ไหว้พระดีภาคอีสาน ๒
ผมเล่าถึงการไปไหว้พระดีภาคอีสานมาแล้วหนึ่งตอน
พระดีที่บุรีรัมย์ต้องขอเล่าของบุรีรัมย์ต่อวนอุทยานเขากระโดง
อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองบุรีรัมย์มาตามถนนสายบุรีรัมย์ - อำเภอประโคนชัย มาได้ประมาณ
๖ กิโลเมตร ทางซ้ายมือจะมีป้ายใหญ่บอกไว้ว่า
วนอุทยานเขากระโดงให้เลี้ยวซ้ายตรงเข้ามาจนถึงเชิงเขา บริเวณวัดพระพุทธบาทเขากระโดงนั้นอยู่ตรงเชิงเขาและมีรอยพระพุทธบาทจำลอง
แต่เราจะขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวที่มองเห็นได้แต่ไกลและอยู่บนยอดเขา
ให้วิ่งรถขึ้นไปได้จนถึงยอดเขา หรือมั่นใจในกำลังของเราก็อาจจอดรถไว้ที่เชิงเขา
แล้วเดินขึ้นบันไดไปก็ได้ ผมเอารถขึ้นไป ถนนดีไม่ชัน ขึ้นไปได้สักครึ่งทาง
ทางขวาคือ ปากปล่องภูเขาไฟเดิม ที่ดับสนิทมานานนับหมื่นปีแล้ว
แต่ทุกวันนี้ยังมีน้ำอยู่ในปากปล่องภูเขาไฟแห่งนี้
บุรีรัมย์คือดินแดนภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ชมปากปล่องภูเขาไฟแล้วก็วิ่งรถขึ้นต่อไปจนถึงยอดเขาซึ่งมีลานให้จอดรถ
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระสุภัทรบพิตร ประทับนั่ง องค์หลวงพ่อสีขาว เมื่อมาจากในเมืองจะมองเห็นแต่ไกล
และตรงที่จอดรถจะมีปราสาทเก่าแก่พังลงมาหมดแล้ว บูรณะด้วยวิธีชาวบ้านคือ
จับหินยกไปวางซ้อนกัน และตรงไหนที่กลัวจะพังลงมาอีกก็เอาซีเมนต์โบกไว้
เป็นอันจบปราสาทหลังนี้ ในปราสาทมีรอยพระพุทธบาทจำลองที่เก่าแก่
ให้มาเคารพบูชากราบไหว้กัน
และบนเขานี้ยังมีต้นไม้เก่าแก่เป็นต้นไม้เด่นของวนอุทยานคือต้น "มะกอกโคก"
เขาว่าเหลืออยู่แห่งเดียวที่เขากระโดงแห่งนี้
จากยอดเขากระโดงนี้จะมองเห็นวิวไปได้ไกล
และมองเห็นเมืองบุรีรัมย์อยู่ไม่ไกลจากสายตา
กลับเข้าเมืองบุรีรัมย์กันใหม่
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด รูปเทวดารำอยู่บนปราสาทเขาพนมรุ้ง
คำขวัญประจำจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย
รวยวัฒนธรรม
พระดีของบุรีรัมย์ที่ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ๑๐๘ วัด คือ พระพุทธรูปวัดเขาอังคาร
บุรีรัมย์ยกไว้เพียงวัดเดียว
แต่ผมว่ายังมีอีกหลายวัดในสายตาของผม
แต่เขายกย่องไว้เพียงวัดเดียว
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่น ๆ.-
อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
มีทิวทัศน์งดงามบรรยากาศร่มรื่น
ริมอ่างห้วยยางตลาดมีสวนนกกระยางขาว
ในเขตอำเภอปะคำ ได้แก่
ปราสาทประคำ
สร้างด้วยศิลาแลงต่อกันเป็นปราสาท มีประตูทางเข้าเพียงด้านตะวันออกเพียงด้านเดียว
อีก ๓ ด้านปิดแน่น (หลายปราสาทสร้างแบบนี้ ประตูจริงประตูเดียว อีก ๓
ประตูสร้างหลอกเอาไว้) กำแพงสร้างด้วยศิลาแลง มีสระน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาท
ห่างกำแพงประมาณ ๕๐ เมตร ปราสาทตั้งอยู่ในเขตบ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ
ไปตามถนนสายนางรอง - ปะคำ ในช่วงหลักกิโลเมร ๒๐ - ๒๑ อยู่ห่างจากถนนไปประมาณ ๒๐๐
เมตร
ปราสาทบ้านใหม่เจริญ ตำบลไทยเจริญ ห่างจากโรงเรียนปะคำไปทางตะวันออก ราว ๔
กิโลเมตร เป็นโคกมีเสาประตูตั้งอยู่ น่าจะเป็นปราสาทอิฐ ศิลปะลพบุรี
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖
ถ้ำเป็ดทอง
ในเขตตำบลโคกมะม่วง เป็นถ้าหินคล้ายเรือโป๊ะ เรียงกันที่ห้วยลำมาศ เป็นลาดหิน
ช่องหลืบของถ้ำมีอักษรจารึกไว้ ๓ แห่ง เป็นภาษาสันสกฤต อ่านแล้วไดใจ้ความ
(ไม่ใช่ผมอ่าน) ว่า
"จิตรเสนได้สถาปนาลึงค์นี้ขึ้นด้วยความภักดีต่อพระศัมภุและต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา"
ในเขตอำเภอละหารทราย ได้แก่.-
ปราสาทหนองหงส์ ในเขตตำบลโนนดินแดง สร้างด้วยอิฐมี ๓ องค์
อยู่ในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยกำแพง ศิลาทับหลังจำหลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
รูปพระอินทร์ และรูปช้างเอราวัณ ปรางค์หลังกลางมีชานเด่นยื่นออกไปมีวิหารอีก ๑ หลัง
ปราสาทหลังใต้มีรูปจำหลักพระอิศวร เชื่อว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ -
๑๗
ภูเขาไฟพนมรุ้งอยู่ในเขตอำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย และอำเภอละหานทราย
ถนนที่ไปราดยาง เป็นภูเขาโดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยที่ราบสูง
ปากปล่องมีแอ่งปะทุเป็นทางน้ำไหลทำให้เกิดเป็นน้ำตกพนมรุ้งที่งดงาม
ซึ่งสามารถจะไปชมน้ำตกได้ในฤดูฝน
จากจุดนี้สามารถมองเห็นวัดเขาพระอังคารที่มีความงดงามตามธรรมชาติได้ดี
ภูเขาไฟปลายบัด ไปทางพนมรุ้ง
เคยมีปราสาทตอนนี้เหลือแต่ซากให้รู้ว่าเคยมีปราสาท
ในเขตอำเภอโนนดินแดง มีอนุสาวรีย์เราสู้ สร้างเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหาร ตำรวจ
ประชาชนที่เสียชีวิตเนื่องจากการส่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
เขื่อนลำนางรอง ห่างจากอนุสาววรีย์เราสู้ไปสัก ๕๐๐ เมตร มีทางแยกขวาเข้าไปอีก
๔ กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่กว้างใหญ่มาก เมื่อสัก ๑๕ ปีที่แล้ว
สมัยที่ผมยังรับราชการ และทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาตามแนวชายแดนแถบนี้ด้วย
เคยได้กินปลานิลตัวโตกว่าชามเปล
ที่เขาจับมาขายแล้วเราซื้อมาให้ทหารปรุงแต่งเป็นอาหารให้
ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ตัวยังโตเท่าจานเปลอยู่อีกหรือเปล่า
เพราะวันที่ไปไม่ได้แวะเข้าไปเยี่ยมและกินอาหารร้านริมเขื่อน
ทางริมเขื่อนจะมีร้านอาหารตั้งอยู่จำนวนมาก อาหารปลาเป็นเด็ดนัก ราคาไม่แพง
มื้อที่เหมาะคือมื้อกลางวัน
แถบนี้มีหมู่บ้านที่เคยนำ "บัณฑิตเกษตร" ตามโครงการบัณฑิตเกษตรที่ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์
ได้ริเริ่มเอาไว้ และผมเป็นรองของท่านก็เป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียด
หมู่บ้านแถบนี้ที่กำลังพัฒนาในขณะนั้นมี ๔ หมู่บ้าน ตั้งชื่อว่าหมู่บ้าน ๑ - ๔
เราได้ส่งบัณฑิตเกษตร คือผู้ที่จบจากเกษตรศาสตร์จากมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยใดก็ได้
(ผมได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ก็เพราะทำงานส่งเสริมบัณฑิตเกษตรเหล่านี้)
นำบัณฑิตเหล่านี้มาอบรมและต้องสัญญากันว่าจะไปสร้างตัว ไม่คิดรับราชการ
ไปอยู่ชายแดน แล้วเราก็จัดการให้ทุน ให้เครื่องมือเครื่องใช้ ให้บ้าน
ให้ที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม ซึ่งจะขอใช้ได้ให้ไปคนละ ๑๕ ไร่
บัณฑิตเหล่านี้จะไปอยู่กันหมู่บ้านละ ๒ - ๓ คน
เมื่อเข้ากับชาวบ้านได้ก็จะสร้างตัวได้ และจะทำตัวเป็นเสมือนเกษตร "หมู่บ้าน"
ทางราชการเขามีเกษตรตำบล ของเราถึงรากหญ้าคือมีเกษตรหมู่บ้าน
ก็จะช่วยเหลือและให้วิชาแก่เกษตรกร ซึ่งใหม่ ๆ จะเป็นอันตรายกับตัวเอง
เพราะพวกพ่อค้าขายปุ๋ยจะเขม่นเอาคิดปองร้ายถึงชีวิตเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง
ผลไม้ปลูกใหม่ พ่อค้าแนะให้ใช้ปุ๋ยสูตร (สมมุติ) ๑๕ - ๑๕ - ๑๕
แต่บัณฑิตของเราแนะให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย (ปัสสาวะแช่น้ำแล้วเอาไปรดยังได้)
ซึ่งราคาจะผิดกันมาก พอปลูกไม้แก่ต้องการความหวาน พ่อค้าบอกว่าต้องใช้ปุ๋ยสูตร ๒๑ -
๒๑ - ๒๑ ซึ่งจะแพงมาก เวลานั้นตกกิโลกรัมละ ๓๐ บาท บัณฑิตแนะให้ใช้ปุ๋ยสูตร ๐ - ๐ -
๖๐ หรือ ๐ - ๐ - ๕๐ ราคากิโลกรัมละ ๓ บาท
เพราะต้นไม้ออกผลและโตเต็มที่แล้วต้องการความหวาน คือปุ๋ยตัวท้ายได้แก่
"โปแตสเซียม" อีก ๒ ตัวหน้าคือ N, P ไม่ต้องการ
จึงไปขัดกับพ่อค้าปุ๋ยที่เคยขายขูดรีดเอากับราษฎรและขายด้วยวิธีเงินเชื่อ
เก็บผลได้จึงจะจ่ายสตางค์ก็บวกดอกเบี้ยเข้าไปกับราคาขายอีก แต่เมื่อราษฎรเกษตรกร
ได้ผลอย่างที่บัณฑิตแนะนำ เขาก็พอใจและคอยปกป้องพวกลูก ๆ หลาน ๆ น้อง ๆ
ชาวบัณฑิตเกษตรที่อยู่กับเขา เวลานี้ผ่านไปร่วม ๑๕ ปีแล้ว
บัณฑิตเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่นำไปไว้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ หลายจังหวัดด้วยกันเติบใหญ่
บางคนเป็นระดับผู้ใหญ่บ้านไปแล้ว มีเป็นกำนันหรือยังไม่ทราบ
แต่พวกเขากับผมก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ เช่นพวกบนเขาค้อเป็นต้น ผมรักพวกเขา
เขาก็รักผม เรียกผมว่าคุณพ่อ ที่นำมาเล่าเพราะเสียดายที่พอผมและท่าน
พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ (ผมยกให้เป็นนายตลอดกาล) เกษียณอายุราชการกันแล้ว
โครงการนี้ก็เลิกไปไม่มีใครทำได้อีก เพราะไม่ใช่แค่ทหารเท่านั้นที่จะทำได้
ต้องประสานกับหลายฝ่ายทางหน่วยราชการพลเรือน จึงจะสำเร็จ
ผู้ประสานต้องมีเครดิตดีให้ฝ่ายพลเรือนเลื่อมใสเชื่อถือ
ผมเล่าถึงที่เที่ยวในอำเภอตั้งใหม่คือ โนนดินแดงนิดเดียว
และเล่ากันยาวไปถึงเหล่าบัณฑิตเกษตร
ซึ่งเสมือนเป็นอนุสาวรีย์ผลงานของพวกผมเหมือนกัน
อำเภอบ้านกรวด อำเภอนี้ก็มาเกี่ยวข้องกับผมอีกนั่นแหละ
เมื่อเวลาผมไปเยี่ยมบัณฑิตเกษตรที่โนนดินแดง ก็ถือโอกาสไปเยี่ยมประชาชน ถามทุกข์
ถามสุขเขาด้วย สุขของเขาผมไม่ยุ่ง แต่ทุกข์ของเขา
ในฐานะที่ทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาตามแนวชายแดน เมื่อทราบทุกข์ของเขาแล้ว
ผมก็จะกลับมาระดมหน่วยราชการที่จะแก้ไขทุกข์ของราษฎรละแวกนั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนในครั้งแรก
แล้วแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการยกขบวนกันไป บางครั้งแห่กันไปตั้ง ๒๒ หน่วยราชการ
เอากันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ชาวบ้านจึงรู้จักผมแยะ บางหมู่บ้านผมไป "เที่ยวไป
กินไป" ในทุกวันนี้เขาก็ยังจำผมได้ และเรียกผมว่าคุณพ่อ
ที่บ้านกรวดผมไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ที่โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาจัดทำขึ้น
และต่อมาเรียกว่า ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวด ครูที่รับผิดชอบได้ขอความช่วยเหลือ
ซึ่งผมก็เสนอต่อไปให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (กรมศิลปากร) ให้ช่วยดำเนินการ
ที่ศูนย์แห่งนี้ได้รวบรวมเครื่องเคลือบดินเผาโบราณเอาไว้มาก
และที่บ้านกรวดคือแผล่งผลิตที่สำคัญในอดีต เดาเผาโบราณที่ได้เปิดแล้วมี ๒ แห่ง
เตาเผาที่พบมีอายุนับพันปี ควรไปชมเพราะไม่ไกลจากละหานทราย
เขื่อนห้วยเมฆา สร้างเพื่อแผ่นดินอีสานตอนใต้
เป็นแอ่งน้ำในหุบเขาเป็นที่ท่องเที่ยวในบริเวณนี้มีสวนยูคาลิปตัสและสวนป่าห้วยเมฆา
มีการพบหินทรายก้อนใหญ่
สันนิษฐานว่าคงจะถูกขุดเพื่อนำไปสร้างปราสาทในเขตอีสานใต้
อำเภอพุทไธสง หากจะไปจังหวัดมหาสารคาม โดยไปทางอำเภอปะทาย จะผ่านพุทไธสง
แต่หากไปจากบุรีรัมย์ จะต้องเดินทางไปอีก ๗๐ กิโลเมตร โดยจะผ่านอำเภอสตึก
ที่อำเภอนี้มี.-
ปรางค์กู่สวนแตง ตำบลพุทไธสง ห่างจากตัวอำเภอไปอีกสัก ๔ กิโลเมตร
พระปรางค์ศิลปะขอม ๓ องค์เรียงกัน
หน้าบันซุ้มประตูสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธ์ที่งดงามมาก
แต่เนื่องจากเคยถูกขโมยไปแล้วและเมื่อนำกลับคืนมาได้เลยเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรุงเทพ
ฯ แล้ว
พระเจ้าใหญ่วัดหงส์
น่าจะนับเป็นพระดี ๑ ใน ๑๐๘ ของอีสาน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิ
ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มาก สร้างด้วยศิลาแลง ศิลปะพื้นเมือง
ทิศทางไปค่อนข้างสับสนเพราะชาวบ้านรู้จักดี
เลยไม่คำนึงถึงนักท่องเที่ยวที่ทราบว่ามีพระดี แต่ไม่รู้รายละเอียดว่าอยู่ตรงไหน
ต้องไปเริ่มที่ตลาดพุทไธสง
ถามชาวตลาดดูว่าวัดหงส์อยู่ทางไหนให้เขาชี้ทางให้แล้วค่อยคลำทางไปอีกที
ห่างตลาดประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตร แต่ถนนดี
มีเจดีย์สร้างไว้ข้างอุโบสถ ๑ องค์
กู่ฤาษี
เป็นศิลาแลงวางเรียงซ้อนกันและวงเป็นกำแพงล้อมตัวกู่
ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ อยู่ในเขตตำบลทองหลาง
ของฝากจากบุรีรัมย์ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายพุทไธสง ปลาจ่อม กุ้งจ่อมของ อำเภอประโคนชัย
กระยาสารทของประโคนชัย และขาหมมูนางรอง
ที่พัก ผมพักที่โรงแรมเทพนคร ซึ่งปรับปรุงใหม่เรียกว่า
สร้างใหม่ไม่เหลือรอยเดิมให้เห็นเลย สะดวกสบาย ราคาไม่แพง อยู่ชานเมืองบุรีรัมย์
โทร. ๐๔๔ ๖๑๓๔๐๐ - ๒
อาหารมื้อเด็ด ร้านป้าใหญ่ ถนนปลัดเมือง ๐๔๔ ๖๒๕๕๑๔
ให้เริ่มต้นจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ หันหลังให้สถานีรถไฟแล้วเดินหน้ามา ๓๐ เมตร
จะพบกับหอนาฬิกา ให้เลี้ยวขวาผ่านร้านข้าวต้มกุ๊ย (เขาเรียกตัวเขาเอง) ชื่อร้าน
เขาทะเล อยู่ทางขวา มาถึงสี่แยกไฟสัญญาณให้เลี้ยวซ้าย ผ่านหน้าร้านข้าวต้มเจ้หมวย
ร้านนี้ผมอุดหนุนเขาเป็นประจำ เดี๋ยวนี้ขยายร้าน ดูสะอาดตากว่าเดิมแยะ
ผ่านต่อไปจะผ่านปั๊มน้ำมันเชลล์ทางซ้ายมือ
ที่ปั้มนี้ตอนช่างฟิตอยู่กลางวันเขามีขนมเทียนแก้วขายอร่อยนัก
เริ่มอีกที สถานีรถไฟ ๓๐ เมตร ถึงหอนาฬิกาเลี้ยวขวา ถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณเลี้ยวซ้าย
ตรงเรื่อยไปผ่านปั๊มเชลล์ ถึงร้านข้าวต้มตี๋ภาค ๒ (กลางวันปิดร้านเงียบ)
ทางขวาคือธนาคารนครหลวงไทย ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนข้างธนาคารนครหลวงไทยทันที เข้าไปสัก
๕๐ เมตร ร้านป้าใหญ่อยู่ซ้ายมือ ร้านสองห้อง เป็นห้องปรับอากาศนั่งเย็นสบาย
ตรงข้ามก๋วยเตี๋ยวกระทุ่มแบน
ซี่โครงมหมู หมูนุ่ม เปื่อย แต่เปื่อยได้เคี้ยว ผักวางข้างคือผักคะน้าลวก
จิ้มซ๊อสพริก หรือน้ำจิ้ม ๓ รส
น้ำพริกลาบปลาดุก ไม่มีกลิ่นของปลาเลย เอาปลาดุกมาสับ ตำกับพริก
รสกำลังดีเผ็ดนิดเดียว พอรู้สึกว่าได้กินพริก ผัก ๑ จาน น่ากินทั้งนั้น แตงกวา
ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ผักกาดขาวปลี
แหนมซี่โครงหมู ทอดมา แนมด้วยขิง ต้นหอม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกขี้หนูแห้งทอดกรอบ
จานนี้หมดในเวลาอันรวดเร็ว รสแหนมดีเหลือเกินไม่เอาแต่เปรี้ยว
เคี้ยวสนุก
ต้มแซ่บ มีขาลาย (เนื้อ) หรือสั่งจะเป็นหมู หรือไก่บ้านก็ได้
เสริฟมาในกะทะทองเหลืองใบน้อยตั้งมาบนเตาน้อย ใช้เตาแก๊ส ซดชื่นใจเหลือประมาณ
อาหารน้ำร้านนี้สังเกตโต๊ะอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มแซ่บ
เขาเสริฟมาในกะทะทองเหลืองใบน้อยแล้วตั้งมาบนเตาแก๊สทั้งสิ้น
แต่ละโต๊ะแข่งกันซดสนุกไป
...........................................................
|