ระนอง
(๒)
ชื่อระนองหนึ่งเป็นจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นจังหวัดชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนม่า
อยู่ติดกับทะเลอันดามัน หากไปจากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ระยะทางประมาณ
๕๖๘ กม. มีเกาะใหญ่น้อยในการปกครองของระนองมากถึง ๖๒ เกาะ มีฝนตกมากที่สุดของประเทศจนเรียกว่า
เมืองฝนแปดแดดสี่
(ในแต่ละปี ฝนตก ๘ เดือน เป็นฤดูร้อนเพียง ๔ เดือน)
ประวัติเมืองระนอง
เมืองระนองนั้นเกิดทีหลังอำเภอคือ หลังอำเภอกระบุรี
และอำเภอละอุ่น
ท้องถิ่นอำเภอกระบุรีนั้นพบว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่นานนับพันปีมาแล้ว และเมื่อมีการสำรวจทางโบราณคดี
พบว่ามีขวานฟ้า หรือขวานหินใหม่
อายุราว ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี โดยพบในท้องที่อำเภอกะเปอร์
แต่พบมากเป็นพิเศษในท้องที่อำเภอกระบุรี และละอุ่น เหตุที่แถบนี้มีชุมชนมาเพราะมีแม่น้ำ
ลำคลอง หลายสายเช่น คลองหลีก คลลองหริ คลองลำเลียง
คลองน้ำจืด และแม่น้ำปากจั่นที่กระบุรี
เมืองระนอง มีการพัฒนามาจากเมืองกระบุรี โดยเกิดขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยเริ่มจากบริเวณปากน้ำกระบุรี เกิดหมู่บ้านชาวประมง มีพวกชาวเลอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งเรียงรายกันอยู่ตั้งแต่เมืองทวาย
ตะนาวศรี มะริด (ยังเป็นของไทยอยู่) เมืองระนอง ตะกั่วป่า และถลาง เป็นถิ่นของพวกชาวเล
ที่มีเชื่อสายเดียวกัน เป็นเครือญาติกันมานานนับพันปี
ส่วนเรือสำเภาของพ่อค้าอินเดีย เปอร์เซีย อาหรับและมอญ จะแล่นเข้ามาทางปากน้ำไปยังเมืองกระบุรีได้
เมืองกระบุรีนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย "เมืองตามพรลิงค์"
คือเมืองนครศรีธรรมราชโบราณเป็นเมืองสำคัญ ซึ่งตามพรลิงค์ได้ตั้งเมืองในการปกครองเป็นเมือง
"๑๒ นักษัตร"
กระบุรีเป็นเมืองหนึ่งของเมือง ๑๒ นักษัตร มีตราสุกร
เป็นตราประจำเมือง
เมืองระนอง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร เมืองในกลุ่มเดียวกันที่ขึ้นกับชุมพรได้แก่
เมืองตระ
(กระบุรี) ระนอง และมะลิวัน
(ต่อมามะลิวันไปเป็นดินแดนของมะริด จึงเป็นของพม่าไป) เมื่อเสียเมืองมะลิวันไปแล้ว
ก็ได้ยุบเมืองตระลงมาเป็นอำเภอ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปกครองแบบมณฑล, เทศาภิบาล
จึงโปรด ฯ ให้เมืองระนองไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๗๖ ได้จัดระเบียบการบริหารเป็นจังหวัด เมืองระนองจึงเป็นจังหวัดระนอง
เมืองระนองหรือจังหวัดระนองนั้นได้ชื่อว่าเป็น
เมืองดีบุก
ระนองมีทรัพยากรธรรมชาติมากกมาย ในสมัยโบราณเรียกว่า "ตะกั่วดำ" หรือ "ดีบุก"
และมีการขุดหากันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระนองจึงกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
นำรายได้ส่งแผ่นดิน และเป็นเมืองแรกที่มีนายเหมืองเป็นนายอากรมาแต่โบราณ
เมืองชายแดน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ไทยต้องเสียเมืองมะริด และพลอยให้เสียเมืองมะลิวันไปด้วย โดยเสียให้แก่อังกฤษที่เข้ามาครอบครองพม่า
จึงต้องมีการปักปันเขตแดนกันใหม่ โดยใช้แม่น้ำกระบุรีเป็นเส้นกั้นเขตแดน เป็นผลให้เมืองระนองและเมืองตระ
กลายเป็นเมืองชายแดนที่มีชายแดนติดต่อกับพม่า ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อ
พ.ศ.๒๔๘๕ กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพที่บริเวณเขาฝาชี
อำเภอละอุ่น เพราะถือว่าระนองคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นศูนย์รวมการไปพม่า
ญี่ปุ่นจึงตั้งฐานส่งกำลังที่อำเภอละอุ่น เพื่อขนถ่ายกำลังพล และเสบียงไปยังประเทศพม่า
และเมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว เศรษฐกิจของระนองก็ยิ่งดีมากขึ้น เพราะไทยติดต่อค้าขายกับพม่าทางด้านนี้
ผมอยากจะเลยไปบอกถึงเรื่องการขุดคลองกระ
สักเล็กน้อย เพราะที่กระบุรีนั้นมีป้ายคอนกรีตขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกระบุรี
ห่างจากถนนสัก ๒๐ เมตร อยู่ทางขวามือบอกว่า คอคอดกระ
และบอกว่าการขุดคลองกระ หรือคอคอดกระนั้น ทำไม่ได้เพราะปัญหาทางความมั่นคง
ผมในฐานะที่เป็นรองประธานกรรมการคณะอนุกรรมการแห่งชาติ บริหารโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองกระ
เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจและสังคม คณะอนุกรรมการแห่งชาติชุดนี้ ได้มีการประชุมครั้งแรก
เมื่อ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๕ และประชุมต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้ข้อกำหนด (TOR) และเสนอกลับไปให้ภาครัฐบาลพิจารณา
ซึ่งทางภาครัฐบาลได้ตั้งอนุกรรมการย่อยเพื่อพิจารณาอีก ๑๑ คณะ และบางคณะจะต้องใช้เวลาในการพิจารณา
และทดสอบนานนับปีเช่น กรณีว่าผลที่เกิดจากน้ำเค็ม จะซึมผ่านผนังคอนกรีตเข้าไปในแผ่นดินได้นั้น
จะมีความเข้มข้นเท่าใด ไปได้ไกลแค่ไหน ต้นหมากรากไม้จะล้มตายแค่ไหน ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
๒ ปี หรือคณะที่จะต้องพิจารณาถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว จะต้องสร้างอะไรเพิ่มเติม
สร้างถนนสร้างเมืองท่องเที่ยว พิจารณาอีกนานับประการ ไม่ใช่แค่รอผลประโยชน์จากเรือผ่านเท่านั้น
จะเป็นรายได้รองด้วยซ้ำไป และจะต้องพิจารณาถึงว่า จะไปแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
และประเทศใกล้เคียงได้หรือไม่ ซึ่งในการประชุมตั้งแต่ต้น เมื่อยกเอาปัญหาที่จะเกิดต่อความมั่นคงของประเทศมาพิจารณา
ผมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา และที่ประชุมเมื่อได้ฟังแล้วก็ยอมรับและเห็นด้วย
จึงตัดปัญหาความมั่นคง และน่าเสียดายถ้าหากเริ่มนำมาดำเนินการเสียตั้งแต่ปี
๒๕๔๖ บางทีปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเกิดอยู่ในวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้
อาจจะไม่เกิดก็ได้ เพราะผมเองก็ทำหน้าที่ของแม่ทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้ามาตั้งแต่เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติใน ๓ จังหวัด (ไม่ใช่ ๓ จังหวัด) คือ
สงขลา (บางอำเภอ), ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล พอวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๐
ก็ยุบกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า เพราะจบภาระกิจ ความสงบสุขกลับคืนมาสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมก็ได้รับพระราชทานยศ และตำแหน่งสูงขึ้น ย้ายมารับราชการในกรุงเทพ ฯ จนเกษียณอายุราชการ
"แต่ขาดความต่อเนื่อง" หากไปเที่ยวดอยตุง ไปที่สวนแม่ฟ้าหลวง เดินเข้าไปจนเกือบสุดทาง จะพบปฎิมากรรมของคุณมิเซียม
ยิบอินซอย "เป็นเด็กต่อตัว" สมเด็จย่าได้พระราชทานชื่อไว้ว่า ความต่อเนื่อง
คือ ทำอะไรต้องต่อเนื่อง ภาคใต้ก็เช่นกัน ที่ผมทำเอาไว้พอนานไปก็เริ่มละเลยไม่สานกันต่อไป
๑๗ ปีผ่านไป มกราคม ๒๕๔๗ กองทัพก็ต้องจัดตั้งกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าขึ้นใหม่
และเหตุการณ์รุนแรงยิ่งกว่าสมัยที่ผมทำงาน ทั้ง ๆ ที่สมัยผมทำงานนั้นยังมีโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาหรือที่เรียกว่า
จคม. เป็นกำลังก่อการร้ายที่สำคัญ และยังมี ขจก.หรือขบวนการโจรก่อการร้าย
ที่เป็นตัวแสบแต่สุดท้ายเพียงหนึ่งปี โจรจีนออกมามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
ขจก. ถูกตัดหางจากคำว่า ขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน เป็นขบวนการโจรก่อการร้าย
เหลือแค่นั้น
ที่ผมเสนอไว้ในที่ประชุมคือ เสนอให้ทราบว่ากองทัพบกนั้นเขาพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้เช่น
มีหน่วยกำลังรบหนุนที่ตั้งเตรียมไว้นานแล้ว รอบรรจุให้เกิดความพร้อมเมื่อมีความต้องการคือ
กองพลทหารราบที่ ๑๕ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ตั้งไว้นานแล้ว แต่ยังไม่จำเป็นต้องบรรจุกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เต็มอัตรา
แต่หากมีแผนรองรับการก่อการร้ายเราก็บรรจุกำลังรบ และอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไป
แล้วย้ายกองพลนี้ไปรับผิดชอบภาคใต้ตอนบน ให้กองพลทหาราบที่ ๕ ที่ตั้งอยู่แล้วรับผิดชอบภาคใต้ตอนล่าง
กำลังรบก็จะพร้อม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเช่นในเวลานี้ (ผมเขียนปลายเดือนเมษายน
๔๗) ก็ใช้กำลังภาคใต้ด้วยกันพูดภาษาใต้ด้วยกัน ไม่ต้องไปเอากำลังจากกองทัพภาคมาเสริมกำลัง
ซึ่งจะเป็นไทยพุทธทั้งสิ้น จะเข้าแผนพวกเขาว่า เอาไทยพุทธมารบกับไทยอิสลาม
(ผมไม่เรียกมุสลิม
ไทยอิสลามมีในประเทศเดียว)
ส่วนค่าใช้จ่ายหากขุดคลองกระ ก็ให้บริษัทคลองกระ (ผมเสนอไว้คลองภูมิพลมหาราช)
บวกเข้าไปในค่าใช้จ่ายด้วย ค่าใช้จ่ายในการขุดประมาณหนึ่งล้านล้านบาท บวกอีกสองหมื่นล้านไม่มากเลย
ค่าสำรวจประมาณสองพันล้านบาท รัฐบาลไม่ต้องเสีย มีบริษัทที่จะแย่งกันมาสำรวจ
การสำรวจใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี การสร้างหรือการขุดคลองกระ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
๘ ปี และแนวที่จะขุดนั้นต้องเป็นแนวจากพังงา (เช่น ตะกั่วป่า) มายังสุราษฎร์ธานี
แนวที่ยกป้ายไว้ว่าแคบที่สุดนั้น แคบจากฝั่งอันดามันไปยังฝั่งตะวันออกยาว
๔๔ กม. เป็นแนวที่แคบของแหลมมะลายู และเวลาขุดจริง ๆ ไม่ใช่ยาวแค่ ๔๔ กม.
ระยะนี้คือ ระยะจากแม่น้ำกระบุรี ที่กระบุรีไม่ใช่จากปากอ่าวของแม่น้ำ เวลาขุดต้องขุดยาวมาจากปากแม่น้ำอีกหลายสิบ
กม. และจะเฉือนเอาดินแดนพม่าเข้าไปด้วย ระยะทางที่จะขุดประมาณ ๙๐ กม. ดีไม่ดีบางตอนเรือจะวิ่งอยู่เหนือถนน
เช่นถนนบางสายในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เรืออยู่สูงกว่ารถ แต่ช่างเขาเถอะเพราะประเทศของเขาต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในบางพื้นที่
ส่วนเราไม่จำเป็นจะต้องไปวิ่งเรือบนหัวรถ หรือบางคนหนักกว่านั้นบอกว่าช่องแคบนี้กว้าง
๙ กม. เท่านั้น ๙ กม. คือส่วนของระนอง ไม่รวมไปถึงแผ่นดิน ที่คลองจะผ่านในจังหวัดอื่น
ๆ ข้อสำคัญคือ ฝั่งขวาจะต้องเป็นดินแดนพม่า จะพูดจากับพี่หม่องรู้เรื่องหรือ
ให้ดูสะพานที่ไทยสร้างข้ามแม่น้ำเมียววดี หรือแม่น้ำเมย ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก
พี่หม่องไม่ชอบใจวันไหนก็ปิดสะพานเสียดื้อ ๆ ตอนนี้ไทยกำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงจากมุกดาหารไปยังสวันเขต
หรือสุวรรณเขตอีกแห่งหนึ่งแล้ว (แห่งแรกที่หนองคาย) หากสร้างเสร็จแล้วและน้องลาวพูดจากันรู้เรื่องไม่ปิด
ไม่เปิดการข้ามสะพานตามใจชอบ เส้นนี้จะไปได้ถึง "เวียดนาม" ผมเลยถือโอกาสเอาเรื่องขุดคลองกระมาเล่าให้ฟัง
และเวลานี้ยังไม่ได้ข้อยุติจากทางภาครัฐบาลว่าจะขุดหรือไม่ขุด ต้องรอผลการพิจารณาของ
๑๑ คณะอนุกรรมการออกมาก่อน และรายได้นั้นไม่ใช่แค่ค่าผ่านคลอง มีมากกว่านั้นมากมาย
ปัญหาเรื่องความมั่นคงตัดทิ้งไปเลยเถอะอย่ามาห่วงเลย ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้นั้นก็คลำมาเกือบจะถูกจุดแล้ว
ผมสูงอายุเกินกว่าจะไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ดีใจและภูมิใจที่น้อง ๆ หรือลูกศิษย์ลูกหายังมาหาข้อมูลเป็นประจำ
และผมก็แนะนำให้ไป และพยายามเขียนในสื่อทุกฉบับที่ผมเขียนอยู่ในทุกวันนี้
วิธีการที่ผมใช้เมื่อ ๑๘ ปี ก่อนจนประสบความสำเร็จนั้นรับรองว่ายังทันสมัยเจี๊ยบ
และผมยังมียุทธศาสตร์พระราชทานมาเสริมการปฏิบัติ (วิชานี้ผมบรรยายในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ - ๒๕๔๖ ติดต่อกันมาตลอด)
อยากให้แก้อักษรที่เขียนไว้ที่กระบุรีเสียใหม่ คนอ่านจะได้ไม่เข้าใจผิดแค่บอกว่าที่นี่คือ
จุดที่แคบที่สุดของแหลมมาลายู
(ไม่ใช่ของไทย)
ก็พอแล้ว ส่วนที่แคบที่สุดของแผ่นดินไทยนั้นอยู่ที่ จ.ตราด ไปทาง อ.คลองใหญ่
เลย อ.คลองใหญ่ ไปแล้ว ก่อนถึงชายแดนบ้านหาดเล็ก ทางซ้ายมือจะมีลานคอนกรีต
มีน้ำตกน้อย ๆ (น้อยจริง ๆ) ในฤดูฝน ทางขวาไม่ไกลเลยจะเห็นทะเลอ่าวไทย ทางซ้ายคือเทือกเขาที่กั้นแดนไทย
- กัมพูชา จากยอดของเทือกเขานี้ไปจนถึงชายน้ำที่ริมฝั่งทะเล ยาวเพียง ๔๕๐
เมตร ส่วนนี้คือแผ่นดินไทยที่แคบที่สุดของประเทศ อีกแห่งหนึ่งที่ถือว่าแคบเหมือนกันคือ ประมาณ
กม.๓๓๗ ถนนเพชรเกษม เลย จ.ประจวบ ฯ ไปแล้ว จากขอบถนนไปจนถึงเทือกเขาบรรทัดที่กั้นเขตแดนไทย
ยาว ๑๗ กม. คือส่วนที่มองดูในแผนที่จะเห็นแผนที่ประเทศไทยคอดกิ่ว จากขอบถนนไปยังด่านสิงขร
แต่จากด่านสิงขรไปอันดามันนั้นอีกหลายสิบกิโลเมตร
ผมเพ้อเรื่องคอคอดกระมาเสียยาว ต้องย้อนไปใหม่ว่าเมืองระนองได้ชื่อว่าเป็นเมืองดีบุก
เป็นเมืองชายแดน เป็นเมืองคอคอดกระ และยังมีอีกเมืองแห่งความมั่นคงในอดีตและเมืองเสด็จประทับแรมพระมหากษัตริย์
๔ พระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมที่จังหวัดระนองดังนี้
พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ผ่านเมืองตระ
(กระบุรี) ไปประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์
บริเวณเขานิเวศน์คีรี
เมืองระนอง ๓ ราตรี และได้พระราชทานนามถนนในเขตเทศบาลระนอง รวม ๑๐ สาย ให้คล้องจองกัน
และมีความหมายของเส้นทางเช่น "ชลระอุ" คือถนนที่ไปยังบ่อน้ำแร่ร้อน ถนนท่าเมือง
เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง (ไปวัง) กำลังทรัพย์ ดับคดี (ไปศาล)
ทวีสินค้า ผาดาด ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ก็ได้ตั้งชื่อให้มีความหมายและคล้องจองตามพระราชดำริเดิมเช่น
ราษฎร์พาณิชย์ กิจผดุง บำรุงสถาน
พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกและประทับแรม
พ.ศ.๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองระนอง ประทับแรม
๒ ราตรี
พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้า
ฯ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎร์จังหวัดระนองและประทับแรม
ระนองเป็นเมืองการปกครองแบบพิเศษ นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระนองปกครองเมืองโดยใช้อำนาจเจ้าเมืองรวมกับอำนาจของเจ้าภาษีอากรเรียกว่า
"ระบบเหมาเมือง"เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
และมีการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมือง ผู้ว่าราชการเมือง โดยการสืบทอดทายาทติดต่อกันยาวนานร่วมร้อยปี
โดยเริ่มต้นจาก ท่านคอซู้เจียง
หรือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานคือ "พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี"
เป็นเจ้าเมืองท่านแรก และลูกหลานของท่านได้ไปศึกษายังต่างประเทศเช่น อินเดีย
ปีนัง ก็ได้รับราชการเป็นผู้ว่าราชการเมือง เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลตามหัวเมืองต่าง
ๆ เช่น ชุมพร หลังสวน ตรัง กระบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล
"ณ ระนอง"
แหล่งท่องเที่ยว
.-
อำเภอกระบุรี การเดินทางจากกรุงเทพ ฯ มาตามถนนสาย ๔ ผ่านนครปฐม (หรือมาตามถนนสายธนบุรี
- ปากท่อ) ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวามาอีก
๑๑๒ กม. จะมาถึงระนอง จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวคือ
ศิลาสลักพระปรมาภิไชย
อยู่ในเขตตำบลปากจั่น ตรงข้ามโรงเรียนบ้าน จปร. คือ ที่ตั้งของหินสลักพระปรมาภิไชย
จปร. ปรมาณ กม.๕๒๕ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาโดยขบวนช้าง และม้าจากชุมพรและมาประทับแรมที่ตำบลนี้
คอคอดกระหรือกิ่วกระ
อยู่ในเขตบ้านทัพหลี ตำบลละมุ ประมาณ กม. ที่ ๕๔๕
บ้านทับหลี
ที่มีซาละเปาดังลือชื่อมานานแล้ว ผมมาชิมครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ มีอยู่ร้านเดียว
เดี๋ยวนี้มีหลายสิบร้าน ปากซอยหน้าบ้านผม ก็ยกป้ายว่า ทับหลีเช่นกัน แต่รสออกจะเพี้ยนไปบ้าง
ร้านที่ผมชวนชิมมีกาแฟสดด้วย รวมทั้งขนมจีบ ร้านตั้งอยู่ย่านกลาง ๆ ยกป้ายไว้เห็นชัด
อยู่สองฝั่งถนนเลย
น้ำตกชุมแสง
หรือน้ำตกสายรุ้ง อยู่ที่บ้านปากจั่น แยกซ้ายที่หลัก กม. ๕๒๙ - ๕๓๐
น้ำตกบกกราย
แยกซ้ายที่หลัก กม. ๕๕๖ - ๕๕๗ แยกไปอีก ๑๓ กม. ถนนยังไม่ดี แต่น้ำตกสวยมีน้ำทั้งปี
ถ้ำพระขยางค์หรือถ้ำเขาหยั่ง
เขตตำบลลำเลียง ห่างอำเภอกระบุรี ๑๘ กม. แยกซ้ายที่ กม. ๕๖๓ - ๕๖๔ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
และในถ้ำมีความงดงาม
วันนี้คงพาได้มาแค่อำเภอกระบุรี จึงต้องชิมอาหารกันที่อำเภอกระบุรี ชิมกุ้งสองน้ำ
มีแห่งเดียวในเมืองไทย ทำไมเรียกชื่อว่า กุ้งสองน้ำ ก็เพราะแม่น้ำกระบุรีนั้น
เวลาน้ำทะเลขึ้นน้ำจะขึ้นมาถึงกระบุรี พาเอาความเค็มของน้ำทะเลขึ้นมาด้วย
ส่วนน้ำในแม่น้ำกระบุรีเป็นน้ำจืด จึงกลายเป็นน้ำกร่อย ไปจนกว่าน้ำทะเลจะไหลลง
ก็กลับเป็นน้ำจืด และหมุนเวียนเช่นนี้ทุกวัน วันละสองครั้งตามน้ำทะเลขึ้นลง
กุ้งหรือสัตว์น้ำในแม่น้ำช่วงที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับน้ำที่เดี๋ยวกร่อย
เดี๋ยวจืด จึงเรียกว่ากุ้ง ในแม่น้ำนี้ว่ากุ้งสองน้ำ น้ำก็พลอยสองสีไปด้วย
ร้านอาหารอยู่ริมคลองเล็ก ๆ ในตัวอำเภอกระบุรีหากมาจากชุมพร (สี่แยกปฐมพร)
มุ่งหน้ามาระนอง ประมาณหลัก กม. ๕๖๒ - ๕๖๓ จะพบสี่แยกน้อย ๆ หากเลี้ยวขวาจะเข้าตลาด
จะมองเห็นหอนาฬิกา "ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยก" ตรงหัวมุมมีที่สังเกตคือ ร้านขายวัสดุก่อสร้าง
เลี้ยวเข้าซอยนี้ไปสัก ๒๐๐ เมตร จะข้ามสะพานข้ามคลอง มองเห็นร้านอยู่เชิงสะพานทางมุมซ้าย
ต้องสั่ง "กุ้งต้มกะปิ" เป็นกุ้งสองน้ำกระบุรี จะต้มมากับผักเหลียงน้ำแกงจะใส
ยกมาร้อน ๆ ในชามใบโต ซดชื่นใจนัก เนื้อกุ้งจะแน่นเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับเลยทีเดียว
กลัวไม่พอกินให้กำหนดไปเลยว่าขอให้มีกุ้งสักกี่ตัว ราคากุ้งสองน้ำไม่แพงเท่ากุ้งภาคกลาง
แต่ความอร่อยไม่ด้อยกว่ากันเลย ผมว่าสั่งกุ้งคนละ ๒ ตัวแหละดี
ต้องสั่งอีกรายการหนึ่งคือคอหมูย่าง หมักหมูเก่งนัก ย่างแล้วออกรสหวาน จิ้มแจ่วเพิ่มรส
ปลาดุกทะเลผัดเผ็ด อาหารชวนชิมของทางร้าน เพิ่มกลิ่นหอมมาด้วยการใส่ขมิ้น
น้ำพริกกุ้งสด ห้ามโดดข้ามไปอีก มีแตงกวา ถั่วฝักยาว ผักลวก ดอกกล่ำ บวบ มะเขือเปราะ
และข้าวโพดอ่อน ใส่จานมาเป็นผักเหนาะของชาวใต้ น้ำพริกจะเผ็ดนิดเดียว เผ็ดอร่อย
ไม่ใช่เผ็ดร้องไห้ เอาน้ำพริกคลุกข้าวร้อน ๆ ตักเข้าปากตามด้วยผัก แล้วซดน้ำแกงกุ้งใบเหลียง
อยากมานั่งกินทุกวัน
ปลากะพงผัดเกี๊ยมฉ่าย มาเมืองอาหารทะเลต้องกินอาหารทะเลสด อาหารทะเลของระนองนั้นเป็นประมงน้ำตื้นหรือประมงชายฝั่ง
จะนำเรือประมงเข้าฝั่งทุกวัน ปลาจึงสดมาก ไม่เหมือนประมงน้ำลึกที่สดก็จริงแต่สดเกิดจากการน๊อคแล้วแช่แข็งมาอาจจะตั้ง
๓ - ๔ วัน กว่าปลาจะมาถึงครัว ไม่เหมือนระนองอาหารทะเลจะเข้ามาถึงครัวทุกวัน
เอาปลากะพงผัดเกี๊ยมฉ่าย ปลาหั่นมาเป็นชิ้น เกี๊ยมฉ่ายชั้นดี กรอบออกรสเปรี้ยวนิด
ๆ จานนี้ต้องยกให้อีกจานว่าเด็ดอย่าบอกใครเชียว ลืมถามไปว่ามีไอศกรีมของโปรดหรือเปล่า
เพราะอิ่มเสียจนไม่อยากบรรจุอาหารอะไรลงไปอีก
|