เกาะลันตา
๒
ผมพาไปเกาะลันตาน้อย ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่มาแล้ว
ทีนี้จะพาท่านไปเที่ยวยังเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเกาะลันตา
หรืออุทยานแห่งชาติเกาะลันตา
(เฉพาะทางบก) แต่เนื่องจากการไปนั้นหากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางนัก
โดยเฉพาะเส้นทางภาคใต้ก็จะงง เพราะภาคใต้เส้นทางดั้งเดิมจริง ๆ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
๔ หรือ ถนนเพชรเกษม ซึ่งถนนเดิมสมัยที่ผมบุกเบิกไปเมื่อสัก ๔๐ ปีกว่ามาแล้ว
ไปโดยรถจิ๊บทหาร ถนนสายนี้ไม่ได้ยาวตลอด คือ จากกรุงเทพ ฯ ไปผ่านชุมพรประตูล่องใต้
แต่ถนนที่ต่อจากสี่แยกปฐมพรไปหลังสวนนั้นไม่มี จะไปอำเภอทุ่งสง ต้องอ้อมโลกไปคือจากสี่แยกปฐมพร
เลี้ยวขวาไประนอง แล้วก็จบแค่นั้นไม่มีถนนต่อไปยังอำเภอตะกั่วป่า สมัยที่ผมลุยไปเมื่อ
พ.ศ.๒๕๐๕ ผมเอารถจิ๊บพ่วงรถพ่วง เพื่อบรรทุกถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร ไปด้วย
พอถึงระนองก็ลุยไปตามเส้นทางรถลากไม้ในป่าไปอีกประมาณ ๑๘๐ กม. ก็จะถึงตะกั่วป่า
จากนั้นจะมีถนนลาดยาง สาย ๔ ต่อไปยังโคกกลอย เอารถลงแพข้ามฟากไปยังเกาะภูเก็ต
กลับจาเกาะภูเก็ตก็มาโคกกลอย ไป พังงา กระบี่ ตรัง หาดใหญ่ เอารถฟากเขาไว้เช่ารถแท็กซี่
๒ ทะเบียน คือ มีทะเบียนมาเลย์เซียด้วย ไปเที่ยวเกาะปีนัง จากหาดใหญ่ก็มีถนนลูกรังเป็นส่วนใหญ่ไปยังปัตตานี
นราธิวาสเส้นทางนี้คือ ทางหลวงแผ่นดินดั้งเดิม หากจะไปทุ่งสง ต้องแยกไปจากห้วยยอดจังหวัดตรัง
ปัจจุบันไม่ต้องลำบากอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะมีถนนตัดจากระนองไปยังตะกั่วป่า
ทำให้สาย ๔ สมบูรณ์ก็เกิดแล้ว ถนนจากสี่แยกปฐมพร ไปยังอำเภอหลังสวน พุนพิน
ทุ่งสง พัทลุง หาดใหญ่ ก็มีแล้วล้วนแต่เป็นถนนสี่เลนทั้งสิ้น และถนนสายใหม่เอี่ยมดีเยี่ยมที่ยังไม่ค่อยรู้จักกันคือ
ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๔ ถนนที่จะเชื่อมระหว่างอันดามัน (อำเภออ่าวลึก)
กับอ่าวไทย (อำเภอกาญจดิษฐ) ระยะทางประมาณ ๑๒๕ กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว เส้นทางไปเกาะลันตาใหญ่
จึงไปดังนี้ ขอทบทวนอีกที ผมรับราชการอยู่ภาคใต้ ๘ ปี พึ่งเคยไปเกาะลันตาในคราวนี้
เลยค่อนข้างจะเห่อและอยากให้ไปเที่ยวกัน
เส้นทาง กรุงเทพ ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร (สี่แยกปฐมพร) หลังสวน สุราษฎร์ธานี
(พุนพิน) พอตัดกับสาย ๔๔ ก็เลี้ยวขวาไปอีก ๑๐๐ กม. จะถึงสามแยกบากัน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย
๔ ไปผ่านทางแยกเข้าเมืองกระบี่ ไปผ่านอำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม พอถึง
กม.๖๔ เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๒๐๖ แล้วจะข้ามสะพานข้ามคลองที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่
กับเกาะกลาง ข้ามไปชนิดไม่รู้ตัว เพราะไม่นึกว่าเป็นเกาะคั่นด้วยคลอง ความจริงจะเรียกว่า
ช่องแคบก็ได้ เพราะเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน เมื่อเข้ามาเกาะกลางแล้ววิ่งไปจนถึงท่าเรือบ้านหัวหิน
เอารถลงแพขนานยนต์ ข้ามไปเกาะลันตาน้อย เมื่อขึ้นเกาะลันตาน้อยแล้ววิ่งต่อไปอีกประมาณ
๘ กม. จะถึงท่าเรือที่จะต้องเอารถลงแพขนานยนต์อีก เพื่อข้ามไปยังเกาะลันตาใหญ่
การข้ามเรือสะดวกมาก ไม่ต้องรอนาน มีเรือหลายลำ จะไปขึ้นท่าเรือศาลาด่านทีนี้ก็เข้าที่พัก
ซึ่งที่พักมีมากมายตั้งแต่ราคา ๒๐๐ บาท ก็มี เขาว่าฝรั่งเช่านอนกันเป็นสัปดาห์ไปเลย
ที่แพง ๆ ราคาเป็นหมื่นก็มี เช่นวันที่ไปเห็นกำลังสร้างอยู่บนไหล่เขา วันดี
คืนดีถูกหวยสักทีจะไปนอนเพื่อชิมดูว่า ห้องพักราคาคืนละเป็นหมื่นนั้นสบายอย่างไร
หากพักห้องขนาดนี้ผมจะไปพักจริง ๆ คือ วนเวียนอยู่แต่ในห้อง นอนกันให้คุ้มไปเลย
ผมไปเที่ยวงานสัปดาห์การท่องเที่ยวที่ศูนย์สิริกิติ์ที่จะมีงานทุกปี และซื้อแพคเกจทัวร์มาในราคาย่อมเยาคือ
คนละ ๒,๘๐๐ บาท ราคานี้รวมที่พัก ๒ คืน อาหาร ๔ มื้อ คือ เช้า ๒ มื้อ
และเย็นอีก ๒ มื้อ ชอบใจมากตรงมื้อเย็นเพราะจะได้ไม่ต้องออกไปตระเวณ ถึงอาหารรสจะไม่เลอเลิศแต่ระดับนี้ก็ต้องเข้าขั้นดี
อยู่ที่หาดพระแอะ เมื่อขึ้นจากท่าเรือศาลาด่านแล้ว
ก็วิ่งไปตามถนนคอนกรีต ซึ่งถนนสายนี้สร้างไว้เกือบจะรอบเกาะแล้ว มีอยู่สายเดียวแต่ไปแยกตอนท้ายเกาะหน่อยหนึ่ง
เพื่อไปยังชุมชนอำเภอเก่า ไปตามถนนเส้นทางบังคับนี้ จะผ่านรีสอร์ทมากมายหลายราคา
ไปเรื่อย ๆ ไปประมาณ ๑๕ นาที ก็จะผ่านศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรทางขวามือ พอเลยไปก็จะถึงทางเข้ารีสอร์ท
ซึ่งเมื่อเลี้ยวขวาเข้ามาแล้ว จะถึงสวนสาธารณะ
"หาดพระแอะ" ผ่านหน้าสวนไปแล้วคือ
รีสอร์ทที่มาพักซึ่งอยู่ริมอ่าวพระแอะ เป็นอ่าวที่เกือบตรง ไม่โค้งมาก ทรายละเอียด
หาดสะอาดน่าเล่นน้ำ ที่พักกว้างขวาง ห้องพักดีมาก มีสระว่ายน้ำ ห้องอาหารเป็นศาลกว้างขวาง
จุหลายสิบโต๊ะและทุกมื้อเห็นฝรั่ง หรือชาวต่างประเทศมานั่งกินอาหาร มากกว่าน้ำท่องเที่ยวคนไทย
วันแรกที่ไปถึงค่ำแล้ว เพราะตอนที่อยู่ในแพข้ามฟากจากเกาะลันตาน้อย มายังเกาะลันตาใหญ่นั้นประมาณ
๑๘.๓๐ พอดี พระอาทิตย์ตก ตกลงน้ำสวยมากจริง ๆ เลขา ฯ ของผมเขานักชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
นอนบนเขาค้อเช้ามืดอากาศเย็น แทนที่จะนอนให้สบายกลับรับลุกไปดูพระอาทิตย์ขึ้น
ไปดูทะเลหมอก จ้างผมก็ไม่ไป ตอนอยู่ในทะเลระหว่างเกาะพระอาทิตย์ตกลงน้ำ
ลงน้ำจริง ๆ ค่อย ๆ ลับหายลงไปในน้ำเลยทีเดียว หาชมยากมาก หากท่านไปเกาะภูเก็ตจุดชมพระอาทิตย์ตกคือ
ที่แหลมพรหมเทพ ผมรับรองให้เลยว่าไปชมสักสิบครั้ง จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกน้ำสักครั้ง
เพราะพอใกล้พื้นน้ำจะมีม่านเมฆลอยอยู่ จึงได้เห็นแค่พระอาทิตย์ตกลงบนเมฆ ไม่ใช่น้ำ
ผมเห็น ๒ แห่ง ที่ได้ชมทุกทีคือ ที่เขื่อนแก่งกระจาน แต่ลงน้ำจืดไม่ใช่น้ำทะเล
ส่วนหล่นป๋อมลงน้ำทะเลจริง ๆ นั้น ก็มาเห็นที่ทะเลระหว่างเกาะลันตานี่แหละ
คณะผมล้วนแต่อายุน้อย ๆ คือ เกิน ๖๐ กันทุกคน เลยตื่นเต้นกันเป็นการใหญ่ เพราะแต่ละคนล้วนแต่นักเดินทาง
ไปมาทั้งในบ้านเราเมืองไทย และต่างประเทศไม่เคยเห็นแบบนี้เลย กลับมาเข้ารีสอร์ทแล้ว
ไปห้องอาหารก็ยังเชยชมอยู่กับพระอาทิตย์ตกน้ำ พูดกันไปอีกหลายวัน แต่ก็สวยและมีค่าสมกับที่นำมาพูดกัน
อาหารมื้อค่ำของรีสอร์ทในวันแรกนี้มีแกงเผ็ดเป็ดย่าง ปลานึ่งซีอิ้ว สี่สหายน้ำแดง
ไก่ผัดน้ำมันหอย และกุ้งผัดผงกะหรี่ รสดี ข้าว ผลไม้รวมดีมาก เพราะพอหมดขอสัปปะรดมาแกล้มได้อีก
ส่วนอาหารที่สั่งมาเพิ่มคือ ยำทะเล กับหมึกสดทอดกระเทียมพริกไทย
วันรุ่งขึ้น มีเวลาเที่ยวบนเกาะลันตาใหญ่เต็มวัน มื้อเช้ามีทั้งฝรั่งและไทยคือข้าวต้ม
ออกเที่ยว ล่องใต้ของเกาะไปก่อน พอออกจากรีสอร์ทก็เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายมาตลาดศาลาด่าน)
จะผ่านหาดที่มาท่องเที่ยวกัน และทุกหาดมีรีสอร์ท มีป้ายบอกเช่น หาดคลองโขงถึงก่อนเพื่อน
ต้องเดินลงไปตามถนนดินก่อนข้ามสะพานไม้เล็ก ๆ ที่สร้างข้ามลำคลองโขงในป่าชายเลนจึงจะถึงหาด
ตอนเช้าเรือประมงจะเข้ามายังหาดนี้ ตอนเย็นก็ออกไปจับปลา และหาดนี้เป็นหาดหนึ่งที่โดนสึนามิเล่นงาน
แต่ที่พัก และบ้านน้อยจึงเสียหายไม่มาก แต่พัดพาเอาก้อนดินใหญ่ ๆ ขึ้นไปข้างบนได้
ต่อไปคือ หาดคลองนิน
เลยหาดคลองโขงไปสักหน่อยทางจะไต่เขา ต่อจากนั้นก็จะถึงหาดคลองนิน ถนนเลียบริมชายหาด
แต่มีบ้านเรือนปลูกอยู่เลยบังวิวไปหน่อย เลยหาดคลองนินไปจะเป็นสามแยก ซึ่งหากเลี้ยวซ้ายจะไปยังอำเภอเก่า
ถ้าเลี้ยวขวาจะเลาะชายทะเลไปสุดทางที่อุทยานแห่งชาติที่แหลมโตนด
(มีประภาคาร) ตรงสามแงยก และบริเวณหาดคลองนินนี้จะมีรีสอร์ท ราคาย่อมเยาอยู่มากมาย
มีมินีมารท์ มีร้านอาหาร ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงราคาชาวบ้าน มีต้นเตยทะเลขึ้นเรียงรายตลอดแนวชายหาด
และยังหินก้อนโต ๆ ในบางตอนอยู่ที่ริมหาด ช่วยประดับหาดให้สวยมากขึ้นอีก
หาดบากันเตียง
เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีชุมชน มีอาหารอีสาน ต่อไปมีหาดอ่างนุ้ย
เลยไปอีกหาดคลองจาก
ตอนนี้ถนนไม่ราดยางแล้วเป็นถนนดิน จากหาดคลองจาก มาตามถนนดิน มีน้ำตกคลองจากไม่ได้ลงไปดู
จากหาดคลองจากไปถึงอุทยานประมาณ ๓ กม. ผ่านอ่าวไม้ไผ่ไป
พื้นถนนยังแข็งมาก ทางเริ่มคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา พอเหลือระยะทางอีกประมาณ
๓ กม. จะเข้าถึงที่ทำการอุทยาน ทางหักข้อศอก ดินไม่แน่นทำให้ล้อรถหมุนฟรี
ให้คนลงรถจนหมดก็ยังเร่งไม่ไป เดินหน้าก็ไม่เอา ถอยหลังก็ไม่สู้ ช่วยกันเข็นไม่ขยับ
เลยเอาใหม่ช่วยพลขับที่เคยเป็นลูกน้องเก่าด้วยการไปนั่งหน้าคู่คนขับ แล้วเข้าเกียร์
๑ เดินหน้าเต็มที่รถหลุดหล่มทราย วิ่งลงไปข้างล่างได้ กลับรถได้ตรงที่ลงไปกลับรถนั้น
มีรถอีกหลายคันที่ลงไปแล้วขึ้นไม่ได้ ทางอุทยานน่าจะปักป้ายบอกไว้ได้เลยว่า
ตั้งแต่จุดไหนรถอย่าลงไป เว้นรถโฟวีลคงพอลงได้ พอพระเอกจะตายตอนจบ ก็มีผู้ช่วยขี่ม้าขาวมาช่วยทันทีคือ
เจ้าหน้าที่อุทยานขับรถโฟวีลมาถึงบอว่า มีคนไปตามว่ารถติดหลายคันแล้ว ขึ้นไม่ได้
เขาก็โดดขึ้นมาขับเอง ผมยังนั่งหน้าเช่นเดิม ให้ลูกน้องเขาอีก ๔ - ๕ คน
ขึ้นนั่งข้างหลังช่วยกันขย่มตอนรถจะไต่ให้พ้นสันดอนทราย เขาชินทางรู้จังหวะเร่งความเร็ว
ก็สามารถเอารถขึ้นมาได้ เลยได้กลับไปกินข้ากวลางวันที่ร้านริมน้ำ ตลาดศาลาด่าน
ผมเลยสรุปไว้ให้ว่ารถธรรมดาจะไปได้ตามถนนดิน ประมาณ ๕ กม. อย่าไปไกลกว่านี้
และหากเป็นฤดูฝน ไม่ควรล้ำเข้าไปในเขตถนนดิน เพราะทางขึ้นเขา ดินไม่แน่นพอและจะลื่นด้วย
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของอุทยานเกาะลันตา ช่วยให้ผมได้กลับมากินข้าวริมน้ำ
ซึ่งจากอุทยานไปอีกไม่ไกล ไม่กี่ กม. ก็จะบรรจบกับชุมชนบ้านลังกาอู้ และต่อไปยังที่ตั้งอำเภอเก่า
วนไปบรรจบกับสามแยกแถวหาดคลองนินได้ ทางหลวงชนบท ควรจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว
ด้วยการสร้างถนนช่วงที่เชื่อมกันนี้เสียโดยด่วน หรือจะหน้าที่ของ อบต. ผมก็ไม่แน่ใจ
ถ้าสร้างสำเร็จ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะลันตาใหญ่ ให้น่าเที่ยวมากยิ่งขึ้น
พอรถหลุดหล่มทรายขึ้นมาได้จึงให้หนุ่ม สาววัยใกล้ร้อยทั้งหลายที่ผมให้ลงคอยอยู่ข้างล่างขึ้นรถได้
และวิ่งย้อนกลับมาผ่านสามเแยกหาดคลองนิน ผ่านหาดพระแอะที่เป็นที่พัก วิ่งมากินข้าวกลางวันที่ตลาดริมน้ำศาลาท่าด่าน
ริมน้ำที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว
อิ่มอาหารกลางวันแล้ว เดินชมร้านค้าแถวตลาดศาลาด่าน ต่อจากนั้นขึ้นรถย้อนกลับมาทางเดิม
พอถึงสามแยกตรงหาดคลองนินก็แยกไปทางซ้าย หรือทางตะวันออกของเกาะ เพื่อไปยังที่ตั้งอำเภอเกาะลันตาเดิมก่อนที่จะย้ายไปอยู่ยังที่ตั้งแห่งใหม่
ที่เกาะลันตาน้อย ย่านอำเภอเก่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังมีความเจริญเป็นย่านตัวเมืองเก่าในอดีต
ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าอยู่ในสภาพที่ดีสร้าง ๒ ชั้น เป็นเรือนไม้ ยังยกป้ายว่าที่ว่าการอำเภอ
สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๔ เวลานี้หรือวันที่ผมไปปิดเอาไว้เฉย ๆ ไม่ทราบว่าทำอะไรหรือเปล่า
ริมถนนหน้าที่ว่าการอำเภอเก่า สมเด็จพระเทพ ฯ ทรงปลูกต้นตะเคียนทองไว้ เมื่อ
๙ ม.ค.๒๕๓๕ ด้านหน้าเป็นสวนสาธารณะ เลยออกไปคือ ทะเล จากหน้าอำเภอหากเลี้ยวซ้ายมาจะมาผ่าน
ศาลพลเรือเอกกรมหลวงชุมพร
เขตอุดมศักดิ์ แต่เป็นศาลเล็ก ๆ เลยต่อไปอีกก็เป็นย่านร้านค้า
มีห้องแถวไม้ที่บอกว่าอายุเป็นร้อยปีแล้ว ติดถนน อีกด้านติดทะเล ขายกาแฟแบบชงโบราณ
ร้านขายข้าวแกง ร้านขายน้ำชา ชายของชำ ที่กำลังหายากเต็มทีแล้ว หรือผมตั้งชื่อให้ว่าร้านโชห่วยคือ
ขายสารพัดสินค้า ถนนระหว่างห้องแถวเป็นถนนคอนกรีตแบบถนนในตำบล แต่กว้างกว่า
มีเสาไฟฟ้าที่คงจะสร้างใหม่ ราคาคงจะสูง เพราะหล่อต้นโต ๆ ชอบใจที่มีตะเกียงเจ้าพายุแขวนให้แสงสว่าง
แต่ปัจจุบันคงเป็นตะเกียงเจ้าพายุหลอก ๆ มองเป็นเจ้าพายุ แต่ภายในคงเป็นหลอดไฟฟ้าหมดแล้ว
ถนนสายนี้ไม่ยาวนัก แต่ได้ชมความเก่าแก่ของห้องแถวไม้ของเมืองลันตา ดั้งเดิมอายุเกินร้อยปี
ร้านอาหารที่ดูแล้วเข้าตา มีหลายร้านเหมือนกัน เสียดายที่ไม่ทราบว่าที่ย่านอำเภอเก่านี้มีร้านอาหารที่น่าจะชวนชิมได้
ถึงได้วิ่งย้อนกลับไปตลาดศาลาด่าน ซึ่งจากตลาดศาลาด่านวิ่งกลับมาถึงอำเภอเก่า
ระยะทางประมาณ ๒๕ กม.
บ้านยาวแห่งเกาะลันตา
ผมเล่าบ้านแต้เหล็งบนเกาะลันตาน้อยไปแล้ว ขอเง่าถึงบ้านยวน หรือบ้านยาวแห่งเกาะลันตาไว้ด้วย
เพราะแทบจะหาชมที่ไหนไม่ได้อีก ชาวจีนที่เดินทางมาทางทะเลมาตั้งรกราก
แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ผสมผสายแบบบ้านที่อยู่อาศัยจากหลายแบบกับท้องถิ่น
กลายเป็นบ้านที่เรียกว่า "บ้านยวน"
มีลักษณะเฉพาะหลายประการที่สำคัญคือ เมื่อมีลูกมีหลานเพิ่มมากขึ้น ก็จะขยายบ้านให้ยาวออกไป
ไม่ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น และจะมีซุ้มทางเดินหน้าบ้าน มีปล่องสวรรค์อยู่กลางบ้าน
ซึ่งจุดนี้จะมีบ่อน้ำ ถังเก็บน้ำ ห้องน้ำและที่ซักล้างเป็นบริเวณที่มีความเย็นของน้ำ
ระบายอากาศ รับแสงสว่าง เข้าสู่ในบ้าน บ้านจะมีสะพานเทียบเรือหลังบ้าน บ้านจะยาวริมน้ำชายทะเล
เป็นเอกลักษณ์ของบ้านยวนหรือบ้านยาวแห่งเกาะลันตา เมื่อก่อนบ้านแบบนี้จะมีในตัวเมืองกระบี่
มีที่แหลมสัก แต่เดี๋ยวนี้หาชมได้แห่งเดียวคือ ที่ลันตา
ชุมชนย่านอำเภอเก่าจบแล้ว ก็กลับออกมาชึ้นถนนเส้นจากสามแยกแต่ยังไม่กลับ
เลี้ยวซ้ายไปอีกหน่อยก็จะสุดทาง ที่บ้านลังกาอู้ อ่าวลังกาอู้
คำว่าลังกาอู้ แปลว่า ปลากระเบน เป็นอ่าวสุดท้ายของปลายเกาะด้านตะวันออก เป็นอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชน
เป็นหมู่บ้าน "ชาวเล"
มีโรงเรียน มีทางลงจากถนนไปยังหมู่บ้านที่อยู่ริมทะเล ชุมชนชาวเลที่เรียกตัวเองว่า
"อูรักลาโว้ย"
เป็นชาวประมงพื้นบ้าน เป็นชาวเลที่เริ่มขึ้นมาอยู่บนบก แต่กลุ่มนี้โดนพิษของสึนามิ
หมดเนื้อหมดตัว แต่ได้รับการช่วยเหลือ จากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟู ชุมชนชายฝั่งอันดามัน
มาซ่อมสร้างเรือประมงกว่า ๑,๒๐๐ ลำ เมื่อถูกสึนามิ ทางช่วยด้วยการให้อุปกรณ์มาสร้างบ้าน
ต่อเรือ ตรงจุดนี้เหลือบ้านเพียง ๘ หลัง แต่ที่เวทนาอย่างยิ่งคือ พวกเขาเป็นประมงเรือเล็กนำเรือออกไปวางไซ
ทิ้งไว้ในย่านน้ำลึก ไซใหญ่มากคนยังเข้าไปอยู่ได้เลย แต่บางทีพอทิ้งไว้หลาย
ๆ วันไปกู้ไซ ปรากฎว่าปลาใหญ่ หรือกุ้งมังกร ที่จะขายได้ราคาแพง ๆ ไม่มีแล้ว
ไซของเขาจะจับสัตว์น้ำได้ถึง ๕๐ กก. แต่กลับถูกเรือประมงลำใหญ่ ที่มีเรดาร์ตรวจของผู้มีอิทธิพล
มากู้เอาไปเสียก่อน เขาบอกว่าไปแจ้งเหมือนกันแต่ไม่มีใครมาช่วยเหลือ เพราะตัวขโมยมันมาทางเรือ
ขืนเอาเรือเล็กออกไปจับ จะได้โดนมันยิ่งตาย เล่าให้ฟัง ฟังแล้วก็สงสารได้แต่เขียนบอกเอาไว้ตรงนี้
แม้จะเป็นชาวเล ที่เมื่อก่อนใช้ชีวิตอยู่แต่ในทะเลจริง ๆ พึ่งมาขึ้นบกเมื่อไม่นานมานี้
แต่เขาก็มีศิลปะหัตถกรรมของเขาเหมือนกันคือ "การทำเรือปลาจั๊ก
หรือลาจัง เป็นเรือที่ใช้ในพิธีกรรม ลอยเรือชาวเลที่จะมีบ้านในบ้านหัวแหลมกลาง
บ้านศาลาด่าน บ้านเกาะจำ อ.เมืองกระบี่ ทำกันในงานลอยเรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน
๖ และเดือน ๑๑ ทุกปี เรือปลาจั๊ก เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ระกำทั้งลำ ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา
๑ วัน แต่ความสวยงามจะอยู่ที่การสลักลายลงบนไม้ระกำ การแกะสลักบนเรือ จะมีความผูกพันกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ
และพระเจ้าที่พวกเขานับถือ เช่น สลักเป็นรูปดอกไม้แทนดอกไม้ที่จะส่งขึ้นไปบูชา
"โต๊ะอาโฆะบีอราตัย"
ซึ่งเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ การต่อเรือปลาจั๊กกันแต่ละหมู่บ้าน จะมีโต๊ะหมอหรือหัวหน้าช่างคอยกำกับดูแลให้ลูกมือทำตาม
เรือปลาจั๊กที่ต่อเสร็จแล้ว ต้องนับว่าสวยเหมือนกับเรือสำเภามีใบแล่นในทะเลได้เลย
บ้านลังกาอู้ของชาวเล เป็นแหล่งสุดท้ายที่เที่ยวบนเกาะลันตาใหญ่ จากนั้นก็พอดีเย็นแล้ว
กลับมาสนุกกันต่อที่รีสอร์ท ในวันรุ่งขึ้นหลังอาหารเช้าก็เดินทางกลับ และสัญญากับตัวเองว่าจะไปใหม่
ต้องไปกัน ๒ คน กับเลขา ฯ จะได้ข้อมูลมากกว่านี้ และจะเที่ยวกระบี่ที่จากมานานนับตั้งแต่ย้ายมารับราชการในกรุง
ฯ ก็แทบจะไม่ได้ไปเที่ยวอีก จากเกาะลันตาก็ข้ามมาเกาะลันตาน้อย เที่ยวอ่าวบ้านโล๊ะใหญ่
ซื้อปลาเค็ม ไปบ้านแต้เหล็ง ข้ามเรือกลับมายังบ้านหัวหินที่เกาะกลาง วิ่งรถรวดเดียวมายังตัวเมืองกระบี่
"อ่าวนาง" คือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล ของกระบี่ จากตัวเมืองกระบี่
ถามเขาจะดีที่สุดว่า หาดนพรัตน์ไปทางไหน เลยหาดนพรัตน์ไปตามถนนสาย ๔๒๐๓ ประมาณ ๔ กม. ถึงสามแยก แยกซ้ายมาทางสถานีตำรวจท่องเที่ยว ถึงสามแยกอีกทีเลี้ยวขวาถนนเลียบชายหาด
อ่าวนางทุกวันนี้ ยังเงียบสงบ แต่พร้อมด้วยที่พัก ร้านอาหารชั้นดี ร้านค้า
รถเช่า บริษัททัวร์เดินป่า เช่า เรือแคนู ดำน้ำชมปะการัง ฯ มีบริการหมด เดินอ่าวนางวันนี้ก็เหมือนเดินหาดป่าตองก่อนสึนามินั่นแหละ
นักท่องเที่ยวฝรั่ง เดินกันมากกว่าคนไทย แหม่มสวย ๆ เดินกันเต็ม ออกเที่ยวด้วยการเดิน
เช่ารถจักรยาน หรือมอเตอร์ไซด์ ระยะทาง กระบี่ - อ่าวนาง ๑๔ กม.
กุ้งมะขาม ใช้กุ้งใหญ่ตัวโตยังกับกุ้งกร้ามกราม ราดด้วยน้ำที่ปรุงสามรส รสหวานนำตามด้วยรสเปรี้ยว
เรียกน้ำย่อย ใส่มะม่วงหิมพานต์ให้เคี้ยวมัน มีผักวางเคียง
ปูผัดพริกไทยดำ ปูตัวโต กินแค่ก้ามปูก็แทบจะอิ่ม ปูไข่ด้วย ผัดเก่งมาก
หอยชักตีนลวก กำลังอยากกินนึกว่ามาเที่ยวนี้อดได้ชักตีนหอยเสียแล้ว ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มออกมา
อย่าลืมเด็ดตีนที่โผล่ออกมาทิ้ง เขาว่าจะทำให้ท้องเสีย เอาแต่เนื้อหอยมาจิ้มน้ำส้มเด็ดนัก
ปลาเกยตื้น ใช้ปลาเก๋า ตัวโต ราดน้ำเหมือนสามรส มีกุ้ง มีปลาหมึกใส่มาด้วย
แกงเหลืองปลากะพง ใส่เม็งมะพร้าว ร้อน เผ็ดไม่มาก ซดน้ำวิเศษนัก
ของหวานเป็นผลไม้
จากนั้นวิ่งรวดเดียวจะมานอนที่รีสอร์ทที่หาดบ้านกรูด บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์
แวะอีกแห่งเดียวคือ สวนนายดำ อยู่ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร อยู่ทางฝั่งซ้าย ถนนสาย
๔๑ กม. ๕๔ เลี้ยวขวาไป ๒๐๐ เมตร มีป้ายบอกที่ปากทางเข้า ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
สวนส้มกุน มีส้มโชกุน ของฝากจากชุมพรจำหน่าย มีผลิตภัณฑ์โอท๊อปของชุมพร มีสวนดอกไม้ให้ชม
ที่เรียกว่า นายดำ น้ำหยดเพราะคงจะกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ที่ผมเคยดั้นด้นเข้าไปชมสวนของเขาเพื่อศึกษาเรื่องการให้น้ำแก่พืชสวนด้วยการวางสายยาง
และมีช่องให้น้ำหยดทีละหยด หยดตลอดเวลาทำให้ดินชุ่มชื้น และเป็นต้นแบบหนึ่งของการให้น้ำสวนผลไม้
เลยเรียกกันว่า นายดำน้ำหยด
.................................................
|