วัดป่าภูหินร่องกล้า
ผมไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โดยเดินทางไปจากเขาค้อ
ซึ่งอยากจะแนะนำว่า
หากไปเที่ยวภูหินร่องกล้านั้น หากเราพักที่บนเขาค้อ ซึ่งมีที่พักที่สะดวกสบายหลายแห่ง
แล้วว่าจ้างรถตู้หรือรถเมล์เล็ก เพื่อเดินทางไปเที่ยวภูหินร่องกล้า
แบบไปเช้าเย็นกลับก็นับว่าสะดวกกว่าการไปพักบนภูหินร่องกล้า เพราะความหนาวเย็นของอากาศบนเขาค้อก็มีจะด้อยกว่าคือ
หนาวน้อยกว่าก็ไม่เท่าไร หมอกลงหนาในตอนเช้าที่เขาค้อก็มี เว้นทะเลหมอก ซึ่งหมอกจะไหลได้นั้นทางภูหินร่องกล้าน่าจะมีให้เห็นมากกว่า
เรียกว่ามีแทบตลอดปีหากรู้จักที่จะไปชมวิว ชมทะเลหมอก
ส่วนการเดินทางอีกวิธีที่ดีที่สุดคือ พักที่เขาค้อ แต่เอารถส่วนตัวซึ่งมีกำลังดี
คนขับมือดีด้วยข้อนี้สำคัญ ขับไปเองแต่กลับมานอนที่เขาค้อ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
ผมไปภูหินร่องกล้าทั้ง ๒ วิธี เอารถส่วนตัวขับขึ้นไปเอง และไม่ใช่รถโฟวีลด้วย
เป็นรถที่ผมตั้งชื่อว่ารถกระป๋อง เพราะมีขนาดแค่ ๑๘๐๐ ซี.ซี. เท่านั้น และบอบบางเหมือนกระป๋อง
แต่รถมีเอาไว้ขับไม่ได้มีเอาไว้ไปชนกับใคร รถกระป๋องของผมจึงคงทนขับรอบประเทศไทยมาหลายรอบแล้ว
ยังไม่ถึงคราวที่จะเปลี่ยนรถเลย ส่วนใครไปเป็นคณะใหญ่ด้วยรถบัสแบบนี้ต้องทิ้งรถบัสเอาไว้ที่เขาค้อ
แล้วจ้างรถท้องถิ่นพาไป ผมไปคราวหลังสุดคือไปทอดผ้าป่าที่วัดวิชมัยปุญญาราม
ที่หน้าพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก
และไปครั้งนั้นไปกันคณะใหญ่จึงไปด้วยรถบัสขนาด ๔๐ คน และพักแรมที่ไร่ที่ผมเคยแนะนำไปหลายครั้งแล้วว่าที่พักดี
บรรยากาศแจ่มแจ๋วโดยเฉพาะตอนเช้าตรู่ที่ระเบียงของศาลาอาหารจะสวยมาก อาหารดี
ราคาไม่แพงที่สำคัญคือ การบริการดี เพราะการไปเขาค้อ ไปภูหินร่องกล้านั้นไปได้ทุกฤดู
ต้องการหนาวมากก็ไปฤดูหนาว หนาวพอได้ใส่เสื้อหนาวก็ไปได้ทุกฤดู ฤดูร้อนกลางวันอาจจะร้อน
แต่พอตกค่ำก็เย็น ตกดึกก็หนาว ก่อนวันทอดผ้าป่า ผมก็พาคณะไปภูหินร่องกล้าโดยให้ติดต่อรถตู้เอาไว้ให้
ซึ่งเหมารถตู้ไปทั้งวันน้ำมันของเขาจะแพงกว่ารถเมล์เล็กคือ วันละ ๑,๕๐๐ บาท
แต่ทุกคนนั่งสะดวกสบาย ไม่ร้อน ส่วนรถเมล์เล็กหลังคาเตี้ย ๆ นั้นวันละ ๙๐๐
บาท น้ำมันของเขาเช่นกัน จึงขอแนะนำว่าไปภูกินร่องกล้าไปวิธีนี้จะสะดวกกว่าวิธีอื่น
แต่หากเป็นกลุ่มหนุ่มสาวนักผจญภัย กำลังขายังแจ่มแจ๋ว ก็ไปนอนภูหินร่องกล้าซึ่งมีบ้านพัก
และมีที่สำหรับกางเต็นท์นอน จะได้ตื่นไปชมทะเลหมอกตอนเช้ามืดได้
ผมจะเล่าถึงการเดินทางที่ไปจากเขาค้อ ตรงที่พักคือ ไร่นั้นตรงกับหลัก กม.๑๕
ซึ่งหลัก กม. บนเขาค้อนั้นพิกลอยู่ คือนับหนึ่งกันตั้งแต่ขึ้นมาจากปากทาง
ทางด้านตำบลนางั่ว
ซึ่งตรงทางเข้าห่างจากเพชรบูรณ์ ประมาณ ๑๓ กม. และเรื่อยมาจนถึงสี่แยกสะเดาะพง
ถนนจะเลี้ยวขวาหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน จะเปลี่ยนไป คราวนี้จะนับ ๑ มาจากปากทางขึ้นทางแคมป์สนคือ
ขึ้นมาจากถนนสาย ๑๒ สายพิษณุโลก - หล่มสัก ตรงหลัก กม.๑๕ แต่ตรงพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก
ซึ่งวัดวิชมัยปุญญารามอยู่ติด ๆ กัน จะหลัก กม.๑๙
จากหลัก กม.๑๕ ลงสู่ถนนสาย ๑๒
ซึ่งทางหลวงแผ่นดินสายนี้เริ่มต้นจากจังหวัดตาก ยาวไปจนถึงจังหวัดขอนแก่น
ตอนวิ่งลงจากเขาค้อนี้จะผ่าน แผงขายผักสดและพันธุ์ไม้ (แต่พันธุ์ไม้เอามาจากจังหวัดอื่นหรือคลอง
๑๕ เป็นส่วนใหญ่) ตรงหลัก กม.๙.๕ อยู่ทางซ้ายมือเวลาลงมา ผักถูกมาก
เช่น ฟักแม้ว ยอดฟักแม้วหรือที่เรียกโก้ ๆ ว่า ซาโยเต้ คนฟังนึกว่าภาษาญี่ปุ่นความจริงเป็นภาษาแม้ว
ผัดน้ำมันหอยอร่อยนัก ฟักทอง ฟักหอมรายการนี้วิเศษมาก เนื้อเหนียวแน่น แกงจืดอร่อยเด็กชอบ
แครอทถุงโต ๆ ราคา ๑๐ บาท และหากเป็นบางฤดูจะมีลูกพาสชั่นฟรุ๊ท หรือกระทกรกฝรั่งขายด้วย
ขอแนะนำเอาไว้นิดหนึ่ง หากใครกินเปรี้ยวได้ หากซื้อพาสชั่นฟรุ๊ทมาแล้ว เอามาผ่าครึ่งโรยด้วยเกลือตักซดทั้งเม็ดและน้ำในลูกเปรี้ยวจับใจ
แต่สักครู่ความเปรี้ยวจะหายไปทำให้สดชื่นทันที พาสชั่นฟรุ๊ทมีคุณค่าทางอาหารมาก
เช่นลดน้ำตาล ลดความดัน เป็นต้น ผมไปทีไรหอบซื้อเอามานับสิบกิโลเอามาผ่าครึ่ง
ตักใส่ถุงพาสติคเล็ก ๆ ไว้แช่ตู้เย็นกินกันเป็นเดือน
จาก กม.๙.๕ จะมาผ่านทุ่งสมอ
ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนอีกแห่งหนึ่งของเขาค้อและเริ่มลงสู่ที่ราบแล้ว มีร้านอาหารและที่พักหลายแห่ง
แต่ไม่สู้ดีนัก
ลงต่อมาอีกคราวนี้จะพบรีสอร์ทที่สวยมาก ๆ แต่ราคาก็พอสมควรเช่นกัน จนมาถึง
กม.๓.๕ หากเลี้ยวซ้ายเข้าไปเสียเงินแน่นอน เพราะสินค้าเย้ายวนชวนให้ซื้อเหลือเกิน
คือ ไร่ บี.เอ็น. ของคุณบรรเจิด คุ้มวงศ์ ซึ่งเป็นบุตรของกำนัล จุล คุ้มวงศ์
ไร่ บี.เอ็น. มีพืชผักผลไม้สด พันธุ์ไม้ สวนไม้ดอกที่งดงามจำหน่ายมากมาย ขอย้อนไปเล้าถึงกำนัลจุล
สักเล็กน้อยเดี๋ยวผมจะลืมเล่าหรือเนื้อที่หมดคือ ในตอนกลับจากเพชรบูรณ์นั้นเมื่อไปถึงสามแยกวังชมภู
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๒๐ กม. พอเลี้ยวซ้ายก็พบร้าน กำนัลจุล ทางซ้ายริมถนนร้านนี้พึ่งเปิดใหม่คือ
ขยายจากเดิมมาเป็นร้านสวย สินค้าก็มีทั้งผักสด เครื่องกระป๋อง ปลาจารเม็ดแดดเดียว
ปลาส้ม เปิดเมื่อ ๑ สิงหาคม ๔๗ นี้เอง เดิมเป็นคล้าย ๆ เต้นท์กางอยู่ แต่ฝั่งตรงข้ามมีอีกร้านหนึ่งดักนักท่องเที่ยวทั้งไปและกลับ
ก็เลยบอกเอาไว้ หากยังไม่แวะซื้ออะไรที่ ไร่ บี.เอ็น. รอไปซื้อตอนกลับที่ร้านกำนันจุลก็ได้
ผ่านไร่ บี.เอ็น. ไปแล้วก็ลงถึงถนนสาย ๑๒ หากเลี้ยวขวาไป ๓๐ กม.จะถึงอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง
อดีตเจ้าเมืองราด
หรือหล่มสักในปัจจุบัน
พ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว
กอบกู้สุโขทัยให้พ้นจากอำนาจขอม รวมทั้งศรีสัชชนาลัยด้วย
แล้วยกให้พ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นครองเมือง ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
เป็นพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
หากเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังอำเภอนครไทย และภูหินร่องกล้า คณะผมเลี้ยวซ้ายวิ่งไปทางจะไปพิษณุโลก
วิ่งไป ๓๒ กม. ถึงหลัก กม.๖๘ สามแยกบ้านแยง ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนที่จะไปยังภูหินร่องกล้า
อำเภอนครไทย และไปยังอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยก็ไปได้เลย
จากสามแยกบ้านแยง วิ่งไป ๒๓ กม. จะถึงสามแยกที่เลี้ยวขวาก็จะขึ้นภูหินร่องกล้า
แต่ผมพาคณะไปยังอำเภอนครไทยเสียก่อน ไปอีก ๖ กม. ก็จะถึงอำเภอนครไทย หรือเมืองบางยาง
ในอดีต ซึ่งพ่อขุนบางกลางท่าวเริ่มต้นการกอบกู้อิสรภาพจากเมืองนี้ ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง
ถนนสายหลักในนครไทยมีอยู่สายเดียว คือ ถนนอุดร
- ดำริห์ ไปตามถนน อุดรดำริห์จนถึงวัดกลางโดยจะผ่านโรงพยาบาล
นครไทย ไปก่อน อยู่ระหว่างซอย ๑๑-๑๓ เมื่อเลี้ยวเข้าประตูวัดกลางศรีพุทธาราม
ทางซ้ายจะเห็นอนุสาวรีย์ พ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตั้งตระหง่านอยู่มีคำจารึกไว้ว่า
"พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง
(นครไทย) ร่วมกับพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด
(หล่มสัก) ก่อตั้งสุโขทัยเป็นเมืองหลวง
โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นประมุข" ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุน ฯ มีต้นจำปาขาวต้นโตทีเดียว
บอกว่าต้นนี้พ่อขุนปลูกเอาไว้ก็แสดงว่าอายุของจำปาขาวต้นนี้ต้องกว่า ๗๐๐ ปี
และยังออกดอกด้วย เดิมมี ๒ ต้น ตายไปแล้ว ๑ ต้น และวัดกลางนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลาอีก
๒ องค์ อยู่ในวิหารและในอุโบสถ
ออกจากวัดกลางเลี้ยวขวาไปตามถนนอุดร ดำริห์ ประมาณ ๕๐๐ เมตรทางฝั่งขวาเช่นเดียวกัน
มีวัดชื่อหน้าพระธาตุ
เมื่อเลี้ยวเข้าไปในวัด ทางขวามือจะมองเห็นวิหารไม้ ปลูกแบบโบราณแต่หลังคามุงสังกะสี
ที่ว่าแบบโบราณเพราะเสาไม่ปักลงในดิน เสาทุกต้นวางอยู่บนแผ่นศิลาเรียบ แต่ตอนนี้เอาปูนมาฉาบแผ่นศิลาเอาไว้
สามารถยกเอาไปตั้งที่ไหนก็ได้แต่คงต้องใช้คนยกร่วมร้อยกระมัง บนศาลาหรือวิหารไม้หลังนี้ปรากฎว่าพื้นชำรุดมาก
หากคนขึ้นไปพร้อม ๆ กันสัก ๒๐ คน มีหวังพื้นพังลงมาบนวิหารมีกรงเหล็ก ในกรงเหล็กมีพระพุทธรูปโบราณสมัยทวารวดี
เป็นพระพุทธรูปศิลา ปางสมาธิ ๑ องค์ และประทับยืนอีก
๑ องค์ ปางสมาธินั้นคือหลวงพ่อเพชร กรมศิลปากรน่าจะไปซ่อมได้แล้ว
พระธาตุองค์เล็ก มีบันไดให้ขึ้นไปได้
ไม่มีป้ายบอกรายละเอียดเอาไว้เลย ถามพระดูท่านบอกว่าองค์นี้แหละพระธาตุ
วัดนครไทยวราราม
(วัดหัวร้อง)
ประดิษฐ์หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวนครไทยเคารพบูชามาก วิ่งผ่านโรงพยาบาลมาแล้ววัดจะอยู่ทางขวามือตรงข้ามกับตลาดนครไทย
หลวงพ่อใหญ่
ประดิษฐานอยู่ในวิหาร แกะสลักด้วยไม้สัก แต่ภายหลังมีคนไม่รู้คุณค่านำปูนไปพอกเอาไว้
ชาวนครไทยที่มาสักการะนิยมปิดทองกันจนเต็มองค์ ทำให้มองไม่เห็นพุทธลักษณะภายในองค์พระ
บ่อเกลือโบราณ
ชมการทำเกลือสินเธาว์ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้คือ
บ้านบ่อโพธิ์
ประกอบอาชีพทำนาเกลือสินเธาว์มาหลายชั่วอายุคน
เกลือสินเธาว์นั้นมักจะพบในภาคเหนือและอีสาน เป็นดินเค็ม จากอำเภอนครไทย ใช้ทางหลวงหมายเลข
๒๐๑๓ ไปทาง อ.ด่านซ้าย วิ่งผ่านหน้าวัดพระธาตุไปเลยก็ได้ เลยหลัก กม.๕๘ ไปแล้วจะเห็นป้อมตำรวจ
ให้ถามที่ป้อมว่าบ่อเกลือไปทางไหนแล้วเดินต่อไปตามป้ายนำทาง แต่อย่าลืมว่าต้องไปตอนหน้าแล้งใน
๒ เดือนดังกล่าว คือ ม.ค. และ ก.พ. ชาวบ้านจะเริ่มทำเกลือด้วยการเซ่นสรวงศาลพ่อปู่ที่อยู่ใกล้
ๆ บ่อเกลือ บ่อเกลือนั้นอยู่ในลำน้ำ ถึงต้องรอให้น้ำลดจนมองเห็นบ่อเกลือ เมื่อเซ่นสรวงแล้ว ก็ขุดโคลนออกจากบ่อให้หมด
ตักน้ำในบ่อใส่ขุมเกลือ
คือรางที่ขุดจากไม้เนื้ออ่อน ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ตักน้ำจากขุมเกลือใส่กระทะใบบัว
ต้มน้ำจนแห้ง เกลือเป็นเม็ด แซะเกลือที่ติดก้นกระทะไปใส่กระบากเกลือเอาไปผึ่งให้แห้ง
บรรจุลงถุงนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าต่อไป เมื่อก่อนนี้มีมากถึง ๓๒ บ่อ เดี๋ยวนี้เหลือทำอยู่เพียงบ่อเดียว
ชาวนครไทยยังมีฝีมือในการทอผ้า สาวทอผ้าชำนาญอยู่บ้านแก่งทุ่ง
ไปชมได้ สาว ๆ จะทอผ้ากันระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๕.๐๐ บ้านแก่งทุ่ง หมู่ ๔ ตำบลบ้านโพธิ์
นครไทย ไปตามถนนสาย ๒๐๑๓
พอถึงหลัก กม.๔๗ ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๓ กม. จะถึงแก่งทุ่ง จุดที่ทอผ้ากันมีที่หลังโรงเรียนบ้านแก่งทุ่ง
และที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ผ้าทอบ้านแก่งทุ่งทอกันมานานตั้งแต่โบราณ
สมัยก่อนคนถิ่นอื่นต้องหอบข้าวหอบของเดินข้ามเขามาแลกกันเลยทีเดียว ต่อมาคลายความนิยมไปเพราะผ้าสมัยใหม่เข้ามา
จนทางการเข้าไปส่งเสริมทั้งด้านการผลิตและการตลาด ชาวบ้านจึงกลับมาทอกันใหม่
ฟื้นฟูลวดลายผ้าเก่าที่ทำกันมาตั้งแต่เดิม เช่น ลายน้ำไหล
ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล เป็นต้น ตลอดจนมีการสอนลายผ้าใหม่
ๆ ให้ จึงกลับมานิยมกันใหม่ ผ้าที่ทอมีทั้งผ้าขาวม้า ผ้ามัดหมี่ ผ้าซิ่น ผ้าลายขิด
จะซื้อผ้าที่ทอจากหมู่บ้านหรือจากร้านในตัวอำเภอก็ได้ ราคาประมาณ ๒๐๐ บาท
เรียกว่าหากแวะชมคุณผู้หญิงทั้งหลายเป็นร้องกรี๊ด ซื้อกันให้วุ่นทีเดียว
จากอำเภอนครไทย วิ่งย้อนกลับมา ๖ กม. ก็เลี้ยวซ้ายเพื่อขึ้นยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
จากสามแยกที่เลี้ยวเข้าไปนี้จนถึง ที่ทำการอุทยาน ๓๑ กม. และหากไปจนถึงบ้านภูหินร่องกล้า
ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดป่าภูหินร่องกล้าต้องไปอีก
๗ กม. ถนนสายนี้สาย ๒๐๑๓ วิ่งไปแล้วจะพบสามแยกให้เลี้ยวขวา หากเลี้ยวซ้ายจะไปบรรจบกับถนนที่มาจากอำเภอไปยัง
อ.ด่านซ้าย ได้ เส้นที่เลี้ยวขวามานี้คือ ทางหลวงแผ่นดินสาย
๒๓๓๑ ซึ่งจะวิ่งไปจนถึงอุทยาน ฯ แล้วลงจากภูหิน
ฯ อีกทางหนึ่ง ทางด่านทับเบิกไปบรรจบกับถนน
๒๓๗๒ ซึ่งเมื่อบรรจบแล้ว เลี้ยวขวาจะไปยังหล่มสัก
(๒๓ กม.) หากเลี้ยวซ้ายจะมาหล่มเก่า (๑๐ กม.)
ตั้งแต่สามแยกที่เลี้ยวขวามาถนนไม่ดี เป็นหลุมเป็นบ่อไปจนถึงด่านเก็บเงินของอุทยาน
เก็บค่าผ่านด่านคนละ ๒๐ บาท าถคันละ ๓๐ บาท จากด่านไปจนถึงอุทยานถนนดีตลอด
ทางชันวิ่งขึ้นลูกเดียวรถต้องกำลังดี
ก่อนถึงที่ทำการอุทยานสัก ๑๐๐ เมตร ทางขวามือคือที่ตั้งของฐานพัชรินทร์
ยกป้ายเอาไว้
ที่ฐานนี้ในอดีตคือ ที่ตั้งของ พลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท.ที่
๓๓ ซึ่งได้มาตั้งฐานเมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบแล้ว
เพราะเขาค้อและภูหินร่องกล้านี้ได้ชื่อว่า "สวนหินธรรมชาติ
ท่ามกลางยุทธภูมิเลือดในอดีต" ซึ่งมีความเป็นมาโดยย่อก่อนที่จะมาเป็นอุทยานแห่งชาติคือ
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๑ - ๒๕๑๕ เทือกเขาหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์
ซึ่งเป็นผลให้เกิดการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลอย่างหนัก ติดต่อเรื่อยมาจนกถึงปี
พ.ศ.๒๕๒๕ จึงได้ปฎิบัติการต่อ ผกค.บนเขาค้อ และภูหินร่องกล้าเป็นผลสำเร็จ
ทำให้ ผกค.ส่วนล่างกำลังพลส่วนใหญ่ออกมามอบตัวโดย พตท. ได้นำแนวพระราชดำริ
คือ ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นระบบที่เกิดจากยุทธศาสตร์การต่อสู้เบ็ดเสร็จ
รวมกับยุทธศาสตร์พระราชทาน
หรือยุทธศาสตร์พัฒนา นำมาใช้ในการปฎิบัติการ (ผมเป็นอาจารย์บรรยายในสถาบันทหารในวิชาระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จหลายสถาบัน
โดยเฉพาะโรงเรียนเสนาธิการทหารบก บรรยายติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ ครั้งหลังสุด
เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ หากยืนไหวเขาก็เชิญบรรยายต่อไป) พตท. ได้ตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าพัฒนาพื้นที่
พัฒนาหมู่บ้านแล้วขอให้กรมป่าไม้ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงจัดตั้งเมื่อ ๒๖
กรกฎาคม ๒๕๒๗
สถานที่ท่องเที่ยวบนภูหินร่องกล้า
เริ่มจากฐานพัชรินทร์ ซึ่งฐานเวลานี้มีที่พัก (ยังไม่เคยพัก) มีอาหาร มีกาแฟ
ติดต่อฐานพัชรินทร์ ๐๕๕ ๒๓๓๕๘๕ ๐ ๖๙๒๗ ๕๙๓๓ และเมื่อเดินผ่านหน้าฐานจะเห็นป้ายหิน
"ลานหินแตก" จุดแรกที่จะต้องเข้าไปเที่ยว
ไปชมรอยหินแตกเป็นทางยาว เกิดมานานกว่า ๔๐ ล้านปี สวยงามมาก ต้องเดินไปประมาณ
๓๐๐ - ๔๕๐ เมตร ตรงจุดสุดท้ายคือ หน้าผาที่มองเห็นนครไทย อยู่เบื้องล่าง
เลยฐานพัชริทร์ไปสัก ๑๐๐ เมตร คือที่ทำการอุทยาน ติดต่อบ้านพัก ขอทราบรายละเอียดในการชมอุทยานที่เคยเป็นสมรภูมิเลือดแห่งนี้
ชมสิ่งที่พวก ผกค. เขาทิ้งเอาไว้ให้เราชม ชมพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
เลยที่ทำการไปประมาณ ๑ กม. ตามถนนที่เป็นช่วงลงเขา แล้วเลี้ยวขวาตามป้ายจะไปยังลานเอนกประสงค์
ซึ่งยกป้ายไว้ว่า ลานหินปุ่ม โรงพยาบาลผาชูธง
ซึ่งจะต้องเดินไปชมในเส้นทางที่ร่มรื่น และมากไปด้วยนกนานาชนิด เส้นทางรอบจุดที่กล่าวถึงต้องเดินประมาณ
๓.๕ กม. มีแรงเดินก็คุ้มค่าต่อการไป
ออกจากจุดไปลานเอนกประสงค์เลี้ยวขวาไปอีก ก่อนลงเช่นกันไปถึง โรงเรียนการเมืองการทหาร
สำนักอำนาจรัฐ หมู่บ้านมวลชน และเลยโรงเรียนไปคือ
กังหันน้ำที่นำพลังน้ำมาหมุนกังหันไปสีข้าว
และยังมีน้ำตกที่งดงามหลายแห่ง เช่น "น้ำตกคู่แฝด" น้ำตกร่มเกล้าภราดร" สวยงาม
ก่อนถึงโรงเรียน ฯ สัก ๑ กม. แต่ต้องเดินลงไปประมาณ ๘๐๐ เมตร และยังมีอีกหลายน้ำตก
ถามรายละเอียดจากที่ทำการ ฯ
เลยต่อไปจากโรงเรียน ฯ ประมาณ ๑ กม. จะมีทางแยกขวา หากเลี้ยวขวาก็ลงจากภูหิน
ฯ ยกป้ายไว้ว่า "หล่มเก่า"
เรายังไม่เลี้ยวตรงต่อไปสัก ๑ กม. จะเข้าหมู่บ้านหินร่องกล้า
ถนนจะแคบมากเมื่อเข้าไปแล้วจะมีทางแยกซ้ายลงไปยัง วัดป่าหินร่องกล้า
หากฝนตกจะอันตรายมากในการลงไปยังวัด ผมไปครั้งหลังลงไปไม่ได้ เพราะฝนตกหนัก
ที่วัดแห่งนี้มาเกี่ยวข้องกับผมคือ เมื่อสัก ๔ ปีมาแล้ว ผมไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ตอนนั้นยังทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษา ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลุ่มที่
๖ (ท่านบิ๊กจิ๋ว) ลงไปวัด เพราะเห็นว่ามีวัดแสดงว่าวัดนี้พระต้องดีมาก จึงจะอยู่ได้เพราะหมู่บ้านนี้มีสัก
๑๐๐ หลังคาเรือน ชนชาวหมู่บ้านคือ ทหารกองหนุนเก่าที่มีอยู่ตามแนวความคิดยุทธศาสตร์พัฒนา
และชาวเขาเผ่าม้งที่อดีตคือ
ผกค.กลับใจ มาร่วมกันตั้งหมู่บ้าน วัดต้องอาศัยชาวบ้านชาวพุทธไม่กี่หลังคาเรือนนี่แหละดำรงอยู่ได้
ผมเข้าไปในวัดที่ร่มรื่นเหลือเกินสะอาดมาก พบพระองค์หนึ่งท่าทางอาวุโสกำลังกวาดลานวัดอยู่
ตัววัดยังไม่มีโบสถ์วิหารอะไร มีแต่ศาลาน่าจะเรียกว่า ศาลาเอนกประสงค์ ผมถามท่านว่าเป็นเจ้าอาวาสหรือ
ท่านตอบว่าไม่ได้เป็น เจ้าอาวาสมรณภาพไปนานกว่า ๒ ปีแล้ว อาตมารักษาการอยู่แต่ไม่มีการแต่งตั้ง
ผมก็ขึ้นไปคุยกับท่านบนศาลาเอนกประสงค์จนทราบรายละเอียด และบอกท่านว่าผมเป็นใคร
กลับไปนี้จะทำหนังสือกราบเรียนท่านเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก ท่านก็ยิ้ม (แบบเชื่อครึ่งเดียว)
กลับมาผมก็ทำหนังสือไปถึงท่านเจ้าคณะจังหวัดเล่าให้ทราบ และเสนอแนะว่าสมควรแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดป่าภูหินร่องกล้า
เพราะพระดี ๆ กล้าอยู่ เพื่อแสวงหาความวิเวก เพื่อช่วยชาวบ้านอย่างนี้หายาก
แต่งตั้งเจ้าอาวาส ตั้งวัดให้ถูกต้องจะได้มีงบประมาณไปช่วยเหลือวัดบ้าง วัดอยู่ได้เพราะชาวบ้านไม่กี่หลังคาเรือน
และอยู่ได้เพราะวันหยุดคนมาเที่ยวมาก ทางอุทยานสนับสนุนให้คนมาเที่ยวได้ทำบุญเช่น
ตักบาตรอาหารแห้ง โดยทางอุทยานต้องช่วยเอารถไปรับพระมารับบาตร เมื่อส่งหนังสือไปแล้วผมก็ไม่ได้ติดตามเรื่อง
แต่หลังจากนั้นประมาณเดือนเศษ ๆ ท่านเจ้าอาวาสมีจดหมายมาถึงผมบอกว่า ท่านเจ้าคณะจังหวัดได้ขึ้นมายังภูหิน
ฯ และมาที่วัด มาดูสภาพของวัดว่าตรงตามที่ผมบอกไปหรือไม่ และต่อจากนั้นก็มีคำสั่งแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสแล้ว
ขอเชิญผมไปที่วัดอีก เสียดายที่ไปคราวนี้ลงไปที่วัดไม่ได้ เพราะฝนตกหนัก เลยไม่มีภาพมาให้ชมได้
ท่านนึกถึงศาลาหลังโต ๆ หลังเดียวที่วัดมี ทั่วบริเวณสะอาด สงบ ร่มรื่น คือวัดป่าภูหินร่องกล้า
"ป่าจริง ๆ"
ย้อนกลับมายังที่ทำการอุทยาน จากฐานพัชรินทร์มาประมาณ ๑๐๐ เมตร ก่อนถึงทางเข้าที่ทำการสัก
๑๐ เมตร มีทางแยกซ้ายมือเพื่อไปยังเขตบ้านพักของอุทยาน การติดต่อที่พักไม่ทราบแน่นอน
แต่น่าจะติดต่อแห่งเดียวกับที่ผมติดต่อไปพัก ที่ห้วยน้ำดัง คือสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
หลังกรมป่าไม้ บางเขน เดี๋ยวนี้มีกรมอุทยานแห่งชาติที่ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงเกษตร
ฯ แล้ว ลองติดต่อดูเพราะสำนักยังตั้งอยู่ที่เดิมคือ ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓ และ ๐ ๒๕๗๙
๕๗๓๔
เส้นทางที่แยกเข้ามายังบ้านพักอุทยานนี่แหละจะมาชิมอาหาร เข้ามาสัก ๓๐ เมตร
ทางขวามือร้านที่ผมชิมเอาไว้ ร้านนี้ยกให้เป็นร้านนานาชาติ ไปทีไรฝรั่งนั่งกันเต็ม
พวกฝรั่งชอบมาพัก มานั่งจิบเบียร์รับอากาศที่หนาวเย็น วันที่ไปครั้งหลัง ฝรั่งชาวเนเธอร์แลนด์
๒ คันรถตู้มานั่งกินอาหาร จิบเบียร์กัน หากมาเป็นหมู่คณะสั่งเขาทำอาหารให้
อาหารมี ๕-๖ อย่าง หมดแล้วเติมได้ เว้นพวกเป็นตัว เช่น ปลาทอด ไก่ย่าง ไม่เติมให้
พวกแกง พวกผัดเติมได้ ราคาถูกมาก คิดหัวละ ๑๒๐ บาท เท่านั้น หากฝรั่งกินเนื้อสัตว์มากกว่าคนไทย
คิดหัวละ ๑๕๐ บาท
ไก่ย่าง ยกนิ้วให้ ๓ นิ้ว เพราะหมักน้อยไปหน่อยรสไม่ค่อยเข้าเนื้อ แต่หมูย่างยกให้
๔ นิ้ว อร่อยมาก มีมันติดนิดหน่อย พอเพิ่มความอ้วนได้แต่ต้องยอมเพราะจะเข้ากับแกงป่า
แกงป่า มีปลา ไก่ และหมู ผมชอบสั่งแกงป่าหมู ยกให้ ๕ นิ้ว เป็นแกงป่าที่รสเข้มหารสนี้กินยาก
ยกมาร้อน ๆ ข้าวก็ร้อน แกงร้อน จะเอาแกงป่าราดข้าวหรือซดเป็นอร่อยหมดแล้วตามด้วยหมูย่าง
ส้มตำ เขาโขลกอยู่หน้าร้าน ส้มตำแครอท อร่อยเช่นกัน
ตุ๋นซี่โครงหมู ซดชื่นใจนัก ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น น้ำซุปใส มีเห็ดหอม
และแครอท
ไม่มีของหวาน สั่งกาแฟมาดื่มแทน
...................................................................
|