พระแท่นศิลาอาสน์
จังหวัดอุตรดิตถ์ คือเมืองพระแท่นศิลาอาสน์ มีตำนานเมืองลับแลที่ลี้ลับมีคำขวัญว่า
"เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก"
แต่ผมคงจะเล่าไม่ได้หมด ขอเล่าเรื่องของพระแท่นศิลาอาสน์ให้ทราบ และคำว่าพระแท่นนี้จะมี
๒ แห่งในประเทศไทย คือ พระแท่นดงรัง
ที่จังหวัดกาญจนบุรี กับ พระแท่นศิลาอาสน์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดนี้เชื่อว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบกลองมโหระทึก
และพร้าสำริดโบราณ ในท้องที่เวียงเจ้าเงาะ ตำบลทุ่งยั้ง อ.ลับแล อยู่ในสมัยสุโขทัย
อุตรดิตถ์มีเมืองสำคัญที่กล่าวถึงไว้ในประวัติศาสตร์หลายเมือง เช่น เมืองฝาง
หรือเมืองสวางคบุรี ซึ่งเคยตั้งตัวเป็นอิสระเป็นก๊กหนึ่ง ของพระเจ้าฝาง ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่
๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสด็จมาปราบปราม
ชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดของอุตรดิตถ์อยู่ในท้องที่อำเภอพิชัย ซึ่งห่างจากตัวเมืองในปัจจุบันประมาณ
๔๐ กม. เมืองพิชัย
มีประวัติที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มาจนกระทั่งยุคของกรุงศรีอยุธยา
เมืองพิชัยเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์เป็นเพียงตำบลชื่อ
"ตำบลบางโพธิ์ ท่าอิฐ" ขึ้นกับเมืองพิชัย ตำบลนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน
จึงเป็นท่าเรือค้าขายที่สำคัญ ทำให้บางโพธิ์ท่าอิฐเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เจริญเสียยิ่งกว่าตัวเมืองพิชัย
ดังนั้นในสมัยของรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองแต่ยังขึ้นกับเมืองพิชัย
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อเมืองว่า อุตรดิตถ์ ซึ่งมีความหมายว่า
ท่าน้ำแห่งทิศเหนือ ต่อมาเมืองอุตรดิตถ์เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เจริญเสียยิ่งกว่าเมืองพิชัย
เพราะคนเมืองพิชัยต่างก็อพยพมาอยู่ที่เมืองอุตรดิตถ์กันมากขึ้น รัชกาลที่
๕ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองพิชัยมาอยู่เสียที่เมืองอุตรดิตถ์ แล้วเรียกชื่อว่า
เมืองพิชัย แต่เกิดความสับสนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองพิชัยที่บางโพธิ์ท่าอิฐ
เป็นเมืองอุตรดิตถ์ตามเดิม ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการปกครอง
จึงยกเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัด ส่วนเมืองพิชัยดั้งเดิมนั้นเป็นอำเภอพิชัย
การเดินทาง
ไปอุตรดิตถ์ รวมทั้งการไปวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดสำคัญของเมืองไปได้หลายเส้นทางคือ
ทางรถไฟ
มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง วันละหลายขบวน ถามเวลา ๐๒ ๒๒๓ ๗๐๑๐
ทางรถยนต์
ไปได้หลายเส้นทาง ระยะทางจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๔๗๗ กม.
เส้นทางที่ ๑
กรุงเทพ ฯ ไปตามถนนพหลโยธิน แยกซ้ายเข้าถนนเอเซีย ไปผ่านอยุธยา สิงห์บุรี
นครสวรรค์ (อย่าออกเลี่ยงเมือง) แล้วแยกขวาไปเข้าสาย ๑๑๗ มายังพิษณุโลก
ก่อนถึงพิษณุโลกจะพบทางเลี่ยงเมือง มีป้ายบอกให้เลี้ยวขวาวิ่งไปจนบรรจบกับถนนสายพิษณุโลก
- หล่มสัก ที่สี่แยก
"อินโดจีน"
ตรงสี่แยกนี้กรมทางหลวงได้บอกระยะทางไปถึงต่างประเทศ เช่น ป้ายที่ชี้ไปคุนหมิง
๑,๔๖๐ กม. แยกขวาไปดานัง
๑,๐๑๐ กม. แยกซ้ายไปร่างกุ้ง ๖๗๐
กม. เห็นจะเป็นการบอกเส้นทาง เพื่อความครึกครื้น เพราะทุกเมืองที่บอกไว้ผมไปมาหมดแล้ว
ด้วยความยากลำบาก เช่น ไปคุนหมิงทางเครื่องบิน แล้วนั่งรถมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง
จึงจะมาถึงต้าลี้ จากต้าลี้เขาว่าถนนยิ่งแย่กว่าจากคุนหมิง กว่าจะทะลุมาถึงเมืองไทยได้สงสัยว่า
รถจะพังเสียก่อนจะมีทางไปได้แน่นอน ส่วนทางดีตลอดด้วยคือ ไปกัวลาลัมเปอร์
จากสี่แยกอินโดจีนไปอีก
๑๐๑ กม. ถนนเป็นสี่เลนหมดแล้ว ก็ถึงอุตรดิตถ์
เส้นทางที่ ๒
กรุงเทพ ฯ สิงห์บุรี เลยไปอีกนิดแยกขวาที่อินทร์บุรี ไปผ่านตากฟ้า สากเหล็ก
จนบรรจบกับถนนสายพิษณุโลก - หล่มสัก ก็เลี้ยวซ้ายมาสัก ๑๔ กม.
แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกอินโดจีน เส้นนี้ถนนจากอินทร์บุรีมายังสาย พิษณุโลก
- หล่มสัก ยังไม่ได้ขยายเป็นถนนสี่เลน
อุตรดิตถ์ มีอุทยานแห่งชาติถึง ๓ แห่งคือ
อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เป็นทิวเขาที่สลับซับซ้อนยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์
ที่เขื่อนจะมีเส้นทางเดิน เพื่อศึกษาธรรมชาติ มีที่พักดี อาหารดี ทะเลสาบที่อยู่เหนือเขื่อนนั้น
ตั้งชื่อไว้ไพเราะว่า ทะเลสาบสุริยัน
จันทรา ติดต่อที่พักโทร ๐๕๕ ๔๑๒
๖๓๙ ต่อ ๒๕๐๑,๒๕๐๕ พักแพ โทร ๐๑ ๙๗๑ ๒๕๒๗ ผมเคยไปพักมาแล้วแจ่มแจ๋วจริง
ๆ
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ
จังหวัดพิษณุโลก ยอดดอยภูสอยดาว สูง ๒,๑๐๒ เมตร มีน้ำตกภูสอยดาว
ลานสน น้ำตกสายทิพย์ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว
โทร ๐๒ ๕๗๙ ๗๒๒๓ , ๐๕๕ ๔๑๙ ๒๓๔
อุทยานแห่งชาติคลองตรอน
อยู่หมู่ ๓ ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด อุตรดิตถ์
ก่อนจะไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระธาตุ ผมขอพาไปเมืองลับแลเสียก่อน
เพราะชื่อเสียงโด่งดังบอกว่า ใครหลงเข้าไปแล่วจะกลับออกมาไม่ได้ หรือชาวลับแลหลุดออกมานอกเมือง
ก็จะมาสู่โลกปัจจุบันกลับเข้าไปไม่ได้อีก เป็นตำนานที่เล่าขานกันมา
เมืองลับแลตามคำเล่าขานปัจจุบันคือ อำเภอลับแล ซึ่งความจริงแล้วอำเภอนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมือง
แต่ระหว่างเขามีพื้นที่เป็นที่เนินสูงต่ำ สลับกันไปทุกด้าน เมื่อยังมีแต่
ป่าเขา ทุ่งนาการเดินทางในสมัยโบราณ อาจจะหลงเอาง่าย ๆ แต่ปัจจุบันหากไปตามถนนที่มาจากพิษณุโลก
พอเลยแยกแรกที่เข้าตัวเมืองไปแล้ว วิ่งมาจนข้ามแม่น้ำน่าน มาถึงสี่แยกชื่อ
ภูดู่ลาว (ที่เลี้ยวขวาจะไปยังเขื่อนสิริกิติ์) ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายไป
ระยะทางก็ดูจากหัวเสาหลัก กม. ข้างทางจนผ่านสถานีรถไฟศิลาอาสน์ แล้วเลี้ยวขวาอีกที
ก็จะผ่านป้ายใหญ่โตคล่อมถนนเลยทีเดียวว่า "เมืองลับแล" วิ่งไปตามถนนสายนี้จนไปถึงสามแยก
ตรงสามแยกคือ อนุสาวรีย์ พระศรีพนมมาศ นายอำเภอคนแรกของลับแล
ตรงสามแยกอนุสาวรีย์ พระศรีพนมนี้ หากเลี้ยวขวาไปตามถนนชื่อเขาน้ำตก ไปยังน้ำตกแม่พูล
ซึ่งก่อนถึงน้ำตกจะผ่านสวนสาธารณะม่อนจำศีล ผ่านทางแยกที่จะเลี้ยวไปยังอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเมือง
ลับแลคนแรก ที่น้ำตกจะมีน้ำตกตลอดปี มีร้านอาหารเป็นแถวยาวอยู่เชิงเขาหลายร้าน
แต่มองดูอาหารจะหนักไปทางส้มตำ ไก่ย่าง คอหมูย่าง ไม่ได้แวะชิมเพราะชิมมาแล้ว
ร้านที่แวะชิมได้เวลามื้อกลางวันพอดีและตั้งใจมาชิม เคยชิมกันมา อยู่ตรงข้ามกับซอย
๕
ถนนเขาน้ำตก
เวลามาจากอนุสาวรีย์จะอยู่ทางซ้ายมือ ร้านนี้ตอนนี้ทำท่าจะเป็นร้านประเภทโชห่วยไปแล้ว
มีของขายมากมายหลายอย่าง ร้านขนาด ๒ ห้อง แต่สะอาดมาก โดยเฉพาะห้องสุขาต้องยกนิ้วให้
เมื่อก่อนนี้มีอาหารตามสั่ง ตอนนี้ไม่มี โกยซีหมี่ผัดแบบมีน้ำลวกเส้นแล้วนุ่มเหนียว
น้ำผัดแยะ ซดน้ำยังได้ ยกมาเสริฟร้อนควันขึ้นฉุย อย่าปรุงก่อนชิมเป็นอันขาด
ผัดเส้นโกยซีหมี่ใส่ต้นหอม หน่อไม้ หมู ยกมาตั้งพร้อมจิ๊กโฉ่ถ้วยน้อย เติมจิ๊กโฉ่พอหอม
อย่าถึงขั้นเติมเป็นเครื่องปรุง รับรองในความอร่อย นอกจากผัดโกยซีหมี่ แล้วยังมีก๋วยเตี๋ยวเป็ด
ที่เนื้อเป็ดเปื่อยนุ่ม น้ำซุปหอม ของขบเคี้ยว ของฝากเขาก็มีขาย บอกแล้วเริ่มเข้าลักษณะร้านโชห่วย
ขายสากกระเบือยันเรือรบ ว่างั้นเถอะ มีไส้เมี่ยง กล้วยกวน ทุเรียนกวน ข้าวแคบ
ไม้กวาดขนาดใช้งาน และไม้กวาดน้อยน่ารักเป็นของฝากได้ เอาไว้กวาดบ้านตุ๊กตา
จากสามแยกอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ หากเราเลี้ยวซ้ายจะกลับเข้าเมืองอุตรดิตถ์
ซึ่งหากจะไม่คิดมากินกลางวันที่ลับแลโภชนา หรือมาเที่ยวลับแลแล้ว เมื่อมาตามถนนจากพิษณุโลก
ก่อนที่จะมาข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ก็จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองอุตรดิตถ์ได้หลายเส้นทาง
แต่ผมจะไปลับแล แล้วมายังพระแท่นศิลาอาสน์ก่อน เที่ยวก่อนแล้วจึงจะเข้าที่พัก
เส้นทางจะวนมาเป็นวงรอบพอดี เส้นทางที่เลี้ยวซ้ายหน้าอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศนี่แหละ
ตรงเรื่อยมาจะชนกับกำแพงวัดพระแท่นศิลาอาสน์
บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดพระแท่น ฯ
อยู่ห่างจากสามแยกอนุสาวรีย์ประมาณ ๖ กม.โดยจะผ่านวัดเสาหินมาก่อน
วัดเสาหินนี้จะมีซุ้มประตูทางเข้างดงามมาก ต่อมาจะมาผ่านกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๒๐ ตรงต่อมาอีกจึงจะชนกับสามแยก
และกำแพงวัดพระแท่นอยู่ตรงสามแยกพอดี
เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกนี้ก็จะเข้าเมือง ตรงก็เข้าวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล
อาณาเขตวัดอยู่ติดกันเลยทีเดียว เมื่อจอดรถที่ลานวัด ทางซ้ายมือจะเป็นสวนสมุนไพรหน้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของวัด
อุทยานการศึกษา ตรงหน้าคือวิหารพระแท่น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์
พระแท่นนี้สร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘ ฟุต ยาว
๙ ฟุต ๘ นิ้ว สูง ๓ ฟุต มีมณฑปครอบอยู่เบื้องบน ที่ฐานของพระแท่นโดยรอบ
ประดับด้วยลายกลีบบัว และยังมีธรรมมาสน์สมัยอยุธยาอีกด้วย ด้านธรรมาสน์สลักเป็นลายกระจังใบเทศ
๓ ชั้น ลงรักปิดทอง อ่อนช้อย
งดงามมาก
ด้านหลังของพระแท่นตั้งพระพุทธรูปเอาไว้หลายองค์สำหรับยกเสี่ยงทาย ยกอย่างไรมีเขียนบอกเอาไว้คือหากอธิษฐานแล้วยกขึ้น
ที่อธิษฐานขอก็จะประสบความสำเร็จ ควรจะอธิษฐานแล้วยกสัก ๒ - ๓ ครั้ง เอากันให้แน่ใจว่าจะประทานพรหรือไม่
และในวิหารยังมีวัตถุมงคลให้เช่าบูชาด้วย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคือ
"หลวงพ่อธรรมจักร" ประดิษฐานอยู่ในวิหารติดกันกับวิหารพระแท่น ฯ
เล่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันไฟไหม้ได้ ผู้คนมักจะนำเอาผ้าขาวม้ากับผ้าสีแดงมาประทับรอยพระบาทเอาไว้ไปบูชาที่บ้าน
เพื่อป้องกันไฟไหม้ และจะให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นต้องนำมาประทับตอนมีงานประจำปี
ซึ่งงานประจำปีจะจัดร่วมกับวัดพระยืน ฯ ที่มีอาณาเขตวัดติดต่อกัน และพร้อมวัดพระธาตุที่อยู่ไม่ไกลกัน
เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งเพื่อบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ณ แท่นศิลาแลงนี้
วัดพระแท่น ฯ นี้สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงสุโขทัย คู่กันมากับเมืองทุ่งยั้ง
แต่มาดังเลื่อมใสกันในสมัยอยุธยา วัดพระแท่น ฯ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดที่ศรัทธาสร้างขึ้นตั้งแต่
พ.ศ.๑๙๒๐ (ประวัติจะขัดกันที่สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะกรุงศรีอยุธยาตั้งเมื่อ
พ.ศ.๑๘๙๓) เมื่อสร้างวัดนิยมเรียกว่าวัดพระแท่น ตามชื่อของหมู่บ้าน ซึ่งอาจจะสร้างมาก่อนสมัยสุโขทัย
แล้วกลายเป็นวัดร้างไป ศรัทธามาร่วมใจกันบูรณะ หรือสร้างใหม่ในปี พ.ศ.๑๙๒๐
ก็เป็นได้เพราะมีแต่การสันนิษฐาน ไม่มีประวัติที่แน่นอน
จากหน้าวิหารพระแท่น หากมาทางขวา จะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์นี้ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นโดยพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชปรินายก
(ไม่ได้บอกว่าองค์ไหน) เมื่อครั้งเสด็จมายังวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ภายในพิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาของชาวบ้าน
เปิดให้ประชาชนเข้าชม และศึกษาหาความรู้ได้ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง สำหรับชั้นล่างนั้นจะจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของชาวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณ
รวมไปถึงงานหัตถกรรมจักสาน เช่น เครื่องหีบอ้อยเกวียน เรือมาด เครื่องจับสัตว์น้ำ
ส่วนชั้นบนจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในครัว โบราณวัตถุที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์
และที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น ธรรมาบุษบก สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธรูปไม้สักที่เก่าแก่ สมุดข่อย เครื่องสังคโลก สิ่งของที่นำมาแสดงส่วนหนึ่งได้มาจากที่ชาวบ้านได้นำมามอบให้แก่วัด
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
เป็นวัดโบราณเก่าแก่คู่กันมากับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อยู่บนเนินเขาลูกเดียวกัน
แต่คนละดอย สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๒๐ เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับยืนบนเนินเขาแห่งนี้
เพื่อทอดพระเนตรไปยังทิศต่าง ๆ และมีรอยพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาทยุคลนี้มีพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด สมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง
๕๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเกศ ๖๖ นิ้ว เรียกท่านว่า "หลวงพ่อพุทธรังสี"
พระเกศเป็นเปลวเพลิง ประทับบนฐานรูปทรงเทวดา เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑป
มีปูนพอกหุ้มไว้ทั้งองค์ ต่อมาได้กระเทาะปูนออก และนำไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถที่สร้างใหม่
ก่อนจะไปวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง รู้จักเมืองทุ่งยั้งเสียก่อน
เมืองนี้ได้ชื่อมาจากตำนานที่เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาประทับยังบริเวณนี้
และภูมิประเทศแถบนี้ก็เปลี่ยนจากที่ราบมาเป็นที่สูงของภูเขา อีกชื่อหนึ่งของเมืองทุ่งยั้งที่พบในพงศาวดารเหนือ
ว่า "เมืองกัมโพช"
ปัจจุบันเมืองทุ่งยั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำน่าน ๕ กม. ร่องรอยของคูเมืองและกำแพงเมืองยังปรากฏให้เห็น
และยังมีโบราณสถานเหลืออยู่ว่าเป็นเมืองสมัยเดียวกับสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยา
เมืองทุ่งยั้งจึงมีชื่ออันไพเราะว่า "เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง"
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
อยู่ติดกับกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวง ๑๐๒ ประมาณ
๓ กม. แต่เดิมมีชื่อว่าวัดมหาธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเล่าสืบต่อกันมาว่า
มีทรัพย์สินมีค่าของคนโบราณฝังเอาไว้มากมาย แต่ใครจะเอาไปครอบครองไม่ได้
องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฯ ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนนกัน ๓ ชั้น
ฐานชั้นล่างมีเจดีย์จำลองประดับอยู่ที่มุมทั้งสี่ ทรงเดิมเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แต่หักพังไปเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหว
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ หลวงพ่อแก้วจึงร่วมกับชาวบ้านได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และภายในพระวิหารของวัดเป็นภาพที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ
ภาพค่อนข้างจะลบเลือนควรแก่การบูรณะ
หากเราเริ่มต้นจากวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อาณาเขตวัดที่ติดต่อกันคือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล
หากตรงต่อไปไม่กี่ร้อยเมตรทางขวามือคือวัดพระบรมธาตุ ๓ วัดนี้จะมีงานเทศกาลประจำปีพร้อมกัน
งานจะจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๘ วัน ๘ คืน
แหล่งท่องเที่ยวในเขต อ.ลับแล ยังมีอีกหลายแห่งเช่น เวียงเจ้าเงาะ
วัดดอนสัก วัดเจดีย์คีรีวิหาร จากวัดพระบรมธาตุตรงมาจะเข้าตัวอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
ซึ่งแยกแทบจะไม่ออก นับตั้งแต่วัดพระแท่น ฯ เป็นต้นมา เพราะอยู่ในเขตชุมชนตลอดสองฟากทาง
มาจังหวัดนี้ผมมักจะพักเป็นประจำที่โรงแรม มาจากวัดพระบรมธาตุโรงแรมจะอยู่ทางซ้ายมือ
ใหญ่โต สะดวก สบาย ราคาไม่แพง อาหารดี มีห้องอาหารยามค่ำ แบ่งเป็นห้องเรือนขวัญ
ส่วนข้างนอกจะมีเฉพาะตอนเย็นไปยันดึก ในสวนหน้าโรงแรมที่ร่มรื่นชื่อThe Terrace
ห้องอาหารทั้ง ๒ ห้อง จะมีวงดนตรีเล็ก ๆ บรรเลงให้ฟัง ไพเราะดี ชาวเมือง นักท่องเที่ยวดูจะพอใจกับการนั่งกินอาหาร
ฟังเพลงกันที่ลานเทอเรซ รวมทั้งคณะของผมด้วยก็เลือกนั่งโต๊ะในซุ้มไม้ อากาศของปลายฝนต้นหนาวเย็นสบาย
เดินไปดูที่แผงอาหารสด ส่วนมากคืออาหารทะเล มีซุ้มทะเลเผา เขาเรียกอย่างนี้แต่ดูแล้วปลาน้ำจืดก็มี
เอาเป็นว่าสั่งแต่ประเภทเผาเป็นหลัก
ปลาหมอทะเลเผา ปลาตัวโตมาก ลอกเอาหนังออกเห็นเนื้อขาวน่ากิน น้ำจิ้มซีฟู๊ด
เนื้อย่าง จิ้มน้ำแจ่วรสเจ็บ ตามด้วยหอยแครงลวก
กระบังลมหมู (ส่วนใต้ซี่โครง) ย่างจิ้มแจ่ว หากินยาก เคี้ยวสนุกดี
ปลาหมึกทอดกระเทียมพริกไทย ส่งกลิ่นหอมมาแต่ไกล
กุ้งเผา แต่ไม่ใช่กุ้งแม่น้ำ กก.ละ ๔๐๐ บาท แต่เนื้อก็แน่นเหนียว
ปลาหมึกผัดฉ่า ใส่ข้าวโพดอ่อน ถั่วลันเตา จานนี้ต้องกินกับข้าว
ต้มยำปลากดคัง รสจัด หวานไปนิด ใส่ข่ามาก
ยามเช้า มีอาหารเช้าแถมให้รวมอยู่กับค่าห้องพัก แต่หากอยากกินข้าวมันไก่อร่อย
ร้านอยู่ติดกับทางเข้าโรงแรมด้านซ้าย ข้าวมันไก่ศรีวัยและเป็ดพะโล้ อร่อยมากทั้งไก่และเป็ด
ก่อนเดินทางต่อไปยังพิษณุโลก ยังมีเวลาเที่ยวต่อในตอนเช้า เที่ยวเฉพาะในตัวเมืองซึ่งสถานที่ที่ควรไป
โดยออกจากโรงแรมให้เลี้ยวซ้าย ข้ามทางรถไฟแล้วจะผ่าน
อนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕
สร้างไว้ริมแม่น้ำน่าน ณ ลาน ริมแม่น้ำที่เคยเป็นท่าเรือเมื่อรัชกาลที่ ๕
เสด็จประพาสต้น "เมืองท่าเหนือ" เมื่อ ร.ศ.๑๒๐ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งตรงนี้
หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน
พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าถนน เดิมชื่อวัดวังเตาหม้อ
ปางมารวิชัย วัดอยู่ใกล้ ๆ กับราชานุสาวรีย์
วัดพระฝางสวางคบุรี
มุนีนาถ ฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๐ กม.เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วัดนี้มีองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีรอยพระพุทธบาท นอกจากนี้ยังมีวัดธรรมาธิปไตย
วัดกลางธรรมสาคร วัดดอยแก้ว ที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง และที่ต้องไปให้ได้คือ
หน้าศาลากลาง ซึ่งมีอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ยอดนักรบและยอดกตัญญูของพระเจ้าตากสินมหาราช
อนุสาวรีย์อยู่หน้าศาลากลาง ทางซ้ายเป็นอาคารดาบน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บ่อเหล็กน้ำพี้อยู่ที่อำเภอทองแสนขัน เป็นบ่อเหล็กมาแต่โบราณ
อนุสาวรีย์พระยาพิชัย
ที่อำเภอทองแสนขัน ดาบที่หักเป็นดาบที่ถือด้วยมือซ้าย
ส่วนอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักที่หน้าศาลากลาง ดาบที่หักคือดาบที่ถือด้วยมือขวา
เขียนจบแล้ว ผมไปตลาดบองมาเช่อีก (ในกรุงเทพ ฯ) เพราะเป็นวันเสาร์จะไปซื้อหรุ่ม
ร้านนี้หากหันหน้าเข้าตลาดจะอยู่ช่องซ้ายสุด มีตู้โทรศัพท์สาธารณะแขวนอยู่ข้างร้าน
๒ ตู้ ส่วนตลาดบองมาเช่ ไปตามถนนวิภาวดี หากไปจากสวนจตุจักร ไปตามถนนคู่ขนาน
ไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่ป้ายบอกว่า ไปวัดเสมียนนารี ตลาดนี้ผมชอบไปของกินมาก
ราคาไม่แพง สะอาดมาก ยกให้คลีน ฟู๊ด กู๊ดเทสท์ ทั้งตลาดได้เลยและเจริญจนเริ่มขยายออกไปแล้ว
ปรากฎว่าวันนี้ร้านไม่มีหรุ่มขาย ปกติจะมีขายในวันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นอาหารโบราณ
แต่วันนี้เขามี "ทาโก้"ขนมเบื้องแม็กซิกัน ผมชิมครั้งแรกเมื่อผมเป็นนายกสมาคมปัญจักสิลัต
เป็นคนก่อตั้งสมาคมและนายก ฯ คนแรก นำนักกีฬาไปแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓
ที่อินโดนีเซีย (ได้เหรียญทองมาทุกครั้ง) ได้รับเชิญไปกินอาหารที่บ้าน ทาโก้เป็นแป้งกรอบ
ข้างในจะมีใส้ผักเช่นมะเขือเทศ กล่ำปลี โรยด้วยเนยแข็ง หมูสับผัด และสำคัญที่สุดคือน้ำมะเขือเทศที่จะราดลงไป
ต้องยอดฝีมือปรุงจึงจะได้น้ำปรุงอร่อย เอามาบอกไว้ว่าลองไปชิมดู ส่วนพวกพายต่าง
ๆ ช่อม่วงอร่อยเหมือนเดิม ได้ทาโก้แล้วก็ซื้อถั่วกรอบอินโดนีเซีย ขวดก็สวย
ส่วนถั่วนั้นกรอบอร่อยมากและหอมด้วยสมุนไพร อินโดนีเซียแท้เพราะคนทำอยู่จาร์การ์ต้า
มาตั้ง ๑๐ ปี
ไปทางปีกขวาของตลาดอาหารคาวเป็นส่วนใหญ่ มีโต๊ะส่วนกลางให้นั่งอยู่ริมสระน้ำ
เมื่อซื้ออาหารจากร้านต่าง ๆ แล้วต้องช่วยตัวเอง ไปยังที่โต๊ะอาหาร สถานที่ดีเยี่ยม
สะอาดสอ้าน จะไปชิมข้าวเฉโป ปรากฎว่ายังไม่ถึงเวลาขาย เพราะผมไปเช้าไปหน่อย
แต่ตรงกันข้ามตรงหัวมุมของย่านอาหารทางซ้ายสุด มีร้านไก่ทอดเบตง กำลังทอดร้อน
ๆ เลยซื้อน่องไก่ทอดกลับมา สดุดตา "ข้าวเต้าคั้วป๋าเปรม" และยังมีข้าวยำปักษ์ใต้
ข้าวหมกไก่ทอด ข้าวเต้าคั้วซื้อกลับมาอร่อยมากยังกับกินที่สงขลา ร้านที่ป๋าชอบนั่นแหละ
ยังมีอีกร้านอร่อยแถวเดียวกันนี้แหละทางขวาสุดของย่านอาหารด้านติดโต๊ะนั่งกินอาหารเลยทีเดียวคือข้าวห่อใบบัว
มี ๔ หน้าคือ ซีฟู๊ด หมู ไก่ และเผือก ทดลองซื้อหน้าหมูกลับมาโรยหมูหยองด้วย
หอมใบบัว อร่อยเหมือนที่ซื้อจากตลาดร้อยปีที่ อ.สามชุก รสใกล้เคียงกัน และยังมีของกินอีกมากมาย
มอง ๆ เห็นออส่วนก็น่ากินอีกดูแล้วอยากกินไปหมด วันหลังผมจะไปใหม่แล้วจะไปชิมของใหม่
ๆ มาเล่าให้ฟัง เกือบลืมทางปีกด้านตะวันตกมีร้านขายต้นไม้และเครื่องปลูกต้นไม้ด้วย
จอดรถสะดวกมากที่จอดแยะ จอดฟรี หากไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ถ้าเกินคิดชั่วโมงละสิบบาทเท่านั้นเอง
ขนมที่ซื้อกลับมาก็ขนมถั่วแปป ร้านแก้วจีบที่ทำไม่เหมือนใคร อ่อนนุ่ม หอมหวาน
ร้านอยู่ถัดไปอีกซอย
.................................................
|