เชียงใหม่
(๒)
ผมพาไปเที่ยวห้วยน้ำดัง
และโป่งเดือดป่าแป๋
ในจังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว ซึ่งทั้ง ๒ แห่งนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
ยังไม่พาเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ผมจะพาขึ้นเหนือของเชียงใหม่ต่อไปก่อน เพราะนักท่องเที่ยวนั้นส่วนมากไปหลงใหลเชียงใหม่แต่ในเมือง
สนใจในธรรมชาติของเชียงใหม่น้อยเกินไป ผมรับราชการอยู่เชียงใหม่นานถึง ๕ ปี
และไมใช่ตอนที่เจริญมากอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นสมัยเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว ในฐานะผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ อำเภอแม่ริม ซึ่งตอนนั้นศาลากลางเชียงใหม่และสถานที่ราชการต่าง ๆ ล้วนอยู่แต่ในเมืองทั้งสิ้น
แต่กองพันของผมอยู่ห่างออกมาจากย่านชุมชน ๘ กิโลเมตร วิ่งรถมาเหมือนวิ่งในป่า
แต่พอศาลากลางย้ายมาตั้งใกล้ ๆ กองพัน ปัจจุบันจากชุมชนของเชียงใหม่คือ ย่านช้างเผือกไปจนถึง
อำเภอแม่ริม กลายเป็นแหล่งชุมชนไปหมดแล้ว เสียดายตอนที่เป็นผู้บังคับกองพันนั้น
ที่ดินหน้าค่ายเขาขายกันไร่ละ ๒,๐๐๐ บาทไม่มีสตางค์จะซื้อ แต่ปัจจุบันแถวหน้าค่ายปืนใหญ่ไร่ละ
สองล้านบาท ก็ไม่มีใครยอมขาย
เมื่อลงจากห้วยน้ำดัง มาแวะโป่งเดือดป่าแป๋แล้วก็วิ่งต่อมา พออีก ๗ กิโลเมตร
จะถึงปากทางก็แวะกินข้าวกลางวันประเภทจานเดียวที่ร้านปลาแม่แตงคาร์พที่อยู่ทางขวามือ
ต่อจากนั้นก็วิ่งไปออกถนนสาย ๑๐๗ คือสายเชียงใหม่ - ฝาง ถนนสายนี้จะผ่านอุทยานแห่งชาติถึง
๓ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อุทยานแห่งชาติเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
กินพื้นที่กว้างขวาง เพราะอุทยานมีพื้นที่ไปจรดอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
จึงมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด
ป่าแม่แตง รวมอยู่ในพื้นที่ของตำบลเชียงดาว
ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ตำบลสันทราย ตำบลป่าไหน ตำบลบ้านโป่ง ตำบลน้ำแพร่
ตำบลป่าตุ้ม ตำบลแม่แวน ตำบลแม่ปั๊ง ตำบลโสร่งขอด อำเภอพร้าว ตำบลบ้านเป้า
ตำบลช่อแล ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแนวต้นน้ำลำธาร มีที่น่าสนใจคือ
น้ำตกม่อนหินไหล
อยู่บริเวณป่าแม่งัด ดอนห้วยแม่แพง ตำบลแม่แพง ตำบลแม่ปั๊ง มีความสูง ๖ ชั้น
แต่ละชั้นสูงประมาณ ๕.๑๕ เมตร ชั้น ๑,๒ และ ๓ เป็นดาดหินลาดลงมาสูงประมาณ
๔๐ เมตร ชั้น ๓ สวยที่สุด มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้าง ๑๕ เมตร มีน้ำตกตลอดปี
เส้นทางเข้าไปยังน้ำตกม่อนหินไหลคือ ไปตามถนนสาย ๑๐๗ ก่อนแล้วไปแยกขวาเข้าหมายเลข
๑๐๐๑ สายเชียงใหม่ - พร้าว ผ่านป่าแม่แตง ป่าแม่งัด เป็นถนนลาดยางเรียบร้อยแล้ว
ไปจนถึงกิโลเมตร ๗๙ บ้านประดู่ ตำบลแม่ปั๊ง อำเภอพร้าว ก็แยกเข้าอ่างเก็บน้ำชลประทานแม่แตง
เข้าสู่บริเวณที่ทำการอุทยาน ฯ และน้ำตกม่อนหินไหลได้
และอีกแห่งหนึ่งที่น่าไปเที่ยวคือ น้ำพุเย็น
น้ำตกเย็น และถ้ำบวกตอง
ไปตามถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ตำบลหอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ แยกจากสาย
๑๐๐๑ ที่ กิโลเมตร ๔๒ เป็นน้ำแร่ที่มี " Ca. Co 3 " เคลือบอยู่
พรรณไม้ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา
สภาพป่าในอุทยาน ฯ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา
มีไม้ยาง กะบาก ยมหอม อบเชย ตะเคียนทอง ตะแบก สัก แดง ประดู่ กะบก เต็งรัง
เหรียง พลวง ชิงชัน ไม้ไผ่ ฯ และยังมีปาล์ม เฟริน ไม้ตระกูล " ก่อ " เช่น
ก่อเดือน ก่อตาหนู เป็นต้น
ส่วนสัตว์ป่าในอุทยานแห่งนี้ เช่น เสือ เก้ง เลียงผา หมี หมูป่า ลิง กระต่ายป่า
ไก่ป่า และสารพัดนก โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำแม่งัด จะมีนกสำคัญคือ นกเป็ดน้ำ
นกกระยางขาว นกนางนวล
ก่อนถึงทางแยกไปยัง อำเภอพร้าว ก็จะผ่านอำเภอเชียงดาว ซึ่งตรงย่านกลางของอำเภอ
มีร้านอาหารขาหมูเสวย ร้านพรเพ็ญ ขาไปอยู่ทางซ้ายมือ ชิมกันมานานกว่าสิบห้าปี
ยังอร่อยเหมือนเดิม แวะกินร้านนี้ต้องไม่ลืมสั่งอุ้งตีนหมู (ไม่สะใจหากเรียก
คากิ หรือฟังไม่ได้เลยหากเรียกอุ้งเท้าหมู) และอีกอย่าง ง่ายแต่ทำให้อร่อยยาก
คือ ผักกาดดองผัดไข่ ร้านนี้ผัดเก่งนัก
ถ้ำเชียงดาว
อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูป มีหินงอก หินย้อยงดงามมาก
แบ่งออกเป็นหลายถ้ำ ตั้งชื่อถ้ำตามลักษณะหินงอก หินย้อย การเดินทางไปเที่ยวถ้ำนี้ไปได้สะดวก
ขาไปอยู่ซ้ายมือ ห่างอำเภอ ๕ กิโลเมตร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว
เป็นภูเขาหินปูนที่สูงเป็นลำดับ ๓ (ลำดับ ๑ คือ ดอยอินทนนท์) รองจากดอยผ้าห่มปก
และดอยอินทนนท์ บนดอยเชียงดาวนี้มีอากาศหนาวเย็นมาก หรือเติมมาก ๆ เข้าไป
ไม่มีบ้านพักที่ให้เช่า แต่กางเต้นท์นอนพอได้ แต่ต้องเตรียมอาหารไปเอง ผมเคยนอนบ้านพักของป่าไม้
ซึ่งเป็นบ้านของระดับหัวหน้า บ้านสวยมากและหนาวจับใจ นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเดินขึ้นดอยกัน
แต่ดูเหมือนจะขึ้นมาไม่ถึงยอดดอย ที่มีบ้านพักของป่าไม้และป่าสนเพราะสูงมาก
ปางช้างแตงดาว
อยู่ถนนสาย ๑๐๗ เชียงใหม่ - ฝาง กิโลเมตร ๕๖ มีการแสดงวันละ ๒ รอบ ๐๙.๐๐ และ
๑๐.๐๐ เสียค่าเข้าชม เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าขึ้นราคาไปหรือเปล่า เดิมคนละ ๖๐
บาท
พ้นเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนาไปแล้ว หากมุ่งหน้าต่อไปก็จะไปผ่านทางแยกซ้ายเข้าไปยังอำเภอระแหง
และมีทางแยกซ้ายเข้าไปยังเมืองงาย
ซึ่งมีอนุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เช่น พระเจดีย์ค่ายทหารจำลองเป็นต้น สมควรเข้าไปชม ไปสักการะแก่กษัตริย์ผู้มีพระคุณต่อแผ่นดิน
ผ่านทางแยกเมืองงายไปแล้ว ก็จะถึงทางแยกขึ้นดอยอ่างขาง
ซึ่งจะต้องขับรถขึ้นดอยไปเป็นระยะทางประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ก็จะถึงปากทางเข้าโครงการหลวง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เพื่อช่วยชาวไทยภูเขา
ช่วยให้พวกเขาเลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกต้นไม้เมืองหนาว จนประสบความสำเร็จ เลิกปลูกฝิ่นเด็ดขาด
ปลูกไม้เมืองหนาวเช่น ท้อ แอปเปิ้ล สาลี่ กีวี ฯ และมีตลาดรับจำหน่าย จนชาวเขาเดี๋ยวนี้ไม่ได้เดินแบกของสะพายหลังแล้ว
เขาขับรถปิกอัพ มีเพลงฟังไปตลอดทาง ยิ่งบางหมู่บ้านค้ายาบ้าเข้าไปด้วย ยิ่งรวยหนักกว่าชาวเราอีก
โครงการหลวงนั้นมีที่พักราคาถูกมาก พักในศูนย์ฝึกอบรม รัฐบาลไต้หวันที่มาช่วยการปลูกพืชผลตั้งแต่แรก
และเดี๋ยวนี้ก็ยังช่วยอยู่ ได้สร้างไว้ให้ ห้องพักอย่างดีทีเดียว แต่ต้องไปเป็นหมู่คณะละก็เหมาะ
เพราะห้องพักได้หลายคน ติดต่อที่พัก ๐๕๓ ๔๕๐๑๐๗ - ๙ และราคาถูกกว่ารีสอร์ทธรรมชาติมาก
แม้ความสะดวกจะน้อยกว่า แต่ความหนาวเย็นเท่ากัน และอยู่ใกล้ธรรมชาติมากกว่าพักรีสอร์ทธรรมชาติด้วยซ้ำไป
โครงการหลวง
เมื่อเข้าไปแล้ว (เสียค่าผ่านเข้าคนละ ๒๐ บาท รถคันละ ๓๐ บาท) ทางขวามือคือ
เรือนไม้กระถาง
ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้เมืองหนาว มีให้ชมและจำหน่ายราคาย่อมเยาว์ รวมทั้งผักเมืองหนาว
เช่น บรูสเซลล์สปราท์ ที่หัวโตเท่าหัวแม่มือ เหมือนกล่ำปลีจิ๋ว เขาตั้งชื่อไทยแล้วผมจำไม่ได้
ผัดกินสด ๆ อร่อยนัก ต่อไปมีโดมแคลตัส เรือนบอนไซที่งดงามและสวนหิน
งดงามไปหมด จากปากทางเดิน ๒ กิโลเมตร จนถึงจุดที่ตั้งสโมสรเพลินไม่เมื่อยเลย
แต่หากเราพักเราก็นั่งรถเข้าไปจอดที่สโมสร กินข้าวเข้าที่พักที่อยู่ใกล้ ๆ
กัน สวนที่สวยที่สุดคือสวนรอบ ๆ บริเวณที่เป็นสโมสรนั่นเอง ที่นี่อากาศหนาวตลอดปี
ไปฤดูไหนก็ได้เจอหนาวทั้งนั้น และที่ปากทางเข้าโครงการ ฯ จะมีตลาดของชุมชนที่นำผลิตภัณฑ์มาขายกัน
ร้านอาหารก็มี ผมเคยซื้อยอดโสมมาให้ร้านอาหารที่สโมสรผัดให้ และที่ตลาดนี้เขามีสารพัดผลไม้สด
และแช่อิ่มมากมายจำชื่อไม่ไหว จำได้แต่ลูกบ๊วย เขาตั้งชื่อใหม่ว่า " บ๊วยแห่งความรัก
" ส่วนลูกท้อ ชื่อ ลูกพีช จะได้ไม่ท้อแท้
ร้าอาหารของสโมสร มีอาหารทุกมื้อ มื้อเช้า ออกไปกินหน้าโครงการตรงตลาดก็มีไม่แพง
ส่วนมื้อกลางวันเราจะออกเที่ยวตามหมู่บ้าน ซึ่งมีหมู่บ้านสำคัญอยู่ ๕ หมู่บ้าน
เราก็สั่งให้เขาทำข้าวกล่อง ให้ทำง่าย ๆ เช่นข้าวผัดกระเพรา โปะด้วยไข่ดาว
เอากระติกน้ำไปแค่นี้ก็อิ่มสบายแล้ว
หมู่บ้านทั้ง ๕ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวง
ฯ คือ (นอกพื้นที่มีอีกหลายหมู่บ้าน) หมู่บ้านขอบด้งของเผ่ามูเซอร์ดำ
หมู่บ้านนอแลของเผ่ากะเหรี่ยงปะหล่อง
ซึ่ง ๒ หมู่บ้านนี้ผมเคยนำเสื้อผ้า และอุปกรณ์การศึกษาไปแจกมาแล้ว หมู่บ้านลูกผสมของเผ่าจีนฮ่อ (แอบสอนภาษาจีนในเวลากลางคืน) คือมีทั้งจีนฮ่อ มูเซอร์ ม้ง ปะหล่อง หมู่บ้านเย้า
และหมู่บ้านที่ต้องจับตามองเพราะค้ายาบ้ากัน (เจ้าหน้าที่โครงการบรรยายสรุปให้ทราบ)
คือหมู่บ้านปางม้า
ตอนนี้รัฐบาลกำลังเร่งปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง คงปราบไปหมดแล้ว ผมก็เคยเขียนเตือนไปแล้วว่าอย่าปล่อยไว้อันตราย
ส่วนหมู่บ้านนอแลนั้นอยู่ขอบชายแดน มีหน่วยทหารของเราตั้งอยู่ และห่างกันสัก
๑ กิโลเมตร ก็มีทหารพม่าตั้งอยู่เช่นกัน
อาหารเย็นที่สโมสร อร่อยมาก อากาศหนาวเย็น จะดื่ม จะซดอะไรสนุกไปหมด เช่นสั่ง
ผัดผักทั้งหลาย ผักสด ผัดแล้วหวานกรอบ เห็ดหอมผัดซีอิ้ว ผัดยอดฟักแม้ว ผัดบรูสเซลล์สเปราท์
ผัดยอดถั่วลันเตา ผัดยอดโสม (ซื้อมาจากปากทาง) น้ำพริกอ่อง แคบหมู จิ้มด้วยผักสด
หวาน กรอบ สลัดผัก แกงจืดเต้าหู้ขาวสาหร่าย ขาดไม่ได้อาหารหลัก ไข่เจียวหมูสับ
มื้อเช้าหากไม่ไปกินเป็นฝรั่ง ที่ตลาดหน้าโครงการก็สั่ง ข้าวต้ม กาแฟ ใช้ได้
อาหารร้อน ๆ เข้ากับอากาศหนาว อร่อยไปหมด
จบรายการโครงการหลวง ฯ ซึ่งอิ่มอร่อยกับร้านอาหารของสโมสรอ่างขางแล้ว กลับลงข้างล่างจากดอยหากยังไม่หมดแรง
ยังมีเวลาก็ไปเที่ยวอุทยานแม่ฝางกันต่อ
ลงมาจากดอยอ่างขางแล้ว เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะถึงอำเภอฝาง ซึ่งเส้นทางนี้หากไปต่อจะไปยังอำเภอแม่อาย
และต่อไปจนออกอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายได้ เส้นทางดีตลอดสาย
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง
พึ่งยกฐานะขึ้นมาจากวนอุทยาน รายละเอียดต่าง ๆ ยังมีไม่มาก แต่หากจะติดต่อก็ติดต่อได้ที่
ตู้ ปณ.๓๙ อำเภอฝาง เชียงใหม่ ๕๐๑๑๐ หรือ โทร ๐๕๓ ๔๕๑๔๔๑ ต่อ ๓๐๒ เพื่อขอทราบรายละเอียดต่าง
ๆ แม่ฝาง อยู่ห่างจากตัวอำเภอฝางไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๙ กิโลเมตร
มีป้ายชี้ทางไปจากตลาดอำเภอฝาง หรือหาป้ายไม่เจอถามชาวฝางดูว่าไปบ่อน้ำร้อนเส้นไหน
ถนนดีตลอดจนถึงแม่ฝาง ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วจะต้องเสียค่าผ่านเข้าอุทยานคนละ
๒๐ บาท ตรงที่จอดรถภายในอุทยานจะมีร้านเล็ก ๆ ขายภาพของอุทยาน และขายของที่ระลึก
ขายไข่นกกะทา และไข่ไก่ที่ต้มด้วยน้ำแร่จากน้ำพุร้อน จากจุดที่ตั้งร้านขายของหากเดินลงไปสัก
๕๐ เมตร ก็จะพบบ่อน้ำร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดินลึก สูงหลายเมตร ความร้อนถึง
๘๗ องศาเซนเซียส มีบ่อน้ำร้อนเล็ก ๆ มากกว่า ๕๐ บ่อ พุ่งขึ้นทั่วไปหมด เมื่อสมัยก่อนคือเมื่อตอนผมมาอยู่เชียงใหม่นั้น
ยังไม่ได้ปรับปรุงเป็นวนอุทยานที่สวยงามอย่างนี้ ปล่อยไปตามธรรมชาติจะเห็นบ่อน้ำร้อนเต็มทั่วไปหมด
ตอนนี้จำกัดลงเอาพลังน้ำมาใช้ เช่นมีบ่อหนึ่งบอกว่าลึกถึง ๑๖๐ เมตร เขาก็เอาพลังน้ำร้อนจากใต้ดินนี้มาทำไฟฟ้า
ลักษณะทำให้ชมยังไม่สามารถทำให้เกิดพลังงานใช้งานได้อย่างจริงจัง ซึ่งผมเคยเห็นที่อยู่ในเส้นทางจากทะเลสาปเตาโป
ไปยังโรโตรัวในประเทศนิวซีแลนด์ ที่นั่นนำพลังงานจากน้ำพุร้อนใต้ดินมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า
โดยเอาแรงน้ำร้อนที่พุพุ่งขึ้นมาอย่างแรงมหาศาลนั้น ไปหมุนกังหันเพื่อไปหมุนไดนาโม
ก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง ประเทศไทยเห็นปักป้ายไว้ที่ อำเภอสันกำแพง
จังหวัดเชียงใหม่ นานจนป้ายเก่าแล้วว่าจะทำกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน
ส่วนที่ฝางนี้ทำไว้ให้ชม และหากจะเอารถวิ่งขึ้นไปจากที่จอดรถมาดูน้ำร้อนไปทางห้วยแม่ใจ
ไกลออกไปสัก ๒๐๐ เมตร คราวนี้ไปดูน้ำเย็นบ้าง มีน้ำจากธารน้ำไหลลงมาอย่างแรงแต่เป็นน้ำเย็น
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขาก็สร้างโรงไฟฟ้าคล่อมธารน้ำไว้ให้กระแสน้ำที่ไหลแรงไปหมุนใบจักร
เพื่อไปไดนาโมต่อก็ทำกระแสไฟฟ้าขั้นใช้งานได้จริง ๆ แต่น่าจะตั้งได้อีกสัก
๒ - ๓ โรง เพราะน้ำที่ไหลผ่านโรงแรมมาแล้วนั้น กระแสน้ำก็ยังไหลแรงมาก ผมคิดเอาเองว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าดักอีก
๒ - ๓ โรง ก็น่าจะใช้ความแรงของกระแสน้ำ ไปหมุนใบจักรหรือกังหันได้อีก แต่ต้องย้ำว่าผมคิดเอาเอง
โรงเรียนนายร้อยสอนแต่วิชาไฟฟ้า ไม่ได้สอนวิชาตั้งโรงไฟฟ้า
ผมพักที่โรงแรมโชคธานี อยู่ข้างธนาคารไทยพาณิชย์ ราคาไม่แพงคืนละ ๔๕๐ บาท
ไม่มีอาหารเช้า พอเช้าขึ้นมาก็เลยไปที่ตลาดฝาง ไปกินข้าวซอยอิสลาม เข้าตลาดไปแล้วร้านอยู่ทางขวามือ
พออีกเช้าไปพบอีกร้าน ความจริงผ่านไปตั้งแต่เช้าแรก ทีนี้เป็นข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง
อร่อยมาก อยู่ติดกับตลาดโชคธานี อยู่ฝั่งเดียวกับโรงแรม ร้านขนาดสองห้อง เลยโรงแรมมาสัก
๕๐๐ เมตร
เลยตลาดเจ้าฝางเข้าไป จะผ่านทางซ้ายคือ วัดเจดีย์งาม
เลยต่อไปอีกมีอนุสาวรีย์เจ้าแม่สามผิว
มีกำแพงเมืองโบราณที่ปักป้ายบอกไว้ว่า
อะแซหวุ่นกี้มาตีได้เมืองฝางเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ แต่ท่านอะแซหวุ่นกี้เมื่อขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี
(รัชกาลที่ ๑ ) ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ นั้นอายุ ๗๒ ปี ทุกเล่มประวัติศาสตร์กล่าวตรงกันหมด
ตอนนี้มาตีฝาง พ.ศ.๒๓๓๐ ท่านต้องอายุ ๘๔ ปี ไม่เก่งเกินไปหรือคนอายุ ๘๔ เมื่อ
๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว กิจการแพทย์ยังไม่เจริญ หมอฟันก็ไม่น่าจะมี หมอหัวใจยิ่งไม่มีใหญ่
มิต้องหามท่านมาหรือ หรือนอนรำทวน ให้ทหารหามมา อำเภอฝาง ไม่ลองค้นคว้าตรวจสอบดูอีกทีหรือ
ชื่อพม่าที่เป็นชื่อบรรดาศักดิ์แบบขุนหลวงพระ พระยา ของเราก็มี เช่นของเราพระยาจักรีมีทุกรัชกาล
แต่นามจริงท่านต่างกัน อะแซหวุ่นกี้เป็นนามจริง แต่ผมลืมไปแล้วว่าชื่อตำแหน่งของท่านก็ลงด้วย
" คะยี ๆ" ทำนองนี้ ที่ยกมาตีฝางเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ อาจจะเป็นคนอื่น คะยีอื่น
แต่ไม่ได้ชื่ออะแซหวุ่นกี้ อาจจะเป็นอะแซอื่นก็ได้ ขอสงสัยและไม่เชื่อว่าให้เก่งอย่างไร
อายุ ๘๔ มาไม่ไหวแน่ ผมเองก็ว่าตัวเองแข็งแรงมาก ขับรถได้เป็นร้อย ๆ กิโลเมตร
แต่ตอนอายุ ๘๔ ผมก็เลิกขับรถแล้ว
ผมจะพาไปกินอาหารอร่อยในเมืองฝาง รับรองว่าอร่อยจริง ๆ ราคาไม่แพง เมื่อเข้ามาในตัวอำเภอฝางแล้ว
ผ่านร้านข้าวมันไก่ไปแล้ว ผ่านสี่แยกไฟสัญญาณ มองทางขวาจะเห็นตัวพระยานาคของร้านขายทอง
ร้านทองอยู่ติดกับร้านอาหาร " คูเจริญชัย " ตรงกันข้ามกับวัดเจดีย์งาม วัดนี้แม้จะเป็นวัดสร้างใหม่
แต่งดงามสมชื่อทั้งเจดีย์ ทั้งอุโบสถ พระพุทธรูป และทั้งกุฏิทรงล้านนา ขอให้ไปชมเสียก่อนไปกินอาหาร
ร้านคูเจริญชัย ขายตั้งแต่มื้อเช้าไปยันเย็น หน้าร้านมี ๒ ห้อง ทางซีกซ้ายขายเครื่องกระป๋อง
ยังกับสินค้าจากหาดใหญ่ มีโต๊ะตั้งอยู่ ๓ - ๔ โต๊ะ แต่หลังร้านจัดเป็นสวนอาหารบริการเยี่ยมทุก
" สาว "
ปลาช่อนแดดเดียว ตามมาด้วยน้ำยำแยกมาต่างหาก เป็นยำมะม่วง เปรี้ยวหน่อย หวานนิด
ไส้หมูพะโล้ ยกให้อีกร้านหนึ่งที่ไส้หมูพะโล้ ผมเป็นนักตามชิมไส้หมูพะโล้ไปทั่วประเทศ
ผัดยอดมะระหวาน ผัดน้ำมันหอย ผักสด กรอบ เคี้ยวเพลิน สีผักสดใส
กะเพาะปลาผัดแห้ง ผัดมากับกุ้ง เห็ดหอม หน่อไม้ ไข่นกกะทา ต้นหอม เม้งมะพร้าว
ปลาหมึก
ปิดท้ายเสียด้วยไอศกรีม หวานเย็นชื่นใจ หรือจะงัดเอาส้มฝางจากสวนส้มธนาทรมาชิมก็ได้
เพราะสวนนี้อยู่ที่ อำเภอฝาง นี่เอง
จบแล้วกลับเชียงใหม่ ไม่ไปล่องแก่งที่แม่น้ำกก พอกลับมาถึง กิโลเมตร ๙๕ -
๙๔ แวะตลาดโครงการหลวงที่ห้วยลึก มีอาหาร เครื่องดื่ม และสุขา แล้วมาแวะซื้อไส้อั่วที่บ้านอิฐที่หลัก
กิโลเมตร ๓๕ เขาแนะนำว่า " อร่อยนัก "
|