เที่ยววัดเชียงใหม่
ผมไปเชียงใหม่คราวนี้ ไปตอนที่เขากำลังมีงานราชพฤกษ์ แต่เอามาเขียนเล่าไม่ทัน
เพราะกว่าจะเขียนถึงท่านผู้อ่านงานเขาก็เลิกไปแล้ว ก็ได้แต่ขอแย๊บเอาไว้ว่า
พื้นที่ ๔๗๐ ไร่ ที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติ ฯ ราชพฤกษ์ ๒๕๔๙
ที่จังหวัดเชียงใหม่ในคราวนี้ เขาคงไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นป่าอยู่เชิงดอยสุเทพ
คงจะจัดให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชมหาราชต่อไป
เพราะยิ่งใหญ่งดงาม จัดระเบียบได้ดี การบริการ อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทำได้ดี
ไม่ว่าจะเป็นห้องสุขาที่สากล และสะอาดมากมีทั่วไป มีพอเพียง หรือร้านจำหน่ายอาหาร
ของฝาก ต่าง ๆ มีมากพอไม่ต้องแย่งกัน ราคาไม่แพง ถ้าเป็นของฝาก ของที่ระลึกราคาถูกกว่าซื้อข้างนอกด้วยซ้ำไป
ส่วนอาหารที่ว่าแพง ผมว่าไม่แพง ข้างราดหน้ากระเพราขายจานละ ๓๕ บาท
เป็นราคามาตรฐานของศูนย์อาหารที่นี่ บางคนว่าราคาอาหารที่ครัวการบินไทย มาเปิดขายชุดละ
๑๓๐ บาท บอกว่าแพงไป แต่ใช้คำพูดว่าข้าวผัดจานละ ๑๓๐ บาท ฟังอย่างนี้ก็ต้องทำแพง
แต่หากดูถาดอาหารที่เขาจัดแบบเสริฟบนเครื่องบิน และรสของอาหารแล้วก็ไม่แพง
เพราะมีข้าวผัด หรือข้าวอื่น ๆ จานโต สาว ๆ กิน ๒ คนไม่ไหว แถมด้วยไข่ดาว
น้ำปลาพริก และสลัดอีกจาน ส่วนพรรณไม้นั้นก็มากมาย ที่หาชมที่อื่นได้ยากก็คือ
"ไม้แปลก หายาก และพันธุ์ใหม่" เช่น รองเท้านารีฝาหอย เจ้าแตรวง วนิลา กระโถนฤาษี
โมกราชินี ศรีจันทรา รองเท้านารี อินทนนท์ บัวทอง มหาพรหม พิมพ์ใจ สะเภาลม
ย่านดาโอ๊ะ เทียนนกแก้ว มหาพรหมราชินี กุหลาบขาวเชียงดาว รองเท้านารีดอยตุง
ฯลฯ ผมจะยกเอาคำที่พรรณนามาให้อ่านสักบท
ฟาแลนฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ |
บวรล้ำ |
ม่วงภูคำ,จำปีสิรินธร |
บวรค่า |
เทียนนกแก้ว,บัวแก้ว |
ผ่องโสภา |
วนิลา, งิ้วด่าง |
อยู่กลางไพร |
ผมจะคอยติดตามว่าต่อไป พื้นที่จัดมหกรรมพืชสวนโลกคราวนี้ ต่อไปจะเป็นสวนที่ถาวรอะไร
จะรับไปชมใหม่แล้วคราวนี้กลับมาเล่าให้ทราบอย่างละเอียดได้ เพราะจัดเป็นการถาวรแล้ว
ได้เล่าไว้แล้วว่า เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ ไปจนถึงเวียงป่าเป้า ไปคราวนี้ผมไม่ได้ไปเส้นตรงตามถนนพหลโยธิน
คงไปแค่สระบุรี แล้วก็เลี้ยวเข้าสาย ๒๑ ไปเพชรบูรณ์ ขึ้นเขาค้อ เพื่อไปกราบพระบรมธาตุกาญจนาภิเษก
ที่ผมผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ และกราบสองมหาราชในศาล ๒ มหาราช ที่ห่างจากพระบรมธาตุสัก
๑๐๐ เมตร จากนั้นลงไปนอน และกินอาหารเย็นที่เขาค้อ รุ่งขึ้นไปต่อยังบ่อเหล็กน้ำพี้
อุตรดิตถ์ แล้วไปผ่านพระธาตุสุโทนคีรี ที่เด่นชัยไปลำปางมาตั้งฐานประจำที่เชียงใหม่
นอนที่ชมดอยคอนโดเทล ที่อยู่ตรงข้ามโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ
วัดแรกที่ไปเที่ยวคราวนี้ ไม่ได้ตั้งใจไป แต่อดีตผู้บังคับบัญชาที่เป็นชาวเชียงใหม่
ถามว่าผมเคยไป "วัดช่างฆ้อง" แล้วหรือยัง ตอบว่าไม่เคยไป วัดช่างฆ้องนั้นเป็นวัดเก่าแก่
อยู่ริมถนนกำแพงดิน ถนนสายนี้สมัยเมื่อ ๔๐ ปี ที่แล้ว รับรองว่าหนุ่ม ๆ รู้จักกันแทบทั้งนั้น
เพราะหากเข้าไปตามช่องกำแพงเมืองเก่าที่เรียกว่า กำแพงดิน ทุกช่องที่เข้าไปก็จะไปเจอเอาซ่อง
หรือบ้านโคมเขียวสมัยโบราณ
วัดช่างฆ้อง
ถ้าจะบอกเส้นทางไปฉบับย่อ ก็บอกว่าหากมาจากสถานีรถไฟ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว
จะมาผ่านสี่แยกวัดอุปคุต
ตรงมาจะมีทางแยกซ้าย แต่ปากซอยแคบมองหายาก เลี้ยวซ้ายไปสักหน่อยทางเข้าวัดจะอยู่ทางขวามือ
หากจะบอกกันแบบอ้อมโลกคือ ลงสะพานแล้วไปตามถนนท่าเหวิ่ง จนถึงประตูท่าแพ
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคชสาร วิ่งมาสัก ๕๐ เมตร (ผ่านร้านอรุณไร อาหารพื้นเมืองเก่าแก่นานร่วมห้าสิบปี)
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลอยเคราะห์ วิ่งมาประมาณ ๑ กม. ถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย เข้าถนนกำแพงดิน
วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ
ประวัติ ไม่ทราบว่าสร้างในยุคใด เมื่อพญามังรายเสด็จไปพม่า พระองค์ได้นำกลุ่มช่างฆ้องเอามาไว้ที่เชียงแสน
และตั้งถิ่นฐานอยู่นานกว่า ๔๐๐ ปี เมื่อพระเจ้ากาวิละ ไปตีได้เชียงแสน จึงอพยพกลุ่มช่างฆ้องมาไว้ที่วัดศรีพูนโต
ซึ่งเป็นวัดร้าง แล้วภายหลังมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดช่างฆ้อง
หอไตร เข้าประตูวัดไปแล้วจะอยู่ทางซ้ายมือ
เหมือนบ้านสองชั้น ตกแต่งวิจิตรงดงาม ด้วยลวดลายปูนปั้นและไม้ฉลุ ที่สำคัญคือ
ไม่ว่าภาพจิตรกรรมที่ฝาชั้นบน หรือลวดลายปูนปั้นจะเป็นภาพผสมผสานของกลุ่มชนชาวจีน
ชาวพม่า และศิลปะล้านนาผสมกัน เป็นภาพเขียนนิทานพื้นบ้านภาคเหนือ สวยแปลกตา
ภาพวาดไว้เฉพาะด้านนอก ด้านในไม่มีภาพ อุโบสถไม่โต ไม่เก่าแก่เท่าหอไตร แต่ก็สวยงามควรแก่การชม
และเข้าไปนมัสการพระประธาน
วัดพันเตา
วัดนี้มีอายุกว่า ๑๕๐ ปี มีเรื่องเล่าว่าใช้เป็นที่ตั้งเตาหลอมในการหล่อพระอัฎฐารส
ในพระวิหารวัดเจดีย์หลวง จึงได้ชื่อว่า "วัดพันเตา" ต่อมาในราว พ.ศ.๒๓๔๘
"สวธุคัมภีระ วัดพันเตา"
ได้ถูกยกขึ้นเป็น "สวามีสังฆราชา"
ตั้งแต่นั้นมาวัดพันเตา ก็มีความสำคัญมากขึ้น จนได้เป็นหัวหน้าหมวดอุโบสถ
แม้แต่วัดเจดีย์หลวงซึ่งเป็นวัดใหญ่ และอยู่ติดกันยังขึ้นอุโบสถวัดพันเตาด้วย
เส้นทาง หากบอกง่าย ๆ คือ บอกว่าอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวง
บอกให้ยาวขึ้นอีกนิด ก็ให้เริ่มจากอนุสาวรีย์
๓ กษัตริย์ ที่หน้าศาลากลางหลังเก่า หากหันหลังให้อนุสาวรีย์
ก็เลี้ยวขวามาจนถึงสี่แยกกลางเวียง มุมขวาคือ ศาลพญามังราย ซึ่งจุดนี้คือ
จุดที่ฟ้าผ่าลงมาต้องพญามังรายจนสิ้นพระชนม์ เลยสี่แยกกลางเวียง (เลี้ยวซ้ายไปประตูท่าแพ
เลี้ยวขวามาวัดพระสิงห์)
ไปประมาณ ๒๐๐ เมตร วัดพันเตา จะอยู่ทางขวามือเลยไปคือ วัดเจดีย์หลวง (พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง)
สิ่งสำคัญภายในวัดคือ
วิหารไม้สักขนาดใหญ่
เป็นลักษณะอาคารทรงพื้นเมืองล้านนา เดิมเป็น "หอคำ
หรือคุ้มหลวง"
ของพระเจ้ามโหตรประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในราชวงศ์กาวิละ ลำดับที่
๕ ต่อมาเจ้าอินทวิชยานนท์ได้รื้อหอคำ แล้วนำมาปลูกสร้างอุทิศถวาย วัดพันเตา
ด้านหน้าวิหารเป็นประตูไม้ใหญ่ เหนือประตูมีไม้แกะสลักเป็นรูปนกยูง อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ
ฝาหอคำ มีลักษณะเหมือนฝาปะกนเรือนไทยภาคกลาง ชาวล้านนาเรียกว่า "ฝาตาผ้า"
คือ เหมือนเอาผ้ามาขึงสดึง หน้าต่างมีซุ้มเรือนแก้ว โครงสร้างหลังคาภายในวิหารมีขื่อรอง
และขื่อลอยตัว เต้าทำเป็นแบบลูกฟักภควัม
ซึ่งหมายถึง การเรียกชื่อจั่วที่เรียงกันแล้ว ได้หกช่องสี่เหลี่ยม ชั้นล่างสามช่อง
ชั้นกลางสองช่อง ชั้นบนสุดหนึ่งช่อง นับเป็นมงคลทางโชคลาภ ตัวขื่อหลังคานี้สร้างอย่างประณีต
เข้าไม้ต่อกันสนิท เหนือประตูทางเข้าวิหาร อย่าลืมเงยหน้าชมเป็นอันขาด เป็นหน้าบันไม้แกะสลักเหนือประตูทางเข้าวิหาร
งามนัก ในวิหารนอกจากพระประธานสำคัญแล้ว ยังมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ตั้งอยู่ด้วย
ไปชมวัดช่างฆ้อง วัดพันเตา วัดพวกหงษ์ พบว่าฝรั่งมาชมมากกว่าคนไทย เขาชมศิลปวัฒนธรรมไม่ได้ไปนมัสการพระพุทธรูป
และบางทีก็นั่งพักในอุโบสถ ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเสียเลย เพราะแทบจะทุกโบสถ์
วิหาร ของภาคเหนือเย็นสบายดี
วัดพวกหงษ์
ไปชมเจดีย์โบราณ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เมื่อเข้าประตูวัดไป
หลังใหญ่ตรงหน้าคือ วิหาร หลังวิหารคือ เจดีย์โบราณ ทางหน้าซ้ายของวิหารคือ
อุโบสถ หลังเล็กนิดเดียว หากใช้คำนี้ได้ต้องใช้คำว่าน่าเอ็นดู เล็ก ๆ พระเข้าไปนั่งสักสิบองค์ก็เต็มแล้ว
วิหารเก่าแก่กตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเครื่องไม้ หลังคามีหงษ์เกาะอยู่ตัวหนึ่ง
ส่วนอุโบสถนั้นคงจะสร้างทีหลัง แต่เป็นศิลปกรรมท้องถิ่นของล้านนา ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่
๒๔ ลงมา
เจดีย์ด้านหลังวิหาร
เป็นโบราณสถาน แต่กรมศิลปากรยังไม่ได้นำไปขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีหญ้าขึ้นแซมแล้ว
ไม่ช้าคงจะถูกรากหญ้าเซาะพังลงมา พบเจ้าอาวาสพอดี บอกท่าน ท่านบอกว่าไม่มีกำลังขึ้นไปถอนหญ้า
พระมีน้อย จะจ้างคนขึ้นไปถอนก็ไม่มีปัจจัย ชาวเชียงใหม่ใจบุญมีสตางค์แยะ ช่วยกันไปซ่อมเจดีย์โบราณวัดพวกหงษ์ด้วย
ศิลปากรก็นำไปขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเสียก่อนที่จะพังลงมา จะได้มีงบประมาณมาบูรณะ
เจดีย์ มีลักษณะเป็นทรงกลม ก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นสี่เหลี่ยมหนึ่งชั้น เหนือชั้นไปเป็นฐานทรงกลมสามชั้น
และซุ้มพระพุทธรูปอีกเจ็ดชั้น บางซุ้มยังมีพระพุทธรูปที่องค์สมบูรณ์อยู่ด้วย
บางซุ้มมีพระแต่หัก บางซุ้มก็คงโดนโจรแบกไปแล้ว เจดีย์แบบนี้ทั่วเมืองเชียงใหม่มี
๓ แห่ง เท่านั้น คือ วัดร่ำเปิง วัดเจดีย์ปล่อง และวัดพวกหงษ์ "เจดีย์ศรีพวกหงษ์"
เส้นทาง ตรงมาจากด้านหลังของประตูท่าแพ ตามถนนราชดำเนิน ผ่านสี่แยกกลางเวียง
ตรงต่อไป ผ่านสถานีตำรวจ ตรงไปอีกจนชนวัดพระสิงห์ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสามล้าน
ให้ดูหมายเลขซอยทางซ้ายมือ พอถึงสามล้านซอย ๗ ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยที่อยู่ตรงกันข้าม
เข้าไปสัก ๑๐ เมตร ก็เข้าสู่ประตูวัดพวกหงษ์
ไปชิมอาหาร
ผมชิมมื้อกลางวัน เคยชิมมื้อเย็นมาแล้ว คราวนี้วนเวียนชมวัดอยู่ย่านนี้ เลยแวะชิม
อาหารยูนนาน ที่อร่อยนัก ราคาพอสมควร
เริ่มออกจากวัดพระสิงห์ แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนสามล้าน เลี้ยวมานิดเดียว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชมรรคา
ผ่านสี่แยกโรงเรียนพุทธิโสภณ มีไฟสัญญาณ ตรงมาผ่านโรงแรมอโนดาด ทางขวามือ
ผ่านสี่แยกวัดผ้าขาว ร้านอยู่ติดกับวัดผ้าขาว อยู่ทางซ้ายมือ ตรงข้ามกับ หจก.จินดารัตน์
เป็นร้านขนาด ๒ ห้อง นั่งหน้าร้านก็ได้ ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม แต่ก็โปร่ง ไม่ร้อน
ขาหมู หมั่นโถว กินอาหารยูนนาน อย่าโดดข้ามจานนี้ไป ขาหมูหั่นมาเป็นชิ้นเล็ก
ๆ หมั่นโถวนั้นก้อนโต อย่าสั่งมาก กะตามจำนวนคน คนละก้อนก็อิ่มแทบไม่ต้องกินข้าวแล้ว
หมั่นโถว สีขาวสะอาด ยกมาร้อน ๆ นุ่มมือเวลาบิ ใส่ปาก หมั่นโถวจิ้มน้ำพะโล้
ตามด้วยขาหมู
หมูสามชั้น นึ่งผักกาดดอง คล้าย ๆ กับ"เคาหยก" ที่ร้านแถวหาดใหญ่ ออกรสหวานนิด
ๆ เอาน้ำราดข้าวสวยร้อน ๆ หรือกินกับหมั่นโถว เหยาะน้ำส้มชูรสเสียหน่อยหนึ่ง
ไส้กรอกยูนนาน ร้านนี้ทอดแข็งไป ถ้าอร่อยเด็ด ต้องไปโน่นที่แม่สลองวิลล่า
ดอยแม่สลอง เชียงราย อาหารยูนนานเหมือนกัน ไส้กรอกอร่อยนัก
ไก่ผัดบู๋กว๋า ชื่อนี้ไม่เคยได้ยิน บู๋กว๋า เป็นผลไม้เนื้อแข็งรสเปรี้ยว
เอามาผัดกับไก่ ใส่แป้งนิด ๆ ชื่อภาษาฝรั่งคือ Chicken Yunnan Sour
Fruit
ปิดท้ายด้วยข้าวผัดยูนนาน
ของหวานไม่มี แต่ทางร้านแถมฟรี ๑ จาน คือ แตงโมเหลืองสดน่ากิน
..................................................
|