ระนอง
(๔)
ผมเล่าเรื่องของเมืองระนองไปแล้ว ๓ อำเภอคือ อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี
และอำภอละอุ่น แต่อำเภอละอ่นนั้นกล่าวถึงนิดเดียว จะขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย
ก่อนที่จะลงไปยังอำเภอกะเปอร์และกิ่งอำเภอสุขสำราญ แล้วย้อนกลับมาอำเภอเมืองเพื่อไปยัง
"เกาะพยาม" แหล่งท่องเที่ยวที่ใมหม่ที่สุดและน่าจะดีที่สุดของระนองด้วย
อำเภอละอุ่น
หากจะไปตามถนนชลระอุที่ไปบ่อน้ำร้อนแล้ววิ่งต่อไปเลยก็ได้ แต่เส้นทางค่อนข้างจะแคบและคดเคี้ยว
อีกเส้นทางหนึ่งคือเมื่อมาจากกระบุรีมายังระนองจะมีป้ายบอกให้แยกทางไป จุดที่น่าสนใจคือ
.-
เขาฝาชี
ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางแก้ว ประมาณ กม. ๕๘๐ มีทางแยกขวามือ มีป้ายบอก
ไปตามถนนราดยางอีกประมาณ ๓ กม. ที่ปากทางป้ายเขียนบอกไว้ว่า "ศูนย์โทรคมนาคมเขาฝาชี"
เป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายกับฝาชี สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๕๙ เมตร
บนยอดเขาเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ได้อย่างดี งามนัก ยามอาทิตย์อัศดงสามารถมองเห็นแม่น้ำกรับุรี
มาบรรจบกับแม่น้ำละอุ่น
เห็นภาพเกาะแก่งต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดียหรือทะเลอันดามัน และในบริเวณใกล้เคียงกัน
เป็นดินแดนแระวัติศาสตร์คือเป็นที่ตั้งฐานทัพญี่ปุ่น เพื่อส่งกำลังเข้าไปยังกองทัพญี่ปุ่นในพม่าในสงครามโลกครั้งที่
๒ ซึ่งมีหลักฐานสำคัญที่ยังเหลืออยู่คือ ซากเรือรบ อุโงค์ใต้ดิน แนวทางรถไฟ
ซากเรือรบญี่ปุ่น
เลยทางแยกเข้าเขาฝาชีมาประมาณ ๒๑ กม. ด้านซ้ายมือบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำละอุ่นในยามที่น้ำลดจะเห็นซากเรือเก่าสมัยสครามโลกครั้งที่
๒ ที่จมอยู่
เกาะนพเกตุ
อยู่ห่างจากฝั่งปากคลองละอุ่น โดยนั่งเรือประมาณ ๒๐ นาที เป็นแหล่งหอยนางรมและหอยแมลงภู่
(ยักษ์) ปัจจุบันเป็นเกาะสัมปทาน ต้องติดต่อผู้ได้รับสัมปทาน
ถ้ำหนัดได หรือถ้ำค้างคาว
อยู่ริมถนนสายปากแพรก พื้นที่เขาหนัดได บ้านแากแพรก ตำบลละอุ่นเหนือ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ
๒๐ กม. ถ้ำงดงามมาก เป็น ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นถ้ำหินย้อย
เดินเข้าปากถ้ำแล้วชมภายในถ้ำจนออกไปทะลุอีกทางหนึ่งได้ ชั้นล่างของถ้ำเป็นถ้ำย้ำลอด
กลับมาผ่านอำเภอเมืองมุ่งใต้ต่อไป ผมเคยบอกแล้วว่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ผมกับเพื่อนอีก
๓ คน ผมขับรถจิ๊บทหารพ่วงรถเทรลเล่อร์เพื่อบรรทุกน้ำมันอะหลั่ย ซึ่งสมัยนั้นหาปั๊มน้ำมันยาก
มีแต่ตามตัวอำเภอเท่านั้น มาจนถึงระนองแล้วก็จะต่อไปยังภูเก็ต ซึ่งถนนจากระนองในปี
๒๕๐๕ เพื่อจะไปยังอำเภอตะกั่วป่า ระยะทาง ๑๘๐ กม. โดยประมาณ ไม่มีถนนที่เป็นถนนมาตรฐานแม้แต่เมตรเดียว
ต้องวิ่งกันไปในเส้นทางป่า รถเก๋งหมดสิทธิ์ที่จะไปได้ รถโฟรวีลสมัยนั้นยังไม่รู้จักกันหากมีคงวิ่งสบาย
แต่รถจิ๊บทหารเป็นรถโฟร์วีล แต่กินน้ำมันเด็ดนัก ผมและคณะวิ่งจากระนองไปตามเส้นทางในป่า
๑๘๐ กม. แล้วต่อไปยังโคกกลอย
เอารถลงเรือ (ไม่มีสะพานสารสิน)
ข้ามฟากไปขึ้นที่เกาะภูเก็ต วิ่งไปบนเกาะตามถนนที่เป็นลูกรังอีก ๔๕ กม. จึงถึงตัวเมืองภูเก็ต
โรงแรมใหญ่ ๆ โก้ ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ไม่มี นอนโรงแรมที่ดีที่สุดในเวลานั้น และปัจจุบันยังอยู่ดี
และได้รับการปรับปรุงอย่างดีด้วยคือ โรงแรมอัญ อัญ โฮเตล จากภูเก็ตข้ามทะเลกลับมาวิ่งเลาะชายฝั่งไปพังงา
กระบี่ ตรัง ข้ามเขาพับผ้า
ที่ยังเป็นเหมือนผ้าที่พับไว้จริง ๆ ไปยังพัทลุง (ถนนสายทุ่งสง - พัทลุง ยังไม่มี)
ขับไปหาดใหญ่ ไปถึงแล้วพักกับนายทหารรุ่นน้อง ที่มีบ้านพักอยู่ในค่ายเสนาณรงค์
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเตรียมตัวเช่ารถไปเที่ยวปีนัง นายทหารรุ่นน้องที่ไปพักด้วยเป็นหลานนายกเทศมนตรีหาดใหญ่
จึงไปเล่าให้อาฟัง ท่านนายกเทศมนตรีหาดใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ฟังแล้วตกใจรีบจัดงานเลี้ยงต้อนรับและได้กล่าวในงานว่า
"คนที่บ้านเท่านั้นจึงจะสามารถมาหาดใหญ่โดยทางรถยนต์ได้" ผมจึงกลายเป็นผู้กล้าหาญที่ขับรถมา
๓ วัน ๓ คืนจากกรุงเทพ ฯ มายังหาดใหญ่ได้สำเร็จ สมัยนั้นเขามากันก็ต้องมาทางรถไฟเป็นหลักหรือทางอากาศ
ทางรถยนต์มาไม่ได้ ถนนชุมพร หลังสวน ยังไม่ได้สร้าง ถนนเพชรเกษมจึงเป็นถนนที่มาผ่านชุมพรเลี้ยวขวามาระนอง
ไปโคกกลอย (หากไปภูเก็ต ข้ามเรือที่นี่) ไปพังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง หาดใหญ่
ลงใต้ต่อก็ไปปัตตานี นราธิวาส หรือปัตตานี ยะลา เบตง
อำเภอกระเปอร์
มีที่น่าสนใจ คือ .-
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา
จากอำเภอกะเปอร์ไปอีก ๒๕ กม. ประมาณ กม. ๖๘๕.๕ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไป
อุทยานแห่งชาติแหลมสน
มีพื้นที่ทั้งริมฝั่งทะเลและในทะเล ที่ตั้งอุทยานอยู่ที่หาดบางเบน หมู่ ๔
ต.ม่วงกลาง ห่างจากตัวเมืองระนองไป ๔๕ กม. หรือห่างจากอำเภอกะเปอร์ ๖ กม.
รายละเอียดติดต่อ ๐๗๗๘๒ ๔๒๒๔
อุทยานแห่งชาติแหลมสน มีสองฤดูคือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน ภายในอุทยานมีที่น่าสนใจคือ
หาดบางเบน งดงามมาก
และยังมีหาดแหลมสน
อยู่เลยหาดบางเบนไปอีก ๔ กม. ไปตั้งแคมป์ดูนกได้ เพราะมีนกนานาชนืดให้ชม
กิ่งอำเภอสุขสำราญ
มีหาดประพาส หรือหาดหินทุ่ง เลยอำเภอเมืองระนองไป ๙๐ กม. ประมาณหลัก กม. ที่ ๗๐๒ แล้วแยกขวาไปอีก ๓ กม.
จะถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานริมหาดประพาส นอกจากนี้มีเกาะค้างคาว
เกาะกำตก เกาะกำใหญ่ เกาะกำนุ้ย
ก่อนที่ผมจะพาข้ามไปยังเกาะพยาม บอกเอาไว้เสียเลยว่ามาระนองมีของฝากควรแก่การซื้อของนักช๊อปทั้งหลายคือ
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ได้เแก่ กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเค็ม กระเพาะปลา หูฉลาม
คุณภาพดีเยี่ยมราคาเยาว์ หาซื้อได้ที่ตลาดย่านเรืองราษฎร์ ศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองในตลาดนี้และร้านค้าย่านสะพานปลา
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่ดีที่สุดเขาว่าของประเทศเลยทีเดียวจะอยู่ที่ "เกาะพยาม"
ที่กำลังจะพาข้ามไปนี่แหละ ผมไปเกาะพยามทีไร ก็เลยต้องขนซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์กลับมาทุกทีเพราะอร่อยจริงเม็ดโต
มันมาก
มุกและสิ่งประดิษฐ์จากเปลือกหอย ซื้อได้แถวร้านในสวนรักษะวาริน
เช่น ร้านคุ้นลิ้นหรือติด ๆ กัน เมื่อก่อนนี้ระนองมีการเลี้ยงหอยมุกที่เกาะพยาม
เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วและเมื่อก่อนอีกเช่นกัน มุกเมืองระนองดีที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ก็หายากแล้วเช่นกัน
กระเป๋าหนังปลากระเบน เป็นสินค้าคุณภาพดีและมีชื่อเสียงของระนอง หาซื้อได้ที่สนามบิน
ซาละเปาทับหลี ซึ่งได้เล่าไปแล้วและผมแนะไว้คือร้านโกซิน มีไส้หมูสับ ไส้ถั่วดำ
ไสัสังขยา ขนมจีบ
น้ำดื่มน้ำแร่ธรรมชาติ บรรจุขวดขายที่โรงแรมจันทร์สมธาราก็มี หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป
เกาะพยาม
เป็นเกาะหนึ่งในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม เกาะนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินระนองประมาณ
๓๕ กม. ต้องลงเรือไป ท่าเรือที่จะข้ามไปนั้นมีหลายท่า และการไปจะติดต่อทัวร์ที่โรงแรมจันทร์สมธาราก็ได้
แต่ผมไป ๒ ครั้ง ในเวลาที่ห่างกันไม่ถึง ๒ เดือน และยังคิดจะไปอีก ผมไปกับรีสอร์ทอันดามันบุรี
ซึ่งเป็นรีสอร์ทที่เปิดใหม่ ไปครั้งแรกทดลองไปเห็นว่าดีกลับมาเล่าให้พรรคพวก
(รุ่นของภริยาหรือเลขาตลอดกาลของผม) ซึ่งรุ้นนี้เขาย่องย่องใหฟ้ผมเป็นหัวหน้าทัวร์
(ที่ไม่มีค่าจ้าง) อยู่แล้ว ที่รีสอร์ทแห่งนี้เขามีที่พักได้คือบ้านพัก ๑๐
หลัง มีบ้านแบบคอทเทจ อีก ๓ หลัง เรียกว่าอย่างเก่งก็ไปได้สัก ๓๐ คน พอเอามาเล่าให้ฟัง
เสียงเรียกร้องให้พาพวกเขาไปก็ดังขึ้นมาทันที พอเปิดรับสมัครโดยรุ่นของเขามีหัวหน้าคอยจัดการอยู่คนหนึ่ง
ส่วนผมจะวางแผนให้ติดต่อให้ และเป็นไกด์ รวมทั้งเป็นทุกหน้าที่ที่ขาดแคลน
เช่นทุกครั้งที่ไปเที่ยวกัน จะมีการไปทำบุญ ถวายสังฆทาน ผมก็จะต้องทำหน้าที่มรรคนายกให้
มอบของขวัญผู้ใหญ่ หรือใครเขาจะมอบอะไรให้ผมก็ต้องกล่าวตอบ และคณะของเขา รุ่นของเขานั้นบางคนเป็นศาตราจารย์
บางคนเป็นคณะบดี รองอธิการบดี ปลัดกระทรวง ยังมี (แต่รายนี้ยังไม่ได้ไปด้วย)
จึงต้องมีภูมิในการอธิบายให้เขาฟัง รับสมัครวันเดียวได้ลูกทัวร์เกินที่พัก
ต้องตัดออก เดี๋ยวจะลืมบอกไว้ก่อน ติดต่อที่พัก อันดามันบุรี รีสอร์ท ๐ ๒๕๕๑
๒๐๔๘ - ๔๙ โทรสาร ๒๐๔๖ มือถือผู้จัดการ ๐ ๑๒๗๙ ๗๘๑๐ หรือ WWW.AND AMANBURI.
COM
รถออกจากกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. รวมพลกันที่แถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
วิ่งรวดเดียวจอดเฉพาะเข้าห้องน้ำและเติมน้ำมัน เช่ารถบัสไปและต้องให้มีคนขับรถ
๒ คนด้วย ถึงกระบุรี ๑๓.๐๐ น. บอกให้แวะกินกลางวันที่ร้านบ้านขนมจีนที่ชุมพร
ก็ไม่ยอมบอกว่าต้องกินกุ้งสองน้ำตามที่ผมคุยไว้ ไปแวะกลางวันที่ร้านริมคลองที่กระบุรี
จากนั้นก็วิ่งรวดเดียวถึงระนองเอาเกือบ ๑๖.๐๐ น. ซึ่งน้ำลงมากแล้ว หากไปตามเวลาที่รีสอร์ทเขากำหนดจะต้องถึงท่าเรือ
(ตามที่เขาบอกหรือมารับจะนัดกันที่ท่าขนส่ง) ไม่เกิน ๑๕.๐๐ น. หรือตามเวลาโดยจะถือน้ำขึ้นหรือลงเป็นหลักในการลงเรือ
เพราะหากน้ำลงมากจะลงเรือลำบาก ตลิ่งสูง เช่นวันที่ไปนี้พวกคณะคุณลุง คุณป้า
คุณตา คณะนี้โอ้เอ้ อร่อยอยู่กับกุ้งสองน้ำที่กระบุรี สั่งให้กินคนละตัวก็ไม่ยอมร้องยังกับเด็กขอคนละ
๒ ตัว มาถึงจุดนัดหมายที่ผู้จัดการเขาลงทุนมารับเองนัดกันที่ท่ารถขนส่ง ไปลงเรือเอาเกือบ
๑๖.๐๐ น. แล้ว เรือลดลงต่ำตามน้ำ ต้องใช้กระดานเลื่อนพาดจากเรือ ลงไปที่ดาดฟ้าเรือก็สนุกกันตั้งแต่เริ่มต้น
เรือของเขาต่อใหม่ จุคนไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน นั่งสบายปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ และไม่ต้องกลัวฤดูมรสุมเพราะเรือใหญ่
และเส้นทางเดินเรือจากเกาะไปยังฝั่งนั้น มีเกาะที่บังลมจึงปลอดภัยไปได้ตลอดปี
หากเราไม่ไปเป็นหมู่คณะของเราเอง ก็เอารถของเราไปเองแล้วไปนอนเสียที่ระนองคืนหนึ่ง
กลับมานอนอีกคืนหนึ่งเอารถฝากเขาไว้ที่โรงแรมได้ เช่นผมไปครั้งแรกผมนอนที่จันทร์สมธารา
นอนอาบน้ำแร่ในห้องจากุสซี่ เสียคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นฝากรถเขาไว้แล้วไปลงเรือ
ส่วนวันนี้ก็ให้รถบัสที่เช่าไป เขาจอดคอยที่ท่าเรือ ต้องตรงเวลาเขานัดลงเรือเวลาไหน
ต้องไปให้ตรงเวลาเพราะบอกแล้วว่า อุปสรรคจะอยู่ที่น้ำทะเล ขึ้น-ลง และจะเลื่อนเวลาไปทุกวัน
ผมไปครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๔๖ อยู่ฉลองปีใหม่บนเกาะพยาม ไปกันแค่ ๖ คน เขาก็เอาเรือเร็วมารับ
นั่งไปเพียง ๔๕ นาทีก็ถึง แต่ไปคราวหลัง ๒๖ คน เขาก็เอาเรืออันดามันบุรี รีสอร์ท
มารับ เรือวิ่งประมาณ ๒ ชั่วโมง เรือจะวิ่งผ่าน วิตอเรียพอยท์
หรือเกาะสอง ซึ่งผมเคยข้ามไปที่เกาะนี้
(ของพม่า) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ หากอยากไปเที่ยวติดต่อทัวร์จันทร์สมแทรเวิล
๐ ๗๗๘๓ ๕๓๑๗ - ๘ หรือเช่าเรือหางยาวไป แต่ไปเที่ยวสมัยนี้ต้องทำใบผ่านแดนด้วย
ติดต่อด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง ถนนสะพานปลา แต่ผมว่าอย่าไปสนุกกว่าไม่เห็นมีอะไร
อยากซื้อของราคาถูก ตลาดอินโดจีน ที่มุกดาหาร นครพนม หรือหนองคาย ถูกกว่า
หรืออีกที แม่สอดฝั่งไทยถูกกว่าแยะ และสะดวกกว่าด้วย เกาะที่ติดกันห่างกันนิดเดียว
จากเกาะสองคือ เกาะสน
เกาะที่ดูดเงินคนไทยไปทุกวัน โดย "บ่อน" คนไทยไปตั้งเอาไว้ในพม่า แปลกดีคนไทยตั้งบ่อนรอบประเทศไทย
ไล่ไปได้เลยตั้งแต่ ตราด จันทบุรี สระแก้ว ฯ จนวนกลับมาถึงระนอง ล้วนแต่เป็นบ่อนคนไทย
ตั้งเพื่อดูดเงินคนไทย ไปบำรุงประเทศที่เป็นพื้นที่ตั้งบ่อนนั้นด้วย ผมไม่ใช่นักการพนันแต่เชียร์ให้รัฐบาลให้สัมปทานตั้งคาสิโนในเมืองไทย
แล้วดูซิว่านักการพนันไทยจะข้ามไปเล่นที่ปอยเปต หรือเกาะสน ที่ระนองอีกไหม
ลงจากฝั่งระนองใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง หากไปส่วนตัว มีเรือหางยาว เรือบรรทุกสินค้า
วิ่งไปตั้งแต่เช้า คนละ ๖๐ บาท ฝรั่งเก็บ ๑๐๐ บาท อาจจะนั่งไปกับกองสินค้า
แต่หากไปกับรีสอร์ทอันดามัน ก็นั่งสบายไปกับเรือ รีสอร์ทที่เกาะพยามมีหลายแห่ง
สำรวจหมดแล้วสู้แห่งนี้ไม่ได้
เมื่อถึงสะพานท่าเรือเกาะพยาม ตามเวลาคือประมาณ ๒ ชั่วโมง ไม่มีรถรับ รถยนต์เกาะนี้ไม่มี
และเขาจะไม่ให้มีตลอดไป มีแต่รถมอเตอร์ไซด์ ผมเป็นคนกลัวการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์เพระาเคยตกลงมา
ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อย รุ่นพี่เขาเป็นคนขับ รุ่นน้องนั่งซ้อนท้ายเป็นการฝึก
คุณพี่ออกรถปล่อยคลัชไม่ดีเลยกระชาก เล่นเอาผมหล่นโครมลงมา กางเกงเครื่องแบบที่มีน้อยอยู่แล้ว
ขาดหัวเข่า ตั้งแต่นั้นมาห้าสิบปีไม่เคยนั่งรถมอเตอร์ไซด์อีกเลย มานั่งก็วันนี้นั่นแหละ
และไม่ได้บอกคนขับเขา เขาก็ซิ่งเพื่อกลับมารับคนเที่ยว ๒ หวิดหล่นลงมาอีก
ไปครั้งแรกจึงนั่งมอเตอร์ไซด์ วันเดียว ๓๐ บาท นอกนั้นเดินตลอด แต่ไปคราวหลังตอนเป็นหัวหน้าทัวร์มีคนแนะว่านั่งอย่างไร
ก็เลขา ฯ ของผมเองเขานั่งสบายเขาบอกว่าให้นั่งอย่างนี้ เอาเท้าวางอย่างนี้และหาคนขับที่สูงอายุบอกให้ขับช้า
ๆ ไปคราวหลังนี่เลยได้นั่งรถมอเตอร์ไซด์เที่ยวไม่ต้องเดิน คนอื่นเขานั่งกัน
๓๐ บาท ผมให้ ๕๐ บาท เลยผูกขาดลุงให้มารับทุกเที่ยวที่จะไป และติดต่อสะดวกเพราะคนขับมอเตอร์ไซด์เขาก็มีมือถือ
สำนักงานของอันดามันรีสอร์ท ปลูกบนไหล่เขาโก้ทีเดียว ปลูกได้เก่ง ต้องขนวัสดุก่อสร้างลงเรือไปจากระนอง
เพราะบนเกาะมีร้านโชห่วย ๒ - ๓ ร้าน แบบเซเว่น ๑ ร้าน ร้านอาหารอีก ๒ - ๓ ร้าน
มีเท่านั้น แต่ไปพักรีสอร์ทแห่งนี้ร้านอาหารที่ดีที่สุดของเกาะ ก็คงจะเป็นที่รีสอร์ท
หน้าสำนักงาน เป็นสระน้ำและเปิดเป็นจากุสซี่ได้ ในตอนเย็นเขาจะเปิดให้ลงเล่นน้ำในสระน้ำ
มองเห็นทะเลสวยนัก ล้อมรอบคือป่าที่สมบูรณ์
ที่พักเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง สร้างอย่างดีกลมกลืนกับธรรมชาติ ปลูกบ้านลดหลั่นไปตามไหล่เขา
บ้านพักของเขาตั้งชื่อ ตามดอกไม้ เช่น LILY, ROSE, JASMINE, FORGETMENOT
ฯ
แต่ละหลังมีเตียงเดี่ยว เตียงคู่ มี "มุ้งสีขาว" กางครอบไว้ให้ แต่เวลาผมนอนผมตลบมุ้ง
เพราะไม่เห็นมียุงและเปิดหน้าต่างลมพัดเย็นสบายตลอดวันตลอดคืน ลมบกพัดออก
ลมทะเลพัดเข้า มีห้องแต่งตัว มีโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้โบราณ เตียงใช้เสามาทำเป็นขาเตียง
กระจกส่องหน้าใช้ไม่ไผ่มาทำเป็นกรอบ มีไฟฟ้า ที่รีสอร์ทปั่นไฟฟ้าเองตั้งแตาเย็นไปยัน
๐๗.๐๐
วิเศษสุดคือห้องน้ำ เป็นห้องน้ำแบบ "OPEN AIR" ไม่มีหลังคา ห้องน้ำกว้างขวางมาก
ปลูกต้นไม้ไว้ในห้องน้ำด้วย สร้างโอบไม้ใหญ่ที่ยังไม่เอาไว้ มีไม้เลื้อยตามไม้ใหญ่
มีโอ่งน้ำ เอากะลามาทำเป็นขัน (ผมไปแนะนำเขาเอง) มีกะลาเจาะรูทำเป็นฝักบัว
ส่วนน้ำนั้นเกาะนี้มีน้ำสมบูรณ์คือ น้ำตกจากเทือกเขาน้อยบนเกาะ ทางเดินจากบ้านพักไปห้องอาหาร
หรือสำนักงานมีการตามไฟฟ้าด้วยตะเกียง และมีอ่างน้ำดินน้อย ๆ ลอยด้วยดอกไม้เอาไว้
ผมจะข้ามอาหารไปก่อน แย้มเอาไว้นิดหนึ่งอาหารเช้าวันแรกแบบฝรั่ง (เขามีกุ๊กชั้นเยี่ยมถึง
๓ คน) ก็ขนมปัง ไข่ดาว แฮม ไส้กรอก กำลังกินอาหารเช้าตาไปชำเลืองที่คนจ่ายตลาด
เขาหิ้วมาคือ ปลากระบอกตัวโต เขาบอกว่าเย็นนี้จะเอามาเผาให้กิน เช้าวันที่ ๒ ข้าต้มกับ
มีกับข้าว ๕ อย่าง น่ากินทั้งสิ้น และห่วงพวกกินยากอุตสาห์ ทอดไข่เจียวกุ้งสับเอามาให้ด้วย
นอน ๑ คืน กินข้าวแบบฝรั่งแล้วไปลงเรือไปเที่ยวรอบเกาะ ไปชมหาดทรายสวย ๆ และข้อสำคัญคือ
นักดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นน้ำลึกทั้งหลาย เขาพาไปดำน้ำชมปะการัง แต่เป็นปะการังน้ำตื้น
นั่งเรือไปรอบเกาะประมาณ ๒ ชั่วโมง ยังไม่รอบเกาะดี ใกล้เที่ยงมีหาดทรายสวยมากเขาก็พาลงเรือเล็กไปขึ้นฝั่ง
ใครใคร่ดำน้ำชมปะการังเขาก็มีเสื้อชูชีพ (แจกทุกคน) มีแว่นดำน้ำให้พร้อม ไปดำชมปะการังได้ไม่มีอันตราย
พอเที่ยงเขาก็ตั้งเตาย่างบาบีคิว แจกข้าวกล่อง ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว แต่ดูแล้วคณะพรรคไปรุมกันอยู่ตรงเตาบาบีคิว
อิ่มแล้ว ดำน้ำกันจนตัวซีด แล้วก็พากลับมายังหน้าเกาะ ก่อนขึ้นท่าก็แวะที่วัดเกาะพยอม
วัดเดียวของเกาะแห่งนี้ และที่น่าสนใจคือ วัดนี้สร้างอุโบสถไว้ในทะเล หลังเล็ก
ๆ แต่เรียกว่า ไม่ใช่ธรรมดา
มื้อเย็น มื้ออาหารที่ไม่ใช่ธรรมดา เพราะอาหารทะเลของเขาสดจริง ๆ ซึ่งได้มาจากประมงน้ำตื้น
เรือประมงเข้าฝั่งที่เกาะทุกเช้า หากมีมากเขาจึงข้ามไปขายฝั่งระนอง และที่สำคัญกว่านั้นคือ
ตอนที่เรือพาเราวิ่งไปชมเกาะนั้น ผู้จัดการเขาไปด้วย พอเขามองเห็นเรือประมงที่ออกไปกู้ลอบเท่านั้น
เขาก็สั่งเหหัวเรือเข้าไปจัดการซื้อปลาทะเล ซึ้อปูม้าแถมซื้อได้หอยโข่งทะเลตัวโตมากมาอีกตัว
ใครจะเถียงว่าอาหารไม่สดไม่ได้ ปลากระบอกที่เห็นเขาหิ้วเอามาเมื่อเช้าเขาเอามาปิ้ง
หรือย่างตั้งเตากันข้าง ๆ วงของพวกเราทั้งรีสอร์ทเราเหมาหมดจึงสนุกพิลึก
หลายคนเป็นนักดนตรีรุ่นเดอะ คนปูนนี้ลองเล่นดนตรีได้ต้องเก่ง นักร้องก็แยะทั้งชายและหญิง
ลูกหลานไม่มีตามมา อย่างดีรุ่น้อง จึงไม่ต้องอายใคร ร้องกันได้เต็มที่ กาง
"โฉนด" อ่านเนื้อร้องกันตามชอบใจ ไม่ต้องกลัวใครเขาขว้างหลังคา
หมึกสด ปูม้าสด เอามาปิ้ง จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บวิเศษนัก อย่าไปหากินที่ไหนเลยไม่มีแล้ว
ซื้อกันในเรือยังเป็น ๆ หาได้ที่ไหน
กุ้งเผา ใช้กุ้งแชบ๊วย เอามาเผาให้กินแถมตอนเดินไปลงเรือที่จะไปเที่ยวในตอนเช้านั้น
มีสาวในคณะกลัวเขาเอากุ้งมาให้กินน้อย แวะซื้อจากชาวประมงได้แชบ๊วยตัวขนาดยักษ์มาอีกหลายกิโล
เป็นอาหารเสริม
ปลาหมึกผัดพิโรธ ผัดเผ้ดใส่พริกสด กินเป็นแกล้มก็ได้ กินกับข้าวก็ดี (อย่าลืมเอาสุราไปด้วยแหละดี)
แกงป่าปลาทะเล ที่ใช้ปลาที่ซื้อมาจากในเรือเมื่อตอนไปเที่ยว
แกงเลียงใบเหลียง ซดร้อน ๆ ชื่นใจนัก ปิดท้ายด้วย ปลากะพงทอดราดน้ำยำ
ปลากระบอกห่อฟลอย์เผามาให้ ยังไม่สะใจไปสั่งเขาอีก ไปเอาแกงเหลืองมาให้หนึ่งชาม
กุ๊กใหญ่ชาวอีสานรู้ใจกันมาตั้งแต่มาครั้งแรก รับคำแล้วหายไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ได้แกงเหลืองปลากระบอกมาอีกชามโต
ของหวานไม่มี มีแต่ผลไม้และน้ำชากาแฟ ใครไปทัวร์ของรีสอร์ท นับตั้งแต่ลงเรือจนกลับมาขึ้นฝั่งเขาคิดคนละ
๔,๙๐๐ บาท หากยกอาหารมื้อเย็นมากินกรุงเทพ ฯ มื้อเดียว กินกันสัก ๓ - ๔ คน
รับรองว่า ห้าพันไม่พอจ่ายก็แล้วกัน ปลายฝนต้นหนาวผมจะไปอีก จะไปกิน "ปูผัดพิโรธ"
กับยำหอยโข่ง
.............................................................
|