เกาะลันตา
ผมเดินทางไปเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง
ๆ ในท้องทะเลอันดามัน ซึ่งจะรวมถึงหมู่เกาะลันตาไว้ด้วย เกาะลันตาจึงมีทิวทัศน์สวยงามน่าชม
น่าเที่ยวยิ่งนัก ผมออกเดินทางไปจากบ้านลาดพร้าว ไปนอนที่ชุมพรในค่ายเขตอุดมศักดิ์
เพื่อไปวางศิลาฤกษ์ศาสนสถานในพื้นที่ ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๕ ค่ายเขตอุดมศักดิ์เสียก่อน
แล้วนอนค้างที่บ้านรับรองของจังหวัดทหารบก ชุมพร หนึ่งคืน พอวันรุ่งขึ้นก็ไปยังวัดพระขวาง
ซึ่งวัดนี้มีหลวงพ่อพระขวาง
พระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาติดที่หน้าวัด แล้วอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ โดยสร้างวิหารถวาย
จากบ้านรับรองของจังหวัดทหารบกชุมพร ก็ออกเดินทางเพื่อจะไปยัง อำเภอเกาะลันตา
ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะลันตาน้อย เกาะลันตาใหญ่
และเกาะกลาง เส้นทางที่จะเดินทางไปนั้นไปตามถนนสาย
๔๑ ซึ่งเริ่มจากสี่แยกปฐมพร จะผ่านอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน อำเภอละแม
เป็นอำเภอสุดท้ายของอำเภอในจังหวัดชุมพร จากนั้นก็เข้าเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ก็จะผ่านอำเภอไชยา อำเภอพุนพิน ต่อจากนั้นพอตัดกัวบถนนสาย ๔๔ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนตัดใหม่เอี่ยม
เชื่อมระหว่างอันดามันอำเภออ่าวลึก กับอ่าวไทย อำเภอกาญจนดิษฐ สุดถนนสาย ๔๔
คือ สามแยกบากัน เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ หรือเพชรเกษม ไปผ่านทางแยกเข้าตัวจังหวัดกระบี่
ไปผ่านอำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม ทีนี้ก็เลี้ยวขวาที่ กม.๖๔ เข้าถนน ๔๒๐๖
วิ่งไปประมาณ ๒๗ กม. โดยจะข้ามสะพานข้ามคลอง (เชื่อมทะเล) เล็ก ๆ ไปยังเกาะกลาง
สุดทางที่บ้านหัวหิน เอารถลงเรือหรือแพขนานยนต์ข้ามไปยังเกาะลันตาน้อย วิ่งไปบนเกาะลันตาน้อยอีกประมาณ
๘ กม. จะถึงท่าเรือเอารถลงแพขนานยนต์ ข้ามไปยังเกาะลันตาใหญ่ ขึ้นที่ท่าเรือศาลาด่าน
จากนั้นก็จะวิ่งต่อไปยังรีสอร์ทที่จะพัก เป็นรีสอร์ทที่อยู่ติดกับสวนสาธารณริมหาดเลยทีเดียว
ก่อนที่จะเที่ยวเกาะลันตา ที่จะเริ่มกันที่เกาะลันตาน้อย ขอทบทวนแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร
ที่อยู่ในเส้นทางจากสี่แยกปฐมพร มาจนถึงทางแยกเข้าถนนสาย ๔๔ ไว้ด้วยคือ
อำเภอสวี
อำเภอนี้เป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานสร้างบ้านแปงเมืองมาตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา
โดยมีพระบรมธาตุสวี ปรากฎเป็นหลักฐาน
วัดพระธาตุถ้ำขวัญเมือง
เป็นวัดธรรมยุติ มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แยกจากสาย ๔๑ ไปทางขวาประมาณ
๕๐๐ เมตร พระธาตุอยู่บนเขาต้องเดินขึ้นบันไดไหว้พระธาตุ ชมวิวสวี
วัดพระธาตุสวี
เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมแม่น้ำสวี ภายในวัดมีพระธาตุสวี ซึ่งตำนานกล่าวว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
เส้นทางเมื่อไปจากสี่แยกปฐมพร จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำสวีแล้ว แยกซ้ายไปอีก ๑
กม. พระธาตุองค์นี้มีอายุมากกว่า ๗๐๐ ปี แต่ที่เวลานี้ดูใหม่เพราะบูรณะครั้งใหญ่
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ สร้างใหม่ครอบองค์เดิม ด้านหน้ามีศาลเจ้า "ศาลพระเสื้อเมือง
"
สวีมีหาดทรายงาม คือ หาดทรายรีสวี และหาดอรุโณทัย
อำเภอทุ่งตะโก
กำลังจะเป็นแหล่งพักตากอากาศอีกแห่ง เพราะหาดทรายสวยมาก มีน้ำตกคือ น้ำตกคลองเพรา
อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติหงาว
แยกขวาจากสาย ๔๑ ที่ กม.๕๗ ไปอีกประมาณ ๑๕ กม. จะถึงหน่วยพิทักษ์ป่าคลองเพรา
เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยที่สุดของชุมพร ตั้งอยู่กลางป่าดงดิบที่ยังสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่
ตัวน้ำตกมีอยู่ด้วยกัน ๕ ชั้น ๆ ที่ ๓ สวยที่สุด
อำเภอหลังสวน
เป็นแหล่งกิน แหล่งเที่ยว เป็นสวนผลไม้สำคัญของจังหวัดชุมพร และคณะผมแวะกินอาหารกลางวันที่หลังสวน
แหล่งเที่ยวก็ได้แก่
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ชมุพร
ตั้งอยู่ที่บ้านเขาเงิน ห่างจากตัวอำเภอหลังสวน ประมาณ ๕ กม. เส้นทางไปตามสาย
๔๑ จนถึงสี่แยกหลังสวนแล้วเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๓ กม. จะมีทางแยกซ้ายไปสวนสมเด็จ
ฯ ถ้าตรงเลยไปจะไปยังถ้ำเขาเงิน
สวนสมเด็จ ฯ ตั้งอยู่เชิงเขาเงิน ด้านหน้าประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จย่า
ของปวงชนชาวไทย ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ อย่างงดงาม และรอบสวนเป็นสวนผลไม้ของชาวบ้าน
ถ้ำเขาเงิน
อยู่ทางด้านติดกับแม่น้ำหลังสวน ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นห้องโถง มีพระพุทธรูปประดิษฐาน
บนผนังถ้ำปรากฎรอยจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. เมื่อ รศ.๑๐๘
ปากน้ำหลังสวน เป็นชุมชนของชาวประมงที่ใหญ่ที่สุดของหลังสวนและใหญ่เป็นที่
๒ รองจากปากน้ำชุมพร ชาวบ้านแถบนี้จะมีอาชีพทำอาหารทะเลแห้งเช่นจะเห็นแผงปลาหมึกแห้งตากอยู่
เส้นทางห่างจากตัวเมืองหลังสวนไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๒ มีร้านอาหาร มีที่พัก
เกาะพิทักษ์
เกาะนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งเพียง ๑ กม. น้ำลดเดินข้ามไปเกาะได้ เป็นชุมชนชาวประมง
มีหาดทรายสวยทางด้านตะวันออกของเกาะ ปลาทูจะมาขึ้นที่หัวแหลมตรงข้ามเกาะ จะไปเที่ยวเกาะพิทักษ์หรือไปซื้อปลาทูสดราคาถูก
ไปตามถนนสาย ๔๐๐๒ จนถึงปากน้ำหลังสวนแล้วไปต่ออีกประมาณ ๑๒ กม.จนถึงบ้านท้องครก
ไปเช่าเรือที่หัวแหลมท้องทราย
อาหารกลางวัน ผมมีโอกาสจะแวะชิมอาหารที่หลังสวนเสมอ เพราะอาหารอร่อย ราคาถูก
ยิ่งสมัยก่อนมีหอยเชลล์มาก จะไปชิมที่ร้านในหลังสวน สมัยนี้หอยเชลล์ชุมพรขึ้นสู่ตลาดกรุงเทพ
ฯ หมด ชาวชุมพรเลยหาหอยเชลล์กินยาก ได้สั่งอาหารมาชิมคือส้มตำทะเลรสเยี่ยมมาก
แกงส้มปลากะพงผักรวม ใบเหลียงผัดไข่ หลนปูดำอย่าโดดข้ามไป ไข่เจียวใส่ใบเหลียง
ร้านเพ็ญสำหรับชาวหลังสวนทั่วไปแล้ว จะวนเวียนกันมาซื้อขนมหวาน ผมเองก็ติดใจตั้งแต่มาชิมครั้งที่แล้ว
ขนมหวานอยู่ในตู้ สั่งมาชิม ซื้อติดมือไปด้วยคือ ขนมชั้นอร่อยมาก ใส่สีด้วยดอกอัญชัญ
ขนมเผือกกวน ขนมหม้อแกงและทองหยอด อร่อยทุกอย่าง
หาดแหลมสน
ไปจากปากน้ำหลังสวน มีถนนเลียบชายหาด และมีเรือหลวงจักรีนฤเบศร์จำลอง ตั้งอยู่ริมหาดแหลมสนขึ้นไปเที่ยวชมบนเรือได้
มีพระรูปกรมหลวงชุมพร อยู่ในหอบังคับการเรือ
อำเภอละแม
อยู่ทางตอนใต้สุดของจังหวัดชุมพร ก่อนเข้าสู่อำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอำเภอเล็ก
ๆ สงบเงียบ แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้แวะชมได้คือ
ถ้ำเขาเกรียบ
มีทางเดินขึ้นเขาแยกจากสาย ๔๑ ที่ กม.๗๗ เลี้ยวขวาไปอีก ๖ กม. จะถึงวัดถ้ำเขาเกรียบ
มีทางเดินถึงเชิงเขาและมีบันไดเดินสู่ถ้ำ งามด้วยหินงอกหินย้อย มีปล่องกว้าง
สว่าง
หาดตะวันฉาย
ชายหาดสวยที่สุดในละแม เลี้ยวซ้ายเข้าละแม แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังหาด ฯ
บ่อน้ำร้อนถ้ำเขาพลู
แยกซ้ายมือจากสาย ๔๑ ที่ กม.๙๒ ไปอีก ๕๐๐ เมตร จะถึงบ่อน้ำร้อนที่มีชื่อคล้องจองกันคือเอื้ออารีย์ธารทิพย์
อมฤตธารา พฤกษาชลธาร น้ำร้อนพอประมาณ
อำเภอไชยา
ในเขตของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แยกซ้ายจากถนนสาย ๔๑ ไปหน่อย พระบรมธาตุไชยาจะอยู่ทางขวามือ
ตรงต่อไปข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้าย ก็จะมาตลาดไชยาและสถานีรถไฟ หากไม่เลี้ยวตรงต่อไปก็จะไปยังบ้านพุมเรียงที่ทอผ้ามีชื่อเสียงนัก
เลยบ้านพุมเรียงไป ๒ กม. ก็จะถึงชายทะเล หากตรงไปอย่าเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานไปเกาะ
ร้านอาหารอร่อยมากโดยเฉพาะปูผัดผงกะหรี่จะอยู่ริมทะเล
สวนโมกข์
ปี ๒๕๔๙ คือร้อยปีของท่านพุทธทาส อยู่เลยทางแยกเข้าไชยาอยู่ทางขวามือแทบจะมองไม่เห็นทางเข้าแล้ว
เพราะแผงขายไข่เค็มไชยาที่ลือลั่น (ความจริงไข่จากนครปฐมมาทำเค็มตามสูตรที่ไชยา)
เต็มไปหมดคงจะมากกว่า ๑๐๐ แผง ซื้อแผงไหนก็อร่อยทุกแผง
อำเภอพุนพิน
แยกเข้าไปจากสาย ๔๑ เป็นอำเภอทางผ่านไปตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทางแยกขวาไปยังตะกั่วป่า
และจะผ่านเขื่อนรัชชประภา หรือเชี่ยวหลาน
ที่ภายในอ่างนั้น
ภูเขาที่กลายเป็นเกาะซับซ้อนงดงามนัก จนเปรียบว่าคือ กุ้ยหลินเมืองไทย
วิ่งต่อไปตามถนนสาย ๔๑ เลยทางแยกไปเขื่อนวิ่งไปจนพบถนนตัดสาย ๔๔ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสายอันดามัน
- อ่าวไทย คือสาย ๔๔ (ความจริงเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานไปกลับรถ) ถนนสายนี้ตัดเสร็จใหม่เอี่ยมคงจะไม่เกิน
๒ ปี รถยังน้อย ตรงลิ่ว ถนนสี่เลน เลนไปกับเลนมาอยู่ห่างกัน ส่วนมากจะมองไม่เห็นกัน
มีที่กลับรถเป็นระยะ ๆ และระหว่างเลนยังมีต้นไม้ร่มรื่นน่าวิ่งจริง ๆ วันกลับหวิดตายเพราะพวกเห็นแก่ตัวที่ขี้เกียจไปกลับรถ
วิ่งสวนทางมา แถมวิ่งในเลนขวาของรถเร็วด้วย เคราะห์ดีที่พลขับรถตู้คันผมนั่งมาเป็นทหารเก่ามือไว
หักหลบเสียก่อน และถนนช่วงนี้ราบ หากเป็นขึ้นเนินก็คงไม่ได้กลับมาเขียนหนังสือเล่าให้ท่านฟัง
อย่าขับรถผิดกฎจราจรกันเลย พวกฝ่าไฟแดงตามต่างจังหวัดอีกพวกหนึ่งถนนสาย ๔๔
เชื่อมระหว่างอำเภอกาญจนดิษฐ์ฝั่งอ่าวไทย กับอำเภออ่าวลึกฝั่งอันดามัน ระยะทางยาวประมาณ
๑๒๕ กม. แต่เลี้ยวจากสาย ๔๑ มาจนถึงเพชรเกษมที่สามแยกบากัน อ.อ่าวลึก ประมาณ
๑๐๐ กม. พอถึงเพชรเกษมหรือสาย ๔ แล้วก็เลี้ยวซ้ายอำเภออ่าวลึก มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ
ธารโบกขรณี
เป็นสระน้ำธรรมชาติสีเขียวมรกตจำนวนหลายสระ อยู่ใต้แมกไม้ที่แสนจะร่มรื่น
เล่นน้ำได้สบายไม่มีอันตรายสำหรับผู้ใหญ่ น้ำจะไหลลอดมาจากใต้ภูเขา จากแหล่งต้นน้ำที่ไกลออกไปประมาณ
๔ กม.น้ำจะไหลต่อไปยังคลองอ่าวลึกและสู่ทะเล ที่ทำการอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีตั้งอยู่ที่นี่
เส้นทางเลี้ยวขวาจากสี่แยกตลาดอ่าวลึกมาประมาณ ๑ กม. และหากจะไปเที่ยวถ้ำที่มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
เขียนด้วยสีแดงหลายสิบภาพ รูปคนมีหัวเป็นสัตว์มีเขาก็ต้องไปดูที่ถ้ำผีหัวโต
โดยวิ่งผ่านทางแยกเข้าธารโบกขรณี ผ่านทางแยกขวาเข้าถ้ำพระ ถ้ำเขาราง (ถ้ำนี้สวย
มีเสาหิน คนไม่ค่อยไปเที่ยว เลยถ้ำพระไป) ไปแหลมสักไปจนถึง กม.๑๒ เลี้ยวขวาไป
๑.๕ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายอีกที ท่าเรือท่าบ่อ ที่ท่าเรือนี้มีร้านอาหารอยู่
๒ ร้าน มีหอยชักตีนให้ชักตัวหอยเอามาจิ้มน้ำส้ม หากินยาก เช่าเหมาเรือหางยาวไปถ้ำผีหัวโต
นึกสนุกบจะเช่าเรือแคนูพายไปก็ได้ แต่หากว่ายน้ำไม่เป็นอย่าอุตริ ค่าเช่าเรือไปถ้ำ
ไป - กลับ เคยเช่า ๓๐๐ บาท น้ำมันถูกกว่าวันนี้มาก
ศาลาเทวดาน้ำร้อน
อำเภอเหนือคลอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเหนือคลอง มีลักษณะพิเศษคือ
"ร้อน แต่รสน้ำเค็ม" อยู่ทางซ้ายของถนนเพชรเกษม ก่อนถึงตัวอำเภอเหนือคลอง
วัดคลองท่อม
อำเภอคลองท่อม กม.๗๐.๕ มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของวัดเข้าชมได้
กม.๖๔ ถนนนี้ตั้งแต่กระบี่ลงมายังตรัง ยิ่งลงใต้เลขหลัก กม. จะลดลง เลี้ยวเข้าวัดคลองท่อมที่
กม.๗๐.๕ แต่วิ่งต่อไปอีก กม. เหลือ ๕๔ ตรงจุดนี้คือ จุดที่จะไปเกาะลันตา ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย
๔๒๐๖ เพื่อไปยังท่าเทียบเรือบ้านหัวหิน อำเภอเกาะลันตาจะประกอบด้วยเกาะ ๓
เกาะเรียงจากเหนือ - ใต้ ได้แก่เกาะลันตาน้อย เกาะกลาง และเกาะลันตาใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยอีก
๔๙ เกาะ แบ่งเป็น ๒ ตำบลคือ ตำบลเกาะลันตาน้อย และตำบลเกาะลันตาใหญ่ เลี้ยวขวาที่
กม.๕๔ ไปอีก ๒๗ กม. มาระหว่างทางจะข้ามสะพานข้ามคลอง ที่เชื่อมระหว่างทะเลไปสู่เกาะกลาง
โดยเราไม่รู้ว่ามายังเกาะแล้ว บ้านหัวหินอยู่ปลายเกาะกลาง เอารถลงแพขนานยนต์
ข้ามไปเกาะลันตาน้อย ค่ารถคันละ ๕๐ บาท ค่าคนข้ามคนละ ๑๐ บาท แต่จะไปเกาะลันตาใหญ่ต้องข้ามเรืออีกที
ซื้อตั๋วทีเดียวเลยก็ได้ จากเกาะลันตาน้อยข้ามไปเกาะลันตาใหญ่ ค่ารถอีกคันละ
๔๐ บาท คนต่างหาก ลงเรือเย็นแล้วพระอาทิตย์ใกล้จะตกน้ำแล้ว ทะเลช่องนี้กว้างประมาณ
๑ กม. ยาวประมาณ ๘ กม. เรือวิ่งข้ามไปเกาะลันตาน้อยประมาณ ๒๐ นาที มองเห็นทิวเขาบนฝั่งสวยนัก
คำว่า ลันตา ได้พยายามค้นหาความหมายว่ามาจากไหนก็ไปสดุดกับยคำว่า "ลันตัส"
ซึ่งเป็นภาษาชวาที่หมายถึงโต๊ะหรือหิ้งย่างปลาทำด้วยไม้ ยกพื้นสูง ก่อไฟรมอยู่ด้านใต้
จึงสันนิษฐานว่ากาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้วมีผู้คนจากหมู่เกาะชวา พากันเดินเรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้านตะวันออกของเกาะ เป็นชุมชนทำปลาย่าง
จึงพากันเรียกว่า เกาะลันตัส หรือเกาะย่างปลา เพี้ยนมาเป็นเกาะลันตา และยังมีชื่อเกาะอีกหลายเกาะที่อยู่รอบ
ๆ เกาะลันตา มีชื่อตรงกับภาษาชวา
เมื่อขึ้นที่เรือที่เกาะลันตาน้อยแล้ว ต้องไปต่อยังเกาะลันตาใหญ่เพื่อเข้าที่พัก
แต่เพื่อไม่ให้โดดข้ามไป ผมขอเล่าเรื่องเกาะลันตาน้อยเสียเลย ซึ่งความจริงผมมาเที่ยวเกาะลันตาน้อยในวันเดินทางกลับ
ก่อนที่จะลงเรือข้ามฟากกลับมายังบ้านหัวหิน
เมื่อขึ้นท่าเรือคลองหมาก เกาะลันตาน้อยแล้วมีถนนลาดยางอย่างดีที่จะต้องวิ่งเพื่อไปลงเรือ
ต้องไปอีกประมาณ ๘ กม. จึงจะถึงท่าเรือที่จะข้ามไปเกาะลันตาใหญ่ วิ่งไปจากท่าเรือหน่อยเดียวจะเป็นสามแยก
หากเลี้ยวขวาจะไปยังท่าเรือ และไปอำเภอเกาะลันตา ที่ย้ายจากเกาะลันตาใหญ่
มาตั้งใหม่ที่เกาะลันตาน้อย มีชายหาดบ้านหลังสอด แต่หากขึ้นจากท่าเรือแล้วเลี้ยวซ้ายจะไปยัง
"อ่าวโล๊ะใหญ่"
ซึ่งระยะทางจากจุดเลี้ยวซ้ายไปยังอ่าวโล๊ะใหญ่จะผ่านไปตามสวนผลไม้ สวนยางที่สงบเงียบ
ร่มเย็นอย่างยิ่งแทบจะไม่มีรถผ่านไปเลย เพราะรถจะมุ่งหน้ารีบไปข้ามเรือไปเกาะลันตาใหญ่
เที่ยวกลับก็รีบข้ามเรือกลับไปบ้านหัวหิน ลืมเที่ยวเกาะลันตาน้อย ถนนจะผ่านหมู่บ้านคลองโตนด
บ้านทุ่ง บ้านกลาง ผ่าน "ร้านโล๊ะใหญ่ ซีฟู๊ด" ท่าทางจะดี เสียดายยังไม่มีโอกาสชิม
ขาไปอยู่ทางซ้ายมือ ต่อจากนั้นก็จะถึงชุมชนโล๊ะใหญ่ พอไปถึงศาลาทางขวา จะเห็นแผงตากปลาเค็มอยู่หน้าศาลา
ข้างในมีกองปลาเค็มพร้อมขาย ซึ่งการทำปลาเค็มนี้เป็น "โครงการส่งเสริมอาชีพทำปลาเค็ม
สูตรลันตา บ้านโล๊ะใหญ่ สนับสนุนโดยยูนิเซฟ" แสดงว่าปลาเค็มที่นี่ต้องวิเศษจริงอร่อยมาก
ถึงขั้นยูนิเซฟสนับสนุน ปลาที่นำเอามาทำปลาเค็มคือ ปลาเสียด น่าจะเรียกว่าปลาอินทรีย์ดูแล้วคล้ายกัน
ปลาเสียดจับกันแถวอ่าวโล๊ะใหญ่ ทำเค็มแล้วขายราคา กก.ละ ๑๕๐ บาท เป็นปลาชิ้นก็มี
หากซื้อทั้งตัวเขาจะสับแบ่งเป็นชิ้น ๆ แล้วห่ออย่างดี ห่อหลายชั้นใส่รถมาไม่ต้องกลัวว่ากลิ่นจะรบกวน
เมื่อเดินต่อไปจากศาลาปลาเค็มก็จะถึงหาดลงอ่าวบ้านโล๊ะใหญ่ มองไปเห็นเรือหาปลาขนาดเล็กลอยลำ
บ้านเรือนชาวประมงและมองไปในอ่าวจะเห็นเกาะในทะเลหน้าอ่าวคือ เกาะตะละเบ็ง
และเกาะกำใหญ่
เห็นเทือกเขาชายฝั่งทะเลกระบี่ ใกล้ ๆ ท่าเรือ มีเรือนไม้สีฟ้าสดใสยื่นออกไปในทะเลคือ
หน่วยวิจัยหอยเชลล์ของสถาบันจุฬาภรณ์ตั้งอยู่
เป็นความหวังของชาวบ้านว่า หากผลการวิจัยออกมาบอกว่า เป็นพื้นที่เลี้ยงหอยเชลล์ได้อย่างดีเยี่ยม
พวกเขาก็จะมีอาชีพเพิ่มขึ้นจากการทำปลาเค็มคือ เลี้ยงหอยเชลล์
บ้านแต้เหล็ง
ถือเป็นสถาปัตยกรรมเด่นของกระบี่ บ้านโบราณแบบศิลปะตะวันออกผสมศิลปตะวันตก
ทางไปบ้านหลังนี้ถามกลุ่มคนขายปลาเค็มเสียก่อน เพราะแม้ว่าจะเป็นแหล่งควรท่องเที่ยวที่สำคัญ
แต่การท่องเที่ยวลืมทำป้ายมาปักเอาไว้ ทางเข้าย้อนกลับมาหน่อยตรงเสาไฟฟ้าต้นหมายเลข
๑๔๔ เลี้ยวซ้ายไปตามทางลูกรังแคบ ๆ ประมาณ ๓ กม. จะถึงชายทะเลอ่างแต้เหล็ง
จะพบบ้านแต้เหล็งที่ตั้งชื่อตามชื่อภูเขาใหญ่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแลน หรือตะกวด
สถานที่ดั้งเดิม เป็นที่จับจองของนายโฮ่หย่อง แซ่ลิ้ม จีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาโดยเรือเดินสมุทร
ขึ้นที่ปีนังแล้วโดยสารเรือใบสามหลัก (เรือสำเภา) มาค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดบริเวณเกาะลันตา
จนตั้งตัวได้ก็ตั้งหลักแหล่งทำอู่ต่อเรือและซ่อมเรือสำเภาจีน ต่อเรือหลายลำเพื่อไปค้าขาย
ระหว่างเกาะปีนังกับเกาะลันตา แต่งงานกับนางกิมจู แซ่เฮี๊ยบ มีลูกชาย ๑ หญิง
๔ ลูกสาวคนหนึ่งแต่งงานกับนายเทียนไส้ กิจค้า (แซ่โกย) ที่เดินทางมาค้าขายเช่นกัน
ลูกเขยเลยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ค้าขาย ทำโป๊ะ ทำปลาเค็ม เผาถ่านไม้โกงกาง
ส่งสินค้าไปขายปีนัง จนร่ำรวย จึงส่งน้องเขยที่รู้วิชาช่างให้เดินทางไปกรุงเทพ
ฯ ไปจดจำแบบอาคารหลายแห่งในกรุงเทพ ฯ แล้วเอามาออกแบบดัดแปลงผสมผสานกับรูปบ้านในท้องถิ่น
ก่อสร้างเป็นตึกคอนกรีต ๓ ชั้น แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ เวลานี้บ้านเป็นของบุตรชาย
วันที่ไปชมบ้านปิดเงียบสนิท ไม่มีคนเลยแต่เขาบอกว่าภายในบ้านนั้นเครื่องตกแต่งบ้านสวยมาก
จัดซื้อมาจากปีนัง มีหลายห้องนอน ตอนนี้บ้านทาสีใหม่สวยทีเดียว ให้สักเกตแผ่นป้ายที่บอก
พ.ศ. ที่เข้าอยู่อาศัย ลักษณะแผ่นป้ายเป็นแผ่นซีเมนต์รูปโค้งครึ่งวงกลม แบบศิลปะการสร้างสุเหร่าของชาวมุสลิม
เรียกว่าเป็นศิลปะผสมผสานแท้ไทย จีน แขก ฝรั่ง
เกาะลันตาน้อยมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่แค่นี้กับทางตัวอำเภอ ควรแวะวันกลับจะได้ขนซื้อปลาเค็มกลับมา
จากท่าเรือเกาะลันตาน้อย วิ่งไป ๘ กม. ก็จะถึงท่าเรือที่จะข้ามไปยังเกาะลันตาใหญ่
วันที่ไปเกือบ ๑๘.๐๐ แล้วพอดีเรือมาเอารถลงเรือได้เลย ทะเลที่จะข้ามช่วงนี้แคบกว่าตอนแรก
วิ่งประมาณ ๑๕ นาที ก็ขึ้นท่าเรือศาลาด่าน
เกาะลันตาใหญ่ ย่านร้านอาหาร และร้านขายของยังกับพัทยาย่อย ๆ (๑ ใน ๕๐๐ ของพัทยา)
น่ารัก ขึ้นจากเรือแล้วจะไปหาดพระแอะที่พัก
แต่หากเลี้ยวมาทางตลาดศาลาด่านสุดท้ายก็จะมีสามแยก มีร้านอาหารย่านนี้หลายร้าน
ใช้เรดาร์ส่องหายาก เพราะแต่ละร้านปลูกคล้าย ๆ กัน ติดถนนมองเข้าไปไม่ค่อยเห็นอะไร
ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ติดทะเล เสี่ยงเลือกได้ ๑ ร้าน แต่ไม่ผิดหวัง ท่านี้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล
เป็นต้นทางและปลายทางของเรือท่องเที่ยว เช่นเรือเมล์ไปภูเก็ต ไปกระบี่ ไปเกาะพีพี
แพ็กเกจทัวร์ดำน้ำ ไปเที่ยวทางทะเลจะซื้อได้ที่ย่านนี้ รวมทั้งจะซื้อโป๊สท์การ์ด
ฟีลม์ถ่ายรูป เสื้อผ้าก็มี มีขายหมด แต่งร้านน่ารัก
จะล่องเรือ ดำน้ำชมปะการัง ไปตกปลาย่านศาลาด่านมีบริการหมด รวมทั้งผับและบาร์ก็มี
ร้านริมน้ำก็ริมทะเลมองเห็นน้ำเห็นเรือข้ามฟากไปเกาะลันตาน้อย เห็นเรือท่องเที่ยว
ท้องน้ำสวยนัก ลมพัดเย็น ไม่ต้องใช้แม้แต่พัดลม ลองสั่งอาหารมาชิม
ไก่มะสะล่า ซึ่งต้องกินกับแป้ง "นาน" ปรากฎว่าวันนี้ไม่ได้ทำเลยอดชิม
ไก่ต้มข่า ยกมาร้อน ๆ หอมกลิ่นข่าน่าซด ชามนี้ไม่ผิดหวัง
ส้มตำ คณะนี้สาวแยะ (ใครอายุน้อยกว่าผมให้เป็นสาว ๆ หมด) ต้องยอมให้เขาสั่งส้มตำ
รสดี กลมกล่อม ไม่เผ็ด เพราะต้องย้ำว่าไม่เผ็ด ขืนเผ็ดอย่างใต้ นคร ฯ กินไปร้องไห้ไปอร่อยด้วย
กุ้งอบวุ้นเส้น เสริฟมาในหม้อดิน ตัวไม่โตนัก ตามด้วยกระพงขาวทอดกระเทียมพริกไทย
ปลาสามรส รสเข้ม ทอดปลาเก่งเลาะตรงครีบให้ดี ๆ จบแล้วจะเหลือแต่หัวปลากับก้าง
ปูผัดผงกะหรี่ ขี้เกียจแกะเนื้อปู แต่เป็นปูไข่ เอาน้ำผัดที่มีไข่ปูคลุกข้าวแล้วซดแกงข่าไก่
ของหวานไม่มี มีแต่กล้วยเล็บมือนางที่ซื้อติดรถเอาไว้เป็นเสบียง ซื้อมาตั้งแต่แผงขายหน้าศาลพ่อหินช้างก่อนถึงสี่แยกปฐมพร
เป็นของหวานอย่างดี
.............................................................
|