บ่อเหล็กน้ำพี้
ผมเดินทางไปเขาค้อ
เพชรบูรณ์ เพื่อไปตรวจการก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมศาลสองมหาราช
ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย "ที่มหาราช" ผู้มีคุณต่อแผ่นดินคือ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะประทับอยู่ในศาลเดียวกัน
และด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ที่อยู่ห่างจากศาลประมาณ
๑๐๐ เมตร เป็นผลให้ผู้ที่มากราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุได้รับความสำเร็จ
จึงนำพระบรมรูปบ้าง เทพในศาสนาต่าง ๆ บ้าง หรือรูปหล่อของพระเกจิอาจารย์ มาถวายเอาไว้ในห้องฐานพระบรมธาตุเจดีย์จนเต็มห้อง
ผมและเจ้าอาวาสจึงต้องอัญเชิญมาประทับไว้ที่ศาล ซึ่งเวลานี้มี ๓ ศาล คือ ศาลสองมหาราช
ศาลสมเด็จพระปิยมหาราช
ศาลเจ้าแม่กวนอิม ธิเบตปางพันมือ
รวมทั้งเทพจีน ที่ได้นำมาประดิษฐานรวมกันไว้ในศาลนี้
จากเขาค้อ ลงมายังแคมป์สน
แล้วออกไปบรรจบกับถนนสาย ๑๒ ซึ่งเป็นสายที่หากเราเลี้ยวซ้าย จะไปพิษณุโลก
เลี้ยวขวาจะไปหล่มสัก จุดบรรจบคือ กม.๑๐๐ ผมเลี้ยวขวาพอไปถึง กม.๑๐๓ ก็เลี้ยวขวาเข้าซอยไปอีกประมาณ
๒ กม. เศษ ก็ถึงที่พัก ซึ่งเคยมาพักครั้งหนึ่งแล้ว พักแล้วก็ติดใจ บ้านพักแต่ละหลังสร้างตามไหล่เขา
เรียกว่าได้ชมวิวสวยทุกหลัง ตอนกลางคืนอากาศหนาวเย็นไม่ต้องเปิดแอร์
อาหารเย็น วันที่ไปถึง กินที่ห้องอาหาร ตั้งอยู่บนยอดเนิน ตอนเย็นวิวจะสวยมาก
ห้องอาหารเป็นศาลาโปร่ง รับลม มีหลายหลัง จัดเลี้ยงได้ ห้องสัมมนาก็มี ไข่พับ
เป็นอาหารไม่มีในเมนู แม่ครัวเอกแนะนำมา คล้ายไข่ยัดไส้ แต่พับแบบขนมเบื้อง
หมูหลบแดด คือ หมูแดดเดียว แต่หมักแล้ว ไม่ได้นำออกตากแดด เอามาทอดเลยอร่อยมาก
แกงป่าปลา เผ็ดอร่อย จะตักราดข้าว หรือ ตักซดร้อน ๆ ให้คลายหนาวก็ได้ สลัดผักสด
เขาค้อปลูกผักมาก ผักจากบนนี้จึงสดและเป็นผักเมืองหนาว น้ำสลัดอร่อย ปลาดุกผัดฉ่า
ผัดเนื้อนุ่ม เผ็ดอร่อยเช่นกัน ตามด้วยข้าวสวยร้อน ๆ
ผมนอนที่เขาค้อหนึ่งคืน
พอเช้าวันรุ่งขึ้น ก็จะเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ เป็นเป้าหมายต่อไป
ขอทบทวนแหล่งท่องเที่ยวตามรายทางไว้ด้วย ออกจากซอยที่ตั้งของที่พักบนเขาค้อ
มายังถนนสาย ๑๒ แล้วก็เลี้ยวซ้ายมาผ่าน กม.๑๐๐ ซึ่งถนนขึ้นเขาค้อแยกตรงจุดนี้
ผ่านน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกแก่งโสภา ที่ กม.๗๑ เป็นน้ำตกที่ตกจากแก่งหินในลำน้ำเข็ก
รถเข้าได้สะดวก
พอถึง กม.๗๙ ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
มีที่พักและมีเส้นทางไปเชื่อมต่อกับทุ่งหญ้าสะวันนา
บนเขาค้อได้ แต่หากไม่ใช่รถโฟวีลหมดสิทธิ์ ต่อจากนั้นก็จะผ่านทางแยกน้ำตกปอย
น้ำตกแก่งซอง กม.๔๔.๕๐๐ น้ำตกสกุโณทยาน
กม.๓๓ และยังมีอีกหลายน้ำตกในเส้นทางนี้
ก่อนถึงน้ำตกแก่งซอง เล็กน้อย มีร้านกาแฟต้นตำรับ "กาแฟสด" ผมกินกาแฟเจ้านี้มาตั้งแต่ยังเป็นเพิงเล็ก
ๆ ริมลำน้ำเข็ก อยู่ใกล้กับน้ำตกแก่งซอง จนเดี๋ยวนี้ร้านใหญ่โต มีคำขวัญไว้ว่า
กาแฟดีนั้น "สีดำดุจดั่งปีศาจ ร้อนร้ายกาจดั่งไฟประลัยกัลป์" เสียดายที่คำขวัญนี้
ตายไปพร้อมเจ้าของแล้ว คือ กาแฟร้อนต้องร้อนจัดจึงจะอร่อย แต่หากเย็นชืด ก็หมดความอร่อย
ผมเคยดื่มกาแฟสดตามปั๊มถ้วยละ ๕๐ บาท แต่เย็นไม่เอาไหน ต้องไปดื่มถ้วยละ ๑๐
บาทต่อให้ได้ซดร้อน ๆ ชื่นใจ ผมไม่บอกชื่อกาแฟที่ทำให้คำว่า ดั่งไฟประลัยกัลป์
หมดความหมาย บอกให้ร้านกาแฟทั้งหลายที่ขายกาแฟสด ทำอย่างไร ให้กาแฟร้อนจัด
ก่อนยกมาเสริฟ อย่าอ้างว่ากาแฟสดชงไม่ได้ วิ่งไปตามถนนสาย ๑๒ จนผ่านอำเภอวังทอง
(มีทางแยกซ้ายไปพิจิตร สิงห์บุรี ได้) พอผ่านหลัก กม.๑๔ ทางขวาคือ ทางแยกเข้าวัดเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว
เลยต่อไป ก็จะถึงทางเลี่ยงเมืองแยกไปอุตรดิตถ์ สุโขทัย โดยแยกจากสาย ๑๒ แล้วไปบรรจบกับสาย ๑๑ ที่สี่แยกดงประโดก แล้วเลี้ยวขวาไปอีก ๙๙ กม. จะถึงอุตลดิตถ์
เมื่อเลี้ยวเข้าสาย ๑๑ แล้วจะมีปั้มน้ำมันหลายปั้ม ทุกปั๊มสุขาสะอาด ปั๊มแถวนี้จะมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ด้วย
เลยกลุ่มปั๊มห้องน้ำสะอาดไป หากเลี้ยวขวา กม.๒๒ ไปตามถนน ๑๓๙๖ จะไปยังวัดเสนาสน์ ฯ
ที่มีพระบรมสารีริกธาตุ หากไม่เลี้ยวไปวัด ตรงต่อไปก็จะถึงดงที่ขาย "ฟักทองแฟนซี" ที่นิยมซื้อไปวางหน้าพระ หรือหน้าเจ้าแม่กวนอิม มีความหมายว่า บูชาแล้วรวยเงิน
รวยทอง และวางไว้ได้ทนมากนานนับเดือน ไม่เน่า ย่านนี้ขายฟักทองแฟนซี แคตาลูป
และแตงโมเหลือง
กม.๕๖ แยกซ้ายไปบ้านเกิด และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกของพระเจ้ากรุงธนบุรี
ที่ดาบซ้ายเป็นดาบเหล็กน้ำพี้ไม่หัก ดาบขวารบจนดาบหักเพราะเป็นเหล็กธรรมดา
กม.๘๒ เป็นสี่แยก ป้ายบอกไปอำเภอทองแสนขัน และไปบ่อเหล็กน้ำพี้ ขอแนะนำว่าตอนไปเลี้ยวเข้าที่สี่แยกนี้
ตอนกลับกินกลางวันแล้วกลับอีกทาง ไปอุตรดิตถ์ได้เลย ไม่ต้องย้อนกลับมาอีก
เมื่อถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวาตามป้ายไปอำเภอทองแสนขัน แต่มาเพียง ๒ กม. ก็เลี้ยวซ้ายไปอีก
๙ กม. ถึงทางเข้าหมู่บ้านน้ำพี้ จะมีป้ายบอกไปเป็นระยะไปถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้
เมื่อไปประมาณ ๙ กม.แล้ว เลี้ยวขวาตามป้ายไปจะถึงหมู่บ้านเลี้ยวขวาอีกทีไปอีก
๓.๕ กม.จะถึงพิพิธภัณฑ์ ฯ ระหว่างทางจะผ่านร้านขายผลิตภัณฑ์จากเหล็กน้ำพี้ไปจนถึงลานจอดรถ
หน้าโบราณสถานก็จะมีร้านขายผลิตภัณฑ์ของสวัสดิการหมู่บ้านตั้งอยู่ มีสุขาพออาศัยได้เมื่อจำเป็น
เหล็กน้ำพี้เป็นเหล็กกล้าโบราณมีความแข็งแรง และมีความเหนียวรวมอยู่ด้วยกัน
ลักษณะพิเศษของเหล็กกล้านี้มีอยู่แห่งเดียวในโลกคือ ที่บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้
อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เหล็กน้ำพี้มีส่วนผสมของแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิดเช่น
แมงกานิส ซิลิคอน อะลูมิเนียม โทเทเนียม โบรอน อาเซนิค ดีบุก ตะกั่ว โคบอลและแร่ธาตุอื่น
ๆ รวมอยู่ด้วยกันกว่า ๒๐ ชนิด เมื่อนำมาถลุงให้เป็นเหล็กกล้าแล้วตีรีดออกเป็นอาวุธและเครื่องมือ
จึงทำให้เหล็กน้ำพี้มีความเหนียวและแข็งแรง มีหลักฐานความเกี่ยวพัน และความเป็นมาของดาบคู่พระทัยพระราชา และขุนศึกของประเทศหลายท่านเช่น
ใช้ทำพระแสงของ้าว ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน และดาบนันทกาวุธ
ซึ่งเป็นดาบคู่ของพระยาพิชัยดาบหัก และจังหวัดอุตรดิตถ์ได้สร้างดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไว้
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ มีน้ำหนักถึง ๕๕๗.๘ กิโลกรัม ปัจจุบันดาบเล่มนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้
ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
กลับมาที่บ่อเหล็กน้ำพี้ใหม่ จุดแรกคือ เข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้เสียก่อน
ตั้งอยู่ริมลานจอดรถสร้างเป็นอาคารตั้งอยู่บนเนินลดหลั่นสวยงาม จะได้ความรู้เรื่องของเหล็กน้ำพี้
ตั้งแต่อยู่ในบ่อจนมาถลุง เพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้กันเลยทีเดียว
สรุปได้ว่า อำเภอทองแสนขัน มีบ่อเหล็กกล้า เห็นได้ชัดเจน ๒ บ่อคือ
๑. บ่อพระแสง
เป็นเหล็กดีกว่าบ่ออื่น นายช่างผู้สร้างพระแสงดาบของพระมหากษัตริย์ จะนำเหล็กจากบ่อนี้ไปสร้างถวาย
จึงชื่อว่าบ่อพระแสง
๒. บ่อพระขรรค์
จะนำเหล็กในบ่อนี้ไปถลุงเพื่อทำพระขรรค์
ในพิพิธภัณฑ์ จะรวบรวมหลักฐานรายละเอียดเช่นประวัติเหล็กน้ำพี้ ขั้นตอนการขุดแร่เหล็ก
การถลุง การตีเหล็กจนเป็นดาบที่มีความแข็งแกร่งและคม และมีห้องแสดงการขุดหาแร่เหล็กน้ำพี้ของคนโบราณ
ถ้าเป็นแร่เหล็กน้ำพี้จะมีสีดำเข้มเป็นมันวาว มีน้ำหนักมากกว่าหินทั่วไป
เดินออกไปทางด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ทางตรงไปจะเข้าไปในป่ามีป้ายบอกว่าไปบ่อแร่เหล็กน้ำพี้
๒ บ่อ
แต่เส้นทางค่อนข้างรกเลยไม่ได้เดินไปดู แยกมาทางขวาเป็นศาลเจ้าพ่อ
ภายในศาลมีเจ้าพ่อ ๓ องค์ องค์ทางซ้ายสุดคือ เจ้าพ่อพระศุกร์ หรือนายสุข องค์กลางเจ้าพ่อพระขรรค์
องค์ขวาเจ้าพ่อพระแสง ใครมาที่นี่ไม่ได้กราบไหว้ ๓ เจ้าพ่อถือว่ามาไม่ถึงบ่อเหล็กน้ำพี้
ที่ศาลมีก้อนแร่เหล็กน้ำพี้ ๒ ก้อน สำหรับให้ขอพรแล้วอธิษฐาน ยกหินแร่ว่าจะสำเร็จดังปรารถนาหรือไม่
ใกล้ ๆ กับศาลเจ้าพ่อ มีบ่อพระขรรค์ บ่อพระแสง กว้าง ๒๐ เมตร ลึก ๑๐ เมตร
ที่บ่อนี้มีเบ็ดทำด้วยแม่เหล็ก และให้อธิษฐานขอเพื่อนำเหล็กน้ำพี้ไปเป็นศิริมงคล
แล้วลองเอาเบ็ดกวาดตกในบ่อ หากโชคดีก็จะได้เหล็กน้ำพี้ติดขึ้นมา และไม่ไกลกันมีต้นประดู่แดง
ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทางปลูกเอาไว้เมื่อ ๖
พ.ย.๒๕๓๓
จบแล้วเดินมาข้างลานจอดรถ ร้านขายผลิตภัณฑ์เหล็กน้ำพี้ ดายคมกริมเล่มละ ๓,๕๐๐
บาท และมีพระพุทธรูป พระสมเด็จก็มี ล้วนแต่สร้างขึ้นจากเหล็กน้ำพี้ทั้งสิ้น
วัดน้ำพี้
กลับจากบ่อเหล็กน้ำพี้ ตามเส้นทางเดิมประมาณ ๑ กม. จะพบทางเข้าวัดน้ำพี้ทางด้านหลัง
อยู่ทางซ้ายมือ ปากทางเข้าบอกว่า เชิญเข้าไปบูชาพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองของชาวน้ำพี้ ผมเลี้ยวเข้าวัดไปปรากฎว่า
วิหารปิด วัดกำลังสร้างโบสถ์ ก็วิ่งไปออกทางประตูหน้าวัด พ้นประตูไปแล้วคือ
ถนน หากเลี้ยวซ้ายจะกลับเส้นทางเดิม แต่หากเลี้ยวขวามาประมาณสัก ๒๐๐ เมตร
แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีไปตามถนน ๑๐๔๗ จะไปอุตรดิตถ์ได้เลย ไม่ต้องย้อนกลับตามเส้นทางที่มา
เมื่อออกจากประตูวัดน้ำพี้มาแล้ว เลี้ยวขวามาสัก ๕๐ เมตร มีซอย ๑ ประชาร่วมใจ
ปากซอยมีร้านอาหาร เข้าไปในร้านแบบชาวบ้านแท้ เห็นป้าย คลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์
แขวนเอาไว้ ภายในร้านสะอาดสมกับมีป้าย รายการอาหารเน้นไปทางอาหารจานเดียว
เช่น ก๋วยเตี๋ยว และข้าวผัด ข้าวหน้าต่าง ๆ ชาวบ้านนั่งกินกันเต็ม
ผัดกระเพราหมู จะราดหน้าข้าว ไข่ดาวก็ได้ แต่อยากชิม เลยสั่งให้ผัดกระเพราใส่จานมา
ไม่ผิดหวัง มีน้ำผัดขลุกขลิก เผ็ดกำลังพอเหมาะ ที่จะกินกับข้าว
ผัดพริกหมู ผัดมากับพริกใหญ่ หอมใหญ่ ต้นหอม มีตับหมูด้วย อร่อยมาก
ต้มแซ๊บหมู เครื่องในหมู ใส่มะเขือเทศ ข่า ใบผักชีฝรั่ง ซดตอนยกมาร้อน ๆ เด็ดจริง
ๆ
น้ำปลาพริก ไม่ต้องสั่งใส่ถ้วยมาบริการฟรี ทุกจานอาหารจะมีช้อนกลาง
อิ่มแล้ว เดินไปที่ตู้ไอศครีม หยิบไอศครีมชอคโกแลดมา ๒
แท่ง ถ้วยเล็กอีก ๑ ถ้วย และยังมี โค๊ก ๑ ขวด น้ำแข็งเปล่าอีก ๒ แก้ว
ทั้งหมดนี้ จ่ายเงินไป ๑๑๕ ถูกมาก ราคาชาวบ้านแท้ แถมอร่อยอีกด้วย เสียดายไปกันแค่
๒ คน ไม่เช่นนั้นจะสั่งอาหารมาชิมสัก ๑๐ จาน (อาหารจานเดียว ราคาจานละ ๒๐
บาท ) อิ่มแล้วออกจากร้าน เลี้ยวขวาไปบรรจบกับถนนสาย ๑๐๔๗ เลี้ยวซ้ายกลับไปจนบรรจบกับถนนสาย
๑๑ ที่มาจากพิษณุโลก เพื่อไปอุตรดิตถ์ต่อไป
|