อุทยานแห่งชาติเขาสก
(๓)
งานหลักที่เดินทางไปในครั้งนี้คือ ไปทอดผ้าป่าที่วัดพระขวาง จังหวัดชุมพร เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปตามถนนที่มุ่งสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑ จนถึงสี่แยกที่เลี้ยวซ้ายก็จะเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ธานี
ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๑ ซึ่งจะไปยังตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และเลี้ยวซ้ายไปยังภูเก็ตได้
เส้นทางช่วงนี้จะคดโค้งไปตามไหล่เขาหลายตอน และจะผ่านทางแยกเข้าอำเภอคีรีรัฐนิคม
อำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม ทางแยกขวาเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก
เลยทางแยกเข้าเขื่อนรัชชประภา
ไปประมาณหลัก กม.๑๐๙ - ๑๑๐ เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๒ กม.เศษก็จะถึงที่ทำการ
ความตั้งใจคือจะไปเขื่อนเชี่ยวหลาน หรือนามพระราชทานคือ เขื่อนรัชชประภา ซึ่งเขื่อนนี้มีพื้นที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาสก
การท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนรัชชประภาจึงเหมือนเที่ยวอยู่ในอุทยาน
ฯ
เส้นทางไปเขื่อนรัชชประภา ไปเส้นทางเดียวกับการไปอุทยาน ฯ คือจากชุมพรไปตามถนนสาย
๔๑ ผ่านแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอต่าง ๆ ไปตามลำดับ ตั้งแต่อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก
อำเภอพะโต๊ะ (ไปล่องแก่ง) อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา
พอเลยสนามบินมาทางซ้ายคือ ทางแยกเข้าอำเภอพุนพิน และเข้าไปยังอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
ไม่เลี้ยวเข้าพุนพิน คงตรงต่อไป จะพบร้านสหกรณ์ที่ใหญ่อยู่มากอยู่ทางขวามือคือโค
ออฟ ซึ่งมีพร้อมปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าโอท้อป ศูนย์อาหาร ฯ
จากสหกรณ์โคออฟ เดินทางตรงต่อไปจนถึงสี่แยกก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๑ ไปจนถึง
กม.๕๘ ก็จะถึงอำเภอบ้านตาขุน พอเลยตลาด ก็เลี้ยวขวาผ่านร้านติ๋มซำอยู่ทางขวาเชิงสะพานข้ามแม่น้ำพุมดวง
วิ่งต่อไปอีกประมาณ ๑๒ กม.ก็จะเข้าประตูทางเข้าเขื่อน ฯ ซึ่งอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ได้ติดต่อจองบ้านพักมาล่วงหน้าแล้ว บอกเจ้าหน้าที่ รปภ.แล้วก็วิ่งรถเข้าไปได้เลย
บริเวณภายในสวยงามมาก ต้นไม้ตัดแต่งสวย สนามหญ้างามเขียวชอุ่มตัดเรียบ สวยด้วยไม้ดอกและไม้ประดับ
ตามทางแยกมีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน เมื่อเข้าไปแล้วก็ตามป้ายไปยังที่ทำการบ้านพักคือบ้านดาหลา
เมื่อแจ้งเข้าแล้วก็จะมีพนักงานขี่จักรยานพาไปยังบ้านพักที่อยู่ริมอ่างเก็บน้ำชื่อบ้านเฟื่องฟ้า
ไม่ไกลจากสำนักงานนัก ลักษณะของบ้านพักเป็นเรือนแถว แต่ละแถวมี ๔ ห้องติดต่อกันตั้งอยู่ริมน้ำ
มองจากหน้าต่างจะเห็นพื้นน้ำ และถนนบนเขาสวยงามมาก แต่ละห้องภายในห้องก็คือ
ห้องพักของโรงแรมขนาด ๓ ดาว นี่แหละ มีพร้อมทั้ง แอร์ ตู้เย็น ทีวี ที่ทำน้ำร้อน
เตียงคู่ ด้านหลังมีระเบียงออกไปชมวิวได้ เป็นเรือนแถวชั้นเดียว ทุกแถวจะอยู่ริมน้ำมองเห็นท้องน้ำ
และเรือนแถวจะโอบล้อมสนามหญ้า ที่เขียวขจีเอาไว้ชื่อเรือนแถวเป็นชื่อดอกไม้
เช่น ปาหนัน ราตรี ศรีตรัง สุพรรณิการ์ ฯ มารู้จักอุทยานกันเสียก่อน
อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนม และอำเภอบ้านตาขุน
ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ราบมีน้อยเป็นภูเขาดิน และภูเขาหินปูน สลับซับซ้อน
โดยเฉพาะในทะเลสาบจะเห็นช่องแคบเขากาเลาะ
มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชัน บางแห่งจะเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศ
คล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีน้อยมาก เป็นป่าดงดิบชื้น เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำตาปี
จุดสูงสุดอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๕๐ เมตร ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายสีแดง
ลักษณะอากาศซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมทั้งสองฝั่งคือ ด้านทะเลอันดามัน
(มหาสมุทรอินเดีย) และอ่าวไทย (มหาสมุทรแปซิฟิค) ฝนจะตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน
ไปจนถึงเดือนธันวาคม ฤดูท่องเที่ยวที่นิยมกันมากคือ ธันวาคมไปจนถึงเมษายน
แต่หากกลัวฝนก็ต้องรอฤดูของเขา ผมรับราชการอยู่ใต้หลายปี เลยชินกับฝนใต้ที่นึกอยากจะตกก็ตกลงมา
โดยไม่ต้องตั้งเค้า เลยไปไม่เลือกฤดู เว้นตอนฝนตกอย่าไปล่องทะเลสาบ เพราะอาจจะมีลมแรง
เกิดคลื่นลมได้ เกาะต่าง ๆ (เดิมคือ ภูเขา)
ในทะเลสาบเขื่อนรัชชประภานี้มีนับร้อย สวยมากจึงเปรียบว่า กุ้ยหลินเมืองไทย
ไม้ในป่ามีพันธุ์ไม้มีค่า เช่น โคแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กะบาก ยมหอม
อินทนิน ฯลฯ และมีพืชชั้นต่ำมากมาย พืชสำคัญคือ "บัวผุด"
เพราะบัวผุดถูกพบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ โดย นพ. เอ.เอฟ.จีเคอร์
หมอสอนศาสนาและนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ที่เดินทางมาศึกษาพรรรไม้ในประเทศไทยที่ป่าดงดิบชื้น
ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง ทางตอนเหนือของป่าเขาสก (ยังไม่ได้ประกาศเป็นอุทยาน)
ซึ่งมีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกับป่าเขาสก บัวผุดที่พบปรากฎว่าแตกต่างกับบัวผุดที่พบในป่าดงดิบชื้นของอินโดนิเซีย
ซึ่งผู้ที่พบความแตกต่างคือ ดร. เอ็ม เมย์เยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกา
จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ นพ. เคอร์ และบัวผุดพันธุ์ไทย
ได้รับการประกาศเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗บัวผุดต้องเดินเท้าเข้าไปชมในป่าลึกในเขต
อช.เขาสก ต้องเดินประมาณ ๓ ชม. ผมไม่มีปัญญาเดินไปชม ได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ของอุทยาน
บัวผุดไม่มีลำต้น ราก ใบ มีเพียงเส้นใยบาง ๆ ที่มองไม่เห็นเกาะติดอยู่กับท่อลำเลียงน้ำ
และอาหารของเถาวัลย์ชนิดหนึ่งชื่อ ย่านไก่ต้ม เมื่อออกดอกจะแตกตุ่มเล็ก ๆ
ออกมาจากเถาของย่านไก่ต้ม ใช้เวลานานกว่า ๘ เดือน จึงจะเป็นดอกตูมคล้ายกล่ำปลี
มีสีน้ำตาลคล้ำ และจะผลิบานในเดือนที่ ๙ บานอยู่ไม่เกิน ๕ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาไป
การเที่ยว อช. หนุ่มน้อย สาวน้อย จึงจะเหมาะสมกับการเดินป่าชมน้ำตก เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่นิยมกันมาก
ออกเดินเพื่อชมน้ำตกต้องออกกันตั้งแต่เช้า เตรียมอาหารกลางวัน และน้ำไปด้วย
เดินกันทั้งวัน หากร่างกายแข็งแรงดีก็จะชมน้ำตกได้ครบทุกแห่ง รายละเอียดเส้นทางเดินต้องติดต่อที่
อช.เขาสก เส้นทางเดินคือ
น้ำตกวิ่งหิน
เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้ที่สุด ห่างจากที่ทำการประมาณ ๓ กม. น้ำตกวิ่งหิน เป็นน้ำตกลำธารเล็ก
ๆ ไหลลงมาสู่คลอง มีก้อนหินใหญ่เรียงราย สามารถวิ่งเหยียบไปบนก้อนหิน เพื่อข้ามลำน้ำได้สะดวก
ทำให้ได้ชื่อว่าน้ำตกวิ่งหิน สวนตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ต.ค.
น้ำตกบางเลียบน้ำ
เกิดจากลำคลองสก เป็นน้ำตกชั้นเดียว มีลานเล่นน้ำ
ตั้งน้ำ
มีลักษณะเป็นภูเขาที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาดจากกัน กลายเป็นหน้าผาหินหันเข้าหากัน
มีลำคลองสกไหลผ่าน ปลาชุมมาก อยู่ห่างจากน้ำตกวิ่งหินประมาณ ๓.๒ กม.
น้ำตกโตนกลอย
เป็นน้ำตกที่งดงาม เกิดจากคลองสก เป็นน้ำตกชั้นเดียว ดิ่งลงมาเป็นลำน้ำไหลแรง
อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ ๙ กม.
น้ำตกธารสวรรค์
เป็นน้ำตกที่เกิดจากบางพลูจืด ที่ไหลลงสู่คลองสก ห่างจากตั้งน้ำ ประมาณ ๓
กม.
น้ำตกสิบเอ็ดชั้น
เป็นน้ำตกที่เกิดจากคลองบางแสน ไหลตกลงมาเป็นขั้น ๆ เป็นรูปขั้นบันไดมี ๑๑
ขั้น มีโขดหินเรียงรายนั่งพักผ่อนได้ อยู่ห่างจากที่ทำการ ๔ กม.
น้ำตกแม่ยาย
รถยนต์เข้าถึงได้ ตั้งอยู่ติดถนนสายสุราษฎร์ธานี - ตะกั่วป่า ตรง กม. ๑๑๓
เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูง ๓๐ เมตร สวยงามมาก ห่างที่ทำการประมาณ ๕.๕ กม.
ถ้ำค้างคาว
ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่สวยงาม มีค้างคาวอาศัยอยู่มาก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ
๒๑ กม. สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่มีที่ อช.เขาสก คือ เลียงผา
เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือเขื่อนรัชชประภา
ทะเลสาบที่เกิดจากการกั้นเขื่อนนี้ อยู่ในพื้นที่ของ อช.เขาสก เวลาจะลงเรือไปจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานคนละ
๒๐ บาท เว้นประเภทสูงวัยอย่างพวกผม ไม่ต้องเสีย แต่ให้คนขับรถตู้ที่เช่าไปได้ไปเที่ยวด้วย
เราก็จ่ายให้เขาแล้ว ไปกินอาหารกลางวันกันในแพ ที่ลอยอยู่เหนือน้ำลึกเกือบร้อยเมตร
ซึ่งบรรยากาศยอดเยี่ยมอย่าบอกใครทีเดียว
การจองที่พักของ กฟผ. ที่ริมเขื่อนต้องจองไปล่วงหน้าที่ ๐๒ ๔๓๖ ๓๒๗๑ หรือ
ที่เขื่อน ฯ ๐๗๗ ๒๔๒ ๕๖๐, ๐๗๗ ๒๔๒ ๕๖๑ หรือแผนกประชาสัมพันธ์ ๐๗๗ ๒๔๒ ๕๔๕
ส่วนการเช่าเรือเที่ยวในทะเลสาบนั้น มีหลายราคา ลงเรือที่ท่าเรือ กฟผ. ไปยังแพนางไพร
เรือลำใหญ่นั่งได้ ๒๐ คน ราคานี้พร้อมทั้งคอยเรากินข่าวกลางวันด้วยลำละ ๑,๗๐๐
บาท หากไปที่แพโตนเตย หรือแพไกรสร อีกราคาหนึ่ง เช่าไปแล้วค้างคืนที่แพค่าเรือก็อีกราคาหนึ่ง
หรือหากจะติดต่อบ้านพัก หรือสถานที่กางเต็นท์นอนที่ อช.เขาสก ก็ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
อช.เขาสก ๐๗๗ ๒๙๙ ๑๕๑ หรือ ๐๒ ๕๗๙ ๗๒๒๓
เขื่อนรัชชประภา เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ความมุ่งหมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้
และใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทานในฤดูแล้ง ลดอุทกภัยของบริเวณลุ่มน้ำตาปี ในฤดูน้ำหลาก
จึงสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชื่ยวหลาน ต.เขาพัง แกนดินเหนียวสูง
๙๔ เมตร สันเขื่อนยาว ๗๖๑ เมตร ปิดกั้นช่องเขาขาดห้าแห่ง มีความจุน้ำ ๕,๖๓๙
ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำ ๑๘๕ ตร.กม. มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีกำลังผลิต
๘๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง สร้างเสร็จเปิดทำการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นเขื่อนแห่งที่
๒ ของภาคใต้ (แห่งแรก เขื่อนบางลาง จ.ยะลา)
ล่องทะเลสาบ
ไปถึงวันแรกก็เย็นมากแล้ว เดินไปชมพระอาทิตย์ตกกันที่สันเขื่อน แล้วเดินไปห้องอาหารชื่อ
ครัวเชี่ยวหลาน เขาบอกว่า ความอร่อยถึงขั้นลือเลื่องแต่ที่แน่ ๆ เห็นมีป้ายรับรองความอร่อยของกรมอนามัยคือ
ป้ายคลีน ฟู๊ด กู๊ดเทสท์ แขวนไว้ คณะผมพักนอนอยู่ ๒ คืน ไม่ต้องวิ่งรถออกไปหากินที่ตลาดอำเภอบ้านตาขุน
เพราะพอชิมคืนแรกก็ติดใจทั้งรสอาหาร การบริการรวมทั้งราคาย่อมเยา และบรรยากาศแจ่มแจ๋วอย่าบอกใคร
หากไปก่อนค่ำก็จะมองเห็นท้องน้ำในทะเลสาบ ชิมอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะพากลับมาชิม
ล่องทะเลสาบ ติดต่อเรือไว้ล่วงหน้า ไปลงเรือที่ท่าเรือของ กฟผ. ไม่ไกลจากที่พัก
เรือใช้เวลาแล่นในทะเลสาบประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็จะถึงแพนางไพร ต้องกะเวลาให้ดี
ๆ ไม่งั้นหากเราไปกินอาหารด้วย ก็จะถึงเร็วไป เพราะเรือวิ่งกันรวดเดียว นอกจากจุดไหนสวยเขาก็ชะลอความเร็ว
หรือจอดหันข้างให้เราถ่ายภาพ เช่น ที่กลุ่มเขาสามเกลอ
เป็นต้น ทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำสวยงามมาก ขนาดออกเรือประมาณเกือบสี่โมงเช้าแล้ว
มองไปตามยอดเขาสูง ๆ ยังเห็นหมอกจับยอดเขา บางคณะเขาไปตั้งแต่เช้า เพื่อชมหมอกจับยอดเขาแล้วกลับเลย
แต่คณะผมประเภทเที่ยวกินทั่วไทย จึงออกสายหน่อยกะกินกลางวันที่แพนางไพร ฝีมือครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของ
อช.เขาสก พอเรือบ่ายหัวเข้าทะเลสาบก็มองเห็นเกาะแก่ง ซึ่งแต่ละเกาะก็คือ ภูเขาสูงสวย
ๆ เมื่อน้ำท่วมสูงร่วมร้อยเมตร ภูเขาก็จมอยู่ในน้ำกลายเป็นเกาะไป เกือบทุกเกาะจึงไม่มีหาดทราย
มีแต่ต้นไม้เขียวชอุ่ม บางกลุ่มเห็นยอดแหลมเรียงกันสวยมาก บางแห่งเป็นช่องเขาเรือผ่านเข้าไปได้
เวลาวิ่งกลับนายท้ายจะพาวิ่งกลับอีกฝั่งหนึ่ง ให้ชมความงามที่แตกต่างกัน ดังนั้นตอนไปอยากถ่ายภาพตรงไหนก็ถ่ายเสีย
อย่าไปรอถ่ายเที่ยวกลับเพราะจะไม่ผ่านอีก หรือผ่านก็จะผ่านในระยะไกลมาก ได้ภาพไม่สวย
เทือกเขากลางน้ำนี้เป็นภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน บางลูกก็ไม่มีต้นไม้เป็นหน้าผาสูงชัน
นักไต่เขาน่าจะชอบกับหน้าผาแบบนี้ เพราะท้าทายนักปีนเขา ไต่หน้าผา เนื่องจากน้ำลึกมากร่วมร้อยเมตร
สีน้ำจึงเป็นสีมรกต ตรงไหนถูกแดดก็จะเป็นอีกสีหนึ่ง
ที่แพนางไพรนี้มีห้องพักด้วย ที่แพซึ่งเป็นปลายทางมีเรือแคนูให้เช่าพายด้วย
ลงเล่นน้ำก็ได้ น้ำสะอาดนัก แต่ต้องไม่ประมาทกับความลึกร่วมร้อยเมตร ใส่ชูชีพไว้ด้วย
และริมแพยังมีฝูงปลาตะเพียนแดง ครีบแดง มาว่ายวนรอรับอาหารปลา ที่เขามีขายที่แพถุงละสิบบาท
โปรยให้กิน สีปลาสวยมาก ไม่มีการจับปลามากิน เขาบอกว่าปลาที่เอามาทำอาหารชาวอีสาน
ขึ้นไปอยู่เหนือเขื่อนไปอีกไกล แล้วทำประมงอยู่ย่านนั้น จับปลาได้ก็นำปลามาขาย
ปลาที่นำมาทำอาหารวันนี้คือ ปลาแรด
ค่าอาหารคิดเป็นหัว คนละ ๑๒๐ บาท สำหรับมื้อกลางวันมีอาหาร ๔ อย่างคือ แกงส้มผักรวม
ไข่เจียวยกให้เป็นอาหารประจำชาติ และผัดผักรวม ข้าวสวย น้ำดื่ม ปลาแรด ในทะเลสาบตัวโตมากขนาด
๒ กก. ทอดกระเทียมพริกไทยหอมฟุ้ง ทอดเก่งมากเพราะสามารถทอดครีบปลาจะอร่อย
เมื่อทอดเก่ง ๆ จะกินได้ ทอดไม่เก่งกินครีบปลาทอด ระวังจะติดคอ อาหารนอกจากปลาหมดแล้วเติมได้ไม่อั้น
เห็นเรียกเติมกันแต่ไข่เจียว เอามาแนมแกงส้มที่รสจัด ปิดท้ายด้วยแตงโม และสับประรด
๑๒๐ บาท ต่อหัว ถือว่าราคาถูก
ภายในแพ ยังมีห้องพักแต่เก่าหมดแล้ว อาจจะไม่มีใครมาพักคงต้องรอตอนสร้างใหม่
กลับมายังเขื่อน พักผ่อน หรือจะขับรถชมพื้นที่เขื่อนก็ได้ แต่หากค้าง ๒ คืน
พอประมาณ ๑๗.๐๐ ให้ขับรถขึ้นไปยังจุดชมวิว
มีป้ายบอก ต้องไปให้ได้ไปชมพระอาทิตย์ตก ลับเหลี่ยมเขา
แสงอาทิตย์จับขอบฟ้าสวยสุดบรรยายเลยทีเดียว ภาพที่ผมถ่ายมาสวยไม่เท่าภาพที่ตามองเห็น
จับท้องฟ้าตรงยอดเขาเป็นสีฟ้า นอกสันเขาเป็นสีทอง จับท้องน้ำงามอย่าบอกใคร
จุดชมวิวศาลาประภาภิรมย์
กลับมากินมื้อเย็น ที่ครัวเชี่ยวหลาน ตอนเช้าพวกสาว ๆ ส.ว. ออกไปเที่ยวตลาดสดของอำเภอบ้านตาขุน
หอบเอาผักพื้นบ้านที่เขากินกับอาหารได้มาแยะ ที่ขาดไม่ได้คือ สะตอ กินกับแกงเหลือง
แกงส้มอร่อยนัก
ปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย ขาดไม่ได้สำหรับมาเที่ยวทะเลสาบ ไม่ว่าไปเขื่อนไหนก็ตาม
ปลาจะสดมาก ไม่มีกลิ่นโคลน เพราะน้ำลึก เนื้อมากมีรสหวาน นุ่มแน่น ทอดเก่ง
ๆ กินครีบได้ มีน้ำจิ้มทั้งแบบซีฟู๊ด และน้ำปลาพริก
แกงส้มผักรวมปลากด รสจัด จิ๊ดจ๊าด แต่ไม่เผ็ด ได้เคี้ยวเนื้อกุ้ง ซดน้ำกันจนเกลี้ยงชาม
มีจานผักเหนาะ ให้มาด้วย ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กล่ำปลี แตงร้านและมีซื้อมาจากตลาดตอนเช้าคือ
"ใบราน้ำ และสะตอ กับลูกเหนียง" เก็บก้านใบราน้ำกลับมาชำ
คอหมูย่างตะไคร้ ยกให้เป็นจานเด่น มีมันติดนิด ๆ เคี้ยวกรุบ ๆ ปรุงรสกับตะไคร้
ผักเหลียงผัดไข่ ล่องใต้ต้องได้ชิมใบเหลียงผัดไข่
ปลาชะโด แดดแดียว ปลาหั่นมาเป็นชิ้นโต ๆ ทอดกรอบมีรสในตัว
อาหารเช้า คงมากินที่ครัวเชี่ยวหลาน ไม่ได้แถมฟรี มีหลายแบบ ไข่ดาว ออมเล็ต
ข้าวผัดหน้าต่าง ๆ ข้าวผัดกระเพราไข่ดาว ขนมปังปิ้ง เนย แยม ๑ ชุดมี ๔ แผ่น
๓๐ บาท ข้าวต้มปลา ข้าวต้มหมู กาแฟ โอวัลติน
ส่วนห้องพักราคาคืนละ ๙๐๐ บาท แต่ระหว่าง มิ.ย. - ธ.ค. ลด ๔๐ % เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
และศุกร์ - เสาร์ จะลด ๒๐ % ถ้า ม.ค. - พ.ค. อาทิตย์ - พฤหัส ลด ๒๐%
นามของเขื่อนรัชชประภา คือ นามพระราชทานความหมายว่า "แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร"
........................................................
|