ตระเวนไหว้พระธาตุ
(อีสาน ๒)
ผมพาท่านตระเวนไหว้พระธาตุ และพระบรมธาตุของพระพุทธองค์ในภาคอีสานมาถึงสกลนคร
ก็หมดสัปทานพื้นที่ที่จะเขียนต่อไป เลยเอามาต่อไว้อีกตอน ซึ่งก็คงไม่จบเรื่องพระธาตุของภาคอีสาน
เอาเฉพาะที่สำคัญ ๆ ก็มีมากเหลือเกินคงจะเขียนกันอีกนานกว่าจะครบ และท่านผู้อ่านคงอ่านเสียจนเบื่ออาหารอีสานไปเลยก็ได้
จึงขอเขียนพระธาตุภาคอีสานเอาไว้แค่ ๒ ตอนก่อนแล้วย้ายไปภาคอื่นต่อไป เพราะได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่าพอเขียนจบก็หิ้วกระเป๋าไปตระเวนไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
รวม ๑๑ ปีที่ภาคเหนือ ซึ่งพระธาตุประจำปีเกิดมีอยู่ด้วยกัน
๑๒ ราศี นั้นไปรวมกันอยู่ที่ภาคเหนือถึง
๑๑ ราศี เว้นคนเกิดปีวอกเท่านั้นที่พระธาตุประจำปีเกิดคือ
พระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนมจังหวัดนครพนม พอผมกลับมาจากพระธาตุองค์สุดท้ายในเส้นทางตระเวนไหว้พระธาตุของผมคือ
พระธาตุช่อแฮ
ที่จังหวัดแพร่ ก็เลยรับมาเล่าถึงพระธาตุอีสานอีกตอนหนึ่งก่อน ก่อนที่พาไปชิมข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งเหมือนกัน แต่อาหารนั้นเป็นอาหารเหนือ
ซึ่งความเผ็ดร้อนแรงมีน้อยกว่าอาหารทางภาคอีสาน
สกลนครนั้นเปรียบเหมือนชุมทางคมนาคมของอีสานชุมทางหนึ่ง เพราะจะมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยัวอีสานเหนือ
อีสานกลาง และอีสานใต้ไปได้หมด ทางหลวงแผ่นดินสาย ๒๒ จะแยกไปยังจังหวัดอุดรธานี
และแยกไปยังตัวจังหวัดนครพนม ส่วนทางหลวงแผ่นดินสาย ๒๒๓ ก็จะไปยังอำเภอพระธาตุพนม
และต่อไปยังมุกดาหาร อุบลราชธานีได้ ส่วนทางหลวงแผ่นดินสาย ๒๑๓ ก็จะลงมายังจังหวัดกาฬสินธ์
และต่อมายังขอนแก่น จึงเสมือนเป็นชุมทาง ที่เชื่อมต่อระหว่างอีสานเหนือ กลาง
อีสานใต้
เมื่อตั้งใจว่าจะไปไหว้พระธาตุพนมเป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดมุกดาหาร
โดยเริ่มจากสกลนครก็ไปตามเส้นทางดังนี้
ออกจากสกลนครไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๒๒ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับถนนสายอุดรธานี
- สกลนคร - นครพนม ระยะทาง ๙๐ กม. จะถึงตัวจังหวัดนครพนม นครพนมวันนี้แตกต่างกับที่ไปครั้งที่แล้วมากพอสมควร
โดยเฉพาะโรงแรม มีโรงแรมชั้นดี อาหารดี อยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งจุดที่พักนี้เป็นจุดที่หาดทรายของแม่น้ำโขงสวยมาก
เพราะหากมองจากหน้าต่างจะมองเห็นหาดทรายที่ในฤดูแล้ง น้ำจะลงจนเห็นหาดทรายผุดขึ้นมาเหมือน
"เกาะ" สวยสะอาดตา ชื่อหาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ พักที่โรงแรม แถมอาหารเช้าด้วย
ซึ่งอาหารเช้าจะมีแบบญวนตั้งไว้ให้ชิมด้วย อาหารเย็นหากขี้เกียจตระเวนหาก็อาศัยอาหารโรงแรมได้เป็นอย่างดี
เพราะอาหารอร่อยและราคาไม่แพง (อย่างที่คิด) หากตื่นเช้าไปเดินออกกำลังที่สวนเทิดพระเกียรติซึ่งอยู่ติดกับโรงแรมและติดกับแม่น้ำโขงด้วย
ภาพงาม ๆ ของแม่น้ำโขงจะหายวับไปจากหน้าต่างโรงแรม หากได้ห้องพักที่อยู่ด้านถนน
นั่งดูรถวิ่งไปก็แล้วกัน
ถนนในนครพนมสมัยที่ผมมาราชการตอนยังรับราชการอยู่นั้น ไม่มีสายใหม่ที่กว้างขวางเป็นถนนใหญ่
คงมีแต่ถนนสายเดิมยังเก็บรักษาเอาไว้ เป็นถนนแคบ ๆ คดเคี้ยวและถนนสายสำคัญดั้งเดิมน่าจะเป็นสายที่อยู่เลียบแม่น้ำโขง
และขอชมเชยเพิ่มเติมอาจจะถูกสั่งห้ามรื้อถอนแล้วก็ได้ หากห้ามรื้อถอนแล้วก็ขอให้คำสั่งนี้อยู่ตลอดไป
หรือกรมศิลปากรไปขึ้นบัญชีคุมเป็นโบราณสถานเสียเลย คือ ห้องแถวเก่า ๆ อาคารที่เป็นตึกแถวชั้นเดียว
ก่ออิฐถือปูนและอยู่ริมถนนที่เลียบแม่น้ำโขง ลองขับตระเวนดูก็พบว่าเหลืออาคารเก่า
ๆ ที่ว่านี้อยู่เพียง ๒ แถว และที่ดีใจหนักขึ้นไปอีก คือร้านอาหารเก่าแก่ที่เคยกินกันมาตั้งแต่กว่ายี่สิบปีมาแล้ว
ก็ยังอยู่ให้ชิมรสอาหารได้ เดี๋ยวตอนจบผมจะพากลับมาชิมอาหารที่ร้านนี้
นครพนมมีตลาดกลางคืน และส่วนใหญ่ของทุกจังหวัดไม่ว่าจะเป็นภาคไหนจะมีตลาดราตรี
หรือตลาดโต้รุ่งกันแทบทุกเมือง และกำลังรุกไล่ต่อไปจนถึงทุกอำเภอแล้ว โดยเฉพาะอำเภอใหญ่
ๆ จะมีตลาดกลางคืน หรือตลาดโต้รุ่ง (เรียกกันไปอย่างนั้น ไปเข้าจริงเลยสักตีสองก็ปิดกันหมดแล้ว)
ตลาดโต้รุ่งของนครพนม ปิดถนนขายกันเลยทีเดียว "ตา" ของผมเป็นตาของคนสูงอายุแล้ว
ไม่ว่าเขาปิดถนนเป็นตลาดราตรีตั้งแต่ตอนเย็น เพราะกลางวันยังผ่านถนนสายนี้อยู่
พอหลังอาหารค่ำก็ขับรถออกตระเวนชมเมือง หวิดผ่าเข้าไปกลางดงอาหารในถนนสายที่เขาปิดให้เป็นตลาดราตรี
ส่วนตลาดนี้จะไปทางไหนถามเขาง่ายกว่าให้ผมอธิบาย หรือขับรถวนไปวนมาหากไม่โผล่เข้าไปกลางตลาดเดี๋ยวก็เจอเอง
ในตลาดโต้รุ่งมี หมูพันอ้อย ทอดมันหมู เจ้าแรกทางเข้าเลยทีเดียว ข้าวจี่คลุกไข่ปิ้ง
ข้าวเกรียบปากหม้อญวน เต้าฮวย ปาท่องโก๋ ขนมเทียนแก้ว และอาหารอีกมากมายพยายามชิมมาได้เท่านี้
อาหารเช้า นอกจากที่โรงแรมที่พักซึ่งเขาแถมฟรี บางเช้าก็สละสิทธิ์ออกสำรวจ
ได้พบว่ามีแหล่งอาหารเช้า หน้าโรงพยาบาลพนครพนม เช่น จ๋าวแป๋นแก็ง หรือก๋วยจั๊บยวน
หรือข้าวต้มเส้น ส่วนร้านอาหารเช้านั้นให้ตระเวนดูแถวถนนริมแม่น้ำโขง จะมีร้านอาหารเช้าหลายร้านคือ
ร้านบ้านกาแฟ ส่วนอีก ๒ ร้าน ไม่เปิดเช้า ร้านนี้ชื่อเขาบอกอยู่แล้วว่ามีความหมายอย่างไร
ไม่ได้ไปชิม จะไปตอนเย็นก็ไม่มีคอระดับเดียวกันไปด้วยและกลัวชื่อเหมือนกัน
ร้านอะไรตั้งชื่อเห็นภาพพจน์ดีเหลือเกิน อีกร้านมีร้านเฮือนพี่ เฮือนน้อง
อุทยานแห่งชาติ
นครพนมมีอุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติภูลังกา
อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ต่อเขตจังหวัดหนองคาย ห่างจากนครพนมมาทางหนองคาย
๙๒ กิโลเมตร ไปตามถนนสาย ๒๑๒ ภูลังกาเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารและน้ำตก
เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ดอก กล้วยไม้และพันธุ์ไม้นานาชนิด มีน้ำตกที่งดงามคือ
น้ำตกตาดโพธิ์
อยู่ใกล้กับน้ำตกตาดขาม
มีป้ายบอกทางเข้า อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแพงประมาณ ๕ กม. แต่ทางรถยนต์ยังเข้าไม่ถึงตัวน้ำตก
ต้องลงทุนเดินต่อไป ทางจังหวัดควรจะได้ดำเนินการสร้างถนนให้รถยนต์เข้าไปถึงน้ำตกแห่งนี้
ซึ่งมีน้ำตกตลอดทั้งปีโดยเร็ว จะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของนครพนม
แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครพนม
นอกเหนือไปจากพระธาตุสำคัญหลายแห่งและที่สำคัญยิ่งคือ พระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนม
และต้องทราบไว้ด้วยว่า จังหวัดนี้เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเทือกเขาต่าง
ๆ มากกมาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงพระราชทานนามเมืองไว้ว่า
"นครพนม" มีความหมายว่าเป็นเมืองภูเขา
ศาลหลักเมือง
ตั้งอยู่หน้าเทศบาลเมืองนครพนม ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ถนนอภิบาลบัญชา
วัดโอกาส
(ศรีบัวบาน) ตั้งอยู่ริมถนนสุนทรวิจิตร ริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครพนม
มีศาลเจ้าหมื่น พระติ้ว พระเทียม
และพระพรหมมา
วัดศรีเทพประดิษฐาราม
(วัดศรีเทพ) ตั้งอยู่ริมถนนศรีเทพ มีอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ
พระแสง
วัดพระธาตุมหาชัย
ต.มหาชัย อำเภอปลาปาก ห่างจากตัวจังหวัด ๔๐ กม. ไปนมัสการพระธาตุมหาชัย จะได้นมัสการพระอาจารย์สายวิปัสนาที่สำคัญอีกองค์หนึ่งของภาคอีสานคือ
หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญญโญ หรือพระสุนทรธรรมการ
พระบางวัดไตรภูมิ
ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน ไปทางหนองคาย ห่างจากตัวเมือง ๒๖ กม. พระบางเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร
สูง ๘๐ นิ้ว ฐานรูป ๘ เหลี่ยม ตั้งอยู่บนช้าง ๘ เชือก เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์
วัดภูพานลานสาวคอย
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน
ห่างจาก อ.นาแก ประมาณ ๖ กม. รถยนต์ขับขึ้นไปได้จนถึงลานสาวคอย
รอบลานมีต้นไม้เบญจพรรณ ขึ้นประปราย เมื่อขึ้นไปจนถึงลานหินแล้วจะสามารถมองเห็นยอดพระธาตุพนม
และหนองหาน จังหวัดสกลนคร
ได้อย่างชัดเจน มีทิวทัศน์งดงามมาก สถานที่แห่งนี้เล่ากันมาว่า สมัยก่อนหนุ่มสาวชาวบ้านจะออกไปหาของป่าหรือไปเที่ยว
ก็จะนัดมาคอยกันที่ลานหินนี้เป็นประจำ โดยฝ่ายสาวจะเป็นผู้มาคอย จึงได้ชื่อว่าลานสาวคอย
(เป็นงั้นไป)
ก่อนจะไปไหว้พระธาตุสำคัญ ขอเล่าถึงหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งผมฟังมานานแล้วแต่ไปไม่ถึงสักที
แต่มาอ่านพบในหนังสือ อสท.ฉบับที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๕ และมาพบในโบชัวร์ของนครพนม
มีรายละเอียดเพิ่มเติม จึงขอเอามาบอกกล่าวไว้ก่อนและผมจะรีบไปเสาะหารายละเอียดมาเพิ่มเติมโดยเร็วคือ
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อยู่ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง
ไปทางไหนไม่ได้บอก แต่คงจะหาไม่ยากและอยู่ในเขตอำเภอเมืองด้วย บอกไว้ว่าระหว่าง
พ.ศ.๒๔๖๗ - ๒๔๗๔ เป็นเวลานานถึง ๗ ปี อดีตผู้นำคนสำคัญในการกอบกู้เอกราชของเวียดนามคือ
อดีตประธานาธิบดี โฮจิมินห์ ได้เคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของราชอาณาจักรไทย
เพื่อเตรียมการกอบกู้เอกราชของเวียตนามจากฝรั่งเศส และท่านมาสร้างบ้านอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ระหว่างที่มาอยู่ ๗ ปีนั้น ก็หายตัวไปบ่อย ๆ อาจจะกลับไปเวียตนามเพื่อเตรียมการกอบกู้เอกราชก็เป็นได้
ปัจจุบันบ้านหลังเดิมของท่านเก่าแก่จนผุพังไปหมดแล้ว แต่ลูกหลานของท่านได้สร้างบ้านขึ้นไว้
๑ หลัง ให้มีสภาพเหมือนบ้านเดิมที่นาจอก ทางราชการหรือทางจังหวัดนครพนมไม่ลองหารายละเอียดเพิ่มเติม
แล้วส่งเสริมร่วมกับการท่องเที่ยวให้ผู้คนมาเที่ยวกัน โดยเฉพาะประชาสัมพันธ์ให้ชาวเวียตนามเขาแห่กันมาเที่ยวบ้านวีรบุรุษ
ของเขาดูบ้างหรือ เวลานี้คนญวนก็มาเที่ยวเมืองไทยกันมากอยู่แล้ว ทำดี ๆ คนญวนเป็นได้แห่มาเที่ยวกันตรึมไปเลย
อย่าลืมว่านครพนมนั้นญวนที่กลายเป็นไทยไปหมดแล้วมีไม่ใช่น้อย เป็นคนญวนที่หนีภัยสงครามมาเมื่อสัก
๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว และชั้นลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยก็กลายเป็นคนไทยไปหมด แต่หน้าตา
ผิวพรรณ ภาษาของเขายังเป็นญวนอยู่ ไม่ต้องไปหาดูไกล ไปที่อรัญประเทศก็แยะไปคนไทยเชื้อสายญวน
กลับมาเที่ยวในตัวเมืองอีกทีก่อนไปไหว้พระธาตุสำคัญ ๓ แห่ง
ตลาดอินโดจีน
ตลาดชื่อหรือลักษณะแบบนี้ในภาคอีสานผมเห็นมี ๓ แห่ง คือที่มุกดาหาร นครพนม
และหนองคาย ตลาดที่นครพนมนั้นอยู่บนอาคารหลังโต ริมแม่น้ำโขง มีร้านขายของมากถึง
๑๐๔ ร้าน มีร้านอาหารแก้หิวได้ ไปทางหอนาฬิกา หรือถามเขาดูก็ได้ว่าไปทางไหน
หาไม่ยาก ตลาดอินโดจีนที่นครพนมนั้นรับสินค้ามาจากมุกดาหารแต่คนขายฉลาดคือ
ขายราคาพอ ๆ กับมุกดาหาร ต่อรองได้ไม่มาก ไม่เหมือนมุกดาหารซึ่งความจริงสินค้าต้องถูกกว่า
เพราะรับตรงมาจากสวันเขตแต่ชอบบอกราคามากจนเป็นราคาฆ่าตัวตาย (แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากแล้ว)
ส่วนที่นครพนมบอกใกล้เคียงกับราคาที่ต้องการขายหรือตรงราคาขายหากคนซื้อท่าทางดี
ผมชอบใจซื้อของเจ้า "ตาหนวด" ขายอยู่ชั้นล่างของอาคาร ห้องขายขวาสุด ช่วยกันขายทั้งครอบครัวอัธยาศัยดีเลยได้สตางค์ไปแยะ
ศาลากลางเก่า
อยู่ถนนศาลากลาง เวลานี้เป็นหอสมุดแห่งชาติ
อาคารเก่าแก่สร้างแบบยุโรปสวยมากและใกล้ ๆ กันมีสวนราชทัณฑ์
คงจะเป็นคุกเก่า แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นคุกแต่เป็นสวนชื่อ สวนชมโขง
หอนาฬิกา
อยู่ไม่ไกลจากริมโขง สร้างโดยชาวญวนที่อพยพหลบภัยเข้ามา และพวกนี้ได้อพยพกลับไปเวียตนามเมื่อได้เอกราชแล้ว
จึงได้สร้างหอนาฬิกาไว้เป็นที่ระลึก
พระธาตุท่าอุเทน
เป็นพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งของอีสาน ของนครพนม อยู่ที่อำเภอท่าอุเทน ถนนริมแม่น้ำโขง
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๒๖ กม. ท่าอุเทนอยู่ตรงข้ามกับเมืองหินบูรณ์ แขวงคำม่วงของลาว
เป็นพระธาตุเก่าแก่และสร้างให้มีรูปทรงคล้ายคลึงกับพระธาตุพนม หากจะไปหนองคายต่อจากนครพนมก็ไปแวะไหว้พระธาตุท่าอุเทนแล้วให้เลยไปต่อ
ไปที่แม่น้ำสองสีอีกแห่งหนึ่งของอีสาน
คือที่ปากน้ำบ้านไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน เลยทางแยกเข้าอำเภอท่าอุเทนไปแล้วไปต่อไปทางจะไปหนองคาย
ประมาณ กม. ๒๗๐ จะมีทางแยกเข้าบ้านไชยบุรี มีป้ายบอกทาง บ้านนี้เขามีคำขวัญว่า
"แม่น้ำสองสี ประเพณีบุญบั้งไฟ ส้มปลาชะโดกินดี ปลาร้าตัวใหญ่ที่ไชยบุรี"
แม่น้ำสองสีคือ แม่น้ำสงคราม
ที่ไหลมาจากอำเภอศรีสงครามจะมาบรรจบกับแม่น้ำโขง
ที่บ้านไชยบุรี หากไปชมไปให้พอดีอาหารกลางวัน ไปกินกลางวันที่ร้านปากแม่น้ำ
กินไป ชมไป ติดรูปถ่ายโชว์เอาไว้ว่ามีคนใหญ่คนโตมากินกันแยะ อดีตนายกรัฐมนตรีก็มี
ผู้ว่า กทม. ก็มาชิม (ไม่ทราบว่าบ่นไปด้วยหรือเปล่า) ผมเลยทดลองชิมอาหารดี
โดยเฉพาะกุ้งจากแม่น้ำศรีสงครามนั้นตัวโต ราคาถูก กิโลกรัมละ ๒๕๐ บาทเท่านั้น
ลืมถามไปว่า ทอดเกลือได้ไหม เพราะมัวแต่ตื่นเต้นกุ้งราคาถูกเลยสั่งเผาทั้งกิโล
แถมสั่งมาเพิ่มให้ทอดกระเทียมพริกไทย กับทำต้มยำให้อีกครึ่ง กก. ผมอิ่มอาหารแล้วเดินทางต่อไปยังหนองคาย
กลับมานครพนมกันใหม่ คราวนี้ล่องเลียบแม่น้ำโขงลงสู่ทิศทางอีสานใต้ จุดแรกคือ
อำเภอเรณูนคร พระธาตุเรณูนคร
พระธาตุนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ภายในองค์พระธาตุเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎก
และพระพุทธรูปทองคำ และวัดพระธาตุเรณูนคร
ซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเรณูนครนี้ยังมีพระองค์แสน
ที่มีน้ำหนักมากถึง ๑,๒๐๐ กิโลกรัม ชาวเรณูนครเป็นชาวผู้ไทย สาว ๆ อำเภอนี้หน้าตาจึงสวยนัก
และมีศิลปะพิเศษคือ การฟ้อนของชาวผู้ไทย เสียดายที่ศิลปะนี้ไม่มีการแสดงเป็นประจำ
ในตัวเมืองนครพนม หรือที่ตัวอำเภอ เห็นที่ข้าง ๆ วัดพระธาตุมีโรงแสดงขนาดใหญ่แต่ไม่มีประกาศว่าแสดงเมื่อไร
แต่หากติดต่อชมรมผู้ไทยเรณูนคร และเราไปกันหมู่คณะใหญ่ น่าจะแสดงให้ชมได้
ลองติดต่อ ๐ ๔๒๕๗ ๙๑๗๔ สินค้าที่ขายทั่วท้องถนนในเรณูนครคือ "อุ"
บรรจุไหวางไว้ขายซื้อกลับมาได้ เขาบอกหากมีงานสาวเรณูนครจะท้าหรือชวนหนุ่มต่างถิ่นดูดอุแข่งกัน
ใครคอไม่ถึงก็เมา "อุ" นั้นคือเหล้าดี ๆ นี่เอง แต่แปลกที่ดูดหมดแล้วเติมน้ำลงไปเดี๋ยวดูดได้อีก
พระธาตุพนม
เลยอำเภอเรณูนครไปจะถึงอำเภอธาตุพนม พระธาตุองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๒๕ กม. สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.๑๒๐๐ -
๑๔๐๐ ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธองค์
ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาเดียวกับปราสาทขอม และเพราะความเก่าแก่เมื่อฝนตกหนักในปี
พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นผลให้องค์พระธาตุพนมพังทลายลงมา และทางราชการได้สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จเมื่อ
๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ เมื่อพังทลายลงมานั้นพบว่ามีสิ่งมีค่าบรรจุอยู่นับหมื่นชิ้นและมีฉัตรทองคำหนักถึง
๑๒๐ กิโลกรัม ไม่ไกลกันนักจากองค์พระธาตุคือ พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์บัว อยู่ที่วัดศิลามงคล
บ้านหลักศิลา ห่างจากองค์พระธาตุประมาณ ๕ กม. มีร่างไม่เน่าเปื่อยของพระอาจารย์บัวและมีอัฐธาตุของพระอาจารย์มั่น
คนเกิดปีวอกต้องไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม แล้วจะโชคดี เขาบอกว่าไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดปีละครั้งติดต่อกัน
๗ ปี ได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน ยิ่งปี ๒๕๔๗ นี้เป็นปีลิง ไปจนถึงเมษายน สงรานต์
๒๕๔๘ คนปีลิงยิ่งควรไปไหว้พระธาตุพนม
กลับเข้ามาในตัวเมืองนครพนม ถนนริมแม่น้ำโขงเลยไปจากหอนาฬิกาจะมีถนนเลียบแม่น้ำโขง
เป็นถนนแคบ ๆ สายแก่าแก่มีอาคารเรือนแถวเก่าก่ออิฐถือปูน เป็นร้านชั้นเดียวมีทั้งห้องแอร์และห้องนั่งริมโขง
ให้ลมแม่น้ำตีหน้าเย็นชื่นใจ ฝรั่งชอบนั่งรับลม ผมก็นั่งข้างนอกเช่นกัน แต่ชาวเมืองเขามานั่งกินกันในห้องแอร์
เขาคงมองแม่น้ำโขงทุกวันจนเห็นเป็นธรรมดา
ต้มยำปลาคัง เป็นต้มยำน้ำใส ออกรสเปรี้ยวด้วยมะเขือเทศ ปลาคังเนื้อขาวจั๊วติดหนังมาด้วย
ทำให้เคี้ยวสนุก เสริฟมาในหม้อไฟร้อนโฉ่ ยังมีปลาอื่น ๆ อีกเช่น ปลาบึกผัดฉ่า
ปลาเก๋าราดพริดและปลาสำลียำมะม่วง
ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดมากับมะเขือพวง พริกไทยอ่อน กระชาย ใบมะกรูด คลุกข้าวสวยร้อน
ๆ อร่อยหลาย
ออส่วนกะทะร้อน ต้องย้ำว่าออส่วนที่เป็นออส่วนไม่ใช่หอยผัดกับแป้งเละ ๆ เดินทางมาห่างจากทะเลหลายร้อยกิโลเมตร
เลยสั่งมาชิม ไม่ผิดหวังเลยออส่วนที่นครพนม
อิ่มแล้วย้อนมาทางจะมาหอนาฬิกา ซื้อกลับคือ หมูยอ และซาละเปาสูตรเซี่ยงไฮ้
......................................................................
|