ไหว้พระดีภาคอีสาน
(๓)
คราวนี้ผมจะพาไปไหว้พระที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่
แต่แยกตัวออกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แยกออกมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
นี้เอง ครบ ๑๐ ปี พอดี และรู้สึกว่าจะเป็นจังหวัดที่รู้จักกันน้อยด้วย
อุบลราชธานีเคยแยกออกมาเป็นจังหวัดยโสธรครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ ๓๐ ปี ที่แล้ว
คราวนี้แยกเอาอำเภออำนาจเจริ้ญมาตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ ผมจึงขอข้ามจังหวัดสุรินทร์
ศรีสะเกษ และยโสธร มาเล่าถึงพระดีที่อำนาจเจริญเสียก่อน
ประวัติของอำนาจเจริญ.-
เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๓ ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
๓ ท้าวอุปชา เจ้าเมืองจำหารหรือสุวรรณเขตของลาว
ได้อพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของรัชกาลที่ ๓ ที่บ้าน
"ค้อใหญ่" ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น
"ลืออำนาจ" แต่ขึ้นการปกครองกับ
"นครเขมราฐ"
พ.ศ.๒๔๑๐ พระยาอมรอำนาจ (เสือ อมรสิน) เจ้าเมืองสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กราบบังคมทูลขอย้ายมาอยู่ในการปกครองของอุบลราชธานี
ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ โดยมีรองอำมาตย์โทหลวงเอนก อำนาจ เป็นนายอำเภอคนแรก
หลังจากนั้นย้ายมาอยู่ที่บ้านสีบุ่ง ตำบลมุม่ง อำเภออำนาจเจริญ และได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖
การเดินทาง.-
ทางรถยนต์ ไปได้หลายเส้นทาง.-
เส้นทางที่ ๑
ที่น่าจะไปมากกว่าเส้นทางอื่นคือ กรุงเทพ ฯ แล้วไปนครราชสีมา ตามถนนสาย ๒
แยกไปทางขอนแก่นตามสาย ๒ พอถึงบ้านไผ่ แยกขวาเข้าสาย ๒๓ ไปมหาสารคาม ร้อยเอ็ด
ยโสธร อำนาจเจริญ
เส้นทางที่ ๒
กรุงเทพ ฯ สระบุรี แยกเข้าสาย ๒ ไปถึงสี่คิ้ว แยกขวาเข้าสาย ๒๔ ไปตามถนนสายโชคชัย
- เดชอุดม แล้วแยกเข้าอุบลราชธานี ไปอำนาจเจริญ เส้นนี้จะไกลกว่าเพื่อน แต่ได้ผ่านเมืองใหญ่คือ
อุบลราชธานี หรือจะแวะนอนที่อุบล ฯ เสียหนึ่งคืน
เส้นทางที่ ๓
กรุงเทพ ฯ แยกขวาเข้าสาย ๒ ที่สระบุรี ไปราชสีมาแล้วเข้าสาย ๒๑๔ ไปสุรินทร์
ไปอำเภอสุวรรณภูมิ ไปสาย ๒๐๒ เข้ายโสธร ไปอำนาจเจริญ
ทางรถไฟ
ต้องไปลงรถไฟที่อุบลราชธานี แล้วต่อมาทางรถยนต์ ทางอากาศก็เช่นกัน
อำเภอต่าง ๆ ของอำนาจเจริญจะอยู่ค่อนข้างห่างกัน และห่างจากตัวอำเภอเมืองมาก
มีด้วยกัน ๖ อำเภอ แต่ชื่อไพเราะดี อำเภอชานุมาน ห่างจากจังหวัด ๗๘ กิโลเมตร
ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ชุนุมานงามนัก เพราะอยู่ริมโขง อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน
อำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอลืออำนาจ ซึ่งอำเภอหลังนี้คือชื่อดั้งเดิมเมื่อแรกตั้งวเมืองอำนาจเจริญ
ไปไหว้พระดี
วัดแรกที่น่าจะไปคือ วัดถ้ำแสงเพชร
วัดถ้ำแสงเพชร
ไปจากตัวอำเภอเมืองอำนาจเจริญ โดยตั้งต้นที่สี่แยกกลางเมืองอำนาจเจริญ ที่สี่แยกนี้หากเรามาจากทางยโสธร
วพอถึงสี่แยกกลางเมือง หากเลี้ยวขวาไป ๗๕ กิโลเมตร ก็จะไปยังอุบลราชธานี แต่หากเลี้ยวซ้ายไปอีก
๙๐ กิโลเมตร ก็จะไปยังจังหวัดมุกดาหาร ถ้าตรงไปจะไปยังอำเภอเขมราฐ ให้ตรงไปประมาณ
๑๐ กิโลเมตร พอถึงหลักกิโลเมตรที่ ๖๓ - ๖๔ ก็จะมีทางแยกซ้าย ให้เลี้ยนวซ้ายไปอีก
๓.๑๑๒ กิโลเมตร จะถึงประตูทางเข้าวัด แต่การไปยังวัดถ้ำแสงเพชรนี้ไปได้หลายเส้นทาง
ทุกทางจะไปบรรจบกันที่หน้าถ้ำเขาแสงเพชร
เส้นทางแรก เมื่อมาอำนาจเจริญ มาตามถนนไปเขมราฐ จนถึงหลักกิโลเมตร ๖๓ - ๖๔
แยกซ้ายเข้ามาตามถนนราดยาง (ประมาณ ๑ กิโลเมตร จะเห็นถนนกำลังทำกว้างมาก แยกไปทางขวาคือ
สายที่จะตัดไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังจะมาเปิดวิทยาเขตที่อำนาจเจริญ)
ประมาณ ๒ กิโลเมตร จะมีสี่แยกน้อย ๆ ทางซ้ายคือ หน่วยควบคุมไฟป่า หากเลี้ยวซ้ายตรงจดนี้ไปอีกร่วม
๒ กิโลเมตร โดยจะผ่านเข้าไปในวนอุทญานถ้ำแสงเพชร
ซึ่งจะมีป้ายบอกว่าให้ระวังงูใหญ่เลื้อยข้ามถนน ถนนสายนี้จะไปสิ้นสุดที่ตัววัดถ้ำแสงเพชร
โดยที่พอผ่านทางเข้าจะมีรูปปั้นสิงโต ๒ ตัว หน้าตาน่ากลัว ยืนเหยียบลูกโลก
แยกเขี้ยวอยู่ปากทางเข้า เมื่อเข้ามาแล้วทางขวาก็จะผ่านหอไตรที่ปลูกไว้ในน้ำ
ผ่านเข้ามาอีกจะเป็นลานหินกว้างขวาง วัดนี้จะอยู่บนลานหินบนเนินเขา ที่ลานหินที่กว้างขวางนี้
จะแบ่งออกเป็นทางด้านขวา เป็นเขตฆราวาสที่จะมาปฏิบัติธรรม ปลูกไว้เป็นอาคารงดงามแต่ขัอกับสภาพในป่าสักหน่อย
ตรงกันข้ามคือศาลาพันห้อง ที่กว้างขวางมาก จุคนได้เป็นพัน ติดกับศาลาพันห้องคือพระเจดีย์
ภายใต้พระเจดีย์ที่ห้องฐานมีโต๊ะวางอะไรไว้ยังเดาไม่ออก แต่ไม่ใช่พระพุทธรูป
ส่วนทางด้านหลังของศาลาพันห้องคือพระพุทธไสยาสน์ และด้านหลังขวาของศาลาพันห้อแงคือเขตสังฆวาส
ซึ่งห้ามไม่ให้คุณโยมเข้าไป เลยไม่ได้พบพระสักองค์ และไม่ได้ถามว่าทานฉันกันอย่างไร
บิณฑบาตที่ไหน ไปอย่างไร เพราะเดินไปคงเลยเพล
ทางด้านที่เป็นเขตฆราวาสนั้นหากเดินไปจะผ่านห้องสุขาเป็นแถวยาวมีสัก ๕๐ ห้อง
แต่ปิดใส่กุญแจไว้ หากเดินไปทางนี้อีกประมาณ ๘๐๐ เมตร จะไปถึงถ้ำแสงเพชร ซึ่งที่ถ้ำจะมีพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระป่าเลย์ไลยก์ เลยถ้ำแสงเพชรขึ้นไป เดินต่อไปอีกคือ
ถ้ำโคนอน ลานหน้าถ้ำแสงเพชรนี้รถยนต์ขึ้นมาถึงที่ตรงนี้ได้
โดยเมื่อเข้าประตูวัดมาจะมีศรชี้บอกทางให้ว่าให้วิ่งขึ้นเขาต่อไป กผ้จะไปถึงยังลานจอดรถหน้าถ้ำแสงเพชรได้
และลานหน้าถ้ำแสงเพชรนี้ก็จะมีทางเดินติดต่อไปยังวัดถ้ำแสงเพชรล่างได้ ซึ่งมีทางรถไปคือ.-
เมื่อเข้ามาจากปากทางถนนใหญ่ พอมาถึงตรงสี่แยกน้อย ๆ ที่มีหน่วยควบคุมไฟป่า
หากเลี้ยวซ้ายก็จะขึ้นไปยังศาลาพันห้อง หากตรงไปก็จะเข้าประตูวัด ที่มีทางรถยนต์ขึ้นไปถึงลานหน้าถ้ำแสงวเพชรได้
แต่หากเลี้ยวขวาไปสัก ๕๐๐ เมตร จะมีทางลูกรังแยกซ้าย (หากตรงไปอีก ๕๐๐ เมตร
จะถึงอ่างเก็บน้ำห้วยสีโท ริมอ่างจะมีร้านอาหารอยู่ ๒ - ๓ ร้าน) วิ่งไปหน่อยจะพบทางแยก
หากแยกขวาไปตามถนนคอนกรีตจะไปถึงลานหินที่วัดถ้ำแสงเพชรล่าง แต่ไม่ทราบว่ามีพระสงฆ์หรือไม่เพราะมองไม่เห็นพระสงฆ์เลย
ที่ตรงจุดนี้ล้อมรั้วไว้อย่างดี กำลังสร้างพระพุทธรูปยืน "พระพุทธมหามงคลเทพสีหนาถ"
คงใกล้จะแล้วเสร็จเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ และใกล้กันเป็นศาลาสวย
มีรูปปั้นของพระครูธรรมเทพโลกอุดร (หลวงปู่ใหญ่)
และตรงสามแยกที่แยกขวามายังพระพุทธรูปยืนนี้ หากเลี้ยวซ้ายไปหน่อยจะไปหน่อยจะไปเข้าประตูวัดทางด้านหน้าได้อีก
จึงเหมือนมีทางไปยังถ้ำแสงเพชรได้ถึง
๓ เส้นทาง ทุกทางจะไปบรรจบกัน วัดถ้ำแสงเพชรเป็นสถานปฎิบัติธรรมสายพระอาจารย์
ชา สุภัทโทของวัดหนองป่าพง
ซึ่งเป็นวัดที่มีพระภิกษุนานาชาติมาปฎิบัติธรรมกันและมีสาขามากมายผมเคยไปที่สาขาที่ไทรโยค
สาขาเท่าใดจำไม่ได้แล้ว
แต่มีเจ้าอาวาสเป็นชาวญี่ปุ่น
พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง
อยู่ในตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองมาสัก ๓ กิโลเมตร นับจากสี่แยกกลางเมือง อยู่ทางซ้ายมือเป็นพุทธอุทยาน
ส่วนอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานนั้น อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระพุทธมิ่งเมือง
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญทาง ด้านเกษตรและประมงของอำนาจเจริญ ริมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้
เป็นที่ตั้งของรีสอร์ทหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งผมไปคราวนี้ก็พักที่ รีสอร์ทริมอ่างเก็บน้ำนี้เช่นกัน
พุทธอุทยาน ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท
บริเวณวัดเป็นหินดาลตามธรรมชาติ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด และไม้เติบโต
ใหญ่หมดแล้ว เป็นพุทธอุทยานอย่างแท้จริง ส่วนพระมงคลมิ่งเมืองหรือพระใหญ่
ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๑ เมตร ความสูง จากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี
๒๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลช่างศิลปอินเดียเหนือ (ปาละ)
ที่แผ่อิทธิพล เข้ามายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วแต่งองค์ภายนอกด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางด้านหลังของพระใหญ่ จะมีพระพุทธรูปแปลกอยู่ ๒ องค์ ที่เป็นพระโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๕ ครั้งที่มีการ ปรับปรุงบริเวณโดยรอบ เพื่อทำฝายกั้นน้ำซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระที่บันดาลโชคลาภ
จึงมีประชาชนเดินทางมาขอพรกันเป็นจำนวนมาก ดูจากผ้าเหลืองที่นำมาถวายพันไว้รอบองคกับดอกไม้ธูปเทียนบูชา
พระทั้ง ๒ องค์ นี้ไม่นาม แต่พุทธลักษณ์ของท่านไม่งาม จึงเรียกว่า "พระละฮาย"
หรือ "พระขี่ล่าย" หมายถึง ไม่สวยไม่งามนั่นเอง
ก่อนถึงพุทธอุทยานประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็อย่าข้ามไปคือทางซ้าย สวนมิ่งเมืองเฉลิมพระเกียรติ
ซึ่งตอนในสุดได้สร้างศาลหลักเมืองไว้ ณ ที่นี้ เป็นศาลที่สวย และสวนก็สวยมาก
สังเกตดูมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดกันหลายตน หญ้าเรียบ ไม้ดอก ไม้ประดับ ได้รับการตกกแต่งเป็นอย่างดี
งดงามหากยามเย็นคงจะสวยมาก
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จากวัดบ้านไร่ นครราชสีมา ได้มีเมตตาชี้ที่ให้ และคงปลุกเศกไม้เสาหลักเมืองให้ด้วย
ไม้เสาหลักเมือง ๑ ใน ๙ และข้างหลังข้าง ๆ ศาลใกล้ทางออกด้านหลังก็ได้ปลฏูกไม้มงคลเอาไว้ดก้วย
แต่ยังไม่โตนัก เช่น ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ กัลพฤกษ์ เป็นต้น
วัดพระเหลาเทพนิมิตร
ตั้งอยู่ที่อำเภอพนา อุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานที่ถือเป็นพระคู่บ้าน
คู่เมือง พระเหลานิมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง กล่าวกันว่าองค์นี้มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน
วัดไชยาติการาม
ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา วัดนี้มีพระพุทธรูปสัมฤิทธิ์
ปางมารวิชัย จัดอยู่ในกลุ่มศิลปะลาวตระกูลช่างเวียงจันทร์
วัดโพธิ์ศิลา
ตั้งอยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ ในวัดมีใบเสมาสมัยทวาราวดี
สร้างจากหินหทรายขาว อายุประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเมง
วัดพระดีของอำนาจเจริญมีด้วยกันรวม ๕ วัด ตามที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้
ที่พัก ไปคราวนี้พักที่อำนาจเจริญและเป็นการพักครั้งแรกที่เมืองนี้ เมื่อก่อนนี้ก็ได้แต่ผ่านกไปแล้วไปพักที่มุกดาหาร
หรือพักเสียที่อุบลราชธานี คราวนี้จะสำรวจ อำนาจเจริญจึงพักที่อำนาจเจริญ
ซึ่งมีโรงแรมเก่าแก่ตั้งแต่ยังเป็นอำเภออำนาจเจริญ อยู่โรงแรมเดียว ดูสภาพแล้วก็ตงจะลำบากเหมือนกันกลัวเรื่องเดียวเรื่องความสะอาด
แต่เห็นมีป้ายบอกว่าเป็นรีสอร์ทมีหลายแห่ง จึงลองเดาดูก็ปรากฎว่าได้รีสอร์ทที่ดีเยี่ยม
เป็นสวนเกษตรด้วย มีที่พักอย่างดี มีห้องสัมมนา ข้อสำคัญคือมีสวนอาหารทำให้พึ่งได้
ทั้งอาหารมื้อเย็นและอาหารมื้อเช้า
สวนอาหารของเขาไม่ไช่ขายแต่แขกที่มาพักเท่านั้นยังขายให้แก่ชาวอำนาจเจริญที่จะออกมากิน
อาหารอร่อยกันทั้งมื้อเที่ยงและมื้อเย็น เป็นสวนอาหารที่ตั้งอยู่ในสวนจริง
ๆ คือ รีสอร์ท ชิตสกนธ์ โทร ๐๔๕ ๕๑๑๕๐๐ - ๑ ราคาห้องเตียงคู่คืนละ ๖๐๐ บาท
ไม่รวมอาหารเช้า เป็นบังกาโล ห้องพักดีมากมีหร้อมทั้งแอร์ ทีวี และตู้เย็น
รวมทั้งน้ำอุ่นด้วย แถมมีโต๊ะให้ผมเขียนหนังสือได้อีก ๑ ตัว เข้าไปแล้วจะไปเที่ยวสวนของเขาก่อนก็ได้
สวนที่สวยที่สุดคือจุดที่เป็นไร่ดาวเรือง ที่ปลูกดาวเรืองเอาไว้ไม่ใช่น้อย
เป็นฉากถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี ไม้ดอก ไม้ประดับอื่น ฯ ก็สวย และอยู่ริมอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานด้วย
การเดินทางไปจากสี่แยกกลางเวียง ประมาณ ๓ กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตร ๕๖ -
๕๗ ที่ปากทางมีป้ายบอกไว้ แต่ดูเหมือนป้ายบอกว่าไปกองร้อย อศจ. หรือไปโรงเรียนอำนาจเจริญ
๒ จะโตกว่า เลี้ยวเข้าไปตามกถนนสายนี้ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร จะถึงรีสอร์ท
อาหารผมกินของเขา ๒ มื้อ เช้าเป็นฝรั่งสักหน่อย คือ ไข่ดาว แฮม ขนมปังปิ้ง
เขาปิ้งมาให้เสร็จ ทาเนย ทาแยมมาให้ด้วย
น้ำส้มคั้นอีก
๑ แก้ว กาแฟ ๑ แก้ว ทั้งหมดนี้ ๘๕ บาท
อาหารเย็น.-
ตำแตง เอาแตงกวามาตำ เต็มที่ของเขาต้องตำแตง แมงดา แต่ของผมบอกว่าไม่ต้องใส่แมงดา
เพราะไม่ชอบกลิ่น ก็กินยำแตงกวานั่นเอง รสค่อนข้างเปรี้ยว
แจ่วฮ้อน ทั่วบ้านทั่วเมืองภาคอีสานจะยกป้าย แจ่วฮ้อนไว้ทั่วเมือง มีคู่แข่งขนานหนึ่งคือ
เนื้อหรือหมูย่างเกาหลียกป้ายขายกันเต็มเมือง และคนชอบมาก ราคาจะถูกเป็นแบบบุฟเฟ่ต์
เห็นมีคนทุกแห่งและกำลังพุ่งขึ้นมาแรงอีกอย่างคือ ชาไข่มุก ตำรับไต้หวัน
มีทั่วไปหมด ยิ่งอำนาจเจริญมีมากเหลือเกิน
แจ่วฮ้อน ทีสั่งมาเขายกจานผักมาก่อน มีวุ้นเส้น ผักบุ้ง ผักขาวปลี
ผักกาด มีจานรองด้วยกล่ำปลี มีหมูวางมาเพราะสั่ง แจ่วฮ้อนหมู หมูไม่ได้หมักอะไร
แต่หม้อน้อยที่ยกมานั้นใส่น้ำซุปอย่างดีและยังมีชามใส่น้ำซุปมาให้เติมได้อีกชาม
เอาผักเอาหมูใส่หม้อน้อยที่เดือดด้วยถ่าน มีน้ำจิ้มให้ ๑ ถ้วย เอาตะเกียบคีบชิ้นหมูน้ำจิ้มใส่ปากแล้วซดน้ำตาม
ของเขาเด็ดหายข้องใจ ที่ไม่งั้นขับรถผ่านเห็นแต่ชื่อแจ่วฮ้อนเต็มบ้านเต็มเมือง
เห็นชื่อจนอิ่ม มาลองที่นี่ได็ความเลยว่าอร่อยแน่
ก้อยไข่มดแดง ยังวติดใจตอนไปที่อุบลราชธานี สั่งมาชิมอีกไม่ผิดหวังเปรี้ยวนิดเดียว
เปรี้ยวด้วย ไข่มดแดงนั่นแหละ
ใส่ข้าวาคั่วด้วย
ไข่มดแดงสด เคี้ยวกรุบ ๆ
ซี่โครงหมูอบฮ่องเต้ ยกให้เป็นจานเด่นสุดของมื้อนี้ เขาคงหมักหมูจนเข้าเนื้อก่อนจึงเอาไปอบ
ในหม้อที่มีมือถือ น้ำปรุงเข้าเนื้อหมู ออกหวานนิด ๆ อร่อยนัก เนื้อหมูร่อนไม่ติดโครงเลยกินโครงหมูแล้ววดแจ่วฮ้อน
หรือแจ่วฮ้อนอร่อย อย่าบอกใครเลยทีเดียว อาหารที่เมืองนี้ราคาถูก อร่อย
ข้อน่าสังเกตสำหรับอีสานย่านนี้ กลางวันร้อนจัดในฤดูร้อน แต่พอตกค่ำลมพัดมาเย็นสบาย
ชิตสกนธ์ รีสอร์ท เขามีความปลาบปลื้มและภูมิใจในสถานที่ของเขาอย่างที่สุด
เพราะสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เคยมาประทับพักแรมที่รีสอร์ทแห่งนี้
และทางรีสอร์ทได้เก็บบังกาโลที่ประทับหลังนี้เอาไว้ ไม่เปิดให้ผู้ใดมาเช่าพักอีก
...........................................................
|