ตลาดน้ำวัดแสงศิริธรรม
วัดแสงศิริธรรม อยู่ฝั่งนนทบุรีก็จริง แต่แทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าเป็นเมืองนนท์
หรือเมืองกรุงเทพ ฯ เพราะไปทีไรก็พบกับการจราจรที่คับคั่งเช่นเดียวกัน ถ้าเริ่มต้นไปจากบ้านผม
คือ ถนนลาดพร้าว
ผมหาลู่หาทางเล็ดลอดไปโดยไม่ต้องวิ่งไปตามถนนลาดพร้าว ด้วยการเล็ดลอดไปตามตรอกซอกซอย
จนไปออกปากซอยเสนานิคม
จากนั้นก็เลี้ยวขวา วิ่งไปจนถึงสี่แยกเกษตรศาสตร์
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนงามวงศ์วาน
วิ่งตรงเรื่อยไปจนข้ามสะพานที่ข้ามถนนวิภาวดีรังสิต แล้วข้ามทางรถไฟ วิ่งต่อไปจนข้ามสะพานพระนั่งเกล้า
สะพานที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงต่อไปตามถนนรัตนาธิเบศร์
ประมาณ ๑ กิโลเมตร จะผ่านปั๊มน้ำมันเอสโซ่ หากเงยหน้าขึ้นมองจะเห็นป้ายใหญ่
เป็นป้ายโครงการมณียาเพลส ตรงนี้เป็นสี่แยกน้อย ๆ แต่เขากั้นกำแพงเอาไว้รถจึงเลี้ยวขวา
ตรงนี้ไม่ได้ หากเลี้ยวขวาได้ก็จะเข้าเส้นทาง ที่จะไปยังตลาดน้ำวัดแสงศิริธรรม
เมื่อเลี้ยวไม่ได้ให้ตรงต่อไปอีกหน่อย จะถึงสะพานกลับรถ กลับรถแล้วก็วิ่งย้อนกลับมาหาสี่แยกน้อย
ๆ ก่อนถึงสี่แยกจะเห็นทางซ้ายมือ มีป้าย "มัสยิดท่าอิฐ"
ปักอยู่ริมทาง อีกป้ายเป็นป้ายของโรงเรียนอนุบาลมณียา พอเลยป้ายโรงเรียนอนุบาลก็ให้เลี้ยวซ้าย
ทีนี้จะพบป้ายวัดแสงศิริธรรม
อยู่ทางซ้าย ให้ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งไปตามถนนแคบ ๆ สายนี้ ถนนโค้งทางไหนก็โค้งด้วย
อย่าเผลอเลี้ยวออกนอกทางก็แล้วกัน วิ่งไปเป็นระยะทางประมาณ ๓.๖ กิโลเมตร ก็จะถึงลานวัดแสงศิริธรรม
ทางด้านซ้ายของลานวัด มีสำนักงานของตลาดน้ำ ติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์ได้ โทร
๐ ๒๙๖๒ ๕๓๙๑ และ ๐ ๒๕๘๔ ๔๗๗๘ ด้านหลังของสำนักงานมีห้องสุขา ที่แม้ว่าจะไม่เป็นสากลแต่สะอาด
ขอออกนอกเรื่องไปสักนิด เพราะก่อนที่ผมจะเขียนเล่าเรื่องตลาดน้ำวัดแสงศิริธรรม
ผมฟังข่าววิทยุตอนหัวค่ำ บอกว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังจะเข้าประชุมสุขาระดับโลก
ได้ประกาศนโยบายว่า ต่อไปจะส่งเสริมให้สุขาในที่สาธารณะในภัตตาคาร ตามปั๊มน้ำมัน
ให้ทำห้องสุขาเป็นมาตรฐานสากลให้หมด (ชักโครก) ถ้าทำได้จริงผมก็ขอสนับสนุน
ไชโยโห่ร้องเลยทีเดียว เพราะทุกวันนี้เป็นปัญหาในการเดินทางของผม และไม่ใช่ผมคนเดียว
คนสูงอายุจะเป็นด้วยกันทั้งนั้น เพราะเขากำลังขา กำลังเข่าไม่ดี ทรุดโทรมลงไปตามวัย
ผมเขียนมานานหลายปีแล้ว คงจะเกินสิบปี ว่าขอให้ปั๊มน้ำมันของประเทศไทยได้ออกแบบห้องสุขา
ขอให้เป็นแบบผสม คือมีทั้งแบบนั่งยอง และแบบชักโครก ที่เป็นมาตรฐานสากล ขอให้ดูประเทศที่เขาส่งเสริมการท่องเที่ยวกันอย่างจริงจัง
และเขาไม่มีทรัพยากรตามธรรมชาติร่ำรวย เหมือนบ้านเรา เขาต้องสร้างเทียมขึ้นมา
แต่การท่องเที่ยวของเขาก็เจริญอย่างยิ่ง คือ ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง สองประเทศนี้ปรับปรุงสุขาตามที่สาธารณะ
ภัตตาคาร ปั๊มน้ำมันเป็นแบบผสม เคยถามเขาว่าทำไมต้องเป็นแบบผสม ก็เป็นสากลทั้งหมดไม่ได้หรือ
เขาชี้แจงให้ฟังว่าคนของเขาหัวเก่า ยังมีชีวิตอยู่ คนพวกนี้จะไม่ยอมไปนั่งทับบนขอบโถ
เพราะเขาเข้าใจว่าทุกคนต้องขึ้นไปนั่งยอง ๆ เอาเท้าวางบนนั้น เขาก็จะต้องปีนไปนั่งบ้าง
คนสี่ประเภทจะได้รับความลำบากมาก กับการใช้สุขาแบบนั่งยอง ๆ คือ คนสุงอายุ
คนพิการ คนอ้วน และชาวต่างประเทศ ลองให้แหม่มแกนั่งยอง ๆ รับรองว่าหงายท้อง
ก็ขออนุโมทนากับนโยบายของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณะสุข จะเป็นกุศลแก่นักท่องเที่ยวทั้งหลาย
พวกวัยดึกนั้นมีเวลาว่างมาก และมักจะพอมีสตางค์ด้วย ยิ่งฝรั่งยิ่งเงินดี เพราะเขาเก็บเงินไว้เที่ยวกัน
ในบั้นปลายชีวิต ส่วนตัวผมเองซึ่งตั้งใจไว้ว่า ตราบใดยังขับรถด้วยตนเองไหว
และท่าน บก.ฯ ไม่สั่งให้ผมหยุดเขียน ผมก็คงขับรถเดินทางท่องเที่ยว หาแหล่งกิน
แหล่งเที่ยวมาเล่าให้ท่านฟังได้เรื่อยไป ขับรถไม่ได้ก็ต้องหยุดเขียนในแนวนี้
เพราะหากให้คนอื่นขับให้ "หลับ" ไม่ต้องเห็นอะไรกัน พอถึงตอนเข้าตัวเมืองจะมองเสาะหาร้านอาหาร
ซึ่งผมมีวิธีหาของผม คนอื่นขับเขาไม่รู้ใจกว่าจะบอกให้หยุด ก็เลยที่หมายไกล
พอไปดุเขาเข้า พอคราวต่อไปบอกให้หยุดเขากระแทรกเบรคปัง หัวทิ่มกระจกคนขับโดนดุอีก
เลยไม่มีใครเขาอยากขับรถให้ในเวลาไป เสาะหาร้านอาหาร และผมเองก็ไม่อยากให้ใครมาแย่งขับ
เวลาที่จะขับรถได้ของผมเหลือน้อยแล้ว ขออภัยด้วยครับที่ออกนอกลู่ นอกทางไปแต่ก็จะเป็นประโยชน์
ต่อนักเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ควรแยกออกมาตั้งเป็นอีกกระทรวงหนึ่ง
สมัยที่ผมยังรับราชการ และมีโอกาสไปดูการสร้างปืนใหญ่ ที่ประเทศอิสราเอล เมื่อสามสิบปีมาแล้ว
อิสราเอลมีแหล่งท่องเที่ยวน้อยกว่าประเทศไทย แต่มีเมืองสำคัญคือ
เมืองเจรูซาเล็มที่มีสิ่งสำคัญของศาสนาถึง ๓ ศาสนา รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน
เมื่อสามสิบปีที่แล้ว อิสราเอลมีกระทรวงการท่องเที่ยวแล้ว และยังมีกระทรวงการกีฬาอีกด้วย
แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการกีฬา
ขอย้อนกลับมายังลานวัดแสงศิริธรรม ซึ่งลานวัดกว้างขวางพอที่จะจอดรถได้ มากมายหลายสิบคัน
ประวัติของวัดมีดังนี้
วัดแสงศิริธรรม หรือชื่อเดิมว่า "วัดขวิด"
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๔ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาของแม่น้ำ
ฝั่งตรงข้ามคือ เกาะเกร็ด
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของย่านนนทบุรี วัดนี้จึงอยู่ในพื้นที่ที่สมบูรณ์อากาศดี
นั่งกินอาหารบนแพริมน้ำ ไม่ต้องพึ่งพัดลม
อุโบสถหลังเก่า
ดั้งเดิม บูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ ลักษณะทรงไทยโบราณ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
เครื่องบนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างจะทรุดโทรม
ควรแก่การบูรณะได้แล้ว คนไปเที่ยวตลาดน้ำกันมากที่วัด ก็มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยให้ผู้คน
มาบริจาคปัจจัยบูรณะอุโบสถได้
ด้านหน้าซ้ายของอุโบสถ จะมีโต๊ะขายถังสังฆทาน และดอกไม้ ธูปเทียน ส่วนในอุโบสถก็มีพระสงฆ์
นั่งรอรับสังฆทาน และมีวัตถุมงคลหลวงพ่อดำ ให้เช่าบูชา
วัดขวิด หรือวัดแสงศิริธรรม ตั้งอยู่ท่ามกลางของชุมชน ที่มีความแตกต่างทั้งด้าน
เชื้อชาติ วัฒนธรรม ประเพณีและการนับถือศาสนา กล่าวคือ จะมีชุมชน
ชาวไทย - พุทธ , ชาวไทย - รามัญที่นับถือพุทธ ไทยอิสลาม แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
และสามารถประสานวัฒนธรรมกันได้อย่างกลมกลืน ทำให้เป็นชุมชนที่สงบ ร่มเย็น
น่าศึกษา น่าไปท่องเที่ยวและที่สำคัญสำหรับผม คือ น่าไปหาอาหารอร่อย ๆ กิน
และตอนไปครั้งแรกผมเห็นกับตาตนเองเลยทีเดียว ว่าสาวไทยอิสลามลงไปในแพอาหาร
และไปกินอาหารอิสลามที่มีขายในแพหน้าวัด กินเรียบร้อยแล้วเขาก็ไม่เดินอ้อมโบสถ์
คงเดินผ่านหน้าโบสถ์ไป ส่วนไทย-รามัญ นั้นแยกไม่ออก เพราะมองดูอย่างไรก็เป็นคนไทยไปหมดแล้ว
เคยถามสาวน้อยที่เกาะเกร็ดว่า ยังพูดมอญได้บ้างไหม เธอตอบว่า ต้องรุ่นยายจึงจะพูดได้คล่อง
รุ่นเธอพูด ฟัง ไม่รู้เรื่องแล้ว
โบราณวัตถุที่สำคัญของวัด
มีดังนี้
หลวงพ่อโต
"พระพุทธศรีโรจนชัย"
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ โดยการก่ออิฐ ฉาบปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปประจำอุโบสถ
ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ เมตรเศษ เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป
อยู่ในสภาพที่งดงาม
ยังมีพระพุทธรูปอีก สององค์ ที่แกะสลักด้วยไม้ทรงประทับยืน ปางห้ามสมุทร และปางห้ามญาติ
สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด พ.ศ. ใด เพราะวัดก็สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เช่นกัน (๒๓๒๗)
หลวงพ่อดำ
เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง
๔๘ ซม. ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีเรื่องแปลกที่น่าสนใจ เชื่อกันว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อดำ
เกิดขึ้นถึง ๓ ครั้ง คือ มีโจรมาขโมยหลวงพ่อดำ ซึ่งขนาดองค์ของท่านอุ้มสองคน
เอาไปได้สบาย ๆ แต่เมื่อโจรกรรมไปแล้ว ผู้โจรกรรมก็ให้มีอันเป็นไป ต้องนำหลวงพ่อดำกลับคืนมาทุกครั้ง
แถมยังเอากลับมาไว้ที่เดิม คือ หน้าองค์พระประธาน
ตลาดน้ำ
หน้าวัดแสงศิริธรรม มีทุกวัน แต่ผมไม่เคยไปวันธรรมดา โดยมากผมไปวันอาทิตย์
คนมากสนุกดี แต่วันเสาร์คนมาเที่ยวน้อยกว่า รวมทั้งร้านอาหารในแพก็น้อยลงไปด้วย
หากเป็นวันธรรมดาเอากันให้แน่ ๆ หากจะไปก็โทรถามเขาดีกว่า แน่นอนดี
๐ ๒๙๖๒ ๕๓๙๑ และการเดินทางก็เช่นกัน หากนึกสนุกขึ้นมาจอดรถทิ้งไว้ แถวปากเกร็ดแล้วลงเรือ
จากท่าเรือปากเกร็ดมาก็ได้ ๑๕ นาที ก็ถึง
ลักษณะของตลาดน้ำ ที่หน้าวัดแห่งนี้ เป็นเรือนแพ ไม่มีเรือแม่ค้ามาลอยลำขายอาหาร
และสินค้าแบบตลาดน้ำวัดลำพญา แต่จะมีเรือไอศครีมอร่อย ที่เป็นเรือติดเครื่องหางยาว
เรียกว่า ผู้บังคับเรือให้วิ่งฉวัดเฉวียนไปตามริมแพนั้น เป็นระดับลุง ไอศครีมอร่อย
กินกันสองครั้ง ลุงบอกขึ้นมาเองว่า รายได้วันละ ๒๐๐ บาท บอกต่อไปอีกว่าคนปูนเรา
(แสดงว่านับผมเข้าไปด้วย) พอกินแล้ว ไม่ต้องพึ่งใคร เรือไอศครีมลุงมักมาหยุดจอดริมแพ
ตรงร้านอาหารผมลืมนับไปว่า แพมีทั้งหมดกี่หลัง ทางลงแพมีสองทาง ลงตรงหน้าโบสถ์ทางหนึ่ง
ลงทางนี้ก็ลงแพไปเลย อีกทางหนึ่งลงเลยโบสถ์มาทางซ้ายนิดหนึ่ง แถบลานจอดรถ
หากลงทางนี้ให้อาฆาตเอาไว้ก่อน หรือจะซื้อเสียเลย แล้วเดินไม่กี่ก้าวเพื่อเอาไปเก็บที่รถเสียทีหนึ่ง
แล้วค่อยมาไต่ลงแพใหม่ ทางซ้ายของทางลงแพเส้นนี้ จะมีศาลาริมน้ำมีของขาย คือ
" เนื้อแดดเดียว" ที่ขอรับรองความอร่อย ผมไปทีไรแวะซื้อทุกที และเขาทำมาแต่ละวันไม่มากนัก
ราคาขาย กิโลกรัมละ ๒๔๐ บาท อร่อยคุ้มค่า สมราคาติดกับเนื้อแดดเดียว ขายยาไทย
เช่น ยาหม่อง ขวดละ ๔๕ บาท สรรพคุณดี แผงตรงข้ามกับยาหม่องอร่อยควรซื้อ อีกอย่างหนึ่งคือ
ปลาส้มกำนันจุล ร้านกำนันจุล นั้นต้องไปเพชรบูรณ์ ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์
ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ทั้งด้ายซ้าย และขวาของถนนที่จุดนี้ เป็นจุดเลี้ยวขวาหักศอกพอดี
ร้านกำนันจุล ตั้งดักเอาไว้ทั้งคนที่จะไปและคนที่จะกลับ ผ่านมาทางนี้ ปลาส้มกำนันจุลบรรจุถุงเอาไว้สวยงาม
และยังมีของอื่น ๆ ขายอีก เช่น ผลไม้ และน้ำผลไม้ เรียกว่า ผ่านไปทีไร ได้เสียสตางค์ทุกทีไป
แต่ที่ศาลาริมน้ำแห่งนี้ ปลาส้มใส่อ่างใบโตเอาไว้ ตักขายตามแต่จะสั่งซื้อ
ปรากฎว่า ปลาส้มที่ซื้อมาจะเป็นกำนันจุลจริง หรือปลอมไม่ทราบอร่อยมาก รสคงจะทัดเทียมกับซื้อจากร้านกำนันจุล
ที่วังชมพูเลยทีเดียว เวลาจะกินเอามาหลนกับกะทิกินกับผักสด แต่ผมชอบนำมาล้างเสียก่อน
แล้วทอดใส่จาน แล้วโรยด้วยหอมซอย พริกขี้หนูสด บีบมะนาวลงไปอีกนิด แนมด้วยผักสด
กินกับข้าวสวย ข้าวสองชามยังไม่พอ หรือกินกับข้าวต้มในตอนเย็น ก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง
และติดกับกาละมังปลาส้ม ยังมีแผงขายผลไม้สด ที่มาจากสวนนนทบุรี เป็นผลไม้ตามฤดูกาล
ราคาทั้งผลไม้และปาส้มไม่แพง จากแผงในศาลาขายเนื้อแดดเดียว และปลาส้ม ทีนี้เดินลงแพได้แล้ว
หากเราลงแพโดยลงทางหน้าอุโบสถ จะมาผ่านทอดมันหน่อกะลา ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านจานเด็ด
ของชาวเกาะเกร็ด แต่เวลาไปวันเสาร์ไม่เห็นออกมาขาย อาจจะขายเฉพาะวันอาทิตย์ก็ได้
ทอดมันหน่อกะลาเจ้านี้บอกว่า มาจากเกาะเกร็ดซึ่งที่เกาะเกร็ดนั้น มีหลายเจ้า
เรียกว่าพอขึ้นจากท่าเรือ ก็เจอหน่อกะลาทอดเต็มไปเลยทีเดียว หน่อกะลานั้นต้นเหมือนกอข่า
มีดอกสีแดง เอาแต่หน่อตรงโคนมาทำทอดมัน เรียกว่า ทอดมันหน่อกะลา เจ้าอร่อยที่เกาะเกร็ดนั้น
ต้องเดินเลยวัดปรมัยยิกาวาส วัดที่อยู่ตรงท่าน้ำเลยเข้าไปถึงหน้าวัด ตรงท่าน้ำอีกท่าหนึ่งของเกาะเกร็ด
ส่วนที่แพท่าน้ำวัดขวิดนี้ อยู่แพหลังที่สองจากซ้าย และในแพหลังนี้ยังมีอร่อยอีกคือ
กาแฟโบราณ ส่วนกาแฟอีกร้านหนึ่งอยู่ทางแพหลังขวาสุด แต่พอซื้อมาชิมแล้ว
สงสัยว่าสะกดผิดหรือเปล่า เพราะเกรงว่าจะไม่ใช่ที่ถนนพาดสาย เลยจากทอดมันหน่อกะลาไปนิด
แพหลังเดียวกันก็มี หมูสะเต๊ะ ขนมปังปิ้งอร่อยใช้ได้ อาหารบนแพนั้น หากเราหาที่นั่งได้
เช่น ผมตระเวนทั่วแล้วผ่านร้านก็สั่งเขาเลย บอกว่าเราจะไปนั่งที่ไหนเขาก็จะเอาส่งให้
ไม่ต้องให้เรายืนคอย อาหารเขาใส่กระทงมาให้ บางร้านก็ใส่จานมาให้ จ่ายสตางค์กันตอนเขาเอาอาหารมาส่ง
ในแพเดียวกันนี้ยังมีขนมไทย ของคุณยายอีกเจ้าหนึ่ง เช่น ขนมถ้วย ขนมฟักทอง
ให้คะแนนขั้นดี
กลับมาแพหลังซ้ายสุด ที่เหมาแพทั้งหลังเอาไว้ก็ลงทางซ้ายสุด ทางที่ผ่านหน้าศาลาขายเนื้อแดดเดียว
มีโต๊ะตั้งอยู่หลายตัว บรรยากาศแจ่มแจ๋วมองข้ามแม่น้ำไป จะมองเห็นเกาะเกร็ด
จะเห็นเรือนำเที่ยวรอบเกาะเกร็ด ซึ่งเมื่อตอนไปเกาะเกร็ดนั่งเรือรอบเกาะ ก็มองเห็นตลาดน้ำหน้าวัดแสงศิริธรรม
อยู่คนละฝั่ง และหากจะลงเรือไปเที่ยวรอบเกาะเกร็ด และไปคลองขนมหวาน ที่แพตลาดน้ำแห่งนี้
มีเรือพาเที่ยว แต่ผมยังไม่เคยลง
วันที่ไปเที่ยวเป็นวันอาทิตย์ เห็นเขามีข้าวแกงขายด้วย มีแกงส้มชะอม ปลาทอดผักกระเฉด
สั่งแล้วให้เขาอุ่นให้เอามาซดร้อน ๆ พะโล้ ไข่ หมู เต้าหู้ สั่งมาให้หลานตัวน้อยอายุได้ขวบเศษ
ไปเที่ยวกับปู่ได้ อนาคตอาจจะเป็นนักชิมแทนปู่ สั่งผัดเผ็ดปลากรายเหนียวหนึบเผ็ดอร่อย
และนึกไม่ถึงว่าจะมีอาหารตามสั่งอร่อย ๆ เพราะเห็นใครลงมาก็รี่เข้าไปหาถาดอาหารสำเร็จรูป
หรือไม่งั้นก็ไปชี้เอาที่แผงข้าวขวามือ สั่งไก่ย่าง ปีกไก่ ผมก็สั่งปีกไก่ย่างข้าวเหนียวมาเหมือนกัน
ส่วนคนอื่นส่วนใหญ่ที่นั่งปุ๊บ มาปั๊บก็สั่งก๋วยเตี๋ยว ผมชิมอาหารตามสั่งของเขา
๒ - ๓ อย่างเท่านั้น
วันหลังไปวันเสาร์ กับข้าวในถาดไม่มีคราวนี้รู้หลัก เพราะเขาบอกว่า หากกินกุ้งย่างโทรสั่งก่อนได้
วันแรกที่ไปเขาเอากุ้งแม่น้ำใส่กระชังไว้ในแม่น้ำสด ๆ แต่พอสั่งกุ้งเผาเขาบอกว่า
จองกันหมดแล้ว พอไปคราวหลังโทรจองไปบอกว่า เอากุ้งเผา หนึ่ง กิโลกรัม และทำกุ้งต้มยำอีก
ครึ่ง กิโลกรัม กุ้งแม่น้ำตัวโตพอสมควรราคา กิโลกรัมละ ๕๐๐ บาท ถือว่าไม่แพง
สั่งมาชิม ดังนี้
กุ้งเผา หนึ่ง กิโลกรัม น้ำจิ้มแซ๊บ ยอมมือเปื้อนแกะเปลือกกุ้ง เอามันกุ้งคลุกข้าว
เหยาะน้ำปลาพริกนิดหนึ่ง ตักเข้าปากแล้ว ซดต้มยำกุ้งตามไปให้คล่องคอ
ต้มยำกุ้ง รสดี ไม่ถึงขั้นเลิศ ต้มยำปลาเคยสั่งรสแซ๊บถูกใจ
ทอดมันปลากราย ชิ้นโต เหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ จานนี้ ๖๐ บาท มี ๗ ชิ้นใหญ่
ๆ
ปลากะพงสามรส หรือปลาเก๋า ปาทับทิม ปลาที่เขามีอย่าข้ามปลาสามรสของเขาไปเป็นอันขาด
เพราะทอดปลาได้เก่งมาก รสออกมาสามรสจริง ๆ หากให้เทียบกับที่บอกไปแล้ว เมื่อเร็ว
ๆ นี้คือเทียบได้กับ ปลาสามรส อยู่ถนนสายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ กิโลเมตร๙๓.๘๐๐
ส้มตำ เห็นส่วนใหญ่ท่าทางชาวบ้าน เป็นเจ้าประจำกันเวลามานั่ง และแต่ละกลุ่มจะมากันหลาย
ๆ คน เขาจะสั่งส้มตำ ปีกไก่ย่าง ก๋วยเตี๋ยว เลยลองสั่งส้มตำมาชิมไม่ผิดหวัง
ปิดท้าย ด้วยการเดินไปสั่งขนมยายมาชิม และพอดีเรือไอศครีมมาพอดี จัดการเสียไอศครีมลุง
หวานมัน ใส่ข้าวเหนียว ถ้วยละ ๑๐ บาท แถวถ้วยกลับบ้าน ได้ด้วย
..........................................................
|