ฉะเชิงเทรา
(๑)
แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต
พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร
|
พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย
อ่างฤาในป่าสมบูรณ์
|
ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตะวันออก จึงอยู่ในกลุ่มจังหวัดชายทะเลตะวันออก
มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงในอดีตฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นฐานะเป็นเมืองจัตวา
อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมาฉะเชิงเทราก็เปลี่ยนไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย
จนกระทั่งมีการแปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นระบบมณฑลฉะเชิงเทราก็มีฐานะเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลปราจีนบุรี
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้เปลี่ยนจากเมืองมาเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา
คำว่าฉะเชิงเทราเป็นภาษาเขมรแปลว่า
"คลองลึก" ส่วนอีกชื่อที่เรียกกันและเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากเสียยิ่งกว่าฉะเชิงเทราคือ
ชื่อ "แปดริ้ว"
มาจากคำบอกเล่าที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า ในแม่น้ำเมืองนี้ปลาช่อนขนาดใหญ่ชุกชุมมาก
เมื่อนำมาทำเป็นปลาแห้งจะแล่แนื้อปลาออกได้ถึงแปดริ้ว เลยเอามาเรียกเป็นชื่อเมือง
เมืองแปดริ้วเรียกอย่างไม่เป็นทางการ
ฉะเชิงเทรามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกมะม่วงมากที่สุดในประเทศ
และหลักฐานแสดงว่าเป็นเมืองเกษตรกรรมที่นำสมัยมาช้านาน เห็นได้จาก "บันทึกรูปปูนปั้น"
บนเชิงชายของอุโบสถวัดสัมปทวนนอก
เป็นบันทึกที่เก่าแก่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองฉะเชิงเทราในอดีต ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวแปดริ้ว
เป็นเกษตรกรที่มีความสามารถทางชลประทาน รู้จักการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล บริเวณชายฝั่งแม่น้ำบางประกง
ที่น้ำทะเลท่วมขึ้นมาถึง คลองบางขนากเป็นคลองแรกที่ขุดขึ้นมา
เพื่อขยายพื้นที่การปลูกข้าว และใช้เป็นเส้นทางลำเลียงข้าว คลองนี้ขุด เมื่อ
พ.ศ.๒๓๑๘ ระหว่างที่ไทยมีปัญหากับญวน จึงขุดเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการทหารด้วย
กลุ่มชนต่าง ๆ
ในฉะเชิงเทรามีหลายเชื้อชาติด้วยกันคือ เขมร ลาว รามัญ จีน และไทย
- ชาวจีน นั้นเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๓ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปราจีนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่
๔ ชาวจีนที่อยู่ในเมืองฉะเชิงเทรา ได้ขยายตัวมาตั้งหลักแหล่งในเขตบ้านท่าเกวียน
และบ้านเกาะขนุน
เพราะเป็นแหล่งชุมนุมทางการค้าและการคมนาคม บ้านท่าเกวียน เป็นชุมทางของเกวียนที่เดินทางมาจากบ้านโคกปีป
บ้านท่าลาด เป็นแหล่งที่นำสินค้าของป่ามาลงเรือเพื่อต่อไปยังเมืองแปดริ้ว
- ชาวลาว
ได้อพยพมาจากเวียงจันทร์ เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองกาย
อำเภอพนมสารคาม นอกจากนี้ยังมีตั้งถิ่นฐานที่คลองท่าไข่
อำเภอเมือง และอำเภอสนามชัยเขต
มีทั้งลาวพวน ลาวเวียง
และลาวเมืองพลาน
ส่วนที่อำเภอสนามชัยเขตมีลาวเวียง
ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลท่านา ตำบลตู้ยายหมี
- ชาวรามัญ
ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณคลอง ๑๔ ตำบลดอนฉิมพลี
อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และตำบลพิมพา
อำเภอบางปะกง
- ชาวเขมร
ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลดงยาง
และบ้านสระสองตอน
ในเขตอำเภอพนมสารคาม
ในอดีตได้มีชาวเขมรถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเขตพนมสารคาม จำนวนหนึ่ง และให้สังกัดกรมกองตามระบบ
ในสมัยนั้นมีหน้าที่การงานที่ต้องทำให้แก่ทางราชการ เช่นเป็น "เลกคงเมือง"
จะมีหน้าที่อยู่เวรประจำการ ทำงานโยธา อีกพวกหนึ่งเป็น "เลกส่งส่วย"
เช่น ส่วยทองคำ ส่วยเร่ว
และยังมีเขมรอยู่ที่บ้านแปลงยาง บ้านหัวสำโรง
ในเขตอำเภอแปลง
ยาวมีการสร้างวัดประจำหมู่บ้าน และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาของตนไว้
การเดินทางไปจังหวัดฉะเชิงเทรา
ไปได้ ๓ เส้นทาง และเหมาะที่จะไปเที่ยวโดยไม่ต้องไปค้างคืนเพราะอยู่ห่างจากกรุงเทพ
ฯ เพียง ๘๒ กม. ถนนดีตลอด เป็นถนนสี่เลนในสายหลัก ไปแต่เช้าไปหาอาหารกินตั้งแต่เมื้อเช้า
มื้อกลางวันแล้วต่อด้วยมื้อเย็นอีกมื้อหนึ่งก็ได้ เพราะหลังมื้อเย็นขับรถสบาย
ๆ ชั่วโมงเศษ ก็ถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว
- เส้นทางหลัก
จากกรุงเทพ ฯ ไปตามถนนรามอินทราไปผ่านมีนบุรี
ไม่ทันถึงตัวอำเภอก็แยกซ้าย เข้าถนนสาย ๓๐๔
ไปฉะเชิงเทราได้เลย
- เส้นทางที่ ๒
จากกรุงเทพ ฯ ไปรังสิตแล้ววิ่งเลาะเลีบยคลองรังสิต
พอผ่านอำเภอองครักษ์ก็จะมีทางแยกไปอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
จังหวัดฉะเชิงเทราและต่อไปอำเภอเมืองได้เลย
- เส้นทางที่ ๓
ไปตามถนนบางนา - ตราด
จนถึงบางปะกงแล้วแยกซ้ายไปฉะเชิงเทราได้
กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ
มี ๓ รายการ คือ.-
- การล่องเรือตามลำน้ำบางปะกง
ลำน้ำบางปะกงนี้มีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพง บนที่ราบสูงโคราช ไหลผ่านปราจีนบุรี
(เรียกว่า แม่น้ำปราจีนบุรี)
ผ่านอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา จะเรียกว่า แม่น้ำแปดริ้ว
ผ่านอำเภอบางคล้า อำเภอเมือง ฉะเชิงเทรา และไหลออกทะเลที่อำเภอบางปะกง รวมระยะทาง
๒๓๐ กม. การท่องเที่ยวทางเรือในลำน้ำบางปะกง จะเริ่มไปจากอำเภอเมืองเพื่อชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ
ชมบ้านเรือนเรือกสวน ซึ่งยังคงสภาพความเป็นอยู่อย่างคนไทยโบราณไว้เป็นส่วนใหญ่
จะผ่านสถานที่ที่น่าสนใจ เช่นอาคารตำหนักกรมขุนมรุพงศ์ศิริวัฒน์ป้อมและกำแพงเมืองโบราณ
อาคารศาลากลางหลังเก่า กลุ่มเรือนแพสมัยเก่า วัดวาอารามมีทั้งวัดไทย
วัดจีน วัดฝรั่ง เช่น วัดสัมปทวน วัดแหลมใต้
วัดสายชล วัดเว็นต์ปอล ไปขึ้นฝั่งที่วัดโพธิบางคล้า
เพื่อชมค้างคาวแม่ไก่ รวมระยะทางวิ่งเรือทวนน้ำขึ้นไป ประมาณ ๒๕ กม. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ
๓ ชั่วโมง เช่าเรือหรือไปลงเรือที่จัดทัวร์ได้ที่ท่าน้ำวัดโสธรวรารามวรวิหาร
หรือที่ท่าน้ำหน้าตลาดมีเรือหางยาว แต่ไปหาลงที่หน้าวัดสะดวกกว่า
- ล่องเรือรอบเกาะลัด
ที่อำเภอบางคล้าจะมีเรือท่องเที่ยวรอบเกาะลัด ซึ่งเกาะนี้อยู่ที่ปากน้ำโจ้โล้
หรือเจ้าโล้ รอบเกาะลัดจะได้ชมวิถีชีวิต
และบ้านเรือนของชาวเกาะลัด ผ่านพระสถูปเจดีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่ปากน้ำโจ้โล้ ผ่านวัดโพธิ์บางคล้า
ไปเช่าเรือให้ไปที่ริมน้ำติดที่ว่าการอำเภอบางคล้า ที่สวนอาหารริมน้ำ เขายกป้ายบอกไว้
ค่าเรือคนละ ๖๐ บาท เรือออกทุกวัน เวลา ๑๗.๐๐ เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ จะมีเรือรอบ
๑๒.๐๐ ด้วย
- ล่องเรือชมปลาโลมา
บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง
ปลาโลมาจะมาจากอ่าวไทย ตามแหล่งอาหารเข้ามา โดยจะเข้ามาในระหว่างเดือนพฤศจิกายน
- มกราคม ของทุกปี ปลาดุกทะเลอาหารจานโปรดของปลาโลมาจะมีชุกชุมมาก ปลาโลมาจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง
ประมาณ ๔๐ - ๕๐ ตัว และจะกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำพร้อม ๆ กัน ครั้งละหลาย ๆ ตัว
พันธุ์ที่พบมากคือ พันธุ์หัวบาตร
(สีเทา) พันธุ์ปากขวด
(สีเทาและสีชมพู)
การชมปลาโลมาโดดขึ้นมาให้ชมนั้น เวลานี้คนไปชมอาจจะผิดหวังบ้างก็ได้ เพราะเมื่อก่อนนี้มีเรือไปลอยลำชมปลาโลมาโดด
หรือว่ายกันน้อย ปัจจุบันมีเรือไปชมมากเกินไป ปลาไม่อยู่อย่างธรรมชาติจึงโดดหรือว่ายมาให้เห็นน้อยไป
หากคนชมไปกวนมากเข้านานไปก็คงจะไม่มีมาให้ชม
นอกจากนี้ในเส้นทางล่องเรือยังผ่านป่าชายเลน
ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และนกนานาชนิด อาทิ นกกาน้ำ นกแสก นกกระยาง นกนางนวล
นกกระเต็น ค้างคาวแม่ไก่ และลิงแสม เป็นต้น
จุดลงเรือชมปลาโลมา ถามข้อมูลได้จากเทศบาลท่าข้าม ๐ ๓๘๕๗ ๓๔๑๑ - ๒ ลงเรือที่ท่าเรือหมู่
๑ ศาลเจ้าแม่ทับทิม
โทร ๐ ๓๘๕๗ ๓๔๓๔ และท่าเรือหมู่ ๘ บ้านคลองตำหรุ
เส้นทางท่องเที่ยว
ฉะเชิงเทรานั้นเป็นแหล่งสรรพาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งทีเดียว หากมาจากกรุงเทพ
ฯ ตามถนน ๓๐๔ พอเริ่มเข้าเมืองผ่านหลังสถานีรถไฟ ซึ่งตัวสถานีจะอยู่ทางด้านซ้ายตรงข้ามกับสถานีรถไฟ
มีร้านขนมเปี๊ยะอร่อยลือชื่อตั้งขายมานานหลายสิบปี ร้านนี้มีถึง ๓ ร้าน คือที่ตลาดบางคล้าร้านหนึ่งเป็นร้านต้นตระกูล
แต่สร้างใหม่เพราะร้านดั้งเดิมอยู่ในย่านไฟไหม้ใหญ่ ไหม้ย่านนั้นวอดไปหมด
ร้านที่สองมาเปิดที่ตรงข้ามสถานีรถไฟนานเกินสิบปีมาแล้ว เป็นร้านห้องเดียว
ร้านที่ ๓ พึ่งเปิดใหม่ ตั้งอยู่ริมถนนสาย ๓๐๔ ในเส้นทางจาก อ.เมืองฉะเชิงเทรา
ไป อ.บางคล้า ประมาณ กม.๑๒ - ๑๓ สร้างเป็นร้านใหญ่โตมาก เวลาไปบางคล้าจะอยู่ทางขวามือ
สร้างเหมือนศาลเจ้า เข้าไปในตัวร้านเขาจำลองหน้าร้านเก่าแก่ของเขาเอาไว้ให้ชม
ร้านเดิมของเขาเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ จัดร้านสวยน่านั่ง มีที่นั่งให้ด้วย
มีกาแฟขาย มีชาจีนให้ดื่มฟรี อย่าลืมซื้อขนมเปี๊ยะของเขานั่งกิน ซดน้ำชา หรือสั่งกาแฟมาซดด้วยก็แล้วกัน
ขนมเปี๊ยะหลังสถานีอีกร้านหนึ่ง ร้านดั้งเดิมอยู่ในตลาดอำเภอบางคล้าเช่นกัน
เดี๋ยวนี้ก็ยังเปิดอยู่ มีซาละเปาอร่อยขายหน้าร้านด้วย เอาไว้ตอนไปบางคล้าผมจะพาไปชิมอีกที
เลยร้านขนมเปี๊ยะหลังสถานีรถไฟไปแล้ว ทางขวามือจะพบร้านอาหารเช้าที่อร่อย
ผมถึงบอกว่าหากขับรถมาเที่ยวแปดริ้วให้มาตั้งแต่เช้าเลยจะได้หาอาหารอร่อยกินกัน
๓ มื้อ หรืออย่างน้อยก็ ๒ มื้อ เช้าและเที่ยง เอากันให้คุ้มค่าที่ขับรถมาและไม่ไกลด้วย
ข้าวมันไก่หลักเมือง หากไปจังหวัดปราจีนบุรีตรงข้ามศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ถนนริมแม่น้ำจะมีร้านข้าวมันไก่ตั้งเรียงกันอยู่ถึง ๓ ร้าน อร่อยทั้ง ๓ ร้าน
๑ ใน ๓ ร้านนั้นมาเปิดสาขาอยู่ที่ถนนมหาจักรพรรดิ์คือ ถนนสายหลังสถานีรถไฟแปดริ้ว
ร้านนี้อยู่ห่างจากร้านขนมเปี๊ยะ ประมาณ ๒๐๐ เมตร
ร้านก๋วยเตี๋ยว อยู่เลยร้านข้าวมันไก่มาหน่อยหนึ่ง ฝั่งขวาเช่นกัน ก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้ชิมกันมานาน
คงเกินกว่า ๒๐ ปีแล้ว ซดน้ำยามเช้าชื่นใจนัก จะซื้อลูกชิ้นกลับมาเด้งต่อที่บ้านก็ได้
ข้าวมันไก่เนี้ยว มีรับรองความอร่อยโดยเชลล์ชวนชิม อยู่เลยร้านก๋วยเตี๋ยวหมูไปอีกหน่อย
ร้านใหญ่ขนาด ๒ ห้อง อยู่ฝั่งเดียวกัน ขายมานานเต็มที ร้านจะอยู่ติดกับตลาดนัดกระเบื้อง
หากมองดูไก่ในตู้ (ตอนวิกฤตไก่คงแย่ไปพักหนึ่ง) ในยามเช้าจะมองเห็นไก่ตอนตัวอวบแขวนไว้น่ากินนัก
สั่งไก่สับมา ๑ จาน ไก่จะเนื้อขาวนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ย ได้เคี้ยว น้ำจิ้มไก่อร่อย
และยังมีหม้อซุปอีก ๔ หม้อ ไปชมก่อนก็ได้แล้วชี้เอาหรือถามเขาดู ไม่ได้แจกฟรี
และยังมีเป็ดย่างราดน้ำชุ่มฉ่ำ น่าลิ้มลอง จบอาหารเช้า
อิ่มแล้วแห่งแรกที่จะต้องไปเมื่อไปแปดริ้วหรือฉะเชิงเทรา คือ .-
วัดโสธรวรารามราชวิหาร
ไปได้หลายเส้นทางและจะพบป้ายบอกทางหลายเส้นทาง เช่นมาตามถนนมหาจักรพรรดิ ก็มีถนนแยกขวาเส้นนี้ก็ตรงไปวัดยโสธรได้
หรืออิ่มข้าวมันไก่ แล้ววิ่งตรงต่อไปจะถึงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ไม่ข้ามสะพานให้วิ่งลอดใต้สะพานเลี้ยวขวาวิ่งเลียบถนน
ผ่านวัดเมือง
(วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์)
ผ่านป้อมเมืองฉะเชิงเทรา
สุดทางที่กองพันทหารช่างให้เลี้ยวขวา
ไปผ่านอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร
(น้อย อาจารยางกูร)
ต่อไปก็จะถึงถนนหลัง หรือจะข้างของวัดก็ไม่ทราบ ผมไปครั้งสุดท้ายพระอุโบสถที่สร้างมานานกว่าสิบปีแล้ว
คือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ ยังไม่แล้วเสร็จสักที ทั้ง ๆ ที่เงินบริจาคมากมายมหาศาล
บริเวณรอบ ๆ วัดจึงยังไม่เรียบร้อย แต่ที่น่าชมทเชยคือ ทางวัดได้สร้างที่จอดรถสูงหลายชั้นอยู่ทางขวามือ
ขึ้นไปจอดได้ วัดยกป้ายเอาไว้เลยว่าจอดรถฟรี ที่จอดรถของวัดเมื่อสมัยก่อนนี้ตอนที่ยังไม่ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่
ผมเคยคุยกับท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดยโสธร ซึ่งท่านเป็น "หลวงลุง" ของ พล.อ.พิจิตร
กุลละวณิชย์ ท่านบอกว่าที่นี่มีอิทธิพลมาก วัดเข้าไปควบคุมไม่ได้ ที่จอดรถที่ลานก็มีคนบางพื้นที่คุมกันอยู่
และอีกหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งหลอกขายปลาปล่อย นกปล่อยด้วย เพราะผมโดนเข้ากับตัวเอง
เขาบอกว่า ๒๐ หรือ ๔๐ บาท นี่แหละจำไม่ได้แล้ว ไม่ว่าเป็นใครก็ต้องนึกว่าทั้งถุงหรือทั้งกรง
๔๐ บาท แต่พอปล่อยไปเรียบร้อยแล้วเขาก็แบบมือขอสตางค์เป็นตัวละ ๔๐ บาท ๑๐
ตัวก็เจอเข้าไป ๔๐๐ บาท โดนมากับตัวเอง และตั้งแต่นั้นมาก็เขียนประกาศให้ทราบทั่วกัน
และผมเองก็เลิกไปปล่อยนกปล่อยปลาที่วัดยโสธรอีก ทุกวันนี้แม้พระอุโบสถราคาพันล้านยังไม่แล้วเสร็จ
แต่ก็มีศรัทธาไปกันแน่น โดยเฉพาะวันหยุดแน่นจริง ๆ แน่นตังแต่เช้าเลยทีเดียว
จึงขอแนะนำว่าไปกินอาหารเช้าที่แปดริ้วแล้วรับไปไหว้หลวงพ่อโสธรเสียก่อน
เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดหงส์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโสธร
พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง
๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๔๘ เซนติเมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่ากันมาว่าเป็นพระพุทธรูปลอยทวนน้ำมา
ได้มีผู้อัญเชิญขึ้นมาจากน้ำ และอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิ
หน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงาม แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะถูกลักพาไป จึงได้เอาปูนพอกเสิรมหุ้มองค์เดิมไว้
จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบันนี้
ทางวัดได้รื้ออุโบสถหลังเก่าออก สร้างพระอุโบสถหลังใหม่งบประมาณการก่อสร้างถึงพันล้าน
ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาจังหวัด
พระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์
ถนนสายข้างวัดหรือหลังวัดนั้นอุดมไปด้วยร้านอาหาร ที่ชอบใจคือหน้าทางเข้าที่จอดรถฟรีของวัด
มีตลาดแผงลอยเล็ก ๆ ของวัด ตั้งแผงขายอาหารกันมากมาย ขนมนมเนยมีพร้อม ที่ชอบใจอีกอย่างคือ
ขนมจาก ที่ลือชื่อของปากน้ำสมุทรปราการนั้นมาอยู่กันที่นี่ แต่ไปเที่ยวปากน้ำเดี๋ยวนี้หาร้านขนมจากได้ร้านเดียวคือ
ร้านลิ้มดำรงค์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่ปิ้งขายกันหลายสิบเจ้าริมถนนสุขุมวิทนั้นเดี๋ยวนี้ยกแผงหนีหายไปหมดแล้ว
มาเจอที่วัดนี้หลายเจ้ารวมทั้งร้านขายหอยจ๊อจากตลาดหนองมน ก็ยกมาเปิดร้านขายแถว
ๆ นี้ด้วย
พาเที่ยวได้วัดเดียว แต่ต้องถือว่ามาฉะเชิงเทราวันเดียวก็คุ้มแล้ว
ตลาดบ้านใหม่
คำนี้ใช้ได้เมื่อร่วมร้อยปีมาแล้ว และคงเรียกกันเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
ซึ่งกลายเป็นตลาดเก่าแก่ที่สุดของฉะเชิงเทรา ลักษณะแบบตลาดเก่าหลังคาสูง มีร้านห้องแถวไม้
มีคนอยู่มากกว่าเป็นร้านค้า เป็นลักษณะของตลาดแบบนี้ทั่วไป เช่นตลาดเก้าห้อง
ที่ อ.บางปลาม้า ตลาดดอนหวาย ก่อนที่ผมจะไปทำให้เขาดัง มีร้านรวงนับร้อย และอีกหลายตลาดที่ยังเหลืออยู่
- เส้นทางไปตลาดบ้านใหม่
วิ่งมาตามถนนจักรพรรดิ์ จนถึงเชิงสะพานอย่าเผลอข้ามสะพานไป ให้เข้าถนนคุ่ขนานกับสุพานแล้วพบทางแยกซ้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน
"ชุมพล" วิ่งตรงเรื่อยไปจะผ่านร้านของอร่อยรวมทั้งขนมอีกหลายร้าน วิ่งเลยทางแยกขวาเข้าวัดแหลมใต้
(ที่ท่าน้ำมีแพขายอาหารจานเดียว ขนมปังราดน้ำแดงผมเรียกว่า ปังแดง) วิ่งเลยไปจนพบร้านทางขวาใหญ่โตมาก
สะอาดมาก เป็นโรงงานกุนเชียงที่อร่อยนัก ขายปลีก ขายส่ง เลยร้านไปจะลอดใต้สะพานรถไฟ
ให้ตรงต่อไปจะเป็นตึกสามชั้นอยู่ทางซ้ายมือ หากเลยไปนิดหนึ่งก็จะถึงประตูทางเข้า
วัดเทพนิมิตร ตึกสามชั้นคือหอพักสตรีทิพวรรณ ตรงข้ามกับหอพักทิพวรรณคือ ตลาดใหม่อายุร้อยปี
จอดรถริมถนนได้สะดวก เข้าตลาดไปแล้วจะมีแต่ห้องแถวไม้เป็นที่อยู่อาศัย เดินผ่านไปสักสิบห้อง
ก็จะเลี้ยวซ้ายไปแล้วจะเห็นตู้อาหาร หากเป็นวัดหยุดจะมีสาวตั้งกะทะทอดซาละเปาอยู่หน้าตู้อาหารสด
แต่งตัวหน้าตาสวยมองดูไม่รู้นึกว่าลูกค้า นึกสนุกไปขอเขาทอดซาละเปา หลังตู้อาหารและหน้าร้านมีที่นั่งอยู่
๕ - ๖ โต๊ะ หากเดินต่อไปอีกจะผ่านรถเข็นขายอาหารถุง เลยไปก็ลงท่าน้ำบางปะกง
เรือทัวร์จะพาลูกทัวร์มาเที่ยวที่ตลาดนี้
ร้านหรือโต๊ะเก้าอี้ที่ตั้งอยู่หลังตู้อาหารตรงนี้ติดกับศาลเจ้า คือร้านอาหารที่ลือลั่นของเมืองแปดริ้ว
เมื่อสมัยสัก ๔๐ ปีมาแล้ว คงจะเรียกว่าร้านสามสาว ตอนนี้สาวน้อยที่อายุน้อยที่สุดของร้านนี้อายุมากกว่า
๕๐ ปี และเป็นคนเดียวที่มีบุตรมีครอบครัว บุตรสาวก็ทอดซาละเปาอยู่หน้าร้านในวัดหยุด
ส่วนอีกสองสาวอายุปาเข้าไปร่วม ๗๐ ปีนั้นยังโสดทั้งคู่ การทำอาหารไม่เหมือนใครใช้เตาฟืนให้ความร้อนมีสองเตา
สามพี่น้องนี้ไม่ต้องมีลูกมือ เรียกว่าทำอาหารแบบสามประสาน ไม่ส่งเสียงเอะอะเลย
มารับคำสั่ง ถือใบสั่ง เดินไปเตรียมอาหาร อีก ๒ คน ก็จะเข้าหน้าเตา ทำเสร็จคนหน้าเตายกอาหารมาเสริฟ
อีกคนหนึ่งหมุนเข้าหน้าเตาแทน สังเกตคนสูงอายุกว่าเพื่อนเข้าหน้าเตาตลอดเวลา
อาหารอร่อยมาก ถูกมาก
เริ่มต้นด้วยการยกน้ำจิ้มมาวาง ๓ ถ้วย น้ำปลาพริก ซ๊อสพริก น้ำส้มพริกขี้หนูทุบ
เป็ดพะโล้ อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด น้ำพะโล้ก็อร่อย เข้าเนื้อ เนื้อเป็ดนุ่มนวลนัก
ไส้หมูทอด เสริฟมาบนผักกาดหอม เคี้ยวสนุก
ต้มยำกุ้งร้อนโฉ่ เสริฟมาในชาม ต้มยำกุ้งเห็ดฟาง
ปลาผัดกระเทียม เอาปลาทอดแล้วมาผัดต้นกระเทียม
คนพื้นบ้านเขาไม่ค่อยมากินอาหารตามสั่ง เขามักจะมากินก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และหมี่ผัด
หรือก๋วยเตี๋ยว ยังไม่เคยชิม อิ่มแล้ว เดินลึกเข้าไปหลังร้าน (ถามเขาดูก็ได้)
ไปกินกาแฟถุงนมยาย กาแฟโบราณขนานแท้ ร้านกาแฟเฮียคูณ ขายมานานพอ ๆ กับสามสาวนั่นแหละ
ร้านนี้ขายกาแฟอย่างเดียว เช้า ๆ เขาบอกว่าคอกาแฟดั้งเดิมของแปดริ้วจะมาสังสรรค์กันประจำ
|