กองแลน
- โป่งเดือด
ผมเดินทางไปแม่ฮ่องสอนคราวนี้ มีความมุ่งหมายหลักจะไปชมทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อุคอ
อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะบานเต็มท้องทุ่งบนเนินเขาในพื้นที่มากกว่า ๑,๕๐๐
ไร่ (ไม่นับสองข้างทางที่รถจะวิ่งผ่านมา) บัวตองจะบานเต็มท้องทุ่งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน
ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคมเท่านั้น และผมได้แนะนำไว้แล้วว่ามาชมทุ่งดอกบัวตอง
วางแผนกันนาน ๆ ไม่เช่นนั้นจะหาที่พักไม่ได้ ต้องจองโรงแรมแต่เนิ่น ๆ และไม่ควรมาตรงเทศกาลลอยกระทง
เพราะความงามของธรรมชาติที่ยากจะหาที่ใดเหมือนจะหมดไปด้วยฝูงชน หรือเสน่ห์เมืองปายที่สงบเงียบ
จนฝรั่งแบกเป้มาเดินกันเต็ม บางท่านไปเปรียบเทียบว่าปายคือ ถนนข้าวสาร ๒ จะเปรียบเทียบกันไม่ได้
เพราะปายคือความสงบ ความงามของธรรมชาติที่ยากจะหาที่ใดเหมือน แต่เมื่อไปตรงกับเทศกาลเช่นที่ผมไปคราวนี้
ปายจึงกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยรถตู้นับร้อยคันที่พากันวิ่งอยู่ในถนนแคบ
ๆ ถ้าหากขับรถเองก็คงแทบจะไม่ต้องชมอะไรกัน จึงขอแนะนำอีกครั้ง ไปปายไปชมทุ่งบัวตอง
ชมความงามของเมืองสามหมอกเลี่ยงอย่าไปให้ตรงกับเทศกาล ผมพาเที่ยวในตัวอำเภอปายมาแล้ว
และตอนนี้การท่องเที่ยวของคณะผมกำลังเดินทางกลับ ตอนไปเดินทางไปจากเชียงใหม่ผ่านอำเภอหางดง
สันป่าตอง จอมทอง ฮอด เข้าสู่ อ.แม่สะเรียง ของ จ.แม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย ขุนยวม
อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ตอนกลับจะไม่ซ้ำทางเดิมโดยจะกลับทาง อ.ปางมะผ้า ได้เที่ยวถ้ำลอด
ผ่าน อ.ปาย และคงมาตามถนนสาย ๑๐๙๕ เพื่อมายังปากทางที่แม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
กลับมานอนค้างคืนที่เชียงใหม่อีกคืนจึงกลับบ้าน ใช้เวลาเดินทางครั้งนี้ ๘
วัน ๗ คืน สนุกจริง ๆ
กองแลน Pai Canyon
อยู่ในเขตของอำเภอปาย ออกเดินทางจากปายตามถนน ๑๐๙๕ มุ่งหน้ามาทางแม่มาลัย
ยิ่งไปหลัก กม.จะลดลงเรื่อย ๆ พอถึง กม.๘๙ - ๙๐ ก็เลี้ยวขวาตามป้ายที่เล็กนิดเดียว
เข้าไปสัก ๒๐๐ เมตร จะมีลานให้จอดรถได้ จากจุดนี้ (เสียดายเห็นความมักง่ายของคนทิ้งขวด
ทิ้งขยะ กองเอาไว้เต็ม เมื่อก่อนไม่เคยมี) ทางจะแยกออกเป็น ๒ แพร่ง ไม่มีป้ายบอกว่าจะให้เดินไปทางไหน
ต้องเดาเอาหรือไปก็ได้ทั้งสองทาง แต่สวยผิดกัน ขอแนะนะว่าให้เดินไปทางแยกขวา
เดินไปตามทางขึ้นเขาแคบ ๆ ไปประมาณ ๔๐๐ เมตร เดินจนพ้นแนวป่า แล้วจึงขึ้นไปอยู่บนสันเขา
ลักษณะของกองแลนนั้น ผมว่ามีเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นหุบเขา เหมือนแคนย่อน แต่ไม่ชันเท่า
มีส่วนคล้ายแพะเมืองผีที่แพร่ คล้ายเสาดินนาน้อยที่ อช.ศรีน่าน คล้ายละลุ
ที่สระแก้ว ซึ่งทั้ง ๓ จุดที่กล่าวมาแล้วพุ่งขึ้นไปในอากาศ หรือคล้ายโป่งยุบ
ที่ อ.สวนผึ้ง ราชบุรี ที่ยุบตัวลงไปในพื้นดิน แต่ที่กองแลนเป็นหุบเขาที่ลึกลงไป
ไหล่เขาสวยด้วยต้นสน ๒ - ๓ ใบ รายการนี้ต้องลงทุนเดินขึ้นเขาเท่านั้น และระวังลื่นจากกรวด
หินด้วย
สะพานประวัติศาสตร์
เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟที่เรียกกันว่า ทางรถไฟสายมรณะ
ม่งเข้าสู่พม่าที่กาญจนบุรี แรงงานส่วนใหญ่คือเชลยศึก และทางเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน
ก็สร้างถนนจากแม่มาลัย ผ่านแม่ฮ่องสอนไปยังขุนยวมเพื่อเข้าตีอินเดีย โดยผ่านทางพม่า
แต่การก่อสร้างกว่าจะแล้วเสร็จญี่ปุ่นก็เริ่มทำท่าว่าจะแพ้สงคราม จึงถอยทัพกลับมาตามเส้นทางนี้
เส้นหลักการรุกจึงกลายเป็นทางถอยไป และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ชมดูได้จากพิพิธภัณฑ์ที่
อ.ขุนยวม เมื่อชมกองแลนแล้ว เดินหน้าต่อไปจนข้ามสะพานข้าแม่น้ำปาย สะพานประวัติศาสตร์
ซึ่งเลิกใช้แล้วจะสร้างไว้ขนานกับสะพานในปัจจุบัน ลักษณะเหมือนสะพานรถไฟ ปิดไม่ให้รถสัญจร
แต่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมและถ่ายภาพกัน
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
เดินหน้าต่อไปจนถึงประมาณ กม. ๖๕ จะมีทางแยกซ้ายบอกว่าไป อช.ห้วยน้ำดัง ไปอีกประมาณ
๖.๕ กม.ก็จะถึง ผมไปคราวนี้ไม่ได้พักค้างคืนที่บ้านพักของ อช.ซึ่งหากประสงค์จะค้างคืน
ติดต่อ ๐๕๓ ๔๗๑ ๖๖๙ ผมไปพักครั้งแรกบ้านพักที่ดีเยี่ยมพึ่งสร้างเสร็จ มีอยู่
๕ หลัง แต่ละหลังมี ๒ ห้องนอน ไปห้วยน้ำดังหากไม่เลยไปมาก่อน อย่าเพียงแวะเข้าไปชม
เพราะความงามสุดยอดนั้นจะอยู่ตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า กับทะเลหมอกในยามเช้า
หากไม่พักบ้านพักก็มีลานกว้างขวางพอที่จะกางเต้นท์ได้นับร้อยหลัง พร้อมมีห้องน้ำอำนวยความสะดวก
มีห้องอาหารของ อช. ที่พออาศัยได้ ไม่อร่อยเลิศแต่ก็เยี่ยมสำหรับบรรยากาศแบบนี้
อากาศจะหนาวเย็น การชมทะเลหมอกนั้นให้ไปยังจุดชมวิวดอยกิ่วลม
ที่จะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ยามเช้าจะมองเห็นยอดเขาท่ามกลางทะเลหมอก เห็นดอยหลวงของ
อ.เชียงดาวเด่นอยู่ท่ามกลางทะเลหมอก แสงอาทิตย์จะค่อย ๆ ทะลุผ่านทะเลหมอกสีขาวลงมาแล้ว
จะเปลี่ยนสีทะเลหมอกเป็นสีทอง จับท้องฟ้างามจริง ๆ
ดอยช้าง
คือจุดชมวิวอีกจุดหนึ่ง ดอยช้างเป็นดอยที่สูงที่สุดของอุทยาน มีป่าไม้ที่สมบูรณ์
เป็นที่นักดูนกอยากจะไป เพราะมีนกแปลก ๆ หลายชนิดเช่น นกเดินดง นกจับแมลง
นกเขน นกปรอด เป็นต้น ดอยช้างห่างจากดอยกิ่วลมประมาณ ๒๐ กม.รถไปได้
ห้วยน้ำรูและดอยสามหมื่น
ผมยังไม่เคยไปเพราะเมื่อคราวไปพักที่ อช.นั้น รถเก๋งไปไม่ได้ ตอนนี้ไม่ทราบว่าไปได้หรือยัง
ระยะทางประมาณ ๓๐ กม.เจ้าหน้าที่อธิบายให้ทราบว่า ห้วยน้ำรูมีลักษณะเป็นตาน้ำเล็ก
ๆ ที่มีน้ำไหลออกมา แล้วไหลไปสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่า เป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่แตงที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง
ส่วนดอยสามหมื่นเป็นที่ตั้งของหน่วยจัดการต้นน้ำ มีจุดชมทิวทัศน์อยู่บนยอดดอย
ส่วนชื่อที่มาว่าดอยสามหมื่นนั้น เขาบอกว่าคนโบราณนับยอดเขา นับไปนับมาได้กว่าสามหมื่นยอด
การเข้าไปเที่ยวในอุทยาน ฯ เมื่อกลับออกมาเหมือนเป็นการโบกมืออำลาแม่ฮ่องสอน
จบการท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงแค่จุดนี้ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังครอบคลุมพื้นที่
อ.ปาย ของ จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่แตง และ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ แต่หากไปจากเชียงใหม่ก็คือเข้าประตูสู่แม่ฮ่องสอน
โป่งเดือด
เรียกให้เต็มต้องเรียกว่า โป่งเดือดป่าแป๋
ชมน้ำพุร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากใต้พิภพ ออกจากห้วยน้ำดังวิ่งต่อไปจนถึงหลัก กม.ประมาณ
๔๒ จะมีทางแยกซ้าย มีป้ายบอกว่าไปโป่งเดือด ไปอีกประมาณ ๖.๕ กม.ก็จะถึง ซึ่งโป่งเดือดวันนี้ต่างกับวันที่ผมเคยไปมากมาย
ถนนลาดยางหมดแล้ว มีลานจอดรถหลายจุด จัดระเบียบเอาไว้อย่างสวยงาม หากประสงค์จะอาบน้ำแร่ด้วย
ให้ลงไปที่ลานจอดรถ ลานล่างที่สุด ลานนี้จะอยู่ติดกับธารน้ำร้อนที่ไหลลงมาจากโป่งเดือด
เดินลงไปยังห้องอาบน้ำ ที่ต้องเสียค่าบริการมีหลายราคา อาบในห้องคนละ ๕๐ บาท
อาบในห้องรวมคนละ ๒๐ บาท ห้องอาบแยกชาย - หญิง มีผ้าเช็ดตัวอย่างดีบริการให้ด้วย
สถานที่งดงาม ธารน้ำ ร่มไม้ ร่มรื่น
ขึ้นมาอีกลานหนึ่ง ซึ่งอยู่สูงขึ้นมาอีกชั้น ทีนี้ไปชมโป่งเดือดกันได้ละ จอดรถที่ลานแห่งนี้
แล้วเดินขึ้นไปตามสะพานไม้ จะผ่านดง "ขนุนดิน" ลูกโตขนาดผลส้มสีแดง มีหนามแบบลูกขนุน
ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แต่ไม่ได้ถามว่ามีทั้งปีหรือมีเฉพาะตอนปลายฝน ต้นหนาว
เดินไปตามสะพานไม้ ประมาณ ๔๐๐ เมตร
โป่งเดือดหรือโป่งน้ำร้อน ใน จ.เชียงใหม่มีหลายแห่งเช่นที่สันกำแพง ที่ อ.ฝาง
และป่าแป๋เกิดขึ้นจากบริเวณใต้ดินที่เป็นหินแกรนิต เมื่อหินจุดนี้ร้อนจัดทำให้น้ำเดือด
ไอน้ำพุ่งขึ้นมา อุณหภูมิที่ผิวดินประมารณ ๙๕ องศา ฯ ส่วนใต้ดินอุณหภูมิจะสูงถึง
๒๐๐ องศา ฯ โป่งเดือดมีชื่อว่า น้ำพุร้อนไกเซอร์
เป็นน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิ และแรงดันสูงมาก โดยจะพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับผิวดินตลอดเวลา
ที่ป่าแป๋แห่งนี้จะพุ่งสูงในบางเวลาถึงประมาณ ๕ เมตร แต่จะเดือดคลั่ก ๆ ตลอดเวลา
เมื่อเดินลงมาตามสะพานไม้ประมาณ ๔๐๐ เมตร แล้วก็จะถึงจุดชมโป่งเดือด ซึ่งทำที่ชมไว้ให้อย่างดี
มีราวกั้นไม่ให้เดินลงไป เพราะจะเป็นอันตรายจากน้ำที่ร้อนจัด ไอน้ำปกคลุมไปทั่วเรียกว่า
ไปฤดูหนาวก็ร้อนไปเลย การอาบน้ำที่โป่งเดือดนี้ เป็นการอาบเพื่อสุขภาพเพราะเป็นน้ำแร่
เมื่อชมจนอิ่มตา อิ่มใจแล้วก็เดินกลับมา เวลานี้ที่โป่งเดือดมีบริการบ้านพักอย่างดี
สร้างสวยงาม เป็นกลุ่มยังกับหมู่บ้าน ผมยังไม่มีโอกาสได้มาพัก เพราะพึ่งสร้าง
เมื่อไปครั้งที่แล้วยังไม่ได้สร้าง อาฆาตเอาไว้ก่อน จะกลับมาพักสูดอากาศบริสุทธิ์ของขุนเขา
มีร้านอาหาร ที่สะอาดน่าชิม ดูเหมือนจะแขวนป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ เอาไว้ด้วยเสียดายที่ผมไปในวันตรงกับเทศกาล
ร้านอาหารคนจึงแน่นมาก มีทัวร์จากระยองมาลงทำให้คนเต็ม และหากสั่งอาหารตามสั่งที่รายการน่ากินหลายรายการ
แม่สาวบริการ (ท่าทางระดับเจ้าของร้าน) บอกว่าคงจะต้องรอนาน เลยต้องสั่งอาหารจานเดียว
แต่ตามใจคนกิน สั่งข้าวพัดกระเพรา ข้าวผัดพริกเครื่องแกง ข้าวผัดพริกสด ทุกจานมีไข่ดาวโป๊ะมา
๑ - ๒ ฟอง มีถ้วยน้ำปลาพริก สั่งแกงจืดมาซดให้คล่องคอ ปรากฎว่าอาหารจานเดียวของเขายังอร่อยชวนชิม
เสียดายไม่มีโอกาสชิมอาหารตามสั่ง ขืนรอจะเป็นลมก่อน
จบรายการที่โป่งเดือดแล้ว ก็วิ่งรถมาอีกประมาณ ๔๐ กม. ก็มาออกถนนสาย ๑๐๗ แม่แตง
- เชียงใหม่ และกลับเข้าไปพักในเมืองเชียงใหม่อีก ๑ คืน อาหารเย็นเปลี่ยนจากตามสั่ง
นั่งก๊งมาเป็นข้าวต้ม ร้านนี้อยู่หน้าวัดสวนดอก ไปทางจะไปตลาดต้นพยอม โดยผ่านโรงพยาบาลมหาราชไป
คนแน่นเพราะอร่อย ราคาย่อมเยา จึงสั่งกันไม่อั้น ที่ขาดไม่ได้คือจับฉ่าย และไส้หมูพะโล้
อิ่มแล้วกลับมายังไนท์ พลาซ่า ซึ่งอยู่ใกล้โรงแรมที่พัก เดินให้เสียสตางค์เล่น
ตอนเช้าก่อนอำลาเชียงใหม่ ไปแวะตลาดวโรรสให้จับจ่ายของกิน ของฝาก เช่นไส้อั่ว
แหนมป้าย่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง หมูยอ หมูทอด ไก่ทอด แคบหมู
จบรายการจ่าย รอบสุดท้าย กลับมากินอาหารกลางวันที่กำแพงเพชร ร้านบะหมี่ชากังราว
เคยพาไปชิมมาแล้ว ทบทวนร้านไว้อีกที ลงจากสะพานข้ามแม่น้ำ กลับรถมาวิ่งเลียบสะพานชนแม่น้ำเลี้ยวซ้าย
ไปเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงแรมนวรัตน์แล้วเลี้ยวซ้าย ร้านบะหมี่ชากังราวจะอยู่ทางขวามือ
สั่งบะหมี่ หมูสะเต๊ะ ปิดท้ายเฉาก๊วยชากังราว
...............................................................
|