|
|
|
|
|
|
|
|
พระธาตุดอยเวา
พระธาตุดอยเวา อยู่ที่ชายแดน อำเภอแม่ส่าย ก่อนถึงด่านชายแดนไทยพม่าสัก ๑๐๐
เมตร ผมไปหลายครั้งแล้ว แต่ขึ้นไม่ถึงองค์พระธาตุสักที ทั้งนี้ด้วยความที่เป็นคนสูงวัย
พอไปถึงลานจอดรถเชิงดอย เดินขึ้นไปไหว้พระสังกัจจายน์แล้ว มองดูบันไดขึ้นสู่พระธาตุ
เห็นสูงชันก็หมดแรงที่จะขึ้นไป และจะมีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาถามว่า ซ้อนท้ายขึ้นพระธาตุไหม
คนละสิบบาท ผมไม่ถูกกับการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ตัวสูง ขายาว นั่งแล้วกลัวขาจะลากดินเลยไม่ชอบ
และมีทางรถขึ้นได้แต่รถที่มาเที่ยวตลาดชายแดนแม่สาย จะจอดกันเต็มข้างทางยาวขึ้นไปเลยทีเดียว
มองดูแล้วเหมือนเอารถขึ้นไม่ได้ ไม่มีที่จอดรถ จึงเป็นสาเหตุที่ไปทีไร ไม่ได้ขึ้นไปไหว้องค์พระธาตุดอยเวา
สักที
ผมพักที่พะเยา เพราะโรงแรมราคาถูกดี ตื่นเช้าก็ออกเที่ยว ตกค่ำกลับมานอนพะเยาใหม่
พะเยากับเชียงรายห่างกันเพียว ๙๖ กม. รถวิ่งชั่วโมงเดียว เริ่มต้นไปเที่ยวยังวัดที่ผมขอยกย่อง
พระอาจารย์ ไพบูลย์ สุมังคโล หรือปัจจุบัน สมณศักดิ์ของท่านคือ พระราชสังวรญาณ
ผู้สร้างวัดอนาลโยทิพยาราม ผมเล่าเรื่องวัดอนาลโย ฉบับย่อไว้แล้ว และบอกว่า
กินอาหารกลางวันที่บนดอยตรีเพชร หรือที่ตั้งพุทธอุทยานของวัดอนาลโย แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดของการไปชิมอาหาร
หมดสัมปทานเสียก่อน จึงขอยกเอามาชวนชิมกันในสัปดาห์นี้ ไปวัดอนาลโย จ.พะเยา
ควรได้ชิมอาหารที่ร้านชื่อเก๋ให้ได้สักมื้อ หลาวพ่อเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้สร้างอุทยานพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้
ได้บอกกับเจ้าของรานที่เคยอยู่ในอเมริกามานาน ถึงสามสิบปีว่า บ้านนี้ชื่อ
"สันปูเลย" หลวงพ่อเองก็ชอบดอกกุหลาบ จึงขอตั้งชื่อร้านตามชื่อนั้น ทางจะขึ้นไปยังวัดอนาลโย
ก่อนถึงลาดจอดรถของวัด ก็เลี้ยวขวาไปตามป้ายไปอุทยาน ฯ พอหักขึ้นเขาทางซ้ายก็จะพบป้ายบอกไปร้านอาหาร
วิ่งไปผ่านสังเวชนียสถาน ไปตามป้ายก็จะพบลานจอดริมเขา บนร้านจะมองเห็นกว๊านพะเยา
จัดร้านกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่ล้อมรอบร้านอยู่ เงียบสงบ คนไม่พลุกพล่าน โต๊ะอาหารเอาเปลือกไม้หนา
ๆ มาทำเป็นโต๊ะ เอากระจกหนามาวางเป็นพื้นโต๊ะ มื้อที่เหมาะคือ มื้อกลางวัน
สั่งมาดังนี้
แกงเขียวหวานไก่ รสเข้มข้น ราดข้าวสวยร้อน ๆ วิเศษนัก
ปลาทับทิม ๓ รส เป็นปลาสดจากกว๊านพะเยา แต่นำมาทอดบนครัวภูเขา เผ็ด อร่อย
ไก่ชุบแป้งทอด หมักเนื้อไก่จนเข้ารส ทอดแล้วกรอบนอก นุ่มใน มีผักสลัดวางเคียง
ราดด้วยน้ำสลัดน้ำข้น จานนี้จบแล้วไม่มีอะไรเหลือไว้ให้ชม
ต้มยำปลาบึก ปลาเพาะเลี้ยงในกว๊านพะเยา น้ำร้อนโฉ่ ซดเด็ด ปลาบึกเนื้อแน่น
อิ่มแล้ว รีบไปแม่สาย จากพะเยา วิ่งมายังเชียงราย แวะวัดสำคัญเสียก่อน ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งแล้ว
และไปทีไรก็ได้เห็นการก่อสร้างที่แสนจะงดงาม และไม่มีการหยุดนิ่งในการก่อสร้าง
ผู้สร้างคือ อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พะเยา มีวัดอนาลโย ที่ไม่เคยหยุดงานก่อสร้าง
เชียงรายก็มีวัด
"ร่องขุ่น"
ที่ไปครั้งใดก็เห็นสิ่งแปลกใหม่ ๆ ทุกครั้งไป ผมไปครั้งสุดท้ายเมื่อไปทอดผ้าป่า
ที่วัดฝั่งหมิ่น ซึ่งต้องผ่านวัดร่องขุ่น ไปก่อน ไปคราวนี้ได้เห็น หอแสดงภาพ
และจำหน่ายภาพ ของที่ระลึกต่าง ๆ อ.เฉลิมชัย สร้างวัดร่องขุ่น ในพื้นที่ของวัดเดิม
ซึ่งเป็นวัดในบ้านเกิด เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ และสร้างโดยไม่มีการเรี่ยไร
จะอาศัยปัจจัยจากผู้ชื่นชมในผลงานเขียนภาพ ซื้อภาพ ซื้อของที่ระลึก นำมาสร้างวัดราคาหลายสิบล้านบาท
หรือจะถึงร้อยเข้าไปแล้ว ก็ไม่ทราบ อุโบสถงามมากสีขาว ล้อมด้วยกำแพงแก้วสามชั้น
ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นรูปนาค มกร และสัตว์ในเทพนิยาย
หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นสีขาว เป็นรูปพระพุทธองค์ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง
ด้านหลังองค์พระประธานเขียนภาพพระพุทธองค์ไว้ การก่อสร้างจะมีหมู่กุฎิ วิหาร
เมรุ ศาลาราย พิพิธภัณฑ์ ศาลารับรอง ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างตามกำลังเงิน
ที่จะหาได้ ไม่รบกวนใคร ไม่ทอดผ้าป่า
เส้นทาง หากมาจากพะเยา พอพ้นทางแยกซ้ายไปแม่สรวย (กลับเชียงใหม่ได้ ) ไปแล้วประมาณ
กม. ๘๑๖ แยกซ้ายเข้าไปวัดอยู่ซ้ายมือ ที่จอดรถอยู่ขวามือ เดี๋ยวนี้มีร้านค้าขายสินค้า
และของที่ระลึก สุขามีทั้งทางร้านค้า และด้านหลังอุโบสถ บรรยายแล้วจะเห็นภาพความงามไม่ถึงหนึ่งในร้อย
ลองชมภาพที่นำมาลง และไปดูเองกับตา จะดีที่สุด
วัดพระแก้ว
จากวัดร่องขุ่น วิ่งไปผ่านอนุสาวรีย์พ่อขุนมังราย
เลยต่อไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำกก แล้วเลี้ยวซ้ายจะไปยังวัดพระแก้ว และหากตรงไปจะไปยัง
วัดพระธาตุดอยจอมทอง
ดอยจอมทองนี้สร้างมาก่อนเมืองเชียงราย พ่อขุนมังรายกำหนดให้ดอยจอมทองเป็นสะดือเมือง
หรือกลางใจเมืองของเชียงราย ส่วนวัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าเยี๊ยะ หรือป่ายะ
แต่เมื่อฟ้าผ่าลงมาต้องเจดีย์ในปี พ.ศ.๑๙๗๗ จึงได้พบพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดพระแก้ว
ปัจจุบันสร้างพระหยกเชียงราย ประดิษฐานอยู่ในหอพระหยก ซึ่งเป็นอาคารไม้ทรงมณฑปประดับไม้แกะสลักสีทอง
วัดงำเมือง
อยู่ด้านหลังวัดพระแก้ว เป็นที่ตั้งของกู่พญามังราย
จากตัวเมืองเชียงราย ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำกกไปอีกประมาณ ๒๘ กม. ก็จะถึง อ.แม่จัน
ซึ่งจากสี่แยกจะมีทางแยกขวาไปยัง อ.เชียงแสน หากตรงไปก็จะไปผ่านทางแยกซ้าย
ขึ้นดอยแม่สลอง
(ถนนสาย ๑๑๓๐) ไปผ่านทางแยกขึ้นดอยตุง
(สาย ๑๑๔๙) ผ่านแยกซ้ายเข้าวัดถ้ำปลา
(กม.๘๗๗) แยกซ้ายเข้าขุนน้ำนางนอน
(กม.๘๘๓) ไปยัง อ.แม่สาย ซึ่งแม่สายทุกวันนี้ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว แม่สายอยู่ติดกับท่าขี้เหล็กของพม่า
ซึ่งพม่าได้สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองเอาไว้
(คงคิดว่าขู่ไทยได้) ให้หันหน้ามาทางไทย สร้างเจดีย์ชเวดากอง
จำลอง แต่เล็กว่าของจริงหลายเท่า สินค้าที่ขายฝั่งพม่า
ฝั่งไทยก็มีขายเช่นเดียวกัน และคนขายก็มักจะเป็นคนพม่าเช่นกัน ไม่นึกอยากไปต่างประเทศจริง
ๆ ขอร้องว่าอย่าข้ามไป ยิ่งการเอารถข้ามไประวังตรงวงเวียนให้ดี ๆ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางจราจร
พม่าขับรถทางขวา ไทยขับรถทางซ้าย ถึงวงเวียนที่ห่างชายแดนสัก ๕๐๐ เมตร ต้องเลี้ยวขวาทันที
แต่กฎจราจรไทยต้องเลี้ยวซ้ายอ้อมวงเวียน ตำรวจพม่าจะดักอยู่ จะปรับถึง ๑,๕๐๐
บาท ไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าไป และยังต้องทำใบผ่านแดน เสียค่าธรรมเนียมฝั่งไทยและค่าเหยียบแผ่นดินพม่าอีก
ซื้อของฝั่งไทยราคาพอ ๆ กัน พูดกันรู้เรื่อง แม้คนขายส่วนใหญ่คือหนุ่มสาวพม่า
พระธาตุดอยเวา
ทางขึ้นอยู่ก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองสัก ๕๐ เมตร วิ่งผ่าน สภ.อ.แม่สาย ไปนิดเดียว
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนแคบ ๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านขายของหรือเพิงสารพัดสินค้าแน่นไปหมด
เมื่อเลี้ยวเข้ามาสัก ๕๐ เมตร ก็จะถึงอุโบสถของวัดพระธาตุดอยเวา มีลานจอดรถเก็บสตางค์คันละ
๓๐ บาท ไม่กำหนดเวลา มีสุขาสร้างแบบผสมพออาศัยได้ วันหยุดลานจอดรถจะแน่นและหาที่จอดรถในแม่สายยากมาก
ไปเที่ยววันราชการแหละดี หาที่จอดง่ายหน่อย หากยังไม่จอดที่ลานก็เอาวรถวิ่งต่อไปถึงเชิงบันไดขึ้นสู่พระธาตุ
และมีพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่อยู่เชิงบันได หากนำรถขึ้นสู่ลานที่หน้าองค์พระธาตุ
ให้ขับด้วยความระมัดระวังเพราะทางแคบ และชันพอสมควร เมื่อขึ้นไปแล้วมีลานพอจอดได้บ้างหรือจอดริมถนน
มีหอชมวิว และศาลาชมวิว หากชมวิวบนนี้ก็จะมองเห็นบริเวณจุดผ่านแดนไทย - พม่า
เห็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย สะพานนี้เชื่อมต่อระหว่างไทยกับพม่า เห็นสภาพบ้านเรือนของชาวพม่าที่ฝั่งท่าขี้เหล็กนั้นระดับจังหวัด
ฝั่งไทยเป็นอำเภอ แต่ความเจริญฝั่งอำนาจเจริญกว่ามากนัก เว้นได้เห็นการก่อสร้างที่เป็นศิลปะของพม่า
เห็นวิถีชีวิตของผู้คนชายแดน มีกล้องส่องทางไกลติดมือไปด้วยก็จะได้ชมพม่าถนัดตา
และเห็นเจดีย์ชเวดากอง จำลอง
ประวัติพระธาตุดอยเวา เชื่อกันว่ามีอายุนานกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว สร้างโดยพระองค์เวา
ผู้ครองนครโยนกนาคพันธ์ เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์สีทองแบบล้านนา
บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ ปล้องไฉนสี่ชั้นรองรับองค์ระฆังขนาดเล็ก
ฐานกว้างประมาณ ๔ ม. สูง ๑๕ ม.
ริมลานด้านหน้าที่มองไปยังฝั่งพม่า สร้างแมงป่องตัวโตไว้ตัวหนึ่ง อธิบายว่าคำว่า
"เวา" หมายถึงแมงป่อง เลยสร้างตัวแมงป่อง หันหน้าไปสู้กับบุเรงนอง
ตลาดชายแดนแม่สาย
สินค้ามีขายสองฟากถนน สินค้าจะมีมากทางฝั่งซ้ายมากกว่าทางฝั่งขวา และเดี๋ยวนี้ร้านค้ารุกเข้าไปตามตรอก
ตามซอกทุกสายแล้วเต็มไปหมด สินค้าส่วนใหญ่มาจากจีนและราคาจะถูก รวมทั้งคุณภาพก็ถูกตามไปด้วย
ผมเคยซื้อนาฬิกาปลุกเรือนละ ๒๐ บาท ซื้อมา ๖ เรือน เขาก็ตั้งปลุกให้ดู เห็นปลุกได้ก็พอใจลืมมองไปว่าเข็มวินาทีเดินหรือเปล่า
กลับมา ๖ เรือน เดินได้ ๒ เรือน แต่ปลุกได้ ๖ เรือน ตั้งแต่นั้นมาจะซื้อนาฬิกา
วิทยุ เทป ของเล่นเด็ก ต้องให้ทดลองดู หรือซื้อซีดี ก็เช่นกัน ใครจะไปนั่งทดลองฟังทุกแผ่น
ปรากฎว่า ๑๐ แผ่น ๑๐๐ บาท มีเพลง ๓ - ๔ แผ่น ก็เคยเจอกันมาแล้ว จ่ายสนุก เพราะสินค้าราคาถูก
แต่ให้ระวังคุณภาพให้ดีและต้องพอรู้ราคาจะได้ต่อเป็น ซอยที่เอารถเข้าไปยังลานอุโบสถของวัดพระธาตุดอยเวานั้นยาวสัก
๕๐ เมตร แต่มีเงินสักแสนก็ไม่พอซื้อ เพราะสินค้าสารพัดชนิด หากขี้เกียจเดิน
ซื้อสินค้าเฉพาะในซอยนี้เงินก็แทบจะหมดแล้ว และสะดวกด้วย ซื้อแล้วเดินกลับมาเก็บของที่รถ
แล้วย้อนออกไปซื้อใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อข้างนอกริมถนน สินค้ามีเหมือนกันรวมทั้งขนมและผลไม้ด้วย
ผลไม้ขึ้นจากเรือที่เชียงแสน จะซื้อให้ถูกกว่าต้องซื้อที่เชียงแสน ขายอยู่ริมฝั่งโขง
ตั้งร้านค้าเพิงขายกันจนมองแทบไม่เห็นแม่น้ำโขง แล้วผมพาไปชิมอาหารเที่ยงที่บนอุทยานศาสนาของวัดอนาลโยมาแล้ว
มาแม่สายกลัวเสียเที่ยวเลยชิมเป็นอาหารบ่าย และไม่มีเวลาไปตระเวนหาร้าน ซึ่งความจริงตั้งใจจะมาชิม
"ข้าวแรมฟีน" อาหารพื้นเมืองของชาวไทยใหญ่ มีแรมฟีนขาว แรมฟีนถั่ว และข้าวแรมฟีนทอด
เคยหาเจอร้านเดียวหน้าโรงภาพยนตร์เก่าที่เลิกฉายไปแล้ว วันนี้หาไม่เจอ เลยต้องไปชิมอาหารบ่ายที่ร้านเก่า
ขากลับมาจากชายแดนจะอยู่ในซอยเทศบาล ๑๔ เข้าซอยไปสัก ๒๐ เมตร เลี้ยวขวาเข้าร้านอยู่ทางซ้ายมือ
ร้านคือในบ้าน ได้ชิมข้าวซอยน้ำเงี้ยว ลาบเหนือ แกงอ่อม ฯ ไม่เสียเที่ยวมาเมืองเหนือ
.......................................................
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|