ฉะเชิงเทรา
(๓)
ผมพาเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรามาแล้ว ๒ ตอน คราวนี้เป็นตอนที่ค่อนข้างจะบู๊
เพราะจำเป็นต้องเอาเรื่องสงครามในประวัติศาสตร์มาแรกเข้าไว้
และต้องค้นหามาพอสมควรเนื่องด้วยไม่มีประวัติศาสตร์เล่มใด ที่เขียนให้ชัดเจนว่า
เมื่อพระเจ้าตากซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งตัวเป็น "เจ้า" คงเป็นเพียงพระยาตาก
เจ้าเมืองตากและมาช่วยราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
คือ ครั้งที่ทรงตั้งพระราชประสงค์ที่จะต้องตีอังวะให้ได้ สาเหตุเพราะอังวะยกมาตีเมืองเหนือของไทย
จนกระทั่งถึงแสนหวี สมเด็จพระนเศวรจึงทรงโปรดให้เกณฑ์รี้พลจำนวนหนึ่งแสนจะยกออกไปตีอังวะ
เส้นทางเดินทัพคือจากเชียงใหม่จะไปข้ามลำน้ำสาละวินที่เมืองหาง ผ่านไทยใหญ่เข้าไปตีอังวะ
ซึ่งจะสะดวกกว่ายกไปทางเมืองมอญ ผ่านหงสาวดีเพราะจะต้องผ่านแปรและตองอูซึ่งเป็นเมืองใหญ่ไปก่อนที่จะเข้าไปตีอังวะได้
และอีกประการหนึ่งการยกทัพไปตามเส้นทางนี้จะได้พลเพิ่มจากไทยใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก
จึงเตรียมพลไปจากกรุงศรีอยุธยาเพียงหนึ่งแสน แต่ต้องเกณฑ์พลได้จากเชียงใหม่และไทยใหญ่อีก
เมื่อถึงเชียงใหม่แล้วแยกเป็นสองทัพ โปรดให้ทัพพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง
ส่วนทัพสมเด็จพระนเรศวรยกไปทางเมืองหางคือ ผ่านเชียงดาว แล้วต่อไปเมืองหาง
ส่วนพระเอกาทศรถยกผ่านเชียงดาว ต่อไปยังเมืองฝาง
เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง โปรดให้ตั้งทัพหลวงอยู่ที่ทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์
แล้วกลายเป็นบาดทะพิษ มีพระอาการหนัก จึงโปรดให้ไปเชิญพระเอกาทศรถกลับมาเฝ้า
มาเฝ้าได้เพียง ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันที่ ๒๕
เมษายน๒๑๔๘ ซึ่งนับตั้งแต่ศึกยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ พม่าก็ไม่เคยยกทัพใหญ่เข้ามาจนถึงกรุงศรีอยุธยาอีกเลยเป็นเวลาถึง
๑๖๗ ปี จึงมีทัพกษัตริย์ยกมาถึงกรุงศรีอยุธยา คือ
เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๒ ทัพพระเจ้าอลองพญา
ยกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา ไทยว่างศึกใหญ่มานาน การข่าวจึงไม่เอาไหน พม่ายกเข้ามาทางด่านสิงขร
(จ.ประจวบคีรีขันธ์) แต่ไทยยกทัพไปตั้งรับที่กาญจนบุรี เพราะนึกว่าจะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
พอมีข่าวว่าพม่าจะเข้ามาทางด่านแม่ละเมา
ทางจังหวัดตาก (ก่อนถึงอำเภอแม่สอด แยกขวาไป ๘ กม.) ก็ยกทัพไปเพื่อตั้งรับที่ด่านแม่ละเมา
พม่ายกมาทางด่านสิงขร กษัตริย์พม่ายกมาเอง จึงเดินทัพสะดวกมาปะทะกับทัพไทยครั้งแรกก็ที่ราชบุรี
พม่าเป็นฝ่ายมีชัยก็เคลื่อนทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี ส่วนทางอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์เห็นว่าสู้ไม่ไหว
จึงไปอัญเชิญพระเจ้าอุทุมพรที่ทรงผนวชอย่ ให้ลาผนวช แล้วมอบราชการทั้งสิ้นให้
แต่ไม่ได้มอบราชสมบัติคืนให้ พระเจ้าอุทุมพรเตรียมป้องกันพระนคร สร้างกำแพงเมืองเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง
ให้ต่ำกว่ากำแพงเมืองเดิม แล้วตั้งปืนใหญ่ทั้งสองกำแพง ทำให้อำนาจการยิงสูง
เพราะยิงได้ทั้งสองชั้นกำแพง แล้วโปรดให้จัดทัพพลสองหมื่น ยกไปรับพม่าที่ต่อแดนสุพรรณบุรี
ได้ต่อสู้กันเป็นสามารถแต่ทัพไทยพ่าย คราวนี้พระเจ้าอลองพญายกตามเข้ามาถึงชานกรุงศรีอยุธยา
หลังจากปะทะกับทัพไทยที่ยกออกไปตีแล้ว ฝ่ายพม่าก็เอาปืนใหญ่มาตั้งยิงเข้ามาในพระนคร
ฝ่ายไทยก็ยิงโต้ตอบ ถึงขนาดพระเจ้าอุทุมพรทรงช้างออกไปบัญชาการยิงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง
คราวนี้พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดหน้าพระเมรุและวัดช้าง
ระดมยิงเข้าไปในพระราชวังทั้งกลางวันและกลางคืน กระสุนปืนใหญ่ถูกยอดพระที่นั่งสุริยามรินทร์หักทำลายลง
พระที่นั่งองค์นี้พระเจ้าเอกทัศน์ประทับเป็นประจำ
พม่าจึงระดมยิงหนักขึ้น และพระเจ้าอลองพญาออกไปบัญชาการยิงด้วยพระองค์เอง
เข้าใจว่าบรรจุดินปืนมากเกินไปจึงเป็นผลให้ "ปืนแตก" ถูกพระวรกายบาดเจ็บสาหัส
จึงโปรดให้เลิกทัพกลับพม่าและหมายจะถอยทัพกลับทางด่านแม่ละเมาตามเส้นทางที่ยกทัพเข้ามาแต่แรก
แต่พอไปยังไม่ถึงด่านก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน จุดที่สิ้นพระชนม์นั้นบอกไม่ตรงกัน
บ้างก็ว่าไปยังไม่ทันถึงเมืองตากก็สิ้นพระชนม์แล้ว บ้างก็ว่าสิ้นพระชนม์ในป่าในพื้นที่ที่เป็นอุทยานตากสินมหาราชในทุกวันนี้
ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าที่ว่าสิ้นพระชนม์ก่อนถึงเมืองตาก เพราะในป่าที่เป็นอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชหรือ
"อุทยานแห่งชาติกระบากใหญ่นี้" ได้พบโบรารวัตถุและได้สันนิษฐานกันว่าน่าจะสิ้นพระชนม์ในป่านี้
ซึ่งทางอุทยาน ฯ ได้นำโบราณวัตถุเอามาตั้งไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยาน
แต่มีนิดเดียว น่าที่กรมศิลปากรจะได้ลองศึกษาค้นคว้าดูอย่างจริงจังว่า แหล่งโบราณวัตถุอยู่ที่ใด
สิ้นพระชนม์ในป่านี้จริงหรือไม่ รวมทั้งการที่สันนิษฐานว่าเมืองฉอดที่เจ้าเมืองคือพ่อขุนสามชน
ชนช้างกับพ่อขุนรามคำแหงนั้นคือ เมืองเดียวกับแม่สอดถูกต้องหรือไม่ น่าจะลองค้นคว้าดู
ที่นครพนมเขายังค้นคว้าได้แล้วว่า โฮจิมินท์เคยมาหลบตั้งตัวเตรียมรุกกลับเข้าเวียตนามอยู่เป็นเวลานานตั้ง
๗ ปี
จบศึกอลองพญาแล้ว พระเจ้าเอกทัศก็วุ่นวายเพื่อเอกราชอำนาจคืน จนพระเจ้าอุทุมพรกลับไปผนวชใหม่ประทับที่พระตำหนักคำหยาด
อ.โพธิ์ทอง และไม่ลาผนวชออกมาอีกเลย พระตำหนักคำหยาดยังอยู่ในสภาพที่ได้รับการบูรณะแล้ว
ไปเที่ยวได้ ไปถึงอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง แล้วถามเขาดูก็ได้
พ.ศ.๒๓๑๐ ทัพโจรพม่าซึ่งเป็นทัพของเสนาบดีคือ ทัพของเนเมียวสีหบดี
และทัพของมังมหานรธา
ไม่ได้ตั้งใจว่าจะยกมาตีกรงุศรีอยุธยา กำลังพลรวมกัน ๒ ทัพ ก็มีเพียงห้าหมื่นคนเท่านั้นเอง
ทัพเนเมียวสีหบดี ยกลงมาจากเชียงใหม่ ตีเข้ามาตามลำดับ
ทัพมังมหานรธา ยกเข้ามาทางทวาย และมารวมพลที่ราชบุรี ยกทัพเป็นทัพเรือไปตีธนบุรี,นนทบุรี
และก็เลยไปจนถึง
อยุธยา
แต่ตั้งค่ายอยู่ห่าง ๆ ยังไม่เข้าตี
ต่อมาระหว่างที่ทัพพม่ายังล้อมกรุงอยู่นั้น มังมหานรธานายทัพพม่าคนหนึ่งล้มป่วยลงและถึงแก่ความตาย
พม่าจึงมีแม่แม่ทัพเหลือคนเดียวมีอำนาจสิทธิ์ขาด และเมื่อมาถึงฤดูแล้งอีกครั้งหนึ่งพม่าได้กำลังรบเพิ่มมากขึ้น
จึงยกเข้าตีค่ายเพนียดได้แล้วก็เคลื่อนพลเข้าประชิดพระนคร
ปลูกหอสูงเอาปืนใหญ่ไปตั้งบนหอ ระดมยิงเข้าไปในเมือง ฝ่ายไทยมีปืนใหญ่ขนาดใหญ่กว่า
แต่กลัวหูแตกไม่กล้าบรรจุกระสุนดินปืนเต็มที่ หรือบางกระบอกก็บรรจุมากจนเกินเหตุ
เพราะคงขาดการฝึกซ้อมมานานเลยปืนแตกก็มี หรือจะยิงปืนใหญ่ต้องขออนุญาตก่อน
พระยาตากฝ่าฝืนคำสั่งเพราะป้องกันกำแพงเมืองอยู่เห็นพม่าบุกเข้ามา เลยสั่งยิงปืนใหญ่ก็เกือบจะถูกลงโทษให้หมดกำลังใจ
พระยาตากพร้อมด้วยไพร่พลที่จงรักภักดีเพียง ๕๐๐ คน จึงคิดตีฝ่าทัพพม่าออกไปเพื่อไปรวบรวมกำลัง
จัดทัพมาสู้พม่าต่อไป เพราะดูสถานการณ์ในกรุงแล้ว ไม่มีใครเต็มใจสู้รบอย่างแท้จริง
ผลสุดท้ายกรุงศรีอยุธยาก็แตกหลังจากที่ต่อสู้กับพม่ามานานถึง ๑๓ เดือน เสียทัพแก่โจรซึ่ง
ปล้น ฆ่า เผาเมืองเสียทั้งเมือง กรรมก็เลยตามสนองพม่าจนถุกวันนี้ หากไปเที่ยวเมืองอังวะแล้วจะเห็นว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นอย่างไร
เพราะไทยเสียกรุงแก่พม่าขณะที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าอยู่ที่อังวะ แต่ทุกวันนี้อังวะซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ
มีแต่แผ่นดินทั้งเกาะ เมืองอังวะเมื่อข้ามแม่น้ำไปแล้วจะมีรถเทียมม้าเก่า
ๆ ไม่ใช่สวย ๆ แบบลำปาง เวลานั่งหัวกระแทกหลังคาโดยเฉพาะคนตัวสูงอย่างผม พาลัดเลาะไปตามคันนาไปชมซากที่เหลือของเมือง
มีวัดโบราณสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังเหลืออยู่วัดหนึ่ง มีหอสูงเป็นซากของพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง
เหลือให้ชมแค่นั้น อยุธยาที่ถูกเผา ถูกทำลายนั้นยังเป็นเมืองใหญ่เจริญรุ่งเรืองกว่าอังวะ
ซึ่งเหลืออยู่เพียงแค่นั้น ซากของอยุธยากลายเป็นโบราณสถาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นอุทยานประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่ประจานความทารุณโหดร้ายของทัพพม่า
เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐
เมื่อกรุงแตกนั้นได้เกิดชุมนุมต่าง ๆ ขึ้น ๖ ก๊ก รวมทั้งพม่า พระยาตากนำไพร่พล
๕๐๐ คนหนีออกไปจากค่ายวัดพิชัย
ตีฝ่าพม่าออกไปทางบ้านโพธิ์สาวหาญ
ตีพม่าแตกแล้วยกไปตั้งที่บ้านพรานนก
ขาดแคลนเสบียงอาหารจึงให้ทหารออกลาดหาเสบียง เกิดปะทะกับทัพพม่า ซึ่งมีพลม้าสักสามสิบ
พลเดินเท้าประมาณสองร้อยคน พม่ายกมาจากบางคาง
แขวงเมืองปราจีนบุรี พม่าจึงไล่จับพวกทหารที่ออกลาดหาเสบียง พวกทหารจึงหนีมาทางที่พระยาตากอยู่คือ
ที่บ้านพรานนก พระยาตากทราบเรื่องและเวลาก็จวนตัวเข้ามาแล้ว เพราะพม่าไล่ตามเข้ามาจึงให้ทหารเท่าที่เหลืออยู่
ซึ่งคงไม่มากนักให้ทหารแยกออกเป็นปีกกา เพื่อเตรียมรับพม่าทั้งสองด้าน
ส่วนพระยาตากขึ้นขี่ม้าพร้อมด้วยทหารเอกทั้ง ๕ เข้ารบกับพม่าแล้วแตกหนีเข้ามาในวงโอบล้อมของทหารที่ชักปีกกาอยู่
ทหารไทยก็โอบล้อมเข้าตพม่า จนพวกพม่าแตกระจัดกระจาย
ชาวบ้านเห็นพระยาตากเข้มแข็งจึงพากันมาเข้าเป็นพรรคพวก ส่วนพม่าแตกไปจากบ้านพรานนก
ก็ไปฟ้องนายทัพซึ่งตั้งทัพอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้
(บางฉบับ เรียกกว่า ปากน้ำโจ้โล้) นายทัพจึงให้ยกทัพบกทัพเรือ มาตีทัพพระยาตาก
ขณะนั้นพระยาตากำลังพาพวกข้ามลำน้ำ ส่วนหนึ่งตั้งทัพพักอยู่ที่ชายทุ่ง พระยาตากจะจัดทัพก็ไม่ทัน
เพราะพม่ามาเร็วเหลือเกิน จึงให้กองเสบียงรีบล่วงหน้าไปก่อน ส่วนที่เหลือเลือกเอาชัยภูมิโดยใช้กำบังแทนแนวค่าย
ตั้งปืนใหญ่น้อยเล็งเอาไว้ในทิศทางที่คาดว่าพม่าจะเข้ามา พระยาตากก็นำหน้าทหารประมาณร้อยเศษ
ออกไปรับกับพม่าที่กลางทุ่ง รบอยู่พักหนึ่งแล้วก็ทำปืนแตกหนีไปทางที่ซุ่มไว้
พม่าไม่รู้กลก็ตามเข้าไป จึงถูกทหารไทยใช้ปืนยิงตายเสียเป็นอันมาก จนพม่าแตกหนีกลับไป
พระยาตากก็สามารถเคลื่อนพลต่อไปยังเมืองระยองได้ ผมขอจบเรื่องพระยาตากเอาไว้แค่นี้
เพราะจุดของผมคือ ให้รู้ถึงความสำคัญของปากน้ำเจ้าโล้ที่พม่าตั้งอยู่ และพม่าจากปากน้ำเจ้าโล้ยกไปตีทัพพระยาตาก
ซึ่งมีพลอยู่ ๕๐๐ ยกไปทั้งทางบกและทางเรือ หากพม่าชนะพระยาตากในการรบครั้งนั้น
พระยาตากก็จะหมดโอกาสตั้งทัพเพื่อกลับมากอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา (ไม่ใช่ของประเทศไทย
ไทยไม่เคยเสียเอกราชทั้งชาติให้ใคร) เป็นศึกที่ตัดสินชะตาของพระยาตากเลยทีเดียว
แต่ด้วยพระบุญบารมีจึงชนะ
กลับมายังฉะเชิงเทรา
ผมจะพาไปบางคล้าไปชมปากน้ำเจ้าโล้ ไปตามถนนสาย
๓๐๔ สายที่จะไปพนมสารคาม ไปอีก ๑๗ กม. ก็เลี้ยวซ้ายเพื่เข้ามายังอำเภอบางคล้าอีก
๖ กม. ก็จะถึงอำเภอบางคล้า ซึ่งอุดมไปด้วยอาหารอร่อย ๆ หลายร้าน และเป็นที่ตั้งของปากน้ำเจ้าโล้
เมื่อวิ่งเข้ามาจนสุดทางคือ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระเจ้าตากสินรบชนะพม่าที่ปากน้ำเจ้าโล้
(การท่องเที่ยวเรียกปากน้ำโจ้โล้) และชุมชนของบางคล้าในสมัยนั้นมีส่วนร่วมในกองทัพพระเจ้าตากเมื่อจะยกต่อไปยังระยอง
จันทบุรีแล้วกลับมาตีกรุงศรีอยุธยาตรงสามแยกนี้ จึงมีศาลพระเจ้าตากและราชานุสาวรีย์ทรงม้า
หากวิ่งผ่านศาลทางซ้ายของศาลมาถึงสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายจะไปยัง
วัดโพธิ์บาลคล้า
อยู่ห่างจากสามแยกประมาณ ๕๐๐ เมตร (ถึงสามแยกหากเลี้ยวขวาไปอีก ๑.๕ กม. จะไปยังปากน้ำเจ้าโล้)
วัดโพธิ์บางคล้าเป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๑๕
เพราะพื้นที่ใดที่พระยาตากเคยพักทัพ ตั้งทัพ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วได้โปรดให้บูรณะหรือสร้างวัดขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์ทุกแห่งไป วัดโพธิ์บางคล้านี้จึงสร้างหลังจากที่น่าจะขึ้นครองราชย์แล้ว
ทรงพักทัพและรวบรวมผู้คนอยู่ที่ตรงนี้แล้วจึงยกไปตีระยองต่อไป ปัจจุบันวัดอยู่ริมแม่น้ำมีวิหารเก่าเหลืออยู่หลังหนึ่งรูปทรงจตุรมุข
ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ วิหารหลังนี้บูรณะปฎิสังขรณ์มาแล้ว ๒ ครั้ง เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องเต่าสีเขียว พอถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้ซ่อมหลังคาโครงสร้างใหม่ทั้งหมด
ตามต้นไม้ใหญ่ภายในวัดมีค้างคาวแม่ไก่ ตัวโตมาก เกาะห้อยหัวนอนอยู่ตามต้นไม้จำนวนนับร้อย
นับพัน คือมีทุกต้น ค้างคาวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่กับวัดมานานนับร้อยปีมาแล้ว
มาเที่ยวทางเรือเขาจะพามาขึ้นที่ท่าน้ำวัดโพธิ์บางคล้าชมค้างคาว และไหว้พระ
และที่ท่าน้ำยังมีวังมัจฉา มีอาหารปลาวางไว้ไม่มีคนขาย ใครจะซื้อก็หยิบเอาไปหยอดเงินเอาไว้ตามราคาด้วยก็แล้วกัน
ออกจากวัดโพธิ์บางคล้า เลี้ยวซ้ายกลับมาผ่านตลาดเลยทางแยกเข้าอำเภอไปอีก ๑.๕
กม. ก็จะถึงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ซึ่งแม่น้ำตอนนี้จะแคบมาก ให้เลี้ยวซ้ายก่อนถึงสะพานไปอีกหน่อยจะมีลานจอดรถกว้างขวาง
มีร้านอาหารใหญ่อยู่ทางขวามืออยู่ริมแม่น้ำ ยังไม่เคยชิม รายการอาหารบอกไว้
กุ้งก้ามกราม ปลาเป็น ผักปลอดสารพิษ และล่องเรือชมแม่น้ำบางปะกง
ตรงไปจากลานจอดรถคือ พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แต่ไม่ใช่พระสถูปองค์เดิมเพราะองค์เดิมพังตกน้ำไปแล้ว องค์นี้สร้างใหม่ หน้าพระสถูปมีศาล
มีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หากออกไปยืนที่ระเบียงด้านหลังพระสถูปก็จะมองเห็น เกาะลัดอยู่ตรงหน้า
ปากน้ำเจ้าโล้จะอยู่ทางด้านขวาคือแม่น้าบางปะกง
ทางด้านซ้ายคือแม่น้ำที่โอบเอาเกาะลัดเข้าไว้ และทางขวาของเกาะก็มีแม่น้ำโอบเลาะลัดไว้เช่นเดียวกัน
ทัพพม่าจึงน่าจะตั้งอยู่ทางฝั่งปากน้ำเจ้าโล้ ชัยภูมิดี คงไม่มาตั้งทางฝั่งที่เป็นที่ตั้งของพระสถูป
หากจะลงเรือเที่ยวรอบเกาะลัดก็ต้องไปที่ร้านอาหารข้าง ๆ อำเภอว่า เรือออกเวลาอะไร
เขามีล่องเรือรอบเย็น วันหยุดเพิ่มรอบเที่ยง
วัดแจ้ง
อยู่บริเวณตลาดบางคล้า มีอุโบสถที่งดงามเป็นศิลปะแบบไทยผสมจีน ไม่ปรากฎว่าสร้างเมื่อปีใด
แต่มีประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยกทัพไปตีเขมร เดินทัพมาสว่างตรงบริเวณนี้
จึงได้สร้างวัดแห่งนี้และขนานนามว่า "วัดแจ้ง" หน้าบันของอุโบสถงามนัก
อาหารการกิน วันนี้ไม่ได้ชิมอาหารอร่อยที่บางคล้า เพราะอิ่มมาแล้วแต่ตอนกลับได้แวะซื้ออาหารชั้นยอดของที่นี่กลับไป
และเป็นร้านที่ชิมกันมานานเกินกว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่เขายังอยู่ข้างใน ไฟยังไม่ไหม้จนไฟไหม้ย่านนั้นหมดต้องย้ายออกมาสร้างกันใหม่
ร้านอยู่ทางขวาของศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (เมื่อเข้าสู่อำเภอ)
อยู่ติดกับโรงพยาบาลคริสเตียน ถนนสายแปลยาว - บางคล้า คือสายที่เลี้ยวเข้ามาจากปากทางนั่นเอง
อาหารอร่อยที่ชวนชิม "แฮ่กึ้นกุ้งนาง" เป็นรายการที่ไร้เทียมทาน และไปชิมทีไรก็ต้องสั่งซื้อกลับมา
มีแฮ่กึ๊น,หมูแดง ก็อร่อยนัก กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย ปลากระพงน้ำแดง ต้มยำกุ้ง
ล้วนแต่เป็นอาหารจานเด่นของร้าน
ร้านขนมเปี๊ยะ ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมนั้นไฟไหม้ไปหมดแล้ว มาตั้งใหม่ติดกันมีร้านซาละเปา
ซาละเปาแป้งนิ่มยังกับที่ทับหลี กระบุรีนั่นแน่ะ
จากทางแยกเข้าสถูป ฯ หากข้ามสะพานแล้วไปตามเส้นทางนี้จะไปยังสวนนก
สวนปาลม์ได้ และจะผ่านหมู่บ้านน้ำตาลสด
ที่ตามหน้าบ้านแทบจะทุกบ้าน ตั้งโต๊ะขายน้ำตาลสด และเส้นทางนี้จะต่อไปยังเขื่อนชลประทาน
กลับเข้าเมืองฉะเชิงเทราได้
เห็นน้ำตาลสดแล้วอดไม่ได้น่ากินเหลือประมาณ ต้องแวะชิม แต่หากจะชิมจอดรถซดกันทุกร้าน
พอกลับบ้านก็คงน้ำตาลขึ้นเป็นเบาหวานกันพอดี
ขอพากลับมาชิมอาหารในกรุง ฯ ยิ่งไปมื้อเย็นบรรยากาศยิ่งแจ่มแจ๋ว เพราะมีเปียนโนให้ฟัง
ร้องเพลงก็ได้หากมั่นใจว่าเสียงไม่ไปรบกวนหูใคร หรือจะออกเต้นรำก็ได้ สถานที่ดีจริง
ๆ
เส้นทางไปตามถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปทางปากเกร็ดจะผ่านกองบัญชาการทหารสุงสูด
ผ่านทางแยกเข้าเมืองทอง ฯ พอเลยไปอีกนิดจะมีสะพานข้ามคลองประปา พอข้ามสะพานได้แล้วให้เลี้ยวซ้ายทันที
วิ่งไปตามถนนเลียบริมคลอง ผ่านปั๊ม ปตท.ริมคลองทางซ้าย ผ่านปั๊ม ปตท.ทางขวา
ผ่าน ม.ธุรกิจบัญฑิต เลยไปอีกสัก ๓๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายข้ามคลองประปาจะพบป้ายอยู่ทางขวา
เดินเข้าไปข้างในอาคารที่ออกจะหรู แต่ราคาอาหารไม่แพง กลางวันนอกจากอาหารตามสั่งแล้ว
ยังมีจำพวกข้าวผัด เช่น ข้าวผัดปลาสลิด ข้าวผัดแหนม ข้าวผัดปลาทู ข้าวราดสตูว์ลิ้นวัว
สตูว์ลิ้นหมู จะสั่งราดข้าวหรือสั่งสตูว์มาสักจานก็ได้
สตูว์ลิ้นวัว หรือหมู ต้องสั่งทีเดียวรายการนี้ รสเข้ม
หอยลายเบค่อน หอยลายอบมาในชามตาไก่ใบน้อย มีขนมปังกระเทียมวางเคียง กลิ่นหอมกรุ่น
เมี่ยงคะน้า ใส่มาในจานกลม ใบใหญ่ วางเครื่องเคียงมารอบจาน ผักกาดหอม คะน้า
ถั่วลิสง กุ้งแห้ง แคบหมู พริกขี้หนู หัวหอม มะนาว ตะไคร้ กินแบบเมี่ยงคำ
ใช้น้ำเมี่ยงคำ เคี้ยวสนุก
ซี่โครงหมูอบ อย่าโดดข้ามไป ซี่โครงชิ้นใหญ่ เปื่อย นุ่ม เคียงห้วยผักคะน้าลวก
ต้มข่าปลาสลิด ร้อนน่าซด ไม่อยากให้ข้ามรายการนี้ไป กะทิสีขาวข้น ใส่เห็ดฟาง
สมุนไพร
ถ้าอยากได้ของกินเล่น ให้สั่ง กระทงทองมาเคี้ยวระหว่างรออาหารจานหลัก
ของหวาน กล้วยหอมทอด ไอสกรีมสมุนไพร และจานเด็ด พุงรับไม่ไหวให้ซื้อกลับไปคือ
ขนมปังสังขยา ชื่อธรรมดา ๆ แต่รสไม่ธรรมดา โทร ๐ ๒๕๘๐ ๑๘๐๐ - ๒
...................................................................
|