บ้านสาขลา
บ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมคลองสาขลา ในตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์
จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพประมงชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้ง และปูทะเล และกลุ่มแม่บ้านเกษตรนาเกลือพัฒนา ได้ริเริ่มทำ
"กุ้งเหยียด"
ทำให้มีรสอร่อยเก็บเอาไว้ได้นาน ถึงกับกล่าวกันว่าใครไปบ้านสาขลา แล้วไม่ได้กินกุ้งเหยียด
ถือว่ามาไม่ถึงบ้านสาขลา แถมยังมีขายเพียงแห่งเดียว จะมีอีกแห่งก็ชาวบ้านสาขลานำไปขายเอง
ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ที่พระประแดง ในวันเสาร์ - อาทิตย์ ราคาจะแพงกว่าซื้อที่บ้านสาขลาเล็กน้อย
อยากกินหรืออยากรู้จัก กุ้งเหยียดก็ไปบ้านสาขลา มีให้ซื้อเอามากินได้ทุกวัน
จะไปบ้านสาขลา ก็ต้องไปอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เส้นทางไปอำเภอนี้ ผมไปจากบ้านลาดพร้าว
ขึ้นทางด่วนไปลงได้สองแห่ง ตอนเที่ยวไปผมลงจากทางด่วน ก่อนข้ามพระรามเก้าคือ
ลงตามป้ายที่บอกว่าไปลงถนนพระราม ๓ แล้ววิ่งตามป้ายไปเพื่อข้ามสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม
ซึ่งผมกำลังเห่อที่จะวิ่งข้ามไป เคยวิ่งข้ามมาในวันที่ไปชิมอาหารร้านก๋วยเตี๋ยว
แต่ไปสบาย ๆ คือ ข้ามสะพานพระราม ๙ แล้วชิดซ้ายลงสู่ถนนสุขสวัสดิ์ พอลงถนนสุขสวัสดิ์แล้วก็เลี้ยวซ้าย
วิ่งไปลอดใต้สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ผ่านสามแยกพระประแดง ลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำ
ที่กำลังสร้างอีกแห่งหนึ่ง (น่าจะข้ามไปลงใกล้ ๆ ปากน้ำ) จนถึงสามแยกหอนาฬิกา
หากเลี้ยวขวาจะไปยังที่ตั้งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ และไปบ้านสาขลา หากตรงไปประมาณ
๑ กม. จะถึงริมแม่น้ำที่เป็นปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่เป็นที่ตั้งของวัดพระสมุทรเจดีย์
วิ่งเลยประตูไปก่อน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าลานจอดรถ ที่อยู่หน้าทางเข้าสวนสิริกิต
ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์
เดิมเป็นเจดีย์กลางน้ำ
แต่เนื่องจากแผ่นดินงอกออกไป ทำให้พระสมุทรเจดีย์กลายมาเป็นพระเจดีย์ตั้งอยู่บนบก
หากอยากมองว่าเป็นกลางน้ำ ต้องข้ามไปมองมาจากฝั่ง "ปากน้ำ" ริมตลิ่งด้านหน้าพระสมุทรเจดีย์
เป็นเกาะน้อย ๆ มีคลองกั้น มีท่าเรือ ซึ่งเรือข้ามฟากจากฝั่งปากน้ำ (รถข้ามมาไม่ได้)
จะมาส่งคนโดยสารที่ท่าข้าง ๆ พระสมุทรเจดีย์ มองจากฝั่งปากน้ำกลับมาจะยังเห็นเป็นเจดีย์กลางน้ำ
ที่เมื่อก่อนนี้ชาวเรือถือว่า มองเห็นพระเจดีย์เมื่อใดก็แสดงว่า ใกล้เทียบท่ากรุงเทพ
ฯ แล้ว เตรียมตัวได้
ประวัติของพระสมุทรเจดีย์ เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ ๒ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๕
แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ ๓ โปรด ฯ ให้สร้างพระเจดีย์กลางเกาะ ใกล้ป้อมผีเสื้อสมุทร
ก่อสร้าง ๓๐ ต.ค.๒๓๗๐ แล้วเสร็จ ๒๘ พ.ค.๒๓๗๑
ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรด ฯ ให้สร้างเจดีย์ทรงกลมแบบเดียวกับที่อยุธยา ครอบทับพระเจดีย์องค์เดิมสูง
๓๙ เมตร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ๑๒ องค์ สร้างเก๋งจีน หอระฆัง พระวิหาร
พร้อมสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร (พระประจำพระชนมวารของ ร.๓) และพระปฎิมาชัยวัฒน์
เป็นพระพุทธรูปประจำพระวิหาร พระวิหารเปิดให้เข้าไปนมัสการได้
เสาหินหัวเหลี่ยม
รอบองค์พระเจดีย์ จะเห็นเสาหินหัวเหลี่ยมฝังอยู่ในดิน เพื่อไว้ตั้งตะเกียงให้เรือมองเห็น
และห่างกันสักศอก มีเสาหินทราย โคนเสาฝังในดิน ไว้ให้ผูกเรือที่มาไหว้พระ
ท่าเทียบเรือ
เป็นท่าที่สร้างยื่นออกไปจากเกาะที่ตั้งองค์พระสมุทร พังเกือบหมดแล้ว
หอเทียน
หอระฆัง ร.๔ โปรด ฯ ให้สร้างเพื่อจุดประทีปให้ความสว่างเวลากลางคืน หลังไหว้พระแล้วให้มาตีระฆัง
เพื่อบอกให้สวรรค์รู้ว่าได้มาทำบุญ
กำแพงแก้ว
สร้างรอบองค์พระเจดีย์ สูง ๒ ศอก ประดับด้วยหินลายจีน
ศาลาราย (เก๋งจีน)
ร.๓ โปรด ฯ ให้สร้างมี ๔ ศาลา รื้อถอนไป ๒ ศาลา
ศาลาทรงยุโรป
รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้รื้อถอนวิหารน้อย ๒ หลัง เนื่องจากชำรุดมาก โปรด ฯ
ให้สร้างศาลาโถง ๕ ห้อง ลักษณะทรงยุโรปอยู่ติดกับองค์พระเจดีย์ สีขาวสวยมาก
ประตูโค้งมน สถานที่นี้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น เมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
ภายในมีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๒ ประทับนั่ง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งามยิ่ง เป็นภาพพระสมุทรเจดีย์ดั้งเดิม
สมัยที่ยังเป็นเกาะกลางน้ำ มีป้อม มีเรือใบ เรือพระที่นั่งแสดงอยู่ในภาพทั้งหมด
แต่น่าเสียดายที่ศาลาหลังนี้ ประตูหน้าต่างเป็นกระจกปิดหมดทุกบาน ประตูเข้าใส่กุญแจดอกโต
ไปทีไรได้แต่ยืนมองผ่านกระจกบานประตูเข้าไป น่าจะมีวันเวลาเปิดให้เข้าไปชมได้
เสียดายจริง ๆ
ฐานโพธิ์ สร้างพร้อมศาลาโถง ๕ ห้อง ปลูกต้นโพธิ์ นำหน่อมาจากพุทธคยา มาปลูกไว้
บ้านสาขลา
จากพระสมุทรเจดีย์ กลับออกมายังสามแยกนาฬิกา เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสุขสวัสดิ์
หรือ ๓๐๓ ไปจนถึง กม.๒๔ ทางขวาคือ ประตูใหญ่ยกป้ายไว้ว่า เทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า
เลี้ยวขวาผ่านเข้าประตูนี้ไปอีก ๑ กม. จะถึงที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์
ซึ่งอำเภอนี้ตั้งเเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ และยกขึ้นเป็นอำเภอขึ้น เมื่อ
พ.ศ.๒๕๓๔ ถนนตั้งแต่ทางแยกเข้ามากำลังก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีต คงจะเสร็จเรียบร้อยในปี
๒๕๕๐ นี้ จากหน้าที่ว่าการอำเภอวิ่งผ่านทุ่งนา ผ่านบ่อน้ำขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นหรือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง
เลี้ยงปลา ปู ไปตลอดทางจนถึงบ้านสาขลา ระยะทางจากหน้าอำเภอถึงหมู่บ้าน ๘ กม.
หน้าอำเภอมีร้านส้มตำยกครก ข้าวขาหมูนายใหญ่ ต้องอร่อยแน่ เพราะเห็นมาหลายปีแล้วยังอยู่ดี
พอเลยอำเภอไปมีร้านอาหารระดับภัตตาคาร ปลูกอยู่ในน้ำ อีกร้านยังไม่เคยชิมแต่ก็เห็นมาหลายปีแล้วเช่นกัน
บอกล่วงหน้าเสียก่อนว่าวันนี้ผมจะพาไปชิมมื้อกลางวันร้านในหมู่บ้าน ชาวบ้านแท้
ๆ เป็นหนึ่งเดียวในหมู่บ้านสาขลา เห็นร้านแล้วอาจจะไม่อยากนั่งชิม จะเปลี่ยนใจกลับออกมาชิมส้มตำยกครก
หรือข้าวขาหมูหรือระดับภัตตาคารกลางน้ำ ร้านปูหลนก็ตามใจชอบ ถ้าจะชิมสวนอาหารก็ต้องสั่งอาหารจากปู
ส้มตำปูดอง ส่วนครัวปูหลน คำแรกต้องสั่งปูหลน ต่อไปก็หอยพิมผัดฉ่า ยำไข่แมงดา
ปูทะเลไข่นึ่ง ฯ
๘ กม.จากที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ก็เข้าหมู่บ้านเป็นถนนที่แคบมาก แต่รถท้องถิ่นจะมีมรรยาทดีมาก
จอดให้รถนักท่องเที่ยวผ่านไปก่อน พอเข้าหมู่บ้านก็จะเห็นวัดให้วิ่งรถข้ามสะพานข้ามคลอง
เข้าไปจอดในลานวัด จอดรถสะดวก จากนั้นก็เดินชมหมู่บ้าน ถนนจบที่ สภ.ต.บ้านสาขลา
เลยหน้าวัดไปสัก ๕๐ เมตร มีถนนเท่านี้ นอกนั้นในหมู่บ้านนี้เป็นทางคนเดินคอนกรีตกว้างสัก
๒ เมตร จักรยาน มอเตอร์ไซด์ไปได้ตลอดทั่วหมู่บ้าน
บ้านสาขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ริมทะเลปากอ่าวไทย ริมคลองสาขลา ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า
๒๐๐ ปี อาชีพดั้งเดิมทำนาเกลือ
ต่อมาเปลี่ยนอาชีพเป็นทำวังกุ้ง
และเลี้ยงปูทะเล ประมงชายฝั่ง
วัดสาขลา
มีเจดีย์ประหลาดคือ เจดีย์เอียง
ไม่ได้สร้างให้เอียง แต่เอียงเองเพราะสร้างไว้ริมคลอง เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วเกิดน้ำท่วมขัง
ทำให้เจดีย์เอียง และคงอยู่ในสภาพนั้นไม่ล้มลงมา (ยังกับหอเอนเมืองปิซ่า ในอิตาลี)
บนพระเจดีย์มีพระพุทธรูปยืนทั้ง ๔ ด้าน
อุโบสถ วันที่ผมไปกำลัง
"ดีด" ไบสถ์ทั้งหลังเพื่อให้พ้นจากการถูกน้ำท่วม มีหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ให้เข้าไปกราบไหว้เคารพบูชาขอพรกัน
ไปชมเจดีย์เอียงทางด้านขวา ไปไหว้หลวงพ่อโต
จอดรถเอาไว้ในวัดแล้วเดินออกมาข้ามสะพาน พอลงสะพานเลี้ยวขวาจะผ่านศาลเจ้าพ่อ
เดินไปตามทางเดินไปสัก ๕๐ เมตร เป็นร้านโล่ง ๆ ไม่มีประตู ไม่มีฝากั้น มีกั้นไว้นิดเดียวพอให้เห็นเป็นที่ทำครัว
ไม่มีเด็กเสริฟ มีลูกสาวตัวน้อย แต่ทอดไข่เจียวน่ากิน มีอาหารสำเร็จรูปใส่ถาดวางไว้
เห็นมีเป็ดผัดฉ่า ผัดวุ้นเส้น ผัดเผ็ดปลาดุก แกงส้ม และกุนเชียงปิ้ง ปิ้งเกรียมน่ากินจริง
ๆ (บอกว่ามาจากปากน้ำ) ดูหน้าตาอาหาร ยังไม่ทันสั่งอาหารกิน สั่งใส่ถุงกลับบ้านก่อน
สั่งกลับมาบ้านมีผัดวุ้นเส้น เป็ดผัดฉ่า กุนเชียงปิ้ง (คู่ยาว ๆ) ไม่ได้บอกราคาว่าจะซื้อเท่าใด
เขาก็ตักแบบตักขายชาวบ้านมาให้ กลับมาเทใส่จานได้ ๒ จาน เต็ม ๆ กินไป ๒ มื้อ
ราคาคงจะไม่เกินถุงละ ๒๐ บาท ยืนซักถามอาหารกันตรงหน้าเตานั่นแหละ เพราะไม่มีเมนูอาหาร
สั่งกุ้งทอดกระเทียม บอกว่ามีแต่กุ้งเล็ก ก็บอกไปว่ากุ้งเล็กก็เอา แถมบอกอีกจานนี้แพงนะ
ก็บอกราคาว่าจานนี้ต้อง ๕๐ บาท ราคาแพงของเขา สั่งอีกต้มยำทะเล (๓๐ บาท) และปลาเก๋าผัดฉ่า
(๓๐ บาท) ข้าวเปล่า ๒ จาน น้ำแข็ง ๒ แก้ว และน้ำอัดลม ๑ ขวด (ไม่มีน้ำขวด
มีแต่น้ำให้กินฟรี)
นั่งร้านนี้จะได้สัมผัสกับชีวิตชาวบ้านแท้ ที่จะเดินผ่านไปมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เดินกลับบ้าน
จะแวะร้านนี้ บางคนก็แวะมานั่งเฉย ๆ หรือเข้ามาตักน้ำในถังซดฟรีเสียแก้วหนึ่งแล้วก็คุยกันก่อนจะเดินต่อไป
ชาวบ้านบอกอีกว่าหากเดินไปท้ายซอยหน้าร้านนี้จะไปถึงร้านสินค้าโอท็อป ที่สต๊าฟปูเอาไว้จำหน่าย
ถามว่าเดินไกลไหม บอกว่าไกล ลองชาวบ้านบอกว่าไกลก็ไม่อยากเสี่ยง ป้าบอกว่าไปได้
โดยมอเตอร์ไซด์ ผมไม่ถูกกับการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ ร้านริมทางเดินและริมคลองสาขลา
มีอีกาตัวดำ ๆ มาเกาะร้องกากาให้ฟังด้วย อีกาหายไปจากกรุงเทพ ฯ นานหลายสิบปีแล้ว
มีเรือหางยาววิ่งช้า ๆ อยู่ในคลอง ชาวบ้านจะขี่จักรยาน เดิน ขี่มอเตอร์ไซต์มาซื้อกับข้าวร้านนี้ตลอดเวลาทั้งที่จะบ่ายแล้ว
ร้านของหมู่บ้านจริง ๆ
ต้มยำรวมมิตร เป็นต้มยำทะเล มีทั้งกุ้ง ปลา ปลาหมึก รสแซ๊บร้อนโฉ่ ไม่ต้องปรุงอีก
กุ้งทอดกระเทียม กุ้งตัวเล็กไปหน่อย แต่ปรุงรสดี มีแตงกวาวางขอบจาน
ปลาเก๋าผัดฉ่า เอามาแต่เนื้อปลาสีขาว ปลาชิ้นใหญ่ สมุนไพรในผัดฉ่ามีมาก กลิ่นหอมฟุ้ง
กุ้งทอดกระเทียมและต้มยำรวมมิตร ชิมสองคนเหลือกว่าครึ่ง ต้องใส่ถุงเอากลับมา
ราคาสมเป็นราคาอาหารร้านเดียวในหมู่บ้านนี้คือ ๒๐๐ บาทถ้วน รวมหมดทั้งเป็ดฉ่า
ผัดวุ้นเส้น กุนเชียง กุ้งทอดกระเทียม ปลาเก๋าผัดฉ่า ต้มยำรวมมิตร ข้าวเปล่า
น้ำแข็ง น้ำอัดลม
กลับจากร้าน ยังไม่เลี้ยวซ้ายไปเอารถที่ลานวัด เลี้ยวขวามาผ่านร้านข้าวต้มผัดที่ห่อเหมือนข้าวต้มลูกโยน
ห่อละ ๕ บาท ซื้อเอากลับมากินกับไอศครีม (ที่บ้าน) เลยต่อไปร้านกุ้งเหยียด
หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนาเกลือพัฒนา ๐๒ ๘๔๘ ๔๒๔๐ ร้านนี้โล่ ป้ายชวนชิมมีมาก
ผมเคยเขียนเล่าไว้สัก ๒ - ๓ ปีมาแล้ว เอารถเข้ามาจอดข้างร้านก็ได้ หน้าร้านเคยมีหอยแมลงภู่ทอด
วันนี้ไม่มี ร้านนี้คือต้นตระกูลกุ้งเหยียด ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำกุ้งสดมาวางเรียงกันในหม้อต้ม
ประมาณ ๔ - ๕ ชั้น โดยไม่ต้องเติมน้ำ เพราะน้ำในตัวกุ้งจะคายออกมาเอง โรยน้ำตาลทราย
เกลือป่น นำเขียงหรือครกที่มีน้ำหนักมาวางทับ พอต้มจนสุกแล้วจะได้กุ้งที่เหยียดตรง
ตัวกุ้งเป็นมันวาว กินอร่อยนักแล จะกินจริง กินเล่น กินแกล้ม เป็นอร่อยหมด
ผมชอบเอามากินกับข้าวต้ม หรือกินกับข้าวราดแกง ป้าใส่ไว้ ๒ ชามอ่างใหญ่ ๆ
เป็นอ่างกุ้งธรรมชาติ กับกุ้งเลี้ยงราคาผิดกัน ซื้อกุ้งธรรมชาติจะอร่อยกว่า
จัดแบ่งใส่ถุงไว้ กุ้งธรรมชาติถุงละ ๑๔๐ บาท คงจะประมาณครึ่ง กก. มาคราวก่อนซื้อเป็น
กก.ราคา กก.ละ ๓๐๐ บาท แสดงว่าราคาลดลง
เลยร้านป้าไปอีกนิด จะมีร้านขายปลาเค็มชนิดแดดเดียว ตากแห้งเลยทีเดียว ต้องเลยไปอีกร้าน
แต่ผมซื้อจากร้านประเภทตากแดดเดียว ผึ่งอยู่หน้าร้านมีปลาหวาน ปลากระบอกเค็ม
ปลาหมอเทศ ไม่เค็มมาก ซื้อมาแล้วต้องเก็บในตู้เย็น เย็นวันไหนต้มข้าวต้ม งัดเอาปลาเค็มมาทอด
เปิดถุงกุ้งเหยียด ซดข้าวต้มร้อน ๆ ข้าวหมดชามไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
.............................................
|