แม่ทัพคู่บัลลังก์พระนั่งเกล้า
ฯ
เลขาฯ ประจำตัวผม อดีตอาจารย์ภาษาต่างประเทศของโรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์
สิงหเสนี) ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้รับมอบที่ดินมาให้สร้างโรงเรียน จากคุณหญิงนครราชเสนี
(เจือ สิงหเสนี) จำนวน ๓๙ ไร่ ๓ งาน ๘๖ ตารางวา ผู้เป็นทายาทสายสกุลสิงหเสนี
และโรงเรียนได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ เสนี) ขึ้นที่พื้นที่ด้านหน้าของโรงเรียน
เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ
๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ และฉลองการก่อตั้งโรงเรียนครบรอบ ๒๕ ปี เพื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทย
เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม.เขตวังทองหลางและศูนย์วัฒนธรรมเขตวังทองหลาง เรียกว่าอยู่ไม่ไกลจากบ้านผม
(ลาดพร้าว ซอย ๗๑) แต่ผมก็ไม่เคยเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์สักที มาได้ชมเอาเมื่อ
พ.ศ.๒๕๕๐ นี้เอง ชมแล้วก็ได้รับความรู้ ภูมิใจแทนผู้สืบทอดสกุลสิงหเสนี (ทราบว่าทายาทที่สืบทอดจากต้นสกุลของท่านเจ้าพระยามีถึง
๑๐ สกุล) และผมชื่นชมท่านมาก
ก่อนทราบการศึกษาของท่าน ไปชมพิพิธภัณฑ์ของท่านที่โรงเรียนสร้างไว้เสียก่อน
โรงเรียนบดินทร์เดชา มีหลายโรงเรียนแต่ต้องไปที่โรงเรียนแห่งแรกคือ ที่ถนนลาดพร้าว
เข้าทางถนนประดิษฐมนูธรรมที่เลียบทางด่วนรามอินทรา - อาจณรงค์ หากมาจากบางกะปิ
พอเจอทางด่วนก็เลี้ยวซ้ายแล้วไปเลี้ยวซ้ายตามป้ายอีกที พิพิธภัณฑ์จะเข้าทางประตูหน้าก็ได้
แต่ต้องลงไปเปิดประตูโรงเรียนเอง ประตูเอาโซ่คล้องไว้หรือเลยไปเข้าทางประตูข้างที่เปิดเป็นทางเข้าออกเป็นประจำ
ที่พิพิธภัณฑ์มีเจ้าหน้าที่ประจำ ๑ คน ตลอดเวลา ไปบอกเจ้าหน้าที่ (หญิง) ก็จะเปิดให้เข้าชมได้เลย
ชมได้ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ ไม่เก็บค่าเข้าชม โทร ๐๒ ๕๓๘ ๓๙๖๔ ต่อ ๐, ๖๓๙ อนุสาวรีย์ของท่านอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไทย
เมื่อขึ้นไปแล้วจะแบ่งออกเป็น ๓ หลังหรือ ๓ ห้อง หลังตรงหน้าเมื่อเข้าไปชื่อเรือนเจ้าพระยา
จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา เช่นอาวุธจริงที่ท่านเคยใช้ในการรบ
หมวกนักรบ ฆ้องศึก สิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว ภาพวีรกรรม ภาพอนุสรณ์สถาน ฯลฯ
เรือนทางขวาชื่อเรือนรัชดาบดินทร์ จัดแสดงประวัติและเกียรติประวัติต่าง ๆ
ของโรงเรียน ฯ นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงเรียนเป็นต้นมา เรือนหลังทางซ้ายชื่อเรือนศิลปะนิทัศน์
จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม สภาพสังคมและวิถีชีวิตไทยใสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทุกหลังสร้างด้วยไม้สักทอง ในรูปแบบของเรือนไทย ที่ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง
ๆ ล้อมรอบ
ผมได้คาถาของวท่านเจ้าพระยา ที่ท่านใช้สำหรับสวดป้องกันตัวยามออกศึกสงคราม
(ได้มาตอนเป็นนักรบชราแล้ว เลยไม่ได้ใช้) คาถาของท่านคือ "วินะยัง โสปะกา
เสติ วิทัง เชตะวา ตะโย วิเสสะนัง ญานัง สัมปันโน วิปปะสันนะมะนัง นะมามิหัง
ฯ"
ท่านเจ้าพระยา ฯ น่าจะใช้เป็นท่านเดียว ที่มีอนุสาวรีย์อยู่ต่างประเทศด้วย
อนุสาวรีย์ของท่านมีหลายแห่งคือ ที่โรงเรียนบดินทร์เดชา ที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นอนุสาววรีย์ที่ประเทศกัมพูชา
ในเมืองอุดงมีชัย (เคยเป็นเมืองหลวงของเขมร) โดยองค์หริรักษ์ (นักองค์ด้วง)
พระเจ้ากรุงกัมพูชา เมื่อทราบว่าท่านเจ้าพระยา ฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันที่
๒๔ มิถุนายน ๒๓๙๒ (แผ่นดินรัชกาลที่ ๓) องค์หริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณของท่านเจ้าพระยา
ฯ ที่ได้เคยช่วยเหลือปราบศัตรู และช่วยจัดราชการในเมืองเขมรจนเรียบยร้อย จึงสั่งให้สร้างเก๋งขึ้นที่หน้าด่านใหญ่ใกล้วัดโพธาราม
เมืองอุดงมีชัย แล้วให้พระภิกษุ "สุก" ช่างปั้นฝีมือเยี่ยมปั้นรูปท่านเจ้าพระยา
นั่งชันเข่าขวา ถอดเสื้อ ผ้าพาดไหล่ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ และให้มีการประกอบการกุศล
ที่เก๋งแห่งนี้ปีละครั้ง แบบของรูปปั้นนี้พระพุฒาจารย์ (มา) ได้นำมาปั้นในลักษณะคล้ายคลึงกันไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส
(วัดสามปลื้ม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เพราะท่านได้บูรณปฎิสังขรณ์วัดสามปลื้มเอาไว้มาก
และยังมีอนุสาวรีย์ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร อีกแห่งหนึ่ง ยังไม่หมดยังมีอีกคือที่ค่าย
ตชด.๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นามค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (บรรดาศักดิ์ของท่านก่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา)
และที่จันทบุรีก็มีอยู่ในค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หน่วย
ตชด.๑๑ ตั้งอยู่ในค่ายนี้
ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๒๐ เป็นปีที่
๑๐ ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่บ้านริมคลองรอบกรุงหน้ากระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน
บิดาของท่านคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) มารดาคือท่านผู้หญิงฟัก สืบเชื้อสายกันมาตั้งแต่พราหมณ์ศิริวัฒน์
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชีวิตในเยาว์วัย บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
ได้รับยศเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช ต่อมาเลื่อนเป็นพระนายเสมอใจ พระพรหมสุรินทร์
พระยาราชโยธา และพระยาเกษตรรักษา ทีนี้ท่านต้องผจญกรรมบ้าง เคยต้องโทษถูกจับไปขังในทิมวังหลวงนานถึง
๔ เดือน โทษฐานพายเรือตัดหน้าฉานเรือพระที่นั่งของ ร.๒ เพราะความรีบร้อนจะไปรับเสด็จและหมอกลงจัด
ต่อมาท่านไดนอีกคราวนี้ถูกถอดบรรดาศักดิ์และนำตัวมาจำนำไว้ในวังหลวง เพราะโทษฐานไปตั้งค่ายไม้ไผ่ทำนา
เหมือนค่ายทำศึกที่เกาะเรียน อยุธยา แต่อาศัยพระบารมีของพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
(ร.๓) ได้ให้มาช่วยราชการ เพราะท่านเจ้าพระยาเคยสนองราชการกรมหมื่น ฯ เช่น
ต่อเรือสำเภา ตรวจฎีกาต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เถลิงราชสมบัติ
เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่วหัว รัชกาลที่ ๓ แล้ว จึงให้นายสิงห์กลับเข้ารับราชการดังเดิม
และโปรดให้ครองบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี และเจ้าพระยาราชสุภาวดี ตามลำดับ
ส่วนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาบดินทร์เดชานั้น โปรดเกล้า ฯ ในภายหลัง ผมยังไม่ได้เล่าว่าทำไมจึงเรียกท่านว่า
ขุนศึกคู่บัลลังก์ ในรัชสมัยของ ร.๓ ท่านเจ้าพระยา ฯ ได้เป็นแม่ทัพไปสงครามหลายครั้ง
และประสบชัยชนะ จนบางครั้งถึงขั้นยกบ้านที่ท่านอยู่สร้างเป็นวัดคือ วัดตึก
ตั้งชื่อว่าวัดชัยชนะสงคราม (เสียดายที่เจ้าอาวาสองค์หนึ่งไม่รู้คุณค่า ไปรื้อตึกเก่าบ้านของท่านเพื่อสร้างใหม่)
ศึกสำคัญคือ
เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงบจันทน์เป็นกบฎ ถึงขั้นเคลื่อนทัพมายึดนครราชสีมา
ทัพหน้าคือเจ้าราชวงศ์ยกเข้ามายึดได้สระบุรี โดยหลอกกรรมการเมืองที่ทัพผ่านมาว่า
ทางกรุงเทพ ฯ ให้ทัพมาช่วยป้องกันกรุงเทพ ฯ จากการโจมตีของอังกฤษ ทางกรุงเทพ
ฯ ตั้งกองบัญชาการป้องกันพระนครที่ชานเมืองคือ ที่วัดเบญจมบพิตร (ยังไม่ได้สร้างวัด)
และโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปทางนครราชสีมา
ให้เจ้าพระยาภูธร สมุหนายก ยกทัพไปทางเมืองเพชรบูรณ์ หล่มสัก ให้พระยาราชสุภาวดี
(สิงห์) ยกไปทางเมืองจำปาศักดิ์ ทัพทั้งสามรุกไล่โจมตีทัพเจ้าอนุวงศ์ถอยร่นไปจนถึงนครเวียงจันทน์
เจ้าอนุวงศ์หนีไปอยู่เมืองญวน พระยาราชสุภาวดี จัดการทางเมืองเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว
ก็กลับมากรุงเทพ ฯ แต่ ร.๓ ไม่ประสงค์ให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์อีก จึงโปปรดให้กลับไปทำลายเสีย
เสร็จศึกคราวนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี และมีตำแหน่งเป็นว่าที่สมุหนายกแทนท่านเดิมที่อสัญกรรมแล้ว
กลับไปยังไม่ทันถึงเวียงจันทน์ ฝ่ายทหารของเจ้าอนุวงศ์ที่ตัวหนีไปแล้ว เข้าโจมตีทหารไทยที่มีไม่มากนัก
ที่ประจำอยู่ที่เวียงจันทน์ เจ้าพระยา ฯ ไม่ได้ยกทัพใหญ่ไป จึงรวบรวมผู้คนจากยโสธร
ไปตีโต้ทัพเจ้าราชวงศ์ที่เมืองอุดรธานี คราวนี้รบกันอย่างดุเดือด เจ้าราชวงศ์แทงด้วยหอกเข้าที่หน้าท้องของท่านเจ้าพระยา
และชักดาบจะฟันซ้ำ แต่น้องชายของท่านคือหลวงพิพิธ ฯ เข้าไปขวางจึงถูกเจ้าราชวงศ์ฟันเสียชีวิต
ท่านเจ้าพระยาก็ใช้ดาบฟันเจ้าราชวงศ์ถูกที่โคนขาต้องถอยทัพหนีไป ท่านเจ้าพระยา
ฯ ก็ตามตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์ ที่สุดก็หนีไปเมืองญวน จับได้แต่บุตรและหลาน และตามจับเจ้าอนุวงศ์หัวหน้ากบฎได้ที่แขวงเมืองพวน
จับส่งเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ทัพลาวนั้นญวนให้การสนับสนุน แต่ยังไม่ออกหน้าเสร็จศึกครั้งนี้
ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา
ที่สมุหนายก ขอเล่าเพียงวีรกรรมศึกเดียว ยังมีอีกหลายศึกเช่นเวลานั้นเขมรอยู่ใต้การปกครองของญวน
ท่านก็เอากลับคืนมาได้ จนเขมรสร้างอนุสาวรีย์ให้ โดยท่านเป็นแม่ทัพรบกับญวนหลายครั้ง
และรัชกาลที่ ๓ โปรดให้อภิเษกนักองค์ด้วง (เคยหนีมาอยู่ใต้ร่มพระบารมี ฯ)
เป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี พระเจ้ากรุงกัมพูชา ท่านเจ้าพระยาตรากตรำทำงานนี้อยู่นานถึง
๑๕ ปี ได้กรำศึกที่สำคัญหลายครั้งและดำเนินกลยุทธแปลก ๆ ที่ไม่มีใครเหมือน
เช่นท่านใช้ปืนใหญ่ไม่เหมือนใคร ท่านเอาลูกปืนใหญ่ , ปืนใหญ่ ดินปืนที่ยึดได้
ใส่ไว้ในหลุมในค่าย ฯ เอารังแตน รังต่อไส่ลงไป เอาหญ้าคลุมไว้ แล้วถอยทัพทิ้งให้ค่ายร้าง
พวกญวนเข้ามาค้นในค่ายถูกแตนถูกต่อต่อยเอาจึงจุดไฟเผาลงไปในหลุม ความร้อนทำให้ดินปืนระเบิด
กระสุน เหล็กและปืนใหญ่ เหล็กแตกเป็นสะเก็ดระเบิด ทำอันตรายแก่ทหารญวน แล้วทหารไทยที่ซุ่มอยู่ภายนอกก็ยกมาโจมตีเป็นต้น
ลูกปืนใหญ่สมัยก่อนไม่มีดินระเบิด ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์แล้ว ไปตระเวนหาอาหารกลางวันที่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์พบพอดี
อาหารจานโปรดของผม ในกรุงเทพ ฯ หากินยาก มีแต่ที่หาดใหญ่, ภูเก็ต
เส้นทาง หากกลับออกมาจากโรงเรียนบดินทรเดชา กลับมาถนนเลียบทางด่วน วิ่งไปจนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ
เลี้ยวขวาลอดทางด่วนเข้าถนนประชาอุทิศ วิ่งตรงไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ผ่านปั๊มเชลล์
ข้ามสะพาน ร้านอยู่ระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับ ธ.ไทยพาณิชย์ หรือมาจากพระรามเก้า
ผ่านโกลเดนท์เพลส ถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนประชาอุทิศ จอดรถได้ที่หน้าร้านหรือฝั่งตรงข้ามวันคู่
วันคี่
ติ่มซำ ร้านนี้อร่อยใช้ได้ เครื่องดื่ม น้ำเก๊กฮวย โอเลี้ยง น้ำลำไย น้ำกระเจี๊ยบ
บ่ะกุ๊ดเต๋าเสริฟมาในหม้อดิน ร้อนจัด น้ำซุปใส่เครื่องยาจีน ตัวยาล้วนแต่บำรุงกำลัง
ได้แก่ตัวเซียม ตังกุย อบเชย โป๊ยกั๊ก เก๋ากี๋ เง็กเต็ก และกำเช่า ซดแล้วจะเพิ่มพลัง
ราคาหมม้อขนาดกินสองคน ๑๒๐ บาท ต้องสั่งเพิ่มให้ใส่เห็ดเข็มทอง เห็ดแชมปิญอง
อย่าลืมสั่งข้าวสวยร้อน ๆ พุ้ยข้าวสวย ซดบ่ะกุ๊ดเต๋ เอาหมูตุ๋นจิ้มนย้ำส้ม
ข้าวถ้วยเดียวไม่พอ
.................................................................
|