ระนอง
(๓)
ผมพาท่านมาถึงเมืองตระหรืออำเภอกระบุรี จังหวัดระนองในปัจจุบัน ทีนี้จะเดินทางต่อไปยังตัวเมืองระนอง
แต่ก่อนี่จะเขียนเล่าต่อ ในวันนี้ได้ไปที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิติ์
ได้หนังสือดี ๆ มาหลายเล่ม เมื่อก่อนงานนี้จัดที่คุรุสภา กางเต้นท์ขายกันริมคลอง
ร้อนจนตับแลบ และข้อสำคัญไม่มีที่จอดรถ ไปซื้อหนังสือจึงไม่สนุก เพราะหากไปแท๊กซี่ ซื้อหนังสือได้ไม่กี่เล่ม ก็หมดแรงต้องกลับบ้าน
แต่หากมีที่พอจอดรถได้ หนังสือมากสักหน่อย ก็เอามาเก็บเสียทีแล้วไปเดินใหม่
แต่ที่คุรุสภาจะทำแบบนั้นยาก เพราะไม่รู้จะจอดรถที่ไหน ๓ - ๔ ปีที่ผมได้แต่เฉี่ยวชมรอบบริเวณงาน
เมื่อหาที่จอดรถไม่ได้ก็กลับบ้าน และได้เอามาเขียนเสนอแนะไว้ในหนังสือที่เขียนว่าย้ายไปอยู่ที่ศูนย์สิริกิตติ์เถอะ
กำไรน้อยแต่ได้บริการประชาชนมากขึ้น ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์สิริกิติ์
คงจะย้ายมาได้สัก ๓ - ๔ ปีแล้ว แต่ปีนี้เห็นได้ชัดว่าผู้คนสนใจนิยมซื้อหาหนังสือมากขึ้น
ร้านหนังสือที่มาออกขายในงาน มีมากมายกว่าร้อยร้าน แต่ศูนย์สิริกิตติ์เริ่มจะแน่นอีกแล้ว
ที่จอดรถหากไม่ได้ตั้งแต่เช้าก็หายากเช่นกัน ร้านอาหารในศูนย์ ฯ มีน้อยเกินไป
และหากเป็นวันหยุด คนแน่นยังกับเดินในงานวัดในสมัยก่อน ขอเสนอแนะใหม่ว่า ไปเปิดที่ศูนย์ไบเทค
หรือดีที่สุดคือเมืองทอง สถานที่น่าจะกว้างขวางกว่า ที่จอดรถมีมากมาย คณะกรรมการต้องลองพิจารณาได้แล้ว
คนแน่นขนาดไม่มีที่เดินไม่สนุก ซื้อหนังสือไม่เหมือนซื้อขนมครก จะได้ส่งเงินให้แล้วรับขนมครกเอามาได้เลย
ซื้อหนังสือต้องหยุดยืนดู จับหนังสือมาพลิกอ่านบ้าง เมื่อหยุดยืนดูไม่ได้ก็เลือกซื้อไม่สนุก
ขออภัยที่เอามาเล่าแทรกไว้ เพราะผมไปได้หนังสือดีมาคือ "วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระนอง" ทราบว่าหนังงสือชุดนี้ ทำให้ทั้ง ๗๕
จังหวัด (เว้นกรุงเทพ ฯ) จัดทำขึ้นเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ เสียดายว่าแต่ละเล่มหนักมาก และผมเตรียมสตางค์ไปไม่พอซื้อมาก
ๆ ได้ ได้มา ๔ เล่ม วันหลังไปอีกเขาบอกว่าหมดแล้ว ซื้อได้ที่ไหนอีกเขาก็ไม่บอก
จากหนังสือเล่มนี้ (ผมได้อ่านเมื่อเขียนระนองตอนที่ ๑ ไปแล้ว ได้ทราบประวัติของร้านซาละเปาทับหลี
ร้านแรกของบ้านทับหลี ซึ่งผมเคยซิมซาละเปาทับหลี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งเป็นปีที่คณะผม
๔ คน เป็นทหารหมด ขับรถจิ๊บจากปราจีนบุรีแล้วผมมารับเพื่อนที่กรุงเทพ ฯ ตั้งใจจะขับไปหาดใหญ่ แล้วต่อรถแท๊กซี่ไปยังปีนัง
ขับมาจากกรุงเทพ ฯ ๑ วัน ถึงชุมพร (ระยะทาง ๕๐๐ กม. ถนนเกือบไม่ราดยางเลย)
ค้างชุมพรหนึ่งคืน ขับต่อมายังระนอง ถนนไม่ราดยางมาอีก ๑๒๒ กม. ผ่านบ้านทับหลีมีซาละเปาเจ้าต้นตำรับขายอยู่เจ้าเดียวชื่อ
"ฮั่นหยกหย่วน" ร้านอยู่ทางซ้ายได้มาอ่านเจอประวัติโดยละเอียด ของซาละเปาเจ้าแรกของทับหลีจากหนังสือเล่มนี้
เลยถือโอกาสนำมาเล่าให้ทราบไว้ด้วย
เจ๊หย่งคือเจ้าตำรับซาละเปาทับหลี เรียนสูตรการทำซาละเปามาจากเมืองจีน เจ้าของร้านคือ นายหยกหย่วน
แซ่ฮั่น เป็นชาวจีนไหหลำ เดินทางมาจากตำบลขุนสร้าง จังหวัดไหหลำ ประเทศจีน
อพยพเข้ามาประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ มาโดยทางเรือ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านทับหลี
ต่อมานายหยกหย่วน และภริยาคือ นางยี่ลั้ง แซ่ลิ้ม ได้เปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดคงจะประเภทโซห่วย
ในปัจจุบันมีขายทั้งน้ำชา กาแฟ ปาท่องโก๋ และซาละเปา ตั้งชื่อร้านว่า "ฮั่นหยกหย่วน"
ปัจจุบันนายหยกหย่วนซี้แล้ว ได้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้ไว้กับหลานสาว แต่ทราบว่าร้านนี้เปลี่ยนไปจำหน่ายอย่างอื่นแล้ว
เพราะเกิดซาละเปาทับหลีขึ้นมาสองฝากถนน ตลอดความยาวประมาณ ๑.๕ กม. ไม่ทราบว่ากี่สิบเจ้ายังไม่เคยนับ
มีกาแฟสด ขนมจีบ และของฝากจากระนองจำหน่ายด้วย คำขวัญเขาบอกว่า "กินซาละเปาให้อร่อยต้องซาละเปาทับหลี"
ขนานแท้จะต้องเนื้อแป้งนุ่ม เนียน ผลิตด้วยกรรมวิธีโบราณ ผมไปเขียนถึงเขาบ่อย
ๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทุกร้านขึ้นราคาเป็นลูกละ ๔ บาท หมดแล้ว
ก่อนเข้าถึงตัวเมืองระนอง ประมาณ ๖ กม. จะผ่านน้ำตกปุญบาล
ฤดูฝนจะสวยมากอยู่ทางซ้ายของถนน ห่างจากถนนไม่ถึง ๕๐ เมตร จอดรถชมก็ได้
จังหวัดระนองเป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติมากถึง ๔ แห่ง ด้วยกันคือ
๑. อุทยานแห่งชาติแหลมสน
อำเภอกะเปอร์ ติดต่อ ๐๑ ๒๒๙ ๖๗๖๓ ประกอบด้วยพื้นที่ริมทะเลตั้งแต่ตำบลราชกรูด
อำเภอเมือง ลงไปทางใต้และครอบคลุมพื้นที่ในเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน ที่ทำการอยู่ที่หาดบางเบน
มีบ้านพักและอาหารบริการ ต่อต่อที่กรุงเทพ ฯ ๐๒ ๕๗๙ ๗๒๒๓
๒. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยายาม
มีพื้นที่เป็นชายฝั่งทะเลอันดามัน แบ่งออกเป็นกลุ่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลและกลุ่มพื้นที่เกาะ
และกลุ่มพื้นที่ห่างจากแนวฝั่งทะเล มีเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ
เกาะพยาม
ซึ่งผมติดใจไปมา ๒ ครั้งแล้ว ผมจะเล่าให้ละเอียดตอนข้ามไปเกาะพยามอีกที น่าเที่ยวมาก
อาหารรสเลิศเลยทีเดียว
๓. อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
อยู่ที่ตำบลหงาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๓ กม. สิ่งที่น่าสนใจคือ น้ำตกหงาว
มองเห็นได้จากถนนเพชรเกษม มีน้ำตลอดปี สัตว์ที่น่าสนใจที่น้ำตกคือ ปูเจ้าฟ้า
ซึ่งเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก จะอาศัยอยู่ตามซอกหินและใต้ใบไม้
๔. อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี
อยู่ที่บ้านหินช้าง
แยกขวาจากถนนเพชรเกษม ก่อนถึงอำเภอเมือง
แหล่งท่องเที่ยวในตัวอำเภอเมือง ไประนองก็ต้องอาบน้ำแร่ เป็นน้ำแร่แห่งเดียวในประเทศที่สามารถกินได้เลย
โดยไม่ต้องไปกลั่นไปกรองอะไรอีก เรียกว่าดื่มได้ กินได้ อาบได้ สารพัดประโยชน์
เลยทีเดียว
สวนสาธารณะรักษะวาริน
ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ มีบ่อน้ำร้อนซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามบ่อคือ บ่อพ่อ บ่อแม่
และบ่อลูก ทั้งสามบ่อมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๖๕ องศาเซลเซียส เส้นทางที่จะมายังบ่อน้ำร้อนคือ
หากมาจากชุมพร ผ่านกระบุรีเข้ามาจนเข้าเขตตัวเมือง จะพบโรงแรมที่เป็นโรงแรมแรก
ที่นำน้ำแร่ร้อนจากบ่อน้ำร้อน เข้ามาภายในโรงแรมเรียกว่า อาบน้ำแร่ร้อนฟรีในห้องน้ำของโรงแรมก็แล้วกัน
ซึ่งผมมักจะพักที่โรงแรมนี้เป็นประจำ ด้านหน้าของโรงแรมคือถนนเพชรเกษม ด้านข้างขวาของโรงแรม
(หันหน้าออก) คือ ถนนที่ได้นามพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเสด็จมาประพาสและประทับแรม
เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ว่าถนน
"ชลระอุ" มีความหมายว่าเป็นถนนไปสู่บ่อน้ำร้อน
เข้าไปจากถนนเพชรเกษม ข้างโรงแรมประมาณ ๑ กม. ก็จะถึงบริเวณสวนรักษะวาริน
ทางด้านขวาคือบ่อน้ำร้อน และมีลำธารขนาดใหญ่ มีความร้อนเช่นกันไหลผ่านมาตลอดปี
ส่วนบ่อน้ำร้อนนั้นได้กั้นขอบบ่อเอาไว้ เอาไข่ลงไปต้มให้สุกได้ และยังมีบ่อบำบัดซึ่งความร้อนจะต่ำกว่า
ไปนั่งขอบบ่อเอาเท้าแช่น้ำแร่ในบ่อได้
น้ำพุร้อนแห่งนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย
สามารถนำไปดื่มกินได้ทันที จึงมีผู้นำขวดไปรองน้ำพุร้อน กลับไปเป็นน้ำบริสุทธิ์
ที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย และไม่กี่แห่งในโลกที่มีน้ำที่มีความบริสุทธิ์แบบนี้
ฝั่งตรงข้ามกับบ่อน้ำพุร้อนมีบริการอาบน้ำแร่ หากชนิดดีราคาพอสมควรก็มีห้องอาบน้ำ
ห้องนวด ส่วนไม่ไกลกันนักห่างกันสัก ๓๐ เมตรคือ วัดตโปทาราม ซึ่งที่วัดนี้มีบริการอาบน้ำแร่ร้อนราคาย่อมเยา
มีร้านอาหารหลายร้าน
เลยจากบ่อน้ำพุร้อนไปอีกประมาณ ๖ กม. จะถึงวัดหาดส้มแป้น
ที่น่าสนใจคือ ปลาพลวงตัวโต
ๆ ในคลองหาดส้มแป้น
ไม่ว่ายหนีไปไหน ว่ายวนเวียนกันอยู่แถวนั้นไม่มีใครกล้าจับถือเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์
และที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อคล้าย
"วาจาสิทธิ์" หลวงพ่อได้มรณะภาพที่วัดหาดส้มแป้นนี้
ระนองแคนย่อน
อยู่เลยจากวัดหาดส้มแป้นเข้าไปอีกประมาณ ๓ กม. ซึ่งเป็นเสมือนทะเลสาปน้อย ๆ
อยู่ริมโตรกเขาที่ตั้งสูงขึ้นไปอยู่ริมทะเลสาปน้อย ๆ นี้ หากจะชมโตรกเขา หรือแคนย่อน จะต้องออกแรงปีนขึ้นไปข้างบน
ซึ่งค่อนข้างชัน เพราะยังไม่มีการทำทางขึ้นให้ดี ๆ แต่ก็สวย มีน้ำเต็มสระแห่งนี้ตลอดปี
มีปลาพลวง มีเด็กมาเดินขายอาหารปลาและขายอาหาร หากสั่งอาหารมากินก็มานั่งกินกันที่ริมน้ำ
ซึ่งทำให้สกปรกดี มีร้านอาหารอยู่ ๒ - ๓ ร้าน ขายอาหารประเภท บริการกันถึงริมน้ำเลยทีเดียว
ไม่ควรให้บริการกันแบบนี้ ทำให้พื้นที่ริมทะเลสาปน้อยไม่สะอาด หากอร่อยแล้วละก็
ไม่ต้องการบรรยากาศ ก็จะไปนั่งกินกันในร้าน โดยไม่ต้องเชิญไป
กลับเข้ามาในเมือง
โบราณสถาน
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ
สุสานเจ้าเมือง
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนอน อ.เมือง บริเวณที่ตั้งสุสาน เป็นเนินเขาลาดลงมาจากเนินเขาระฆังทอง
เป็นสุสานของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี
(คอซู้เจียง ต้นตระกูล ณ ระนอง)
เจ้าเมืองระนองคนแรกถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕ รวมอายุได้ ๘๖ ปี และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ทำคำจารึกชาติประวัติไว้ ทั้งภาษาไทย และภาษาจีน ถัดเข้าไปมีเสาธงศิลา แพะ
เสือศิลา ม้าศิลา อย่างละคู่หนึ่ง มีขุนนางฝ่ายบู้ ๑ คู่ ฝ่ายบุ๊น ๑ คู่ แล้วก่อเขื่อนศิลา
ปูศิลาเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ๓ ชั้น จนถึงลานที่ฝังศพอยู่ในความดูแลของตระกูล
ณ ระนอง เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของระนอง ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒
จวนเจ้าเมืองระนอง
บ้านค่ายเจ้าเมืองระนอง สร้างในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)
เป็นเจ้าเมือง แต่ผู้ดำเนินการสร้างคือ พระยาดำรง ฯ (บรรดาศักดิ์เดียวกับบิดา)
ซึ่งนามเดิมของท่านคือ คอซิมก๊อง เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของท่านเจ้าเมือง เริ่มสร้างเมื่อ
พ.ศ.๒๔๒๐ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง กรมศิลปากร
ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
ภายในบ้านมีกำแพงก่อด้วยอิฐถือปูนล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีป้อมเชิงเทิน มีบ้านขนาดใหญ่
๓ หลัง ติดกันทำเป็นเรือนรับรองสำหรับเจ้าเมือง มีโรงเก็บสินค้า โรงช้าง โรงม้า
โรงต้มกลั่นสุรา โรงต้มฝิ่น และฉางข้าว
โบราณวัตถุ
ได้แก่ พระพุทธรูป
พระพุทธรูปศิลายวง
เป็นปฏิมากรรมเก่าแก่ ศิลปะแบบพม่า สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ลักษณะเป็นหินสีขาว เป็นศิลปะแบบสมผสานตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาของไทยกับพม่า
ซึ่งต่างนิกายกัน แต่รูปแบบจะคล้ายคลึงกัน มีความประณีตงดงาม และถือว่าเป็นปฏิมากรรมที่ล้ำค่าของจังหวัดระนอง
มีหลายขนาดด้วยกัน ขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร สามารถเยี่ยมชมและสักการะได้ที่วัดสุวรรณคีรีวิหาร
อ.เมือง จ.ระนอง, วัดมัชฌิมเขต หมู่ที่ ๒ ตำบลมะมุ กระบุรี วัดสุวรรณคีรี
หมู่ที่ ๔ ตำบลปากจั่น กระบุรี
พระพุทธรูปศิลาทราย
(พ่อปู่คอหัก) เป็นพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง
๗๐ เซนติเมตร สูง ๑๓๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๑ เมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ องค์พระได้ถูกทำลายไปบางส่วน โดยเฉพาะเศียรได้หักหายไป
ชาวบ้านเลยตั้งนามให้ท่านใหม่ว่า "พ่อปู่คอหัก" ประชาชนเคารพและเกรงกรัวพระพุทธรูปองค์นี้มาก
ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปนอกจากความเก่าแก่แล้ว วัสดุที่สร้างทำด้วยหินทราย
ซึ่งปกติจะไม่มีในพื้นที่จังหวัดระนองและพื้นที่อื่น ๆ ในแถวภาคใต้ จึงน่าจะสร้างมาจากภาคอื่นแล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดสุวรรณคีรี
หมู่ที่ ๔ ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง (ระนองมีมากแต่แร่ดินขาว)
แหล่งประวัติศาสตร์
คือ เนินประวัติศาสตร์
ตั้งอยู่ที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง เดิมเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งรัตนรังสรรค์
ซึ่งพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) ได้จัดสร้างพลับพลาที่ประทับเมื่อคราวที่รัชกาลที่
๕ เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ พลับพลาแห่งนี้ได้ขอพระราชทานนามจากรัชกาลที่
๕ ซึ่งพระองค์ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับพลับพลาที่ประทับ ที่สร้างเพื่อรับเสด็จไว้อย่างละเอียด
เช่น ข้อความตอนท้ายพระราชนิพนธ์ทรงไว้ว่า
" ....พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลาแห่งนี้เป็นพระที่นั่ง ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา
และขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงได้ให้ชื่อพระที่นั่งว่า "รัตนรังสรรค์" เพื่อจะได้แปลกล้ำ
ๆ พอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดีเขาที่เป็นที่ทำวังนี้ให้ชื่อว่า "นิเวศน์คีรี"
เมื่อครั้งพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คออยู่หงี่ ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองระนอง
ได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้ดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นรูปเรือนตึก
๒ ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางจังหวัดระนอง
ต่อมาได้รื้อถอนเพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗
พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ จัดเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ คือ
รัชกาลที่ ๕,๖ และ ๗
สถาปัตยกรรมดีเด่น
อาคารเก่าแก่ในตัวเมืองระนองที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ยังมีให้ชมหลายหลังในตัวเมือง
นับว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ควรอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง และเป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
รูปปั้นอนุสาวรีย์
มี ๒ แห่ง คือ
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งอยู่บริเวณเนินประวัติศาสตร์ อยู่ทางทิศตะวันออกของศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็สถานที่ที่พระองค์ได้ทรงปลูกต้นมะขามคู่เอาไว้เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๓ ได้สรร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗
พระบรมมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางริ้น อ.เมือง ระนอง ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสนามกีฬาระนอง
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชสดุดีในวันสำคัญเกี่ยวกับลูกเสือไทย
พระแสงราชศัตราประจำเมืองระนอง
รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐
ศาลหลักเมืองระนอง
ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐
หอพระประจำจังหวัดระนอง
อยู่ที่ตำบลเชิงเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ อยู่ทางทิศใต้ของศาลกลางจังหวัด
ประดิษฐานรูปพระเกจิอาจารย์ ๙ องค์ รวมทั้งหลวงพ่อคล้ายวาจาศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพธารน้ำแร่ โรงพยาบาลระนอง โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๒๖๓๐-๓ ต่อ
๑๔๐,๖๕๖,๖๖๐ จะจัดโปรแกรมรักสุขภาพ น้ำแร่ธาราบำบัด อบสมุนไพร นวดตัว นวดฝ่าเท้า
และจัดทัศนศึกษานอกสถานที่เมื่อไรจะมีใครจัด "ทัวร์ฝน" พาชาวตะวันออกลางมาเที่ยวระนองกันบ้าง
เพราะชาวตะวันออกกลางนั้นไม่ค่อยจะได้เห็นฝนตกกันนัก เหมือนคนไทยที่ไม่เคยเห็นหิมะตก
เรายังไปทัวร์หิมะกัน พาชาวตะวันออกกลางที่มั่งมีมาทัวร์ฝนเมืองฝน ๘ แดด ๔
ที่ระนอง พามาอาบน้ำแร่ รักษาสุขภาพมาชมสถานที่งาม ๆ หลายแห่งและมากินอาหารทะเลเลิศรสของระนอง
"ไม่ลองคิดดูบ้างหรือ" มีนายทุนมาชวนผมทำทัวร์แล้ว คึกขึ้นมา ทำลืม ๆ เสียว่าอายุเราก็ใกล้ร้อยแล้ว
เริ่มงานกันใหม่จัดทัวร์ก็คงสนุกดีเหมือนกัน
แหล่งอาหารในตัวเมืองระนอง มีมากมายหลายแห่ง เอาที่ไปชิมเมื่อไปครั้งหลัง
ๆ นี้
โรตีบ้านหงาว ห่างจากตัวเมืองไปสัก ๑๓ กม. ทางขวามือคือ ภูเขาหญ้า
ที่แปลกประหลาดไม่มีที่ไหนเหมือน ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย หน้าฝนเขียวชอุ่มด้วยหญ้า
ฤดูแล้งสีทองด้วยหญ้าอีกนั่นแหละ เสียดายที่เวลานี้รถขายอาหารเริ่มเข้าไปบริการเชิงดอยแล้ว
และนักกินก็ไปทำความสกปรก ท่านผู้ว่าไม่ห้ามบ้างหรือ และที่เลวกว่านั้น พวกนักซิ่งถือว่าขับโฟรวีลขับขึ้นไปบนเขาหญ้า
ทำให้เกิดเป็นรอยทางน่าเสียดายจริง ๆ รวมทั้งวัดบ้านหงาวที่ทำบันไดขึ้นไปบนเขาหญ้า
เพื่อให้ขึ้นไปตีระฆังบอกสวรรค์ และเพื่อจัดงานตักบาตรเทโวปีละครั้ง แต่เขาหญ้าหมดความงาม
โรตีบ้านหงาว เลยเขาหญ้าไปอีกหน่อยสังเกตทางขวา จะพบป้ายบอกว่าเทศบาลบ้านหงาว
กม.๖๒๖ ให้เลี้ยวขวาเข้าไปสัก ๕๐๐ เมตร ออกขายประมาณ ๐๘.๐๐ น. ร้านอยู่ทางซ้ายมือปากซอยประชาพิทักษ์
๕ ร้านนี้มีโต๊ะไม่กี่ตัว ยามเช้าชาวไทยอิสลามนั่งกันเต็ม
หากเราไปกันหลายคนโทรสั่งจองไว้ก่อน และเลยไปอีก ๒ ห้อง มีไก่ทอด สลัดไก่
ทอดหอมฟุ้ง ร้านโรตี ทำโรตี มีแกงกะหรี่เอาไว้จิ้มโรตี ต้องสั่งตอนกลับบ้านเลยให้ซื้อโรตีแช่แข็งของเขากลับมาด้วย
สั่งโรตี แกงกะหรี่ โรตีจิ้มนม ไก่ทอด ข้าวหนียว อิ่มไปจนเที่ยง
ร้านข้าวแกงขนมจีน เส้นทางตั้งต้นจากหน้าโรงแรมจันทร์สมธารา วิ่งไปทางบ้านหงาว
ผ่านปั๊ม ปตท. ผ่านศูนย์อิซูสุ แล้วมีทางแยกให้เลี้ยวขวาเข้ามา แล้วมีทางแยกให้เลี้ยวขวาเข้ามาสัก
๔๐๐ เมตร มีทางแยกซ้าย ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยจัดสรร ๑๑ เห็นป้ายใหญ่ของร้าน
อยู่ตรงกันข้ามกับสถานีตรวจอากาศ (ถนนสายนี้จะไปทะลุสี่แยกตลาดเก่าในเมืองได้)
กินขนมจีน ต้องสั่งปาท่องโก๋ เอามาวางไว้บนเส้นขนมจีน แล้วราดด้วยน้ำยา หรือน้ำพริก
หรือแกงเขียวหวาน หากใช้สูตรของผมต้องสั่งแกงไตปลา เอามาราดตามไปด้วยจึงจะได้รสเผ็ดและกลิ่นหอม
ชูรสมากขึ้น ผักเหนาะขนมจีนมีมากกว่า ๑๕ ชนิด ทั้งผักสดและผักดอง ถาดข้าวแกงมีร่วม
๑๐ ถาด อย่าลืมสั่งมาแนมอาหารคือ หมูทอด ที่สับหมูปั้นเป็นก้อนแล้วจึงเอามาทอด
ขนมจีนแม่หมี โรตีบ้านหงาว ควรแก่การได้ใบรับรองความอร่อย
ร้านถอดรองเท้า ที่ชื่อโรงกลวง คือชื่อตามชุมชนเก่าแกากว่าร้อยปี เพราะร้านนี้สะอาดมากเมื่อก่อนมีห้องเดียว
ใครเข้าร้านเกรงใจเลยถอดรองเท้าเข้าไปกิน ตอนนี้ไม่ต้องถอดแล้ว เพราะเขาขยายร้านเป็นสวนอาหาร
ใส่รองเท้าเดินผ่านครัวเข้าไปได้เลย
เส้นทางไปร้านถอดรองเท้า ถนนชลระอุ ที่อยู่ข้างโรงแรมจันทร์สมธารา เมื่อก่อนนี้หน้าโรงแรมเป็นถนน
๒ เลน จึงเป็นสี่แยกให้ข้ามไปถนนชลระอุ ตอนนี้เป็นถนน ๔ เลน ข้ามไปตรง ๆ ไม่ได้
หากออกจากโรงแรมจันทร์สมธารา ต้องเลี้ยวซ้ายมาก่อนแล้วไปกลับรถเข้าถนนชลระอุ
วิ่งตรงเรื่อยไปจนสุดทางมีสี่แยก ก็ผ่านสี่แยกตรงไปอีกจะพบกำแพงจวนเจ้าเมืองเก่า
ให้เลี้ยวขวามาสัก ๕๐ เมตร ร้านโรงกลวง (ถอดรองเท้า) จะอยู่ทางขวามือ จะนั่งหน้าร้านหรือเดินทะลุออกไปหลังร้าน นั่งที่ศาลาในสวนอาหารด้วยก็สบายดี
แกงเหลือง อาหารสำคัญต้องสั่ง ปลาต้มเค็ม (มักเป็นปลาอินทรีย์) ปลาหมึกยัดไส้
๓ รายการนี้ อย่าโดดข้ามไป
มาระนอง อย่าลืมสั่งปลาทอด ถามเขาดูว่ามีปลาอะไรจากอันดามัน ให้ทอดกระเทียมพริกไทย
กุ้งแม่น้ำให้ต้มใบเหลียง หรือถามเขาดูว่าทำอะไรดี กุ้งแม่น้ำกระบุรีตัวโต
แต่หากจับแถวปากน้ำคงไม่ใช่กุ้งสองน้ำอย่างกุ้งที่กระบุรี
ผักเหนาะ สดน่ากิน ในร้านมีต้นเหลียงปลูกเอาไว้ให้ชมด้วย แต่ที่ต้องสั่งมาชิมคือ
ใบเหลียงผัดไข่ ใส่วุ้นเส้น
|