พระเจดีย์กลางน้ำ
ผมให้ชื่อเรื่องว่า "พระเจดีย์กลางน้ำ" หากให้ท่านเดาท่านก็ต้องเดาว่าพระเจดีย์กลางน้ำที่
อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพระเจดีย์กลางน้ำที่รู้จักกันทั่วไป ผมเองก็ไม่ได้ไปพระเจดีย์กลางน้ำที่พระประแดง
และป้อมพระจุลจอมเกล้ามาหลายปีแล้ว คงจะต้องรับไปเพื่อเอามาเล่าให้ฟังโดยเร็ว
เพราะผมไปเขียนถึงพระเจดีย์กลางน้ำของจังหวัดระยองเข้าก่อน คือ พระเจดีย์กลางน้ำที่ผมกำลังจะเล่าอยู่นี้
อยู่ที่ จ.ระยอง
เป็นพระเจดีย์เก่าแก่พอสมควรคือ สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ประมาณเวลาได้ร้อยกว่าปี
เป็นพระเจดีย์ทรงระฆัง สูงประมาณ ๑๐ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่เกาะกลางแม่น้ำระยอง
ได้รับการปฎิสังขรณ์แล้ว ทาสีขาวมองเห็นได้ในระยะไกล
ประวัติ
พระยาศรีสมุทรโภคชัยโชตชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เป็นเจ้าเมืองระยองในสมัยรัชกาลที่
๔ ได้พิจาณาเห็นว่า บรรดาข้าราชการหัวเมืองที่เดินทางมาทางทะเล ผ่านเข้ามาทางปากอ่าวไทยเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา
เพื่อมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพ ฯ นั้น ได้ใช้ประโยชน์จากเจดีย์กลางน้ำที่จังหวัดสมุทรปราการ
เป็นจุดสังเกตว่าได้เข้าสู่อาณาเขตของกรุงเทพ ฯ แล้ว จะได้เตรียมตัวที่จะขึ้นบกตระเตรียมข้าวของที่นำติดตัวมา
ท่านเจ้าเมืองระยองจึงได้นำแบบอย่างมาสร้างเจดีย์กลางน้ำที่เมืองระยองบ้าง
โดยในสมัยนั้นระยองมีเส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม พระะเจดีย์กลางน้ำจึงเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเรือทุกลำ
เพราะเมื่อเดินทางมาจนมองเห็นพระเจดีย์กลางน้ำก็แสดงว่า ได้เข้ามายังปากน้ำระยองแล้ว
มีความปลอดภัยแน่นอน มาถึงเมืองระยองแน่ ๆ
การเดินทางไปยังพระเจดีย์กลางน้ำเมืองระยอง
หากมาตามถนนสายสุขุมวิท หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๓ ก็บอกเป้าหมายง่าย ถนนสุขุมวิทนั้นมาจากทางสัตหีบ
เรื่อยมาจนเข้ามากลางเมืองระยอง และจะมาผ่านโรงพยาบาลระยอง มาถึงสี่แยกที่มีธนาคารกรุงเทพ
ฯ อยู่ตรงหัวมุม สี่แยกนี้เป็นสี่แยกมีไฟสัญญาณให้เลี้ยวขวา ถนนที่เลี้ยวเข้ามานี่คือ
ถนนตากสินมหาราช วิ่งไปจนสุดทางที่สามแยกให้เลี้ยวขวาอีกที จะไปผ่านสะพานข้ามแม่น้ำระยอง
ที่จะเข้ามไปสู่แหลมเจริญ
และหาดแสงจันทร์ ให้วิ่งผ่านสะพานตรงเรื่อยไปจนผ่านอีกสะพานหนึ่ง
ตรงต่อไปอีกจะไปสุดทางที่สะพานข้ามแม่น้ำระยอง ไปยังพระเจดีย์กลางน้ำที่ได้รับการบูรณะอย่างดี
มองเห็นสีขาวสะอาดได้ตั้งแต่ระยะทางไกล ๆ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒ กม. แต่ผ่านถนนที่สำคัญมาก่อน
คือ ถนนตากสินมหาราช
สายสำคัญของเมืองระยอง เมื่อก่อนนี้เหมือนตั้งอยู่กลางป่าเปลี่ยว แต่เดี๋ยวนี้
(๒๕๔๖) ไม่เป็นที่น่ากลัวอีกต่อไป ควรแก่การไปสักการะเมื่อมาเมืองนี้
การเดินทาง เดี๋ยวนี้ไประยองสะดวกมาก ไปได้หลายเส้นทางและหากตั้งใจจะไประยองกันจริง
ๆ ก็มักจะไม่ไปตามถนนสายสุขุมวิท หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๓ กันแล้ว แต่ผมยังชอบไปอยู่เพราะผ่านแหล่งเที่ยว
แหล่งกิน หลายต่อหลายแห่ง และไม่ไกลกว่ากันเท่าไร
เส้นทางที่ ๑
หากไปตามถนนสายสุขุมวิท "ขนานแท้ ดั้งเดิม" จะต้องไปตามถนนสุขุมวิทไปผ่านบางนา
ตรงต่อไปจนถึง จ.สมุทรปราการ แล้วเลี้ยวซ้ายไปผ่านทางแยกขวาเข้าฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ไปผ่านทางแยกซ้ายเข้าเมืองโบราณที่ผมขอแนะนำไว้อีกครั้ง
(ก่อนที่ผมจะพาไปเที่ยว) ว่าอย่างน้อยให้ได้ไปเที่ยวที่เมืองโบราณแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
ส่วนผมไปมาหลายครั้งแล้ว ไปทีไรก็กลับเอามาเขียนเล่าได้ทุกที เพราะจำได้ว่าเขาสร้างมาไม่ต่ำกว่า
๓๕ ปี แล้ว แต่ในปัจจุบันนี้เขาก็ยังไม่หยุดการก่อสร้าง ยังคงสร้างเมืองโบราณของประเทศไทยกันเรื่อยไป
พัทยานั้นเป็นเมืองจำลอง แต่ที่เมืองโบราณแห่งนี้สร้างให้คนเข้าไปอยู่ได้จริง
ๆ เช่นสร้างตลาดน้ำแม้ไม้ใหญ่เท่าของจริงก็เอาเรือลงไปลอยได้ หรือเรือสำเภาโบราณที่ลอยแท้งเต้งอยู่นั้น
ลำโตเท่าเรือสำเภาที่เดินทะเลในสมัยโบราณเลยทีเดียว
ผ่านเมืองโบราณไปแล้วก็จะมาผ่านทางแยกขวาเข้าสถานตากอากาศบางปู
ที่กองทัพบกดูแลอยู่และตั้งมาตั้งแต่สมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
คือนานกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว และได้รับการปรับปรุงทั้งร้านอาหาร จุดชมวิว บ้านพักให้คืนสภาพที่จะมาพัก
มาเที่ยว มากินได้ โดยเฉพาะในวันหยุดราชการ
ผ่านทางเข้าบางปูไปแล้ว ก็วิ่งเรื่อยไปจนถึงบางปะกง
สมัยก่อนนี้เมื่อสัก ๕๕ ปีมาแล้ว ผมกับเพื่อนนักเรียนอำนวยศิลป์ (ปากคลองตลาด)
เขาชวนผมไปเที่ยวบ้านของเขาที่สัตหีบ เพราะบิดาของเขาเป็นทหารเรือ เหล่านาวิกโยธิน
พักอยู่ที่อ่าวเตยงาม ไปสัตหีบสมัยนั้นใช้เวลาร่วมหนึ่งวันเต็ม ๆ และจะต้องเอารถเมล์ที่นั่งมา
มาลงแพเพื่อข้ามฟากข้ามแม่น้ำบางปะกงข้ามกันตรงชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง อยู่ใกล้
ๆ กับสะพานเทพหัสดินในปัจจุบันนี้นั่นแหละ นั่นคือการไปสัตหีบตามถนนสุขุมวิทเมื่อสมัยที่ผมยังรุ่นหนุ่ม
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว พอผ่านคลองด่านไปแล้วก็ถึงบางปะกงก็ข้ามสะพานไปยังฝั่ง
อ.เมืองชลบุรี ได้เลย พอใกล้จะถึงตัวเมืองก็จะมีถนนบายพาส แยกซ้ายไปต่อไป
เป็นเส้นทางที่ ๒ เดี๋ยวผมก็กลับมาเล่าอีกที
ส่วนเส้นทางที่ ๑ สุขุมวิทขนานแท้คงวิ่งผ่านเมืองชลบุรี ไปผ่านแยกเข้าอ่างศิลา
บางแสน ผ่านตลาดหนองมน บางพระ ศรีราชา พัทยาเหนือ กลาง ใต้ จอมเทียน
ทางแยกซ้ายเข้าวัดญาณสังวราราม
แยกเข้าวิหารเซียน
แยกเข้าพระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ แยกเข้าสวนนงนุช
เรื่อยไปจนถึงสัตหีบ
ซึ่งมีวัดสำคัญคือ วัดหลวงพ่ออี๋ และเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ
จากนั้นก็วิ่งเรื่อยไปจนถึงเมืองระยองคือ ถนนสุขุมวิท
ส่วนเส้นทางที่ ๒
นั้น หากมาจากกรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้นิยมมาตามถนนมอเตอร์เวย์จะเร็วมาก
เสียค่าด่วนสองครั้ง ๖๐ บาท เข้าทางด่วนมอเตอร์เวย์ทางถนนพระราม ๙ วิ่งกันตรงเลยทีเดียว
จนมาบรรจบกับถนนสาย ๓๖ ไปพัทยา ซึ่งจะเลี้ยวซ้ายไประยองได้ แต่ไม่ได้ผ่านตัวเมืองโดยตรง
ถึงระยองแล้วจะต้องเลี้ยวขวาเข้าตัวเมืองอีกที จึงจะไปพบถนนสุขุมวิท
ส่วนเส้นทางที่ ๓
ก็คงต้องไปตามถนนสายบางนา - ตราด
เดี๋ยวนี้ก็มีทางด่วนวิ่งรวดเดียวจากบางนาไปยังบางปะกง แล้วไปต่อเข้าบายพาสได้
ไปบรรจบกับสุขุมวิท หรือจะเลี้ยวซ้ายเข้าสาย ๓๖ ไปบรรจบกับสายพัทยา ระยองก็ได้เลย
ทุกสายไปได้รวดเร็วมาก รวมทั้งสุขุมวิทสายดั้งเดิมที่ผมเล่ายาวมานี้ รวมระยะทางแล้วก็ประมาณ
๑๘๐ กม.
ระยอง มีอุทยานแห่งชาติถึง ๒ แห่ง ทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ นิดเดียว คงเหมือนสระบุรี
หรือสุพรรณบุรี ที่อยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ ก็มีอุทยานแห่งเช่นกัน
อุทยานแห่งชาติทางทะเล คือ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า
- หมู่เกาะเสม็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ สื่อมวลชนได้ประโคมกันว่า
เกาะเสม็ด
หรือเกาะแก้วพิศดาร
ของท่านกวีเอกสุนทรภู่นั้นสกปรกอย่างยิ่ง จากการที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวแล้วก็ยังไม่ช่วยกันรักษาความสะอาด
พากันทิ้งขยะ (ไม่ต้อง พ.ศ.๒๕๑๙ เอากัน พ.ศ.๒๕๔๖ ก็ยังมีคนเห็นแก่ตัวไม่ยอมเดินไปทิ้งลงถุงขยะที่เขาวางไว้ให้
ทิ้งมันดื้อ ๆ ตรงแถวที่นั่งนั่นแหละ) ชาวบ้านเริ่มมาสร้างเพิงขายอาหาร เพิงพัก
บุกรุกแผ้วถางต้นไม้ทำลายป่าบนเกาะเสม็ด เพื่อให้ได้พื้นที่มาบริการลูกค้า
"ร่มชายหาด" ถูกกางเต็มหาดเพื่อให้ความสุขแก่พวกนักดื่ม นักกิน เพื่อทำลายความสวยงามของชายหาด
เป็นความสุขของคนส่วนน้อย แต่หาดพัง หมดความงามไปเลยทีเดียว และถึงขั้นการท่องเที่ยวกับระยอง
คิดจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าข้าฝั่งจาก "บ้านเพ" มายังเกาะเสม็ด มีการต่อต้านการให้สัมปทานผูกขาดการท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด
จนผลที่สุดในปี พ.ศ.๒๕๒๓ กรมป่าไม้จึงตื่นตัวอย่างเต็มที่ ได้มีการสำรวจหาข้อมูล
ให้รวมถึงเขาเตี้ย ๆ ที่อยู่ริมทะเลบริเวณบ้านเพ ที่เรียกว่า เขาเบล็ด
- แหลมหญ้า และชายหาดแม่รำพึง
รวมถึงเกาะเล็ก เกาะน้อย อ่าว ชายทะเล แหลมต่าง ๆ และรวมไปถึงเกาะอีกหลายเกาะ
และสุดท้ายคือ การประกาศตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด
เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔
สภาพของอุทยานจึงมีพื้นน้ำมากกว่าพื้นดิน เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งที่
๓ มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า ๖๐ ชนิด เสือปลา ก็มี งูจงอางก็ยังมี งูทะเลก็มี
และนกอีกมากมายหลายชนิด แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาตินี้คือ หาดแม่รำพึง
เขาเบล็ดรำพึง เขาเบล็ดและเขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด อ่าวกลาง
หาดทรายแก้ว อ่าวดอก หรืออ่าววงเดือน
อีกมากมายสุดที่จะจารไน ลองถามที่พัก ที่เที่ยวดูได้จาก ๐๓๘ ๖๕๓๐๓๔ และที่พักถาม
๐ ๒๕๖๑ ๒๙๑๙
อุทยานแห่งชาติ เขาชะเมา - เขาวง
อุทยานแห่งนี้ครอบคลุมท้องที่อำเภอแกลง อ.ระยอง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ยังมีสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของจังหวัดระยอง มีสัตว์ป่าชุกชุม
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๘
เขาชะเมา
เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ยอดที่สูงที่สุด สูง ๑.๐๒๘ เมตร เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ
ลำน้ำประแสร์
สภาพป่ายังเป็นป่าดงดิบชื้น สัตว์ป่ามีสัตว์ใหญ่ ๆ เช่น ช้าง เสือ กระทิง
วัวแดง หมี หมูป่า เป็นต้น จุดเด่นที่น่าสนใจในการท่องเที่ยวคือ น้ำตกเขาชะเมา
- เขาวง อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยาน ห่างจากถนนใหญ่เพียง
๑ กม. มีผาสวรรค์ น้ำตกคลองปลากั้ง ถ้าเขาวง
เป็นต้น การเดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะต้องเดินทางผ่านสามแยกแกลง ไปทางจะไปจันทบุรีตามถนนสุขุมวิทประมาณ
๒ กม. จะมีทางแยกซ้ายมีป้ายบอกไว้แยกตรงตลาดเขาดิน
เข้าทางหลวง ๓๓๗๗ เลี้ยวเข้าไป ๑๗ กม. จะพบทางแยกขวาเข้าที่ทำการ ฯ แต่การเดินทางไปเที่ยวเขาชะเมา
และเขาวง หรือถ้ำเขาวงนั้นแยกทางกัน ถามจากที่ทำการ ฯ ดีที่สุด เพราะที่เที่ยวมากเหลือเกิน
โดยเฉพาะนักเที่ยวถ้ำ จะมีถ้ำให้ท่องมากมายหลายสิบถ้ำ ที่อุทยานมีบ้านพัก
ติดต่อที่ทำการอุทยาน หรือที่ ๐ ๒๕๖๑ ๒๙๑๙ ผมเองยังไม่เคยไปพัก เพราะสถานที่ไม่สะดวกสำหรับคนสูงอายุ
ขอพากลับมาเที่ยวในตัวเมืองระยอง ต้องเที่ยวกัน "ฉบับย่อ" เพราะระยองนั้นสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่แล้วต้องเที่ยวตามธรรมชาติ
ผมพึ่งพาไปพระเจดีย์กลางน้ำ แต่ก็เหมือนเที่ยวธรรมชาติเช่นกัน ล้อมองค์พระเจดีย์คือ
น้ำและป่าชายเลน แต่เลยไปนิดเดียวคือถนนเลียบชายหาด จึงขอจับเที่ยวตรงนี้ก่อน
หากมาจากสี่แยกกลางเมืองคือเลี้ยวขวาตรงมุมธนาคารกรุงเทพ ฯ ก็จะเข้าถนนตากสินมหาราช
หรือหากมาจากพัทยามาตามถนนสาย ๓๖ จนถึงระยอง ข้ามสะพานถึงสี่แยกไฟสัญญาณ ให้เลี้ยวขวาเข้าเมืองวิ่งตรงเรื่อยไปจะผ่านสี่แยกที่กลางเมือง
และตรงต่อไปอีกจะถึงชายหาดซึ่งหากเลี้ยวซ้ายก็จะมายังแหลมเจริญ
และทางขวาคือ หาดแสงจันทร์
ตลอดหาดนี้มีโรงแรมลักษณะเป็นคอนโดมากกว่าเป็นโรงแรม แต่สูงหลายชั้น มีร้านอาหารหลายร้าน
ร้านที่ควรแนะนำเพราะอาหารอร่อยมากแต่ราคาก็สูงมากเช่นกัน (ไม่เรียกว่าแพง
สูงตามประเภทอาหาร) คือร้านที่อยู่ปลายแหลมเจริญ เรียกว่าวิ่งกันจนสุดทางก็พบเอง
อยู่ซ้ายมือริมแม่น้ำระยอง ร้านกว้างขวางมาก สุขาแจ่มแจ๋วเป็นสากล อาหารยอดฮิตปลากะพงราดน้ำปลา
(ขีดละ ๔๐ บาท) ผัดผักโต้วเหมียว ผักเพื่อสุขภาพ กินแล้วระบบขับถ่ายจะดีเยี่ยม
กุ้งสลัดเผือก "แกงส้มไข่ปลาเรียวเซียว" (๓๐๐ ยฃบาท) กุ้งใหญ่เผา กิโลกรัมละ
๖๐๐-๙๐๐ บาท ปูนิ่มทรงเครื่อง ๒๕๐ บาท อาหารอร่อยทุกอย่าง เลยบอกราคาไว้ด้วย
๐๓๘ ๖๑๓๔๙๒ ไปเที่ยวหาดนี้จะเห็นหมู่บ้านชาวประมาง และเรือประมงจอดเรียงรายในแม่น้ำ
วัดป่าประดู่
เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หากมาตามถนนสุขุมวิท พอผ่านหน้าโรงพยาบาลระยองให้เลี้ยวซ้าย
(หรือจะเลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงพยาบาลก็ได้) วัดนี้เดิมชื่อวัดป่าเลไลยก์
แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าประดู่ เพราะมีต้นประดู่ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในวัด
เป็นวัดพระอารามหลวง มีสิ่งสำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์
เป็นพระนอนตะแคงซ้ายอยู่ในพระวิหาร มีอุโบสถหลังใหม่เป็นพระอุโบสถที่พึ่งสร้างงดงามแต่ที่ต้องยกย่องคือ
การย้ายพระอุโบสถหลังโบราณจากพื้นที่จะสร้างหลังใหม่ อยู่ห่างจากพระอุโบสถใหม่ประมาณ
๓๐ เมตร ย้ายมาทั้งหลังเลยทีเดียว เดิมเจ้าอาวาสจะรื้อท่านก็ล้มป่วยลง จนบริษัทรับเหมาทราบเข้ารับงานย้ายพระอุโบสถ
เจ้าอาวาสตกลงให้ย้ายแต่ไม่รื้อทิ้ง เจ้าอาวาสก็หายป่วย ให้ชมที่หน้าบันและด้านหลัง
มีปูนปั้นงามนัก วัดยังมีวิหารพระป่าลิไลยก์
อยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า
วัดเก่าอีกวัดหนึ่ง ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือ วัดโขดทิมทาราม
เดินข้ามถนนจากวัดป่าประดู่ เข้าซอยข้างธนาคารไทยพาณิชย์ มีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่
๓ เรื่องทศชาติชาดก
ศาลหลักเมืองระยอง
หากไปตามถนนสุขุมวิท ผ่านโรงแรมระยอง แล้วให้เลี้ยวขวาเข้าถนนหลักเมือง ศาลนี้สร้างมาตั้งแต่สมัย
พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นศาลเจ้าจีนมาก่อน และมาสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ตั้งอยู่ในวัดลุ่มมหาชัยชุมพล
หน้าศาลมีต้นสะตือใหญ่
กิ่งก้านแผ่ปกคลุมให้ความร่มเย็น องค์พระรูป ฯ ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง
ทรงเครื่องกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาทรงดาบ มีพระบรมรูปขนาดเล็กสูงประมาณ ๑ เมตร
ประทับยืนอยู่ตรงหน้าให้ปิดทองได้ วัดอยู่ถนนตากสินมหาราช พอเลี้ยวเข้าถนนสายนี้ก็เลี้ยวเข้าวัดได้เลย
ต้นสะตือใหญ่ต้นนี้ชาวระยองนับถือมากเพราะเมื่อครั้งเสด็จมาพักทัพที่ระยองก่อน
ไปตีจันทบุรีนั้น มาพักทัพที่นี่ ผูกช้างทรงไว้ที่ใต้ต้นสะตือนี้ และบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จมาในทัพ
พึ่งยกย่องให้เป็น "เจ้าตาก"
(ยังไม่ใช่กษัตริย์) ยกย่องกันที่ประทับอยู่ ณ เมืองระยองนี้ และออกว่าราชการก็จะประทับอยู่ใต้ต้นสะตือนี้
ชาวเมืองจึงนับถือ แม้แต่ตราประจำสำนักงานเทศบาลระยองก็เป็นรูปช้างทรงของพระเจ้าตากสินมหาราช
ผูกอยู่ที่โคนต้นสะตือ
นอกจากอาหารทะเลที่แหลมเจริญซีฟู๊ด ระยองมีร้านอาหารไม่มากนัก เหมือนตราด
เขาบอกว่าเพราะสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองน้อย อาหารสด ราคาถูก อาหารถุงหรือร้านอาหารธรรมดาที่ไม่ใช่แหล่งนักท่องเที่ยวราคาถูก
เลยไม่นิยมกินอาหารนอกบ้านกันนัก
มื้อค่ำ ในห้องคอฟฟี่ช๊อฟ
เป็ดย่าง หากไม่ออกรสหวานนิด ๆ จะอร่อยมากกว่านี้ นุ่ม รดน้ำชุ่มฉ่ำ มีผักกาดเขียวรองจาน
หนังไม่กรอบ
พล่าชาวเล จานนี้อย่าโดดข้ามไปเพราะอร่อย เป็นแกล้มอย่างดีทีเดียว กุ้งตัวเล็ก
สมุนไพรรสไทย
กระเพาะปลา ยกมาร้อนโฉ่ ใส่ไก่ฉีก เห็ดหอม ไข่นกกระทา น้ำเข้มข้น ซดชื่นใจนัก
ขาหมู เนื้อหมูมาก เปื่อย น้ำพะโล้รสดี ราดข้าวได้ แนมด้วยผักกาดดอง
น้ำพริกลงเรือ วางถ้วยน้ำพริกมาตรงกลาง ล้อมด้วยผัก ๗ ชนิด ทั้งผักสดและผักลวก
น้ำพริกข้น มีไข่เค็มทำเป็นลูกกลมเล็ก ๆ มีพริกขี้หนูโรยหน้า ไม่เผ็ด อร่อยลูกเดียว
อย่าสงสัยว่าทำไม ไม่ค่อยมีอาหารทะเล เพราะชาวระยองอยู่กับทะเลเลยหาอาหารอื่นกิน
เช่น เมื่อก่อนร้านสมาคมประมง อยู่ริมแม่น้ำระยอง อาหารอร่อยของเขาคือ ไก่อบสลัดผัก
ต้มยำระกำ และหมูสองชั้นทอด ถามเขาบอกว่าสมาคมประมง สมาชิกเป็นชาวประมงออกทะเลกันทุกวันเลยเบื่ออาหารทะเล
เดี๋ยวนี้ร้านนี้ย้ายไปแล้ว ตามหาพบแล้วยังไม่ได้ลองชิม
ปิดท้ายด้วยผลไม้ ตามฤดูกาล
.......................................................
|