พระราชวังพญาไท ผมเชื่อว่าน้อยท่านที่จะเคยเข้าไปเที่ยวชมภายในพระราชวังพญาไท พอดีพอร้ายพาลไม่รู้จักด้วยซ้ำไปแต่หากบอกว่าโรงพยาบาลพระมงกุฎ บอกอย่างนี้คนรู้จักแยะ เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลพระมงกุฎของทหารบกแห่งนี้รับคนไข้มากมายและคนไข้ ๗๔% ล้วนแต่เป็นประชาชนพลเรือน มีทหารเพียง ๒๖ % โดยประมาณเท่านั้น พระราชวังพญาไท เมื่อได้ให้ทหารเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว ก็เป็นหน่วยกรมแพทย์ทหารบกซึ่งอยู่ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎตราบจนกระทั่งกรมแพทย์ทหารบกได้ย้ายออกไปอยู่ ณ สถานที่ตั้งในปัจจุบัน ทางกองทัพบกจึงได้ขออนุมัติจากกรมศิลปากร(เพราะประกาศเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒) เพื่อบูรณะให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุดบัดนี้การปรับปรุงบูรณะต่าง ๆ เรียกได้ว่าเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และคงความเป็นพระราชวังไว้มิได้นำมาเป็นสถานที่ราชการเช่นแต่ก่อนอีก และได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ในวันราชการซึ่งผมจะลองพยายามเสนอแนะทางกองทัพบกว่า ให้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในวัดหยุดราชการได้หรือไม่ จากเข้าชมฟรีเป็นเก็บค่าเข้าชมสังคนละ ๒๐ บาท แล้วนำเงินจำนวนนี้มาเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าหน้าที่และวิทยากรซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ มีวิทยากรที่เป็นทหารทั้งสิ้น จึงทำงานกับแต่วันราชการและการเป็นวิทยากรของแต่ละท่านก็แบบสมัครเล่น ไม่มีอัตราให้บรรจุแต่ประการใด การได้เข้าชมพระราชวังพญาไทนั้นจะคุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะผมเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าชมอย่างใกล้ชิดมาก่อนเลยทั้งๆ ที่ตอนรับราชการก็เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เคยเป็นผู้แทนของกองทัพบกในการไปบำรุงขวัญทหารป่วยซึ่งมีการจัดเลี้ยงอาหารและการแสดงดนตรีหรือการบันเทิงต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือนแต่ทุกครั้งที่ไปก็ได้แต่อยู่บริเวณจัดเลี้ยงคือบริเวณสวนโรมัน ไม่เคยมีโอกาสไปเดินชมภายในพระราชวังและเมื่อก่อนนี้ก็เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการของกรมแพทย์ทหารบกด้วย ไปเดินชมก็ไม่สะดวกและหาความงดงามไม่ได้อย่างเต็มที่ภายในอดีตไม่ปรากฏให้เห็น แต่คราวนี้ผมมีโอกาสได้ไปชมภายในพระราชวัง เพราะทางกรมการแพทย์ทหารบกเชิญประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะไปเยี่ยมกรมแพทย์ทหารบก ผมอยู่ในคณะที่ปรึกษาจึงได้มีโอกาสร่วมขบวนไปด้วยและเมื่อจบภารกิจทางทหารแล้วทางกรมแพทย์ ฯ ก็แบ่งกลุ่มให้หมุนเวียนกันเข้าชมภายในพระราชวังโดยละเอียดโดยมีวิทยากรเป็น พันเอกหญิง นำกลุ่มผมชมพระราชวัง เมื่อชมแล้วก็นึกไม่ถึงเลยว่าจะงดงามมากเช่นนี้และจุดที่สำคัญที่สุดของผมซึ่งคิดว่าเป็นคนเขียนหนังสือคนหนึ่ง ได้มีโอกาสไปเห็นห้องทรงพระอักษรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวณ มุขของพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งจากห้องนี้ได้ทรงนิพนธ์วรรณคดีและทรงงานเขียนออกไปสู่บรรณกรรมอย่างมากมายแต่น่าเสียดายที่กองทัพบกคงจะไม่มีงบประมาณ จึงมีหนังสือที่นิพนธ์โดยพระองค์ท่านน้อยเกินไปผมเลยถือโอกาสเสียเลยว่าหากท่านผู้ใดมีหนังสือพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่๖ จำนวนมากแล้วหรือไปซื้อหาได้จากศึกษาภัณฑ์จะเป็นที่ราชดำเนิน หรือลาดพร้าวก็พอมีเป็นหนังสือเก่าราคาถูกเพราะขายไม่ดี และพิมพ์ไว้นานแล้ว ช่วยกันซื้อไปบริจาคให้หนังสือเต็มห้องทรงพระอักษรแห่งนี้ได้ก็จะดียิ่ง ส่วนจะไปชมได้อย่างไร ติดต่อใครที่ไหนเดี๋ยวผมจะบอกไว้ในตอนท้าย ทีนี่มาดูความเป็นมาของพระราชวังพญาไท ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๕๒ หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ได้มีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคฤหมงคล(ขึ้นบ้านใหม่) ในวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๓ และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไท หรือนามพระราชทานว่า "พระตำหนักพญาไทย"บ่อยครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสตรงกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๓ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง๑ สัปดาห์เท่านั้น วังพญาไท ตั้งอยู่ริมคลองสามเสนต่อกับทุ่งพญาไทเมื่อแรกสร้างวังนี้ที่ดินบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทั้งหมดรวมทั้งส่วนที่เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎ มหาวิทยาลัยแพทย์ทหาร ฯ "เป็นท้องทุ่ง"และสวนมีคลองสามเสนไหลผ่าน ที่ว่างบริเวณนี้มีอาณาเขตติดต่อกับทุ่งพญาไท ในสมัยรัชกาลที่๕ มีการสร้างพระราชวังดุสิตและจัดถนนเพิ่มอีกหลายสาย สายหนึ่งที่ตัดเข้ามายังบริเวณสวนนี้คือถนนซังฮี้ หรือถนนราชวิถี ("ซังฮี"เป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า "ยินดีอย่างยิ่ง") รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้ซื้อที่ดินที่เป็นสวนผักตอนหนึ่งที่เป็นทุ่งนาอีกตอนหนึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ แล้วโปรดให้สร้างพระตำหนักเพื่อเสด็จประพาสทรงพระราชทานนามว่า "พระตำหนักพญาไท" แต่ชาวบ้านเรียกขานกันต่อมาว่า "วังพญาไท" ที่ตำหนักพญาไท รัชกาลที่ ๕ โปรดใช้เป็นที่ทดลองปลูกธัญพืชต่าง ๆ มีการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นที่วังนี้เมื่อถึงฤดูทำนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงนำเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลงดำนาด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นการประเดิมชัยในการเกษตรกรรมของประเทศในแต่ละปีล้อมรอบพระราชวังคือทุ่งนา หากยืนที่พระที่นั่งพิมานจักรีมองออกไปทางด้านนาจะเห็นภาพงามตามธรรมชาติคือทุ่งนาผมเกิดไม่ทันเห็นภาพนี้ทั้งหมดแต่ยังทันเห็นในวัยเด็ก ว่าแถวทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟสามเสนยังเป็นสวนฝรั่งอยู่ โรงเรือนหลังแรกที่รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างขึ้นคือ "โรงนา" และพระราชทานนามว่า"โรงนาหลวงคลองพญาไท" เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้วเป็นผลให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีทรงพระประชวร พระอนามัยทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐาน จากในพระบรมมหาราชวังมาประทับที่วังพญาไทเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้ทรงสำราญและเพื่อความสะดวกของแพทย์ ที่จะถวายการรักษาตลอดจนพระประยูรญาติจะได้เข้าเยี่ยมได้โดยง่าย เมื่อเสด็จมาประทับนั้นปรากฎว่ามีผู้ติดตามมาอยู่ในพระราชสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวงวังพญาไทเป็นจำนวนร่วม ๕๐๐ คน มีทั้งพระประยูรญาติที่ใกล้ชิด ข้าหลวง โขลน จ่า ข้าราชบริพารน้อยใหญ่ซึ่งทุกคนจะได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือน เงินปี ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มอย่างอุดมสมบูรณ์ตามสมควรแก่ฐานะโดยทั่วถึง พ.ศ.๒๔๖๒ หลังจากที่สมเด็จ ฯ ประทับอยู่เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี ก็สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไทและได้โปรดเกล้าให้ยกวังพญาไทเป็นพระราชวังพญาไทเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี เมื่อทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับจึงโปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงท้องพระโรงหน้า ซึ่งโปรดให้สร้างถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีในตอนต้นรัชกาลเพียงองค์เดียวและระหว่างที่กำลังก่อสร้างพระราชมณเฑียรสถานอยู่นั้น ได้สร้างพระตำหนักอุดมวนาภรณ์หรือที่ได้พระราชทานนามใหม่ในภายหลังว่า พระตำหนักเมขลารูจีเป็นที่ประทับ ซึ่งต่อมาเมื่อพระตำหนักต่าง ๆ สมบูรณ์แล้ว ตำหนักน้อยเมขลารูจีที่อยู่ริมคลองสามเสนนี้ก็เป็นที่ทรงเครื่องใหญ่(ตัดผม) การก่อสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นแทนที่พระตำหนักเดิมนั้น ได้สร้างเป็นหมู่พระที่นั่ง๓ องค์ พระที่นั่งเดิมคงเหลือ พระที่นั่งประธานองค์เดียว คือ พิมานจักรีบริเวณหลังพระที่นั่ง ๓ องค์ คือ พระราชอุทยานซึ่งจัดเป็นสวนรูปแบบเรขาคณิตตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียน สมัย "เรอเนสซองค์" แต่เรียกกันว่า "สวนโรมัน" โปรดให้ย้าย "ดุสิตธานี" เมืองจำลอง ที่ทรงมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดสั่งสอนวิธีการปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาลตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ณ พระราชวังดุสิตมายังพระราชวังพญาไทเป็นการถาวร บทพระราชนิพนธ์ทางวรรณคดีอันทรงคุณค่า ทั้งเนื้อหาและวรรณศิลปหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง"มัทนะพาธา" ตำนานแห่งดอกกุหลาบก็ได้นิมิตขึ้นมาจากพระราชวังแห่งนี้ พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สนองพระราชดำริของรัชกาลที่๖ ซึ่งได้เคยมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธินผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ว่าพระราชวังพญาไทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่โต มีบริเวณกว้างขวางสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในการบำรุงรักษา หากปรับปรุงให้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งซึ่งเมืองไทยยังไม่มีเลยก็จะอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยียน และติดต่อธุรกิจในประเทศสยามและยังนำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารวมไว้ในงบของโรงแรมได้ด้วย แต่ไม่ทันดำเนินการตามพระราชดำริก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบสนองจากองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชแล้วจึงโปรดเกล้าให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อ"PHYA THAI PALACE HOTEL" และได้เสด็จมาเปิด "โฮเต็ลพญาไท"เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ โฮเต็ลพญาไทจัดว่าเป็นโรงแรมที่หรูหรา และได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในภาคตะวันออกไกลมีวงดนตรีสากลชนิดออเคสตร้า มีนักดนตรีประมาณ ๒๐ คน คัดมาจากวงดนตรีของกองดุริยางค์ทหารบกและดนตรีวงนี้จะบรรเลงให้ลีลาศกันในวันสุดสัปดาห์ สลับกับการแสดงโชว์กับคณะนักร้องจากยุโรปและเมื่อหลวงสุขุมนับประดิษฐ์ จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาก็ได้นำวงดนตรีแจ๊สเข้ามาบรรเลงที่โฮเต็ลแห่งนี้ โฮเต็ลพญาไทได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารี่กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๗๓ และในปีเดียวกันนั้นเองพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก "สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถานในบริเวณโฮเต็ลพญาไท โดยได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสตอบ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยถ่ายทอดจากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มาตามสายแล้วเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงสู่ประชาชนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย พ.ศ.๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน โฮเต็ลพญาไทในเวลานั้นขาดทุนอย่างมากกระทรวงกลาโหมต้องการใช้สถานที่เป็น "กองเสนารักษ์" คณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้มีมติให้เลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท พร้อมกับให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ไปตั้งรวมกับสถานีเครื่องส่งโทรเลขที่ศาลาแดง ตุลาคม ๒๔๗๕ กองเสนารักษ์ จังหวัดทหารบกกรุงเทพ ฯ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไทจนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๘๓ กองทัพบกได้พัฒนากองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๑ เป็นโรงพยาบาลทหารบกใช้พื้นที่ภายในเขตพระราชฐานทั้งหมด เนื่องจากพระราชวังพญาไท เคยเป็นพระราชฐานที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลานาน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน กองทัพบกจึงขอพระราชทานนามโรงพยาบาลทหารบกเป็น"โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า"ซึ่งได้ประกอบพิธีเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต(เสด็จสวรรคต กลางคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ เวลา ๐๑.๔๕ ซึ่งความจริงนับเป็นวันที่๒๖ แล้ว และ พ.ศ. ก็เช่นกันต้องทราบว่าเวลานั้นถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) ต่อมาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้สร้างอาคารใหม่และย้ายไปอยู่อาคารใหม่ ส่วนกรมแพทย์ทหารบกยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังจนกระทั่งปีพ.ศ.๒๕๓๒ จึงย้ายไปอยู่ที่บริเวณถนนพญาไทเขตราชเทวี และปรับปรุงพระราชวังพญาไทจนงดงามเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนให้เข้าชม ผมคงต้องขอต่อในรายละเอียดของพระราชวังแห่งนี้อีกสักตอน เพราะแม้แต่ตัวผมเองซึ่งท่องเที่ยวไปทั่ว ยังมีโอกาสได้มาเห็นพระราชวังแห่งนี้โดยละเอียดก็เมื่อายุใกล้ร้อยเต็มทีหากท่านไปชมโปรดติดต่อ สำนักงานชมรมคนรักวัง ฯ พระที่นั่งพิมานจักรี ชั้น๒ พระราชวังพญาไท เลขที่๓๑๕ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ ๑๐๔๐๐ โทร ๐๒ ๒๔๕ ๙๗๗๐ และ ๐๒ ๒๔๖ ๑๖๗๑- ๙ ต่อ ๙๓๖๙๔ ก่อนที่ไปอ่านรายละเอียดของแต่ละพระที่นั่งในตอนที่ ๒ ก็พาไปกินอาหารกันเสียก่อนร้านไชยโรจน์ อยู่ไม่ไกลนักจากพระราชวัง "ร้านนี้ปิดวันอาทิตย์" ไปชิมวันเสาร์จะดีที่สุดคนจะได้แน่นน้อยหน่อยวันธรรมดาคนจะแน่น อาหารร้านนี้เลิศ เร็วมาก บริการเยี่ยม ราคาถูก แถมยังมีอาหารประเภทซีเต็กซีตูว์ ด้วย ซึ่งอาหารฝรั่ง ครึ่งจีนแบบนี้หากินยากเข้าทุกทีที่ผมรู้จักก็มี มิ่งหลี ฟูมุ่ยกี่ และอาคาเว่ ถ้าเริ่มต้นจากสี่แยกปฏิพัทธ์ มาตามถนนพระราม ๖ วิ่งเรื่อยมาจนถึงสี่แยกตึกชัยฯ หากเลี้ยวซ้ายก็จะมายังพระราชวังพญาไท และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ตรงไปก็จะไปผ่านโรงพยาบาลสงฆ์ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกโรงพยาบาลสงฆ์นี้ตรงเรื่อยไป ผ่านกองพันทหารสารวัตร ผ่านโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุงทางขวา ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือติดกับศูนย์ทันตกรรมและหากเลยไปนิดหนึ่งคือพญาไท เพลส จอดรถได้แต่ต้องเสียสตางค์ หรือข้ามไปจอดอีกฝั่งหนึ่งคงจะพอแอบๆ เข้าจอดได้ของธนาคารทหารไทย ร้านขนาด ๒ ห้อง ดูเก่าแก่ ตอนอิ่มแล้วเดินเข้าสุขาจึงเห็นว่ามีป้ายเก่าแก่ใส่กรอบไว้ว่าเชลล์มาชิมเมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ คือ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ต้องบอกอีกทีว่าอาหารอร่อยมากบริการเร็วมาก ราคาถูก ได้กินข้าวสวยร้อน ๆ อาหารร้อน ๆ ปลากะพงราดพริกสามรส ปลาหั่นมาเป็นชิ้นทอดกรอบนอก นุ่มใน เผ็ดนิดเดียว สตูว์ลิ้นวัว ใครกินเนื้อวัวได้ต้องสั่ง เพราะอร่อยสุด ๆ เนื้อนุ่มน้ำเข้มข้น มันฝรั่งเหนียวมีรสซึมเข้าเนื้อ ตักน้ำสตูว์ราดข้าว เหยาะเสียด้วยน้ำปลาพริกข้าวสวยร้อน ๆ เข้ากันดีนัก ผัดเผ็ดหอยลาย ผัดกับพริกแกง เอามาคลุกข้าวได้ แกะเนื้อหอยออกจากเปลือกให้แล้วหอมกลิ่นโหระพา ซี่โครงหมูอบ ต้องสั่ง โรยมาด้วยถั่วลันเตา เช่นเดียวกับสตูว์ เพราะยกมาร้อนๆ ราดข้าวสวยร้อน ๆ อย่าบอกใครทีเดียวเป็นเนื้อติดซี่โครง จบแล้วจานนี้ไม่มีอะไรเหลือ ต้มยำกุ้ง ใช้กุ้งเล็กเสริฟมาในชามใบโต หอมกลิ่นตะไคร้ ใบมะกรูด ซดชื่นใจ ปิดท้ายด้วยไอศกรีมกะทิสด โรยหน้าด้วยข้าวโพด เคี้ยวสนุก ----------------------------------
|