ด่านพระเจดีย์สามองค์
จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสมัยที่ผมมาเข้าค่ายเพื่อรับการฝึก เพื่อเดินทางไปปฎิบัติการในสมรภูมิเวียดนาม
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ นั้น แทบจะไม่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดนี้มีที่ไหนบ้าง
แม้แต่ปราสาทเมืองสิงห์ ที่แสนจะงดงามในเวลานี้เคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่ทราบว่าจะไปทางไหน
ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นหากจะบุกป่าไปกันได้สบาย เพราะกองพันทหารปืนใหญ่ของผม มีรถยนต์ขนาดต่า
งๆ ในอัตรามากถึง ๙๘ คัน และเป็นรถใหม่เอี่ยม เพราะเป็นกองพันที่ไปรบในรุ่นแรก
แต่เป็นกองพันที่ ๒ คือ ป.พัน ๒ พล.อสส. รถที่เรียกว่า รถจิ๊บ จะบุกป่าบุกเขาลงห้วยได้สบาย
แต่การที่ตั้งค่ายเพื่อฝึกทหารไปรบ และต่อมาอาวุธยุทโธกรณ์ที่นำไปรบในเวียดนาม
เมื่อถอนกำลังรบกลับมาแล้ว ทางสหรัฐเขาก็มอบอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งกองพลให้แก่กองทัพไทย
ไทยจึงจัดตั้งกองพลทหารราบที่ ๙ ขึ้นที่กาญจนบุรี และเป็นกองพลเดียวที่มีแบบการจัดไม่เหมือนกองพลอื่น
คงเอาไว้ในแบบการจัดของกองพลทหารราบ ที่ทำการรบในเวียดนาม ดังนั้นเมื่อหน่วยทหารขนาดใหญ่เข้ามาอยู่ในกาญจนบุรี
ทำให้เมืองมีผู้คนคึกคัก การท่องเที่ยวเริ่มเจริญขึ้น เริ่มมีการส่งเสริมมากขึ้น
จนปัจจุบันเที่ยวเมืองกาญจนบุรี ผมให้เวลาเที่ยวสักเดือน หากเที่ยวกันจริง
ๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง
อุทยานแห่งชาติ
จังหวัดกาญจนบุรีมีอุทยานแห่งชาติมากถึง ๗ แห่ง น่าจะน้อยกว่าก็จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น
เพราะเชียงใหม่มีมากถึง ๑๑ แห่ง เส้นทางท่องเที่ยวกาญจนบุรีจึงจะผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
เป็นส่วนใหญ่ จึงขอทบทวนเอาไว้ให้ทราบ
๑. อุทยานแห่งชาติไทรโยค
อยู่ในเส้นทางถนน ๓๒๓ สายที่จะไปทองผาภูมิ อยู่ในเขตอำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ
แหล่งท่องเที่ยวที่ผ่าน เช่น ปราสาทเมืองสิงห์
น้ำตกไทรโยคน้อย น้ำตกไทรโยค มีการค้นพบค้างคาวกิตติ
เป็นค้างคาวชนิดใหม่ของโลก ตัวเล็กมากน้ำหนักเพียง ๒ กรัม ค้นพบปูราชินี เป็นปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่
๒. อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
เขตท้องที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับทุ่งใหญ่นเรศวร
ติดเขตแดนไทยพม่า เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี ยอดสูงสุดสูง ๑,๒๔๙ เมตร
เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของธารน้ำไหล ลงสู่เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นต้นน้ำของแควน้อย
๓. อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์มาก
อยู่ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ความสูง ๒๐๐ - ๑,๗๐๐ เมตร จุดเด่นของอุทยานแห่งนี้คือ
เกาะต่าง ๆ ในทะเลสาป หรืออ่างเก็บน้ำ ของเขื่อนวชิราลงกรณ์ เกาะเหล่านี้คือ
ภูเขาที่เมื่อน้ำในอ่างสูงขึ้น ภูเขาเลยกลายเป็นเกาะไป รวมทั้งวัดวังวิเวการาม
ของหลวงพ่ออุตตมะเดิมด้วย ก็ไปจมอยู่ในอยู่ในน้ำปี ๒๕๔๘ นี้แล้งมาก วัดวังวิเวการามเดิมโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทั้งวัดเลยทีเดียว
ส่วนวัดปัจจุบันนั้นอยู่ที่สูงน้ำจะไม่ท่วมมาถึงอีกแล้ว
๔. อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
ซึ่งผมได้เข้าไปนอนพัก และไปเที่ยวน้ำตกนางครวญ ในการไปครั้งนี้
๕. อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
อยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย มีพื้นที่ไม่มากนัก เทือกเขาสลับซับซ้อน แต่ส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูน
ยอดเขาที่สูงคือ เขากำแพงสูง ๑,๒๖๐ เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่กลอง เป็นแห่งเดียวที่พบ
"หมาน้ำ" หรือเขียดวาก คล้ายคางคก ร้องคล้ายสุนัขเห่า พบบริเวณลำห้วย
จุดเด่นที่น่าสนใจเข้าไปเที่ยวคือ ถ้ำธารลอดน้อย
และถ้ำธารลอดใหญ่
ซึ่งที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ใกล้ถ้ำธารลอดน้อย ที่ถ้ำธารลอดใหญ่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ
ซึ่งเป็นจุดที่เปิดการท่องเที่ยวของกาญจนบุรี
๗. อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
อยู่ในท้องที่อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ เป็นแหล่งต้นน้ำแควใหญ่
เป็นต้นน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำตกห้วยขมิ้นที่สวยงามมาก และเดินทางไปก็สะดวก
จะไปทางรถยนต์ หรือนั่งเรือไปก็สะดวกทั้งสองเส้นทาง
จะเห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตามธรรมชาตินั้น จะอยู่ในเส้นทาง หรือในอุทยานแห่งชาติของกาญจนบุรีทั้งสิ้น
ผมพาท่านผ่านมาตามถนนสาย ๓๒๓ สายไปอำเภอทองผาภูมิหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่พาไปปราสาทเมืองสิงห์สักที
ขอเก็บเอาไว้ก่อน เพราะผมจะไปนอนที่ตำบลปิล๊อคอีก ไปในช่วงฤดูฝนนี้ เพราะอยากเห็นป่าที่ฉ่ำฝน
ไปคราวก่อนไปปิล๊อคในฤดูปลายหนาว อยากไปตอนฝนด้วย อีกแห่งที่จะรีบไปก่อนฝนหมด
ไปปลายฝนต้นหนาวคือ ไปทุ่งแสลงหลวงบนเขาค้อ
เดินทางไปบ้านพระเจดีย์สามองค์ จะผ่านอุทยานไปถึง ๔ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติไทรโยค
ทองผาภูมิ เขาแหลม ลำคลองงู ล้วนแต่มีสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติงดงามทั้งสิ้น
จากทองผาภูมิ ต่อจากนั้นไปนอนที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตะเกียกตะกายไปชม
น้ำตกนางครวญ
เป็นผลสำเร็จ พอกลับออกมาก็ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า น้ำตกปู่ครวญ ซึ่งเสียดายที่มีเวลาเที่ยวในอุทยานแห่งชาติลำคลองงูน้อยไป
เพราะในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ นอกจากน้ำตกนางครวญแล้ว ยังมีจุดที่งามยิ่ง
(ผมดูจากรูป) คือ ลำคลองงู
ที่ไหลคดเคี้ยวในซอกเขา มีถ้ำหินซึ่งมีเสาหินที่สูงถึง ๖๑ เมตร เป็นถ้ำที่มีรังนกนางแอ่น
ถ้ำน้ำตกใหญ่
ถ้ำนกนางแอ่น ไปอุทยานแห่งนี้ไปเที่ยวน้ำตก
เที่ยวถ้ำ เดินป่า ศึกษาธรรมชาติ ดูนก สงสัยถาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช ๐๒ ๕๖๒ ๐๗๖๐
นอนที่บ้านพักอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ๑ คืน รุ่งขึ้นเดินทางต่อ โดยกลับมาออกถนนสายที่มาจากทองผาภูมิ
เลี้ยวขวาไปทางอำเภอสังขละบุรี จะผ่านน้ำตกเกริงกระเวีย
ที่ กม. ๓๒.๗๒๕ เป็นน้ำตกที่จะเป็นน้ำไหลในฤดูแล้งและต้นฝน หากกลางฤดูฝนอย่างนี้จะสวยมาก
อยู่ติดถนนเลยทีเดียว จอดริมถนนเดินไปไม่กี่ก้าว ก็ได้ชมน้ำตกเกริงกระเวียแล้ว
ผมถ่ายภาพมาเป็นน้ำไหล เพราะไปต้นฝนน้ำยังไม่แรง และสมัยที่พระอลัชชีองค์หนึ่งมีสำนักอยู่แถว
ๆ น้ำตกนี่ ผู้คนจะพากันมาเต็มไปหมด จอดรถกันยาวเหยียดเลยทีเดียว ฝั่งตรงข้ามกับน้ำตกก็กลายเป็นแหล่งอาหารไปแล้ว
ที่น่าซื้อ น่ากิน คือ ไส้อั่วสมุนไพร จะซื้อติดไปเป็นมื้อเที่ยง หรืออาฆาตเอาไว้ซื้อตอนกลับมาก็ดีทั้งนั้น
จากน้ำตกเกริงกระเวีย วิ่งต่อไป
กิโลเมตร ๓๙.๕ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
กม. ๔๐ จุดชมวิวชมพระอาทิตย์ตกดิน
ระยะทางจากทองผาภูมิถึงอำเภอสังขละบุรี ตามเส้นทางถนน ๓๒๓ ระยะทางประมาณ ๗๘
กิโลเมตร (ใช้คำว่าประมาณ เพราะบางป้ายยกไว้ ๗๔ กิโลเมตร) ก่อนถึงตัวอำเภอทองผาภูมิ
จะมีทางแยกขวาไปยังบ้านพระเจดีย์สามองค์
ขอเล่าถึงเรื่องในอดีตที่มาเกี่ยวข้องกับตัวผมเอาไว้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ชาวเจดีย์สามองค์รุ่นใหม่
คงลืมกันไปหมดแล้ว
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ แผ่นดินตรงด่านเจดีย์สามองค์นั้น เหมือนเรากำหมัดแล้วยื่นนิ้วกลางออกไป
หมัดที่กำคือ แผ่นดินไทย นิ้วที่ชี้ออกไปคือ แผ่นดินไทย แต่รอบนิ้วชี้คือ
แผ่นดินพม่า และเวลานั้นทางด้านหนึ่งของนิ้วอยู่ในอิทธิพลของกะเหรี่ยง อีกด้านหนึ่งอยู่ในอิทธิพลของมอญ
วันดี คืนดี กะเหรี่ยงกับมอญก็ตีกัน รบกันแหลกเลยทีเดียว จะบุกอ้อมปลายนิ้วชี้ไปรบกันไม่ทันใจ
ก็เลยยกพลผ่านนิ้วที่ชี้ คือ ผ่านแผ่นดินไทยไปรบกัน เขาเว้นไว้จุดเดียวที่ไม่ให้เสียหายคือ
"วัด" ซึ่งวัดนี้เป็นสาขาของวัดวังวิเวการาม ของหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทุกเผ่าล้วนแต่นับถือท่าน
โดยเฉพาะมอญ วัดนี้ปลูกศาลาการเปรียญเสาคล่อมสองประเทศ คือ อยู่ใน ๒ แผ่นดิน
พม่า - ไทย
ผลการรบกันมอญพัง กะเหรี่ยงพ่าย ไทยแย่ บ้านช่องย่านนิ้วกลางของไทยพังบรรลัยหมด
มาเกี่ยวข้องกับผม ตอนที่ผมยังเป็นรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ
ซึ่งเป็นระบบที่เกิดจากการรวมเอายุทธศาสตร์ การต่อสู้เบ็ดเสร็จกับยุทธศาสตร์การพัฒนา
โดยมี พล.อ.พิจิตร กุลละวนิชย์ เป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่ง (ตำแหน่งหลักคือ
ผู้ช่วย ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒) และงานหนึ่งของเราคือ งานตามแนวชายแดน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่บ้านเจดีย์สามองค์ จึงลัดคิวจากงานที่กำลังทำทางภาคอีสาน
ไปตรวจทางบ้านเจดีย์สามองค์ก่อน ที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วนคือ
การเบิกยาของสถานีอนามัยเล็ก ๆ ของพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งอนามัยแห่งนี้ต้องรักษาคนเจ็บ
๓ ชาติ คือ ชาติไทยที่เป็นงานหลักแต่พอเขาปะทะกัน มอญก็แบกคนเจ็บมาทิ้งไว้ให้
กะเหรี่ยงเจ็บเพราะรบกับมอญ ก็แบกมาทิ้งไว้ให้ สถานีอนามัยนั้นเบิกยาผ่านโรงพยาบาลที่อำเภอสังขละบุรี
ซึ่งเขาก็ให้ไม่มากนัก จึงทำเรื่องให้ขอเบิกตรงจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เพียงพอกับคนเจ็บ
๓ ชาติ ได้รับการอนุมัติส่งยาให้แต่คงมีโรงพยาบาลเป็นทางผ่าน ปัจจุบันไม่ทราบว่าอย่างไร
ไม่มีแพทย์ประจำอนามัย มีแต่พยาบาลรักษาทุกโรค
ไฟฟ้าบ้านพระเจดีย์สามองค์ ไม่มีไฟฟ้าใช้ อยากได้ไฟฟ้า ผมก็ประสานให้ โชคดีที่รองผู้ว่าการไฟฟ้าผ่ายผลิต
ท่านเป็นอดีตอาจารย์สอนวิชาไฟฟ้าโรงเรียนนายร้อย ไม่ได้สอนผม อาจารย์สอนหลังผม
และผู้ว่า ฯ ก็เป็นนักเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน จึงขอไฟฟ้าเข้าบ้านพระเจดีย์สามองค์ได้
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามธรรมเนียม คือ ไฟฟ้าออก ๗๐% ผู้ใช้ออก ๓๐% ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าบ้านพระเจดีย์
๓ องค์ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๒ ชาวบ้านพระเจดีย์ยกป้ายมีชื่อผม และผู้ว่าการไฟฟ้าไว้เลย
ไปคราวนี้ป้ายหายไปแล้ว และปัญหาไฟฟ้าเข้าวัดสาขาหลวงพ่ออุตตมะ ที่เสาศาลาการเปรียญอยู่สองประเทศ
ก็ขอร้องกันเป็นพิเศษ ให้ใช้ไฟฟ้าเข้าวัดได้ คงลืมกันหมดแล้ว วันปล่อยกระแสไฟ
หลวงพ่ออุตตมะมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์
โทรศัพท์ เวลานั้นคมนาคมกำลังเริ่มกระจายตู้โทรศัพท์สาธารณะออกไปตามชนบท ได้ขอให้ลัดคิว
ด้านอื่นมาที่เจดีย์สามองค์ก่อน ๑ สาย ตั้งตู้ไว้วที่บ้านผู้ใหญ่บ้านก่อน
ไปรษณียังไม่มี ใช้วิธีเดียวกัน ขอลัดคิวมาตั้งไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน
ถนนจากสังขละบุรี ๑๘ กิโลเมตร ไม่ได้ราดยางแม้แต่เมตรเดียว รองบประมาณมาหลายปีแล้ว
ได้ประสานขอให้ โดยพากหัวหน้ากองทางหลวงชนบท (ยังไม่ตั้งเป็นกรม ฯ)
ไปตรวจสภาพด้วยกันแค่ ๒ ปี ได้ถนนราดยางประมาณ ๑๗ กิโลเมตร อีก ๑ กิโลเมตร ยันชายแดนเป็นถนนคอนกรีต
๔ เลน
ทำไมทหารเข้าไปเกี่ยวข้องก่อนหน่วยงานราชการปกติ เพราะงานชายแดนเรามีหน้าที่
หากทหารช่วยประสานแล้วจะเร็ว วิธีการที่ผมทำเวลาไปตรวจงานแบบนี้ ผมไม่ได้ไปเฉพาะทหาร
สำนักงาน ฯ ของนายตลอดกาลของผม จะเชิญหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปด้วย ซึ่งจะไปกันทีละหลายหน่วยงาน
แม้แต่การท่องเที่ยวก็เชิญไป คนที่ไปด้วยก็ผู้ใหญ่ทั้งนั้น เพราะฝ่ายทหารยศของผมตอนนั้นก็เป็น
พลโท บางทีนายของผมก็ไปด้วย ฝ่ายพลเรือนจึงส่งอธิบดี หรือ รอง หรืออย่างน้อยก็ผู้อำนวยการกองไป
จึงตัดสินใจได้
ทำไมสำเร็จ คือ การช่วยพิจารณาว่า ควรสร้างเขื่อนน้ำโจนผลิตกระแสไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ให้ร่วมพิจารณา ซึ่งฝ่ายเราเห็นด้วย
ผมเขียนเหตุผลไปปึกโต แต่จบด้วยการถูกประท้วง โดยขบวนการประท้วงที่ไม่เคยเห็นบริเวณที่เขาจะสร้างเขื่อนน้ำโจน
แต่ผมได้เห็น ได้ไป มันกลายเป็นทุ่งโล่งไปหมดแล้ว เสียดายหากสร้างได้เหมือนอ่างเดียวใช้ได้
๓ ครั้งจากเขื่อนน้ำโจนผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ประโยชน์ทางเกษตรเสียครั้งหนึ่ง แล้วน้ำนั้นจะไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดี
และก็ไหลมารวมกับแควน้อย มายังเขื่อนแม่กลองผลิตได้อีก
อีกเรื่องที่ทำไม่สำเร็จหากเผลอเล่าไปแล้วก็อภัย เพราะอยากให้สร้างเหลือเกิน
คือถนนสายจากสังขละบุรีไปเชื่อมกับถนนสาย ๑๐๙๐ ที่มาจากอุ้มผาง สร้างสำเร็จเราเดินทางได้รอบประเทศไทย โดยไม่ซ้ำเส้นทางระยะทางจากสังขละบุรีถึงอุ้มผาง
๑๐๒ กิโลเมตร ข้ามลำน้ำทำสะพานประมาณ ๒๒ แห่ง ถ้าทำเดี๋ยวนี้ก็ไม่ถึงแล้ว เพราะถนนจากอุ้มผางเริ่มสร้างเข้ามาบ้างแล้ว
บ้านพระเจดีย์สามองค์ เขตสิ้นสุดชายแดนไทยด้านตะวันตก ตั้งอยู่ชายแดนไทย -
พม่า ที่ตำบลหนองอู อดีตสถานีรถไฟสุดท้ายของทางรถไฟสายมรณะ
ที่สร้างจากหนองปลาดุก กาญจนบุรี เพื่อไปยังมะระแหม่ง ระยะทาง ๔๐๐ กิโลเมตร ญี่ปุ่นใช้ความโหดสร้างเสร็จในปีเดียว
เพื่อผลทางยุทธศาสตร์ สถานีสุดท้ายในแดนพม่าคือสถานีจันการายา จากอุทยานแห่งชาติเขาแหลมจะผ่านจุดท่องเที่ยวหลายจุดเช่น
ผ่านมาตั้แต่น้ำตกเกริงกระเวีย น้ำตกไดช่องถ่อง น้ำตกตะเคียนทอง ถ้ำแก้วสวรรค์บันดาล
น้ำตกกระเต็งเจ็ง ฯ
ช่องด่านพระเจนดีย์สามองค์
เป็นลักษณะของช่องเขาธรรมชาติ เกิดจากพื้นที่ว่างระหว่างจุดบรรจบของปลายทิวเขาถนนธงชัย
กับตอนต้นของทิวเขาตะนาวศรี เป็นช่องทางเดินเท้าระหว่างไทย - พม่า และเส้นทางเดินทัพของพม่า
เข้ามาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่พม่าเดินทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จะตีกรุงศรีอยุธยา
หรือกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ ที่ตีได้คราวกรุงแตกครั้งที่ ๒ ทัพพม่าเข้ามาจากทางเหนือคือทัพมังมหานรธา
และอีกทัพคือทัพของเนเมียวสีหบดี ที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสำคัญนอกจากเส้นทางเดินทัพแล้ว
มอญก็อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตามเส้นทางนี้
พระเจดีย์สามองค์
เป็นเจดีย์แบบมอญทรงกลมป้าน ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เดิมเรียกว่าหินสามกอง
ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด มามีหลักฐานเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ พระศรีสุวรรณคีรี
เจ้าเมืองสังขละบุรี และเนียงจอ ชาวกะเหรี่ยงในเขตพม่า พร้อมทั้งประชาชนทั้งสองฝ่ายช่วยกันสร้างขึ้น
โดยคงรูปแบบเดิมเอาไว้
ที่พระเจดีย์สามองค์นี้ มีตลาดชายแดนขายของที่ระลึก เป็นสินค้ามาจากพม่าและจีน
ที่ราคาถูกคือเฟอร์นิเจอร์ไม้แดง ไม้ชิงชัน ถูกและสวยมาก แต่จะเอากลับมากรุงเทพ
ฯ ไม่ทราบว่าจะโดนด่านตรวจเล่นงานเอาหรือเปล่า นอกจากนี้มีตุ๊กตาไม้ พลอย
เครื่องแก้ว ผ้าทอ พรม ผ้าถุง ผ้าไหม ฯลฯ สินค้าอื่น ๆ จะแพงกว่าตลาดแม่สาย
หรือจะข้ามไปตลาดพม่าสินค้าอาจจะถูกลงมาอีกหน่อย แต่แบกเอากลับมาระวังภาษีให้ดี
ๆ ก็แล้วกัน ดีไม่ดีโดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า อยากข้ามไปเที่ยว ก็อย่าไปซื้ออะไรกลับมาเป็นดีที่สุด
ที่น่าซื้ออีกอย่างอยู่ฝั่งไทยคือกล้วยไม้ ที่มอญ พม่า เอามาขาย เขาตั้งแผงไว้ในแดนพม่า
แต่หน้าแผงหันมาทางฝั่งไทยเรา เดินก้าวข้ามไปซื้อได้ หากข้ามไปพม่าและเอารถข้ามไปเสียค่าผ่านแดนสองฝ่าย
รถคันละ ๕๐ บาท คนไม่เสีย แต่ฝั่งพม่ารถไม่เสีย คน คนละ ๒๕ บาท และข้ามไปได้ตั้งแต่เวลา
๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ใกล้ ๑๗.๐๐ ดูนาฬิกาดี ๆ เวลาพม่าเร็วกว่าไทย ดูเหมือนจะ
๓๐ นาที เอารถข้ามไปแล้วน่าไปเที่ยวคือวัดเสาร้อยต้น จากชายแดนไปอีก ๓.๕ กม.เป็นวัดมอญ
หลวงพ่ออุตตมะท่านสร้าง
กลับมาอำเภอสังขละบุรีถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอ และไปวัดวังวิเวการาม
ไปตามเส้นทางนี้ โดยไปวัดจะเลยอำเภอ ไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ก่อนเข้าอำเภอทางซ้ายจะมองเห็นสะพานมอญ
สะพานไม้แห่งศรัทธา สะพานนี้มีชื่อเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์ เพราะหลวงพ่ออุตมะ
ให้สร้างโดยใช้แรงงานของชาวมอญ ไม่ต้องจ้าง รถยนต์ข้ามไม่ได้ ต้องเดินข้าม
จอดรถทิ้งไว้ เดินข้ามลำน้ำซองกาเรีย ซึ่งจะเดินข้ามไปยังชุมชนชาวมอญ สะพานยาว
๘๕๐ เมตร เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย บริเวณสะพานนี้เป็นจุดชมวิวที่จะมองเห็น
๓ แม่น้ำ มาบรรจบกันคือ แม่น้ำซองกาเรีย แม่น้ำบีคลี่
และแม่น้ำรันตี ไหลมารวมกันจึงเรียกว่า "สามประสบ"
ผ่านอำเภอเพื่อไปยังวัดวังวิเวการาม แถว ๆ นี้ล้วนเป็นเขาสูงชัน เห็นช้างลากเกวียน
อย่าแปลกใจว่าเขาเอาอะไรมาแสดง เขาใช้ช้างลากเกวียน ไปสู่วัด พอใกล้จะถึงวัดจะผ่านร้านอาหารอร่อย
ชมวิวได้ มีที่พักด้วย สั่งมาชิมคือ ต้มยำรวมมิตร มีทั้งกุ้งและปลา ผักกูดผัดน้ำมันหอย
ฉู่ฉี่ปลาคัง ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดคะน้าปลาเค็ม แล้วปิดท้ายด้วยกาแฟคาปูซิโน
ระยะทางรวมจากสังขละบุรีถึงกาญจนบุรี ๒๑๖ กิโลเมตร
วัดวังวิเวการาม
คือ ศูนย์รวมจิตใจของชาวรามัญ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตมะ
วัดนี้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อน้ำท่วมวัดเดิมตอนสร้างเขื่อนเขาแหลม สร้างใหม่เมื่อ
พ.ศ.๒๕๒๗ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระพุทธรูปหินอ่อนภายในพระวิหาร หน้าตักกว้าง
๕ ศอก ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อขาว
สร้างเจดีย์พุทธคยา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และสร้างอุโบสถหลังใหม่ เป็นศิลปะประยุกต์วันที่ไปโบสถ์ไม่เปิดเลย
ไม่ได้เห็นพระประธาน
จบรายการเที่ยวบ้านพระเจดีย์สามองค์ ขอพากลับมาชิมอาหารที่กรุงเทพ ฯ
ร้านอยู่ถนนรามอินทรา แต่ต้องเลี้ยวเข้าซอยวัชรพล เลี้ยวซ้ายที่รามอินทรา
๔๗ บรรจบวัชรพลแล้ว เลี้ยวซ้ายไปผ่านธรรมสถาน แล้วเลี้ยวขวาผ่านปั๊มบางจาก
ไปชนสามแยกเลี้ยวซ้าย ตรงต่อไปมาผ่านปั้ม ปตท. ทางขวาถึงห้าแยก ตรงต่อไปพอข้ามสะพานจะมองเห็นป้าย
ป้ายล่างปูทะเลผัดผงกะหรี่ ร้านนี้เปิดตอนเย็น กลางวันเปิดเฉพาะวัดหยุด โต๊ะริมน้ำ
ลมพัดเย็นสบาย ที่เรียกริมน้ำ เพราะเขาตั้งอยู่ริมสระใหญ่ หรือทะเลสาปน้อย
ในพื้นที่ของน้ำคงจะมากกว่า ๓๐ ไร่ เมื่อก่อนย่านนี้เป็นชานเมือง บ้านนอกของกรุงเทพ
ฯ เจ้าของที่ดินขุดดินขายพวกที่ซื้อไปถมที่บ้าน จนลึกประมาณ ๓๐ เมตร รถขนดินขนขึ้นไม่ได้แล้ว
จึงเลิกขุดดินขาย ฝนตกหลาย ๆ ปีเข้าน้ำก็เปี่ยมสระ ร้านริมน้ำจึงตั้งในทำเลที่เหมาะ
ที่จอดรถกว้างขวาง เขาบอกว่าต่อไปเขามีคาราโอเกะด้วย ไม่ทราบว่าวันนี้จะมีหรือยัง
ปูทะเลผัดผงกะหรี่ เขาตรึงราคาไว้ที่จานละ ๒๙๙ บาท เพราะเขามีสัญญาซื้อปูเลี้ยง
ว่าต้องตรึงราคาให้เขา สั่งหม่านโถว และเส้นหมี่หยกมากินกับปูผัดผงกะหรี่
แปลก อร่อยดี
กุ้ง เขาสั่งจากบ่อเลี้ยงที่สุพรรณบุรี มีสัญญาอีก จึงตรึงราคาไว้ที่
กิโลกรัมละ ๑๙๙ บาท เผา ต้มยำ ทอดกระเทียมพริกไทย เนื้อกุ้งแน่นเหนียว แสดงว่าคงเลี้ยงในบ่อใหญ่
กุ้งได้ว่ายออกกำลัง เนื้อจึงแน่น
ต้มยำกุ้งเผาลูกตาลอ่อน ร้านนี้เอาผลไม้มาทำอาหารแทนรส เช่น เอากุ้งเผามาต้มยำ
ใส่ลูกตาลอ่อน แทนน้ำตาล ได้รส ๓ รส เค็ม หวาน ด้วยลูกตาล เป็นต้นตำรับได้
ต้มยำกุ้งเผาลูกตาลอ่อน
ปลาช่อนเรือนริมน้ำ เครื่องยำใส่ส้มโอ องุ่น ฝรั่งเวียดนาม ซอยแทนมะม่วง
ข้าวเสวยเสริฟมาในหม้อดิน ผสมธัญพืช มีข้าวโพด มีข้าวโพด และลูกเดือย
น้ำผลไม้มีชาตะไคร้ น้ำฝรั่งปั่น และชาใบเตย
ของหวานนอกจากผลไม้มี "ลูกตาลลอยแก้ว" หวานชื่นใจ
|