อุทยานแห่งชาติเกาะลันตา
อุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่
๑๓๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๘๓,๗๕๐ ไร่ ประกาศตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ สิงหาคม
๒๕๓๓ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๖๒ ของประเทศไทย อุทยานนี้ประกอบด้วยกลุ่มเกาะต่าง
ๆ ในท้องทะเลอันดามัน กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเกาะรอก กลุ่มเกาะไหง กลุ่มเกาะห้า
หรือตุกนลิมา และ "กลุ่มเกาะลันตา" ซึ่งกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย ๓ เกาะที่เป็นหลักคือ
เกาะกลาง เกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่ และเกาะเล็ก ๆ อีก ๔๙ เกาะ อุทยาน
ฯ มีที่ราบน้อย พื้นที่บนบกก็น้อย สภาพทางธรณีเป็นหินปูน มีแหล่งน้ำจืดค่อนข้างสมบูรณ์
มีน้ำไหลตลอดปี แหล่งน้ำสำคัญคือ คลองราก คลองหิน คลองน้ำจืด และคลองนิน ซึ่งมีกำเนิดจากเทือกเขาลันตา
ในตอนกลางของพื้นที่
พันธุ์ไม้ ได้แก่ ป่าชายหาดมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ป่าชายเลน ไม้สำคัญ เช่น ไม้โกงกาง
ป่าเขาหินปูน บริเวณเกาะรอก และเกาะห้า ป่าดงดิบ พบบริเวณตอนใต้ของเกาะลันตาใหญ่
จะมีไม้ยาง กระบาก หลุมพอ ฯ ป่าสุดท้ายคือ ทุ่งหญ้า พบบนที่ราบบนเขาเกาะห้า
ได้แก่ หญ้าคา และ "ย่านลิเภา" ประเภทสัตว์ เนื่องจากพื้นที่ของอุทยานอยู่บนเกาะขนาดเล็ก
จึงพบแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ หมูป่า กระจง ลิง ค่าง
ละมด กระรอก กระแต ค้างคาว และหนู นก ที่พบนั้นมีทั้งนกประจำถิ่น และนกที่อพยพมาตามฤดูกาล
พวกสัตว์เลื้อยคลานมี เหี้ย ตะกวด ฯ
ในทะเล จะมีแนวปะการังที่งดงาม และจะมีปลาจำนวนมากตามแนวนี้ เช่น ปลาสลิดหิน
ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ ปลากะพง ปลาหมึก กุ้งหอย ฟองน้ำ กัลปังหาก ปะการัง
แส้ทะเล ฯ
เกาะลันตา เป็นศุนย์กลางของชาวเล
ที่เรียกตัวเองว่า "อูรักลาไว้ย" ชาวเลเรียกเกาะนี้ว่า "ลาตั้ก" มีความหายเป็นแนวหาดที่ยาวเหยียด
ตามสภาพที่พวกตนเห็น เพราะเวลาและการใช้ชีวิตของชาวเลนั้น อยู่กับทะเล การไปมาหาสู่ขึ้นกับการแจวเรือ
หรือกรรเชียงเรือไปสู่ที่หมาย
แหล่งท่องเที่ยว
ที่น่าสนใจ ในอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ได้แก่
เกาะรอก
มีเกาะรอกนอก และเกาะรอกใน จุดเด่นคือ ปะการัง จะพบเป็นกลุ่ม ปะการังเขากวาง
ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังผักกาด แหลมธง
เป็นโขดหน้าผามองคล้ายเป็นเกาะเล็ก ๆ หาดทลุ
เป็นหาดทรายที่เกาะรอกนอก มีทรายที่ขาวละเอียด สองด้านของอ่าวเป็นหน้าหินสีดำ
สูงชัน อ่าวม่านไทร
เป็นหาดทรายในเกาะรอกนอก หากเดินลึกเข้าไปในป่าจะพบต้นไทรขนาดใหญ่ ที่มีรากย้อยลงมาประดุจจะเป็นม่าน
อ่าวศาลเจ้า
อยู่ทางเกาะรอกใน มีน้ำซับที่ซึมออกมา ในช่วงฤดูแล้ง มีศาลของชาวประมงที่สร้างไว้สักการะบูชา
เสาหลักเขตสยาม
เกาะรอกอยู่ตอนใต้ของเกาะรอกใน เกาะห้า
หรือเกาะหินห้าลูก
หรือเกาะตุกนลิมา เป็นกลุ่มเกาะห้าเกาะ มีเกาะรูปคล้ายใบเรือ เกาะที่มีน้ำลอดใต้
มีปะการังน้ำตื้น เกาะไหงที่มีชายหาดที่ยาวเหยียด ขาวสะอาด เกาะตะละเบ็ง เป็นเกาะหินปูน
อยู่ตรงข้ามกับเกาะลันตาน้อย ในอ่าวบ้านโล๊ะใหญ่ มีโพรงถ้ำ นกนางแอ่นอาศัยอยู่
เกาะสำคัญที่จะพาไปเที่ยวในวันนี้คือ เกาะลันตาน้อย
และเกาะลันตาใหญ่
ซึ่งกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เจริญเติบโตอย่างเงียบ ๆ มีที่พักที่มีราคาตั้งแต่
๒๐๐ บาท ไปจนถึงชนิดมีราคาคืนละหลายหมื่นบาท นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาเที่ยวกันมาก
ตามห้องอาหารของโรงแรม จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวไทย
และประสบภัยสึนามิ เมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ บ้างในบางส่วน แต่ไม่มากนัก ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความงามของธรรมชาติ
ส่วนเกาะที่เล่ามาแล้ว หากจะไปเที่ยวก็มายังเกาะลันตาใหญ่ ท่าเรือศาลาด่านย่านนี้
จะมีบริการสารพัด ต้องจ้างเหมาเรือไปยังเกาะรอก เกาะไหงได้ หรือจะไปจากหาดปากเม็ง
อ.สิเกา จ.ตรัง ก็จ้างเหมาเรือไปได้ไกลดี รายเอียดของอุทยานสอบถามได้ จากสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
๐๒ ๕๖๑ ๒๙๑๙ - ๒๑
จากชุมพร เดินทางต่อไปยังหลังสวน แวะกินกลางวันที่ร้านอยู่ถนนเขาเงิน ซอย
๕ ร้านพึ่งย้ายมา ผมไปชิมเข้า เขาเลยย้ายร้านจาก ๒ ห้อง กลายเป็นสวนอาหารสวยงาม
มีห้องสุขาสร้างเสียแจ่มแจ๋วไปเลย ร้านนี้นอกจากอาหารจะอร่อย ราคาย่อมเยาแต่ที่เขาดังจนย้ายร้านคือ
ขนมหวาน มีขนมชั้นใช้ดอกอัญชันมาทำสี ขนมเผือกกวน ขนมหม้อแกง และทองหยอด อาหารที่ชิมคือ
แกงส้มปลากะพงผักรวม ใบเหลียงผัดไข่ หลนปูดำ ไข่เจียวใส่ใบเหลียง ส้มตำทะเล
และขนมหวานที่ชาวหลังสวน จะเวียนมาซื้อกันตลอดเวลา
จากหลังสวน จะผ่านอำเภอต่าง ๆ ของชุมพรไปตามลำดับ จนถึงอำเภอละแม เป็นอำเภอสุดท้าย
ทุกอำเภอมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้น พ้นเขตละแมไปแล้ว ก็เข้าสู่อำเภอไชยา หากเลี้ยวซ้ายเข้าไปนิดเดียวทางขวาคือ
พระบรมธาตุไชยา
หากเก็บความหิวเอาไว้ มาจนถึงไชยาให้วิ่งตรงไปถึงตัวอำเภอไชยา แล้ววิ่งต่อไปอีก
๖ กม. จะถึงบ้านพุมเรียง
แหล่งทอผ้าสำคัญ เลยพุมเรียงไปอีก ๒ กม. วิ่งตรงไปอย่าเลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานไปเกาะ
จะมีร้านอาหารที่ปูเอามาทำอาหารจะสด อาหารอร่อยนัก โดยเฉพาะปูผัดผงกะหรี่
ยังไม่เคยเจอร้านไหนฝีมือเทียบได้
จากไชยา มาผ่านสวนโมกข์
ปี ๒๕๔๙ เป็นปี ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านพุทธทาส แผงไข่เค็มไชยานับร้อยแผง ซื้อแผงไหนก็อร่อยพอ
ๆ กัน เลยไชยามาแล้วก็มาถึงพุนพิน ที่มีทางแยกขวาไปยังเขื่อนเชี่ยวหลาน
หรือรัชชประภา
ไปตะกั่วป่า ไปพังงา ไปภูเก็ตได้เลย เลยแยกพุนพินไปอีกถนน ๔๑ ที่กลังวิ่งมาจากสี่แยกปฐมพร
จะตัดกับถนนที่สร้างใหม่เอี่ยม เชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน (อ.อ่าวลึก)
กับฝั่งทะเลอ่าวไทย (อ.กาญจนดิษฐ) เป็นถนนสี่เลนดีเยี่ยมทางหลวงแผ่นดินสาย
๔๔ เส้นทางไป กับมามองแทบจะไม่เห็นกัน และยังมีต้นร่มรื่นอีกด้วย เมื่อสาย
๔๑ ตัดกับสาย ๔๔ หากเลี้ยวซ้ายจะไปนครศรีธรรมราช "เลี้ยวขวา" มาประมาณ ๑๐๐
กม. จะมาตัดกับถนนสาย ๔ หรือเพชรเกษม ที่สามแยกบากัน อ.อ่าวลึก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าเพชรเกษมไปผ่านทางแยกเข้าตัวเมืองกกระบี่
ผ่านอำเภอเหนือคลอง และจะผ่านพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม
ตรงหลัก กม.๗๐.๕๐๐ ซึ่งหากมีเวลาควรแวะชม เพราะอำเภอคลองท่อมโบราณคือเมือง
และกระบี่นั้นมีกำเนิดมาจากเมืองปกาไสย ที่พระยานครศรีธรรมราชให้ปลัดเมืองนำไพร่พลมาตั้งเพนียดเพื่อจับช้าง
และสันนิษฐานว่า จับส่งขายต่างประเทศด้วย ชุมชนจับช้างใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นแขวง
เป็นเมืองและมีการย้ายที่ตั้งจนได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๕ ว่า "กระบี่"
เลยอำเภอคลองท่อมไปแล้ว พอถึง กม.๖๔ (ยิ่งใกล้ อ.ห้วยยอด หลัก กม.ยิ่งลดลง)
จะมีทางแยกขวา ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๒๐๖ ไปอีกประมาณ ๒๗ กม. จะถึงท่าเรือที่จะเอารถลงแพขนานยนต์ข้ามไปเกาะลันตาน้อย
ชื่อท่าเรือบ้านหัวหิน ระหว่างทางจะข้ามคลองที่เชื่อมระหว่างทะเล สะพานนี้คือสะพานที่ข้ามจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่เกาะกลางที่เป็นเกาะหลัก
เกาะหนึ่งของอำเภอเกาะลันตา แต่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว บ้านหัวหินอยู่ท้ายเกาะกลาง
เรือหรือแพข้ามฝากจะมีตั้งแต่เช้าไปจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ ที่ท่าเรือจะเป็นตลาดขายอาหารทะเล
ขายผลไม้ และมีป้อมเก็บค่าเรือ ซึ่งการข้ามเรือไปเที่ยวเกาะลันตานี้จะต้องข้าม
๒ ครั้งคือ จากบ้านหัวหิน ข้ามไปเกาะลันตาน้อยค่ารถคันละ ๕๐ บาท คน ๆ ละ ๑๐
บาท แล้วรถจะต้องไปข้ามจากเกาะลันตาน้อย ไปยังท่าบ้านศาลาด่านเกาะลันตาใหญ่อีกครั้ง
ค่ารถคันละ ๔๐ บาท คนต่างหาก เพื่อความสะดวกควรซื้อบัตรลงเรือที่ท่าบ้านหัวหิน
ซื้อทีเดียว ๒ ท่าเลย เพราะแหล่งท่องเที่ยวที่มีที่พักพร้อมนั้นอยู่ทางเกาะลันตาใหญ่
จะแวะเที่ยวเกาะลันตาน้อยก่อนก็ต้องข้ามไปแน่
ระหว่างข้ามเรือซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ ๑๕ - ๒๐ นาที เรือวิ่งระหว่างช่องแคบเกาะนี้
หากข้ามในตอนเย็นใกล้เวลาพระอาทิตย์ตกจะสวยมาก และมักจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกลงน้ำจริง
ๆ ไม่ใช่ตกลงก้อนเมฆที่ชมเช่นนี้หายาก ไปชมที่แหลมพรหมเทพเกาะภูเก็ตสิบครั้งจะได้เห็นสักครั้ง
เมื่อข้ามมาขึ้นท่าคลองหมากเกาะลันตาน้อยแล้ว วิ่งต่อไปนิดเดียวจะถึงสามแยก
หากจะไปข้ามเรือเลยให้เลี้ยวขวา หากจะเที่ยวก่อนให้เลี้ยวซ้ายแต่ขอแนะนำว่า
ควรเที่ยววันกลับ ผมจะขอเล่าก่อน แต่จะแวะเที่ยววันกลับเช่นกัน ส่วนหากเลี้ยวขวาจะไปท่าเรือไปที่ตั้งอำเภอใหม่
ไปแหลมสน ไปหาด
เลี้ยวซ้ายที่สามแยก ไปตามถนนที่ร่มรื่นของสวนยาง ผ่านบ้านคลองโตนด บ้านทุ่ง
บ้านกลางไปสิ้นสุดที่อ่าวบ้านโล๊ะใหญ่ รวมระยะทางประมาณ ๑๒ กม. ที่สุดทางนี้ทางขวามือจะมีศาลาโปร่งสูง
มีแท่นยกไว้ มีกองปลาเค็มวางขาย ยกป้ายไว้หน้าศาลาว่า "โครงการส่งเสริมอาชีพทำปลาเค็ม
สูตรลันตาบ้านโล๊ะใหญ่ สนับสนุนโดยยูนิเซฟ" แสดงว่าปลาเค็มที่นี่ต้องเด็ดจริงถึงขั้นยูนิเชฟสนับสนุน
และมีกองปลาเค็ม ปลาตัวโต ๆ ตากแดดอยู่ บอกว่าเป็นปลาเสียดที่จับจากอ่าวบ้านโล๊ะใหญ่นี้
ราคาวันที่ผมไป กก.ละ ๑๕๐ บาท ซื้อทั้งตัวเขาสับให้อย่างดี ห่ออย่างดีเยี่ยม
ใส่ถุงมาให้ไม่มีกลิ่นรบกวนในรถเลย หน้าอ่าวบ้านโล๊ะใหญ่ มองเห็นเกาะเล็ก
ๆ คือเกาะตะละเบ็ง และเกาะกำใหญ่ ก่อนลงอ่าวมีบ้านไม้สีฟ้าที่กำลังจะวิจัยเพื่อเป็นความหวังของชาวบ้านคือหากผลวิจัยบอกว่าเลี้ยงหอยเชลล์ได้
พวกเขาก็จะมีอาชีพที่จะสร้างรายได้ให้แก่ลูกหลานอีกอาชีพหนึ่ง
บ้านแต้เหล็ง บ้านตึกหลังเก่าเป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะตะวันตกกับตะวันออก
เป็นบ้านตึกสูง ๓ ชั้น สร้างไว้และเข้าอยู่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ เส้นทางให้ถามที่เราซื้อปลาเค็มให้ดี
ๆ เพราะขาดป้ายนำทาง ย้อนกลับมานิดเดียว ผมจำเสาไฟฟ้าต้นที่ ๑๔๔ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนดินอีก
๓ กม.บ้านสีเหลืองสดใส อยู่ปลายทางริมอ่าวแต้เหล็ง บ้านนี้ต้นตระกูลเป็นชาวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่มาแต่งงานมีลูกมีหลาน
ที่นี่ลูกเขยคนหนึ่งใน ๔ คน ค้าขายจนร่ำรวยทำโป๊ะทำปลาเค็ม ทำเตาเผาถ่านไม้โกงกาง
ต่อเรือสำเภาส่งสินค้าไปขายปีนัง และให้น้องเขยไปจำแบบบ้านที่ปลูกในกรุงเทพ
ฯ มาหลาย ๆ แบบ เอามาผสมผสานกับแบบบ้านท้องถิ่น ปลูกบ้านแต้เหล็งขึ้นมา แต่ป้ายที่ยกไว้หน้าบ้านแบบมุสลิม
ภายในตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบจีน ฝรั่ง ไทย แขก จีน มีครบ
เมื่อข้ามเรือไปเกาะลันตาน้อยแล้ววิ่งไปถึงสามแยก เลี้ยวขวาแล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีรวมแล้วประมาณ
๘ กม. ก็จะถึงท่ารือ หรือแพข้ามไปยังเกาะลันตาใหญ่ ขึ้นที่ท่าศาลาด่าน หากจะไปตลาดเลย
แหล่งกินแหล่งจับจ่ายของอยู่ที่ตลาดศาลาด่าน เป็นตลาดมีอาหารริมน้ำ นั่งกินอาหาร
มองเห็นเรือข้ามฟาก เรือท่องเที่ยว ร้านอาหารที่มาชิมแล้วอร่อยคือร้านริมน้ำ
อีกร้านยังไม่ได้ชิม แต่ท่าทางดี สุดทางเลี้ยวซ้ายร้านอยู่ริมน้ำขวามือ ศาลาด่านเป็นตลาดน่ารักกกระจุ๋มกระจิ๋ม
ฝรั่งเดินจับจ่ายซื้อของกัน หากจะซื้อภาพโป๊สการด์ ก็มาซื้อตามร้านในตลาดนี้
จะลงเรือไปเที่ยวหรือไปเกาะพีพี, เกาะภูเก็ต ก็มาลงเรือที่ท่านี้เช่นกัน วันไปพอขึ้นจากเรือได้ก็เย็นมากแล้ว
เห็นพระอาทิตย์ตกน้ำตอนข้ามมาเกาะลันตาใหญ่ ออกวิ่งต่อไปยังที่พักซึ่งจะต้องวิ่งไปตามถนนคอนกรีตแคบ
ๆ ประมาณ ๑๕ นาที จะถึงสวนสาธารณะหาดพระแอะทางขวามือ ที่พักอยู่ติดสวนสาธารณะ
ซื้อแพคเก็จของเขามาจากงานท่องเที่ยวศูนย์ศิริกิติ์ คนละ ๒,๘๐๐ บาท ที่พัก
๒ คืน อาหาร ๔ มื้อ ที่พักดีมาก อาหารมื้อเย็นดี อาหารเช้าดีมาก ไม่ต้องไปตระเวณกินที่ไหน
รุ่งเช้าออกท่องเที่ยว ออกจากรีสอร์ทเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปอุทยานแห่งชาติ จะไล่หาดต่าง
ๆ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวให้ทราบเอาไว้ด้วย เป็นหาดที่มีที่ท่องเที่ยว และมีที่พักเริ่มจากศาลาด่านมาเลย
แหลมคอกวาง และหาดคลองดาว
เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล มีชายหาดทั้งสองฟากของแหลม ด้านเหนือเรียกว่า หาดคอกวาง
ด้านใต้เรียกหาดคลองดาว อยู่ตนจากย่านศาลาด่าน
หาดพระแอะ
คือ หาดที่ตั้งของรีสอร์ท ยาวประมาณ ๒ กม. สวยไม่เท่าหาดคลองดาว
หาดคลองโขง
เป็นถนนดิน เดินข้ามคลองโขงไปก่อน จึงจะถึงชายหาดมีกลุ่มเรือประมง
หาดคลองนิน
วิ่งมาจนถึงสามแยก ตรงบริเวณนี้คือ ทางลงหาดคลองนิน หากเลี้ยวขวาจะไปยังอุทยานแห่งชาติ
ย่านสามแยกคลองนินนี้เป็นย่านอาหาร ที่พัก ราคาชาวบ้าน ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ ข้าวแกง
หาดคลองนินทรายขาวเนียนสวย มีต้นเตยทะเลขึ้นเรียงราย เลยต่อไปจะหมดถนนคอนกรีต
ต้องไปตามถนนดินไปอีกหลาย กม. จึงจะถึงที่ทำการอุทยานแหลมโตนด จะผ่านอ่าวไม้ไผ่ที่สวยมาก
มีบ้านพักรถจะมาลำบาก รถเก๋งไม่ควรเสี่ยงมาอาจจะติดอก ติดหล่มทรายได้แต่ก็มีที่พักหลายแห่ง
ราคาไม่แพง แต่ย่านใกล้ ๆ เช่นกันก็มีที่พักราคาคืนละเป็นหมื่นอยู่ด้วย เสียดายที่ผมไปไม่ถึงแหลมโตนด
ปลายสุดของเกาะด้านใต้ เพราะรถตู้ติดอก ติดหล่มทรายกว่าจะเอาขึ้นได้ ก็ร้อนถึงเจ้าหน้าที่อุทยานมาช่วยขับ
ช่วยขย่มและไม่ได้ติดรถผมคันเดียว รถเก๋งหลายคันลงได้ ขึ้นไม่ได้ ถนนเหลืออีกไม่มากที่ยังไม่ได้ราดยาง
และควรทำต่อจากแหลมโตนดไปจนจดกับบ้านลังกาอู้ อีกด้านของเกาะ จะได้มีถนนรถวิ่งได้รอบเกาะ
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานที่ช่วยผมให้ได้กลับมากินข้าวกลางวัน ที่ร้านริมน้ำ
ตลาดศาลาด่าน ไม่ต้องแย่งข้าวชาวอุทยานกิน รถไปสะดวกแค่หาดบากันเตียง
จากนั้น ก็เสี่ยงไปตามถนนดิน
กลับมาสามแยกคลองนิน หากเราเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังอ่าวลังกาอู้
หากคิดระยะทางจากตลาดศาลาด่าน จนถึงบ้านลังกาอู้ ระยะทาง ๒๕ กม. ก่อนถึงจะผ่านร้านอาหาร
แล้วถึงทางแยกซ้ายเข้าที่ตั้งอำเภอเกาะลันตาเก่า เป็นย่านชุมชนเก่าแก่กว่าร้อยปี
มีบ้านที่เรียกว่า บ้านยาว หรือบ้านยวน ในชุมชนที่เรียกอย่างนี้เพราะเขามีลูก
มีหลานไม่ย้ายไปปลูกใหม่ ต่อยาวเรื่อยไปมีท่าน้ำลงเรือไปทะเลได้ หน้าอำเภอสมเด็จพระเทพ
ฯ มาปลูกต้นตะเคียนทอง ไว้ตั้งแต่ ๙ ม.ค.๒๕๓๕ มีสวนสาธารณะ และศาลสมเด็จในกรม
ฯ แต่เป็นศาลเล็ก ๆ มีร้านอาหารร้านครัวอันตาใหญ่
จากอำเภอเก่า ย้อนกลับมาแล้วเลี้ยวซ้ายไปหน่อย ก็จะถึงบ้านลังกาอู้ เป็นถิ่นของชาวเล
ที่ถูกสึนามิและทางการปลูกบ้านให้ ชาวประมงพื้นบ้านเรียกบ้านเรียกตัวเองว่า
อูรักลาโว้ย (ลังกาอู้) เป็นอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชน เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชน
ชายฝั่งอันดามันเร่งซ่อมสร้างเรือกว่า ๑,๒๐๐ ลำ และที่น่าสงสารเขาเอาเรือเล็กออกวางไซทะเลลึก
มักจะถูกเรือใหญ่ของพวกมีอิทธิพลนำเรือใหญ่ ที่มีเรดาร์มาตรวจจับไซของพวกเขา
แล้วขโมยเอาสัตว์น้ำในไซไปหมด ใครจะช่วยเขาได้ ย่านตะวันออกของเกาะที่ตั้งอำเภอเก่านี้
รวมถึงอ่าวลังกาอู้ ไปเกาะลันตาต้องไปเที่ยวให้ได้
กลับจากเกาะลันตาใหญ่ หลังจากนอนอยู่ ๒ คืน สนุกสนานมาก รีสอร์ทบริการดีเยี่ยมยังติดใจ
จะกลับไปใหม่ ขับรถไปเองไม่เช่ารถตู้ไปจะได้เที่ยวกระบี่ มากกว่านี้
วันกลับลูกศิษย์ของชาวคณะที่ไปด้วยกัน พบอาจารย์ตั้งแต่วันมาโทรนัดกันบอกว่า
วันกลับขอเลี้ยงอาหารอาจารย์กับคณะที่กระบี่ ๑ มื้อ เมื่อกลับมาเที่ยวลังกาน้อยแล้ว
ก็ข้ามกลับมาแล้วตรงไปยังตัวเมืองกระบี่เลย เข้าเมืองถึงสี่แยกเลี้ยวขวา ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายคือ
ถนนมหาราช ศูนย์ของฝากเมืองกระบี่ ถนนมหาราช มุ่งหน้าไปอ่าวพระนาง โดยไปตามถนนที่ป้ายบอกว่า
ไปหาดนพรัตน์ธารา
ถามทางเขาง่ายกว่าถึงอ่าวพระนางแล้ว จะเห็นฝรั่งเดินมากกว่าคนไทย เหมือนเดินป่าตองก่อนสึนามิ
ร้านค้าเต็มไปสองฟาก กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก
เข้าย่านอ่าวพระนางแล้ว ร้านอยู่ทางซ้ายมือริมอ่าว วิวสวยมากเป็นร้านใหญ่
ศาลาโปร่ง ลมพัดเย็น ลักษณะสวนอาหาร
กุ้งมะขาม กุ้งตัวใหญ่ทอด สามรส เปรี้ยวนำ หวานตาม "มัน" ด้วยมะม่วงหิมพานต์
ปูดำผัดพริกไทยดำ ปูทะเลไข่ตัวโต ผัดพริกไทยดำ
หอยชักตีนลวก หากินยาก ลวกแล้วตีนโผล่มีเหมือนเล็บสีดำ ๆ ตรงนี้อย่ากิน จะทำให้ท้องเสีย
ค่อย ๆ ใช้ไม้จิ้มฟันแคะ ตัวหอยออกมาแล้วดึงตรงตีนมาจิ้มน้ำส้ม อร่อยร้าย
ปลาเกยตื้น ใช้ปลาเก๋าตัวโต ราดน้ำเหมือนทำปลาสามรส มีกุ้ง หมึก ผัดราดมาบนตัวปลา
แกงเหลืองปลากะพง กินอาหารใต้พิสูตรกันที่แกงเหลือง แกงเหลืองอร่อย อาหารอื่นอร่อยหมด
แกงเหลืองที่ร้านวังทรายซดเด็ดนัก ไม่เผ็ดจัด ใส่เม็งมะพร้าว
ย้ำไว้อีกที ระยะทางจากตัวเมืองกระบี่ ไปยังอ่าวพระนาง ระยะทาง ๑๔ กม. เข้าบริเวณอ่าวแล้ว
จะผ่านกระบี่รีสอร์ท ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวรถเข้าไปจอดในลานหน้าห้องอาหารได้
อิ่มแล้ว ลงหาดพระนาง หาดสวยมากในอ่าวลงไปจากหน้าร้านนั่นแหละ จากอ่าวพระนางวิ่งกลับมาแวะสวน
ที่ อ.ทุ่งตะโก ชุมพร กม.๕๔ เลี้ยวซ้ายเข้าไปสัก ๒๐๐ เมตร ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
มีส้มโชกุน ของฝากจากชุมพร สวนดอกไม้ ผมไปสวนตั้งแต่กว่ายี่สิบปีมาแล้ วเพื่อไปดูการเกษตรที่ริเริ่มการให้น้ำด้วย
วิธีต่อสายยางไปตามโคนต้นไม้ และปล่อยน้ำมาเป็นระยะ ๆ
...............................................
|