ทุ่งบัวตอง
ทุ่งบัวตอง นั้น มีหลายแห่ง เช่น ที่แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน แต่ที่โด่งดังและมีพื้นที่กว้างใหญ่
มากที่สุดก็ต้องที่ "ดอยแม่อูคอ"
อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ดอกบัวตองจะบานสะพรั่งในเวลาที่ไม่นานนัก บานจนเห็นท้องทุ่งเหลืองอร่ามในพื้นที่มากกว่า
๑,๐๐๐ ไร่ (ไม่นับริมถนน) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม
ก่อนหรือหลังจากนี้ อาจจะยังบานไม่เต็มท้องทุ่ง หรือดอกเริ่มกลายเป็นสีดำ
เพราะแก่จัด ไม่เหลืองอร่ามไปทั้งทุ่ง ในเทศกาลดอกบัวตองบานสะพรั่ง ระหว่างต้นเดือนพฤศจิกายน
ถึงกลางเดือนธันวาคม โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนนั้น จะตรงกับเทศกาลลอยกระทงด้วย
ถ้าไปตรงเทศกาลลอยกระทง ที่พักจะเต็ม หากไม่จองล่วงหน้านาน ๆ ร้านอาหารก็จะแน่นขนัด
ร้านอาหารที่เป็นยอดอร่อย ก็จะมีความอร่อยน้อยลง เพราะลูกค้ามากเกินไป จนทำให้อย่างประณีตไม่ทัน
คิดจะไปชมทุ่งบัวตอง เตรียมใจ เตรียมกาย วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้านาน ๆ
จึงจะได้รับความสนุก ความสะดวก ความสบายอย่างเต็มที่
ผมไปทุ่งบัวตอง ไปตรงกับเทศกาลลอยกระทงเข้าพอดี โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปลอยกระทง
เพราะรู้สึกว่าจะพ้นวัยของการไปลอยกระทงแล้ว แต่หากไปทางเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน
ก็ยังไม่แก่เกินวัยที่จะไปลอย "โคม" ขึ้นสู่ท้องฟ้า ฤดูกาลอื่นก็ลอยโคมได้
แต่ไม่มากเหมือนช่วงเทศกาลลอยกระทง สมัยที่รับราชการอยู่เชียงใหม่ เทศกาลลอยกระทงเป็นเทศกาลหนึ่ง
ที่จะมีแขกมาเยี่ยมมาพัก มาขอความสะดวก เรียกว่ามาคิดถึงกันตอนลอยกระทง ตอนปีใหม่
หรือสงกรานต์ นี่แหละ ผมรับรองแขกที่มาเยี่ยมด้วยการพาไปนั่งกินอาหาร ร้านริมแม่น้ำปิง
ให้เขาไปลอยกระทงกัน แล้วผมก็นั่งก๊ง ดูกระทงลอย เลยไม่ได้ลอยด้วยตัวเองกับเขาสักปี
จนกระทั่งย้ายจากเชียงใหม่มา
ได้จองที่พัก ที่อยู่ในเส้นทางที่จะไปล่วงหน้าร่วม ๒ เดือน ปรากฎว่าที่พักที่เคยพัก
และตั้งใจจะไปพักอีกเต็มหมด
เส้นทาง
การเดินทางไปชมดอกบัวตองคราวนี้ ตั้งใจจะตีเป็นวงรอบ และคงอีกนานหรืออาจจะไม่มีโอกาสอีกเลย
ที่จะได้ไปแบบนี้อีก เส้นทางไปดังนี้
กรุงเทพ ฯ - เชียงใหม่ ไปตามเส้นทางกรุงเทพ ฯ อยุธยา สิงห์บุรี นครสวรรค์
กำแพงเพชร ตาก ลำปาง เชียงใหม่ พักค้างคืนที่โรงแรมดาว์ ทาวน์ กินอาหารค่ำที่กาแล
เชียงใหม่ ไปตามถนนสาย ๑๐๘ ถนนสายนี้จะผ่าน อ.หางดง มีทางแยกซ้ายไปยังเมืองโบราณเวียงกุมกาม
ผ่าน อ.สันป่าตอง เลยไปนิดจะมีทางแยกไปเมืองโบราณเวียงท่ากาม
ผ่าน อ.จอมทอง ก่อนถึงตัวอำเภอ มีทางแยกขวาขึ้นสู่ดอยอินทนนท์
และเมื่อขึ้นไปจนถึงจุดตรวจแล้ว มีทางแยกซ้ายไปยัง อ.แม่แจ่ม และแยกต่อไปยังดอยแม่อุคอได้
แต่เส้นนี้ผมยังไม่เคยไป ไม่กล้าแนะนำ เพราะเคยไปแต่ตัว อ.แม่แจ่ม เมื่อถึง
อ.จอมทอง จะผ่านวัดพระธาตุจอมทอง
พระธาตุของคนเกิดปีหนู ไม่ว่าเกิดปีใดก็ควรแวะนมัสการพระธาตุแห่งนี้ ผ่าน
อ.ฮอด ซึ่งจะต่อไปยัง อ.ดอยเต่า (มีเส้นทางถนนดีไปดอยเต่า - อ.ลี้ -
เถิน) พอถึงฮอด ถนนก็จะหักเลี้ยวขวา ทีนี้จะหาเส้นทางราบแทบจะไม่มี จะคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาที่สูงชัน
จนกระทั่งถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน นับได้ ๑,๘๖๔ โค้ง (นำใบขับขี่ไปขอรับใบประกาศนียบัตร
ว่าผ่าน ๑,๘๖๔ โค้ง มาแล้ว ได้ที่หอการค้าแม่ฮ่องสอน) เมื่อผ่านฮอดแล้ว
ก็จะถึง "ออบหลวง"
ต้องแวะชมให้ได้ ออบหลวงยังอยู่ในท้องที่ของ จ.เชียงใหม่ คือ ไหล่เขาที่กั้นน้ำแม่แจ่มเอาไว้
เปิดช่องให้น้ำไหลได้นิดเดียว จึงเหมือนเป็นธารน้ำตก ยิ่งฤดูบัวตองบาน น้ำยิ่งสวย
เพราะไหลแรง และใสสะอาดกว่าน้ำในฤดูฝน น้ำแรงแต่ขุ่น พ้นจาก อ.หลวง ไปจนถึงบ้านกองลอย
ก็จะมีทางแยกขวาไปยังโครงการหลวง
"แม่โถ" ต่อจากนั้น
ก็จะเริ่มเข้าเขต อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และเริ่มจะเห็นดอกบัวตอง บานอยู่ริมถนนเป็นหย่อม
ๆ ไป บางแห่งก็เป็นแนวยาวไปตามริมถนน พอถึง กม.๘๔.๕๐๐ ก็จะมีทางแยกขวาไปยังทุ่งบัวตอง
"ดอยแม่เหาะ"
จุดแยกจะอยู่ห่างจากแม่สะเรียง ประมาณ ๑๘ กม.
แม่สะเรียง เป็นอำเภอใหญ่ มีเส้นทางไป จ.ตาก ได้ โดยจะผ่าน อ.สบเมย อ.ท่าสองยาง
อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด และ อ.เมืองตาก เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จะมายังแม่ฮ่องสอน
ที่เที่ยวสำคัญของแม่สะเรียงโดยเฉพาะชาวพุทธ และชาวฝรั่งทั้งหลาย (เพราะศาสนาของเขาไม่ห้ามเที่ยววัดในศาสนาอื่น)
คือ พระธาตุ ๔ จอม
ได้แก่ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมกิติ
และพระธาตุจอมมอญ
ซึ่งพระธาตุจอมมอญนี้ จะอยู่บนเนินสูง ขึ้นไปสักการะแล้ว จะมองเห็นทิวทัศน์ทั่วเมืองแม่สะเรียง
ตำนานเก่าแก่ของพระธาตุ ๔ องค์นี้ เล่ากันมาว่าเมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์เคยเสด็จมายังบริเวณที่จะเป็นอาณาจักรล้านนา
และเสด็จมาถึงเมืองที่เป็นที่ตั้งเมืองยวม ในอดีตด้วย เมื่อพระพุทธองค์เพ่งไปยังดอยลูกหนึ่ง
ดอยนั้นจึงได้ชื่อว่า จอมมอง
(ต่อมาเพี้ยนเป็นจอมมอญ) ต่อมาได้ทรงสัมผัสดอยอีกลูกหนึ่ง ทางตะวันตกจึงได้ชื่อว่า
ดอยจอมกิตติ และเมื่อเสด็จไปทงตะวันออก
ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่า จอมทอง และสุดท้ายจาริกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ยังดอยอีกลูกหนึ่งจึงได้ชื่อว่า
จอมแจ้ง และเป็นที่ตั้งของพระธาตุ
๔ องค์ ที่สร้างขึ้นในภายหลัง พระธาตุจอมกิตติ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ผ่านอำเภอแม่สะเรียงไปแล้ว คงไปตามถนนสาย ๑๐๘ อีกเพียง ๓๐ กม. ก็จะถึง อ.แม่ลาน้อย
เป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีถ้ำที่พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ นี้เอง เป็นอัศจรรย์อันซีน
ของถ้ำหนึ่งเดียวในประเทศไทย "คือ ถ้ำแก้วโกมล"
วิศวกรเหมืองแร่ สำรวจหาแร่ฟลูออไรต์ แต่กลับพบผลึกแคลไซด์บริสุทธิ์ เป็นโพรงขนาดใหญ่แทน
ซึ่งผลึกนี้งดงามราวกับถูกฉาบไว้ด้วยเพชร พลอย ระยิบ ระยับแวววาว เต็มฝาผนัง
และในปี พ.ศ.๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
และได้พระราชทานนามถ้ำว่า ถ้ำแก้วโกมล และพระราชทานชื่อ ห้องในถ้ำ ๕ ห้อง
ได้แก่ ห้องพระทัยธาร วิมานเมฆ เฉกหิมพานต์ ม่านผาแก้ว และห้องเพริดแพร้วมณีบุปผา
เส้นทางไปถ้ำให้เลี้ยวขวาถนนข้างโรงพยาบาล ไปอีก ๕ กม.
อำเภอขุนยวม เป้าหมายการเดินทางในวันนี้ หากแวะรายทางทุกแห่งตามที่ผมเล่ามาต้องนอนค้าง
ที่แม่สะเรียง เสียคืนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นไปถึงทุ่งบัวตองมืดค่ำแน่นอน ขุนยวมมีแหล่งท่องเที่ยวในตัวอำเภอคือ
วัดต่อแพ วัดม่วยต่อ ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ฯ
ถนนสาย ๑๐๘ ที่มาจากแม่ลาน้อย จะผ่านมากลางชุมชนของขุนยวม จะผ่านสถานีตำรวจ
ผ่านโรงแรมมิตรขุนยวม ติดกับโรงแรมนี้ในพื้นที่เดียวกัน ทางด้านซ้ายของโรงแรมคือ
ร้านอาหารที่จะชิม ชิมอาหารให้ท้องอิ่มเสียก่อน จึงเข้าไปเที่ยวทุ่งบัวตอง
ที่จะหาอาหารระดับชวนชิมไม่ได้เลย
ร้านอยู่ติดถนนไม่กว้างขวางนัก แต่มีป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ แขวนไว้
ร้านนี้นอกจากจะมีอาหารอร่อยมากแล้ว ราคายังถูก และมีผ้าพื้นเมืองจำหน่ายด้วย
สั่งมาชิมที่เป็นอาหารพื้นเมือง อร่อยถูกใจทุกอย่างโดยเฉพาะ
ลาบเหนือ หรือลาบเมือง ยกมายังร้อน ๆ มีน้ำนิด ๆ ไม่ลาบแห้ง ไม่เผ็ด
รสเยี่ยม ไม่ต้องไปปรุงอะไรอีก จานเดียวไม่พอชิม หาลาบเมืองอร่อยอย่างนี้
หาชิมยากจริง ๆ
ปลาสาละวิน ทอดกระเทียม ปลาตัวโต มีมันมาก หอมฟุ้งมาแต่ไกล
น้ำพริกหนุ่ม ไม่เผ็ดเช่นกัน มีแตงกวา ผักกาดขาว
ไส้อั่วสมุนไพร หมูทุบ บอกได้คำเดียวว่า อร่อย คอเบียร์ชอบกันนัก
แกงอ่อมปลา จากแม่น้ำสาละวิน ใส่มะเขือ ถั่วพู พริกไทยอ่อน คล้ายแกงป่า ไปกันคราวนี้
๑๐ คน สั่งอาหารจัด ๒ ที่ จ่ายเงินไปสำหรับมื้อนี้ ๑,๐๐๐ บาท พอดี
เลย อ.ขุนยวม ไปเล็กน้อย เลี้ยวขวาตรง กม.๒๐๑ เข้าถนนสาย ๑๒๖๓ ซึ่งเดี๋ยวนี้ราดยางอย่างดี
ไปจนถึงทุ่งบัวตอง ไปประมาณ ๑๓ กม. จะเป็นซุ้มประตู ให้ออกเยื้องซ้าย (หากตรงไปจะไปยัง
อ.แม่แจ่ม) ไปอีกประมาณ ๑๓ กม. ก็จะถึงร้านค้า ขายอาหาร ขายของที่ระลึก
ตั้งแต่แยกเข้าถนน ๑๒๖๓ สองข้างทางเกือบตลอดสาย จะวิ่งอยู่ระหว่างไหล่เขา
หรือเชิงเขา และอยู่ระหว่างดอกบัวตอง ที่มีไปตลอดสองข้างทางที่ยาว ๒๖ กม.
ไปจนถึงทุ่งบัวตอง ก่อนเข้าจุดชมวิว ทางซ้ายจะมีชาวบ้าน หรือจะ อบต. ก็ไม่ทราบปลูกไม้ดอกเมืองหนาว
เอาไว้ให้ชม เข้าไปถ่ายรูปได้แต่เก็บสตางค์ จุดชมสร้างเป็นชั้นที่นั่งแบบทุ่งทานตะวันตกก็มี
แต่ผมว่า เดิน ยืน ชมดีที่สุด ทั่วพื้นที่กว่า ๑,๐๐๐ ไร่ ซึ่งอยู่บนเขาและจะเขียวชอุ่มในฤดูฝนด้วยต้นหญ้า
พอถึงฤดูนี้บังตอง จะเปลี่ยนพื้นที่บนเขา ไหล่เขาให้กลายเป็นสีเหลืองอร่ามไปหมด
สวยจนไม่ทราบว่าจะอธิบายได้อย่างไร ขอตำหนินิดเดียว ทางไหล่เขาจุดสูงของทุ่งไม่ทราบว่า
อบต. หรือใครให้สร้าง ไปสร้างศาลาพักและร้านขายของที่ระลึกหลังคาสีเขียว ตัดกับความงามของทุ่งบัวตองสีเหลือง
คนคิดสร้างไม่ซึ่งถึงความงามของธรรมชาติ คิดจะหาเงินอย่างเดียว "รื้อทิ้งเสียเถิด"
อย่าทำลายธรรมชาติแสนสวยของทุ่งบัวตองเลย "แพทริเซีย รู้ท" ฝรั่งนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว
บอกว่าแม่ฮ่องสอนคือ หนึ่งใน ๑,๐๐๐ แห่งของโลก ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเห็นสักครั้งก่อนตาย
แต่ไม่ทราบว่า แกเขียนก่อนสร้างศาลาที่พักบนยอดบัวตองหรือเปล่า
ผมอขออธิบายความงดงามสุดพรรณนาของทุ่งบัวตองไว้เพียงเท่านี้ เพราะให้เขียนต่อไปก็คงพร่ำแต่คำว่า
สวยเหลือเกิน ภูเขาทั้งลูกเหลืองอร่าม ก็บอกได้แต่ว่าสวย
น้ำตกแม่สุรินทร์ เลยจากจุดชมวิวเข้าไปอีก ๑๑ กม. จะถึงน้ำตกที่สูงมากประมาณ
๑๐๐ เมตร มองจากข้างบน แต่หากนึกสนุกและแข็งแรงพอ ก็ลงไปถึงหุบเขาที่น้ำตกลงมาได้
มีที่พัก ที่กางเต้นท์นอน แต่ใครคิดจะไปนอน ก็เตรียมสู้ความหนาวไว้ให้ดี ๆ
........................................................
|