www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
ท่องเที่ยวไทย
พระเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท
อำเภอท่าม่วง
อยู่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอำเภอที่มีวัดสำคัญและถ้ำที่งดงามและมีความสำคัญอยู่หลายถ้ำด้วยกัน
"พระเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท" เป็นพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่งที่ควรแก่การไปชม
ไปสักการะบูชาให้ได้ และเมื่อได้ไปพบเห็นแล้วจะเข้าใจเองว่า คิดถูกแล้วที่ได้มีโอกาสมาสักการบูชา
องค์พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ และจะนึกไม่ถึงว่าในอำเภอท่าม่วงซึ่งไม่ใช่อำเภอที่ใหญ่โตกว้างขวางนักแต่ทำไมจึงมีพระมหาเจดีย์สำคัญ
พระเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท อยู่ในวัดถ้ำเสือและมีอีกหลายวัดที่อยู่ใกล้ ๆ
กัน เทือกเขาเดียวกัน ผมจะกล่าวถึงเสียก่อนแล้วจึงเล่าถึงเจดีย์เกษแก้วมหาปราสาท
ให้ละเอียดเท่าที่ทราบ
การไปยังวัดถ้ำเสือ เพื่อจะไปยังเจดีย์ ฯ ไปตามเส้นทางที่จะไปยังจังหวัดกาญจนบุรี
จนผ่านอำเภอบ้านโป่ง พอถึงอำเภอท่ามะกา ก็ตัดเข้าถนนสายเก่า ที่เชื่อมระหว่างอำเภอท่ามะกา
กับอำเภอท่าม่วง เมื่อผ่านเข้ามาในอำเภอท่าม่วงแล้ว พอมาถึงโรงพยาบาลก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลองชลประทาน
ไปสัก ๕๐๐ เมตร จะถึงประตูเข้าเขื่อน ซึ่งเดิมได้รับพระราชทานนามไว้ว่าเขื่อนวชิราลงกรณ์
แต่บัดนี้ได้นำพระนามนี้ไปพระราชทานให้แก่เขื่อนเขาแหลม ที่อำเภอทองผาภูมิว่า
นามเขื่อนวชิราลงกรณ์ ส่วนเขื่อนที่ท่าม่วงนี้คงนามว่าเขื่อนแม่กลอง ซึ่งเป็นเขื่อนที่กั้นลำน้ำที่เกิดจากการรวมตัวของแควน้อยกับแควใหญ่
ที่ไหลมาจากกาญจนบุรีแล้วมารวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง ไหลออกสู่อ่าวไทย ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
วิ่งเข้าประตูเขื่อนไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็จะถึงวัดถ้ำเสือ ซึ่งวัดถ้ำเสือตั้งอยู่บนเขาน้อย
เขาลูกเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ติดกับวัดถ้ำเสือเรียกว่า หันข้างชนกันคือ
วัดถ้ำเขาน้อย
เมื่อไปวัดถ้ำเสือแล้วก็ควรมาแวะวัดถ้ำเขาน้อยด้วย เพราะอยู่ติดกันและน่าชมเช่นกัน
แม้จะมีสิ่งน่าชมน้อยกว่ามากแต่ก็ควรแก่การแวะชม วัดถ้ำเขาน้อย มี.-
เก่งจีน สร้างอยู่บนยอดเขาน้อย งดงาม
สูงเกือบจะประชันกับพระเจดีย์เกษแก้ว ฯ แต่ไม่ถึงกับบังกัน เพราะพระเจดีย์สูงตระหง่านกว่ามาก
นอกจากนี้ในวัดถ้ำเขาน้อยยังมีถ้ำพระ ในถ้ำพระมีพระพุทธรูปเก่า ๆ อยู่หลายองค์
แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด
สำนักสงฆ์ถ้ำเขาแก้ว
อยู่ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง ซึ่งผมได้บอกแล้วว่าแถวนี้วัดและถ้ำมาก ป้ายชี้ทางจะขึ้นเต็มไปหมด
คอยตามดูป้ายใหดี ๆ ก็แล้วกัน กำหนดเอาไว้เลยว่า จะไปวัดไหน ถ้ำไหนบ้าง แล้วคอยดูป้ายสำนักสงฆ์ถ้ำแก้ว
ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ปากถ้ำแก้ว ถ้ำนี้จะมีหินงอกหินย้อยจำนวนมาก ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก
อยู่บนเขาสูงประมาณ ๒๐ เมตร ชื่อเขาหัวแรด เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่
ให้สังเกตุว่าเทือกเขาที่ใดเป็นเขาหินปูน จะทำให้เกิดถ้ำที่งดงามขึ้นจากการเกิดหินงอกหินย้อยเขาในกาญจนบุรีส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนขนาดใหญ่
จึงทำให้เกิดถ้ำที่งดงามจำนวนมาก เพราะหินปูนปล่อยให้น้ำฝนหรือน้ำที่รากไม้ดูดเอาไว้มาก
ซึ่มผ่านลงมาได้เมื่อเข้ามาสู่ที่ว่างภายในถ้ำก็จะเกิดการแข็งตัวค่อย ๆ ย้อยลงมาเรื่อย
ๆ ส่วนที่ลงเร็วก็ตกลงไปกองที่พื้นล่างแล้วจับกันแข็งตัว ก่อตัวสูงขึ้น นาน
ๆ หลายร้อยหลายพันปีก็จะขึ้นไปสูงจนบรรจบกันได้ แต่กว่าจะบรรจบกันได้ หรือเกิดขึ้นจนแน่นถ้ำ
จนถ้ำหมดความงามเพราะแน่นไปหมด ก็คงกินเวลานับพันปี การเข้าชมถ้ำต้องติดต่อพระสงฆ์ท่านเสียก่อน
เพื่อให้ท่านเปิดไฟฟ้าให้ อย่าลืมช่วยค่าไฟฟ้าวัดด้วยก็แล้วกัน
จุดชมทิวทัศน์ อยู่บนยอดเขาหัวแรด ซึ่งสูง ๒๕๐ เมตร จุดนี้จะเห็นความงดงามของทิวทัศน์
อ.ท่าม่วง และลำน้ำแม่กลองเหนือเขื่อนได้เป็นอย่างดี ขอย้ำไว้อีกนิดว่าหินย้อยในถ้ำแก้วนี้งดงามยิ่งนัก
วัดถ้ำมังกรทอง
เพื่อชมโบราณวัตถุและการแสดงแม่ชีลอยน้ำ วัดนี้เก่าแก่อายุกว่าร้อยปี อยู่บนเทือกเขาหินปูนเทือกเดียวกับถ้ำแก้ว
แต่ต้องไปเข้าคนละทางกัน ไปวัดนี้ต้องมาตามถนนสาย ๓๒๓ คือ สายที่จะเข้าเมืองกาญจนบุรี
จนถึงสามแยกหน้าศาลากลางจังหวัดให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนแม่น้ำแม่กลอง ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง
ถึงสามแยกที่มีป้อมตำรวจตรงไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จะเข้าถึงทางเข้าวัด
สิ่งที่น่าสนใจ สำหรับวัดถ้ำมังกรทองคือ พิพิธภัณฑ์วัดถ้ำมังกรทอง
รวบรวมพระเก่า ๆ จากกรุเมืองกาญจนบุรี อาวุธสงครามเช่น มีดและหอกที่หลงเหลือมาจากสงครามไทย
พม่า ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ถ้ำเขามังกรทอง
ต้องขึ้นบันไดไปจากลานวัด ๙๔ ขั้น เมื่อเข้าไปในถ้ำที่ลึกประมาณ ๖๕ เมตร ก็จะมีพระพุทธรูปหลายองค์
ตัวถ้ำมีซอกหินสลับซับซ้อน หินงอก หินย้อย ก็มีบ้างแต่ไม่สวยนักเพราะเข้าขั้นที่หยุดการสะสมตัวแล้ว
อย่างที่ผมบอกงอกขึ้นไป ย้อยลงมาจนแน่นไปหมดและน้ำไม่ผ่านลงมาอีกแล้ว จึงไม่เกิดเพิ่มหรือไม่มีที่ว่างจะให้เกิดได้อีก
ส่วนแม่ชีลอยน้ำเป็นการแสดงสมาธิทำให้ตัวลอยน้ำได้ จัดแสดงเป็นรอบ รอบละ ๑๐
นาที หากคนดูน้อยคิดค่าแสดงเป็นรอบละ ๒๐๐ บาท คนดูเกิน ๒๐คน เก็บคนละ ๑๐ บาท
กลับมายังวัดถ้ำเสือ มีลานกว้างให้จอดรถได้ แต่หากเป็นวันหยุดหรือรถบัสคันใหญ่
บางทีลานจอดรถกันเต็ม ต้องไปอาศันลานของวัดถ้ำเขาน้อยที่อยู่ติดกัน ลานกว้างกว่า
รถจอดน้อยกว่าเดินมานิดเดียว ลานด้านหนึ่งเป็นซุ้มขายอาหาร ขายของฝาก ของกิน
ของพื้นเมืองมากมาย อีกด้านหนึ่งมีศาลาจำหน่ายวัตถุมงคล จำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน
ก่อนจะขึ้นไปยังพระเจดีย์ มาทราบประวัติวัดถ้ำเสื้อกันสักเล็กน้อย วัดถ้ำเสือเป็นวัดใหม่
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ไม่น่าเชื่อว่าเวลาสามสิบปีจะสร้างได้ขนาดใหญ่โตเช่นนี้
"พระครูสิทธิวิมล" ได้ธุดงค์มาพบเศษอิฐและเจดีย์เก่าในบริเวณนี้จึงบูรณะขึ้น
แล้วสร้างวัดบนภูเขาเล็ก ๆ กลางทุ่งนา "หลวงพ่อชื่น" หรือท่านพระครูผู้สร้างได้มรณะภาพไปแล้ว
การจะขึ้นไปยังพระเจดีย์หรือตัววัดบนเขานั้นจะขึ้นบันไดไปก็ได้ ขอใช้คำว่าดูเหมือนมีบันไดปูน
๑๕๙ ขั้น แต่ผมเลือกขึ้นทางรถไฟฟ้า เสียสตางค์ ๑๐ บาท ทั้งขึ้นและลง เมื่อขึ้นไปแล้วจะมีสิ่งที่ควรแก่การสนใจและการสักการะบูชา
ดังนี้.-
พระพุทธรูปปางประธานพร
ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองกาญจนบุรี หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอก ๙ นิ้ว องค์พระพุทธรูปประดับด้วยแก้วโมเสก
สีทองระยับตาทั้งองค์ "หลวงพ่อพุทธชินประธานพร" องค์พระงดงามมาก และมีรางเลื่อนหน้าพระ
ในรางเลื่อนมีบาตรรองรับการตักบาตรด้วยเงิน ไหลผ่านหน้าองค์พระไป ติดกับองค์พระพุทธรูปคือ
อุโบสถอัฐทุข ลักษณะเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายงดงามมาก ที่ผมชอบมากคือ
อุโบสถหลังนี้มีขนาดเล็กกระทัดรัดแต่งดงาม เข้าไปดูข้างในจะเห็นความงดงามมากขึ้น
ภายในมีภาพลายปูนปั้นของพระพุทธองค์ และหากออกไปทางระเบียงเล็ก ๆ ดัานหลังของอุโบสถจะได้เห็นวิวของท้องทุ่งนาที่เป็นธรรมชาติที่งดงาม
ซึ่งคนกรุง ฯ มีโอกาสได้เห็นน้อยเต็มที
พระเจดีย์เกศษแก้วมหาปราสาท เป็นเจดีย์สูง ๕๙ เมตร มี ๙ ชั้นสร้างแบบปรางค์ปราสาท
สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันได้เสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
ไว้ที่บนชั้นสุดของพระเจดีย์ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ ได้เสด็จมายกช่อฟ้าพระเจดีย์
การขึ้นไปบนพระเจดีย์ มีลิฟท์สำหรับบริการขึ้นจากห้องฐานพระเจดีย์ คิดค่าขึ้น
- ลงลิฟท์ คนละ ๑๐ บาท ลิฟท์จะพาขึ้นไปถึงชั้น ๗ ซึ่งเป็นชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
ต้องขึ้นบันไดต่อไปอีกชั้น จึงถึงชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยสร้างเป็นเหมือนพระเจดีย์ซ้อนไว้ภายใน
และที่พระเจดีย์องค์ในนี้ ส่วนฐานจะบรรจุพระอรหันต์ธาตุเอาไว้ ส่วนจะเป็นพระอรหันต์ธาตุองค์ใดบ้าง
มีภาพและนามของพระอรหันต์องค์นั้นอธิบายไว้ที่ชั้นล่าง ส่วนยอดของพระเจดีย์องค์นี้จึงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ถ้ำเสือ นามของวัด เป็นถ้ำขนาดเล็กที่อยู่ที่เชิงเขา ภายในประดิษฐานพระประจำวันเกิด
แต่จะเปิดให้เข้าได้เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น
กลับลงมาจากพระเจดีย์แล้ว ก็ลองเร่เข้าไปยังแผงขายผลไม้แช่อิ่ม ซึ่งอยู่บนลานบนเขาหน้าเจดีย์
ยังไม่ลงรถไฟฟ้ามาข้างล่าง มีผลไม้แช่อิ่มขายหลายเจ้าอร่อยดี ซื้อมาเป็นเสบียงติดรถกินแก้ง่วงและแวะลายจอดรถข้างล่างก็มีรถมาขายอาหาร
มีแพงขายพลอย ทับทิม มรกตของกาญจนบุรีจำหน่ายด้วย ส่วนสนมราคาเป็นอย่างไรผมบอกไม่ได้
เพราะไม่ใช่นักซื้อเพชร พลอย จำพวกนี้
กลับออกมาจากวัดถ้ำเสือ มาสู่ถนนใหญ่เข้าเมืองกาญจนบุรี หากใครจะขอเอกสารการท่องเที่ยว
จะมีการท่องเที่ยวอยู่ทางขวามือก่อนถึงสี่แยกกลางเมือง ไปแวะขอเอกสารและคำแนะนำได้
เมื่อวิ่งผ่านสี่แยกไฟสัญญาณกลางเมืองไปแล้ว ไปผ่านสถานีรถไฟทางขวามือ ผ่านสุสานทหารสัมพันธมิตรทางซ้าย
ตรงต่อไปก็จะไปข้ามทางวรถไฟ ซึ่งเมื่อเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังร้านอาหารชื่อโสฬส
ที่อยู่ริมแม่น้ำแควที่เคยแนะนำไปแล้ว ตรงต่อไปจะมุ่งไปทางอำเภอลาดหญ้า แต่พอผ่านสี่แยกแก่งเสี้ยนก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน
๓๒๓ ซึ่งสายนี้ก็จะพาไปยัง อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี และสุดทางที่ด่านพระเจดีย์สามองค์
ชื่อด่านที่คุ้นหูคนไทยยิ่งกว่าด่านใด ๆ
เมื่อเลี้ยวสซ้ายเข้าถนน ๓๒๓ วิ่งไปประมาณ ๑๑.๕ กิโลเมตร จะพบสี่แยกชื่อว่า
สี่แยกพุเลี๊ยบ ที่สี่แยกนี้หากเลี้ยวขวาจะไปยังอำเภอลาดหญ้า และวัดลาดหญ้าของหลวงพ่อลำใยอีกเส้นทางหนึ่ง
แต่หากเลี้ยวซ้ายจะมาผ่านโรงเรียนการเมืองของท่านมหาจำลอง ผ่านเรื่อยมาจนถึงสามแยกบ้านเก่า
หากเลี้ยวขวาจะเข้าถนนสายไปปราสาทเมืองสิงห์ หากเลี้ยวขวาที่ตรงจุดนี้ไปประมาณ
๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้าย ถ้าเลี้ยวซ้ายเข้าไปถนนจะไปผ่านวัดท่าโป๊ะ และถนนจะไปตัดที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ที่ริมแม่น้ำแควน้อย ซึ่งขอให้ไปชมกันให้ได้
เพราะจะรวมเอกสาร และรวมเรื่องราวของแหล่งโบราณสถานของกาญจนบุรี ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อกลับออกมาจากพิพิธภัณฑ์
ถ้ามีเวลาลองแวะเยี่ยมวัดท่าโป๊ะ ดูลักษณะเป็นวัดที่สร้างใหม่
แต่สร้างสวย มีจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ มีภาพลวดลายปูนปั้น เล่าเรื่องของพระพุทธองค์
หน้าบันสวยงามมาก น่าเข้าไปชม
หากกลับออกมาออกถนนปากทางเข้าพิพธภัณฑ์กันใหม่ เลี้ยวซ้ายก็ไปยังปราสาทเมืองสิงห์
ปราสาทที่ขอมมาสร้างไว้
เมื่อร่วม ๙๐๐ ปี มาแล้ว โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของขอม องค์ที่เป็นนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของขอม
สร้างในตัวประเทศขอมยังไม่พอ เช่น สร้างนครธม ปราสาทปาปวน ซึ่งคู่กับปราสาทนครวัด
ในเมืองเสียมราฐ แต่สร้างหลังนครวัด สัก ๒๐๐ ปี ชัยวรมันที่ ๗ ยังรุกเข้ามาสร้างในดินแดนที่ขอมมีอำนาจเช่นสร้าง
ปรางค์สามยอดที่ลพบุรี สร้างปราสาทเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี เป็นต้น และพื้นที่แถบนี้มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งจะเห็นได้จากหลักฐานที่กล่าวไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า แสดงว่าคนไทยมีอยู่ในถิ่นนี้แล้ว
แต่ยังรวมกันไม่ติดจึงต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาติอื่นเช่น ขอมและมอญ เป็นต้น
จึงขอแนะนำว่าหลังจากชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าแล้ว ให้วิ่งเลี้ยวซ้ายเลยไปอีก
๗ กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกซ้ายเข้ายังปราสาทเมืองสิงห์
เมื่อกลับจากปราสาทเมืองสิงห์แล้วก็ขอนำ - ไปยัง "ทิวน้ำรีสอร์ท" ซึ่งเป็นที่พักที่ดีเยี่ยม
รักษาธรรมชาติ อยู่ริมลำน้ำแควน้อย ตกปลาก็ได้ ลงเล่นน้ำก็ได้ หากไปกันมากเขาจะจัดแพให้ลาก
ล่องตามน้ำไปเที่ยวปราสาทเมืองสิงห์ ทางน้ำก็ได้ ไปเที่ยวรีสอร์ทของเขาไปโดยให้เขาจัดแบบเพคเกจทัวร์ให้ก็ได้
ดูเหมือนหัวละ ๙๐๐ บาท นอน ๑ คืน อาหาร ๓ มื้อ ลองโทรถามคุณติ๋มดู ๐๑ ๙๐๑๗๕๓๑,
๐๒ ๖๙๑๔๑๒๒ - ๔
จากปราสาทเมืองสิงห์ หากเลี้ยวซ้ายไปผ่านรุ่งเรืองสรรพสินค้า และระหว่างทางยังมรีวัดที่ควรแวะอีกคือ
วัดท่าตาเสือ
ซึ่งที่วัดนี้มีหลวงพ่อศรีมหาโพธิ์ เจ้าแม่กวนอิมพันมือองค์ใหญ่ ไปผ่านวัดสิงห์ไปบูลย์ประชาสวรรค์
ทางขวา เลยไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยก มีป้ายแนะนำทางแยะทีเดียว
จะเห็นป้ายบอกว่าไปทิวน้ำรีสอร์ท ๕ กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้าย มุ่งหน้าเข้าหาแม่น้ำและภูเขา
จนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย สะพานยางโทน ตรงนี้วิวแม่น้ำงดงามมาก ข้ามแม่น้ำไปแล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งไปตามถนนลูกรังอัดแน่นอีก
๑.๖ กิโลเมตร ก็เลี้ยวซ้ายพบรีสอร์ทยางโทน และจะเห็นป้ายชี้นำให้ไปตามทางข้าง
ๆ ยางโทนรีสอร์ทไปเข้าประตู ทิวน้ำรีสอร์ทดูเหมือนจะไปยากแต่ความจริงแล้วไม่ยาก
ไม่วกวน ตามป้ายไป
อีกเส้นทางหนึ่งสำหรับผู้ที่จะตรงมายังทิวน้ำเลย คือเมื่อผ่านสี่แยกพุเลี๊ยบก็อย่าเลี้ยวซ้ายไปบ้านเก่า
ตรงเรื่อยมาจนพบป้ายทางซ้ายมือบอกว่า ไปปราสาทเมืองสิงห์ ก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายไปประมาณ
๙ กิโลเมตร จะถึงสามแยก หากเลี้ยวซ้ายมาหน่อยก็จะมาเข้าทางไปปราสาทเมืองสิงห์
หากเลี้ยวขวาตรงนี้ก็จะไปผ่านรุ่งเรืองสรรพสินค้า ไปทิวน้ำรีสอร์ทได้ ความจริงเข้าจากถนนใหญ่ได้อีกทางแต่จุดสังเกตไม่ชัดเจน
ผมกลัวเลอะไปกันใหญ่
ทิวน้ำรีสอร์ท น่าไปพัก ไปกินอาหาร ไปนอนสัก ๒ คืน แหละดี เพราะไม่ไปไหนก็เล่นน้ำตกปลา
ได้ปลามาจะปล่อยกลับลงแม่น้ำ หรือเอาไปให้แม่ครัวเขาทำอาหารให้ก็ได้ ขี่จักรยานเล่น
เดินเล่น พื้นที่ของเขากว้างขวางมาก บ้านพักสร้างเรียบง่าย ภายในสะอาด ไม่ใหญ่โต
สร้างซ่อนตัวอยู่ตามธรรมชาติ ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เก็บไม้ป่าไว้ได้มากทีเดียว
มีศาลาอาหารโอ่โถงอยู่ริมแควน้อย หากไปกันมากเป็นหมู่คณะเขาจัดแพ ให้เรือหางยาวลากจูง
ไปตามแควน้อยขอเอาอาหาร เครื่องดื่มลงไปกินกันได้
อาหาร ผมพักค้างคืนเพื่อเที่ยวต่อ จะไปน้ำตกไทรโยคน้อยเขาพัง หรือไปไทรโยค
ไปเที่ยววชิราลงกรณ์ ที่อำเภอทองผาภูมิ ไปวัดวังวิเวย์การาม ที่อำเภอสังขละบุรี
เลยต่อไปยังด่านเจดีย์สามองค์ พักที่ทิวน้ำ จะไปเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับมานอนพักที่นี่ได้อย่างสบายทีเดียว
อาหารตามสั่งในมื้อเย็น คือ .-
ต้มข่าปลาสลิด จานนี้ยกให้เป็นชวนชิมลำดับหนึ่งเพราะไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อนเลยที่นำเอาปลาสลิดชั้นดีมาต้มกะทิต้มข่า
ใส่หม้อน้อยมาเสริฟ กลิ่นหอมฟุ้งมาทีเดียว ซดต้มข่าชื่นใจเหลือประมาณ หรือจะเอาราดข้าวก็ฌยังได้
ปลารากกล้วยคลุกงาทอดกรอบ กินร้อน ๆ อย่าปล่อยให้เย็นเพราะจะหนียว เคี้ยวสนุกนัก
ปลารากกล้วยเอาไปคลุกงาเสียก่อนจึงเอาไปทอดกรอบ ตัวเล็ก ๆ กรอบไปทั้งตัว
ปกงส้มชัอมชุบไข่ทอด ใส่มาทั้งชะอมชุบไข่ ถั่วฝักยาวและผักบุ้ง เนื้อปลายี่สกแควน้อยน่ากินนัก
ปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย กลิ่นหอมฟุ้งมาแต่ไกล แกะเนื้อปลาแรด ตามด้วยน้ำพริก
วางบนข้าวสวยแล้วส่งเข้าปาก ซดปลาสลิดต้มข่าตามไป อร่อยอย่าบอกใครเชียว (เดี๋ยวเขาแย่งกิน)
ผลไม้ของเขาดีมาก เช่น มะละกอ ผลิตผลของสวนของเขาเอง รสดีมากหวานชื่นใจ สับปะรดก็มี
ที่ชอบใจคือเขาทำแบบปังแดง ที่แพเมืองแปดริ้วเอาลูกชิด ลูกเกด ไสน้ำแข็งใส่
โรยด้วยนมข้นและน้ำแดง หวานเย็นชื่นใจ อาหารเช้าเขาให้กินแบบโบราณคือ เอาขนมปังปิ้งทาเนย
(มาการีน) แล้วโรยด้วยน้ำตาล หอมน่ากิน ตามด้วยการซดกาแฟ หรือจะกินข้าวต้มเขาก็มีให้
................................................................
|