ผมเล่าเรื่องเมืองหนองคายไปแล้ว แต่เล่าในพื้นที่ อำเภอเมือง ฯ
คราวนี้ขอพาออกนอกเมือง เอาเฉพาะที่สำคัญจะได้เป็นการสนับสนุนปี อเมสซิ่งไทยแลนด์หรือพิลึกกึกกือไทยแลนด์
ตามที่ท่านรัฐมนตรีท่านหนึ่งท่านแปลไว้ให้ ชึ่งก็ดูจะได้ความหมายตรงดีทีเดียว
ถึงตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่นำมาใช้ แต่อาจจะไปทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่นักท่องเที่ยวเข้าก็ได้
ผมไม่ชำนาญภาษาอังกฤษ หรือหรือภาษาต่างประเทศทุกภาษา จึงไม่ชอบออกความเห็นว่าควรใช้ศัพท์ตัวใด
จะชำนาญก็คงจะเป็นภาษาไทย แถมด้วยภาษาลาวคงพอไหว ส่วนของผมที่ดีใจในเวลานี้คือ
บรรดานักเขียนทั้งหลายหันมานิยมใช้ภาษาเขียนว่า "กิน"
กันมากขึ้น ไม่ใช้วิบัติภาษาว่า "ทาน"
เพราะเห็นว่าใช้รับประทานนั้นยาวไปเลยย่อภาษาเขียนว่า ทานถ้าเป็นภาษาพูดก็พออภัย
หากภาษาเขียนผมว่า ภาษาวิบัติที่ใช้เขียนว่า ทาน มิฉะนั้นคอลัมน์ของผมก็จะต้องเป็น
เที่ยวไป ทานไป ฟังไหวหรือทีผักทอดยอดทำไมไม่เรียก ทำไมเรียกผักบุ้ง
ถ้าไปถือว่าคำไทยนั้นหยาบก็เรียกเสียให้หมดเป็นไง ผักทอดยอดฟังแล้วจะพิลึกกึกกือหูดี
ถ้ามาจาก จังหัวดอุดร ก่อนถึง จังหัวดหนองคาย สัก ๑๐ กม. จะมีทางแยกซ้าย
ถ้าเลี้ยวตรงนี้ก็จะเข้าทาง ทางหลวงสาย ๒๑๑ ซึ่งเส้นนี้พอไปถึง อำเภอท่าบ่อ
จังหัวดหนองคาย แล้วจะวิ่งเลาะแม่น้ำโขงไปยาวทีเดียว ไปได้จนถึง
อำเภอเชียงคาน จังหัวดเลย แล้วจึงหักเข้าเส้น ๒๐๑ ไปสู่ จังหัวดเลยได้
ที่นี้หากเราจะไปพระธาตุบังพวน
หรือที่ถูกคือพระบรมธาตุบังพวน ที่วัดพระธาตุบังพวน หากจะไปให้สนุก
ต้องวางแผนการท่องเที่ยวไว้ให้ดี เช่นหากมาจากกรุงเทพ ฯ คืนแรกนอนเสียที่ขอนแก่น
หรืออุดร หากนอนที่อุดรยิ่งดี จะได้มีเวลาวิ่งสนุกในวันรุ่งขึ้น
คือจากอุดรหรือขอนแก่นมุ่งหน้ามา จังหัวดหนองคาย พออีก ๑๐ กม. จะถึงหนองคายก็เลี้ยวซ้ายเข้าสาย
๒๑๑ วิ่งไป ๑๒ กม.ทางขวามือวัดพระธาตุบังพวน ซึ่งที่วัด (ปี ๒๕๔๐) ไม่มีประวัติพิมพ์เอาไว้จำหน่าย
แต่กลับมาบ้านแล้วผมไปค้นได้ในห้องสมุดของผมเอง มีประวัติพระธาตุบังพวน
พิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ขายราคาเล่มละ ๕ บาท ซึ่งหน้าแรกของหนังสือได้กล่าวไว้ว่า
"มรดกอันล้ำค่าของชาติ" พระธาตุบังพวน (มีรูปพระธาตุ) วัดพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง
ฯ จังหวัดหนองคาย อายุก่อสร้างสองพันปีเศษ รุ่นพระธาตุพนม
งานเทศกาลประจำปี เดือนยี่ เพ็ญ ๕ วัน ๕ คืน นักบุญ นักศึกษา
นักปฏิบัติธรรม ไม่เคยพลาด นี่คือข้อความบรรยายภาพในหน้าแรกของหนังสือ
ส่วนองค์พระธาตุนั้นดูรูปแล้วเก่าแก่ใกล้จะพัง และก็พังจริง ๆ เมื่อ
๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ นั่นเอง (พระธาตุพนม ล้มเมื่อปี ๒๕๑๘) แค่ปัจจุบันองค์พระธาตุบังพวนและวัด
ฯ ได้รับการบูรณะเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระธาตุพัง ไม่มีอีกแล้วคงมีแต่องค์พระธาตุที่สวยสง่าน่าไปชมไปนมัสการ
เพื่อความศิริมงคลแก่ตัวเรา ประวัติความเป็นมาขององค์ พระธาตุมีดังนี้
ได้กล่าวกันว่าประวัติการก่อสร้างพระธาตุบังพวน ปรากฏอยู่ในหนังสือคัมภีร์ใบลาน
ชื่ออุรังคธาตุ หรือ อุรังคนิทาน อันว่าด้วยการก่อสร้างพระธาตุพนมที่
จังหัวดนครพนม ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงท้าวพระยา ๕
พระองค์ คือ พระยาสุวรรณภิงคาน เมืองหนองหาร สกลนคร พระยาคำแดง
เมืองหนองหารน้อย อุดรธานี พระยาจุลนิพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนี
(ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตรนครเจ้าเมืองอินทปัตนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์
ได้ทรงให้การอุปการอุปถัมภ์ พระยามหากัสสปเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์
๕๐๐ พระองค์ ทำการก่อสร้างพระธาตุพนมจนแล้วเสร็จ แล้วได้พร้อมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติต่อมา
ครั้นกาลเวลาผ่านมา พระยาทั้ง ๕ สิ้นอายุขัย จุติมาเกิดเป็นมหารัตนกุมาร
จุลรัตนราชกุมาร มหาสุวรรณปราสาทราชกุมาร จุลสุวรรณปราสาท
และ สังขวิชัยราชกุมาร
ต่อมา กุมารทั้ง ๕ ได้บวชเป็นสามเณร ตามคำชักชวนของพระอรหันต์ ๓ องค์
คือ พระพุทธรักขิตเถระ พระธรรมรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระ
ซึ่งทั้ง ๓ องค์เป็นศิษย์ของ พระมหากัสสปเถระ สามเณรทั้ง ๕ ได้บำเพ็ญสมณธรรม
ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ประพฤติดี ประพฤติชอบ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระอรหันต์ อาจารย์ ๓ องค์ และพระอรหันต์ ศิษอีก ๕ องค์ ได้เดินทางไปชมภูทวีป
อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน ๔๕ องค์
มาประดิษฐานไว้ ณ สถานทั้ง ๔ คือ
๑. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุบังพวน ๒๙ องค์
๒. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุกลางน้ำ เมืองล่าหนองคาย ๙
องค์
๓. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุ (บุ) โพนจิก เวียงงัว
๓ องค์
๔. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ เจดีย์ห่อผ้าแพร ๔ องค์
๓ อาจารย์
เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว ก็เดินทางกลับสู่เมืองราชคฤห์
แห่งชมภูทวีป ๕ ศิษย์อรหันต์ ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ไปพำนักอยู่ใต้ร่มป่าแป้งบนภูเขาลวง อันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุบังพวนในปัจจุบันนี้
ความที่ทราบถึง พระยาจันทบุรีประสิทธสักกะเทวะเมืองเวียงจันทน์
จึงตรัสสั่งให้แจ้งข่าวการกุศล และพระราชเทวี เมื่อได้ทรงทราบก็ทรงบริจาคร่วมในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระธาตุบังพวน
ในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครหลวงพระบาง
ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้ทรงเสริมพระธาตุบังพวนให้ใหญ่โตและสูงขึ้น
โดยก่ออิฐต่ออีก แล้วสร้างกำแพงรอบวัด สร้างซุ้มประตูทางเข้าทั้ง
๔ ด้าน ทรงสร้างที่ไหว้พระธาตุทั้ง ๔ ทิศ บริเวณพระธาตุสร้างอุโบสถ
วิหารที่พระประธาน พระนาคปรก สระน้ำ บ่อน้ำ และทรงสร้างศิลาจารึกไว้ที่ข้างพระประธานในวิหาร
สิ่งก่อสร้างที่กล่าวมานี้ยังเหลืออยู่และได้รับการบูรณะแล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ จังหวัดขอนแก่น มาทำการขุดแต่งโบราณสถานภายในบริเวณพระธาตุบังพวน
ได้ทราบความยิ่งใหญ่ที่มีความสำคัญในทางพุทธศาสนา คือ "สัตตมหาสถาน"
ซึ่งจำลองมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ดังกล่าวนี้พบในประเทศไทยเพียง
๒ แห่งคือ ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ กับที่วัดพระธาตุบังพวนนี้เท่านั้น
และโดยเฉพาะที่พระธาตุบังพวนนับว่าสมบูรณ์ที่สุด คือมีครบทั้ง ๗ แห่ง อย่างสมบูรณ์
ที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ยังสมบูรณ์ไม่เท่า
สัตตมหาสถานจำลอง หมายถึง สถานที่อันมีความสำคัญยิ่ง ๗ แห่ง ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว
๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์ ได้เสด็จไปประทับ ณ สถานที่ต่าง ๆ เสวยวิมุตติสุข
คือความสุขอันเกิดจากที่พระองค์พ้นกิเลส ๗ แห่ง ๆ ละ ๗ วัน
กลุ่มโบราณสถานที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด
สัตตมหาสถานจำลอง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระธาตุบังพวน
เป็นกลุ่มเจดีย์กระจายในบริเวณดังกล่าวคือ
๑. โพธิบัลลังค์
อยู่ตรงกลางของหมู่เจดีย์ ก่อด้วยอิฐ เป็นทรงกลมเหมือนโอคว่ำ
๒. อชปาลนิโครธเจดีย์
เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ในซุ้มมีพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๓. มุจจลินท์เจดีย์
เป็นวิหารมุงหลังคาไม่มีฝากั้น ภายในมีพระพุทธรูป ปางนาคปรก พญานาคมี
๙ เศียร ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อนาค
๔. ราชายตนเจดีย์
เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ตอนบนมีซุ้ม มีพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๕. รัตนฆรเจดีย์
เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ย่อมุมก่อด้วยอิฐสอปูน มีซุ้มและพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๖. อนิมิสเจดีย์
เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ไม่มีซุ้มและพระพุทธรูป
๗. รัตนจงกลมเจดีย์
เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ไม่มีซุ้มประตูและพระพุทธรูป
ส่วนความสำคัญอันเป็นปูชนียสถานที่กล่าวมานี้ ยังไม่สามารถอธิบายความหมายที่แจ้งชัดได้
ข้อความในประวัติทั้งหมดนี้ได้แกะออกมาจากหนังสือประวัติพระธาตุบังพวน
เพราะหากไม่แกะแล้วคงต้องลอกเอามาทั้งเล่มจึงจะพอรู้เรื่อง ใช้ถ้อยคำโบราณ
ๆ อ่านไม่ค่อยเข้าใจ ลองอ่านดูสำนวนในหนังสือสักนิด " เมื่อทรงจีวรเรียบร้อยแล้ว
(หมายถึงพระพุทธองค์ ผู้เขียน) ก็ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก เสด็จลีลามาทางอากาศ
มีพระอานนท์เป็นปัจนาสมณะติดตาม ครั้นถึงแล้วก็เสด็จประทับที่
"ดอยกอนเนา" นั้นก่อน
เมื่อนมัสการพระธาตุบังพวนแล้ว หากจะกลับเข้าเมืองหนองคายเลยก็เลี้ยวซ้ายมา
๑๒ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายอีก ๑๐ กม. ก็จะเข้าเมืองหนองคาย แต่หากไปตามแผนของผมให้เลี้ยวขวาทันทีที่ออกจากวัด
เพราะได้บอกแล้วว่าถนนเส้นนี้จะไป อำเภอท่าบ่อ แล้วเลียบลำน้ำโขงไปกันอีกยาวที่เดียว
ที่อำเภอท่าบ่อ นั้นไม่มีอะไรที่ตัวอำเภอ มีทางแยกขวาเพื่อเลาะลำน้ำโขง
กลับเมืองหนองคาย ซึ่งเที่ยวกลับจาก อำเภอศรีเชียงใหม่ ขอให้กลับทางนี้จะได้ไม่ซ้ำเส้นทางเดิม
ใกล้กว่าระยะทาง ๒๘ กม. แต่ถนนไม่ดี เพราะโดนรถขนทรายจากลำน้ำโขง ถล่มเสียพังหมดแต่ก็ควรมา
ไม่ต้องย้อนกลับในเส้นผ่านพระธาตุบังพวนซึ่งไกลกว่าแต่ทางดี เพราะต้องการให้วิ่งเป็นวงรอบ
จากอำเภอท่าบ่อ มุ่งหน้าไปทาง อำเภอศรีเชียงใหม่ ระยะทางเพียง ๑๕ กม.แต่พอเลยไปเพียง
๓ กม. ทางซ้ายมีทางแยกเข้าวัดศรีชมภู
มีพระพุทธรูปสำคัญคือ "พระเจ้าองค์ตื้อ"
เป็นพระประธานที่สร้างด้วยทององค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนี้ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
วัดต้องแยกจากถนนใหญ่เข้ามา ๑ กม. และจะผ่านทางแยกเข้าวัดพระยืนก่อน
"ตื้อ" เท่ากับ ๒,๐๐๐ หาบ หรือ ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม
เมื่อนมัสการหลวงพ่อตื้อแล้ว ก็เดินทางต่อไปยัง อำเภอศรีเชียงใหม่
เพื่อต่อไปยังวัดหินหมากแป้ง
ของหลวงปู่ เทสก์ เทสรังษี หากเกิดหิวข้าวตอนผ่านอำเภอนี้
อย่าไปกินข้าว ชมวิวแถวริมแม่น้ำโขง ซึ่งมีร้านอาหารอยู่ ๒ -
๓ ร้าน ร้านที่เก๋กว่าเพื่อนนั้น เป็นร้านประเภทยัดเยียดอาหารจานใหญ่ให้ลูกค้า
ราคาจึงสูงลิ่วและรสอาหารก็ไม่สู้จะบันเทิงนัก กินเสียแถว ๆ ร้านถนนผ่านอำเภอนั่นแหละ
หาอาหารง่าย ๆ กินก็แล้วกัน หรือกะไปอย่าให้ตรงมื้อเที่ยงได้ก็ดี
กลับมากินในเมืองหนองคายดีกว่า ไปร้านแดง แหนมเนือง ที่แนะไปแล้ว
อร่อยเด็ด
จากอำเภอศรีเชียงใหม่ คงตรงต่อไปตามถนนสาย ๒๑๑ จะผ่านทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทธอุทยาน
๘ กม. และเลยไปอีก ๗ กม.จะถึงวัดเทสก์รังษี ผมยังไม่ได้เข้าไปทั้ง ๒
วัด แต่หากคงตรงต่อไปตามถนนสาย ๒๑๑ พอถึงหลักกิโลเมตรที่ ๖๔ ก็เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางของวัดหินหมากแป้ง
สู่เส้นทางที่ร่มรื่น กว้างขวาง เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างยิ่ง
กุฏิเจ้าอาวาสอยู่ริมแม่น้ำ มีศาลาน้อยซึ่งมีรูปเหมือนของหลวงปู่เทสก์
ไม้ดอก ไม้ประดับ ปลูกตกแต่งไว้สวยงาม และยังมีศาลาใหญ่มีรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์
นั่งบนเก้าอี้อีกองค์หนึ่ง
ศาลาใหญ่บนเนินริมสระ มีรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ยืนอีกองค์หนึ่ง
ไม้ดอก ไม้ประดับล้อมศาลานี้ยิ่งสวย
พระสถูปเจดีย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปบรรจุพระธาตุ
ภายใต้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์และมีรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์นั่ง ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นรูปเหมือนที่สำคัญที่สุดปั้นหลังสุด
ในห้องนี้มีเครื่องอัฐบริขารของใช้ต่าง ๆ ของหลวงปู่และหนังสือธรรมะที่หลวงปู่เขียนไว้
ออกจากวัดหินหมากแป้ง หากเลี้ยวขวาก็จะไปยัง อำเภอสังคม ซึ่งที่อำเภอนี้ได้ชื่อว่ามองเห็นบั้งไฟพญานาคได้แจ่มชัด
และแน่นอนกว่าอำเภออื่น ๆ บั้งไฟพญานาคนั้นปีหนึ่งจะมีให้เห็นเพียงวันเดียว
คือวันออกพรรษา วันเพ็ญ ๑๕ คำ เดือน ๑๑ ช่วงเดือนตุลาคม จะตรงกับวันที่เท่าใดต้องดูจากปฏิทินแต่ละปี
วันไปตรงกัน แต่เป็นวันออกพรรษาทุกปี ที่อำเภอสังคม นั้นมีที่ชมบั้งไฟพญานาคอยู่
๒ แห่ง ที่เห็นได้ชัดคือที่ อ่าวปลาบึก
และที่วัดลุ่ม
ลักษณะของบั้งไฟพญานาค จะเห็นเป็นรูปลูกไฟสีแดงขนาดเท่าผลส้มหรือผลหมาก พุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงด้วยความเร็วและจะหายไปในอากาศ
ประมาณความสูงจากพื้นน้ำ ๑๐ เมตรขึ้นไป ในพื้นที่อำเภอสังคมนี้เชื่อกันว่ามี
"รู" พญานาคอยู่หลายแห่ง เช่นที่ยอดเขาบ้านหนองม่วง เป็นรูโพรงจากยอดเขา
ทะลุลงไปยันกลางแม่น้ำ ที่ถ้ำเพียงดิน
บ้านคงต้องเป็นถ้ำยาวอยู่ใต้ดิน และเป็นรูน้ำ ไหนทลุออกแม่น้ำโขงที่อ่าวปลาบึก
ซึ่งอำเภอสังคมนี้คือ อำเภอชายเขตติดต่อกับอำเภอของจังหวัดเลย
กลับเข้าเมืองหนองคาย จากวัดหินหมากแป้ง ก็จะมาผ่าน อำเภอท่าบ่อ หากจะเลาะลำโขง
กลับก็มาตามถนนสายขรุขระสักหน่อย แต่ใกล้กกว่าและตรงหลัก กม. ๓๙.๕ ริมถนนเลยทีเดียว
จะมีสวนไม้ดัดรูปสัตว์ต่าง ๆ สวนไม้ดัดเป็นรูปสัตว์นี้เคยเห็นที่อื่นก็มีดัดไว้สัก
๒ - ๓ ตัว ขนาดที่โรงแรมรถไฟหัวหิน หรือโซพิเทลเดี๋ยวนี้ว่ามีมากแล้ว หากมาเทียบกับที่นี่แล้วจะชิดซ้ายตกถนนไปเลย
เพราะที่นี่ดัดต้นไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ไว้เป็นฝูงเลยทีเดียว บรรดานางแบบทั้งหลายลงถ่ายรูปกันสนุกไป
จากท่าบ่อเมื่อใกล้จะถึงสถานีรถไฟหนองคายจะมีโรงแรมอีก ๒ แห่ง แต่ดูแล้วคงมีผู้มาพักน้อย
เพราะเงียบ ๆ พิกล แต่พอเลยสถานีรถไฟมามีร้านอาหารริมแม่น้ำโขง
มีทางลงหาดจอมมณี
ซึ่งหากเป็นฤดูแล้งจึงจะมองเห็นหาดผุดขึ้นมาให้เห็น และหากจะถ่ายรูปสะพานมิตรภาพ
ไทย - ลาว ก็ถ่ายได้จากจุดนี้ นับว่าสวย หรือถ่ายจากร้านอาหารซึ่งมีอยู่หลายร้าน
ชิมแล้วไม่ถูกใจเพราะเขาพาไปชิมไม่ได้เลือกเอง เลยหาร้านอาหารเย็นมาเล่าไม่ได้
อาหารเช้าแบบที่เรียกว่าพื้นเมืองของหนองคายคงจะเอียงไปทางอาหารญวน
เพราะที่นี่ชาวญวนอพยพหนีภัยสงคราม จากประเทศของเขามาอยู่นานกว่า ๓๐ ปีแล้ว
พวกนี้ออกลูกออกหลานจนได้สัญชาติไทยไปหมดแล้ว แต่ใบหน้านั้นหากเคยชินกับหน้าคนญวนมาก่อน
ก็ยังดูออกว่าแม่สาวคนนี้มีเชื้อสายญวนหรือเปล่า สำหรับผมพอดูออกว่าหน้าไหนเชื้อสายญวน
เพราะอย่างน้อย ๑ ปี ในสงครามเวียดนามนั้นต้องใกล้ชิดกับสาวญวนทุกวัน
สาวในที่นี้ของผมหมายถึงผู้หญิงญวน มีทั้งสาวน้อย สาวใหญ่
สาวทึมทึก มีหมด เพราะรบในเวียดนามนั้น อเมริกาเป็นสปอนเซอร์ใหญ่
ดังนั้นวิธีหนึ่งที่ช่วยค่าครองชีพชาวญวนคือ ให้ทหารทุกชาติรับผู้หญิงญวนเข้ามาทำงานในค่ายทหาร
โดยมาเช้า เย็นกลับ ก่อนจะเข้ามาก็ต้องตรวจกันให้ละเอียด
เพราะสาวเวียตกง สาวเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ก็หน้าเหมือนกัน
เราไม่สามารถแยกได้ว่าหน้าไหนเป็นศัตรูที่จะพกเอาอาวุธมาฆ่าเรา จึงตรวจกันละเอียด
ค่าแรงไม่มากแต่พวกนี้จะได้อาหารกินฟรีมื้อเที่ยง และยังได้อาหารเหลือ ๆ ของพวกเรา
ไม่ใช่เหลือกินจากในจานเหลือในถัง หรือภาชนะที่ทำอาหารเสร็จแล้วใส่ไว้
ทำไว้มากพอแต่บางทีทหารมาไม่ครบตามยอดอาหารจะเหลือ และมักจะเหลือทุกมื้อ
อาหารไทยนั้นญวนยิ่งชอบ และไทยใจดีก็จะแบ่งให้ทุกวันไป ตอนเที่ยวกลับบ้านตอนเย็นทางจุดตรวจ
มักจะผ่อนปรนเรื่องอาหารสำเร็จรูป ที่ประกอบแล้วนี้ให้ผ่านออกไปได้
สาวญวนที่เข้ามาทำความสะอาดบ้าง มาถากถางหญ้าบ้าง งานเบา ๆ
ไม่หนักหนาอะไร เพราะเราจะให้เขามาวุ่นวายในส่วนที่พัก หรือที่บังคับการไม่ได้เป็นอันตรายกับเราเอง
เพราะอย่างที่บอกคือแยกหน้าไม่ออกว่าไหนคือหน้าที่จะฆ่าเราได้
เมื่อญวนอพยพ เข้ามาอยู่ในหนองคายมากและนานยิ่งกว่าแห่งอื่น ๆ
อาหารสไตล์ญวนจึงมีแยะหากินได้ และที่ดูจะเป็นที่นิยมกันทั้งญวนทั้งไทยก็คือไข่กะทะ
ทำง่ายอร่อยยาก ส่วนอาหารพื้นเมืองหนองคายประเภทไก่ย่าง หมูปิ้ง
ข้าวเหนียว นั้นมีทั่วไป ไม่ได้ลองชิมว่าร้านไหนอร่อยเด็ด
ร้านดาริกา ที่จะพาไปเช้าวันนี้ผมได้บอกไว้แล้วว่าถนนที่เป็นหลักในเมืองหนองคายนั้น
เห็นมีอยู่ ๔ สาย และขนานกัน คือสายเลียบแม่น้ำโขง ที่ตลาดอินโดจีนและท่าเสด็จอยู่สายนี้
สายที่สองคือถนนมีชัยขนานกัน สายที่ ๓ คือ ถนนประจักษ์ ก็ขนานกับสายมีชัย
มาอีกสายคือสายทางหลวง ไปอำเภอโพนพิสัย ที่โรงแรม แกรนด์ธานี
ฯ ตั้งอยู่ระหว่างถนนสายเหล่านี้ก็จะมีถนนเชื่อมประเภทเดินทางเดียว
ซึ่งถนนซอยเหล่านี้จะตั้งตามชื่อวัดในซอยนั้นหรืออยู่ปากซอย หากสังเกตแล้วจะเห็นว่าหนองคายนั้นมีวัดมากจริง
ๆ เกือบทุกซอยจะมีวัดแทบทั้งนั้น ร้านดาริกานั้นหากตั้งต้นทางหัวถนนมีชัยก็จะวิ่งผ่านหลังศาลากลาง
(ศาลากลางนั้นด้านหน้าอยู่ติดถนนประจักษ์) ผ่านสี่แยกหายโศรก จะพบร้านดาริกาอยู่ทางฝั่งขวาตรงกันข้ามคือ
บริษัทหนองคายพัฒนา ดูป้ายบริษัทนี้หาง่ายกว่าเพราะหน้าร้านดาริกาตอนเช้า
มีผ้าคลุมกันแดดกั้นไว้ทำให้มองไม่ค่อยเห็นป้าย ร้านเป็น ๒ ห้อง
มีประตูทะลุถึงกันแต่อีกร้านขายจักรยาน จัดร้านสะอาดดีมีโต๊ะตั้งไม่กี่ตัว
ลักษณะขายเช้ายันเที่ยง ตอนก้นร้านมีที่ชงกาแฟ ที่ชงแบบโบราณคือใช้ถุงชงที่เรียกว่า
กาแฟ "นมยาย" ชงแบบนี้ใช้กาแฟผงที่บดมาจากกาแฟเมล็ดคั่วกลิ่นกาแฟจะหอมติดถุง
หอมหวลเลยทีเดียว และเขาจะล้างถุงบ่อยด้วย เพื่อไม่ให้กาแฟจับถุงจนเสียรส
การชงกาแฟด้วยกาแฟแบบนี้จึงหากินยากเต็มที เพราะไปติดกาแฟเนสกันหมด
กาแฟอะไร ๆ ก็เรียกกาแฟเนส เหมือนผงซักฟอกใช้ยี่ห้ออะไรก็จะบอกว่าไปหยิบแฟ๊บมาให้ที
หรือน้ำอัดลมก็มักจะติดโค๊ก เพราะพวกนี้เข้ามาก่อนยี่ห้ออื่น ๆ จึงกลายเป็นศัพท์เฉพาะไปแล้ว
ดังนั้นหากสั่งกาแฟร้านดาริกาหากไม่ไปเน้นอะไรเขาเข้า ก็จะชงกาแฟด้วยถุงนมยายมาให้
คงไม่ต้องอธิบายว่านมยายเป็นอย่างไร
ทีนี้มาดูอาหารร้านนี้มีอาหารหลายอย่าง คือ ไข่กะทะ โจ๊ก ข้าวขาหมู
ข้าวหมูแดง ยังมีซาละเปา ขนมจีบ ปาท่องโก๋ อีกด้วย
ที่พามานี่จะพามากิน "ไข่กะทะ" ที่เคยเขียนเล่าไว้หลายครั้งแล้ว
เช่นที่อุดรธานีร้านยังอยู่ ที่เชียงใหม่ย้ายจากที่เดิมไปแล้ว ไปอยู่ทางถนนสายไป
อำเภอแม่ริม ไข่กะทะคือเอาไข่ไก่ทอดลงในกะทะอลูมิเนียมเล็ก ๆ
เป็นกะทะทำเฉพาะเพื่อทอดไข่แบบนี้ ทอดคล้ายไข่ดาว เมื่อกินเป็นอาหารฝรั่งคือเกือบสุกหรือจะเอาสุกพิเศษก็สั่งเขา
และจะทอดมากับหมูยอ และกุนเชียง บางคนไม่ชอบหมูยอก็สั่งหมูสับ
เขาจะเอาหมูสับทอดโรยหน้ามาแทน จะยกมาเสริฟทั้งกะทะขณะที่กำลังร้อน
ๆ นั้นแหละ ในชุดก็จะมีขนมปังยัดไส้ที่อบมาร้อน กรอบนอก
นุ่มใน กลิ่นขนมปังอบนี้จะหอมกรุ่นทีเดียว จัดแจงเอาซ๊อสพริกแม็กกี้
ใส่โรยลงไปในไข่กะทะ หรือจะไม่ใส่ซ๊อสพริกก็ได้ ใสแต่ซ๊อสแม็กกี้
ส่วนในไส้ขนมปังนั้นจะเติมซ๊อสมะเขือเทศลงไปด้วยก็ตามอัธยาศัย เพราะจะเข้ากันดี
ผมชอบเติมลงไปหน่อยหนึ่ง แค่นี้แหละชุดไข่กะทะ และอย่าลืมสั่งเขา
กาแฟ หรือโอวัลตินเพิ่มเติมเอาเอง หากเป็นกาแฟก็เอาประเภทชงด้วยถุง
กาแฟนมยายอย่างที่ผมบอกนั้นแหละ ที่อร่อยของร้านอีกอย่างคือ โจ๊ก
ซึ่งมีทั้งไก่และหมู ส่วนปาท่องโก๋ ซาละเปา ขนมจีบ รสพอกินแก้ความอยากได้
ไม่ถึงขั้นชวนชิมกัน ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ไม่ได้ลองชิม
ถามพรรคพวกที่ไปด้วยกันดูเขาว่าพอใช้ ไปร้านนี้ก็ไปชิมไข่กะทะเขาดูก็แล้วกัน
พอกินจบจะเดินทางกลับ ชักชวนกันไปเดินตลาดอินโดจีนต่อ
วันแรกมาเดินกันครั้งหนึ่งแล้วอะไรที่หมายตาไว้ ถามราคาไว้ด้วย
ถูกก็ถูกกว่าในกรุงเทพ ฯ แต่ยังไม่แน่ใจจึงยังไม่ซื้อ พอไปเดินเช้าวันนี้ถามเขาก็ราคาเดิม
แสดงว่าไม่ได้บอกผ่าน ต่อก็ไม่ให้เหมือนเดิม ทีนี้ควักกระเป๋าซื้อกลับบ้านกันเป็นการใหญ่
ลืมไปว่าพอจวนจะถึงอุดรธานี คือ บ้านนาข่า
ดงผ้าไหมจะต้องควักกระเป๋าจ่ายสตางค์กันอีก
เราไม่ค่อยจะซื้อหรอกสำคัญแม่เจ้าประคุณนั่นแหละ ควักกันกระเป๋าพังไปเลยทีเดียว
ผ้าไหมนาข่านั้นทั้งสวยและถูกก็แห่ซื้อกันน่ะซี
|