พระราชวังสนามจันทร์
ผมเคยเล่าเรื่องจังหวัดนครปฐมไปแล้ว แต่ตอนที่ผมเล่านั้นพระราชวังสนามจันทร์ส่วนที่เป็น
"พระที่นั่ง" อยู่ในการดูแลของส่วนราชการคือ เป็นสถานที่ราชการ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด
ศาลจังหวัด เป็นต้น จึงไม่มีโอกาสได้ไปหารายละเอียดของพระที่นั่งสำคัญเหล่านั้น
แต่ไปคราวนี้ได้ทราบว่า พระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังสนามจันทร์มาอยู่ ในการดูแลของสำนักพระราชวังหมดแล้ว
แต่วันที่ผมไปคือเดือนตุลาคม ตอนปลาย ๆ เดือน ก็ยังเข้าไปชมข้างในไม่ได้ เพราะพระที่นั่งกำลังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมครั้งใหญ่
และจะแล้วเสร็จเปิดให้ชมได้ประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ นี้ ซึ่งกว่าท่านจะอ่านมาถึงตรงนี้
ก็คงเปิดให้ชมเรียบร้อยไปหลายเดือนแล้ว ผมจึงนำพระราชวังสนามจันทร์มาเล่าให้ฟัง
และพาไปกินข้าวหมูแดง ร้านอร่อยที่อยู่ติดกับพระราชวังสนามจันทร์ หากจะเถียงกันว่าข้าวหมูแดง
หรือก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นนครปฐม ร้านไหนจะอร่อยกว่ากัน คงจะชนะกันยาก เพราะมีหลายร้านและอร่อย
ๆ ด้วยกันทั้งนั้น
พระราชวังสนามจันทร์มีประวัติเก่าแก่มาแต่โบราณกาล เพราะสถานที่ที่สร้างพระราชวังสนามจันทร์นี้คือ
สถานที่ที่สมัยโบราณเรียกว่า "
เนินปราสาท"
เคยเป็นที่ตั้งของ
วังโบราณ
และยังมีสระน้ำที่อยู่ด้านหน้าและปัจจุบันก็ยังอยู่คือ "
สระน้ำจันทร์"
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพระราชวังสนามจันทร์
พระราชวังสนามจันทร์ เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกางที่ ๖ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑ กิโลเมตร
มีพื้นที่ทั้งหมด ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา
ประวัติ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร
และพระองค์ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศ จึงได้ทรงรับรู้เหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกขยายอำนาจเข้ามาในประเทศไทย
เมื่อพระองค์ได้เสด็จกลับมาจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงทรงเตรียมการหาทางหนีทีไล่ในการต่อสู้เมื่อถูกรุกราน
และหาเมืองที่เหมาะจะเป็นชัยภูมิในการต่อต้าน ทรงเห็นว่าเมืองนครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม
จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ (ซึ่งยังอยู่ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕) โปรดให้ซื้อที่ดินจากประชาชนในราคาที่สูง ราษฎรจึงเต็มใจที่จะขายให้โดยง่าย
และโปรดให้ หลวงพิทักษ์มานพ
หรือต่อมาคือ
พระยาศิลปประสิทธิ์
เป็นแม่งานสร้างขึ้นตรงบริเวณ "เนินปราสาท" ซึ่งคาดว่าเป็นพระราชวังเดิมสมัยโบราณและถูกทิ้งร้างไปนานหลายร้อยปี
เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์
(ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำโบราณคือ สระน้ำจันทร์
หรือสระบัว
ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ มีพระที่นั่ง พระตำหนักต่าง ๆ ที่โปรดให้สร้างขึ้น
และพระราชทานนามไว้คล้องจองกันดังนี้
พระที่นั่งพิมานปฐม
เป็นพระที่นั่งองค์แรก สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น แบบตะวันตก แต่ได้ดัดแปลงแบบให้เหมาะสมกับเมืองร้อน
มีช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุสลักลวดลายอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง
ๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฎอยู่ คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา
ห้องเสวย และห้องพระเจ้า (หรือห้องตัดผม) ซึ่งมีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาและเป็นที่ประดิษฐานเศวตฉัตร
มีบานไม้แกะสลักเป็นรูปพานพุ่มเทพพนม และมีจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร
พระที่นั่งองค์นี้เป็นศาลากลางจังหวัด นานหลายสิบปี
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
คือพระที่นั่งหลังย่อมอยู่ติดต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐมทางด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นตึกสองชั้นรูปตัวแอล
เคยเป็นสำนักงานของอัยการจังหวัดนครปฐม
พระที่นั่งวัชรีรมยา
พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นทีหลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระที่นั้งทรงไทยสองชั้น
หลังคามีลักษณะเป็น ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบทำนองเดียวกับหลังคาพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง
มีคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง และหางหงส์งดงามมาก ทางทิศใต้มีมุขเด็ดแกะสลักเป็นเข็มวชิราวุธอยู่ภายในวงรัศมีเปลวเพลิง
มีลายกนกลงรักปิดทอง พื้นประดับกระจกสีน้ำเงิน ล้อมรอบระหว่างเสาหน้ามุข มีสาหร่ายรวงผึ้งห้อยลงมา
หน้าบันทิศตะวันออกเป็นรูปช้างเอราวัณ มีสัปคัปลายทองตามแบบช้างทรงของกษัตราธิราช
ข้างในสัปคัปช้างเป็นเข็มวชิราวุธ หน้าบันด้านตะวันตกเหมือนหน้าบันด้านมุขเด็ด
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
(สา มัค คี มุข ขะ มาตย์) เป็นพระที่นั่งโถงใหญ่ เชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา
หลังคาเชื่อมติดต่อกัน เครื่องประดับตกแต่งเหมือนกัน หน้าบันทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร
ประทับอยู่ในพิมานสามยอด ท้องพระโรงพระที่นั่งยกสูง ๑ เมตร ตรงกลางยกพื้นรอบ
อีก ๓ ด้านลดชั้นต่ำลงมา ๕๐ เซนติมตร และมีอัฒจันทร์สองข้าง มีประตูติดต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา
พระที่นั่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดใช้เป็นที่ออกงานสันนิบาต
ใช้เพื่อเสด็จออกขุนนางเพื่อปรึกษาข้อราชการ เป็นที่ฝึกอบรมเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง
ๆ ทั้งนี้เพราะบรรจุคนได้มาก ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า "โรงโขน"
เทวาลัยคเณศร์
เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศหรือพระพิฆเศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง เป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ
และเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวล เทวาลัยคเณศร์ตั้งอยู่ที่สนามหน้าพระที่นั่ง
ผู้คนไปไหว้กราบนำช้างไปถวายแก้บนกันไว้มากมาย
ศาลาธรรมเทศน์โอฬาร
เป็นศาลาแสดงธรรม โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประชุมและอบรมเสือป่า และยังมีปราสาทศรีวิชัย
ที่โปรด ฯ เกล้าให้สร้างขึ้นแต่ยังไม่ทันได้สร้างขึ้นก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
พระที่นั่งปาฎิหารย์ทัศไนย
เป็นพระที่นั่งองค์เล็ก ตั้งอยู่บนชานชั้นบนระหว่าง
พระที่นั่งพิมานปฐม
กับพระที่นั่งวัชรีรมยา ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรองค์พระปฐมเจดีย์ และทรงทอดพระเนตรเห็นปาฎิหารย์ขององค์พระปฐมเจดีย์
แต่ในปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ เมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตแล้วกระทรวงวัง
ได้ให้รื้อไปปลูกไว้บนชานชลาพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ที่กล่าวมานี้คือ ทางด้านพระที่นั่ง
ส่วนพระตำหนักอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ได้มีการสร้าง
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ ประทับนั่งที่ริมสนามด้านทิศเหนือ อยู่ไม่ไกลกันนักกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
กลุ่มพระตำหนัก
เมื่อเข้าประตูพระราชวังสนามจันทร์ไปแล้ว โดยหากเรามาจากกรุงเทพ ฯ พอมาถึงถนนที่พุ่งเข้าองค์พระปฐมเจดีย์
เราก็ไม่ขึ้นสะพานข้ามถนน ให้เลี้ยวซ้ายลอดใต้สะพานไป พอผ่านสี่แยกที่ ๑ (หากเลี้ยวขวาตรงนี้จะไปองค์พระปฐม)
ให้ตรงต่อไปถึงสี่แยกที่ ๒ มีไฟสัญญาณ มีป้ายยกว่าพระราชวังสนามจันทร์ ให้เลี้ยวขวาตรงจุดนี้
แล้ววิ่งตรงไปจะไปถึงพระราชวังได้เอง เมื่อเข้ามาภายในพระราชวังแล้วก็ควรไปถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่
๖ องค์ผู้สร้างพระราชวังเสียก่อน จากนั้นเดินไปชมพระที่นั่ง หรือจะเลี้ยวมาทางกลุ่มพระตำหนักเลยก็ได้
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะแบบผสมผสานระหว่างอิทธิพลของปราสาทแบบเรอเนซองส์ ของฝรั่งเศสกับแบบอังกฤษ
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ ด้านหน้าของพระตำหนักองค์นี้มี อนุสาวรีย์
"ย่าเหล"
พระตำหนักชาลี ฯ มี ๒ ชั้น ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมี ๒
ห้อง ทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีระเบียงโดยรอบทั้ง ๓ ด้าน
ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดประทับที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็่นประจำ
ทรงประกอบพระราชกรณีกิจเช่น ให้ราชฑูตต่างประเทศเข้าเฝ้า และบางครั้งประทับทอดพระเนตรฟุตบอลระหว่างกรมเสือป่าม้าหลวงกับกรมเสือป่าพรานหลวง
ณ สนามหน้าพระตำหนัก
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ก่อนที่จะบรรยายลักษณะของพระตำหนักแห่งนี้ขอเล่าถึงที่มาของชื่อพระตำหนัก
ชาลีมงคลอาสน์ และชื่อของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ให้ทราบไว้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเอกศิลปินรักในวรรณกรรมและการละคร
ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้เป็นจำนวนมาก พระองค์รักผูกพันกับสุนัขตัวโปรดที่แสนรู้คือ
ย่าเหล เมื่อย่าเหลถูกคนร้ายยิงตาย จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้และพระราชทานชื่อตำหนักชาลีมงคลอาสน์ว่า
"ตำหนักเหล" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชาลีมงคลอาสน์ เพราะได้นิพนธ์เรื่อง "มิตรแท้"
ซึ่งเป็นบทละครที่แปลจากเรื่อง MY FRIEND JARLET ซึ่งประพันธ์โดย A.
GOLS WDRTHY และ E.B. NARMAN ทรงประทับใจในบุคคลิกของตัวเอกของเรื่องนี้คือ
JARLET หรือชาลี ซึ่งเป็นผู้เสียสละชีวิตเพื่อเพื่อน และลูกสาวที่ชื่อ มารี
ได้นิพนธ์บทละครนี้ขึ้น และจัดแสดงละครนี้ถึงสามครั้ง สองครั้งแรกน่าจะแสดงก่อนที่จะขึ้นครองราชสมบัติ
และก่อนที่จะเลี้ยงย่าเหล เพราะครั้งแรกแสดงที่ริมทะเลสาปเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ครั้งที่สองแสดงที่กรุงเซ็นปิเตอร์สเบิกร์ก ประเทศรัสเซีย และครั้งที่ ๓ ที่พระราชวังสนามจันทร์และทรงร่วมแสดงด้วยทั้งสามครั้ง
ชื่อตัวเอกคือ ชาลี จึงกลายมาเป็นชื่อ ชาลีมงคลอาสน์
ชื่อลูกสาวมาลี จึงมาเป็นชื่อ พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์
พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ เป็นพระตำหนักไม้สองชั้นแบบตะวันตก มีเสาไม้กลม
และสลักเป็นแบบนีโอ - คลาสสิก ทาสีแดง สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
มีสะพานเชื่อมจากชั้นบนของพระตำหนักทั้งสองข้ามคูน้ำทำให้งดงามยิ่ง สะพานดังกล่าวยังมีหลังคา
ติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้านตลอดแนวความยาวของสะพาน พระตำหนักนี้เป็นที่พำนักของพระยาอนิรุทธเทวา
หัวหน้ามหาดเล็กห้องพระบรรทม.-
พระตำหนักทับแก้ว
เป็นตึกสองชั้นขนาดกระทัดรัด อยู่เชิงสะพานสุนทรถวาย ภายในทับมีเตาผิงและหลังคา
มีปล่องไฟตามแบบตะวันตก เหนือเตาผิงมีภาพฝีพระหัตถ์ สีถ่าน รูปพระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทับแก้วเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองร้อยเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์
ในเวลาที่มีการซ้อมรบเสือป่า
พระตำหนักทับขวัญ
เป็นหมู่เรือนไทย มีชานแล่นเชื่อมถึงกัน เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ สร้างคู่กับพระตำหนักทับแก้ว
ประกอบด้วยกลุ่มเรือน ๘ หลัง หลังใหญ่ ๔ หลัง หันหน้าเข้าหากันทั้ง ๔ ทิศ
หอนอน ๒ หอ เรือนโถง และเรือนครัวกับหลังเล็ก ๔ หลัง อยู่ที่มุมทั้ง ๔ มุม
ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สัก เข้าไม้ตามแบบฉบับของไทยโบราณ
ในระหว่างมีการซ้อมรบเสือป่า ทับขวัญเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองร้อยเสนาน้อยราบหนักรักษาพระองค์
ในพระราชวังสนามจันทร์ นอกจากจะมีพระที่นั่งและพระตำหนักแล้วยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นเรือนพักของข้าราชบริพาร
ได้แก่ .-
เรือนพระยานนทิการ
เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาธรรมาธิกรทาธิบดี
เรือนพระธเนศวร
บูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑
เรือนทับเจริญ
เดิมเป็นที่พักของเจ้าพระยารามราฆพ อธิบดีกรมมหาดเล็ก ปัจจุบันหลังจากที่มีการบูรณะแล้วเป็นที่ตั้งของ
สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก เรือนหลังนี้สร้างขึ้นปลายรัชกาลแล้ว คือเมื่อ
พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง
ภายในแบ่งออกเป็น ๑๐ ห้อง ตรงกลางเป็นห้องโถงใหญ่ ทางขึ้นอยู่ด้านหน้า
สถาบันนี้แสดงผลงานทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นตะวันตก ประกอบด้วยจังหวัด ราชบุรี
นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์
มีห้องจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในแถบตะวันตก เช่น มอญ
ลาวครั่ง ลาวโซ่ง ละว้า กวย ลาวเวียง
มีห้องแสดงหุ่นกระบอกไทย ส่วนใต้ถุนมีเครื่องมือกสิกรรมที่ใช้กันในภาคตะวันตก
จัดแสดงไว้ให้ชมเช่น ไถ คราด เรือ เครื่องสีข้าว
ย่าเหล
เป็นชื่อสุนัขตัวโปรดที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเป็นพิเศษ
เป็นสุนัขพันทาง ขนยาวปุกปุย สีขาว สลับน้ำตาล ทรงเสด็จไปพบเมื่อคราวเสด็จไปตรวจเรือนจำ
จังหวัดนครปฐม ทรงพอพระทัยในความเฉลียวฉลาดของสุนัข จึงมีรับสั่งขอจากรองอำมาตย์เอกพระพุทธเกษตรานุรักษ์
แล้วทรงนำไปเลี่ยงไว้ในราชสำนัก พระราชทานชื่อ "ย่าเหล" ซึ่งน่าจะมาจากชื่อ
"JARLET" ในหนังสือเรื่อง MY FRIEND JALLET ซึ่งพระองค์ทรงโปรดและได้นิพนธ์เป็นบทละคร
ทรงถือว่าย่าเหลเป็นเพื่อน เพราะย่าเหลฉลาด แสนรู้ และจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง
จึงเป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาสุนัข และถูกยิงด้วยปืนจนตาย ได้มีผู้พบศพย่าเหลอยู่ข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาลัยรักในย่าเหลมากและจัดพิธีศพให้
โลงศพ (น่าจะเป็นชั้นนอก) ยังเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภันณ์วัดพระปฐมเจดีย์ และได้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลไว้ที่ด้านหน้าของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
ด้วยโลหะรมดำ ตั้งบนแท่นสูง และยังทรงบทกลอนไว้อาลัยด้วย
อนุสาวรีย์ย่าเหล จึงเป็นอนุสาวรีย์ของสุนัขและยังสร้างให้โดยพระมหากษัตริย์
มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยหรืออาจจะในโลก
ข้าวหมูแดงนครปฐมและเป็ดตุ๋น นับว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดนี้ มีหลายร้าน
อร่อย ๆ ทั้งนั้น เช่น ถนนสายจากพระราชวังสนามจันทร์ ตรงมายังองค์พระปฐมเจดีย์
น่าจะเรียกว่าถนนอาหารได้แล้ว เพราะมีร้านอาหารอร่อย ๆ หลายร้าน หลายประเภท
ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวก็มี หรือเดินผ่านถนนสายกลางหน้าองค์พระ ที่เป็นถนนผลไม้ทั้งสาย
สุดถนนพบถนนอีกเส้นที่เลียบคลอง หากเลี้ยวขวาก็จะพบร้านข้าวหมูแดงและเป็ดตุ๋นเจ้าเก่าแก่
หรือพอพ้นถนนที่เป็นตลาดผลไม้ไปแล้วเลี้ยวซ้ายเลียบริมคลองไปสัก ๕๐๐ เมตร
จะถึงบริเวณท่ารถนครปฐม - บางเลน ร้านห้องเดียว ร้านเก่าแก่มากร้านหนึ่งขายข้าวหมูแดง
หากไปนครปฐมเช้ามีสถานที่เที่ยว ที่กิน ที่ซื้อของสนุกนักอยู่อีกแห่งหนึ่ง
ผมชอบไปในยามเช้าคือตลาดนัด ถนนเทศาซอย ๒ จากองค์พระมาตามเส้นทางที่จะกลับกรุงเทพ
ฯ ซอยนี้อยู่ซ้ายมือ หากไม่เกิน ๑๐.๐๐ จะพบแต่ถนนที่สะอาดเรียบร้อย ไม่มีแววเลยว่าเมื่อ
๒ ชั่วโมงที่แล้วคือตลาดนัดมีของขายนับร้อยร้าน
ทีนี้จะพาไปชิม ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ข้าวหน้าไก่ ข้าวหน้าเป็ด อร่อยสุด
ๆ
สั่งข้าวหน้ารวม มาพร้อมทั้งเป็ด หมูแดง หมูกรอบ และน้ำซุป ๑ ถ้วย
ยังไม่จุใจ สั่งข้าวหมูแดงราดน้ำมาชุ่มฉ่ำมาอีกจาน ทีนี้ได้กินข้าวหมูแดงอร่อยสมใจ
ของหวานไม่มี ไปซื้อข้าวหลามแถวริมถนนริมคลอง กินให้สมกับคำขวัญที่ว่า นครปฐมเป็นดินแดนแห่ง
ส้มโอหวาน
ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น
พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า
...................................................................................
|