รอยฝ่าพระบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์
ชื่อเรื่องของผมวันนี้ยาวเหยียด เพราะมีความจำเป็นต้องการให้เห็นเด่นชัดว่ามี
พระพุทธบาทบนเขาวงพระจันทร์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักเพราะไปรู้จักแต่ประวัติของเขาวงพระจันทร์ในเรื่องยักษ์
คือท้าวกกขนาก ผมจึงอยากให้ท่านได้มีโอกาสทดลองพละกำลังของตนเองด้วยการไปขึ้นเขาวงพระจันทร์
หรือเดิมเรียกว่าเขานางประจันทร์ดูสักครั้ง เพราะนี่ก็ใกล้เทศกาลไหว้รอยฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ที่เขาวงพระจันทร์กันแล้ว
ซึ่งจะมีการไหว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
วัดเขาวงพระจันทร์นี้หากไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ผ่านพุแค ที่เดี๋ยวนี้ตรงสวนพฤกษศาสตร์สระบุรี
ประมาณกิโลเมตร ๑๒๒ กิโลเมตร นั้นสวยนัก สวยทั้งสองฟากเลยทีเดียว ทางซ้ายเวลาไปตรงที่ทำการเขาก็จะตกแต่งสวนไม้ดอก
ไม้ประดับเสียสวยงาม ทำให้เกิดวิวที่น่าลงไปถ่ายภาพ ส่วนทางฝั่งขวาคือสวนพฤกษศาสตร์
และแปลงเพาะพันธุ์ไม้ ไปขอเพื่อไปปลูกได้ สวนทางด้านขวาก็เป็นสถานที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี
เมื่อเลยสวนพฤกษศาสตร์พุแคไปแล้วก็ไปผ่าน หน้าพระลาน ระวังรถบรรทุกหินที่วิ่งข้างหน้าเรา
เขามีอภิสิทธิ์พิเศษไม่ต้องปิดท้ายวิ่งก็ได้ เวลาเขาเลี้ยวกลับรถเขาต้องตีวงและเลี้ยวกันเร็ว
รถตามหลังเขาต้องระวัง อย่าเข้าไปใกล้ ๆ เป็นอันขาด หินจะตกใส่อันตรายมาก
ผมถือโอกาสเตือนมาเพราะ โดนเข้ากับตัวเองเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง ใครไปพระพุทธบาทสระบุรี
ไปลพบุรี ตอนนี้กำลังฤดูดอกทานตะวันบานแล้ว ลพบุรีพฤศจิกายนไปจนถึงต้นกุมภาพันธ์
ส่วนอำเภอวังม่วง สระบุรีตั้งแต่พฤศจิกายน ไปจนถึงเมษายน ที่สระบุรีมีนานกว่าลพบุรี
เพราะเขาควบคุมการปลูกและคุมปริมาณออกสู่ตลาดด้วย และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสไปชมทุ่งทานตะวันเป็นระยะเวลานาน แต่การชมทุ่งทานตะวันของสองวิธีการนี้ผมว่าไม่เหมือนกัน
เพราะลพบุรีนั้นปลูกมากนับแสนไร่ และดูเป็นธรรมชาติมากกว่าเพราะกว้าง ยาวลึกสุดลูกหูลูกตาไปเลยทีเดียว
แต่สระบุรีแม้จะควบคุมหรือเรียกว่าเฉลี่ยพื้นที่ปลูกให้มีไปทั่ว ๆ พื้นที่
ก็เป็นไร่ที่ไม่เล็กนัก แต่ดูแล้วไม่กว้างใหญ่เป็นทุ่งมหึมาเหมือนที่ปลูกในเขตอำเภอเมืองลพบุรี
และอำเภอพัฒนานิคม
ผ่านพุแค ผ่านหน้าพระลาน
ไปผ่านพระพุทธบาทสระบุรี
ก็จะถึงวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ลพบุรีให้เลี้ยวขวา
(อ้อมวงเวียน)ไปทางโคกสำโรง ผ่านสี่แยกเอราวัณที่เลี้ยวขวาไป
๕๐๐ เมตร ก็มีร้านอาหารใต้ แก้วเจ้าจอม หรือเลยไปอีกก็มีข้าวมันไก่ต้นตำรับ
วิ่งต่อไปก็จะไปผ่านกองพลบิน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ แล้วหักซ้ายไปตามถนนซึ่งเดี๋ยวนี้ตรงทางเข้าศูนย์การทหารปืนใหญ่ที่เรียกว่า
"เสาธง" นั้นกลายเป็นถนนขนาด
๖ เลนไปแล้ว แต่ยังสร้างได้ไม่ไกลนัก เลยเสาธงไปตรงหลักกิโลเมตร ๑๖๕ สวนศรัณพันธุ์ไม้ที่ผมเคยเล่าให้ฟัง
มีพันธุ์ไม้แท้ ๆ จำหน่ายเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้อยหน่า พุทราจัมโบ้ ฯ
แต่พืชหลักที่ผมเชียร์คือขนุนนามพระราชทาน "ไพศาลทักษิณ" แท้แน่นอนยังคงจำหน่าย
พันธุ์ไม้ที่สวนนี้ของแท้ ราคาถูกเพราะฝีมือขยายพันธุ์ของแม่บ้านทหารปืนใหญ่ช่วยกัน
และที่หน้าสวนตอนนี้เขาตั้ง "เพิง" ขายก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นหม้อดิน "๑๐ บาท"
อร่อยมาก ราคาถูกมาก ขนมจีนน้ำเงี้ยว ฝีมือเชียงใหม่แท้ เพราะคนทำขายชาวเชียงใหม่มาอยู่ลพบุรี
เหมือนร้านแก้วเจ้าจอม คนนครศรีธรรมราชแท้มาตั้งรกรากที่ลพบุรี แล้วจะเถียงได้อย่างไรว่าไม่ใช่อาหารใต้หรือขนมจีนน้ำเงี้ยวเชียงใหม่
ผมยังแนะเขาว่าทำข้าวซอยขายเสียเลย แกงฮังเลก็ดี ของอร่อยตรงเพิงนี้คือ น้ำผลไม้สดที่ปลอดสารพิษทำกันวันต่อวัน
ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ขนมจีนน้ำเงี้ยว ราดหน้าหมูหมัก อร่อย ราคาถูกมาก ปริมาณพออิ่ม
ใครเจอหมูตุ๋นเข้าไป ๒ ชาม ก็หนักกะเพาะแล้ว
ผ่านศรัณพันธุ์ไม้ไปแล้ว ก็จะมาผ่านทางแยกขวาเข้าไปยังวัดสิริจันทรนิมิต
ซึ่งเป็นพระอารามหลวง บอกอย่างนี้คนไม่ค่อยรู้จัก ต้องบอกว่าวัดหลวงพ่อเขาพระงาม
อย่างนี้ร้องอ๋อกันทันที หลวงพ่อเขาพระงามหรือ "พระพุทธปฏิมาคมัธยมพุทธกาล"
สร้างอยู่บนไหล่เขาหลังวัด แต่นำรถขึ้นไปได้ถึงหน้าหลวงพ่อ ชาวบ้านเรียกว่า
"หลวงพ่อใหญ่"
สร้างเมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๕๔ หน้าตักกว้าง ๑๑ วา ๑ ศอก สูงจากหน้าตักถึงเกศ ๑๘
วา ผมกราบไหว้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งเป็นปีที่บิดาย้ายไปรับราชการอยู่ที่กองบินน้อยที่
๔ โคกกระเทียม ลพบุรี และที่วัดมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อใหญ่ด้วย คือพระสมเด็จหลวงพ่อพระงาม
รุ่นพิเศษ มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ และเหรียญหลวงพ่อพระงาม รุ่นสร้างศาลาการเปรียญ
สนในโทรไปที่วัด ๐๓๖ ๔๘๖๒๐๑ ประวัติโดยย่อของวัดนี้ เป็นวัดโบราณที่สร้างมานานแล้ว
ต่อมากลายเป็นวัดร้างเรียกกันว่า "วัดเขาบ่งาม" หรือ วัดเขาบัวงาม จนปี พ.ศ.๒๔๕๕
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(สิริจนโท
จันทร์)จากวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ ได้มาบูรณะวัดเขาบ่งาม
และสร้างพระพุทธรูปพ่อใหญ่ เรียกนามใหม่ว่า
วัดเขาพระงาม
และเปลี่ยนเป็นวัดสิริจันทรนิมิตวรวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ นามนี้เป็นนามพระราชทานจากรัชกาลที่
๖ ที่เสด็จมาประกอบพิธีผูกพัทธสีมาของวัดนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในนามวัดเขาพระงาม
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๖๖ ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารนับตั้งแต่วันที่
๙ มกราคม ๒๔๙๙ เมื่อผ่านทางเข้าวัดผมจึงถือโอกาสแนะนำวัดเก่าแก่นี้ไว้ด้วย
ผ่านทางเข้าวัดเขาพระงามไปแล้วก็จะถึงทางแยกขวาไปยังอำเภอโคกสำโรง วิ่งไปหน่อยเดียวประมาณ
หลักกิโลเมตร ๑๗๙.๒ จะเห็นประตูวัดเขาวงพระจันทร์
เลี้ยวขวาเข้าประตูไปอีก ๕ กิโลเมตร จะถึงบริเวณวัดเขาวงพระจันทร์ที่อยู่เชิงเขา
และเมื่อเดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาสไปแล้วก็จะถึงทางขึ้นยังยอดเขาวงพระจันทร์ที่ประดิษฐาน
รอยฝ่าพระบาท ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันมาดังนี้
ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาวงพระจันทร์ ผมเรียกท่านว่า หลวงพ่อฟัก พระครูสมถวิกรม
อายุท่าน ๘๕ ปีแล้ว (๒๕๔๕) เป็นเกจิอาจารย์อีกองค์หนึ่งของลพบุรี ซึ่งเวลานี้ผมเข้าใจว่ามีหลวงพ่อถม
วัดเชิงท่าในอำเภอเมือง หลวงพ่อฟัก วัดเขาวงพระจันทร์ หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน
อำเภอบ้านหมี่ ผมว่าลพบุรีเหลือเกจิอาจารย์อยู่แค่นั้น นอกนั้นท่านไปสวรรค์หมดแล้ว
ท่านเล่าไว้ว่า
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ มีพระรูปหนึ่งท่านมาขึ้นเขาและมีลูกศิษย์ลูกหาติดตามมาด้วย
หลวงพ่อก็ติดตามพระองค์นั้นขึ้นไปบนยอดเขาวงพระจันทร์ด้วย และผู้ติดตามขึ้นไปพากันไปกราบไหว้พระองค์นั้น
จนประมาณสี่ทุ่มลูกศิษย์ของท่านก็ขอให้กลับกันได้แล้วท่านจะได้ทำกิจ แต่พระรูปนั้นกลับบอกให้หลวงพ่อฟักอยู่ก่อนจะเล่าอะไรให้ฟัง
พระรูปนั้นท่านก็เริ่มเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า "เขานางพระจันทร์"
(ชื่อเดิม) นี่นะสูง ยากที่คนธรรมดาจะขึ้นถึงได้ (เมื่อผมยังหนุ่ม ยศร้อยตรีเป็นครูแผนที่ทหารปืนใหญ่เดินขึ้นเขาลูกนี้ได้
ตอนนั้นยังไม่มีบันไดถาวรอย่างปัจจุบันนี้ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อ
๒ - ๓ ปีมานี้ กลับไปขึ้นใหม่มีบันไดราวเกาะอย่างดี ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง จึงจะขึ้นถึง)
หลวงพ่อเล่าต่อว่า จะขึ้นเขาได้ต้องเป็นคนที่มีความมานะอดทนจริง ๆ หากตั้งใจจริงและศรัทธาจริงแล้วถึงจะเหนื่อยปานใดก็ต้องขึ้นให้ถึง
พระองค์นั้นเริ่มเล่าให้หลวงพ่อฟังต่อไปว่า เมื่อสมัยพุทธกาลมีพ่อค้าคนหนึ่งไปค้าขายต่างแดน
ไปทางเรือ วันหนึ่งก็จัดสินค้าลงเรือออกเดินทาง คราวนี้เรือเกิดเดินทางผิดทิศจนไปเจอเกาะเข้าเกาะหนึ่ง
ไม่เห็นมีผู้คนอยู่เห็นแต่ต้นไม้จันทน์หอมเต็มไปทั้งเกาะ พ่อค้าจึงคิดว่าไม้จันทน์หอมนี้ราคาแพงนัก
สูงกว่าสินค้าที่เรานำมา พ่อค้าจึงขนเอาสินค้าลงจากเรือแล้วตัดเอาไม้จันทน์หอมลงบรรทุกในเรือแทน
ตัดฟันโดยไม่ได้ขอขมา ขอต่อเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าเกาะเสียก่อน แล้วหันหัวเรือกลับบ้านเลยไม่ไปค้าขายอะไรอีกแล้ว
ฝ่ายพวกผีปีศาจที่อยู่ที่เกาะนั้น ก็พากันโกรธแค้นที่มาตัดฟืนไม้จันทน์หอมเอาไปโดยไม่ขออนุญาต
จึงพากันติดตามเรือไปกระทำฤทธิ์ ให้เกิดคลื่นลมจะเอาให้เรือล่มให้จงได้ ฝ่ายพ่อค้าก็ตกใจเพราะไม่รู้สาเหตุจึงระลึกถึงพี่ชายที่บวชเป็นพระอยู่
ยกมือประณมแล้วระลึกขอให้พระพี่มาช่วย "ถ้าพระหลวงพี่ช่วยให้รอดกลับบ้านได้แล้ว
หากหลวงพี่จะประสงค์สิ่งใดก็จะจัดถวายให้" พระผู้พี่ซึ่งจะต้องมีญาณสูงมากก็ทราบคำขอของพ่อค้าน้องชาย
รู้ว่าน้องชายทำผิดสิ่งใดจึงได้รับผลเลวร้ายเช่นนี้ พระพี่จึงมาให้ปีศาจเห็นตัวแล้วชี้แจงปรับความเข้าใจโดยสุภาพ
พวกภูตผีปีศาจทั้งหลายเห็นพระพี่พ่อค้าเจรจาอ่อนน้อมเช่นนั้น ผีปีศาจทั้งหลายก็ให้อภัยแล้วกลับไปยังเกาะที่มากไปด้วยไม้จันทน์หอมเช่นเดิม
ทันใดนั้นคลื่นลมก็สงบ พ่อค้าน้องชายพระก็เดินทางกลับบ้านได้โดยปลอดภัย เมื่อไปถึงก็ไปหาพระพี่ชายกราบขอบพระคุณ
เล่าให้พระพี่ชายฟัง พระพี่ชายจึงบอกว่า "จงจำไว้ว่าจะทำอะไรให้คิดถึงจิตใจคนอื่นเขาบ้าง
อย่าทำอะไรเอาแต่ใจตนเอง" น้องชายก็กราบขอโทษแล้วพระพี่ชายจึงถามว่าจะเอาอะไรถวายที่บนบานไว้
ผู้น้องก็ตอบว่าถวายทุกสิ่งที่ปรารถนา พระพี่ชายจึงบอกให้พ่อค้าจงเสียสละไม้จันทน์หอมให้เลื่อยไม้จันทน์หอมที่นำเอามาแล้วปลูกเป็นปราสาททั้งหลัง
ให้สำเร็จเมื่อเสร็จแล้ว ท่านจะไปทูลเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับในปราสาทที่น้องสร้าง
ให้จงได้
พ่อค้าน้องชายพระก็รับคำแล้วไปจัดการเลื่อยไม้จันทน์หอม นำไปสร้างปราสาทจนสำเร็จเรียบร้อย
เมื่อพระพี่ชายทราบว่าปราสาทเสร็จแล้ว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลเชิญให้พระองค์เสด็จไปประทับในปราสาทที่น้องชายได้สร้างถวาย
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบแล้วก็รับว่าจะไป แต่ทรงดิริว่า การไปครั้งนี้เราจะไปทางอากาศจึงจำเป็นต้องผ่านที่อยู่ของพระฤาษี
ณ ยอดเขานางพระจันทร์ด้วย เราจะแวะโปรดฤาษีสัจจพรรณ เพราะกระทำกิจได้ดีแล้ว
แต่ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ จำเราจะแนะให้ตั้งตนอยู่ในสัมมาทิฐิ ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จถึงเขานางพระจันทร์
พระองค์ก็เสด็จลงที่ยอดเขา เมื่อสัจจพรรณฤาษีได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงเข้าไปกราบพระพุทธเจ้าแล้วถามว่าพระองค์จะเสด็จไปแห่งใดด้วยกิจอะไร
พระพุทธเจ้าจึงเทศน์โปรดฤาษี เมื่อสัจจพรรณฤาษีได้สดับแล้ว ก็มีสติระลึกชอบด้วยสัมมาทิฐิ
และขอตามเสด็จไปยังปราสาทที่พ่อค้าสร้าง พระพุทธองค์ก็เสด็จต่อไปยังปราสาท
เมื่อพบพระพี่ชายพ่อค้าแล้ว ก็เทศน์โปรดจนได้สำเร็จสมความปรารถนา เมื่อเสร็จกิจแล้วก็เสด็จกลับ
เมื่อถึงเขานางพระจันทร์ พระพุทธเจ้าก็ให้ฤาษีหยุดการติดตาม ให้อยู่ ณ ที่เดิมที่เขานางพระจันทร์
ฤาษีสัจจพรรณจึงอาราธนา ขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยฝ่าพระบาทไว้บนยอดเขา เพื่อตนจะได้ไว้มากราบไหว้บูชา
พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากอากาศผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แล้วแยกเท้าเหยียบบนยอดหินที่สูงสุดของเขาพระนางพระจันทร์
เป็นรอยพระบาทที่ปรากฏมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อโอภาสี ท่านได้มานมัสการรอยฝ่าพระบาทพระพุทธองค์
ท่านจึงให้เปลี่ยนนามจาก "นาง เป็น วง" เพราะเหตุว่าบริเวณภูเขาทั้ง ๔ ด้าน
เป็นเขารูปโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า เขาวงพระจันทร์
พระภิกษุองค์ที่เล่าให้หลวงพ่อฟังจึงน่าจะเป็นหลวงพ่อโอภาสีนั่นเอง พระคาถาสำคัญของหลวงพ่อโอภาสี
คือ "ติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา นะมามิหัง"
ส่วนประวัติของยักษ์บนเขานั้น เมื่อขึ้นไปบนเขา ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร
บันไดประมาณ ๓,๐๐๐ ขั้น ขึ้นไปแล้วหายักษ์ไม่เจอเพราะเขาบอกว่าอยู่ในถ้ำ ปิดปากถ้ำเสีย
การเดินขึ้นเขาไปนมัสการพระพุทธบาทนั้น จะต้องเดินขึ้นในเวลากลางคืนประมาณสัก
๕ ทุ่ม ขึ้นไปแล้วมีข้าวต้มเลี้ยง หมายถึงขึ้นในเทศกาลเดือนไหว้พระบาท จะรู้สึกว่าเป็นข้าวต้มที่ร้อน
ๆ และอร่อยที่สุดในโลก เพราะความเหนื่อยนั่นเอง ข้าวต้มกับเกี๊ยมฉ่ายแค่นั้นแหละอร่อยเหลือประมาณ
บนเขาเดือนนี้หนาวต้องใส่เสื้อหนาวขึ้นไปด้วย ขึ้นไปแล้วหายเหนื่อย เที่ยวกลับใช้เวลาไม่นานผมขึ้นตอนปูนนี้ใช้เวลา
๒ ชั่วโมง ตอนลงประมาณชั่วโมงเดียว
ประวัติยักษ์มีว่า ท้าวกกขนากถูกพระรามแผลงศรปักอก
ปลิวข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกลงที่เขานางพระจันทร์นี้ และสาปให้ติดแน่นอยู่ที่นี่
หากศรเขยื้อนเมื่อไร หนุมานลูกพระพายที่ไม่รู้จักตาย (ตายเมื่อไรลมพัดก็จะฟื้นทันที)
หนุมานก็จะแบกค้นมาตอกศรย้ำดังเดิม ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวยักษ์ ก็ติดตามบิดามาด้วย
และทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมาเทราดที่โคนศร
ศรจะเขยื้อน จึงแปลงกายเป็นสาวสวยไปหาซื้อน้ำส้มในเมืองลพบุรี ก็ไม่มีใครขายให้
นางจึงตรอมใจตาย ท้าวกกขนากที่ยังไม่ตายพอลูกสาวตายไม่มีใครดูแลก็เลยตายตามไปด้วย
เขาว่าลพบุรีไม่มีน้ำส้มขายมานานพึ่งมาขายกันเมื่อตอนที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ท่านพัฒนาเมืองลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ชาวเมืองจึงกล้าขายน้ำส้มกัน ผมตามบิดาไปอยู่ลพบุรีที่โคกกระเทียมตั้งแต่ปี
๒๔๘๑ ไม่ทราบว่าไม่มีน้ำส้มขายจริงหรือไม่
เขาวงพระจันทร์ นั้นยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกคือ พระทันต์ธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทางขึ้นกุฏิหลวงพ่อฟักนั้นมีกลุ่มพระเกจิอาจารย์ที่ท่านสร้างไว้ มีกลุ่มพระพุทธรูป
มี "ศาลแม่ชีสรรพยัง" ที่ศักดิ์สิทธิ์นัก มียักษ์ ๒ ตนยืนเฝ้าหัวบันได คือกุมภัณฑ์เทพฤทธา
กับ กุมภาเทพฤทธี วัดนี้เลี้ยงสุนัขไว้ประมาณ ๓๐๐ ตัว บนกุฏิก็มี ขึ้นไปแล้วไปกราบนมัสการหลวงพ่อฟักแล้วขอนมัสการพระทันต์ธาตุ
ผมเห็นครั้งแรกเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว มาเห็นปีนี้โตกว่าเดิมสักเท่าตัว ในห้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย
ออกจากห้องนี้แล้วขอชมพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อที่มีค่าควรแก่การเข้าชมอย่างยิ่ง
ผมจะไม่จารไนให้ ทราบว่ามีอะไรบ้าง แต่คุ้มค่าสุดที่จะพรรณา หลวงพ่อฟักท่านสะสมมานานปี
อาคารพิพิธภัณฑ์มี ๓ ชั้น ของแน่นเต็ม โดยเฉพาะพระพุทธรูปและพระเครื่องมีมากมาย
จรเข้วัดสามปลื้มมาสตาฟไว้ก็มี งาช้างสีดำสนิทยิ่งกว่าที่ จังหวัดน่าน ก็มี
พระบรมฉายาลักษณ์ใส่กรอบทองมากมายหลายสิบภาพ บางภาพผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย
ไม้เท้าเกจิอาจารย์ก็มากมายของหลายองค์
ที่กุฏิหลวงพ่อ มีพระเครื่องสำคัญ พระลพบุรีย้อนยุค สร้างด้วยกระเบื้องหลังคาโบสถ์จากวัดทั่วประเทศ
๑๒๐ วัด พระเกจิอาจารย์หลายสิบองค์จากทั่วประเทศมาปลุกเศก มีให้เช่าชุดละ
๕ องค์ ๑๒๐ บาท เข้าชมพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อ อย่าลืมหยอดตู้ช่วยค่าไฟฟ้าหลวงพ่อบ้างก็แล้วกันเพราะท่านให้ชมฟรี
ไปกินปลาตะเพียนไร้ก้าง ออกจากวัดเขาวงพระจันทร์ขึ้นถนนพหลโยธินแล้วให้เลี้ยวขวา
วิ่งต่อไปอีกสัก ๙ กิโลเมตร จนถึงกิโลเมตร ๑๘๘.๒ พบปั๊ม ปตท.ทางขวามือ ทางฝั่งขวาคือร้าน
"ตาเม็ค" ขายปลาตะเพียนไร้ก้างที่น้ำจิ้มของตาเม็คนั้นไม่มีใครเหมือน โทรสั่งล่วงหน้าก็ดีเพราะทอดใช้เวลา
๐๓๖ ๖๒๔๘๑๐
สั่งอาหาร ปลาตะเพียนไร้ก้าง ๓ คน ต่อ ๑ ตัว แหละเหมาะ เขาจะทอดมากรอบนอกนุ่มใน
ก่อนทอดต้องดึงเอาก้างง่ามหนังสติ๊คออกให้หมดเสียก่อน ดังนั้นปลาจึงไม่มีก้างฝอยมาติดคอ
ติดลิ้น มีแต่ก้างใหญ่ บรรจงตักเนื้อปลาวางบนข้าวแล้วเหยาะเสียด้วยน้ำจิ้มสูตรพิเศษของร้านที่ไม่เหมือนใครอร่อยสุด
ๆ
ปลาไหลผัดเผ็ด ใครชอบปลาไหลจะไม่ผิดหวัง
ปลาช่อนผัดคึ่นฉ่าย น้ำผัดซึมเข้าเนื้อปลาได้รส ซดน้ำยังได้เพราะมีน้ำขลุกขลิก
ต้มยำปลาตะเพียน รสอมเปรี้ยว อมหวาน กลมกล่อมไม่เหมือนใคร ซดร้อน ๆ ชื่นใจ
ราคาถูก ไม่มีของหวานมาปิดท้าย วิ่งไปกินไอสกรีมรถเข็นแถว ๆ วงเวียนน้ำพุโคกสำโรงก็แล้วกัน
แต่ต้องไปกินตอนเย็น อิ่มแล้วทั้งคาวหวานกลับมาปีนขึ้นเขาวงพระจันทร์ ลงจากเขาตอนตี
๓ ตี ๔ หลวงพ่อฟักท่านจะนิมนต์พระสงฆ์และแม่ชี มาคอยรับบาตร ยืนสงบนิ่งเป็นแถวน่าเลื่อมใสนัก
...........................................
หมายเหตุจากผู้จัดทำ
ขอเพิ่มเติมจากที่ท่าน พล.อ.โอภาส ฯ ได้ให้ข้อมูลต่าง ๆ ไว้ เนื่องจากผู้จัดทำเป็นนายทหารปืนใหญ่
รุ่นหลังท่านชนิดเห็นหลังกันไว ๆ และทหารปืนใหญ่กับลพบุรีเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกเนื่องจาก
ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อยู่ที่จังหวัดลพบุรี และนายทหารปืนใหญ่ทุกคนจะต้องเข้าไปรับการศึกษาหลักสูตรนายทหารปืนใหญ่ภาคบังคับ ในหลักสูตรหลักหลายครั้ง
เมื่อผู้จัดทำจบจากโรงเรียนนายร้อย และเข้ารับการศึกษาที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ในหลักสูตรชั้นผู้บังคับหมวดทหารปืนใหญ่
ก็ได้มีโอกาสสำรวจลพบุรีด้วยรถจักรยานสองล้อในรัสมี ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร และเขาวงพระจันทร์ก็เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่จะต้องไป
เป็นลำดับสองรองจากเขาพระงาม นอกจากนั้นยังมีอีกหลายแห่งในลพบุรีที่ผมได้ไปสำรวจมาในครั้งนั้น
เช่น เขาสะพานนาค ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเขาพระงามกับเขาวงพระจันทร์ เขาพุคา
ซึ่งอยู่ใกล้เขาพระงาม อยู่ในเขตสนามยิงปืนของศูนย์การทหารปืนใหญ่ และแหล่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ที่ขุดพบในเขตศูนย์การทหารปืนใหญ่ ซึ่งท่าน พล.อ.โอภาส ฯ คงจะได้นำมาเล่าให้ท่านฟังในอันดับต่อ
ๆ ไป
สำหรับเรื่อง ท้าวกกขนากที่ท่าน พล.อ.โอภาส ฯ ได้เล่าประวัติเอาไว้ ผมได้เคยทราบประวัติยักษ์ตนหนึ่งในเรื่อง
รามเกียรติตอนท้าย ๆ มีว่า ท้าวอุณาราช ซึ่งมีประวัติว่าต้องศรกกของพระรามคล้ายกับท้าวกกขนากในพากย์ไทย
มีความว่า เมื่อพระรามแผลงศรไปต้องอกอุณาราชแต่ อุณาราชไม่ตาย ฤาษีโคศกจึงทูลพระรามว่า
อุณาราชนี้ไม่มีอาวุธใดฆ่าได้ ต้องใช้วิธีเอาต้นกก ทำเป็นลูกศรแล้วแผลงไปปักอก
อุณาราชตรึงไว้กับหินเป็นเวลาแสนโกฏิปี พระรามจึงทำตาม
"พระจักราจึงซ้ำสาปไป ให้เกิดไก่แก้วอลงการ์ กับนนทรีถือค้อนเหล็กใหญ่
รักษาอสุรานี้ไว้ ให้ได้ถึงแสนโกฏิปี ถ้าแม้นกกนี้เลื่อนเคลื่อนคลาด
จากอกอุณาราชยักษี ไก่นั้นจงขันขึ้นทันที อสุรี เร่ง เอาพะเนินรัน"
รายละเอียดดูได้จากเรื่องรามเกียรติ ตอนศึกท้าวอุณาราช ใน หอมรดกไทย กลุ่มชาติ
----------------------------------
|