ปราสาทเมืองสิงห์ (2)
คำขวัญของจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า "แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์
แหล่งแร่น้ำตก"
ผมจะเล่าเรื่องแคว้นโบราณ คือเมืองปราสาทเมืองสิงห์ที่สร้างขึ้นในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ของกาญจนบุรี
คือชุมชนที่ตั้งมาร่วมสองพันปีแล้ว และต่อมาตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอม
ปราสาทเมืองสิงห์ อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย ที่บ้านปากกิเลน หมู่ ๑ ตำบลัดสิงห์
อำเภอไทรโยค การเดินทางมายังปราสาทเมืองสิงห์ หากมาเส้นตรงโดยไม่ต้องการมาแวะชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าแล้วก็ให้มาดังนี้
จากกาญจนบุรี วิ่งผ่านสถานีรถไฟกาญจนบุรี ข้ามทางรถไฟตรงมาถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย
๓๒๓ ซึ่งจะไปยังทองผาภูมิ สังขละบุรี และด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อวิ่งมาประมาณกิโลเมตร
๑๑.๕ สี่แยกพุเลี๊ยบ ตรงต่อไปอีกประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร จะพบป้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน
๓๔๕๕ วิ่งไปอีก ๙ กิโลเมตร ถึงสามแยก เลี้ยวซ้ายอีกนิด ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสู่ปราสาทเมืองสิงห์
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง คือเส้นทางที่ผมไปในวันนี้คือไปซ้ำกับเส้นทางแรก แต่พอมาถึงสี่แยกพุเลี๊ยบก็เลี้ยวซ้าย
ผ่านสถาบันโรงเรียนการเมืองของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง วิ่งต่อไปจนถึงกิโลเมตร
๒๖ คือสามแยกบ้านเก่า ให้เลี้ยวขวาตรงนี้เข้าถนนที่จะไปยังปราสาทเมืองสิงห์
วิ่งไปสัก ๓ กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายเข้าพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า
ผมแวะที่พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าก่อน ด้วยการเลี้ยวซ้ายเข้าไป ซึ่งถนนจะไปผ่านวัดท่าโป๊ะ
แล้วถนนนจะไปสุดทางที่พิพิธภัณฑ์ริมแควน้อย จึงชวนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์บ้านเก่ากันก่อน
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของอำเภอสังขละบุรี
บ้านผาผึ้ง อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์
อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลาขวัญ อำเภอพนมทวน ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเปิดทุกวันเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์กับวันจันทร์
และวันอังคาร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แต่หากชมด้วยความละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็จะได้รับความรู้อย่างยิ่ง
แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าหรือกาญจนบุรี แรกเริ่มเดิมทีผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งคงจะค้นพบด้วยความบังเอิญ
แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านโบราณคดี ท่านผู้นี้เป็นชาวฮอลันดา ซึ่งเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่น
และต้องมาเป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ "ดร.แวน ฮิกเกอเรน" นักโบราณคดีชาวฮอลันดาได้ค้นพบเครืองมือ
และขวานหินจำนวน ๗ ชิ้น จากบริเวณสถานีรถไฟบ้านเก่าและวังโพ หลังสงครามสงบเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสรอดชีวิตกลับไป
ได้แอบเอาวัตถุโบราณเหล่านี้กลับไปด้วย และได้ไปศึกษาค้นคว้าต่อ สรุปผลว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำขึ้นเมื่อประมาณห้าแสนปีมาแล้ว
โดยมนุษย์ที่เรียกว่า มนุษย์ชวาหรือมนุษย์ปักกิ่งในยุคน้ำแข็ง
และได้ตั้งชื่อเครื่องมือหินที่มีลักษณะและวิธีกะเทาะเช่นนี้ว่า "วัฒนธรรมแฟงน้อย"
ซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อแม่น้ำแควน้อย
พ.ศ.๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ จึงได้มีการขุดค้นที่บ้านเก่าบริเวณไร่ของราษฎรริมแม่น้ำแควน้อย
พบโครงกระดูกสมัยหินใหม่อายุราว ๔,๐๐๐ ปี มากกว่า ๕๐ โครง กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไปในพื้นที่ประมาณ
๗ ตารางกิโลเมตร ของริมแม่น้ำแควน้อย
ซึ่งจะรวมถึงพื้นที่บริเวณที่ตั้งของ
"ปราสาทเมืองสิงห์"
เข้าไว้ด้วย กลุ่มคนเหล่านี้คงจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ รู้จักนำหินกรวดจากแม่น้ำมาทำเป็นอาวุธ
นำดินเหนียวมาทำเป็นภาชนะดินเผา รู้จักการทอผ้า การใช้ยารักษาโรค และมีประเพณีการฝังศพ
ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะศึกษาได้จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเก่า โครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นเจอนั้น
ล้วนแต่มีรูปร่างขนาดเดียวกับคนไทยในปัจจุบันนี้ น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อีกข้อหนึ่งว่า
คนไทยในถิ่นไทยในปัจจุบันก็ล้วนอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อน ไม่ได้อพยพมาไกล ๆ
จากไหนเลย แต่กระจัดกระจายกันอยู่ ยังรวมกันไม่ติดจึงต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของชนชาติอื่นที่มีอำนาจอยู่ในถิ่นนี้
เช่น มอญ ขอม เป็นต้น ตราบจนกระทั่งพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางท่าว
เจ้าเมืองบางยาง ร่วมกันขับไล่อิทธิพลขอมพ้นไปจากกรุงสุโขทัย แล้วตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี
โดยมีพ่อขุนบางกลางท่าวเป็นปฐมกษัตริย์ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ไทยจึงเกิดขึ้นอย่างเต็มตัว ส่วนพ่อขุนผาเมืองเมื่อถวายเมืองสุโขทัยให้มหามิตรแล้วก็กลับไปครองเมืองราดตามเดิม
ดังนั้น ขอมมาสร้างปราสาทเมืองสิงห์เชื่อว่าไม่ได้ยกทัพมาสร้าง คงเกณฑ์เอาแรงงานคนไทยในชุมชนแถบนี้แหละมาเป็นแรงงาน
แต่นายช่าง นายงาน ก็คงเป็นพวกขอม สร้างตามศิลปะของขอม
จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเก่ากลับออกมาผ่านวัดท่าโป๊ะ หากมีเวลาอยากให้แวะเข้าไปชม
แม้จะเป็นวัดสร้างใหม่ก็สร้างได้สวย หน้าบันทุกแห่งสวย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ
กลับออกมาสู่ถนน ๓๔๕๕ อีกครั้งหนึ่ง วิ่งต่อไปอีกประมาณ ๗ กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกซ้ายเข้ายังปราสาทเมืองสิงห์
วิ่งรถเข้าไป ๑ กิโลเมตร ก็จะเข้ายังประตูปราสาท เสียสตางค์ค่าเข้าชมคนละ
๑๐ บาท รถคันละ ๕๐ บาท คนขับฟรี ภายในเมืองโดยทั่วไปมีสระน้ำ ๖ สระ โบราณสถานสำคัญ
๔ แห่ง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคูน้ำคันดิน ๗ ชั้น ด้านหลังคือแควน้อย
กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงสูง ๗ เมตร
เมื่อเข้าไปในเมืองแล้วควรจะได้วนไปทางซ้ายมือก่อน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนไปยังลานจอดรถ
เรียกว่าขับรถชมเมืองเสียก่อน แล้วไปบรรจบที่ลานจอดรถซึ่งมีพร้อมทั้งร้านขายของที่ระลึก
"สุขา" และเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ซึ่งวันที่ไปนั้นให้ความสนใจแก่ผู้มาสอบถามน้อยไปหน่อย
ไม่เหมือนเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เยี่ยมยอดก็มีอู่ทอง รองลงมาก็ยกให้บ้านเก่านี่แหละ
ทั่วบริเวณของพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งปราสาท ฯ ได้รับการบูรณะพัฒนาอย่างดีเยี่ยม
แทบจะยกปราสาทโบราณมาตั้งเอาไว้ให้ชมกัน ปลูกต้นไม้ใหม่เริ่มเติบโตแล้ว ต้นไม้ป่าดั้งเดิมก็มีเหลือไม่น้อยทำให้บริเวณร่มรื่นอย่างยิ่ง
ปราสาทเมืองสิงห์ สันนิษฐานว่าสร้างรุ่นเดียวกับปรางค์สามยอดเมืองละโว้ หรือลพบุรี
ซึ่งปรางค์สามยอดของลพบุรีนั้นรักษาไว้ได้เยี่ยมมาก รวมทั้งการบูรณะด้วยจึงโดดเด่นเป็นสง่าในเมืองลพบุรี
แต่ปราสาทเมืองสิงห์แม้จะบูรณะได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็สวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติดีเหลือเกิน
กษัตริย์นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่งของขอม คือพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ล่วงเลยมากว่า ๘๐๐ ปีแล้ว ปราสาทเมืองสิงห์เป็นศิลปะเดียวกับนครธม
ปราสาทบายนแต่ฝีมือจะหยาบกว่า (ผมจะเล่าปราสาทขอมให้ฟังทีหลัง) ปราสาทบายนในนครธม
ส่วนนครวัดนั้นก็อยู่ในเมืองเสียมราฐเช่นกัน แต่สร้างก่อนประมาณ ๒๐๐ ปี โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่
๒ เราอย่าไปเรียกเสียมเรียบ ตามอย่างเขมรเพราะเขาตีความหมายว่า ไทยเคยมาแพ้เขาเรียบที่เมืองนี้
หรือเรียกว่าเสียมราบ เพราะเขาบอกว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยมากราบพระเจ้าแผ่นดินของเขาที่เมืองนี้จึงเรียกเสียมราบ
หรือเสียมเรียบแต่ที่แน่ ๆ คือประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าเจ้าสามพระยาหรือพระบรมไตรโลกนาถ
กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เคยยกทัพมาตีได้เสียมเรียบ มีหลักฐานก็คือมีพระพุทธรูปในปราสาทนครวัด
ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพ เพราะสุริยวรมันที่ ๒ นับถือศาสนาพราหมณ์ ส่วนชัยวรมันนับถือศาสนาพุทธ
นิกายมหายาน พราหมณ์ไม่มีพระพุทธรูป แต่ที่แน่ ๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เลยเสียมราฐออกไปทางพนมเปญมีเมืองชื่อเมือง
"ละแวก" เคยเป็นเมืองหลวงของเขมรมาก่อน ชอบลอบกัดไทยสมัยที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าครอบครองครั้งแรก
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศเอกราชแล้ว ว่างศึกจากทางพม่าแล้วก็ยกทัพไปตีได้ละแวก
จับตัวพระยาละแวกทำพิธีปฐมกรรม คือตัดศีรษะเอาเลือกล้างพระบาท แล้วเผาเมืองละแวกเสีย
ถามไกด์กัมพูชาดู ไกด์บอกว่าเมืองละแวกยังเหลือซากอยู่ แต่โดนพระนเรศวรเผาจนตั้งเป็นเมืองใหม่ไม่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้
ผมจึงเรียกเมืองนี้ว่าเสียมราฐ เรียกตามรัฐบาลไทยสมัยเรียกร้องดินแดนคืน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๓ เรียกนั่นแหละเพลงปลุกใจร้องว่า "เสียมราฐพระตระบอง
บ้านพี่เมืองน้องมาช้านาน ในครั้งโบราณก่อนเก่า
......"
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของขอม สร้างเข้ามาในไทยก็หลายแห่งสร้างจนหมดแรงไปเอง
พอหลังจากยุคของพระองค์มีกษัตริย์คั่นพระองค์หนึ่ง ต่อจากนั้นก็มาถึงพระเจ้าชัยวรมันที่
๘ องค์นี้กลับไปนับถือพราหมณ์ใหม่ เลยทำลายของท่านปู่ ชัยวรมันไปหลายจุดขอมจึงอ่อนล้าลงเรื่อย
ๆ ตรงข้ามกับไทยเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จนสิ้นชาติขอม มีแต่เขมรที่ไม่ใช่ขอมแท้
เหมือนคนอิตาลีที่ไม่ใช่คนโรมัน ฯ
ปราสาทเมืองสิงห์ โบราณสถานหมายเลข ๑
สันนิษฐานว่า สร้างเพื่ออุทิศถวายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ในนิกายมหายาน ตัวปราสาทตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน
ประดับลวดลายปูนปั้น ศิลาแลงนั้นได้มาจากเมืองครุฑ
ซึ่งเป็นแหล่งตัดหินริมแม่น้ำน้อย ห่างจากเมืองสิงห์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ
๕ กิโลเมตร ซึ่งการลำเลียงแท่งศิลาแลงมานี้คงจะมาทางน้ำ เช่นเดียวกับการสร้างนครวัด
นครธม ที่ลำเลียงมาไกลถึง ๕๐ กิโลเมตร จากแหล่งศิลาแลง แต่ละแท่งหนักร่วมตัน
น่าจะใช้ช้างดันลากจูงจนลงแพแล้วลอยมาตามแควนี้ มาชักลากขึ้นฝั่งแล้วใช้ถมดินเอาก้อนศิลาแลงยกขึ้นไป
ปราสาทเมืองสิงห์จะประกอบด้วย ปรางค์ประธาน
ตั้งอยู่ตรงกลางฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ภายในปรางค์พบรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
และพระนางปรัชญาปารมิตา พระพุทธรูปนาคปรกหินทราย
ล้วนเป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธ
ฝ่ายมหายานทั้งสิ้น แต่องค์ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงกรมศิลปากรนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรุงเทพ
ฯ แล้ว
โคระ (ซุ้มประตู)
และระเบียงคต อยู่ล้อมรอบปรางค์ประธานทั้ง ๔ ทิศ
บรรณาลัย
สร้างเพื่อเก็บคัมภีร์ทางศาสนา กำแพงแก้ว เป็นกำแพงล้อมรอบตัวปราสาท
โบราณสถานหมายเลข ๒
ยังมีปรางค์ประธาน มีโคปุระ ๔ ด้าน ฯ
โบราณสถานหมายเลข ๓
ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว
โบราณสถานหมายเลข ๔
อยู่ใกล้หมายเลข ๓ ยังบูรณะอยู่
อาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ
มีภาพถ่ายและเรื่องราวในการบูรณะ และวัสดุหลายชิ้นที่หักพัง
หลุมขุดค้นทางโบราณคดี
ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ หากเข้าประตูเมืองมาแล้ววนซ้ายตามที่ผมบอกก็จะแวะชมหลุมขุดค้นนี้ได้ก่อน
ซึ่งขุดค้นพบทั้งโครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก
สร้องคอทำด้วยลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ซึ่งชี้ชัดว่าชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์
เพราะเป็นศพของคนที่ตายมา ๒,๐๐๐ ปีแล้ว คงจะยุคเดียวกับคนในชุมชนบ้านเก่า
จากปราสาทเมืองสิงห์ ย้อนกลับมาขึ้นถนนใหม่เลี้ยวซ้ายจะไปผ่านสามแยกที่ไปออกถนนใหญ่ได้
คงตรงต่อไป ผ่านรุ่งเรืองสรรพสินค้าทางซ้ายมือ ผ่านวัดหนองปรือ พบป้ายถ้ำกระแซ
อำเภอไทรโยค ผ่านวัดสิงห์ไพบูลย์ประชาสรรค์ทางขวา แล้วจะพบสี่แยกน้อย ๆ (หากเลี้ยวขวาไปออกถนนสาย
๓๒๓ ได้ เป็นเส้นทางตรงที่จะมายังทิวน้ำ) ที่สี่แยกนี้จะมีป้ายปักไว้มากมาย
ป้ายที่มุมซ้ายบอกว่า "ทิวน้ำรีสอร์ท" ระยะทาง ๕ กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกนี้ตามป้ายทิวน้ำเรื่อยไป
ผมจะพาไปกินอาหารอร่อยมาก ๆ ราคาถูกก็มาก ๆ อีก และยังบรรยากาศดี เพราะอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
หรือจะเข้าพักเลยก็ได้ มีที่พักดี ราคาถูก ที่ผมไปนอนพักมาแล้ว เลี้ยวซ้ายมาตามถนนแล้ววิ่งเรื่อยมามุ่งหาภูเขาและแม่น้ำจนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย
สะพานยางโทน ทิวทัศน์ในแม่น้ำตรงนี้งามนัก น่าลงถ่ายภาพ ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายทีนี้ไปตามถนนลูกรังบดอัดแน่น
ไปอีก ๑.๖ กิโลเมตร จะผ่านยังโทนรีสอร์ท จะมีป้ายนำทางเป็นระยะ ๆ ชี้บอกทางไปจนถึงทิวน้ำรีสอร์ท
โทร คุณติ๋ม ๐๑ ๙๐๑๗๕๓๑ , ๐๒ ๖๙๑๔๑๒๒ - ๔
บริเวณทิวน้ำกว้างขวางมาก และอยู่ติดแควน้อย ซึ่งหากจะล่องแพที่มีเรือจูงก็จะไปยังปราสาทเมืองสิงห์ได้
คณะของพวกผมที่นัดกันมาชุมนุมที่นี่ในการสังสรรค์ประจำเดือนของ อำนวยศิลป์รุ่นลมหวล
ที่ล้วนแต่อายุอานามใกล้ร้อยเข้าไปทุกที วันนี้นัดมาเจอกันไกลถึงกาญจนบุรี
แต่ทุกคนกลับกันหมดเว้นผมค้างคืนต่อ เพราะชอบบรรยากาศของเขามาก ร่มรื่นดีเหลือเกิน
เงียบสงบ เช้าออกเดินเล่นในรีสอร์ทหรือสาย ๆ จะขับรถออกไปเที่ยว ไทรโยค ไปทองผาภูมิ
ไปเจดีย์สามองค์ แล้วกลับมานอนอีกคืนก็ได้ ทิวน้ำรีสอร์ท มีที่พักราคาไม่แพง
จัดแพคเกจทัวร์เลี้ยงอาหาร ๓ มื้อ เลยทีเดียว ดูเหมือนจะคิดสตางค์หัวละ ๙๐๐
บาท รวมค่าอาหาร แต่ผมเช่าห้องพัก กินมื้อเที่ยงรวมกับคณะเพื่อนร่วมรุ่น มื้อเย็นมื้อเช้าตามสั่ง
และชอบใจบ้านพักของเขาปลูกเรียบง่าย แต่ซ่อนอยู่ในมุมที่อับตา มองมาจากในแม่น้ำก็ไม่ค่อยเห็น
จากพื้นดินก็ไม่โดดเด่น รักษาธรรมชาติไว้ได้ดีเยี่ยม
มื้อเย็น ปลาทับทิมสามรส มีผักรองก้นจาน รสปลานั้นมีครบ ๓ รส เปรี้ยวนำ ตามด้วยหวาน
เนื้อปลานุ่ม ประดับให้สวยด้วยเปลือกมาเขือเทศที่เอามาทำเป็นดอกกุหลาบ
แกงส้มชะอมชุบไข่ทอด มีผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และปลายี่สมเนื้อขาวจั๊วะ น่ากินนักใส่ลงมาด้วย
ปลารากกล้วยคลุกงาทอดกรอบ จานนี้พอเขายกมาให้ ชิมทันทีอย่ารีรอ กินกันตอนร้อน
ๆ จะกรอบอร่อยมาก ทิ้งไว้ให้เย็นจะเหนียว หอมกลิ่นงา เคี้ยวสนุก มันอย่าบอกใคร
จานเด็ด ต้มข่าปลาสลิดใบมะขามอ่อน ต้องสั่ง เสริฟมาในหม้อดินใบน้อย ตั้งไฟร้อน
กลิ่นกะทิจากมะพร้าวในสวน ไม่ใช่มะพร้าวถุงจึงหอมนัก ต้มกะทิร้อน น้ำเข้มข้น
ซดกันตอนร้อน ๆ หรือจะเอาราดข้าวก็อร่อยไปอีกแบบ เนื้อปลาสลิดเค็มนั้นนุ่มมัน
ฉู่ฉี่ปลาคัง พริกชี้ฟ้า ใบมะกรูดโรย แต่งด้วยใบโหระพาและพริกไทยดำ เผ็ดนิด
ๆ จะคลุกข้าวแล้วเหยาะด้วยน้ำปลาพริกก็เด็ด ส่งเข้าปากแล้วซดต้มข่าตามจะเข้ากันดี
อีกจานหากท้องยังรับไหว คือปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย กลิ่นหอมฟุ้งมาทีเดียว
ของหวานเขามีทั้งผลไม้ในสวนของเขา โดยเฉพาะมะละกอ หวานชวนชิม สับปะรด และมีน้ำแข้งไส
แล้วราดด้วยน้ำแดง ใส่ลูกชิด ลูกบัว ขนมปัง ผมเคยตั้งชื่อให้ร้านที่แปดริ้วว่า
"ปังแดง"
----------------------------------
|