ท่าตะเภา
บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ "เมืองท่าตะเภา" มาก่อน เมืองนี้คือชื่อดั้งเดิมของจังหวัดชุมพร
ซึ่งมีหลายชื่อเหมือนกัน เช่น ท่าตะเภา อุทุมพร ในยุคที่นครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในภาคใต้
มีเมือง ๑๒ นักษัตร
แต่ละเมืองมีรูปสัตว์ประจำเมือง ชุมพร เป็นเมืองหนึ่งในเมือง
๑๒ นักษัตร มี "แพะ" เป็นสัญลักษณ์ของเมืองชุมพร
ส่วนไม้มงคลประจำเมือง
คือ ไม้มะเดื่อขุมพร หรือมะเดื่ออุทุมพร ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ส่วนชื่อเมืองที่แท้จริงนั้น
ยังค้นคว้ากันไม่ได้ว่าตั้งด้วยเหตุผลอะไร จึงได้แต่เดากันว่าน่าจะมาจากอุทุมพร
หรือมาจากชุมนุมพล เพราะไม่ว่าทัพใดจะเดินทัพลงใต้ จะเป็นทัพไทยจากอยุธยา
หรือรัตนโกสินทร์ หรือพม่า (เช่น ในสงครามเก้าทัพ ) ก็จะมาชุมนุมพลกันที่ชุมพรก่อนที่จะยกลงใต้ต่อไป
ส่วน "ท่าตะเภา" นั้นพอจะมีที่มาที่ไป ผมจึงยกให้เป็นชื่อสำคัญของเรื่องในวันนี้เรียกว่า
ให้เป็นชื่อพระเอก
เมืองชุมพร เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในแหลมมลายู ไม่ทราบว่าตั้งมาตั้งแต่เมื่อใด
เชื่อกันว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเมืองเวียงสระ เมืองตะกั่วป่า
เป็นเมืองหนึ่งที่รับเอาวัฒนธรรมของอินเดียในยุคแรก (พุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๐)
ซึ่งอาจจะเป็นเมืองเดียวกับเมืองที่จีนเรียกคือ เมือง "ต้นชุน" ที่จีนมีจดหมายเหตุบันทึกเอาไว้
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕ อาณาจักรศรีวิชัย
แผ่อิทธิพลเข้ามาในภาคเหนือของมลายู จึงรับเอาศิลปวัฒนธรรมของพวกศรีวิชัยเข้ามา
ในยุคนี้เมืองอยู่ใกล้ทะเลมาก เรือสำเภาสามารถแล่นเข้ามาได้จนถึงตัวเมือง
จึงเรียกเมืองนี้ว่า "เมืองท่าตะเภา" เรียกว่า หาเหตุของการเรียกชื่อเมืองท่าตะเภา
มาเล่าได้สำเร็จ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้คนยุคหินใหม่ไปรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ตามที่ราบเชิงเขา
เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาจึงค่อย ๆ เคลื่อนออกจากป่าเขา มาสู่ที่ราบริมน้ำ
ริมทะเล ทางโบราณคดีได้ค้นพบ เครื่องมือ เครื่องใช้ของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในหลายท้องที่ของจังหวัดชุมพร
เช่นในพื้นที่เก่าของเมืองท่าเขาสามแก้ว
ซึ่งปัจจุบันคือ ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร และเมื่อขุดค้นมาได้ก็เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชุมพร
ชุมพรในยุคประวัติศาสตร์ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ชุมพรมีฐานะเป็นเมืองตรี มีเมืองบริวารที่รวมอยู่คือ เมืองปะทิว ตะโก หลังสวน
ระนอง และเมืองกระบุรี
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ในสงครามเก้าทัพ กองทัพที่ ๑ ของพม่า ที่มีพลหนึ่งหมื่นคน
ทัพนี้ยกเข้ามาทางด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาชุมนุมทัพที่ชุมพรแล้ว
เข้าตีระนอง ไชยา กระบี่ นครศรีธรรมราช ในศึกครั้งนี้พม่าได้เผาทำลายเมืองชุมพร
จนพินาศสิ้นไป ทัพไทยยังติดการสู้รบกับทัพของพระเจ้าปดุง ที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์อีก
๕ ทัพอยู่ เมื่อตีทัพพระเจ้าปดุงทางเจดีย์สามองค์พ่ายไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ยกทัพมาขับไล่ทัพพม่า ที่ลงมาตีทางภาคใต้ของไทยจนแตกพินาศไป
เหมือนกับที่ทัพพม่าได้ทำกับเมืองชุมพร ซึ่งในการศึกครั้งนี้ ทัพกรมพระราชวังบวร
ฯ ยกลงไปจนถึงปัตตานี พลอยได้หัวเมืองทางชายแดนภาคใต้รวมทั้งบางเมือง ก็อยู่ในภาคเหนือของมาเลย์เซีย
เวลานี้มาด้วย ท่านเดินทัพจากกรุงเทพ ฯ ถือพลแค่สามหมื่นไปรับทัพพระเจ้าปดุง
๕ ทัพ ที่ถือพลอยู่แปดหมื่นเศษที่ลาดหญ้า กาญจนบุรี เมื่อชนะแล้วยกพลสามหมื่น
(ซึ่งก็คงตายไปบ้างในการรบกับพระเจ้าปดุง ) เดินทัพลงใต้ไปจนถึงปัตตานี
แล้วยกทัพกลับมากรุงเทพ ฯ ระยะทางในปัจจุบันรวมแล้วก็ประมาณ ๒,๕๐๐ กม.
คนเราเดินได้อย่างเก่งหมายถึงคนธรรมดา แต่แข็งแรงได้วันละ ๒๐ กม. ก็เก่งมากแล้ว
นี่กองทัพที่มีทั้งคน ช้าง ม้า ปืนใหญ่ เสบียงอาหาร ท่านเดินทัพไปได้อย่างไร
ยิ่งในบั้นปลายของชีวิตของพระองค์ ท่านเป็นจอมทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ ระหว่างทางโรคนิ่วกำเริบ
จนต้องพักพระวรกายอยู่ที่เมืองเถิน ให้แม่ทัพนำทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ ที่พม่ายึดอยู่
ก็ต้องเดินขึ้นเขาไปไม่น้อยกว่าสองพันกิโลเมตร เป็นยอดของจอมทัพพระองค์หนึ่งที่ต้องจารึกเอาไว้
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการปกครองเป็นแบบมณฑล
ชุมพรไปรวมอยู่กับมณฑลนครศรีธรรมราช จนยุบการปกครองในระบบมณฑลแล้ว ชุมพรจึงแปรสภาพเป็นจังหวัด
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นต้นมา
การเดินทางไปชุมพร ในทุกวันนี้ มีเครื่องบินไปลงที่สุราษฎร์ธานี
อยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๖๐ กม. แล้วต้องหารถยนต์มาชุมพร ผมว่าผมขับรถยนต์จากกรุงเทพ
ฯ ไปจะถึงก่อนคนที่ออกจากบ้านไปขึ้นเครื่องบิน พร้อมกับผมขับรถออกจากบ้านมาอำเภอเมืองชุมพร
ทางเรือผมยังไม่เคยทดลองไป ทางรถไฟผ่านไปลงที่ทุ่งสง คงจะผ่านหลายร้อยครั้ง
ก็สะดวกดีแต่เที่ยวไปจะถึงชุมพรตอนดึก เที่ยวมาก็เช่นเดียวกัน สรุปว่าไปชุมพร
ผมชอบไปทางรถยนต์และขับไปเอง หรือหากไปเป็นคณะย่อย ก็เช่ารถตู้ไป เพราะเดี๋ยวนี้ลูกทัวร์
(ล้วนแต่ผู้เฒ่า ระดับอดีตรองอธิการบดี รองปลัดกระทรวง ศาสตราจารย์ ฯ) ที่เขายกย่องให้ผมเป็นหัวหน้าทัวร์
เขาไม่ยอมขับรถตามกันไปแล้ว หากเขาขอไปด้วยเขาก็ขอร้องให้ผมเช่ารถตู้ไป พอดีระยะนี้ไปเช่ารถตู้
(ผมลืมเบอร์โทรของเขาไป) ได้พลขับดีมาก คุยกันไป คุยกันมาเขาบอกว่า เขาเป็นลูกน้องเก่าของผม
สมัยที่ผมเป็นผู้บัญชาการ อยู่ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร และลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว
เลยได้คนขับแบบมีวินัย ไม่งั้นพอบอกระยะทาง หรือเส้นทางให้ชอบเถียง เขาไม่รู้ว่าผมเดินทางรอบประเทศไทยมาหลายรอบ
และจำเส้นทางได้ ระยะทางหากจากแม่สายลงมาจนถึงสุไหงโกลก พอจำได้ผิด ถูก บวกลบสักสิบกิโลเมตร
พอใช้เป็นระยะทางในการวางแผนได้ เดินทางกับผมเวลาจะแน่นอน ตรงเวลา
ไปคราวนี้ ไปสองครั้งในเวลาใกล้ ๆ กัน ไปครั้งแรกเพื่อต่อจากชุมพรไปยังเกาะลันตา
ที่ผมยังไม่เคยเอารถลงแพข้ามไปเที่ยวสักที และไปเตรียมการเรื่องทอดผ้าป่า
เพื่อสร้างศูนย์อบรมธรรมะให้วัด (เถื่อน) แห่งหนึ่ง กับสร้างศาสนสถานในค่ายอุดมศักดิ์ด้วย
แต่ปรากฎว่าเมื่อไปวัดนี้แล้ว จึงรู้ว่าเป็นวัดเถื่อน และนำลัทธิประหลาด มาอบรมให้ผม
และคณะซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ด้วยกันทั้งนั้นทราบ เช่น ผมจะถวายสังฆทานที่เตรียมไป
ก็บอกว่าไม่ต้องอาราธนาศีล เพราะศีลอยู่ที่ใจ แล้วเราจะรับศีลได้อย่างไร พระจะให้ศีลได้ก็ต้องอาราธนา
พอจะกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ และเจ้าที่เจ้าทางที่เรามา
ยั่งทำบุญพระองค์ ที่จะให้ผมทอดผ้าป่าก็บอกว่าไม่ต้องกรวดน้ำพระแผ่ส่วนกุศลอยู่ที่ใจ
เจ้าแม่กวนอิมก็บอกว่าไม่ใช่จีนเป็นแขก เลยซักคุยกันไม่รู้เรื่อง ผมเอามาเล่าให้ลูกน้องเก่าของผม
เกษียณอายุราชการแล้ว บ้านอยู่ที่ชุมพร เขาเลยขอร้องว่าช่วยทอดผ้าป่าสร้างเมรุเผาศพให้วัดแถวบ้านเขาเถอะ
รับรองว่าพระดี วัดยากจน ชาวบ้านดี ไม่ร่ำรวย ตามสูตรของผม พอกลับมาจากเที่ยวเกาะลันตา
ผมก็ให้พรรคพวกที่ไปด้วยกันที่ยังมีลูกน้องเเก่า ๆ อยู่เช่นกัน สำเนาชื่อวัดทุกวัดในชุมพรมาให้
ปรากฎว่า ไม่มีชื่อวสัดนี้ และให้ไปถามเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ท่านก็บอกว่าศูนย์ที่ผมจะไปสร้างนั้น
ทางเจ้าคณะจังหวัดไม่รู้เรื่อง ก็เลยระงับการไปทอดผ้าป่าที่สำนักนี้ไว้ก่อน
ทุกปีที่ผมมทอดผ้าป่า จะต้องหาวัดที่ยากจน มีความต้องการจริง ชาวบ้านรอบวัดก็ไม่ร่ำรวยพอจะช่วยวัดสร้างได้
พระต้องดี และผมไม่ยึดติดอยู่กับวัด และพระองค์ใดเป็นประจำ ช่วยท่านสร้างช่วยท่านทำให้สำเร็จแล้วกว็ไปวัดอื่นต่อไป
ปีนี้จะสร้างทั้งเมรุเผาศพ มาตรฐานที่วัดพระขวาง และสร้างศาสนสถานในพื้นที่
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๕ ในต่ายเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งพอไปครั้งหลัง ผมหาเงินมาได้ก้อนหนึ่ง
เหลือจากการพระราชทานเพลิงศพมารดา ของเลขาตลอดกาลประจำตัวผม ก็มอบให้ทางกองพันไปให้เริ่มดำเนินการสร้าง
ได้เงินที่ขาดจะหาจากการบริจาค และได้วางศิลาฤกษ์ศาสนสถานไปแล้ว ณ ค่ายเขตอุดมศักดิ์
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะอัญเชิญพระแก้วมรกตเครื่องทรงฤดูฝน ไปประดิษฐานเป็นพระประธานของศาสนสถาน
และยังมีหลวงพ่อทวดขนาด ๙ นิ้วจากวัดห้วยมงคล หัวหิน กับพระรูปขนาดครึ่งองค์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ไปประดิษฐานไว้
จากกรุงเทพ ฯ ผมออกจากบ้านลาดพร้าวขึ้นทางด่วยสองเด้งไปลงพระราม ๒ ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่ควรแวะไปวดังนี้
(หมายยถึงที่ผมแวะในการไป ๒ ครั้งนี้) คือ
พอถึงสี่แยกอำเภอปราณบุรี เลี้ยวซ้ายไปทางปากน้ำปราณบุรี แล้วเลี้ยวขวาตามป้ายไปอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
เที่ยวในอุทยานสวถานที่ตามป้ายเช่นหาดสามพระยา
ไปจนออกจากอุทยาน โดยไม่ย้อนกลับมา แล้วเลี้ยวไปออกที่เพชรเกษมใกล้จะถึงอำเภอกุยบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กินอาหารกลางวันที่ประจวบ
ร้านนี้หากเลี้ยวเข้าเมืองประจวบแล้ววิ่งตรงเข้าหาทะเลจนข้ามสะพานก็เลี้ยวขวาวกกลับรถมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพิทักษ์ชาติไปทางสถานีรถไฟ
วิ่งไปจนถึงสี่แยกร้านจะอยู่ตรงมุมสี่แยกทางขวามือ สั่งอาหารมาชิมคือ หอยกระทะร้อน
ปลาเก๋าผัดฉ่า แฮกึ้น กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย ต้มยำไข่ปลาเซียว อร่อย
อิ่มแล้วไปไหว้ศาลหลักเมือง
ไปไหว้หลวงพว่อเปี่ยม วัดเกาะหลักพระอารามหลวง
วิ่งเข้ากองบินไปชมอ่าวมะนาว
ทะลุออกนอกกองบินไปโผล่คลองวาฬ
(หากไปหว้ากอให้ตรงต่อไป) แล้วเลี้ยวไปออกถนนเพชรเกษม
กม.๓๓๒ เลี้ยวขวาไปด่านสิงขร
ซึ่งผมไปครั้งแรกไปราชการเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว ไม่มีถนนแม้แต่เมตรเดียว รถจิ๊บพอตลุยไปได้
แต่ผมไปฮ. แต่ด่านสิงขรวันนี้ระยะทางเหลือ ๑๒ กม. ถนนราดยางอย่างดี สองฟากถนนมีบ้านคนอยู่วิ่งไปผ่านวัดด่านสิงขร
ตำบลยคลองวาฬ อำเภอเมือง พอไปได้ ๘ กม. จะเป็นสามแยก ทางขวามีกองร้อยตำรวจ
"ตชด." ให้ตรงไปก่อนจะเป็นวนอุทยานหินเทิน
ดูหินแปลก ๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ เสียดายไม่มีการถากถางหญ้า (ไม่ทราบหน้าที่ใคร
อบต.น่าจะรับไป) หญ้าเลยบังความสวยไปเสียแยะ จะชมกันให้งามต้องออกแรงเดินขึ้นเขาไม่สูง
แต่จะได้ชมความสวยของทุ่งหินเทิน จากวนอุทยานหินเทินมาเลี้ยวขวาตรงสามแยกไปอีก
๔ กม. ก็จะถึงด่านสิงขร "แคบสุดในสยาม"
หมายยถึงแคบระหว่างน้ำทะเล (อ่าววไทย) กับดินแดนไทยที่ติดกับพม่า (แต่ผมว่าที่ตราดแคบกว่าเพราะที่ตราดทะเล
ห่างเขาที่กั้นระหว่างไทยกัมพูชาเพียง ๔๕๐ เมตรเท่านั้น) ไปด่านสิงขรวันนี้ถนนเยี่ยม
ตลาดชายแดนคึกคักชักจะใกล้ตลาดแมาสายเข้าไปแล้ว สินค้าที่ผมกลัวไม่ยอมตามเลขา
ฯ เข้าร้านด้วยคือร้าน "อัญมณี" พม่าได้ชื่อว่ามีทับทิมดี และมีหยกที่ดีที่สุดในโลก
ติดกับร้านขายสินค้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่เช่น เซรามิคคุณภาพสู้ของไทยไม่ได้
แต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า ผมชอบเข้าร้านพวกนี้ อีกพวกไม่ใช่ร้านแต่เป็นกองคือพรรณไม้ต่าง
ๆ จากพม่า โดยเฉพาะกล้วยไม้ราคาถูกมาก ช้างแดงออกดอกสีเข้ม ราคาต้นละ ๑๘๐
บาท ด่านสิงขรคือ ด่านที่ติดต่อระหว่างอ่างไทย กับอันดามัน เส้นที่ใกล้ที่สุดเมืองพม่าด้านนี้คือ
เมืองมะริด
เพชรเกษม กม.๔๓๑ คือ ศูนย์บริการทางหลวงที่มีสุขาชั้นยอด มีของขายมีปั๊ม ปตท.
ที่ไม่รับบัตรเครดิต มีอาหารเครื่องดื่มแต่น่าเสียดายที่ถนนสายใต้ยาวกว่าพันกิโลเมตร
มีเพียงแห่งเดียว
เพชรเกษม กม.๔๗๑ ทางซ้ายมือ รีสอร์ท มีที่พักเปิด ๒๔ ชั่วโมง มีสวนสัตว์น้อย
มีแก่งน้ำตกที่น้ำไหลตลอดปี และที่สำคัญคือ มีห้องอาหารอร่อย สไตล์คันทรี
มีทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง แวะชิมแล้ว อาหารดีมาก ราคาพอสมควร แต่บรรยากาศเยี่ยม
ได้สั่งอาหารมาชิม
ยำสมุนไพร ยำแห้ง มีกุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ถั่งลิสง เครื่องยำแบบไก่ ๓ อย่าง
เคี้ยวสนุก
แกงเหลือง ชุมพร คือประตูสู่ภาคใต้ ต้องสั่งแกงเหลือง ใส่กุ้งปลา
ทอดมันไข่เค็ม เหมาะมากที่จะเอาไว้แนมแกงเหลือง ที่มีรสแบบใต้คือ ค่อนข้างเผ็ด
ปลาเก๋าราดพริก ทอดปลาเก่ง ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยอร่อยมาก จานนี้
๒๕๐ บาท
ใบเหลียงผัดไข่ ไม่ลงใต้หากินไม่ได้ (เว้นบ้านผมเอาต้นเหลียงมาปลูกเอาไว้เลย)
ยำใบเหลียงกุ้งสด ยำแล้วใส่มาในตะกร้าที่สานด้วยเผือกทอด
ปิดท้ายด้วยผลไม้ และไอศคริม อิ่มแล้วเดินทางต่อ
เพชรเกษม กม. ๔๙๐ ถ้ำรับร่อ วัดเทพเจริญ
เลี้ยวขวาไปอีก ๔ กม. จะถึงวัดเทพเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยว โบราณสถานของอำเภอท่าแซะ
ภายในวัดมีที่น่าสนใจคือ
ศาลาราษฎร์สามัคคี เป็นศาลาที่ยังตั้งศพสังขารของพระครูสิทคจารย์ หรือหลวงปู่ไสย
อดีตเจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภอท่าแซะ มรณภาพตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ แต่สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย
และในศาลานี้ยังมี พระพุทธรูปสมเด็จหลวงพ่อองค์ดำ
และยังมีรอยพระพุทธบาทหินทราย
สลักภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ขอบสลักภาพการตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อย
อาคารติดกับศาลาราษฎร์สามัคคี คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
มีพระเก่าแก่ ของใช้พื้นบ้าน ฯ
ถ้ำรับร่อ
ชื่อนี้หมายถึง ถ้ำจำนวนถึง ๘ ถ้ำ ที่อยู่บนเขารับร่อ ซึ่งวัดเทพเจริญตั้งอยู่เชิงเขาลูกนี้
จะขึ้นไปยังถ้ำรับร่อ เดินขึ้นบันไดที่อยู่ข้างซ้ายของศาลา ฯ และถ้ำที่ขอนำชมคือ
ถ้ำพระ หรือถ้ำปู่หลักเมือง
ถ้ำแรกที่อยู่เชิงบันได มีพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ หน้าถ้ำมี ๓ องค์ ที่น่าจะเป็นพระที่สร้างในปลายสมัยศรีอยุธยา
หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธไสยาสน์ ภายในถ้ำไม่ลึกนักแต่กว้างขวางมาก
ติดไฟฟ้าสว่างได้ตลอดเวลา มีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้นับร้อย และยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นอีกหลายองค์
องค์ที่เป็นประธานนั้นอยู่ตอนในสุดองค์โต ประวัติบอกว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยอโศกมหาราช
เมื่อ พ.ศ.๕๔๘ มีเจ้านายนำในการสร้าง และตอนสร้างประทับอยู่ที่
ถ้ำไทร ซึ่งอยู่ติดกับถ้ำพระ ในถ้ำไทรมีหินงอก
หินย้อยงดงามมาก ผมไม่มีโอกาสเข้าไปดูตอนที่ลึกเข้าไป เพราะต้องแจ้งทางวัดให้เปิดไฟฟ้าในถ้ำให้
และเสียค่าบำรุงค่าไฟฟ้า ที่ไม่ได้เข้าเพราะมีเวลาน้อยไป ได้แต่ชมจากภาพว่าสวยมาก
เลยได้ดูแต่ตอนปากถ้ำ ได้เห็นหินย้อยสวยเช่นกัน ในถ้ำนี้ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และหน้าถ้ำมีต้นไทรใหญ่ แต่ได้ตัดเอาไทรต้นนี้ไปทำเสาหลักเมืองชุมพร
เลยเรียกว่าถ้ำไทร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เพราะนอกจากโครงกระดูกแล้ว ยังพบเครื่องมือ ขวานหินขัด ฯ เชื่อว่ามีมนุษย์อยู่เมื่อ
๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ ๗ กันยายน
พ.ศ.๒๔๗๙
ถ้ำอ้ายเดย์ เป็นอีกถ้ำหนึ่งที่ติดต่อกัน
มีภาพวาด แต่ยังวาดไม่เสร็จ อีก ๕ ถ้ำ ยังไม่เคยไป
กม. ๔๙๘ คือ สี่แยกปฐมพร ถ้าเลี้ยวขวาที่สี่แยกนี้ไปอีก
๑๑๒ กม. จะถึงจังหวัดระนอง และจะผ่าน อนุสาวรีย์
พลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ที่หน้าค่ายเขตอุดมศักดิ์ ค่ายที่ผมกำลังเชิญชวนท่านผู้อ่าน ช่วยกันไปสร้างศาสนสถานให้
จากสี่แยกหากเลี้ยวซ้ายไป ๙ กม. ก็จะถึงสามแยกเข้าตัวเมืองชุมพร
และหากตรงไปจากปฐมพร ก็จะล่องใต้ต่อไปยังสุราษฎร์ธานี
วัดพระขวาง
คือ วัดที่จะไปทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสร้างเมรุเผาศพมาตรฐาน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญคือ
พระขวาง
หรือหลวงพ่อพระขวาง
ตัววัดสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๐ เป็นวัดเก่าแก่ แต่ยากจน ชาวบ้านรอบวัดเป็นชาวสวนผลไม้
มีฐานะไม่ดีเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีกำลังอุปถัมภ์วัดได้เต็มที่ เมื่อเมรุเผาศพที่มีอยู่พังทลาย
ใครตายก็ต้องนำศพไปทำกันที่วัดไกลออกไป อุโบสถวัดพระขวางก็เป็นไม้ กุฎิก็มีอยู่เพียง
๔ หลัง มีวิหารหรือเรียกว่า ศาลาจะถูกต้องกว่า ประดิษฐานหลวงพ่อพระขวาง
เส้นทาง จากสี่แยกปฐมพร เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองมาหน่อยเดียว ทางขวามือจะเห็นป้ายซอยเมืองชุมพร
๒๙ เลี้ยวขวาเข้าซอยวิ่งไปประมาณ ๑.๕ กม. ข้ามแม่น้ำชุมพร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ
ประวัติพระขวาง ตำนานบอกไว้ว่า ท่านลอยน้ำมา ๓ องค์ องค์แรกที่เป็นองค์พี่นั้น
ขึ้นที่วัดเทพเจริญ
แต่ผมไม่ทราบว่าองค์ในอุโบสถ หรือในถ้ารับร่อ เพราะไม่มีประวัติที่วัดบอกไว้
องค์ที่สามขึ้นที่วัดดอนแดง อำเภอประทิว ส่วนองค์ที่ ๒ มาติดที่ท่าน้ำวัดนางชีจันทร์
ชาวบ้านพยายามอัญเชิญขึ้นไม่สำเร็จ เอาช้างมาฉุดก็เอาขึ้นฝั่งไม่ได้
แต่ท่านก็ไปเข้าฝันชาวบ้าน บอกว่าให้สร้างแท่นที่จะประดิษฐาน ท่านให้เสร็จเสียก่อนแล้วเอาด้วยสายสิญจน์
๗ เส้น ไปผูกองค์ท่าน ท่านจะขึ้นมาเอง ชาวบ้านก็ร่วมกับวัดสร้างแท่นประทับพระพุทธรูป
พอสร้างเสร็จแล้วก็นำสายสิญจน์ ๗ เส้น ไปผูกที่องค์ท่าน พอรุ่งขึ้นเช้าก็เห็นหลวงพ่อไปประดิษฐานอยู่บนแท่น
ที่สร้างไว้แล้ว จึงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระขวาง
ใครมาบนบานก็มักจะประสบความสำเร็จ เช่นบนขอให้มีลูกเมื่อได้ลูกสมใจแล้ว ก็นำมวย
หรือมโนราห์ หรือหนังตลุงมาแสดงถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อชมหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ที่แน่
ๆ คือ ชาวบ้านตำบลขุนกระทิง ได้ชมกันเต็มอิ่มไปเลย พระขวาง หน้าตัก ๕๙ นิ้ว
สูง ๗๔ นิ้ว ปางมารวิชัย
จากสี่แยกปฐมพร ไปจนถึงสามแยกที่จะเลี้ยวเข้าเมืองประมาณ ๙ กม. หากเลี้ยวซ้ายตรงไปจะผ่านศาลหลักเมือง
ตรงต่อไปอีกจะผ่านสี่แยก หากตรงจากสี่แยกนี้ก็จะไปยังแหล่งท่องเที่ยวคือ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ชุมพร อดีตเมืองชุมพร อยู่บริเวณศูนย์ราชการ
ต.นาชะอัง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๘๐ จะทราบเรื่องของชุมพรในแง่มุมต่าง
ๆ น่าชมยิ่งหยุดจันทร์ - อังคาร และวัดหยุดนักขัตฤกษ์ ถนนสาย ๓๑๘๐ นี้จะมีทางแยกซ้ายมีป้ายบอกไป
วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่สงฆ์ จันทสาโร พระผู้มีวาจาสิทธิ์เคยเป็นเจ้าอาวาส ท่านมรณภาพเมื่ออายุ
๙๔ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ แต่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย คงตั้งสังขารไว้ให้กราบไว้ให้กราบไหว้บูชากัน
หาดทุ่งวัวแล่น
ผมไปหาดนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๔ ตั้งแต่ย้ายมารับราชการที่ภาคใต้ได้สักปี
ลูกน้องที่เคยอยู่ชุมพรมาก่อนชวนไปเที่ยว ไปวันนั้นมีร้านอาหารสัก ๒
- ๓ ร้าน ล้วนเป็นร้านในรีสอร์ท ที่พักก็เช่นเดียวกัน ถนนที่ไปก็ลำบาก
แต่หากไปวันนี้ก็ไปตามถนน ๓๑๘๐ ถนนดีเยี่ยม หรือจะเลี้ยวซ้ายมาตั้งแต่อำเภอท่าแซะก็ได้
มีที่พักมากมาย ร้านอาหารก็มาก ชายหาดทุ่งวัวแล่นสวยที่สุดในชุมพร มีเรือพาไปตกปลาหมึก
ทรายขาวสะอาด บรรยากาศสงบ
จากสามแยก ที่เลี้ยวเข้าเมือง เลี้ยวมาจนถึงสี่แยก (ตรงไปสาย ๓๑๘๐)
เลี้ยวขวามาอีกหน่อย จะมีถนนสายสำคัญในยามค่ำของนักกิน คือ ถนนกรมหลวง ฯ
อยู่ทางขวาพอเลี้ยวขวาเข้าไปตั้งแต่ตอนเย็น ถนนสายนี้จะมีรถเข็นขายอาหารสารพัดอาหาร
คาวหวานไม่น้อยกว่า ๕๐ รถพอเลี้ยวเข้าไปเห็นมากที่สุดคือ หอยทอด ผัดไท สักสิบเจ้า
เลยไปทางขวาโรตีอร่อยนัก คนพามาชิมเมื่อสักสิบปีมาแล้ว บอกว่าโรตีเจ้านี้
อร่อยสวย อร่อยคือ โรตีที่เข้าคิวซื้อกัน สวยคือ เมียอาบังโรตี
หลับมาสามแยกอีกที หากไม่เลี้ยวเข้าเมือง เลี้ยวขวาไป ๑๓ กม. จะถึงสามแยก
หากตรงไปคือ ปากน้ำชุมพร ถ้าเลี้ยวขวามาสาย ๔๐๙๘ จะมายังหาดทรายรี เส้นทางนี้จะไปสุดที่อนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพร
ฯ จะผ่านร้านอาหารที่ชิมกันมานานเกิน ๒๐ ปี
ยังตั้งอยู่ดี อร่อยเหมือนเดิม ร้านขยายใหญ่โต จนเไม่เหลือภาพของร้านเดิม
คนแน่นมากกว่าเดิม อยู่ติดริมทะเล ลมทะเลพัดตีหน้าเย็นสบาย
ศาลเสด็จในกรม พลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งหาดทรายรี
เป็นที่สิ้นพระชนม์ของพระองค์ บริเวณอนุสรณ์สถาน มีเรือหลวงชุมพร
ที่ปลดระวางแล้ว ตัวศาลตั้งอยู่บนเรือหลวงที่สร้างจำลองเอาไว้ ในศาลมีพระรูปของท่าน
ด้านหลังศาลเป็นพิพิธภัณฑ์ หากชมวิวไปชมตรงที่สร้างเป็นหัวเรือ จะเห็นน้ำทะเลงามนัก
หรือมองไปทางขวาก็จะเห็นหาดทรายที่ขาวสะอาดไปตามโค้งของอ่าว ก่อนทางขึ้นมายังศาลด้านหน้าคือ
สวนสมุนไพรหมอพร
เพราะท่านเป็นหมอแผนโบราณรักษาชาวบ้านด้วย ใครที่ไปเคารพกราบไหว้พระองค์ท่านในศาลแล้ว
จะจุดประทัดถวายก็ไปจุดด้านหน้า ถือเป็นประเพณีของชาวเรือ
สถานที่ท่องเที่ยวในชุมพรมีมากทั้งเขา ถ้ำ น้ำตก แหล่งโบราณสถาน และยังมีเที่ยวทางทะเล
เช่น ไปดำน้ำชมปะการัง ตกหมึก ไปเที่ยวเกาะ เที่ยวเชิงเกษตรสวนผลไม้
และยังมีกาแฟ อร่อยระดับห้าดาวโอท๊อป คือ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ในซองมีพร้อมทั้งน้ำตาล
กาแฟ และครีมเทียม ราคาไม่แพง ชื่อ กาแฟ
"เขาทลุ"
ชุมพรเป็นเมืองที่ปลูกกาแฟมากจังหวัดหนึ่ง มีจำหน่ายทั่วไป ผมขอนำเที่ยวเมืองชุมพรเอาไว้เพียงเท่านี้
...........................................................
|