัฒนา ได้มอบให้ทางชาวบ้านไปแล้ว ไม่มีใครเข้าไปพัฒนา
อาจจะเป็นเพราะอยู่ระหว่างที่ดินที่ผมซื้อ กะจะสร้างหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาก็เป็นได้
พระธาตุอีก ๘ องค์ขอเล่าโดยย่อ รอผมไปไหว้วันเดียวจบเสียก่อน จะกลับมาเล่าใหม่
ซึ่งการไปไหว้พระธาตุ ๙ จอม นั้นคงจะต้องเริ่มต้นจากพระธาตุจอมผ่อนี่แหละ
จึงจะไปครบในวันเดียว หากมาจากเชียงใหม่มายังพระธาตุจอมผ่อ จะใช้เวลาขับรถประมาณชั่วโมงครึ่งมีถนนวิ่งบนเขา
เป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ไม่ไกลจากตำบลป่างิ้ว มีที่พักของ ซี แอนด์
ซี รีสอร์ท แม่ขจาน (Cabbages and Condoms) ที่พักดี อาหารพอใช้ ราคาย่อมเยา
แผนไหว้พระธาตุ ๙ จอม
ภายในวันเดียว เริ่มจากพระธาตุจอมผ่อ เวลาประมาณ ๐๗.๐๐
๑. พระธาตุจอมผ่อ
อำเภอเวียงป่าเป้า ไหว้แล้วแวะตลาดหัวเวียง จ่ายอาหารเช้า
๒. พระธาตุจอมแจ้ง
อำเภอแม่สรวย ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอ
๓. พระธาตุจอมหมอกแก้ว
อำเภอแม่ลาว กม.๑๔๔ ถนนสายเชียงใหม่ - เชียงราย
๔. พระธาตุจอมทอง
วัดดอยทอง หลังศาลากลางจังหวัดเชียงราย
๕. พระธาตุจอมสัก
ตำบลบ้านดู่ ซอย ๖ โรงเรียนบ้านขัวแคร่
๖. พระธาตุจอมจันทร์
อำเภอแม่จัน ถนนสายแม่จัน - เชียงแสน กม.๓
๗. พระธาตุจอมกิติ
ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ห่างจากตัวอำเภอ ๑.๕ กม.
๘. พระธาตุจอมจ้อ
อำเภอเทิง ก่อนถึงสะพานข้ามน้ำอิง อยู่ทางขวา
๙. พระธาตุจอมแว่
อำเภอพาน สามแยกวัดชัยมงคล
ต้องหาแผนที่เชียงรายมากางดูเส้นทาง แล้วลองวางแผนตามเส้นทางที่ผมบอก พอไหว้พระธาตุจอมแว่
ที่ อ.พาน แล้วก็จะเย็นพอดี จากพาน วิ่งรถไม่เกิน ๔๕ นาที ก็จะถึงอำเภอเมืองพะเยา
แผนนี้อาจจะนอนเชียงใหม่ ออกเดินทางสัก ๐๕.๐๐ เพื่อมาเริ่มต้นไหว้พระธาตุจอมผ่อ
แล้วไปนอนอีกคืนที่ อ.เมือง พะเยา กินอาหารค่ำริมกว๊านพะเยา หาร้านใหม่ไม่ได้ก็กินร้านเดิมที่ผมเคยแนะ
ร้านเวียงตาลที่ริมกว๊าน ยังอร่อยเหมือนเดิม อาหารเช้าก็ไปร้านเลือดหมู
ก๋วยจั๊บเยาวราชเยื้อง ธ.กรุงไทย
จบการตามไหว้พระธาตุ ๙ จอม ภายในวันเดียว หากไม่มัวแต่หลงทางรับรองว่า ทำสำเร็จ
ขาหมู จะไปกินอาหารร้านนี้ที่เปิดขายตั้งแต่เที่ยงคงจะใช้แผนไหว้พระธาตุ ๙
จอม คงจะทำไม่ได้ ต้องตอนเดินทางไปเชียงราย หรือเดินทางกลับ โดยไปหรือกลับมาเชียงใหม่
เพราะเส้นทางร้านขาหมูอยู่ประมาณ กม.๔๖ ถนนสายดอยเสก็ด (จ.เชียงใหม่) ไปเชียงราย
(ผ่านน้ำพุร้อนแม่ขจานและผ่าน อ.เวียงป่าเป้า) เมื่อก่อนนี้ทางเลี้ยวขวาเข้าไปยังร้านที่อยู่บนดอยนั้นอยู่ตรง
กม.๔๓ พอดี พอถนนพัฒนาใหม่ให้ดีขึ้น ระยะทางเพิ่มขึ้นไป ๓ กม. เป็นหลัก กม.๔๖
แต่ก็หาง่าย ไม่ว่าเวลาจะไป หรือจะมา ร้านเขาเชื่อคำแนะนำยกป้ายเอาไว้ล่วงหน้าก่อนถึงทางเลี้ยวสัก
๑ กม. เมื่อสัก ๑๐ ปีมาแล้ว ผมผ่านมาเห็นเขายกป้ายไว้ปากทาง ผมก็ขับรถเลี้ยวซ้าย
(วันนั้นมาจากเวียงป่าเป้า) ขึ้นไปสัก ๕๐๐ เมตร เป็นเส้นทางที่จะไปยัง อ.แจ้ห่ม
จ.ลำปาง ได้ แต่ผมยังไม่เคยลองขับไป เมื่อขึ้นไปถึงร้านที่บนยอดเนิน
เขาทำซุ้มอาหารไว้ให้นั่งหลายซุ้ม ไม่มีลูกค้าเลย และพอลองสั่งขาหมู เขาบอกว่าพึ่งกลับมาจากเยี่ยมบ้านที่ภูเก็ตมาคิดตั้งตัวที่นี่
"ขาหมู" มี แต่ทำไว้หลายวันแล้วแช่ตู้เย็นเอาไว้ หากจะชิมต้องคอยก่อน ตกลงจะนั่งคอยสักพักใหญ่
ๆ เขาก็เอาข้าวสวยร้อนโฉ่ คงจะพึ่งหุงเหมือนกัน เอาขาหมูจานโตน่ากินมากมาให้
แถมบอกว่าเคยเห็นหน้าผมทาง ที.วี. (คงจะสมัยที่ผมทำหน้าที่แม่ทัพภาคที่ ๔
ส่วนหน้า ปราบปรามพวกห้าร้อยทั้งหลายอยู่ภาคใต้ ได้ออกที.วี.บ่อย ตีฐานได้ทีหนึ่ง
สื่อก็ตามกันมาสัมภาษณ์) ถามว่าเคยอยู่ใต้ใช่ไหม เมื่อบอกว่าเคยอยู่ สักพักคุณแม่ครัวเอกก็ยกแกงเหลือง
และผักเหนาะ อาหารชาวใต้มาให้ บอกว่าแถม ขาหมูอร่อยมาก ขนาดเขาทำแช่ตู้เย็นเอาไว้
น้ำพะโล้เข้มข้น แทบจะไม่มีมันเลย เลือกขาหมูได้เก่งมาก หนังได้เคี้ยว มีคากิด้วย
อิ่มแล้วก็เลยบอกเขาว่าไหน ๆ ร้านชื่อขาหมูภูเก็ต ก็ทำให้แปลกกว่าคนอื่นเขาเสียเลย
ใครมาชิมก็แถมแกงเหลืองกับผักเขาด้วย เขาก็ปฏิบัติเรื่อยมา ไปครั้งหลัง ๆ
ลูกค้าก็แน่นเข้าทุกที เลยไม่ได้ไปมาสัก ๒ - ๓ ปี พอแวะเข้าไปวันนี้ตกใจ ร้านขยายออกไปมีซุ้มอาหารเพิ่มมากขึ้น
กลายเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง และคงเน้นที่ขาหมูและอาหารใต้ไม่ใช่มีแต่แกงเหลืองเท่านั้น
เลยได้สำรวจรายการอาหารมาดังนี้
เครื่องดื่ม น้ำตะไคร้ ส้มสายน้ำผึ้งคั้น หวานเย็นชื่นใจ
ของฝาก บอกไว้เสียเลยจากใต้ กะปิ ลูกหยียักษ์ ลูกชิด บ๊วยจีน มะเขือราชินีเชื่อม
อาหารพิเศษ ปลาบึก หอยขม
อาหารประจำ ขาหมู หมั่นโถว (เมื่อก่อนไม่มีหมั่นโถว)
ขาหมูจานเด็ด คือ ขาหมูทอด ผักสด หากินที่ไหนไม่ได้ที่ขาหมูทอดกรอบนอก นุ่มใน
มีความอร่อยทัดเทียมร้านอาหารแบบเยอรมันกันเลยทีเดียว แต่มาอร่อยอยู่บนยอดดอย
นอกจากนี้ยังมีอาหารประเภทไข่ ประเภททอด ประเภทยำ น้ำพริกกุ้งเสียบแบบภูเก็ต
อาหารปักษ์ใต้ "แกงคั่วกลิ้งหมูป่า" และขนมหวานคือเต้าทึงร้อนและเย็น
สั่งอาหารมาชิมดังนี้
หมูสะเต๊ะ ไม้โต เนื้อแน่น น้ำจิ้มเข้มข้น
ขาหมูทอด ผักสด จานนี้อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ราคาแสนถูกคือขาละ ๑๘๐ บาท
กินห้องอาหารโรงแรม หรือร้านขาหมูเยอรมัน ไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท ไม่มีมันติดเลย
ทอดเก่งมาก กรอบนอก นุ่มใน จนเย็นก็ยังไม่หายกรอบ จิ้มซีอิ๊วหวาน พริกตำตามด้วยต้นหอม
ร้านอาหารเยอรมันไม่มีสูตรนี้ กินไม่หมดห่อเอากลับมา แบบที่ผมทำได้อาหารเย็นอีกมื้อหนึ่ง
ผมกลับมาพักที่โรงแรม ตกค่ำวันนั้นเลยไม่ต้องออกไปหาอาหารมากิน งัดเอาขาหมูทอกมากินกับผลไม้ก็อิ่มแล้ว
ตามด้วยลูกหยียักษ์อีก ๒ - ๓ ลูก
เจ้าเก่า กินกันมานับสิบปีขาดไม่ได้คือ "แกงเหลืองปลากะพงขาว" ใส่เม็งมะพร้าว
เผ็ดตามแบบอาหารใต้ แต่เป็นเผ็ดอร่อย แกงเหลืองราดข้าวตามด้วยขาหมูทอด อร่อยอย่าบอกใครเชียว
ยังสั่งมาชิมอีก มีห่อหมกปลาทะเล น้ำพริกกุ้งเสียบใส่ถ้วยจัดวางมาตรงกลางล้อมด้วยผักสด
ใบกระถิน ผักกระเฉด ถั่วฝักยาว ขมิ้นขาว กระหล่ำปลี แครอท
อ่านแล้วเกิดหิวอาหารภูเก็ต ถ้าอยู่กรุงเทพ ฯ แนะให้รีบไปร้าน หากไปจากสี่แยกเกษตรศาสตร์จะอยู่ทางซ้ายมือ
หน้าสมาคม ฯ ก่อนถึงกรมป่าไม้ อาหารภูเก็ตเยี่ยมนัก ใครเถียงไม่ได้ว่าไม่ใช่อาหารภูเก็ต
เพราะเจ้าของร้านเป็นชาวภูเก็ตเหมือนขาหมูภูเก็ตนี่แหละ
ขนมหวาน เต้าทึงร้อนเย็น ใส่มาทั้งพุทราจีน ลำไย ลูกบัว ไม่หวานจัด ซดร้อน
ๆ ชื่นใจ ความเผ็ดของแกงเหลืองที่ติดลิ้นอยู่ ละลายหายวับไปทันที
...............................................................
|