|
เชียงใหม่
(๓)
เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว ๒ ตอนยังลงมาไม่ถึงเมืองเชียงใหม่เลย เริ่มต้นตั้งแต่น้ำพุร้อนป่าแป๋
แล้วไล่ลงมาถึง อำเภอฝาง คราวนี้ก็ยังไม่เข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เอาแค่เฉียด ๆ
ก็แล้วกัน จะพาขึ้นเชียงใหม่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ก่อน ซึ่งหากเราลงมาจากอำเภอฝางมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองเชียงใหม่
ก็จะผ่านอำเภอต่าง ๆ มาตามลำดับ คือ อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอเวียงแหง
อำเภอพร้าว อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่ริม ซึ่งการเดินทางไปตระเวณภาคเหนือของผมในครั้งนี้
ไม่ได้ทุกแหล่งท่องเที่ยวที่นำมาเขียนลงไว้ เพราะไม่สามารถไปได้ในคราวเดียวกัน
แต่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผมอยู่ในพวกผู้บุกเบิกคือ ไปตั้งแต่เขายังไม่ค่อยจะไปกัน
เช่น ที่วนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง ผมไปเมื่อสักสามสิบปีกว่ามาแล้ว ตั้งแต่ถนนยังไม่เป็นรูปถนนแต่รถจิ๊บทหารสามารถไปได้
เพราะช่วงนั้นผมเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ อำเภอแม่ริม พื้นที่อำเภอฝาง
ตลอไปถึงลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย ล้วนเป็นพื้นที่ในการสนับสนุนการรบของกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ ซึ่งทหารปืนใหญ่นั้น มีหน้าที่สนับสนุนการรบของเหล่าทหารราบ และเหล่าทหารม้า
ซึ่งเวลานั้นทหารราบมีกำลังในภาคเหนือตอนบนเพียงกรมเดียวเรียกว่า กรมผสมที่
๗ และมีกองพันทหารราบ อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และเชียงรายมีอยู่แค่นั้นไม่ได้มีมากมายเช่นในปัจจุบัน
ซึ่งก็มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มกำลัง ไม่เช่นนั้นจะรับสถานการณ์ชายแดนไม่ไหว
ผมจึงต้องตระเวนไปตามพื้นที่ที่กองพันรับผิดชอบและเป็นการฝึกให้ผมกลายเป็นนักเที่ยว
นักชิม ไปในอนาคตเพราะรู้มาก เห็นมาก แถมชิมมากเข้าเลยชักเก็บเอาไว้ไม่ไหวต้องถ่ายทอดออกมาซึ่งผมเริ่มหัดเขียนสารคดีท่องเที่ยวตั้งแต่ตอนเป็นผู้บังคับกองพันที่เชียงใหม่
แล้วส่งไปลงที่นิตยสารทหารปืนใหญ่ตอนตระเวนคราวนั้นดูเหมือนจะกลับมาเขียนเรื่อง
๑,๐๐๐ ไมล์ตามชายแดน
ที่ตั้งชื่อมีคำว่าไมล์ทำนองนี้เพราะตอนนั้นมีเพลง "เทน เทาว์ซันไมล์ อเว
ฟอร์ม โฮม" กำลังฮิตทีเดียวเลยเอาแค่สัก ๑,๐๐๐ ไมล์ แต่ไปจริง ๆ คงมากกว่า
๑,๐๐๐ ไมล์ และครั้งนั้น ท่านมหาจำลอง (บอกนามแค่นี้คงเดายศ นามสกุลของท่านได้ถูก)
ซึ่งพอดีท่านมาเยี่ยมเพื่อนของท่านเป็นนายทหารยุทธการ ของกองพัน และตัวท่านจำลองเองสมัยที่เป็นนักเรียนนายร้อยชันหนึ่ง
ผมอยู่ชั้น ๕ ท่านก็เป็นนักเรียนในปกครองผม พอรู้ว่าผมและนายทหารจะเดินทางหนีสงกรานต์เชียงใหม่ด้วยการไปตะเวนแนวชายแดน
ชวนท่านคำเดียวท่าน ร้อยโท จำลองรับปากไปด้วยทันที หิ้วกระเป๋ามากัน ๒ คนกับภริยาของท่านแทนที่จะได้นอนเชียงใหม่คืนนั้นก็ไปนอนเชียงราย
ซึ่งต้องเดินทางกัน ๑ วันเต็ม ๆ จึงจะถึงเชียงรายและท่านก็ตระเวนอยู่กับผมจนผมกลับมาถึงลำปางท่านจึงแยกทางกลับไปกรุงเทพ
ฯ ครั้งนั้น เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้วตระเวนกัน ๑๐ วัน ได้ระยะทางคงจะไม่เกิน
๒,๐๐๐ กิโลเมตร เพราะถนนเหลือทนหรือบางทีก็ยังไม่เป็นถนนแต่เราก็ไปกันได้
ดังนั้นเมื่อผมเที่ยวตระเวนไปอย่างนี้และไปซ้ำเมื่อมีความจำเป็น หรือเมื่อเกิดเส้นทางใหม่
ๆ ก็ไปอีก ไปกันจนจำระยะทางแนวดิ่งได้แทบหมด และยิ่งตอนหลังมารับราชการภาคใต้อีก
๘ ปี ขึ้นล่องกรุงเทพ ฯ ทางรถยนตร์ก็เลยจำทางภาคใต้ได้อีก จำไม่แม่นอยู่ภาคเดียวคือภาคอีสาน
แต่ไปตระเวนอีสานคราวที่ทำต้นฉบับให้ "ปตท." นี่แม่นขึ้นอีกเยอะทีเดียว
และการไปเชียงใหม่ ภาคตะวันตกเฉียงใต้นั้น หากเราล่องมาจาก อำเภอฝาง เกิดนึกสนุกยังไม่คิดเข้าเชียงใหม่
จะวิ่งไปให้บรรจบกับเส้นทางที่ตอนไปแม่ฮ่องสอน วิ่งจากตาก แม่สอด แม่ระมาด
ท่าสองยาง สบเมย แม่สะเรียง เราก็จะสามารถไปจากอำเภอแม่ริมได้เลย โดยไม่ต้องเข้าเชียงใหม่
คือไปตามเส้นทางที่พอถึงอำเภอแม่ริม ก็จะเลี้ยวขวา เข้าเส้นทาง
แม่ริม - สะเมิง (แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าตัวอำเภอสะเมิง)
ไปออกอำเภอหางดง ต่ไปยังอำเภอสันป่าตอง จอมทอง ดอยเต่า (อมก๋อย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยังอำเภอผ่านไปได้เลยก็ได้)
อำเภอแม่แจ่ม (ออบหลวง อยู่ในลำน้ำแม่แจ่ม)
ในเส้นทางดังกล่าวนี้ สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เที่ยวกัน ๓ วันไม่จบ อาศัยอย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าไปแล้วก็ไปอีก
เจาะไปแต่ละจุด จนจำสถานที่ต่าง ๆ ได้เป็นส่วนมาก แต่ตอนนี้ความจำชักสู้ไม่ไหว
เพราะเอาแค่ถนนในจังหวัดต่าง ๆ ในตัวอำเภอเมืองก็จำไม่ไหวแล้ว ขยายถนนกันเร็วเหลือเกิน
แต่เส้นหลัก ๆ เชาน นครพนมไม่ได้ไปมากกว่า ๑๐ ปี ถนนสายเก่า ๆ ยังอยู่จำได้แต่ส่วนที่เขาขยายใหม่ไม่รู้จักหาเส้นทางหลงกันอยู่นนั่แหละกว่าจะเริ่มจำทางได้
อุทยานแห่งชาติ
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติมากที่สุด เฉพาะเส้นทางนี้มีอุทยานแห่งชาติ
ดังนี้
๑. อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย
ดอยสุเทพเดิมชื่อว่า "ดอยอ้อยช้าง"
แต่ที่ชื่ออยู่ทุกวันนี้ได้มาจากชื่อของ "พระฤาษี
วาสุเทพ" ซึ่งเคยมาบำเพ็ญตะบะอยู่ที่เขาลูกนี้ เมื่อพันปีมาแล้ว
คลุมพื้นที่ ตำบลโป่งแยง แม่แรม แม่สา ดอกแก้ว ของอำเภอแม่ริม และตำบลแม่ปิง
หนองความย ของอำเภอหางดง ตำบลช้างเผือก สุเมพ แม่เหียะ ของอำเภอเมืองเชียงใหม่
และคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก วังฮาง
น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของน้ำตก
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔
สภาพป่ายังเป้นป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา สัตว์ป่าคงเหลือจากการไล่ล่าของพวกชาวเขาและชาวเราเหลือเพียง
เก้ง กวาง ลิงค่าง และนกนานาชนิด กว่า ๒๐๐ ชนิด ภายในอุทยานมีจุดเด่นที่น่าสนใจ
คือ
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
วัดพระธาตุดอยสุเทพ อนุสาวรีย์พระครูบาศรีวิชัย
น้ำตกห้วยแก้ว น้ำตกมณฑาธาร หรือน้ำตกสันป่ายาง
สวยงามที่สุดในอุทยานมี ๓ ชั้น อยู่ห่างจากน้ำตกห้วยแก้ว ประมาณ ๓ กิโลเมตร น้ำตกแม่สา
มี ๘ ชั้น น้ำไหลตลอดปี อยู่ที่อำเภอแม่ริม
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติอยู่ห่างจากตังเมืองเชียงใหม่ ๑๖ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนห้วยแก้ว
ผ่าน ม.เชียงใหม่ ไปจนถึงวัดพระมหาธาตุดอย แล้วเดินต่อไปนิดเดียว ก็แยกขวามือ
มีป้ายบอกทางว่าไปมี่ทำการ ฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓,
๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔
๒. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ดอยนี้เดิมมีชื่อว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา
หมายถึง มีขนาดใหญ่ ส่วนที่ชื่อดอยอ่างกา เพราะห่างออกไปทางทิศตะวันตกมีหนองน้ำใหญ่
มีฝูงกาลงไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่าอ่างกา ต่อมาเรียกรวมว่าดอยอ่างกา
ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งพาดผ่านมาจากประเทศเนปาล
ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าของดอยอินทนนท์จะแตกต่างจากป่าอื่น
ดอยอื่น เพราะเป็นเทือกเขาเดียวกับหิมาลัยนั่นเอง จึงมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน
จะแตกต่างก็คงตรงที่ไม่หนาวถึงขั้นหิมะปกคลุม แต่หนาวขั้นแม่คนิ้งจับยอดหญ้า
ยอดดอยคงจะมีทุกปี
จุดเด่นที่น่าสนใจคือ
น้ำตกแม่ยะ
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ น้ำไหลมาจากหน้าผาสูงชัน ๒๘๐ เมตร ตกลงไปรวมที่แอ่งน้ำ
น้ำตกแม่กลาง
สูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ไปสะดวก ไปตามถนนสาย ๑๐๐๙ แยกไปอีก ๘ กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี
ถ้ำบริจินดา
เป็นถ้ำใหญ่อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกา อยู่ที่ กิโลเมตร ๘ - ๙ ถนนสาย ๑๐๐๙ แล้วแยกขวาไป
ถ้ำลึกมากหลายกิโลเมตร มีหินงอก หินย้อย ชาวเหนือเรียกว่า "นมผา"
มีพระพุทธรูปประดิษฐานในถ้ำ มีธารหิน
น้ำตกวชิรธาร
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่สูง แต่เข้าไม่ถึงน้ำตก
น้ำตกสิริภูมิ
ไหลจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวมองเห็นได้จากถนนที่ขึ้นดอย น้ำตกอยู่ที่ กิโลเมตร๓๑
ของทางหลวงสาย ๑๐๐๙ แล้วแยกขวาเข้าไปได้อีก ๒ กิโลเมตร เดินต่อไปจนถึงด้านล่างของน้ำตกได้
แต่ตรงจุดที่โจนลงมานั้นหมดทางเข้าไปได้ เพราะอยู่สูงและไกล
โครงการหลวงอินทนนท์ กิโลเมตร๓๑ ของสาย ๑๐๐๙ แล้วแยกขวาไปอีก ๑ กิโลเมตร ผลิตผลหลักของโครงการคือ
ดอกไม้เมืองหนาว คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส เป็นต้น ส่งเสริมให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าแม้วปลูก
พระมหานภเมทนีดล
และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่ทางซ้ายของถนนหลัก กิโลเมตร๔๑ - ๔๒ กองทัพอากาศเป็นผู้นำในการสร้างถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ และอีกองค์ถวายสมเด็จพระนางเจ้า
ฯ ครบ ๕ รอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ขึ้นไปบนพระธาตุทั้งสอง ซึ่งอยู่ตรงกัน ห่างกันสัก
๒๐๐ เมตร แต่ต้องขึ้นองค์หนึ่งแล้วลงมาเพื่อขึ้นอีกองค์หนึ่ง ขึ้นไปแล้วมองเห็นวิวงดงามมาก
ยอดดอยอินทนนท์
จุดสูงสุดของเส้นทางสายนี้ เป็นยอดดอยสสูงที่สุดคือ สูง ๒,๕๙๙ เมตร หนาวเย็นตลอดปี
สถานีเรดาร์ของทหารอากาศตั้งอยู่ยอดดอยแห่งนี้ และด้านขวาของยอดดอย เป็นที่ตั้งสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์
เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย ท่านเป็นผู้อนุรักษ์ดอยหลวงและหวงแหน และรับสั่งไว้ว่าสิ้นอายุขัยของท่านแล้ว
ขอให้นำอัฐิของท่านส่วนหนึ่งมาประดิษฐานที่ยอดดอยแห่งนี้ จึงทำตามประสงค์
ด้วยการนำขึ้นช้างเดินทางมา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนนขึ้นสู่ดอยอินยทนนท์
นอกจากนี้ยังมีน้ำตกแม่ปาน น้ำตกห้วยทรายเหลือง
กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่ที่ กิโลเมตร๔๒ ต้องเดินต่อไปอีก
๓ กิโลเมตร จะเดินผ่านทุ่งหญ้า ป่าดิบ พบดอกกุหลาบพันปี
ดอกไม้ป่า ดอกไม้พันปี เป็นดอกไม้ประจำชาติของเนปาล ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย
ที่นี่จึงมีเหมือนกัน มีพันธ์ดอกสีขาวและสีแดง ซึ่งหากโชคดี บางทีไม่ต้องมาถึงที่กิ่วแม่ปาน
ก่อนถึงจุดสูงสุดของดอย ฯ แยกซ้ายเดินเข้าไปในป่าก็เคยพบเช่นกัน แต่มีไม่เป็นดงและยังคงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อ่างกาหลวง หนองน้ำซับในหุบเขา
มีกิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์ มีศูนย์บริการข้อมูลดูนกอินทนนท์ (ลูงแดง) ตั้งอยู่ที่กิโลเมตร
๓๑ มาดูนกนั้น นิยมมากันในฤดูหนาว ร้านลุงแดงที่เป็นคนเคยชอบดูนกมีข้อมูลไว้บริการฟรี
เช่นแผนที่ดูนก ภาพถ่ายรูปนก สไลด์เกี่ยวกับนก ฯ
วัดพุทธเอิ้น
อยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม เมื่อสัก ๒๐ ปีมาแล้วพระขาดแคลนพระ (สุขา) ผมไปบริจาคเงินสร้างให้
แต่ปวรณาว่าขอสร้างถวาย ไม่ต้องจารึกนามของผมไว้ที่หน้าห้องสุขาที่พระได้ใช้เลย
วัดนี้สร้างเมื่อต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้
คือ "โบสถ์น้ำ" เป็นอุทกสีมา เหมือนโบสถ์ทั่วไปที่มี ขันธสีมา ด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่เลือนลาง ติดต่ออุทยาน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๖๐
โทร ๐๕๓ ๓๑๑๖๐๕
๓. อุทยานแห่งชาติออบหลวง
ตำบลหางดง อำเภอฮอด เชียงใหม่ โทร ๐๕๓ ๒๔๒๔๗๘ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขายาวในแนวเหนือใต้
เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ต่อจากดอยอินทนนท์ มีแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำแม่แจ่ม
เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง อำเภอฮอด กับ อำเภอจอมทอง ในห้วงน้ำแม่แจ่มจะมีเกาะแก่งหินขนาดใหญ่มากมาย
ริมฝั่งแม่น้ำจะมีหาดทราย มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง
ประดู่ แดงตะเคียน ขะเจ๊าะ เก็ดแดง รกฟ้า อินทนิล สน (สวยมาก) ไม้ไผ่ จำพวกปาล์ม
และเฟิร์น
สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ เสือ กวางผา หมูป่า เก้ง ชะนี ลิง ชะมด มีนกมากกว่า
๒๐๐ ชนิด
จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ
ออบหลวง
ตั้งอยู่ตรงหลัก กิโลเมตรที่ ๑๗ ของทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๐๘ สายที่จะไปยังแม่สะเรียง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นช่องแคบ ๓๐๐ เมตร อ๊อบ หรือออบ เป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า
แคบ หลวงก็ใหญ่ ซึ่งเรียกตรงจุดที่แคบที่สุด สูงน่าจะเป็นที่สุดด้วย น้ำจะไหลผ่านหรือตกผ่านช่องแคบนี้อย่างรุนแรงดังสนั่นหวั่นไหว
น่ากลัวมาก และมีสะพานข้ามฟากตรงช่องแคบ ใครใจกล้าไม่กลัวความสูงก็ลองเดินข้ามดูหวาดเสียวดี
น้ำตกแม่บัวคำ
อยู่ในเขตตำบลหางดง ห่างจากออบหลวงไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ตกสูงประมาณ ๕๐ เมตร
น้ำตกแม่จอน
เกิดจากห้วยแม่จอนหลวง ไปสาย ๑๐๘ สายฮอด แม่สะเรียง แยกไปอีก ๑ กิโลเมตร
น้ำตกแม่เตี๊ยะ
อยู่กลางป่าสูง ๘๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร ต้องเดินไปจากบ้านแม่เตี๊ยะ ๘ กิโลเมตร
ดินแดนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อยู่ใกล้กับออบหลวง ได้ขุดค้นเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและประเทศฝรั่งเศส
ขุดพบโบราณวัตถุแหละหลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นอันมาก และยังพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยเมื่อ
๒,๕๐๐ - ๓,๕๐๐ ปี ภาพเขียนโบราณ ภาพสี นอกจากนี้ยังมี บ่อน้ำเทพพนม
ตรงมางหลวง ๑๐๘ แยกที่ กิโลเมตร ๒๒ ไปอีก ๙ กิโลเมตร มีทั้งธารน้ำร้อนและน้ำเย็น
มีถ้ำตอง ถ้ำตุ๊ปู่
มีลำน้ำสลักหิน เกิดจากเทือกเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลัดเลาะไปตามแก่งหิน นักผจญภัยนิยมล่องแก่ง
จากบ้านนอมขูด ถึงบ้านท่าเรือ ในท้องที่ อำเภอแม่แจ่ม
ที่ทำการอุทยาน ปตามสาย ๑๐๘ ถึงอำเภอฮอด แล้วเลี้ยวขวาตรงหอนาฬิกา ไปอีก ๗ กิโลเมตร
จะถึงที่ทำการอุทยาน หรือดจะไปจากถนนพหลโยธิน ไปถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามเขาไปยังอำเภอลี้ เข้าอำเภอดอยเต่า ไปอำเภอฮอดก็ได้ อุทยาน ฯ มีสถานที่ให้กางเต้นท์ ติดต่อ
๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓, ๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔
อุทยานแห่งชาติแม่โถ
อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไป ๑๖๐ กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่อำเภอฮอด ตามเส้นมางสายฮอด
แม่สะเรียง กิโลเมตร ๕๕ แยกเข้าเส้นทางแม่โถไปอีก ๑๖ กิโลเมตร มาถนนสายนี้จะมองเห็นนาข้าวขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยง
เส้นทางนี้จึงสวยมาก โดยเฉพาะในฤดูทำนา
ทะเลสาบดอยเต่า
ไปตามถนนสาย ฮอด ดอยเต่า ที่ดอยเต่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นอ่างที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพล
ในอ่างเก็บน้ำนี้จะมีแพพัก มีร้านอาหารบนแพ สมัยก่อนไปตกปลากันได้ตัวโตมากตัวเดียวทำอาหาร
๕ คนกินไม่หมด ผมเคยพาทหารไปนอน ไปฝึกยิงปืนใหญ่ เดี๋ยวนี้ยิงแถวนั้นไม่ได้แล้ว
เพราะกลายเป็นชุมชนเป็นส่วนใหญ่ มีเรือนำเที่ยว จากเขื่อนภูมิพลมายังดอยเต่า
โครงการหลวงห้วยผักไผ่
(สวนกุหลาบหลวง) ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง แม่ริม
สะเมิง หางดงระยะทาง ๔๓ กิโลเมตร
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ มีบ้านพักรับรอง ติดต่อ ๐๕๓ ๘๑๘๓๘๔
แต่หากไปถนนเส้นสะเมิง - หางดง พักตามรีสอร์ทดีกว่า ทั้งสวย แหละอาหารดี ราคาก็สูงดีเช่นกัน
เช่น กฤษดาดอย อุทยานล้านนา ฯลฯ
ไปตามสายตะวันตกนี้ที่หมายหลักคือการไปเที่ยวชมธรรมชาติ มากกว่าอื่น เที่ยววัดก็มีวัดสำคัญที่จอมทอง
คือ วัดพระธาตุจอมทอง
หรือจะไปเที่ยวเมืองโบราณคือ "เวียงท่ากาน"
สาย ๑๐๘ ผ่านสันป่าตองไปแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าที่บ้านทุ่งเสี้ยว ไปอีก ๒ กิโลเมตร
เมืองนี้สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย สมัยพระเจ้าอาทิตย์ครองหริภุญชัย
ก่อนสร้างเชียงใหม่ ยังมีวัดท่ากาน มีพระเจดีย์ และฐานวิหารที่ก่อด้วยอิฐ
และศิลาแลง อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓
เมื่อไปเที่ยวทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่าตอนเที่ยวกลับมา พอเลยหางดงก็มีเส้นทางมายังท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้
ที่นี้ที่สโมสรวิทยุการบิน เส้นทางไปร้านอาการสโมสรวิทยุการบิน ตั้งต้นจากเซ็นทรัลแอร์พอร์ท
ถนนผ่านหน้าเซ็นทรัล (มีสะพานข้ามผ่านด้วย) มุ่งหน้าไปทางสนามบินวิ่งเลียบสะพานข้ามสี่แยกไป
พ้นเขตเซ็นทรัล จะพบร้านทางซ้ายมือ คือร้าน สวนผัก (ร้านนี้ปลูกผักลอยฟ้า
อาหารอร่อยมากเช่นกัน ใช้ผักสด ๆ ที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินเลย) เลยร้านสวนผักไปจะมีประตูทางเข้า ไปยังสโมสรวิทยุการบิน
เข้าไปได้ไม่ต้องขออนุญาตใคร แต่จะให้สะดวกตรงห้องอาหาร ให้วิ่งเลยไปก่อน แล้ววิ่งเลี้ยวเข้าไปทางท่าอากาศยาน ยังไม่ต้องผ่านประตูที่เก็บเงิน
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าประตูไปยังสโมสรที่อยู่ริมน้ำกว้างใหญ่ เย็นสบายจะนั่งรับลมข้างนอกหรือห้องแอร์ก็ได้
รสอาหารผมชื่นชมของเขามาตั้งแต่สโมสรวิทยุการบินที่ภูเก็ตแล้ว ไปชิมอยู่ได้
๒ - ๓ มื้อ คราวนี้มาชิมที่สโมสรวิทยุการบินเชียงใหม่ก็ไม่ผิดหวังเลย สงสัย
๐ ๕๓๒๘ ๑๕๔๑ - ๗๖ ต่อ ๔๙๐๐
แกงคั่วหอยขม ยกมาร้อน ๆ ราดข้าวอร่อยนัก รสแกงเข้มข้น หอยแกะมาให้เรียบร้อย
ไม่ต้องไปดูดให้เกิดเสียง ต้มข่าปลาสลิด ใช้ปลาสลิดสด เห็ดฟาง หอมใหญ่ หอมเล็ก
รสออกหวาน ซดกันจนน้ำแห้ง
ปลาบึกผัด ปลาบึกเดี๋ยวนี้มีปลาที่ประมงเพาะได้และกระจายเลี้ยงตามแอ่งน้ำลึก
ๆ และกว้างใหญ่ทั่วไป เช่นที่ กว๊านพะเยา ที่หนองน้ำใหญ่หลังพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง
อุดรธานี จึงมีปลาบึกกินตลอดปี แต่ปลาบึกเลี้ยงเนื้อจะไม่อร่อยเท่าปลาบึกที่จับได้ตามธรรมชาติผิดกันตรงหนัง
ปลาบึกเลี้ยงหนังจะไม่หนา จนเคี้ยวกรุ๊ป ๆ แบบปลาบึกธรรมชาติจากแม่น้ำโขง
วันนี้อยากกินเลยสั่งมา รสผัดนั้นฉ่าสมใจ แต่หนังไม่หนาแข็ง เคี้ยวกรุ๊ปเหมือนบึกแม่โขง
แต่ก็อร่อยเมื่อกินกับข้าวสวยร้อน ๆ
เต้าหู้ทอด ทอดได้เก่ง กรอบขอบนอก ในนุ่ม สูตรเด็ดคือน้ำจิ้ม
ยำผักบุ้งกรอบยังกับกินที่ร้านอาหารริมแก่งกะเบา เอาผักบุ้งมาพันพอคำแล้วชุบแป้งทอดจนกรอบ แล้วราดด้วยน้ำยำเสริฟมาร้อน ๆ รสจัด กินเล่นก็ได้ กินกับข้าวก็ดี
อาหารอร่อย ๆ มีอีกเยอะ อ่านเมนูแล้วน่าสั่งมาชิม แต่ไม่มีพุงรับ เลยปิดท้ายด้วย
"บัวลอยเผือก"
|
|