ฉะเชิงเทรา
(๒)
ไปเที่ยวฉะเชิงเทรามีโปรแกรมนั่งรถไฟ ไปดูปลาโลมา ทีผมเกริ่นไว้เมื่อตอนที่แล้ว
คราวนี้ไปเจอโปรแกรมทัวร์ ซึ่งเขาแจกมาให้ ขอรับรองว่าผมไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับเขา
และยังไม่เคยไปกับเขาด้วย แต่เห็นว่าโปรแกรมของเขาน่าสนใจเลยคัดลอกเอามาให้ทราบ
เขาบอกว่าไปรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง "เพื่อไปเกาะป่าชายเลน ไปชมฝูงนกนับแสนและดินแดนโลมา"
นอกจากนี้เขายังมีรายการในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ล่องเรือชมปลาโลมา
ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง โดยจะล่องเรือจากวัดโสธร ฯ สู่ปากอ่าว ชมทัศนียภาพธรรมชาติที่งดงามของสวงฝั่งแม่น้ำบางปะกง
ชมความงามของต้นจาก ต้นลำพู (ลางลำภู กรุงเทพ ฯ เหลืออยู่ต้นเดียว ที่สวนสันติชัยปราการ)
ชมฝูงค้างคาวแม่ไก่ นั่งเรือไปถึงปากน้ำบางปะกงแล้วนั่งรถยนต์กลับเข้าเมืองก็เข้าท่าดีเหมือนนกัน
แต่หากรายการไปเช้าเย็นกลับจะมีอาหารบุฟเฟ่ต์บนเรือ ๑ มื้อ อาหารว่างอีกต่างหาก
คราวนี้เขาให้นั่งรถยนต์ไปจากวัดโสธร แล้วนั่งเรือทวนน้ำกลับขึ้นมายังวัดโสธร
ท่องเที่ยวในตัวเมืองฉะเชิงเทรา
ผมพึ่งพาไปแห่งเดียวคือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ทีนี้ไปเที่ยวต่ออนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร
(น้อย อาจารยางกูร)
หากเราไปวัดโสธร ฯ แล้วย้อนกลับมาทางฝั่งแม่น้ำ พอออกมาได้นิดเดียวจะพบสามแยกหากเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกนี้จะไปบรรจับกับถนนมหาจักรพรรดิ์ที่มาจากกรุงเทพ
ฯ ได้ ตรงหัวมุมถนนคือ อนุสาววรีย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ท่านผู้นี้เป็นชาวแปดริ้ว
เป็นนักปราชญ์ ภาษาไทยคู่พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช ท่านแต่งแบบเรียนภาษาไทยหลายชุด
นับว่าเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุด สำหรับเยาวชนไทยในยุคนั้น
ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา
ผ่านอนุสาววรีย์มาแล้วก็จะมาถึงประตูเข้าค่ายทหาร ชนกับแม่น้ำบางปะกง ถนนจะหักเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมรุพงษ์
เมื่อเลี้ยวซ้ายมาตามถนนเลียบแม่น้ำทางซ้ายมือคือ ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่
๓ เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ใช้เป็นที่ตั้งมั่นของกองทัพในการปราบกบฎอั้งยี่
(พ่อค้าฝิ่นเถื่อนชาวจีนที่ก่อความวุ่นวายปล้นสะดมชาวเมือง)
บริเวณหน้าป้อมจัดเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ (เมื่อปลายปี ๒๕๔๖ กำลังเร่งจัดทำน่าจะแล้วเสร็จในปี
๔๗ ) และมีปืนใหญ่ตั้งอยู่ตามกำแพงเมือง
วัดเมือง
(วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)
อยู่ตำบลหน้าเมืองเลย จากป้อมเมืองเลียบริมแม่น้ำมาอีกหน่อยจะถึงวัดเมือง
เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อม ๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง สร้างในปี
พ.ศ.๒๓๗๗ โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพ
ฯ ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น วัดนี้มีชื่อเมื่อแรกสร้างคือ "วัดเมือง"
แต่ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสฉะเชิงเทรา
และได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ "แปลว่าวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินสร้าง"
ศาลหลักเมือง
เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่อยู่ที่ถนนมรุพงษ์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทย หลังคาทรงจตุรมุข
ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ ภายในมีศาลหลักเมือง ๒
เสา เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบัน สร้างเมื่อ
พ.ศ.๒๔๓๘ อีกเสาหนึ่งเป็นเสาเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๗
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฉะเชิงเทรา
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด หรือจะเลี้ยวไปทางสามแยกที่หน้าอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหารก็ได้
เลี้ยวไปจากถนนข้าง ๆ ป้อมเมืองก็ได้ มีเนื้อที่ประมาณ ๙๐ ไร่ เป็นสวนสาธารณะ
มีสระน้ำขนาดใหญ่กลางสวน มีทางเดินรอบสระ มีต้นไม้ร่มรื่น และอนุสาววรีย์สมเด็จย่าประทับนั่งอยู่กลางสวน
หากมาตามเส้นทางถนนมหาจักรพรรดิ์ จนมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ไม่ข้ามสะพาน
ให้เข้าถนนคู่ขนาน แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนชุมพล เส้นทางที่จะไปยังตลาดบ้านใหม่
เส้นทางนี้มีวัดสำคัญหลายวัด
เมื่อเลี้ยวเข้าถนนชุมพลไปแล้ว (ถนนสายนี้กลางคืนมีรถเข็นขายอาหารมาก ขายกันเป็นหย่อม
ๆ ) จะพบสามแยก หากเลี้ยวขวาจะไปยังวัดแหลมใต้
ซึ่งผมได้เล่าไว้แล้วว่า
ที่วัดแหลมใต้นี้ มีแพอาหารที่ผมชวนชิมเอาไว้แพหนึ่ง ยังอยู่ที่เดิมขายอาหารจานเดียวเป็นส่วนใหญ่
แต่ที่ผมชวนชิมคือปังแดง อย่าไปสั่งเขาแบบนี้เดี๋ยวอดกิน เพราะเขาเอาขนมปังสดใหม่
ๆ หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม แล้วโปะด้วยน้ำแข็งใส ราดน้ำหวานสีแดง แล้วราดด้วยนมอีกทีหนึ่ง
พอสักครู่น้ำแข็งเริ่มละลายจะพาเอาความหวานเย็นเข้าไปในเนื้อขนมปัง ใช้ช้อนตักกิน
หวานเย็น ชื่นใจ เหลือประมาณ ผมเลยเรียกว่า ปังแดง แต่หากจะสั่งเขาคงขนมปังใส่น้ำหวาน
รายการอาหารอยู่บนกระดานข้างฝาของแพ นั้งในแพริมแม่น้ำเย็นสบายดีนัก
เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ
ประดิษฐานอยู่ที่สามคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ (ต่อถนนชุมพล)
เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ ๑ เมตรเศษ หนัก ๔๐ กิโลกรัม ทำจากเซรามิค เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๔๐ มีผู้พบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน
ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสสกันมาก
วัดพยัคฆอินทาราม
(วัดเจดีย์) ตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่
จากหลักฐานแผ่นเงินพบที่รอบแตกตรงคอระฆังของเจดีย์ใหญ่ แจ้งว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่
๕ โดยนายเสือหรือพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา กับภรรยาชื่ออิน
ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ส่วนวัดนั้นสร้างแล้วเสร็จในปี
พ.ศ.๒๔๒๔ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ ๑ องค์ เจดีย์องค์เล็ก ๑ องค์
วิหารพระพุทธบาท สุสานเก่า อุโบสถและหอระฆัง
วัดอุภัยภาติการาม
(วัดซำปอกง) อยู่ถนนศุภกิจ
เยื้องกับทางเข้าตลาดบ้านใหม่ ที่ผมพาไปชิมอาหาร มาแล้ว ภายในวัดมีวิหาร ลักษณะเหมือนศาลเจ้า
เดิมเป็นวัดจีน แต่ในปัจจุบันได้แปรสภาพกลายเป็นวัดญวนไปแล้ว วัดญวนในนิกายมหายานที่สำคัญคือมีหลวงพ่อโต
หรือนามพระราชทานว่า พระไตรรัตนนายก
หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "เจ้าพ่อซำปอกง"
ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง ๓ องค์ ขนาดไม่เท่ากัน แต่เรียกเหมือนกันว่า เจ้าพ่อซำปอกง
หรือหลวงพ่อโต หรือพระไตรรัตนนายก องค์ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่วัดพนัญเชิง
จ.พระนครศรีอยุธยา องค์ที่ ๒ อยู่ที่วัดกัลยาณมิตร
กรุงเทพ ฯ ทางฝั่งธนบุรี และองค์ที่ ๓ ซึ่งเป็นองค์เล็ก อยู่ที่วัดอุภัยภาติการาม
จ.ฉะเชิงเทรา หรือที่ชาวแปดริ้วเรียกว่า วัดซำปอกง ทั้ง ๓ วัดนี้ จะมีผู้คนที่ศรัทธาพากันไปกราบไหว้นมัสการกันมาก
โดยเฉพาะในวันเสาร์ - อาทิตย์ จะยิ่งมากกว่าวันธรรมดา และที่ฉะเชิงเทราจะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง
สิงคโปร์ และไต้หวัน ไปนมัสการกันเป็นประจำ
วัดจีนประชาสโมสร
อยู่ที่ถนนศุภกิจ ถนนสายเดียวกันนี้แหละ ชื่อจีนชื่อวัด
"เล่งฮกยี่" เป็นวัดที่ขยายหรือเป็นสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่
ที่อยู่ถนนเจริญกรุง ในกรุงเทพ ฯ วัดเล่งฮกยี่ เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
อยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๙ สิ่งที่น่าสนใจได้แก่
รูปปั้นขนาดใหญ่ของจตุโลกบาล และเทวรูปจีนอ้วยโห้ แต่งกายชุดนักรบ ไปขอลาภได้
นอกจากนี้มีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม
วิหารว่องอ้วนตี่ วิหารตี่ซังอ๋อง และสระนทีสวรรค์ เป็นต้น
วัดสัมปทวน
เดิมชื่อวัดสามพระทวน ตั้งอยู่ถนนศุภกิจ เป็นวัดเก่าแก่ มีตำนานเกี่ยวกับหลวงพ่อพุทธโสธร
มีอุโบสถที่มีลายปูนปั้นอยู่ด้านบนระเบียงโบสถ์ แสดงภาพพระเวสสันดรชาดก อีกด้านกนึ่งเป็นภาพวิถีชีวิตชาวแปดริ้วในอดีต
หน้าวัดมีหอพระงดงาม
บริเวณท่าน้ำจะมองเห็นเขื่อนทดน้ำบางปะกง
เขื่อนทดน้ำบางปะกง
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนป้องกันน้ำเค็ม ใช่อุปโภคบริโภคและจัดสรรน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
ไปเขื่อนนี้คงไปตามถนนศุภกิจ จะพบเขื่อนที่ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามแห่งหนึ่ง
บนสะพานข้ามแม่น้ำใกล้ ๆ เขื่อนจะมีชาวบ้านไปตกปลา ตกกุ้งกันบนสะพาน ถ้าเราจะกลับบ้านเลยในวันนั้นซื้อจากชาวบ้านมาเลยจะได้ของสดและถูก
ไม่สดได้หรือ ยังว่ายอยู่ในถัง
และเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางสายไปบางคล้าได้อีกเส้นทางหนึ่งไปยังสวนปาล์ม ฟาร์มนก
ผมไปแล้วเขาปิดเพราะเป็นฤดูนกของเขาจะไข่ วางไข่ คือนกแก้วมาคอร์ นกกะตั้ว
สุนัขพันธุ์ต่างประเทศ และต้นปาล์มมากกว่า ๑๐ สายพันธุ์
นอกจากในตัวเมืองฉะเชิงเทราแล้ว ยังมีนอกเมืองอีกหลายอำเภอที่จะไปเที่ยวได้และไม่ไกลกันนัก
เช่นที่อำเภอบางคล้า จะขอยกไปเล่ากัน ๑ ตอนเลยทีเดียว เพราะมีเรื่องเล่าแยะ
อำเภออื่น ๆ มีดังนี้ .-
&
อำเภอพนมสารคาม
มี "เขาหินซ้อน"
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลลข ๓๐๔ ซึ่งทางสายนี้หากมุ่งไปทางอีสานก็จะไปผ่านกบินทร์บุรี
ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จากนั้นก็จะวิ่งตรงต่อไป (หากเลี้ยวขวาไปสระแก้ว
เลี้ยวซ้ายไปปราจีนบุรี) ก็จะผ่านอุทยานแห่งชาติทับลาน
ไปโผล่เอาอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ไปได้จนสุดอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอีสานเหนือหรืออีสานใต้
ส่วนหากย้อนกลับมา ก็จะไปได้จนลงทะเลที่สัตหีบ
เขาหินซ้อน
เป็นภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ประมาณ กม.๕๓ (ห่างจากตัวเมือง ๕๓ กม.) ประกอบด้วยก้อนหินทรายขนาดใหญ่น้อย
รูปทรงต่าง ๆ เรียงรายกันอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น "สวนรุกชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ฯ" เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ด้านหลังของศาลนี้เป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน
และหากเราเข้าไปทางด้านหลังวัด ซึ่งจะมีเส้นทางถนนดินเข้าไปจะพบแหล่งที่เขาตักทราย
โดยทรายจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินไม่เท่าไร จะตักเอาไปขายได้เลย แต่คนซื้อไปจะต้องไปแยกด้วยตะแกรงออกมาเป็นประเภท
ทรายหยาบ ทรายละเอียด และทรายถมอีกทีหนึ่งจึงจะขายเพื่อนำไปก่อสร้างได้ แต่ไม่ใช่ทรายชั้นดีสำหรับการก่อสร้าง
ไม่เหมือนทรายที่อยู่ลึกเหมือนแถบอ่างทอง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
หากไปจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา จะถึงศูนย์ ฯ ก่อน ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน
ริมทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ กม.๕๑ - ๕๒ มีเนื้อที่ ๑,๙๒๙ ไร่ เป็นศูนยย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่
โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากส่วนราชการและเอกชน มีการแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์เพื่อทำการสาธิตและทดลองงานต่าง
ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร
มีแปลงทดลองปลูกพิชนานาชนิดเช่น พืชหวายที่มีในประเทศไทย อโวคาโด มะม่วงทุกข์พันธุ์ที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ
จัดเป็นสวนพฤษศาสตร์ภาคตะวันออก
เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชและสมุนไพรต่าง ๆ มีห้องอบสมุนไพร
เปิดบริการทุกวันพุธ พฤหัสบดี และเสาร์ - อาทิตย์ เขาว่าค่าบริการเพียงครั้งละ
๒๐ บาท ต้องใช้คำว่าเขาว่าไปก่อนเพราะยังไม่เคยโผ่เข้าไปอบสักที หากเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม
ต้องติดต่อล่วงหน้า และที่ศูนย์ ฯ ยังมีบริการที่พักและผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับกิจการเกษตร
โทร. ๐ ๓๘๕๙ ๙๑๐๕ - ๖
อำเภอสนามชัยเขต
อำเภอนี้ต้องไปถึงทางแยกเข้าอำเภอพนมสารคามเสียก่อนแล้วแยกขวาไปยังอำเภอสนามชัยเขต
แยกจากอำเภอพนมสารคาม
มาตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๕
ซึ่งจะไปผ่านสนามชัยเขต ต่อไปยังอำเภอท่าตะเกียบ
ไปบรรจบกับถนนสายสระแก้ว - จันทบุรี ได้
หากถนนสายนี้ได้รับการปรับปรุงให้ดี ไม่เป็นทางแคบและขรุขระอย่างปัจจุบันนี้แล้ว
(๒๕๔๗) ก็จะเป็นเส้นวทางลัดไป จ.จันทบุรี และสระแก้ว
ได้อีกเส้นทางหนึ่ง การไปจันทุบรีจะไปผ่านทางอำเภอโป่งน้ำร้อน
เข้าสู่ตัวเมืองจันทร์
จะใกล้กว่าไปจันทบุรีตามเส้นทางที่ผ่านไปทาง อ.แกลง
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน
หรือบ้านศาลติธรรม ไปตามสาย ๓๒๔๕
แล้วไปเลี้ยวขวาเข้าสาย ๓๒๕๙
ไปอีก ๓ กม. ภายในบริเวณเนื้อที่มากกว่า ๑๐ ไร่ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นพวกสมุนไพรรักษาโรค
มีบ้านไม้แบบไทยมุงด้วยกระเบื้องว่าว มีค่ายพักแรมสำหรับเยาวชน มีลานสันทนาการ
และบริเวณทำกิจกรรม โทร. ๐ ๓๘๕๙ - ๗๔๔๑, ๐ ๓๘๕๙ ๗๗๑๕
วัดพระธาตุวาโย
(วัดห้วยน้ำทรัพย์)
อยู่เลยอำเภอสนามชัยเขตไปอีกประมาณ ๙ กม. หน้าวัดจะมองเห็นพระพุทธรูปใหญ่
มีเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระเบื้องสีเหลือง น้ำเงิน ขาว งดงามแปลกตา สำหรับด้านในมีพระพุทธรูปจำนวนมาก
มีภาพเขียนสีน้ำเงินเป็นเรื่องราวการสร้างวัด มีบันไดขึ้นไปชั้นบนได้อีกหลายชั้น
ขึ้นไปแล้วจะชมทิวทิศน์รอบ ๆ บริเวณได้
อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง
มองเห็นจากยอดเจดีย์ อยู่เลยทางเข้าวัดไปหน่อยหนึ่ง แต่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก
ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก
อำเภอทำตะเกียบ
มีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ อำเภอนี้อยู่เลยอำเภอสนามชัยเขต ไปถนนสายเดียวกันคือ
๓๒๔๕ ต่อไปอีกคือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด
ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ ๔ กม. แยกไปตามเส้นทาง ๓๒๕๙ มีที่เล่นน้ำ
พายเรือ ตกปลา ขี่บริเวณริมอ่าง บริเวณอ่างเก็บน้ำมีศาลเจ้าพ่อเขากาจักรยาน
เดินป่า พักแรมด้วยเต้นท์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
ครอบคลุมพื้นที่มากถึง ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์พื้นสุดท้ายของภาคตะวันออก
เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านฉะเชิงเทรา คลองโตนด
ทางจันทบุรีและแม่น้ำประแส
ในจังหวัดระยอง มีสัตว์นานาชนิด มีน้ำตกอ่างฤาไน
หรือน้ำตกบ่อทอง
เส้นทาง
๓๒๔๕ ไปจนถึง อ.ท่าตะเกียบ
แล้วแยกไปตามเส้นทางบ้านหนองคอก
ระยะทาง ๕๐ กม. แล้วเข้าเส้นทางไปวังน้ำเย็นอีก ๑๕ กม. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุกแห่ง
เขาสงวนเพื่อสัตว์ป่า ต้องการความสงบให้สัตว์ได้อยู่กันตามธรรมชาติให้มากที่สุด
จึงไม่ค่อยอยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปวุ่นวายนัก จะเข้าไปต้องติดต่อส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
กรมป่าไม้ โทร. ๐ ๓๘๕๐ ๒๐๐๑
กลับเข้าเมืองแปดริ้วกันใหม่และกลับไปที่ตลาดบ้านใหม่
ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วพาไปชิมอาหาร ทบทวนเส้นทาง หากมาจากกรุงเทพ ฯ พอผ่านหลังสถานีรถไฟ
ก็วิ่งตรงเรื่อยไปจนถึงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ให้วิ่งเข้าถนนขนานกับสะพาน
(อย่าข้ามสะพาน) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนชุมพล
ถนนที่จะเชื่อมต่อกับถนนศุภกิจ
วิ่งเรื่อยไปจนลอดใต้สะพานรถไฟที่ข้ามถนน ทางเข้าตลาดจะอยู่ตรงข้ามกับหอพักสตรีทิพวรรณ
เข้าตลาดบ้านใหม่ไปแล้วเดินตรงไปแล้วหักซ้าย มุ่งไปท่าน้ำ
ร้าน เปิดตั้งแต่ ๑๐.๓๐ ยาวไปจนถึง ๒๒.๐๐ ทัวร์ทางเรือมักจะเข้ามากินอาหารที่ร้านนี้
เดิมเป็นริมน้ำแล้วดัดแปลงเป็นร้านอาหาร ห้องต่าง ๆ ในบ้านคือห้องอาหาร
น้ำพริกไข่ปู ใช้เนื้อปูผสมไข่ปู ปรุงสามรสกลมกล่อม น้ำพริกจะออกสีเหลืองนวล
รสค่อนข้างจัด ต้องกินกับข้าวจึงจะวิเศษนัก เอาผักสด เช่น ขมิ้นขาว แตงกวา
ถั่วพลู มะเขือเปราะ วางบนข้าวร้อน ๆ แล้วตักน้ำพริกไข่ปูราดให้ชุ่มจึงส่งเข้าปาก
กินข้าวหมดจานไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
ปอเปี๊ยะฮ่องกง คล้ายหอยจ๊อ
แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย "ลูกจาก" แปลกอร่อยเด็ดตรงนี้ ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน
ใส่ลูกจาก ซึ่งจะออกรสหวานนิด ๆ สั่งขนมจีบมาด้วยแหละดี
เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ใส่มาในชามใหญ่ กินได้หลายคน เนื้อเป็ดหั่นมาเป็นชิ้นใหญ่
ๆ เห็ดหอม จะหอมกลิ่นมะนาวดอง ซดชื่นใจนัก
ปลากะพงทอด กินกับน้ำปลามะม่ววงซอย ปลากะพงทอดกรอบ ราดน้ำปลารสเปรี้ยว
ของหวาน พวกลอยแก้ว ต้องชิม สั่งน้ำแข็งใสใส่ขนมปังราดด้วยกาแฟเย็น พอยกมาตั้งแล้วรอสักครู่ให้นำแข็งละลายนำรสกาแฟเข้าเนื้อขนมปัง
(แบบปังแดง) แล้วค่อยตักชิม รสจะหวานเย็นชื่นใจ
ร้านนี้มีอาหารจานเดียวเช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ก็มี
น้ำแข็งใส ใส่ขนมปัง เฉาก๊วย ลูกชิดก็ดี
ร้านเขามีคำขวัญติดไว้ว่า "อาหารไทยรสเด็ด สเต็กรสอร่อย" วันหลังจะไปชิมสเต็กริมน้ำบางปะกง
|